สนามบินใกล้ชุมชน บทเรียนจากสหรัฐฯ


สนามบินใกล้ชุมชน

สนามบินใกล้ชุมชน บทเรียนจากสหรัฐฯ

      ระหว่างขั้นตอนในการวางแผนโครงการก่อสร้างสนามบินขนาดใหญ่ทั่วโลก ปัจจัยความเสี่ยงและผลประโยชน์ด้านต่างๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันอย่างคร่ำเคร่ง ประกอบด้วย ปัจจัยด้านความปลอดภัย, ผลประโยชน์ทางการเมือง, การค้าขายระหว่างประเทศ, และการทำธุรกิจในพื้นที่

ส่วนปัญหาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่มักได้รับการพิจารณาหลังสุด

อย่างไรก็ตาม ในรอบหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มองค์กรภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้กับสนามบิน เริ่มออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านแผนการขยายสนามบินมากขึ้น ส่งผลให้การก่อสร้างสนามบินใหม่ๆ ต้องหนีออกไปในนอกเขตที่อยู่อาศัย ล่าสุด เมื่อรัฐบาลไทยจะผลักดันให้มีการตั้ง "ชุมชนเมือง" ขึ้นมาโดยรอบสนามบิน "สุวรรณภูมิ" ก่อให้เกิดคำถามถึงความโปร่งใสของนโยบาย รวมทั้งความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อมและผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน

ในสหรัฐอเมริกานั้นมีสนามบินเชิงพาณิชย์มากกว่า 500 แห่ง ในจำนวนนี้ 50 แห่งมีปริมาณเครื่องบินขึ้นลงถี่ยิบประมาณ 4 นาทีต่อเครื่อง

นับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 หรือ 10 กว่าปีก่อนที่ผ่านมา มีกลุ่มประชาชนรวมตัวกันเพิ่มอำนาจต่อรองกับสนามบินและสายการบิน เช่น กลุ่ม "ARECO" ซึ่งเรียกร้องให้สนามบิน "โอแฮร์" ในนครชิคาโก ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมอย่างดี และกลุ่มพลเมืองต่อต้านมลพิษจากสนามบิน "CAAP" ที่พยายามเข้าไปควบคุมให้สนามบินซานโฮเซ่ จัดตารางบินใหม่เพื่อลดมลภาวะทางเสียง

กลุ่มประชาชนเหล่านี้รวมตัวเป็นเครือข่าย คอยให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพื่อจะได้ตัดสินใจถูกว่าจะสนับสนุนโครงการขยาย หรือสร้างสนามบินแห่งใหม่ในชุมชนของตนหรือไม่ นอกจากนั้น ยังคอยกดดันให้สนามบินดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน

"สนามบิน"จุดรวมมลพิษ
มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า สนามบินเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษรายใหญ่ ทั้งมลพิษทางเสียง น้ำ และอากาศ
สนามบินเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 : ต้นเหตุโลกร้อน) สารอินทรีย์ไอระเหย (VOCs) และไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) สู่ชั้นบรรยากาศ และยังปล่อยสารเคมีเป็นพิษที่เกิดจากการทำความสะอาดเครื่องบินลงสู่แหล่งน้ำอีกด้วย

ปัญหามลพิษทางอากาศของพื้นที่โดยรอบสนามบินไม่ได้มาจากเครื่องบินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมาจากรถยนต์และยวดยานพาหนะต่างๆ ที่แออัดเข้ามารับส่งสินค้าและผู้โดยสาร ส่วนมลพิษทางเสียงจากสนามบิน คือ วิบากกรรมอันดับต้นๆ ที่คนบ้านใกล้สนามบินต้องเผชิญ

ศาสตราจารย์อาร์ลีน บรอนซาฟต์ นักวิชาการมหาวิทยาลัย "เลห์แมน คอลเลจ" นครนิวยอร์ก สหรัฐ ศึกษาพบว่า… บุคคลที่บ้านตั้งอยู่ในเส้นทางการบินขึ้นลงของเครื่องบิน และรู้สึกรำคาญต่อเสียงดังที่เกิดขึ้น จะมีสุขภาพแย่กว่าคนทั่วไป

งานวิจัยของศาสตราจารย์แกรี่ อีวานส์ นักวิเคราะห์สภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยคอร์แนล นิวยอร์ก เมื่อหลายปีก่อน พบว่า… เด็กที่เติบโตขึ้นมาในย่านชุมชนใกล้กับสนามบิน หรือต้องเรียนหนังสือในย่านดังกล่าว ซึ่งมีเสียงเครื่องบินดังบ่อยครั้งจะเรียนรู้ช้า เพราะการรับฟังไม่สมบูรณ์ ฟังและแยกแยะความต่างของคำต่างๆ ไม่ออก

งานวิจัยชิ้นอื่นๆ ยังชี้ด้วยว่า มลพิษทางเสียงจากสนามบินส่งผลทำให้ชาวบ้านนอนไม่หลับ และขาดความสุขจากการได้ยิน ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้จะส่งผลทำให้ "สุขภาพจิต" ของคนๆ นั้นไม่ดีตามไปด้วยในเวลาต่อมา นอกจากนั้น เสียงอึกทึกปวดแก้วหูของสนามบินจะทำให้ "ราคาที่ดิน" โดยรอบตก

บทเรียนจากสหรัฐฯ
ในส่วนของการปล่อยสารเคมีเป็นพิษออกมาปนเปื้อนสภาพแวดล้อม กลุ่ม "ARECO" และพันธมิตรในสหรัฐ เช่น สภาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และกลุ่มประชาชนเฝ้าระวังธุรกิจการบิน (US-CAW) ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลสารพิษที่ปล่อยออกจากสนามบินและเครื่องบินได้นับร้อยรายการ

ยกตัวอย่างเช่น Freon 11, Methyl Bromide, Trimethybenzene, Benzene, Nitric Acid, Nitrogen Oxide, Sulfulric Acid, Carbonmonoxide, Acethane, Styrene, Nitrites, Phenol, 4-Ethyl Toulene, 1-8 Dinitropyrene และ 3-Nitrobenzanthrone ซึ่งสารตัวหลังสุดนี้เป็น "สารก่อมะเร็ง" มีพิษร้ายแรง

นอกจากนี้ สนามบินเป็นแหล่งพ่นสารกลุ่ม "อินทรีย์ไอระเหย" (VOCs) จำนวนมาก โดยท่าอากาศยานใหญ่ๆ อาทิ สนามบินนานาชาติจอห์น เอฟ. เคเนดี้ ของสหรัฐเพียงแห่งเดียวปล่อยสาร VOCs และไนโตรเจนออกไซด์ในปริมาณสูงถึง 100 ตัน ภายใน 1 ปี สาร VOCs ส่งผลกระทบทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย ระบบประสาท และอาจก่อให้เกิดมะเร็งถ้าได้รับสารประเภทนี้เป็นเวลานานๆ อาการเจ็บป่วยเพราะมลพิษทางอากาศจากสนามบินไม่ใช่สิ่งที่จะปรากฏให้เห็นช่วงข้ามคืน แต่ต้องใช้เวลาสะสมพิษนานนับสิบปี

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2540 สำนักงานสาธารณสุขสหรัฐประจำเขตซีแอตเติล-คิง ออกสำรวจสถิติผู้ป่วยตามโรงพยาบาลหลายเขตของเมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน พบว่า… ประชากรย่านจอร์จทาวน์ เมืองซีแอตเติล ซึ่งมีบ้านพักอาศัยรายล้อมรอบท่าอากาศยานนานาชาติ "คิงเคาน์ตี้" มีสถิติล้มป่วยสูงกว่าประชากรย่านอื่นในเมืองซีแอตเติล ไม่ว่าจะเป็นโรคหอบหืด ปอดอักเสบ โรคทางเดินหายใจ และโรคความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่น่าวิตกก็คือ สถิติเด็กทารกแรกคลอดและเสียชีวิตในย่านจอร์จทาวน์สูงกว่าย่านอื่นร้อยละ 50 และประชากรย่านนี้มีอายุขัยเฉลี่ย 70.4 ปี นับว่าน้อยกว่าคนส่วนใหญ่ในซีแอตเติลที่มีอายุ 76 ปี

การรุกรานแหล่งน้ำ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญอีกข้อหนึ่งที่กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและกลุ่มภาคประชาชนวิตก ได้แก่ เรื่องของสารเคมีเป็นพิษที่ไหลลงไปในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาร "ไกลคอล" (Glycol) ซึ่งทางสนามบินต้องนำมาผสมกับน้ำและฉีดพ่นตัวเครื่องบิน เพื่อละลายคราบน้ำแข็งและป้องกันไม่ให้น้ำแข็งก่อตัวขึ้นมาขัดขวางการทำงานของปีกขณะทำการบินอยู่ที่ระดับสูงๆ

มาร์ก วิลเลียมส์ ผู้ช่วยโครงการดูแลสิ่งแวดล้อมประจำสำนักงานควบคุมการบินรัฐแมรี่แลนด์ของสหรัฐ ยอมรับว่า ถ้าสนามบินไม่มี "ระบบบำบัดน้ำเสีย" ที่ดีพอ ก็มีความเป็นไปได้ที่สารไกลคอล จะหลุดรอดออกไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของประชาชนรอบๆ สนามบิน พิษภัยของสารไกลคอลที่ว่านี้คือ ทำลายออกซิเจนในน้ำ ฆ่าสัตว์น้ำ ถ้าเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ในปริมาณมากๆ เกิน 3 ออนซ์ในครั้งเดียวอาจถึงตาย ถ้าได้รับน้อยๆ พิษจะค่อยๆ สะสมทำลายไต และทางอุตสาหกรรมการบินก็รู้ถึงอันตรายของสารตัวนี้ดี จึงกำลังทดลองพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อสร้างความร้อนแก่โครงสร้างเครื่องบนป้องกันน้ำแข็ง โดยหนึ่งในนั้นคือวิธียิงแสง "อินฟราเรด" เพื่อเพิ่มอุณหภูมิภายนอกตัวเครื่องบิน

ผลกระทบจากการสร้างสนามบินขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่รัฐควรเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ เพราะเกี่ยวพันโดยตรงกับชีวิตคนในพื้นที่รอบๆ ที่ตั้งสนามบิน

   อ้างอิงจาก.....   จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 8 พย.48
ข้อมูล : นิตยสารไทม์, ARECO, CAAP

คำสำคัญ (Tags): #สนามบิน
หมายเลขบันทึก: 83368เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2007 01:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เจตนาของครูไม่ใช่ให้สักแต่ลง ๆ บันทึกนะครับ
  • อยากให้อ่าน วิเคราะห์ ดึงประเด็น นำเสนอ สี่ห้าบรรทัดก็ได้  หากมันได้กลั่นมาจากตัวเราเอง
  • ไม่ใช่ไปเที่ยว Copy ของคนอื่นมาลงเพียงอย่างเดียว
  • ลองใหม่นะ  อีกนานกว่าจะเช้า 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท