ความรู้สึกประหลาดนำมาซึ่งการเชื่อมโยงศิลาจารึกกับองค์จตุคามรามเทพ


จตุคามรามเทพ
จากการที่ข้าพเจ้ามีความรู้สึกประหลาดเรื่องการบันทึกประวัติของพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ไว้บนศิลาจารึกแต่ยังไม่เสร็จนั้นเมื่อข้าพเจ้าได้ทำการค้นจากเอกสารดังกล่าวหลังจากดูเรื่องพระบรมธาตุและการประดิษฐานเทพสองพระองค์ไว้บริเวณทางขึ้นพระบรมธาตุแล้วข้าพเจ้าก็ได้ทราบถึงจารึกและศิลาจารึกของจังหวัดนครศรีธรรมราชว่ามีดังต่อไปนี้                หลักฐานประวัติศาสตร์จากศิลาจารึกของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึงประกอบด้วย๑.       จารึกปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์๒.     ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย๓.      ศิลาจารึกวัดเสมาเมืองจากรึกปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ เป็นการบันทึกเรื่องของการบริจาคและรายละเอียดของพระบรมธาตุเสียเป็นส่วนใหญ่ น่าจะเป็นยุคหลังทีมีการสร้างพระบรมธาตุแล้ว เป็นช่วงของการบูรณะมากกว่า ส่วนศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ที่มีการจารึกบนแท่งหินอัคนีสีดำหรือน้ำเงินเข้ม ลักษณะหินคล้ายเรือ เป็นอักษรอินเดียตอนใต้ จารึกระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นการจารึกที่กล่าวถึงพระศิวะเท่านั้น (หุบเขาช่องคอย ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๙ ตำบลโคกสะท้อน อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช)  จากที่ข้าพเจ้ามีความรู้สึกประหลาดและบอกกับใครต่อใครว่าประวัติของพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ น่าจะถูกบันทึกไว้บนศิลาจารึกเพียงแต่ยังไม่ได้จารึกให้เสร็จเท่านั้น เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับศิลาจารึกอีกชิ้นหนึ่งของนครศรีธรรมราช ก็ทำให้ข้าพเจ้าต้องตกตะลึงเป็นอย่างยิ่ง เมื่อศิลาจารึกวัดเสมาเมืองซึ่งจารึกสลักลงบนหินทราย เป็นรูปใบเสมา สูง ๑.๐๔ เมตร ฐานกว้าง ๔๐ เซนติเมตร ส่วนยอดกว้าง ๕๐ เซนติเมตร มีอักษรจารึกอยู่สองด้าน เป็นภาษาสันสกฤต ด้านแรกมี ๒๙ บรรทัด มีข้อความสมบูรณ์ แต่ด้านหลังมีอยู่แค่เพียง ๔ บรรทัดมีลักษณะยังสลักไม่เสร็จ ข้าพเจ้าก็ไปค้นคว้าเพื่อดูรายละเอียดของจารึก สาระที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกวัดเสมาเมืองทั้งสองด้าน ด้านแรกเป็นจารึกที่ทำขึ้นในมหาศักราช ๖๙๗ ซึ่งตรงกับปีพุทธศักราช ๑๓๑๘ กล่าวสรรเสริญพระเจ้าธรรมเสตุ พระราชาแห่งอาณาจักรศรีวิชัย ผู้ทรงสร้างศาสนสถาน ส่วนในด้านทีสอง ข้อความเริ่มต้นคำกล่าวสรรเสริญพระศรีมหาราชา กษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ ของอาณาจักรศรีวิชัย และก็เหมือนส่วนที่จะเขียนต่อนั้นจะเขียนอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่ต่อเนื่องกับพระศรีมหาราชา เหมือนในด้านแรกอย่างแน่นอนแต่ยังจารึกไว้ไม่เสร็จ ซึ่งถ้าเป็นอย่างที่ข้าพเจ้ารู้สึก ประวัติของพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ก็ยังบันทึกไว้ไม่เสร็จที่ศิลาจารึกวัดเสมาเมืองนี่เอง เพราะถ้าดูจากศิลาจารึกอื่น ๆ ก็ไม่น่าจะโยงใยถึงพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ยิ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า พระศรีมหาราชา กษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ ของอาณาจักศรีวิชัย มีความเกี่ยวข้องกับ พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ เพียงแต่ยังไม่ได้บันทึกไว้ให้จบสิ้นกระบวนความในศิลาจารึกหน้าที่สองของศิลาจารึกวัดเสมาเมืองเท่านั้น แต่เรื่องนี้ก็ไม่สามารถอธิบายอะไรได้มากไปกว่านี้เพราะเป็นเพียงความรู้สึกพิเศษของข้าพเจ้าเท่านั้น  แต่เมื่อข้าพเจ้าได้ศึกษารายละเอียดที่ทางคุณทศพล จังพานิชย์กุล เคยเขียนไว้ในหนังสือตอนหนึ่งว่าด้วยอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเริ่มมีอิทธิพลและความเจริญในหมู่เกาะชวา มาตั้งแต่เริ่มคริสตศักราช ๕๐๐ (หรือปีพุทธศักราช ๑๐๔๓) มีกษัตริย์แห่งราชวงศ์สัญชัย ซึ่งนับถือศาสนาฮินดูปกครองอยู่ กษัตริย์แห่งศรีวิชัยทรงเข้ามาอาศัยอยู่ภายใต้มหาเศวตฉัตรแห่งพระเจ้าอินทรา ซึ่งมหาชนทั้งหลายขนานนามว่า มหาราชพังพนา หรือมหาราชผู้พิชิต กษัตริย์สัญชัยทรงยกพระธิดาให้อภิเษกสมรมเพื่อเป็นพระราชไมตรีและรวมอาณาจักรตามพรลิงค์ มลายู เขมร เวียดนาม ชวา และสุมาตรา ทั้งหมดเรียกว่า จักรวรรดิศรีวิชัย (Srivijaya Empire) สถาปนาราชวงไสเลนทะหรือเทวกษัตริย์แห่งขุนเขา เฉลิมพระนามพระองในภาษาสันสกฤตว่า ระคยัน ศรีมหาราช พลังกาลธยา จักรา สักะมหานันทชัย (Rakyan Srimaharaja Parang Karan Pyah Chakara Sanggra Madhananjaya) ในปีศริสตศักราช ๗๗๘ซึ่งตรงกับปีพุทธศักราช ๑๓๒๑ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีจารึกไว้ในศิลาจารึกวัดเสมาเมืองพอดี แต่ในศิลาจารึกวัดเสมาเมืองจารึกไว้เป็น พระศรีมหาราชา ซึ่งก็ตรงกับคำท้ายของกษัตริย์ที่มีพระนามว่า ระคยัน ซึ่งทางคุณทศพล จังพานิชย์กุล ได้กล่าวเพิ่มเติมเรืองของกษัตริย์พระองค์นี้แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ ว่าจักรวรรดิศรีวิชัย เป็นศูนย์กลางการค้าของโลก และมั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๗ ถึง ๙ พระมหาราชทรงเริ่มสละพระราชภาระทั้งหมด แล้วมุ่งมั่นบำเพ็ญตบะบารมีในพระพุทธศาสนา เฉกเช่นพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในอดีต ทรงก่อสร้างเจดีย์ วัดวาอารามในหลายประเทศ ทรงอุปถัมภ์สมณชีพราหมณ์ให้ศึกษาและปฏิบัติศาสนกิจอย่างกว้างขวาง ทรงตั้งวัดพระบรมธาตุ(นครศรีธรรมราช) ให้เป็นหลักแห่งราชอาณาจักรให้มั่งคง ทรงให้ก่อสร้างพระมหาเจดีย์บุโรพุทโธให้เป็นหลักธรรมในตำแหน่ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลก เพื่อให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นอยู่กับโลกสืบมา แม้จะถูกคุกคามจากภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดหลายครั้ง ในช่วง ๑๒๐๐ ปีที่ผ่านมา และจากการมุ่งทำลายจากคนต่างศาสนา ซึ่งไม่สามารถทำอันตรายได้เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญตบะบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว วิญญาณธาตุ ของพระองค์ทรงประกอบธาตุธรรม สำเร็จในกายธรรมแห่งศรีมหาเทพ มีพระนามกายว่า จตุคามรามเทพ ผู้ทรงเป็นที่นับถือและคุ้มครองสัตว์ผู้ตกทุกข์ได้ยากทั้งหลาย เสมือนพ่อผู้ปกครอง ปกปักรักษาลูกอันเป็นสายโลหิตแห่งตน ทรงเป็นหลักชัยให้ลูกของท่านเอาชนะอุปสรรคในชีวิตอย่างไม่ท้อถอยเมื่อพิจารณารายละเอียดจากเรืองนี้ก็เป็นการกล่าวว่า พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ เป็นกายธรรมของกษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ ผู้ครองอาณาจักรศรีวิชัย ในช่วงประมาณปี ๑๓๐๐ กว่า ๆ  และน่าที่จะเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวกันกับที่มีหลักฐานในศิลาจารึกวัดเสมาเมือง ที่มีพระนามตามบันทึกว่า พระศรีมหาราช ถ้าเป็นไปตามความเชื่อนี้พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ที่มีความเป็นมาจากกษัตริย์ผู้สำเร็จในกายธรรมแห่งศรีมหาเทพ และถ้าจะทำการศึกษาพระราชประวัติของพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพตามความเชื่อนี้ก็ต้องไปค้นหาจากช่วงก่อนปีพุทธศักราช ๑๓๐๐ จนถึงปีพุทธศักราช ๑๓๒๐ ว่ามีความเป็นมาของกษัตริย์พระองค์ที่มีพระนามว่า ระคยัน ศรีมหาราช หรือพระศรีมหาราชา เป็นอย่างไร ก็จะเป็นเรืองราวของพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ตามความเชื่อทางประวัติศาสตร์นี้
คำสำคัญ (Tags): #จตุคามรามเทพ
หมายเลขบันทึก: 83838เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2007 23:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท