rucha
nuch รุจิราพร โชคพิพัฒน์พร

บทสื่อสาร โครงการ(คลีนิก)สมุนไพรต้านโรคไร้รัฐ เพื่อหว่านกล้ารักษาโรคไร้สัญชาติ


อีกกว่า 3 พันชีวิตในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดประจวบฯ และ จังหวัดเพชรบุรี ที่ยังคงประสบปัญหาการถูกละเมิดสิทธิในความเป็นมนุษย์ เพียงเพราะไม่มีเอกสารที่ระบุอัตลักษณ์ความเป็นชนชาติเท่านั้น
บทสื่อสาร โครงการ(คลีนิก)สมุนไพรต้านโรคไร้รัฐ เพื่อหว่านกล้ารักษาโรคไร้สัญชาติ
 
  1. เกริ่นนำ ความเป็นขององค์กรชุมชนผู้รับผิดชอบและปฏิบัติงานในโครงการ
          ศูนย์ศึกษาและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น  ในเขตพื้นที่ติดแนวชายแดนระหว่างจังหวัดเพชรบุรี และ จังหวัดประจวบคีรขันธ์  กำเนิดขึ้นจากเหตุการณ์อพยพหมู่บ้านสวนทุเรียน อำเภอหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์   เมื่อเดือน  สิงหาคม  2542  โดยกองทัพภาค 1 กองกำลังค่ายสุรสีห์  เพียงคำกล่าวหาพี่น้องชาติพันธุ์ปกาเกอญอ (เผ่ากะเหรี่ยง) ว่าเป็นคนต่างด้าว และบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำเกรด A    ทั้งที่ชุมชนสวนทุเรียนอยู่อาศัย  เกิด  และตาย  ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานมากว่า 400 ปี   เหตุการณ์การละเมิดสิทธิชุมชนการอพยพหมู่บ้านครั้งนั้น   ทำให้พี่น้องปกากอญอ   ในพื้นที่หมู่บ้านสวนทุเรียน  บ้านแพรกตะคร้อ  บ้านป่าละอู บ้านห้วยแห้ง  อำเภอหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์   /  หมู่บ้านป่าหมาก  กิ่งอำเภอสามร้อยยอด  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์   และ  หมู่บ้านป่าเด็ง  ห้วยสัตว์ใหญ่  อำเภอแก่งกระจาน   ได้ตระหนักถึงความเป็นชนชาติและชนเผ่ามากขึ้น   และทำให้พี่น้องปกาเกอญอ  รวมถึงตัวนุช  (น.ส.รุจิราพร โชคพิพัฒน์พร  )  ได้รู้จักกับบุคคลและองค์กรสำคัญหลายองค์ที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องเมื่อปี 2542   จนกระทั่งได้พบกับ  รศ.ดร.มารค  ตามไท   และ  รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์  กาญจนจิตรา สายสุนทร  ด้วย   จึงได้จัดทำโครงการช่วยเหลือประชาชนบนพื้นที่สูงให้มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้น  โดยเน้นการทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่บุคคลบลนพื้นที่สูงถึงสถานภาพตามกฎหมายที่จะได้รับรวมถึงสิทธิและหน้าที่เมื่อได้มาซึ่งสถานภาพที่แตกต่างกันรวมถึงสร้างกระบวนการการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ  ในระยะแรก และหลังจากนั้นเมื่อเดือน  พฤศจิกายน  2543  ได้มีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้อง สิทธิกลับคืนมาใน  นามของศูนย์ศึกษาและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น  และร่วมมือกันปฏิบัติงานตามโครงการช่วยเหลือประชาชนบนพื้นที่สูงให้มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้น   โดยการทำงานอยู่ในภายใต้ความเป็นไปของวิถีชุมชน  โดยลักษณะการทำงานเป็นการเรียนรู้และปฏิบัติงานร่วมกันโดยคณะทำงาน  90  เปอร์เซ็น  เป็นพี่น้องปกาเกอญอ  ที่ประสบปัญหาสถานะบุคคล   และทำให้เกิดโครงการสร้างเสริมศักยภาพผู้นำชุมชน ขึ้นด้วยไปพร้อมๆกัน   การดำเนินการผ่านมาถึงเมื่อปี  2544  ทางผู้ประสานงานได้รับการยอมรับในการทำงานร่วมกันกับทางหน่วยงานราชการระดับอำเภอ  โดยการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการโครงการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง  ระดับตำบลและระดับอำเภอ  ในตำแหน่งผู้ประสานงานชาวเขา  จนกระทั่งปี  2546  ได้รับการยอมรับจากทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ให้เจ้าไปช่วยตรวจสอบและคัดกรองบุคคลที่ได้ยื่นคำร้องขอสถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย  และบุคคลที่ยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทย  ตามมาตรา 7 ทวิ ฯ ปี 2547  รวมบุคคลที่ทางศูนย์ศึกษาฯ ได้ทำการช่วยเหลือและสร้างกระบวนการ  ช่วยเหลือแบบชุมชนโดยชุมชนเอง  ให้ได้รับสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายไปแล้วกว่า  2  พันชีวิต  ในพื้นที่  2 อำเภอ  คือ  อำเภอหัวหิน และกิ่งอำเภอสามร้อยยอด  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์   และระหว่างนั้นทางศูนย์ฯได้มีโอกาสเข้าสำรวจในพื้นที่อำเภอเมืองประจวบฯและอำเภอเมืองระนอง  รวมถึงอำเภอแก่งกระจาน  อีกด้วย  พบว่ามีบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ  อยู่อีกเป็นจำนวนมาก   อีกกว่า  3  พันชีวิตในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดประจวบฯ และ จังหวัดเพชรบุรี   ที่ยังคงประสบปัญหาการถูกละเมิดสิทธิในความเป็นมนุษย์ เพียงเพราะไม่มีเอกสารที่ระบุอัตลักษณ์ความเป็นชนชาติเท่านั้น   
  1. แนวคิดและวิธีการ
·         แนวคิด  แบบมีส่วนร่วม  โดยการนำความคิดของพี่น้องปกาเกอญอ มาเป็นตัวตั้งในการทำงาน  โดยผ่านตัวผู้นำชุมชนเพื่อชุมชน  เกิดจาก   จิตสำนึกต่อหน้าที่และส่วนรวม  และ ความศรัทธา  ในตัวพี่น้องปกาเกอญอบวกกับความภาคภูมิความเป็น  ปกาเกอญอ    พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่า  ดูแลและรักษาป่า  โดยการพึ่งพาอาศัยและดูแลป่ามาตั้งแต่บรรพรุษ      เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำให้เกิดขึ้นทั้งผู้รับและผู้ให้  และเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังในความคิดของคนรุ่นหลังต่อไป  ·         วิธีการ  ปฏิบัติงานภายใต้ชุมชนเพื่อชุมชน  เพื่อเน้นการใช้ทรัพยากรบุคคลในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  โดยไม่ขัดต่อวิถีชีวิตและวิถีทางวัฒนธรรมของพี่น้องปกาเกอญอในชุมชน     
  1. ทำไมถึงเกิดโครงการ(คลีนิก)สมุนไพรต้านโรคไร้รัฐ  เพื่อหว่านกล้ารักษาโรคไร้สัญชาติขึ้น 
               จากที่ น.ส.รุจิราพร  โชคพิพัฒน์พร  ผู้ประสานงานศูนย์ ฯ  ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานโครงการศึกษาวิจัยเพื่อสำรวจสถานการณ์และศึกษาความเป็นไปได้ในการขจัดปัญหาการจดทะเบียนการเกิด  และปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ  ในฐานะผู้ช่วยนักวิจัยสำรวจสถานการณ์ข้อเท็จจริง    และได้รับโอกาสจากทาง รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร  เมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา  ท่านได้เปิดมุมมองการทำงาน เพื่อคนไร้รัฐ และไร้สัญชาติ  ท่านได้พาศึกษาดูงานในพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่  จึงเกิดแนวความคิดในการทำงานขึ้น  ในรูปแบบห้องเรียน                              หลังจากนั้นได้นำแนวความคิดรูปแบบห้องเรียน  ไปเสนอต่อทีมงาน[1]ของศูนย์ฯ  ทางทีมงานได้ให้ข้อเสนอมา  ดังนี้     1.  แนวทางห้องเรียนกฎหมาย  เป็นแนวคิดที่ดีที่จะให้คนที่มีปัญหาสัญชาตินั้นได้ต่อสู้ด้วย  ตนเองและได้เรียนรู้มากขึ้นก็จริง  แต่ถ้าใช้กระบวนการจากที่ทาง  น.ส.รุจิราพร  ได้ไปศึกษามานั้น  จะต้องมาปรับใช้กับพี่น้องเราในพื้นที่แก่งกระจานนี้อีกมาก   อาทิเช่น   การสื่อสารความเข้าใจในภาษากฎหมาย  กับชาวบ้านที่เดิมแถบจะมีความเข้าใจในภาษาไทยได้น้อยอยู่แล้ว   จะต้องมีตัวสื่อหรือกิจกรรมที่ให้ชาวบ้านได้สัมผัสถึงจริง    (โดย  นายพัชรพล(เซบุแฮ)  พูลลัด   เจ้าหน้าที่ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ )            2.  ถ้าเป็นรูปแบบห้องเรียน  ผมเสนอจะต้องนำกิจกรรมเด็กและเยาวชนมาเป็นตัวเชื่อมโยงในรูปแบบห้องเรียน  โดยการสร้างรูปแบบกิจกรรมขึ้น  เพื่อเป็นกระบวนการต่อยอดในพื้นที่อื่นได้ด้วย   (  นายณรงค์  นาพัว  เจ้าหน้าที่งานภาคสนาม ) 3.  เห็นด้วยกับที่นุชอธิบายมา  และคิดว่าถ้ามีโครงการห้องเรียนเกิดขึ้น  ก็เสนอว่าจะต้อง สร้างห้องเรียนให้ทีมงานกันก่อน  เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นและความชัดเจนในการทำงานได้ต่อไป  ( นายขอไข่  ปัญญาหาญ   ,  นางอารยา  รักชาติ   และ  นายยุทธ  จงเจริญ  อาสาสมัครชุมชน)   4.  เมื่อวันที่  2  มกราคม  2550  ได้จัดประชุมเสวนาย่อย  เรื่องชี้แจงและทำความเข้าใจในสถานะบุคคลของบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน เกี่ยวกับสิทธิในสถานะบุคคล     ได้มีข้อเสนอว่าอยากให้มีการชี้แจงลักษณะอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจมากๆ  และถ้าเน้นเรื่องกฎหมายสิทธิก็จะเป็นประโยชน์มาก  และสนใจห้องเรียนที่นุชได้นำเสนอไปและจะรับเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้ด้วย     (  โดย  นายนิกร  เสียงใส  ครูอาสาสมัคร  กศน.อ.หัวหิน  ,  นายเชาว์  ปลีดอก  ผู้ใหญ่ ม.3 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่  ,  นายปราโมทย์  จันท์อุปถัมภ์  อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่  ,  นายรักชาติ  ดีเลิศ  ผู้ใหญ่  ม.6 ต.ห้วยสัตย์ใหญ่  )      จากข้อเสนอดังกล่าว  จึงนำมาประมวลออกมาเป็นตัวโครงการที่นำเสนอได้  โดยอาจชี้แจงได้ดังนี้   
    • สมุนไพรต้านโรคไร้รัฐ คืออะไร
 กล่าวได้เพียงอย่างน้อยว่า  โรคไร้รัฐ  ในยุค 50  นั้นมียาปฏิชีวนะ[2]ที่จะสมานแพรได้ อยู่พอสมควรบ้างแล้วแต่คุณภาพของชีวิตผู้ใดผู้หนึ่ง     แต่สมุนไพร[3]ที่ทางศูนย์ฯกำลังจะทดลองปลูกนี้ เป็นตัวยาธรรมชาติแบบดิบๆ  ที่จะต้องทดลองออกมาให้เหมาะกับโรคไร้รัฐ  สำหรับมนุษย์ที่อ่านออกเขียนไม่ได้ในภาษาไทย หรืออาจจะไม่ได้เลยสักภาษา  แต่  นัยความหมายมิได้บอกว่า  การที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั้นเขาจะไม่มีรัฐคุ้มครองป้องกันต้านโรคไร้รัฐให้กับเขา   ตัวอย่าง  ยาที่จะต้านโรคได้อาจจะต้อง  กินทีละ 1 หม้อ  [4]ค่อยๆกินค่อยๆรักษาแบบธรรมชาติ  แต่ต้องได้ผลระยะยาว  นั่นคือ  โรคไร้รัฐ   จะต้องไม่กลับมาเกิดขึ้นกับมนุษย์ผู้นั้นอีกครั้ง   เพราะเราต้องต้านโรคให้หยุดฉะงัก  อาจจะโดยชับพลัน    ความเป็น  ปาเกอญอ   เขาไม่เคยที่จะเคยร้องขอค่าชดเชยจากผู้ใดแต่อย่างใด  ตั้งแต่ถูกกล่าวหาค้ายาเสพติด  ปลูกพืชเสพติด  ทำลายป่า  คนต่างด้าว     หรือ  ถูกละเมิดทั้งด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิต  หรือ  ถูกละเมิดสิทธิในสัญชาติ  เขาเป็นเพียงมนุษย์ที่เกิดกินอยู่บนพรหมแดนที่ไม่เคยถูกปิดกันทางจิตใจ   อาทิเช่น  มนุษย์ผู้เฒ่าผู้หนึ่ง   ที่เป็นอดีตผู้นำเผ่าพันธุ์กะเหรี่ยงบนผืนป่าแก่งกระจานนี้  เอ่ยเสียงดังก้องหูกับข้าพเจ้าว่า     ไม่เอาหรอกบัตรประชาชนนะ  ถ้าอยากให้บัตรก็เอามาให้เลย ถ้าลำบากจะต้องไปหาคนโน้นทีคนนี้ที  เอาโน่นเอานี่  และข้ามีเหรียญที่ในหลวงท่านให้มาอยู่แล้ว  จะไปเอาอีกทำไมบัตรประชาชน  ข้าฯมีเหรียญนี่ยังรู้สึกว่ามีคุณค่ากว่าเสียอีก    เมื่อเสียงจากคนในชุมชนกล่าวมาในลักษณะนี้   ทีมจึงจักต้องหาวิธีการรักษาเฉพาะเพื่อรักษาโรคไร้สัญชาติให้เขาได้     
    • หว่านกล้าเพื่อรักษาโรคไร้สัญชาติ  คืออะไร
    หว่านกล้า     คือ  การสร้างทีมงานให้เข้มแข็งไปพร้อมๆกับการเสริมสร้างแกนนำกลุ่มเด็กและเยาวชน  เพื่อความมั่นใจ  ภูมิใจ  ความกล้าหาญให้กับพวกเขาก่อน  ที่เขาจะมารักษาโรคไร้สัญชาติของเขาเอง  และคนอื่นๆในชุมชนเขาเองได้ต่อไป  4.  สิ่งที่เกิดขึ้นและได้ทำไปแล้ว กิจกรรมที่ทางศูนย์ฯได้ดำเนินการและได้เล็งเห็นเด็กและเยวาชนที่จะมาเข้าร่วมโครงการแล้ว   คือ  จากการเข้าร่วมสำรวจและตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นและจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ พ.ศ.2548   กับเด็กและเยาวชน  ในสถานศึกษา   ร่วมกับสำนักทะเบียนอำเภอหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์    เมื่อเดือน  มกราคม 12 กุมภาพันธ์ 2550  ที่ผ่านมา  แล้วไปกว่า  160  คน  (ตามรายงานกิจกรรมแนบท้าย)  นั้น   ทำให้สามารถจำแนกบุคคลได้ดังนี้ 4.1  คนที่มีสิทธิได้สัญชาติไทย ตามบิดาหรือมารดา  / สถานะต่างด้าวโดยชอบ    ( กลุ่มนี้สามารถเข้าร่วมปฏิบัติงานตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ 5 ธันวา ได้โดยการปฏิบัติงานร่วมการพิสูจน์ตัวบุคคลร่วมกับสำนักทะเบียนอำเภอหัวหิน)  โดยการสร้างเป็นห้องเรียนทดลองได้ในห้องเรียนวิชาการตามกิจกรรมโครงการฯ 4.2  คนที่ตกหล่น  และมีความเกี่ยวพันธ์กับบุคคลที่เคยได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวชุมชนบนพื้นที่สูง ปี 2542  (  สามารถเข้าห้องเรียนทดลองวิชาการได้โดย  การจัดทำแผนปฏิบัติการพิสูจน์ตนร่วมกับชุมชนต่อไป  ) 4.3  คนที่พึ่งอพยพเข้ามาใหม่  ทั้งกรณีอพยพเข้ามาจากในประเทศและนอกประเทศ  (  กลุ่มนี้สามารถนำเข้าห้องเรียนธรรมชาติ  เพราะเนื่องจากการสื่อสารทางภาษายังไม่สมบูรณ์  จึงต้องนำกระบวนกิจกรรมสนุกผนึกกับกระบวนการสร้างความเข้าใจในสิทธิเด็ก  ในเบื้องต้น  )             5.  สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นนอกจากห้องเรียน                     5.1   ทะเบียนประวัติของผู้ไร้รัฐ และไร้สัญชาติ  ที่ผ่านการพิสูจน์โดยชุมชน   ที่สามารถทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่รับแก้ปัญหา  ได้หยิบนำไปใช้ได้   เพื่อเป็นการลดขั้นตอนในการพิสูจน์ตนซ้ำซ้อนอีกด้วย                    5.2   กิจกรรมห้องเรียนสามารถส่งเสริมขยายเครือข่ายไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชน  ในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องปกาเกอญอ  พื้นที่ภาคตะวันตกได้  เช่น  กลุ่มพี่น้องในพื้นที่  จังหวัดราชบุรี  และ  จังหวัดกาญจนบุรี  รวมไปถึงพี่น้องปกาเกอญอทางภาคเหนือด้วย              


[1] คำว่า  ทีมงาน  ทุกครั้งที่ใช้จะหมายถึงผู้ปฏิบัติที่เป็นพี่น้องปกาเกอญอ  90 เปอร์เซ็น 
[2] ยาปฏิชีวนะ  ในที่นี้หมายถึง  ยุทธศาตร์การจัดการปัญหาและสิทธิ ในสถานะบุคคล  ตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อ  18 ม.ค.2548 
[3] สมุนไพร  คือ  การรักษาแบบวิธีธรรมชาติ  เพื่อคนธรรมชาติเรียบง่ายอย่างพี่น้องปกาเกอญอ   โดยการนำกระบวนการการจัดการสิทธิเด็ก  จากกลุ่มไม้ขีดไฟ  ที่ทำงานการสร้างกระบวนการสิทธิมาแล้วทั่วประเทศ   มาจัดทำเวิคช้อปร่วมกันเพื่อสร้างสูตรสมุนไพร  ในห้องทดลองการรักษา
[4] ตัวอย่างยา  ทีจะต้องทดลองกินที่ละหม้อ  หมายถึง  สูตรของห้องเรียนแต่ละห้องเรียนนั้น  จะต้องมีการทำการทดลอง  เพื่อให้ได้เข้ากับโรคที่จะรักษา   อาทิ  โรคที่เกิดกับ  เด็ก  ไม่ใช่ผู้ใหญ่  เป็นต้น
หมายเลขบันทึก: 78868เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2007 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 10:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท