หากผมเป็นพนักงาน ITV


สื่อมวลชนเป็นแสงสว่างที่ให้ปัญญาแก่ประชาชน
หากผมเป็นพนักงาน ITV
 การออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไม่งดการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีของพนักงานบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หลังจากที่รัฐบาลได้ตัดสินใจจะยุติการออกอากาศชั่วคราวก่อน เพื่อขอศึกษาข้อกำหนดของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนที่จะให้รัฐบาลตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งในการกำหนดอนาคตของสถานีโทรทัศน์ยูเอชเอฟ (UHF) แห่งแรกของประเทศไทย
 อีกด้านหนึ่งวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ผมได้เฝ้าสังเกตปฏิกิริยาของคนข่าวในสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ พนักงานบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ต่างก็แสดงความเสียใจถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ หลังจากที่ทราบท่าทีของรัฐบาล มีการจัดรายการช่วงพิเศษทั้งเปิดใจคนข่าวไอทีวี และสัมภาษณ์ผู้คนที่เห็นอกเห็นใจไอทีวีที่ต้องเผชิญชะตากรรมการตกงาน พร้อมกับระบุว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวในนามพนักงาน ไม่เกี่ยวกับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และกระทำไปเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดสถานีต่อ เพราะหากมีการปิดสถานีแห่งนี้ไปจะทำให้ชาติและประชาชนเสียผลประโยชน์ จากการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (กิตติ สิงหาปัด, รายการฮอตนิวส์, วันที่ 6 มีนาคม 2550) แต่ประชาชนผู้ชมรายการกลับมีความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป ทั้งเห็นใจ ไม่อยากให้รัฐบาลปิดสถานี หรือเห็นด้วยกับรัฐบาล และต้องการให้นำไอทีวีกลับมาเริ่มต้นใหม่ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานีแห่งนี้
หากผมเป็นพนักงานไอทีวี ผมจะยอมรับว่าปัญหาของไอทีวี ไม่ได้มีเฉพาะปัญหาการปิดสถานีที่พนักงานไอทีวีกล่าวอ้างกับประชาชนเท่านั้น แต่ปัญหาของไอทีวีเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การประมูลสัมปทานของบริษัท สยามอินโฟเทนเม้นต์ จำกัด ที่ยื่นซองสัมปทานสูงเกินความเป็นจริงถึงพันล้านบาทต่อปี จากปมปัญหานี้นำมาสู่การขาดทุนสะสม บวกกับเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำในปี 2540  เป็นสาเหตุให้กลุ่มทุนชินคอร์ปเรชั่น ที่มีครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยก้าวเข้ามาถือหุ้นใหญ่ ในฐานะเป็นเจ้าของไอทีวีในปี 2544 ตอนนั้นมีการเรียกร้องของพนักไอทีวีที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อิทธิพลทางธุรกิจการเมืองมาครอบงำการทำงานของไอทีวี จนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฏไอทีวี ที่พนักงาน 23 คนถูกไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรม เพียงเพราะพนักงานเหล่านั้นต้องการก่อตั้งสหภาพแรงงานไอทีวี ต่อสู้กับกลุ่มทุนการเมืองที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อฝ่ายข่าวไอทีวี จนขาดความเป็นอิสระ แต่ตอนนั้นพนักงานส่วนใหญ่กลับนิ่งเฉย ทั้งที่ปัญหาของเพื่อนร่วมบริษัท เป็นเสมือนสัญญาณอันตรายของภัยที่จะคืบคลานมาทำลายองค์กรไอทีวี
 ต่อจากนั้นไอทีวีก็เปลี่ยนบรรณาธิการข่าวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ฝ่ายข่าวไอทีวีที่ถูกสาธารณชนมองว่าขาดความเป็นอิสระตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานี ในปี 2545 ภายใต้การบริหารงานของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การลดค่าสัมปทานจาก 1,000 ล้านบาทเป็น 230 ล้านบาทต่อปี และการปรับผังรายการข่าวต่อรายการบันเทิง จาก 70:30 เป็นสามารถมีรายการบันเทิงในช่วงไพร์มไทม์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จนเกิดข้อพิพาทกันระหว่างสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)
ปัญหาดังกล่าวก็ถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ มีคำวินิจฉัยในข้อพิพาท ในวันที่ 30 มกราคม 2547 ซึ่งพิพากษาให้ สปน.ต้องทำตามคำร้องของไอทีวี เมื่อเกิดแรงผลักดันของสาธารณชนว่าการตัดสินดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน จึงทำให้ สปน.ต้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครอง ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำตัดสินให้การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการตกไป เพราะเห็นว่าขัดเจตนารมณ์การก่อตั้งสถานี ซึ่งระหว่างนี้กลุ่มชินคอร์ปได้เทขายหุ้นให้กับกลุ่มทุนสิงคโปร์เทมาเส็ก ทำให้ไอทีวีกลายสภาพเป็นบริษัทของต่างชาติทันที วันที่ 12 พฤษภาคม 2549 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ทำให้ สปน.ต้องดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล คือ ไอทีวีต้องกลับมาใช้สัญญาสัมปทานเดิม และต้องชำระค่าสัมปทานที่ค้าง 2,210 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 15% รวม 464.5 ล้านบาท และมีค่าปรับการผิดสัญญาเรื่องผังรายการอีก 97,760 ล้านบาท ซึ่งได้ยืดเวลาการชำระไปอีก 30 วัน สิ้นสุดวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา
นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น!!!
หากผมเป็นพนักงานไอทีวีผมจะหันมาทบทวนประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของสถานีตลอด 11 ปีที่ผ่านมา โดยมีโจทย์ที่สำคัญ คือ
1. ผมจะยอมรับความจริงว่าไอทีวีนั้นพ่ายแพ้ทั้งในทางกฎหมาย และต้นทุนทางสังคม ที่คนไอทีวีรุ่นแรกๆ พยายามสร้างไว้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้สื่อข่าวไอทีวียุคหลังๆ มักจะถูกประชาชนตั้งคำถามถึงความเป็นกลาง เป็นที่พึ่งของสังคม
2. คนไอทีวีต้องมีการสรุปบทเรียน ว่าปัญหาไอทีวีที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้มีสาเหตุมาจากอะไรโดยเป็นการสรุปบทเรียนในเชิงประวัติศาสตร์ว่าแต่ละยุคแต่ละสมัยของไอทีวีเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เกิดผลกระทบต่อสถานีและสังคมอย่างไรบ้าง สอดคล้องกับเจตนารมณ์ดั้งเดิมของสถานีโทรทัศน์อิสระหรือไม่ เพราะพนักงานไอทีวีทุกคนเป็นผู้ที่สัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงนี้โดยตรง
3. บทเรียนที่คนไอทีวีเผชิญปัญหาอยู่ขณะนี้ จะสามารถนำไปเป็นข้อเสนอสำหรับการร่างกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการกันอยู่ตอนนี้ได้หรือไม่ เช่น ข้อเสนอที่จะป้องกันปัญหากลุ่มทุนเข้ามาจับมือกับกลุ่มการเมือง ฉกฉวยเอาคลื่นของสาธารณะไปเป็นสมบัติส่วนตัว รวมถึงการผลักดันให้คณะกรรมการกิจการวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง (กสช.) เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และโปร่งใส เพื่อเข้ามาดูแลปัญหาอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เป็นต้น
4. คนไอทีวีควรพลิกวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส เพื่อแสดงอุดมการณ์แห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระทางวิชาชีพของตน โดยการสร้างโมเดลสถานีโทรทัศน์ที่เป็นอิสระ หรือ สถานีโทรทัศน์สาธารณะที่อาจพัฒนามาจากรูปแบบการดำเนินการสถานีโทรทัศน์สาธารณะในต่างประเทศ เช่น รูปแบบของสถานีโทรทัศน์ BBC ประเทศอังกฤษ สถานีโทรทัศน์ NHK ประเทศญี่ปุ่น สถานีโทรทัศน์ ABC ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
การสร้างโมเดลจากข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นเสมือนการโยนโจทย์ที่สร้างสรรค์ที่สุดในสถานการณ์ยามนี้ เพื่อให้สาธารณชน คือ ประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรสื่อมวลชน สถาบันการศึกษา รวมถึงรัฐบาล ให้ร่วมกันคิดที่จะเปลี่ยนคลื่นความถี่ไอทีวีเป็นสถานีโทรทัศน์อิสระเพื่อประชาชน แม้จะใช้เวลานานพอสมควรแต่ก็อาจจะคุ้มค่ากว่าที่จะให้คลื่นยูเอชเอฟไอทีวีลอยเท้งเต้งอย่างไรทิศทางเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้
เราต้องอย่าลืมว่า รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจนี้ ยืนยันว่าจะอยู่บริหารประเทศเพียง 1 ปีเท่านั้น หากนับเวลาจากนี้ไปก็เหลือไม่ถึง 10 เดือน ก็จะมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งตามที่ได้สัญญากับประชาชน หากรัฐบาลไม่สามารถวางแนวทางที่ชัดเจนกับการแก้ปัญหาไอทีวีได้ ย่อมเป็นสัญญาณอันตรายที่ไอทีวีจะกลับเข้าสู่วังวนเดิมหรือเกิดปัญหาหนักกว่าที่เป็นอยู่ คือ อาจจะไม่ต่างจากไอทีวีในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำรัฐบาล และอาจจะไม่ต่างจากสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เพราะแน่นอนว่า หากมีการเลือกตั้ง เราได้รัฐบาลชุดใหม่ ตามนิสัยเดิมของนักการเมืองก็มักจะใช้อิทธิพลทางการเมือง หรือเครือข่ายทางธุรกิจ เข้าไปบีบบังคับสื่อมวลชนให้เกิดการตรวจสอบตนเอง ละเว้นความสนใจสถานการณ์บ้านเมืองในบางเรื่อง ทั้งที่มีผลกระทบกับสังคม ทำให้ประชาชนขาดข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน และเพียงพอต่อการตัดสินใจในการกำหนดอนาคตของตนเอง และประเทศชาติ
ดังนั้นความเชื่อที่ว่า “สื่อมวลชนเป็นแสงสว่างที่ให้ปัญญาแก่ประชาชน” ก็คงจะไม่เกิดขึ้นได้อีกแน่นอน เพราะสื่อมวลชนจะจมปลักอยู่กับปัญหาเดิมที่ยากต่อการแก้ไข ยิ่งดูท่าทีของรัฐบาลในขณะนี้ก็ยังไม่ได้ประกาศแนวทางปฏิรูปสถานีโทรทัศน์ไอทีวี หรือ ทีไอทีวี ที่ชัดเจนให้ประชาชนทราบ เราจึงอาจเชื่อได้ว่าหากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกรมประชาสัมพันธ์ยังกะเตงสถานีโทรทัศน์แห่งนี้อยู่ สังคมเราก็คงมืดบอด และสื่อมวลชนก็คงจะกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองเหมือนที่เป็นมา ความหวังที่จะมีสถานีโทรทัศน์สาธารณะก็คงจะจมลึกสู่โคลนตมอีกครั้งหนึ่ง

 

คำสำคัญ (Tags): #ไอทีวี
หมายเลขบันทึก: 83538เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2007 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ผมก็ว่าอย่างงั้นแหละ  อ.ภีรกาญจน์

ช่วงนี้เบื่อละครน้ำเน่าช่อง 7 ตอนเย็นๆ จังคับ ไม่รู้เมื่อไหร่จะเลิกทำเสียที มันเป็นเวลาของครอบครัว น่าจะเป็นรายการครอบครัวที่สร้างสรรค์มากกว่า

แต่ก็ดีที่ช่อง 9 ยังมีสารคดีให้ดูบ้าง หรือช่อง 3 มีเบาบุ้นจิ้นให้เลือก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท