การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาพชุมชนตามแนวทาง “ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน” ในระยะที่ 1 คือระยะการใช้แนวคิดในการจัดการชุมนุม (Community Organization) มีสิ่งหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ คือ การสร้างพลัง (Empowerment) แล้วการสร้างพลัง คืออะไร มีฐานคิดมาจากไหน ระดับของการสร้างพลังแต่ละระดับเป็นอย่างไร แล้วจะสามารถดำเนินการสร้างพลังชุมชน ด้วยวิธีการใดได้บ้าง ขอแยกนำเสนอเป็นตอน ๆ โดยนำมาจากงานของ พนัส พฤกษ์สุนันท์ และคณะ ที่นำเสนอเมื่อครั้งประชุมวิชาการกรมอนามัย ครั้งที่ 2/2547 เรื่อง การสร้างพลังชุมชน ในระหว่างวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2547 ณ โรงแรมทีเค พาเลส กรุงเทพฯ ซึ่งผมมองว่าง่ายต่อการทำความเข้าใจ และตรงกับสิ่งที่ได้ดำเนินการอยู่มากที่สุด ดังนี้ครับ
การสร้างพลัง คืออะไร การสร้างพลัง (Empowerment) เป็นกระบวนการทางสังคม ที่ส่งเสริมให้บุคคล องค์กร และชุมชน มีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถควบคุมตนเอง มีความสามารถในการเลือก และกำหนดอนาคตของตนเอง ชุมชน และสังคมได้
การสร้างพลังจึงเป็นกระบวนการ ที่บุคคลสามารถกระทำร่วมกับบุคคลอื่นในสังคม เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในแนวทางที่พึงปรารถนา แต่ไม่ใช่เป็นพลังที่จะไปบังคับ หรือครอบงำคนอื่น (Wallertein & Bernstein, 1988:379-394)
แนวคิดการสร้างพลังจะเน้นการเปลี่ยนแปลง ทั้งในระดับบุคคล และส่งเสริมสการรวมกลุ่มกัน เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม และสิ่งแวดล้อม การสร้างพลังจึงสอดคล้องกับ แนวคิดการส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่ ที่มิได้เน้นเฉพาะ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ ระดับบุคคลเท่านั้น แต่จะต้องมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงระดับสังคมด้วย สอดคล้องกับ องค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่า "เป้าหมายสุดท้ายของกลวิธีการดูแลตนเอง คือ การสร้างพลังให้ประชาชน สามารถกำหนด หรือจัดการกับสุขภาพของตนเองได้" (WHO, 1991:4)
คัดมาเป็นตอนจาก : งานของ พนัส พฤกษ์สุนันท์ และคณะ ที่นำเสนอเมื่อครั้งประชุมวิชาการกรมอนามัย ครั้งที่ 2/2547 เรื่อง การสร้างพลังชุมชน ในระหว่างวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2547 ณ โรงแรมทีเค พาเลส กรุงเทพฯ หากจะมีการนำไปใช้โปรดอ้างอิงถึงเจ้าของผลงานที่แท้จริงข้างต้น
[การสร้างพลัง คืออะไร] [มีฐานคิดมาจากไหน] [ระดับของการสร้างพลังแต่ละระดับเป็นอย่างไร]
[แล้วจะสามารถดำเนินการสร้างพลังชุมชน ด้วยวิธีการใดได้บ้าง]
[กล่าวโดยสรุปสำหรับการสร้างพลัง (Empowerment)]
ไม่มีความเห็น