ชาวบ้านที่ว่าไม่ใช่ใครที่ไหนหรอก เว้ากับซื่อๆก็คือผมนี่แหละ หวังว่าท่านคงจะรู้จักหมอนี่บ้างนะครับ สำหรับคนที่เคยแวะมาดื่มน้ำเย็นนั่งพักใจในป่าแห่งนี้ คงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมาก ส่วนท่านที่หลงทางมา ถ้ามีเวลาก็ค่อยติดตามทำความรู้จักเดี๋ยวก็ยิ้มออกสำหรับท่านที่ไม่ชอบสไตส์นี้ก็ผ่านเลยไปไม่ว่ากัน .
ก่อนจะไปเมืองนอกเมืองนา เรามาสังคายนาแนวคิดเรื่องการวิจัยกันก่อน ผมมองว่างานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสังคม นักวิจัยบ้านเรายังทำไม่เต็มลูกสูบ อาจจะเป็นเพราะเงื่อนไขต่างๆ เช่น แหล่งทุนไม่สนับสนุนเท่าที่ควร ระยะเวลานักวิจัยไม่เพียงพอ ทีมงานและประสบการณ์ยังไม่สันทัดจัดเจน ฐานคิดงานวิจัยยังไม่ลุ่มลึก ที่สำคัญนักวิจัยระดับอาวุโสฝีมือเชื่อถือได้แต่ละท่านแบกงานไว้เต็มบ่า ระดับวิชาการและสมัครเล่น ก็วิจัยเล่นๆเสียเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่มีแผนงานสร้างนักวิจัยมืออาชีพในประเทศนี้
ด้วยเหตุนี้เองเมื่อมีกรณีสำคัญๆ ที่ต้องใช้ผลของการวิจัยมาประกอบการพิจารณา เรามักจะหาข้อเท็จจริงมาอ้างอิงได้ยาก ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องไข้หวัดนก เรื่อง GMO. หรือแม้แต่เรื่องยูคาฯนี่ก็เถอะ ยังอธิบายกันแบบตาบอดคลำช้าง ยกตัวอย่างที่เจ้าเม้งสมาชิกก๊วนผมที่อยู่เยอรมัน ส่งข้อมูลยูคาฯทั่วโลกมาให้ ผมถือว่านี่เป็นวันประวัติศาสตร์ของชาวบล็อกไทยเลยนะครับ ที่มีการรับส่งข้อมูลมานั่งวิเคราะห์กันอย่างเป็นหลักเป็นฐานในระดับชุมชน เป็นการร่วมมือกันค้นหาความรู้มาเสริมการพิจารณาประเด็นสำคัญๆร่วมกัน ที่ถือว่าเป็นจุดพิเศษก็คือ กระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพื่อสนองการศึกษาและวิจัยอิงระบบ ภายใต้วิธีการของKM.ธรรมชาติ ใครรู้เรื่องอะไรก็เอามาลงขันกัน ในตอนท้ายจึงจะสังเคราะห์ดูว่า บริบทของยูคาลิปตัสในประเทศไทยยืนอยู่ตรงจุดไหนของยูคาลิปตัสโลก
ในระดับชาวบ้าน ผมถือว่าคนไทยได้เรียนรู้เรื่องยูคาฯตามสไตส์พี่ไทยมาประมาณ 30ปี ดังนั้นสิ่งที่ชาวบ้านคิดและกระทำต่อไม้พันธุ์นี้คงได้บทสรุปพอควร ขึ้นอยู่กับผู้รู้จะไปรวมรวมมาวิเคราะห์และสงเคราะห์ข้อมูลระดับไหนอย่างไร? ข้อมูลที่ว่านี้มาจากไหน
1. จากการเรียนรู้แบบสะเปะสะปะของชาวบ้าน
2. จาการเรียนรู้แบบศึกษาทดลองของชาวบ้าน
3. จากเรียนศึกษาทดลองภายในศูนย์เพาะชำกล้าไม้ กรมป่าไม้
4. จากการศึกษาวิจัยเฉพาะทาง เช่น งานวิจัยของจุฬาลงกรณ์ โดย(สกว.)
5. จากงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา คณะวนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
6. จากงานศึกษาขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป .)
7. จากงานวิจัยของนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้
8. จากงานวิจัยของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมป่าไม้
9. จากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเฉพาะทางที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบ
10. จากงานวิจัยอิสระ ไทย และต่างชาติที่มาดำเนินการในไทย
11. จากองค์กรวิจัยต่างประเทศ
12. จากข้อมูลขององค์ระหว่างประเทศ (ดังที่เจ้าเม้งส่งมาใน บล็อก)
13. อื่นๆ
ถ้าพิจารณาจากข้อมูลที่เรามีอยู่ ถ้าตีบทให้แตก เราจะได้ชุดความรู้เรื่องยูคาลิปตัสฉบับสายพันธุ์ไทยไว้ถือไปเทียบเคียงกับของนานาชาติ ไม่อย่างงั้นเราก็จะมีแต่ชุดความรู้ของต่างด้าว เขาจะว่าอะไรก็ศิโรราบแบบเด็กปัญญาอ่อน งานวิจัยที่ดีต้องผ่านการทดลองในพื้นที่จริงมาแล้ว ถึงจะเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือ ปัญหาในวันนี้ก็คือทำอย่างไรเราจะเพิ่มศักยภาพให้นักวิจัยกึ่งอาชีพหรือมือสมัครเล่นในบ้านเรา มาเป็นนักวิจัยมืออาชีพอย่างเป็นรูปธรรม บางท่านอาจจะสงสัยว่า กรณีตัวอย่างงานวิจัยที่ว่านี้มีจริงหรือ มีหลายโครงการครับ ถ้าลองไปค้นดูงานเหล่านี้ในสภาวิจัยแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือในองค์กรของรัฐและภาคเอกชน แม้แต่หน่วยงานกิ๊กก๊อกอย่างมหาชีวาลัยอีสานก็เริ่มทำการวิจัยร่วมกับพันธมิตรวิชาการ เช่น การศึกษาวิจัยหาความเป็นไปได้ในการที่จะให้ชาวบ้านเลี้ยงไก่ไข่ การวิจัยเรื่องการเลี้ยงโคพันธุ์ซาฮิวาล การศึกษาวิจัยเรื่องเห็ดเพื่อชุมชนโดยนักศึกษาบูรณาการศาสตร์ นายอุทัย อันพิมพ์
..มันเป็นดวงดาวที่สวยงามมาก หมุนรอบตัวเองอย่างนิ่มนวล ภายใต้แสงอาทิตย์ที่อบอุ่น ดูสงบแต่มีชีวิตชีวา ไม่มีวี่แววของสงครามให้เห็น..ไม่มีเส้นแบ่งเขตแดน ปราศจากความวุ่นวาย มีแต่ความสวยงามที่บริสุทธิ์ ..นี่คือคำบรรยายของสุภาพสตรีที่ได้ไปท่องอวกาศ ที่ทำให้ข้อคิดเห็นว่า ถ้ามนุษย์ไม่สร้างความวุ่นวายและไม่ทำลายต้นทุนของโลก พลังสติปัญญาของมนุษย์จะได้ทุ่มเทไปเพื่อการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์
โจทย์ชีวิต ..มนุษย์อยู่ที่ใด ก็ควรจะทำให้ตรงนั้นอุดมสมบูรณ์ร่มรื่น น่าอยู่น่าอาศัย ทำให้ทุกอย่างสอดคล้องสอดประสานกัน พึ่งพากันได้ตามปกติของสังคมแห่งมวลชีวิตทุกหมู่เหล่า เพราะเขาเหล่านั้น ก็มีสิทธิ ที่จะอยู่อาศัยบนผืนโลกใบนี้เท่ากับเราทุกคน กับสถานการณ์ในชุมชน ชนบทขณะนี้กำลังคลั่งกับคำว่า "ชุมชนเข้มแข็ง" แต่ในแง่ของความเป็นจริงนั้น มันเข้มแข็งตรงไหน ในเมื่อพึ่งตนเองไม่ได้สักอย่าง ในที่สุด ชาวบ้านหรือชุมชนใดๆ ก็ต้องมาตรวจสอบประเมินตัวเองว่า เราสามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องใด ระดับใด ถึงจะไปชี้วัดได้ว่า เราเข้มแข็งหรือปวกเปียก เป็นขนมเปียกปูน!
J เคยคิดไหมครับว่า ในสมัยก่อนทำไมคนไทยสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยเองทั้งๆ ที่ไม่มีบริษัทรับเหมา ก่อสร้าง ไม่มีธนาคาร อาคารสงเคราะห์ ไม่มีบริษัทจัดสรรหมู่บ้านและที่ดิน
J เคยสังเกตไหมครับว่า ในอดีตไม่มีโรงพยาบาล ไม่มีร้านขายยา ไม่มีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เราก็ยังมี สุขอนามัย ปลอดภัยลุล่วงมาได้
J เคยตระหนักไหมครับว่า ในอดีตทำไม ทุกคนมีความรู้เพียงพอที่จะดำรงชีพเลี้ยงตัวเอง ได้อย่างมีความปกติสุข ตามควรแก่อัตภาพ ทั้งๆ ที่ไม่มีโรงเรียนสาธิต ไม่มีการสอบเอ็นทรานซ์ ไม่มีการจ่าย ค่าแป๊ะเจี๊ยะ ไม่มีใคร ออกโรงเรียนกลางคัน และไม่มีใคร กระโดดตึกเรียน ฆ่าตัวตาย
J เคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมในอดีตคนชนบทไม่มีใครตกงาน ไม่มีใครว่างงาน ทุกคนทุกชนชั้น มีบทบาท หน้าที่ สอดคล้องกัน อย่างเป็นระบบระเบียบ.
ที่จำต้องยกเรื่องเก่ามาเกาหลัง เพื่อให้ท่านเห็นพื้นฐานของคนที่จะไปดูงานวิจัยถึงเมืองนอกเมืองนา ที่ไปที่มาก็มาจากเจ้ายูคาที่ผมปลูกนี่แหละ ไม่ได้ปลูกเฉยๆนะสิครับ ปลูกไปโม้ไป เหวี่ยงแหเปะปะตามประสาของคนอวดโง่ มีเท่าไหร่ใช้ความโง่ยกขึ้นบังหน้าเข้าหาคนฉลาด ขอความรู้เขาไปเรื่อย จนกระทั่งมีเจ้าพ่อยูคาฯชื่อลุงเจ็ฟกับน้าจอห์นแกมาเยี่ยมผมหลายครั้ง ผมก็ซอกแซกถามลุงเรื่องยูคาลิปตัส ผมไม่พูดปากเปล่านะครับ เอาบันทึกต่างๆที่ทำไว้ให้แกดู ลุงแกว่าน่าจะพิมพ์เป็นหนังสือ ผมก็บอกลุงว่าจะดำน้ำพิมพ์ไปได้อย่างไรในเมื่อรู้จักยูคาฯแค่หางอึ่ง ยังมีข้อเท็จจริงที่ไม่รู้ไม่เห็นอีกมาก
ประเด็นหนึ่งที่ผมพยายามขอความเห็น เกี่ยวกับการต่อต้านยูคาลิปตัสในประเทศไทย ลุงแกไม่ยอมให้ความเห็นใดๆ แกบอกว่าเป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศ ว่าจะเลือกหรือไม่เลือก ปลูกหรือไม่ปลูกไม่มีใครบังคับ ซึ่งทั่วโลกเขาก็มีสติปัญญาที่จะติดสินใจได้เอง แต่ถ้าถามเป็นการส่วนตัว ลุงแกจะจับแขนผมเดินเข้าป่า หยิบใบไม้ขึ้นมาอธิบายเรื่องต่อมน้ำมันในใบ ชี้ให้ดูตอยูคาฯและหน่อแขนงที่จัดการยังไม่ถูกต้อง ลุงแกจะแนะนำยังงี้ๆๆๆ นับว่าผมโชคดีที่ได้ครูดีด้านการปลูกป่าไม้ระดับโลก
ผมตั้งข้อสงสัยว่า ในเมื่อยูคาฯเกิดเต็มประเทศออสเตรเลีย ถ้ามันไม่ดีทำไมไม่โค่นทิ้ง แล้วหาไม้ดีๆไปปลูกแทน ตัวลุงเจ๊ฟเองเท่าที่ทราบ ก็ปลูกยูคาฯจนได้เป็นเจ้าพ่อยูคาฯโลก ทั้งหมดนี้เป็นช่วงการขายความคิดออกไปแบบคนไม่มีดีกรีอะไรให้ต้องระวัง เรื่องขายขี้หน้าปล่อยห้าแต้มผมนี่ถนัดนัก ก็คนมันเรียนมาน้อยรู้น้อย จะไปมีอะไรยังไงอีกทำไมละ ประกาศว่าข้าโง่เสียให้มันรู้แล้วรู้รอดสบายใจดี เพราะไม่มีใครมาแย่งมาแซงมาตรฐานขั้นต่ำสุดนี้แล้วกระมัง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ใน KM ในมหาชีวาลัยอีสาน