Mr.CHOBTRONG
ผศ. สมศักดิ์ สถาบันวิจัยและพัฒนา ชอบตรง

คอลัมน์รอบด้านงานวิจัย


คอลัมน์รอบด้านงานวิจัย
 สวัสดีค่ะ รอบด้านงานวิจัยฉบับนี้ ขอประเดิมด้วยการประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักวิจัยในโครงการฐานเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานีและผู้สนใจเข้าฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง ฐานทางเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรม โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ    ศ.ดร.อานันท์  กาญจนพันธ์ ในวันที่ 12 มีนาคม 2550 เวลา 13.00 น. ณ ห้องพุทธรักษา อาคารราชพฤกษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โอกาสดี ๆ อย่างนี้พลาดไม่ได้อยู่แล้วใช่มั๊ยคะ มหาวิทยาลัยโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายพิเศษ ให้ความรู้และประสบการณ์แก่นักวิจัยและผู้สนใจมาแล้วหลายครั้ง เฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายพิเศษแล้ว 2 ครั้ง โดยในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ บรรยายพิเศษเรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพ : ทุนทางธรรมชาติเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และวันที่ 21 กุมภาพันธ์  2550 ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ บรรยายพิเศษเรื่อง การส่งเสริมวัฒนธรรม : ประสบการณ์จากเยอรมนี  ทั้งนี้เพื่อเปิดโลกทรรศน์และเติมเต็มสิ่งใหม่ ๆ ให้กับนักวิจัยและผู้สนใจ           สำหรับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพนั้น เมื่อได้ฟังผู้ทรงคุณวุฒินำเสนอข้อมูลแล้วหลายๆ ท่านรวมทั้งผู้เขียนคงจะเริ่ม โหยหาอดีต ด้วยสภาพของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนเป็นความได้เปรียบโดยธรรมชาติ มีฐานทรัพยากรทั้งบนดินและในน้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก มีความหลากหลายทางชีวภาพเยอะมาก ทั้งภูเขา ทั้งทะเล  ซึ่งหลาย ๆ ชาติในโลกนี้ไม่มีและโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยุโรปจะขาดแคลนต้นทุนทางธรรมชาติเหล่านี้ อันเป็นที่มาของการแสวงหาและเติมเต็มให้กับชาติของตนตามลัทธิจักรวรรดินิยมและการล่าอาณานิคม จนนำประเทศไปสู่ความร่ำรวยตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ส่วนความมั่งคั่งทางทรัพยากรของประเทศเราในท่ามกลางการพัฒนาและวันเวลาที่ผ่านไป ฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพกลับค่อย ๆ หมดไป วิถีชีวิตจากวิถีการ ทำมาหากิน ดำรงชีพแบบพอเพียงเราสามารถพัฒนาวิถีชีวิตไปสู่ การทำมาซื้อกิน ในปัจจุบัน คือ ซื้อทุกอย่าง ตั้งแต่พริกขี้หนู มะนาว...จนกระทั่งเครื่องอำนวยความสะดวกอันมิใช่เป็นที่มาของรายได้ วิถีชีวิตที่พึ่งตนเองอย่างอิสระจึงตกอยู่ภายใต้พันธนาการของระบบทุนนิยม ที่อาจจะพบโอกาสวิถีแห่งอิสระภาพในอนาคตได้ยากยิ่ง ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตเป็นลูกโซ่ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม ผู้เขียนอดจะเปรียบเทียบกับวิธีคิดของประเทศสิงคโปร์ไม่ได้ สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีฐานทรัพยากรธรรมชาติแต่สามารถสร้างศักยภาพพัฒนาประเทศจนเป็นหนึ่งใน 4 เสือตัวใหม่ของเอเชีย และที่น่าคิดหนักก็คือ ทิศทางในการพัฒนาประเทศล่าสุดสิงคโปร์โดยลีกวนยิวอดีตผู้นำประกาศว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศหนึ่งที่มีความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในโลกภายใน 2 ทศวรรษ โดยในปัจจุบันสิงคโปร์สามารถพัฒนาตนจากกลุ่มประเทศโลกที่สามหรือประเทศกำลังพัฒนาให้อยู่ในระดับล่างของประเทศที่พัฒนาและจะพัฒนาต่อให้อยู่แถวหน้าของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของประเทศในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับสภาพภูมิทัศน์โดยการนำลักษณะเด่นของประเทศต่าง ๆ มารวมกัน เช่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรมแบบกรุงลอนดอน สภาพแวดล้อมที่โปร่งและมีอากาศบริสุทธิ์แบบปารีส และศิลปะสมัยใหม่และวัฒนธรรมทางธุรกิจแบบนิวยอร์ก เป็นต้น พูดง่าย ๆ ก็คือ สิงคโปร์จะนำสิ่งดี ๆ หรือต้นแบบของชาติอื่น ๆ มาบูรณาการว่างั้นเถอะ! ในขณะที่สิงคโปร์มีเป้าหมายและพยายามสร้างความเป็นธรรมชาติให้เกิดขึ้นในสิงคโปร์ บ้านเมืองเราก็มีเป้าหมายสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การทำลายธรรมชาติจนย่อยยับทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ผลพวงของการพัฒนานำไปสู่การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและฐานทรัพยากรที่มั่งคั่งดังที่เห็นอยู่ หากสภาพยังเป็นอยู่อย่างนี้ ก็น่าเป็นห่วงอนาคตของ หลาน  เหลน  โหลน เราเป็นแน่แท้! แต่ก็น่าดีใจที่ในปัจจุบันทุกฝ่ายเริ่มตระหนักในปัญหาและแสวงหาหนทาง การพัฒนาอย่างยั่งยืน          ส่วนเรื่อง การส่งเสริมวัฒนธรรม : ประสบการณ์จากเยอรมนี ของ ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ นั้น ฯ ทำให้เห็นว่า ฝรั่งเศสมีการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมสูงมาก ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับธรรมชาติและมีเอกภาพในกรอบความหลากหลาย ซึ่งน่าสนใจวิธีคิดและกระบวนการให้วัฒนธรรมธำรงอยู่อย่างมั่นคงครั้งต่อไปค่อยเล่าสู่กันฟังนะค่ะ สำหรับวิทยากรท่านต่อไป ศ.ดร.อานันท์  กาญจนพันธ์ จะมีทัศนะหรือมุมมองอย่างไรโปรดติดตามในวันที่ 12 มีนาคม 2550 ณ ห้องพุทธรักษาค่ะ          นอกจากการจัดกิจกรรมที่ได้กล่าวมาแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550 ได้มีการประชุมคัดเลือกข้อเสนอโครงการวิจัย ชุดการยกระดับฐานการผลิตอุตสาหกรรมเกษตรสู่การท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อสร้างทางเลือกใหม่แก่แก่เกษตรกรและความมั่นคงของอุตสาหกรรมเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ ห้องวิภาวดี โดย ดร.เทิดชาย  ช่วยบำรุง ผู้ประสานงานการพัฒนาและจัดการการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน จาก สกว. มีนักวิจัยนำเสนอโครงการวิจัยจากวิทยาลัยตาปี 5 โครงการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เขตการศึกษาสุราษฎร์ธานี 2 โครงการ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 13 โครงการ ผลการคัดเลือกปรากฏว่า ข้อเสนอโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้รับคัดเลือก จำนวน 10 โครงการ ได้แก่          1.  การวิเคราะห์อุปสงค์ ศักยภาพ และความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร กรณีศึกษาสินมานะฟาร์มสเตย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย อาจารย์กมลวรรณ เหล่ายัง          2.  การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวเชิงเกษตร : กรณีศึกษาสินมานะฟาร์มสเตย์ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย อาจารย์ตวงกาญจน์ วัฒน์บุณย์          3.  แนวทางการพัฒนากลุ่มชนลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดย อาจารย์ภัทรวดี อินทปันดี          4.  รูปแบบการพัฒนากลุ่มอาชีพผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย อาจารย์สมมาส เส้งสุ่ย          5.  การยกระดับฐานการผลิตอุตสาหกรรมเกษตรสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน เพื่อสร้างทางเลือกใหม่แก่เกษตรกรและความมั่นคงของอุตสาหกรรมเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กรณีศึกษา : การศึกษารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวฟาร์มปูม้าในอ่าวพุมเรียง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย อาจารย์จุฑามาศ กระจ่างศรี          6.  การจัดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย อาจารย์วิชชุตา ให้เจริญ          7.  รูปแบบการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนยางพาราของตำบลพรุพี อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย อาจารย์พิชัย สุขวุ่น          8.  การวิเคราะห์ อุปสงค์ อุปทาน และแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเชิงเกษตร กรณีศึกษาสวนเงาะโรงเรียน อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย อาจารย์เบญจวรรณ คงขน          9.  ศักยภาพการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร : กรณีศึกษาสวนสมุนไพร อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย อาจารย์เนาวรัตน์ คงวิเชียรวัฒน์          10. การยกระดับฐานการผลิตอุตสาหกรรมเกษตรสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน เพื่อสร้างทางเลือกใหม่แก่เกษตรกรและความมั่นคงของอุตสาหกรรมเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี : กรณีศึกษาเกษตรกรเลี้ยงเป็ดและผลิตไข่เค็มไชยา ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย อาจารย์โสภณ บุญล้ำขอแสดงความยินดีกับนักวิจัยด้วยค่ะ โปรดติดตามรอบด้านงานวิจัยฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
หมายเลขบันทึก: 82431เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2007 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท