วิดีโอคลิป (เช่นนั้น ! )


.....และนี่คือสื่อการสอนเด็กอย่างดี !

(27)

 

 

 ดิฉันเล่าเพื่อนว่าได้ผ่านประสบการณ์การดู  คือดูเฉยๆนะคะ มานับไม่ถ้วน  เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่งเกิดคลิกคุณกุ๊กเกิ้ลเข้าไปในเว็บไซต์อะไรก็ไม่ทราบโดยมิได้ตั้งใจ  ปรากฎว่ามากันเป็นร้อย  ยิ่งปิดยิ่งมา แห่กันมาวาบๆเต็มจอ ดิฉันตกใจแทบเป็นลม  ต้องปิดคอมฯหนีสี่ประตูต่อศูนย์  แล้วนึกแว่บขึ้นมา  ว่านี่คือสื่อการสอนเด็กอย่างดี.... 

การรู้เท่าทันการสื่อสาร : ตัวอย่างการฝึกทักษะ 3 ระดับ

          เพื่อนๆครางฮือบอกว่านึกว่าจบแล้ว  (คือดิฉันบ่น เอ๊ยพูดเรื่องนี้ในวงพาพาย่าสลัดติดกันทุกมื้อมานานเป็นปี)   ดิฉันบอกว่าขออีกติ๊ดเดียว ไหนๆก็ไหนๆแล้ว จะยกตัวอย่างวิดีโอคลิปบนมือถือ
เธอถึงได้ทำตาโตกลับมานั่งฟังกันอย่างตั้งใจต่อไป....

          อะแฮ่ม.....เมื่อเราเห็นภาพวิดีโอคลิปเช่นนั้นบนมือถือของเรา......

          ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับต้น จะช่วยให้เรา 
         

          1. รู้ความหมายแท้จริงของสารตามเจตนาที่แท้ของของผู้ส่งสาร   

           แปลว่า เราจะรู้ว่า อันว่าภาพเคลื่อนไหวเหล่านี้ คือภาพอะไร ผู้ดำเนินกิจกรรมในภาพ กำลังสื่อความหมายอะไร ภาพเหล่านี้ มีเจตนาจะสื่อความหมายอะไร ผู้ผลิตและส่งแพร่ภาพเหล่านี้ มีเจตนาอะไร
หากเรารู้ความหมาย เราก็พอจะเดาเจตนาได้
           หรือหากเราพอจะเดาเจตนาได้     เราก็จะเข้าใจความหมาย ....คือจะเกิดวนๆกันไปแบบนี้


           2. รู้ผลกระทบ และผลสืบเนื่องของการสื่อสารครั้งนั้นๆ           

            เราจะรู้ว่า ความหมายอันเกิดจากเจตนาชุดนี้ จะส่งผลต่อตัวเราอย่างไร ทั้งผลโดยตรง ผลกระทบ และผลที่ต่อๆไปจากนั้นอีกหลายครั้ง (ผลสืบเนื่องของการสื่อสารครั้งนั้นๆ)

           และจะทำให้เกิด หรืออาจจะทำให้เกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง ควรเกิดขึ้นไหม

           และต้องตั้งคำถามให้กว้างออกไปอีกว่า จะทำให้เกิดอะไร ขึ้นกับใครได้อีกบ้าง ควรเกิดขึ้นไหม ควรยอมให้เกิดไหม    อันนี้สำคัญมาก  ต้องฝึกให้คนคิดห่วงใยผู้อื่นได้ด้วย  มิใช่ห่วงแต่ตนเองคนเดียว หรือห่วงใยแต่ผู้ใกล้ชิดตนเท่านั้น

           สิ่งที่ควรสอนคู่กันไป คือการสอนคนให้รู้จักความรัก และรู้จักรักให้เป็น ซึ่งสำคัญมาก ต้องสอนคู่กันไปกับวิธีคิดชุดนี้ (การรู้จักผลกระทบ และผลกระทบสืบเนื่อง)

           เพราะอาจกล่าวได้ว่า สุดท้ายแล้วไม่มีใครอยากให้สิ่งไม่ดีเกิดขึ้นกับคนที่ตนรัก

           ถ้าฝึกให้ถูกวิธี หรือด้วยจังหวะชีวิตอันเหมาะสมของเขา  เขาจะเกิดความรู้สึก "รักทุกคน" อันเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติของผู้ที่เห็นความจริงตามธรรมดา  ที่ว่า "สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งสิ้น"

           ความจริงตามธรรมดานี้  ใครๆก็เห็นได้ รู้สึกได้ ต่างกันแต่ว่าจะตระหนักรู้และรู้เท่าทันอยู่ตลอดเวลาหรือไม่  และจะพัฒนาให้กลายเป็นความรู้ลึกรู้แจ้งในระดับใด  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลไป 


           3. รู้เท่าทันการสื่อสารประเภทนั้นๆทั้งกระบวนการ

            เราจะรู้ (คิดทัน)ว่าใครผลิต ผลิตทำไม ผลิตด้วยกระบวนการอย่างไร ผลิตเพื่อใคร มีวัตถุประสงค์อะไร เพราะเหตุใดจึงมีวัตถุประสงค์เช่นนั้น (เจตนา) วัตถุประสงค์เช่นนั้น เหมาะไหม ควรไหม 

            คำถามว่า เหมาะไหม ควรไหม ควรเกิดขึ้นตลอดกระบวนการรู้เท่าทัน 

            หลักคิดของคำว่า เหมาะไหม ควรไหม ก็เป็นหลักคุณธรรมพื้นฐาน ใช้ได้ทุกสถานการณ์

            4. รู้เท่าทันสื่อ 

            เราจะรู้ว่าสื่อภาพเคลื่อนไหวนี้ ประกอบสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้รับสารได้อย่างไร เหมาะไหม ควรไหม

           (รู้เท่าทันการประกอบสร้างสารของสื่อแต่ละประเภท ภาพนิ่งเป็นอย่างไร ภาพเคลื่อนไหว เป็นอย่างไร ภาพและเสียงเป็นอย่างไร)

           เราจะรู้ว่า สื่อมือถือนี้ มีไว้ใช้เพื่อการใด ขณะนี้กำลังใช้เพื่อการใด เหมาะไหม ควรไหม (รู้เท่าทันวิธีใช้สื่อ)

           เราจะรู้ว่าเราควรวางท่าทีต่อสื่อประเภทนี้อย่างไร

           ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับกลาง จะช่วยให้เรา

  • รู้เท่าทันจุดมุ่งหมายของผู้สื่อความหมายชุดนี้ อ่านเจตนาของเขาออก รู้เจตนาแท้ๆของเขาว่าต้องการอะไร เจตนานั้น เป็นความหวังดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ หรือเขาหวังผลอะไรแน่
  • เราจะรู้ว่าด้วยเจตนาเช่นนี้ เราควรจะเลือกวางท่าทีอย่างไร (ควรคิดอย่างไร และควรทำอย่างไร จึงจะเป็นคุณแก่ชีวิตเรา)

           ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารระดับกลาง  เพ่งไปที่การอ่านเจตนา  บางเรื่องเห็นการสื่อสาร เราจะรู้เจตนาทันที  แต่บางเรื่องต้องวิเคราะห์อย่างซับซ้อนและลึกซึ้ง   จึงแยกข้อออกมาอีกครั้ง  จากทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับต้น  ให้เห็น ความสำคัญของการรู้เท่าทันเจตนา ชัดเจนขึ้น


ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับสูง จะช่วยให้เรา

  • รู้เท่าทันจิตใจคน ทั้งจิตใจตนเอง และจิตใจของผู้อื่น เมื่อเราพยายามทำความเข้าใจกระบวนการคิดในใจเรา จะช่วยให้เราพอจะเข้าใจกระบวนการคิดของผู้อื่นได้ด้วย
  • เราจะเริ่มคิดโดยอัตโนมัติ ว่าเราเป็นใคร เรากำลังทำอะไร ที่เราคิด เรารู้สึก หรืออยากทำ หรือกำลังทำทำอยู่นี้มีสาเหตุต้นตอมาจากอะไร สิ่งนี้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ชีวิตเรา เราจะทำต่อไปไหม เราควรจะมีวิธีคิดอย่างไร และจะมีวิธีทำอย่างไร มิให้สิ่งนี้เกิดเป็นโทษแก่ชีวิตเรา

         การทำต่อไป...หรือการหยุดเสียให้ได้ อยู่ที่ความสามารถในการรู้เท่าทันจิตใจตนเป็นสำคัญ

         การดูต่อ หรือการปิดเสีย การเก็บไว้ดูต่อ หรือการลบทิ้งเสีย การไม่ดูตั้งแต่เริ่มต้น หรือการไม่ให้ภาพเช่นนี้เข้ามาในการรับรู้ของเราตั้งแต่เริ่มต้น ก็เกิดจากทักษะชุดนี้

          เพื่อนๆที่นั่งฟังเพลินถึงแก่อ้างปากค้าง ถามว่าลบเลยเหรอ ดิฉันบอกว่าไม่ใช่แค่ลบ แต่ต้องไม่รับเข้ามา

          ทักษะชุดนี้ช่วยในการกลั่นกรองตั้งแต่ระดับการเปิดรับสารทีเดียว   เป็นเหมือนเซ็นเซอร์ตรวจจับ โดยการเปิดรับสิ่งที่ควรรับ ปิดไม่รับในสิ่งที่ไม่ควรรับ และปรับให้ไม่รับหากว่าสิ่งนั้นเข้ามาได้ แต่ไม่รู้จะเอาไปไหน ด้วยว่าเห็นตรงหน้า

          ทักษะนี้จะปรับให้ใจเป็นกลางๆ รู้ความจริงแบบมีจุดยืน   จิตใจจะเข้มแข็ง  รู้ว่าอะไรควรรับอะไรควรปฏิเสธ    หรืออะไรทำนองนี้ 

เพื่อนถามว่า แล้วที่ว่าเป็นสื่อการสอนเด็กอย่างดีนั้น  หมายฟามว่ากระไร  ดิฉันบอกว่าใช้เป็นสื่อการ "อ้างอิง" ในการสอน  คืออ้างอิงประสบการณ์เดิมของเด็ก แล้วฝึกให้เขาตั้งคำถาม โดยไม่ต้องเอามาดูจริง

เพื่อนบอกงั้นว่าพอเหอะ...เริ่มจะเวียนหัวแล้ว ดิฉันก็เลยหยุดบ่น เพราะรู้ตัวว่าออกจะวกวนวิงเวียนไปพอประมาณเหมือนกัน......

 

................................................................

ปรับเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์ วิชาการด็อตคอม กระทู้การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy) ความเห็นที่ 42 (12 ธ.ค.49)

หมายเลขบันทึก: 81950เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2007 06:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 09:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท