BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ระบบทักษากาลี


ระบบทักษากาลี

คุณต้องไปเปลี่ยนชื่อใหม่ เพราะคุณเกิดวันพุธ มี จ.จาน เป็นกาลกิณี ...

คุณเกิดวันพุธใช่มั้ย ? อ๋อ ผมเดาเอานะ ชื่อคุณมี พ.พาน นำหน้า เป็นเดช สำหรับคนเกิดวันพุธ ...

แม้ว่าเราจะสนใจหรือไม่ หรือเชื่อไม่เชื่อก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า สำนวนทำนองข้างต้น พวกเราคงจะเคยผ่านหูมาบ้าง ...นั่นคือ ส่วนหนึ่งที่มีอยู่ในระบบทักษา ซึ่งมี ๘ อย่าง คือ บริวาร อายุ เดช ศรี มูล อุตสาหะ มนตรี กาลกิณี (บางคนอาจท่องได้)... เฉพาะตัวสุดท้ายคือ กาลกิณี นี้ บางคนอาจเรียกสั้นๆว่า กาลี

นักโหราศาสตร์ไทยมีมติเป็น ๒ ฝ่าย ว่าการตรวจดูดวงนั้น ควรจะนำระบบทักษามาใช้ด้วยหรือไม่ ... พวกหนึ่งก็ว่า จะต้องใช้ ทำให้เกิดความแม่นยำยิ่งขึ้น .. พวกหนึ่งก็บอกว่า ไม่จำเป็น เพราะถ้าใช้ระบบทักษาเข้าไปเกี่ยวข้อง จะทำให้คลาดเคลื่อน ผิดพลาด ... บางเกจิก็บอกว่า พวกที่เอาระบบทักษามาใช้เพราะดูไม่เป็นต่างหาก ... ความเห็นแย้งทำนองนี้ ทำให้หลายคนเรียกเหมารวมว่า ระบบทักษากาลี...

ฟังมาว่า ระบบทักษาเป็นของอินเดียโบราณ ซึ่งเรานำมาใช้เป็นของไทยเต็มตัว และการจะเข้าใจกำเนิดเทพเจ้าทั้งหลายก็เริ่มต้นที่ระบบทักษานี้เอง...

ผู้เขียนสงสัยว่า ทำไม เค้าจึงต้องเรียงลำดับเป็น บริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี กาลกิณี... ซึ่งความเห็นส่วนตัวพอจะขยายความดังต่อไปนี้ (เพิ่งคิดได้คืนนี้เอง)

บริวาร นั่นคือ เมื่อแรกเกิดก็ต้องมีคนมาห้อมล้อม พลอยยินดี เอใจใส่ดูแล หรือต้องเป็นบริวารของคนอื่นก่อน...

อายุ แปลว่า ความสืบต่อ นั่นคือ หลังจากเกิดแล้วก็ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป...

เดช นั่นคือ เป้าหมายของคน (โดยเฉพาะผู้ชาย) ต้องการมีอำนาจ มียศ มีศักดิ์...

ศรี แปลว่า สวยงาม หมายความว่า ผู้มีอำนาจยศศักดิ์นั้น ย่อมเป็นที่ชมชอบ ยกย่อง เทิดทูนของคนทั้งหลาย (ผู้หญิง อาจต้องการสิ่งนี้มากกว่าผู้ชาย)...

มูล แปลว่า มั่นคงเป็นหลักเป็นฐาน นั่นคือ เดชและศรีที่บังเกิดขึ้นแล้วนั้น เราต้องการให้มีความมั่นคง ไม่คลอนแคลน หรือเสื่อมสลายไป...

อุตสาหะ แปลว่า พยายาม นั่นคือ จะต้องกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้ความมั่นคงดำรงอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ...

มนตรี แปลว่า ความรู้หรือความคิด นั่นคือ สิ่งสำคัญที่จะต้องใช้เพื่อพยุงฐานะเอาไว้ อีกนัยหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามดังแต่ก่อน เพียงแต่ใช้ความคิดเห็นก็อาจที่จะดำรงสิ่งต่างๆ ไว้ได้...

กาลกิณี หมายถึง ความเลวทราม เสนียด อัปมงคล นั่นคือ สิ่งต่างๆ ดังที่ว่ามาข้างต้น ซึ่งเบื้องต้นอาจเห็นว่าน่าพึงปรารถนา แต่พอนานๆ ไปกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความเนิ่นช้า ไม่เป็นตัวของตัวเอง กลายเป็นกับดักที่ขังเราเอาไว้ในโลก ...หรืออีกมุมมองหนึ่ง ก็คือ แม้จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อเป็นอยู่นานเกินไป ก็อาจกลายเป็นสิ่งเลวทรามหรือเสนียดสำหรับคนรุ่นหลังได้...

หมายเหตุ ประเด็นคำอธิบายลำดับเรื่องทักษานี้ ผู้เขียนคิดไปพิมพ์ไป ยังไม่ได้ผ่านการกลั่นกรอง...

ทักษา ๘ เหล่านี้ จะไปเกี่ยวข้องกับเทพเจ้า หรือพระเคราะห์ทั้ง ๘ ซึ่งผู้เขียนค่อยเล่าในตอนต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #ระบบทักษากาลี
หมายเลขบันทึก: 83355เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2007 00:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท