beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

บันทึกใน Gotoknow ช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้อ่าน


ความรู้มิได้มีอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่มีอยู่รอบตัว หากเราใส่ใจและขวนขวาย ก็สามารถเก็บเกี่ยวความรู้รอบตัวได้อย่างมากมาย

    ผมมีเรื่องที่นิสิตเขียนบันทึกเปิดใจออกมา หลังจากการที่ให้เข้าไปค้นหาบันทึกที่โดนใจใน Gotoknow ซึ่งขอใช้บล็อกของ beeman เป็นเวทีหรือสนามที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ และนี่คือประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของ Gotoknow ครับ เชิญพบกับเธอและเขาได้เลยครับ

มุมมองจากโปงลาง

          โดย นางสาวอภิวัลย์ มาสชรัตน์

      เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้เข้าเรียนวิชา ชีววิทยาของเซลล์ซึ่งสอนโดย อ.สมลักษณ์ และอาจารย์ก็ได้แนะนำเว็ปไซด์ทีมีประโยชน์ ให้ข้อคิดดีๆ เหมาะแก่บุคคลทั่วไป หลังจากหมดคาบเรียน ข้าพเจ้าไม่รอช้า รีบกลับมาเปิดเว็ปไซด็ www.gotoknow.org และเข้าต่อไปที่ KM blog ข้าพเจ้าได้อ่านงานเขียนของบุคคลหลายท่าน แต่มีงานเขียนหนึ่ง ซึ่งเพียงแต่เห็นหัวขอ้ ก็สามารถทำให้ข้าพเจ้าอดใจรอที่จะอ่านไม่ไหว

     หัวข้อที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงข้างต้นนั้น มีชื่อว่า "เมื่อผมให้คำปรึกษา KM ในวงโปงลางสะออน (เรื่องสมมุติ)"  โดยคุณ ชัยยะ ฉัตราวชศิริ ชื่อแฝง คือ program สาเหตุที่ข้าพเจ้าสนใจหัวข้อนี้ เนื่องจากข้าพเจ้าเคยมีโอกาสได้ชมการแสดงโปงลางของวงโปงลางสะออก จากแผ่น VCD เมื่อครั้งไปเข้าค่ายจริยธรรม ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าประทับใจมาก เพราะนอกจากความสนุกและตลกผ่อนคลายแล้ว ข้าพเจ้าถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีที่จะปกป้อง อนุรักษ์ศิลปแขนงหนึ่งของไทย นอกจากนี้ยังเป็นการน้ำเสนอศิลปทางดนตรี ที่เรียกว่า "โปงลาง" แก่บุคคลและเยาวชนทั่วไป เพราะก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าเองก็ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่า โปงลางมีลักษณะอย่างไร

    โดยเนื้อหาแล้ว ได้กล่าวถึง ผู้คิดค้นเครื่องดนตรี "โปงลาง" คือ ครูเปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่งได้แนวคิดจาก กระดึงผูกคอ วัว ควาย เอามาเรียงร้อยเป็นเครื่องดนตรีคล้ายระนาด นอกจากนี้ครูเปลื้องยังเป็นครูของคุณอี๊ด ผู้เป็นหัวหน้าวงโปงลางสะออน ซึ่งปัจจุบันครูอี๊ดได้เป็นครูสอนโปงลางอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แต่เนื่องจากมีบุคคลจองการเรียนรู้มาก ครูอี๊ดจึงมาขอความเห็นว่า หากบันทึกภาพสอนการเล่นโปงลางในรูปแบบ VCD จะถือเป็นกลยุทธ์การจัดการความรู้แบบใด โดยคำตอบที่ได้ก็คือกลยุทธ์การจัดการความรู้แบบบุคคลสู่บุคคล (personalized strategy) เพียงแต่ต้องอาศัยสื่อเพื่อแบ่งปันความรู้เท่านั้น

    เมื่ออ่านจบก็ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงคำกล่าวของ อ.สมลักษณ์ ที่กล่าวถึงความรู้ ว่ามิได้มีอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ความรู้มีอยู่รอบตัวมากมาย หากเราใส่ใจและขวนขวาย ก็สามารถเก็บเกี่ยวความรู้รอบตัวได้อย่างมากมาย ซึ่งข้าพเจ้าเอง แต่ก่อนนั้นได้สนใจในเรื่องของดนตรีชนิดหนึ่งนั่นคือ กีตาร์ เนื่องจากในห้องเรียนไม่มีการสอน  ข้าพเจ้าจึงขวนขวายในการศึกษาวิธีเล่น ด้วยตนเอง จนสามารถเล่นได้ในที่สุด แต่ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าก็อยากจะพัฒนาฝีมือและประสบการณ์ จึงอาศัยการถามผู้รู้ การหาสื่อมาศึกษาด้วยตัวเอง เช่น VCD นั่นคือสิ่งที่ข้าพเจ้าได้นำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนหนังสือ โดยจะหมั่นศึกษาหาความรู้จากภายนอก เช่น อินเตอร์เน็ต ห้องสมุด ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความรู้อยู่มาก และเนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ ได้พัฒนาขึ้นมามาก ย่อมทำให้เกิดความสะดวกสบายที่จะเก็บเกี่ยวความรู้ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าตนเองนั้นโชคดีเหลือเกิน ที่ได้เกิดมาในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศเช่นนี้...

ความมุ่งมั่น

             โดยนายธีรภัทร ศรีรัตนโชติ

     ผมมีโอกาสได้อ่านบทความทางเว็บไซด์ gotoknow ที่อาจารย์ได้แนะนำแล้วผมไปติดใจข้อคิดของคุณ DR.SU สุชา เหมือนแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย บริษัทการไฟ้ฟ้าฝ่ายผลิต จำกัด (มหาชน)  ซึ่งท่านได้ลงไว้ 4 เรื่อง คือ เรื่อง"ยืดเวลามองดูจิต" เรื่อง "รู้จักความทุกข์" เรื่อง "ความหลง" เรื่อง "ความมุ่งมั่น"

     พอได้อ่านเรื่องแรกแล้วถูกใจ เลยอ่านต่อหมดทุกเรื่องเลย ผมชอบในความคิดของท่านที่มองความคิดของคนเป็น step ในการมองคนคือตั้งแต่การมองเห็นแล้ว "รู้จัก" คือรู้ว่าเขาคือใคร "รู้จัก" คือจำได้ว่าเขาเป็นคนยังไง "รู้สึก" ชอบหรือไม่ชอบเขา และสุดท้ายคือ "รู้คิด" คือ การคิดว่าจะแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อเขาคนนั้นอย่างไรดี พอถึงขั้นสุดท้ายนี้ บางคนคิดในทางบวกก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าคิดในทางลบ ถ้าไม่รู้จักอดกลั้นเอาไว้ ก็อาจเกิดเรื่องราวปัญหาตามมาได้ เขาสอนให้รู้จักปล่อยวาง จบมันซะตั้งแต่รู้จักก็พอ จากนั้นก็ได้อ่านเรื่องต่อมา ท่านสอนให้รู้จักความทุกข์ว่า ความถือมั่นในตัวตนเป็นทุกข์ สอนเรื่องความหลงซึ่งยกตัวอย่างได้น่าสนใจมาก และเรื่องสุดท้ายคือความมุ่งมั่น เรื่องนี้ผมถูกใจเป็นที่สุด ท่านกล่าวว่า "ไม่เห็นกับความสนุกที่ไม่เป็นสาระ ไม่เบียดเบียน" แค่นี้ก็เกิดความมุ่งมั่นที่แท้จริงแล้ว ซึ่งถ้าเรามัวแต่เล่นสนุก ปล่อยตัวปล่อยใจล่องลอยไปวันๆ ทำอะไรขอแค่เสร็จๆ ไปที ผลงานก็จะไม่เกิดเป็นที่ประจักษ์เป็นตัวเป็นตนออกมา

     ผมเป็นคนหนึ่งที่มีความมุ่งมั่น เพียงแต่น้อยไปหน่อย ก็เพราะความรักสนุกนี่แหละได้อ่านเรื่องของ DR.SU แล้วก็เลยคิดได้ จากที่เคยกลับหอแล้วเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ เดี๋ยวนี้ผมอ่านหนังสือเรียนมากขึ้น เล่นน้อยลงเยอะเลยทีเดียว ผมรู้ความมุ่งมั่นของตัวเองที่อยากเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยตั้งแต่เรียน ม.4 ผมอยากเป็นอาจารย์สอนทางสายวิทยาศาสตร์อะไรก็ได้ เลยตั้งใจเรียน พัฒนาทักษะการทำแบบฝึกหัดจนพอจะสอนน้องๆ ได้ ตอนปิดเทอม ผมไปรับสอนพิเศษ 2 เดือน ผมได้เงิน 4,000 บาท ผมสอนวิชาฟิสิกส์กลศาสตร์ และน้องๆ ที่ผมสอนได้เกรด 4 ทุกคนเลย ผมดีใจมากและมั่นใจว่าผมต้องเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ดีได้ แต่เมื่อ Entrance เข้ามากลับมาเรียนชีวะฯ มันคนละแนวเลย แต่ผมก็เรียนอย่างไม่มีปัญหาใดๆ ถ้าผมสอนฟิสิกส์ให้คนเข้าใจได้ แล้วทำไมจะสอนชีวะฯไม่ได้

     เวลาที่ผมสอน ผมคิดว่าผมสอนแนวเดียวกับอาจารย์สมลักษณ์นี่แหละครับ คล้ายกันตรงที่สอนแบบให้ดูรูป ตีโจทย์แล้วมาวาดรูปให้ดูจะเกิดความเข้าใจง่ายกว่าอ่านอย่างเดียว ผมชอบวิธีสอนของอาจารย์อีกอย่างหนึ่งก็คือสอนในสิ่งที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งบางทีมันหาไม่ได้จากในตำราเรียน ส่วนเรื่องที่จะต้องสอบก็สอนแบบเจาะประเด็น ไม่สอนหว่านๆไป ไม่รู้จะเริ่มอ่านหนังสือตรงไหน ก็คือสอนตรงนี้ก็ออกสอบตรงนี้ ประหยัดเวลาอ่านหนังสือสอบได้เยอะเลยครับ...

หมายเลขบันทึก: 8529เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2005 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท