ธรรมะขีดเส้นใต้ ๔ : ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป!?


อย่ามาเถียงกฎแห่งกรรมเลย ไปศึกษาพัฒนาปัญญาของคุณเองนั่นแหละ กฎไม่ผิดหรอก คุณปลูกมะม่วงก็ได้มะม่วง ส่วนจะได้เงินหรือไม่นั้น ต้องอยู่ที่เหตุปัจจัยอื่น

เคยไหมที่เราต้องมานั่งบ่นกับตัวเอง (หรือกับคนอื่น)  ว่า

  • ทำไมฉันทำดีแล้วไม่ได้ดีสักที คนอื่นไม่เห็นทำดีเท่าฉันแต่เขากลับได้ความดีเฉยเลย  ไหนใครว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วล่ะ ใครจะเชื่อไม่เชื่อไม่รู้ แต่ฉันชักไม่เชื่อแล้ว!
  • คนนั้นฉันเห็นเขาทำแต่ความชั่ว แต่ทำไมผลชั่วไม่เห็นตามทันเขาสักที เห็นรวยเอาๆ
  • คนนั้นเขาทำแต่ความดีแต่ทำไมเขามาด่วนตายเร็วนะ ส่วนไอ้พวกคนเลวเห็นอายุยืนอยู่เกลื่อนเมือง
  • ฯลฯ

ผมคิดว่าหลายคนคงเคยคิดทำนองนี้  ซึ่งทำให้เราไม่เชื่อเรื่องกรรมที่เป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนา  และความเชื่อของเราก็กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไป  ถ้าท่านยังคงคิดเรื่องเหล่านี้และหากพาลคิดไปว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้นั้นไม่เห็นเป็นจริง ผมว่าคุณต้องศึกษาพุทธศาสนาเพิ่มแล้วล่ะครับ

วันนี้ผมมีคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้มานำเสนอครับ


การให้ผลกรรมระดับภายนอก :

สมบัติ ๔ - วิบัติ ๔

        แง่ต่อไป  เกี่ยวกับการได้รับผลกรรมอีกระดับหนึ่ง  อย่างที่เราพูดอยู่เสมอว่า  ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และมีผู้ชอบแย้งว่า  ทำดีไม่เห็นได้ดีเลย  ฉันทำดีแต่ได้ชั่ว  ไอ้คนนั้นทำชั่วมันกลับได้ดี  นี่ก็เป็นอีกระดับหนึ่งที่น่าสนใจ  ซึ่งก็ต้องมีแง่มีแนวในการที่จะอธิบาย

        เบื้องแรกเราต้องแยกการให้ผลของกรรมออกเป็น ๒ ระดับ  คือระดับที่เป็นผลกรรมแท้ๆ  หรือเป็นวิบาก  กับระดับผลข้างเคียงที่ได้รับภายนอก

        ยกตัวอย่างเป็นอุปมาจึงจะพอมองเห็นชัด  เช่น  คนหนึ่งบอกว่า  ผมขยันทำการงาน  แต่ไม่เห็นรวยเลย  แล้วก็บอกว่าทำดีไม่เห็นได้ดี  ในที่นี้  ขยัน คือ ทำดี, และ  รวย คือ ได้ดี, ทำดี คือ ขยันก็ต้องได้ดี คือ รวย  ปัญหาอยู่ที่ว่ารวยนั้นเป็นการได้ดีจริงหรือเปล่า

        ถ้าจะให้ชัดก็ต้องหาตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น  เช่น นาย ก. ขยันปลูกมะม่วง  ตั้งใจปลูกอย่างดี  พยายามหาวิธีการที่จะปลูก  ปลูกแล้วปรากฏว่ามะม่วงงอกงามจริงๆ  แล้วนาย ก. ก็มีมะม่วงเต็มสวน  แต่นาย ก. ขายมะม่วงไม่ได้  มะม่วงเสียเปล่ามากมาย  นาย ก. ไม่ได้เงิน  นาย ก. ก็ไม่รวย  นาย ก. ก็บ่นว่า  ผมขยัน=ทำดี  ปลูกมะม่วงเต็มที่  แต่ผมไม่ได้ดี=ไม่รวย

        ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ นาย ก. ลำดับเหตุและผลไม่ถูก  แยกขั้นตอนของการได้รับผลไม่ถูกต้อง  นาย ก. ทำเหตุคือขยันปลูกมะม่วง  ก็จะต้องได้รับผลคือได้มะม่วง  มะม่วงก็งอกงาม  มีผลดกบริบูรณ์  นี่ผลตรงกับเหตุ  ปลูกมะม่วงได้มะม่วง  ขยันปลูกมะม่วงก็ได้มะม่วงมากมาย  แต่นาย ก. บอกว่าไม่ได้เงิน  ไม่รวยคือไม่ได้เงิน

        ปลูกมะม่วงแล้วไม่ได้เงิน  นี่ไม่ถูกแล้ว  ปลูกมะม่วงแล้วจะได้เงินได้อย่างไร  ปลูกมะม่วงก็ต้องได้มะม่วง  นี่แสดงว่า นาย ก. พูดลำดับเหตุผลผิด  เหตุผลที่ถูก คือ ปลูกมะม่วงแล้วได้มะม่วง  แต่ปลูกมะม่วงแล้วรวย  หรือปลูกมะม่วงแล้วได้เงินนี้ยังต้องดูขั้นต่อไป

        ถ้าปลูกมะม่วงแล้ว  ได้มะม่วงมากมาย  มะม่วงล้นตลาด  คนปลูกทั่วประเทศเลยขายไม่ออก  ก็เสียเปล่า  เป็นอันว่าไม่ได้เงิน  ฉะนั้นก็ไม่รวย  อาจจะขาดทุนยุบยับก็ได้  เราต้องแยกเหตุผลให้ถูก

        เป็นอันว่า  อย่ามาเถียงกฏแห่งกรรมเลย  ไปศึกษาพัฒนาปัญญาของคุณเองนั่นแหละ  กฎไม่ผิดหรอก  คุณปลูกมะม่วงก็ได้มะม่วง  ส่วนจะได้เงินหรือไม่นั้น  ต้องอยู่ที่เหตุปัจจัยอื่น  ซึ่งเป็นลำดับเหตุและผลอีกช่วงตอนหนึ่ง  ที่จะต้องแยกแยะวินิจฉัยต่อไปอีก  เช่นว่า  คุณขายเป็นไหม  รู้จักตลาดไหม  ตลาดตอนนี้มีความต้องการมะม่วงไหม  ต้องการมากไหม  ราคาดีไหม  ถ้าตอนนี้คนต้องการมะม่วงมาก  ราคาดี  จัดการเรื่องขายได้เก่ง  คุณก็ได้เงินมาจากการขายมะม่วง  ก็รวย  นี่เป็นอีกตอนหนึ่ง  คนเราโดยทั่วไปมักจะเป็นอย่าง  นาย ก. นี้  คือ  มองข้ามขั้นตอนของเหตุผล  จะเอาปลูกมะม่วงแล้วรวย  จึงยุ่งเพราะตัวเองคิดผิด

        ในเรื่องนี้จะต้องแบ่งลำดับเรื่องเป็น ๒ ขั้น  ขั้นที่ ๑ บอกแล้วว่า  ปลูกมะม่วงได้มะม่วง  เมื่อได้มะม่วงแล้ว  ขั้นที่ ๒  ทำอย่างไรกับมะม่วงจึงจะได้เงิน  จึงจะรวย  เราต้องคิดให้ออกทั้ง ๒ ตอน

        ตอนที่ ๑  ถูกต้องตามเหตุปัจจัยแน่นอนแล้ว  คือปลูกมะม่วงได้มะม่วง  หลักกรรมก็เหมือนกัน  หลักกรรมในขั้นที่ ๑  คือปลูกมะม่วงได้มะม่วง  เหตุดี ผลก็ดี  เมื่อท่านปลูกเมตตาขึ้นในใจ ท่านก็มีเมตตา  มีความแช่มชื่น  จิตใจสบาย  ยิ้มแย้มผ่องใส  มีความสุขใจ  แต่จะได้ผลอะไรต่อไปเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

        สำหรับ ตอนที่ ๒  ท่านให้ข้อพิจารณาไว้อีกหลักหนึ่ง  ดังที่ปรากฏในอภิธรรม  บอกไว้ว่า  การที่กรรมจะให้ผลต่อไป  จะต้องพิจารณาเรื่องสมบัติ ๔  และวิบัติ ๔  ประกอบด้วย  คือ  ตอนได้มะม่วงแล้วจะรวยหรือไม่  ต้องเอาหลักสมบัติ ๔  วิบัติ ๔  มาพิจารณา

        สมบัติ  คือองค์ประกอบที่อำนวยช่วยเสริมกรรมดี  มี ๔ อย่างคือ

        ๑. คติ  คือ  ถิ่นที่  เทศะ  ทางไป  ทางดำเนินชีวิต
        ๒. อุปธิ  คือ ร่างกาย
        ๓. กาล  คือ  กาลเวลา  ยุคสมัย
        ๔. ปโยค  คือ  การประกอบ  หรือการลงมือทำ

        นี่เป็นความหมายตามศัพท์  ฝ่ายตรงข้าม  คือ  วิบัติ  ก็มี ๔ เหมือนกัน คือ ถ้า คติ อุปธิ กาล ปโยค ดี  ช่วยเสริม  ก็เรียกว่าเป็นสมบัติ  ถ้าไม่ดี  กลายเป็นจุดอ่อน  เป็นข้อด้อย  หรือบกพร่อง  ก็เรียกว่าเป็นวิบัติ  ลองมาดูว่าหลัก ๔ นี้มีผลอย่างไร

        สมมติว่า คุณ ก.  กับ  คุณ ข. มีวิชาดีเท่ากัน  ขยัน  นิสัยดีทั้งคู่  แต่เขาต้องการรับคนทำงานที่เป็นพนักงานต้อนรับ  อย่างที่ปัจจุบันเรียก  receptionist  ทำหน้าที่รับแขก  หรือปฏิสันถาร  คุณ ก.  ขยัน  มีนิสัยดี  ทำหน้าที่รับผิดชอบดี  แต่หน้าตาไม่สวย  คุณ ข. ก็ขยัน  นิสัยดี  มีความรับผิดชอบดี  และหน้าตาสวยกว่า  เขาก็ต้องเลือกเอาคุณ ข.  แล้วคุณ ก.  จะบอกว่า  ฉันขยันอุตส่าห์ทำดี  ไม่เห็นได้ดีเลย  เขาไม่เลือกไปทำงาน  นี่ก็เพราะตัวเองมีอุปธิวิบัติ  เสียในด้านร่างกาย  หรืออย่างคน ๒ คน  ต่างก็มีความขยันหมั่นเพียร  มีความดี  แต่คนหนึ่งร่างกายไม่แข็งแรง  มีโรคออดๆ แอดๆ เวลาเลือก  คนขี้โรคก็ไม่ได้รับเลือก  นี้เรียกว่า อุปธิวิบัติ

        ในเรื่องคติ  คือ  ที่ไปเกิด  ถิ่นฐาน  ทางดำเนินชีวิต  ถ้าจะอธิบายแบบช่วงยาวข้ามภพข้ามชาติ  ก็เช่นว่า  คนหนึ่งทำกรรมดีมากๆ  เป็นคนที่สั่งสมบุญมาตลอด  แต่พลาดนิดเดียว  ไปทำกรรมชั่วนิดหน่อย  แล้วเวลาตาย  จิตไปประหวัดถึงกรรมชั่วนั้น  กลายเป็นอาสันนกรรม  ทำให้ไปเกิดในนรก  พอดีช่วงนั้นพระพุทธเจ้ามาอุบัติ  ทั้งที่แกสั่งสมบุญมาเยอะ  ถ้าได้ฟังพระพุทธดำรัส  แกมีโอกาสมากที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงได้  แต่แกไปเกิดอยู่ในภพที่ไม่มีโอกาสเลย  ก็เลยพลาด  นี่เรียกว่า คติวิบัติ

        ทีนี้พูดช่วงสั้นในชีวิตประจำวัน  สมมติว่าท่านเป็นคนมีสติปัญญาดี  แต่ไปเกิดในดงคนป่า  แทนที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งกล้าสามารถอย่างไอน์สไตน์  ก็ไม่ได้เป็น  อาจมีปัญญาดีกว่าไอน์สไตน์อีก  แต่เพราะไปเกิดในดงคนป่าจึงไม่มีโอกาสพัฒนาปัญญานั้น  นี่เรียกว่า  คติเสีย  ก็ไม่ได้ผลขึ้นมา  นี่คือ คติวิบัติ

        ข้อต่อไป  กาลวิบัติ  เช่น  ท่านอาจเป็นคนเก่งในวิชาการบางอย่าง  ศิลปะบางอย่าง  แต่ท่านมาเจริญเติบโตอยู่ในสมัยที่เขาเกิดวิชาสงครามกันวุ่นวาย  และในระยะที่เกิดสงครามนี้เขาไม่ต้องการใช้วิชาการหรือศิลปะด้านนั้น  เขาต้องการคนที่รบเก่ง  มีกำลังกายแข็งแรง  กล้าหาญ  เก่งกล้าสามารถ  และมีวิชาที่ต้องใช้ในการทำสงคราม  วิชาการและศิลปะที่ท่านเก่งเขาก็ไม่เอามาพูดถึงกัน  เขาพูดถึงแต่คนที่รบเก่ง  สามารถทำลายศัตรูได้มาก  ท่านก็ไม่ได้รับการยกย่องเชิดชู  เป็นต้น  นี่เรียกว่ากาลวิบัติ  สำหรับท่านหรือนายคนนี้

        ข้อสุดท้ายคือ  ปโยควิบัติ  มีตัวอย่างเช่น  ท่านเป็นคนวิ่งเร็ว  ถ้าเอาการวิ่งมาใช้ในการแข่งขันกีฬา  ท่านก็อาจมีชื่อเสียง  เป็นผู้ชนะเลิศในทีมชาติหรือระดับโลก  แต่ท่านไม่เอาความเก่งในการวิ่งมาใช้ในทางดี  ท่านเอาไปวิ่งราว  ลักของเขา  ก็เลยได้รับผลร้าย  ถูกจับขังคุกหรือเสียคนไปเลย  นี้เป็น  ปโยควิบัติ

        ว่าที่จริง  ถ้าไม่มุ่งถึงผลภายนอกหรือผลข้างเคียงสืบเนื่อง  การเป็นคนดี  มีความสามารถ  การเป็นคนป่าที่มีสติปัญญาดี  การมีศิลปะวิชาการที่ชำนาญอย่างใดอย่างหนึ่ง  ตลอดจนการวิ่งได้เร็ว  มันก็มีผลดีโดยตรงของมันอยู๋แล้ว  และผลดีอย่างนั้น  มีอยู่ในตัวทันทีตลอดเวลา  แต่ในการที่จะได้รับผลต่อเนื่องอีกขั้นหนึ่งนั้น  เราจะต้องเอาหลักสมบัติ-วิบัติ  เข้าไปเกี่ยวข้อง

        เหมือนปลูกมะม่วงเมื่อกี้นี้  ผลที่แน่นอน  คือ ท่านปลูกมะม่วง  ท่านก็ได้มะม่วง  นี้ตรงกัน  เป็นระดับผลกรรมแท้ๆ ขั้นต้น  ส่วนในขั้นต่อมา  ถ้าต้องการปลูกมะม่วงแล้วรวยด้วย  ท่านจะต้องรู้จักทำให้ถูกต้องตามหลักสมบัติ-วิบัติเหล่านี้ด้วย  เช่นต้องรู้จักกาละ  เป็นต้นว่า  กาลสมัยนี้คนต้องการมะม่วงมากไหม  ตลาดต้องการมะม่วงไหม  มะม่วงพันธุ์อะไรที่คนกำลังต้องการ  สภาพตลาดมะม่วงเป็นอย่างไร  มีมะม่วงล้นตลาดเกินความต้องการไหม  จะประหยัดต้นทุนในการปลูกและส่งให้ถึงตลาดได้อย่างไร  เราควรจะจัดดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ให้ถูกต้องด้วย  ไม่ใช่คิดแต่เพียงว่าฉันขยันหมั่นเพียรแล้วก็ทำไป  เลยได้ความโง่มาเป็นปัจจัยให้ได้รับผลของอกุศลกรรม

        เป็นอันว่าต้องพิจารณาเรื่องสมบัติ-วิบัติ ๔  นี้เข้ามาประกอบ  ว่าทำเลที่แหล่งนี้เป็นอย่างไร  กาลสมัยนี้เป็นอย่างไร  การประกอบการของเรา  เช่น  การจัดการขายส่งต่างๆ นี้  เราทำได้ถูกต้องดีไหม  ถ้าประกอบการให้ถูกต้อง  อย่างน้อยก็มีกาลวิบัติ  และปโยควิบัติขึ้นมา  เราก็ขายไม่ออก  เลยต้องขาดทุน  ถึงขยันปลูกมะม่วงก็ไม่รวย (อาจจะจนหนักเข้าไปอีก)

หนังสือ  เชื่อกรรม รู้กรรม แก้กรรม
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)
หน้า ๙๑-๙๖

บทความนี้อาจจะยาวสักหน่อยครับ  แต่ผมว่ามันก็คุ้มที่จะทำให้เราเข้าใจว่าตามหลักแห่งกรรม(ซึ่งเป็นคำกลาง แปลว่า การกระทำ) ของพุทธศาสนานั้น  ทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่วจริง  แต่พุทธศาสนาของเรานั้นเน้นเรื่องจิตมากกว่าเรื่องภายนอก(จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว) มาถึงสมัยนี้เราเน้นเรื่องวัตถุนิยมซึ่งเป็นเรื่องภายนอกกันมาก  เราเลยตีความหมายของพุทธศาสนาไม่แตก  เมื่อไม่เข้าใจก็ทำไม่ถูก  เมื่อทำไม่ถูกผลก็ย่อมออกมาไม่เป็นที่พอใจ ดังที่ท่านว่า เลยได้ความโง่มาเป็นปัจจัยให้ได้รับผลของอกุศลกรรม นั่นแหละครับ

ดังนั้นถ้าเราอยากได้ผลกรรมดังที่เราต้องการในสมัยนี้  เราก็ต้องใช้หลัก สมบัติ ๔ และวิบัติ ๔ เข้ามาช่วยครับ

นั่นแหละถึงจะเป็นไทยพุทธแท้ๆ

ธรรมะสวัสดีครับ
ธรรมาวุธ

 

หมายเลขบันทึก: 83361เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2007 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ทำดีได้ดี ทำไม่ดีได้ไม่ดี
  • ปลูกถั่วเขียวได้ถั่วเขียว ไม่ใช่ได้ถั่วงอก ที่ได้ถั่วงอกเพราะเราชิงกินมันเสียก่อนที่จะได้ผลที่แท้จริง
  • ขอให้โชคดีในการทำดี และขอส่งเสริมคนทำดีครับผม
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับคำถามและคำตอบในตัว พร้อมตัวอย่างดีๆ ครับ

เจริญธรรม สำนึกดีครับ

         มาอ่านธรรมะก่อนนอนครับ  หลับฝันดีนะครับ

  • 555 ชอบครับ พี่เม้ง ปลูกถั่วเขียวได้ถั่วเขียว ไม่ใช่ได้ถั่วงอก ถ้าอยากได้ถั่วงอกล่ะจะทำไงดีครับ?
  • หลับฝันดีครับคุณย่ามแดง (แต่จริงๆ แล้วหลับไม่ฝันน่าจะดีกว่าครับ)
ขอบคุณครับ
    ผมได้คลังสมบัติอีกที่แล้วล่ะครับ .. Blog นี้ไงครับ
  • ปลูกต้นไม้ยังต้องรอให้มันออกผล ปลูกความดีก้อต้องรอผลบ้าง
  • ต้นไม้ถ้าจะให้ผลดกผลสวย..ก้อต้องหมั่นดูแลรักษา ความดีก้อคงทำนองเดียวกัน หมั่นพรวนดินรดน้ำใส่ปุ๋ย เดี๋ยวมันก้อเจริญงอกงามเองแหละ แล้วผลก้อจะตามมา
  • พืชทุกชนิดก่อนจะให้ผล ก้อต้องออกดอกก่อน ความดีก้อคงทำนองเดียวกัน ถ้ามันออกผลช้า เราก้อชื่นชมดอกของมันไปพลางๆก่อน ซึ่งอันนี้ไม่ต้องรอ ปลูกปุ๊บออกดอกปั๊บ (ความชื่นใจสุขใจ)
  • นานไปถ้ายังไม่เห็นอีก ก้อคิดซะว่าความดีของเรามันเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ผลไม่มีก้อไม่เป็นไร เอาความสุขใจเป็นที่ตั้ง

  

  • การปลูกต้นไม้ด้วยเมล็ดทุกชนิด จะงอกในเวลาที่แตกต่างกัน อยู่ที่ความพร้อมของเมล็ดนั้น ระยะพักตัวของเมล็ดด้วย ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับเวลา บางชนิดต้องทำลายเกราะก่อนจะให้รากออกมาได้ง่ายๆ
  • อยากได้ถั่วงอกก็ต้องชิงกินก่อนที่มันจะเป็นถั่วเขียวครับ เหมือนเพาะลูกเนียงหมานไง ชิงกินเสียก่อนมันจะเป็นต้น
  • เหมือนคนเราร่ำเรียน ก่อนจะจบเราก็ออกซะก่อน ถามว่าได้ไหม ก็ได้นะครับ ไม่ได้เสียหายอะไร เพียงแต่ไม่ได้จบเห็นดอกของการศึกษาในบั้นปลาย แต่ใช่ว่าจะไม่มีความรู้ ความรู้ศึกษาได้ทั้งภายในและภายนอก
  • น้องลีย์ พี่รู้สึกว่าน้องสาวคนนี้จะไปไกลแล้วใช้ได้ ว่างๆ มาโต้ปรัชญาเรื่องธรรมชาติกันหน่อยครับ ไม่ธรรมดาจริงๆ
  • ขอบคุณทุกความเห็นเลย เป็นประโยชน์ (พี่เขียนยังกะเป็นบลอกของตัวเองเลย อิๆ)

ขอบคุณสำหรับทุกความเห็นครับ

ผมจำไม่ได้ถนัดนักว่าเซลล์สมองของคนเราเนี่ยเติบโตเต็มที่ตอนอายุประมาณกี่ปี น่าจะ 5 ขวบ แต่ที่รู้แน่ๆ ว่าอายุผมผ่านเลข 5(ขวบ) มาหลายปีแล้ว (ประมาณ 12 ปี อิอิ) กลับรู้สึกว่าสมองเติบโตขึ้นอีกเยอะเลยครับ เมื่อได้อ่านความเห็นจากกัลยาณมิตรทุกท่าน

  • ของคุณ อ.Handy ครับ ที่แวะมาบล็อกผม พี้เม้งเคยบอกเหมือนกันว่าถ้าเล่นสักพักจะได้รู้จัก อ.Handy ตอนแรกผมก็ไม่รู้จัก และแล้วผมได้เจอจริงๆ
  • ส่วนลีย์ แนะนำให้เธอเขียนบล็อกสักบล็อกน่าจะดี  สังเกตได้ว่ารู้ลึกรู้กว้างดี ไม่เห็นน้ำท่วมทุ่งอย่างที่ว่า
  • ส่วนพี่เม้ง ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจบ่อยๆ ครับ ทำให้มีกำลังใจอีกโขครับ

ความหลากหลายทางชีวภาพ ให้คุณกับสิ่งแวดล้อมฉันใด  ความหลากหลายทางความคิด ก็ให้คุณกับบัณฑิตฉันนั้น

ธรรมะสวัสดีครับ

ชอบบทความที่คุณธรรมาวุธ นำมาเสนอค่ะ อ่านแล้วเข้าใจดีและมีประโยชน์มาก ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท