แม่กัณหา : หญิงสู้ชีวิต


ความคิดของเรามันขยายไปเลย สมองเปิด คิดไปทางนี้ คิดจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันคิดออก สมองเราเปลี่ยนไป ส่วนหนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนนี้เราก็ทำและสู้ไปเรื่อย ตอนนี้สบายขึ้นเพราะว่าของอยู่ของกินมีหมดทุกอย่าง....

แม่กัณหา หญิงร่างใหญ่ ท้วม แข็งแรง แม่บ้านพ่อทองแดง
พ่อทองแดง  ฝ่ายพ่อบ้าน คือสหายเก่าของหลวงปู่จารย์ครั้งยังเป็นฆราวาส

แม่กัณหา

 แม่กัณหา (ถือไมค์ ) กับคณะเพื่อน ๆ

เป็นครอบครัวหนึ่งที่โดนอำนาจของการใผ่หาเงินผสานกับการลากจูงของธนาคารของรัฐ ชักชวนให้ปลูกสับปะรด เพื่อเงินก้อนใหญ่ ผลก็เป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ ได้พากันขว้างสับปะรดและขว้างเงินก้อนใหญ่ทิ้ง เหลือไว้แต่หนี้แทน เนื่องจากบริษัทรับซื้อ ไม่ซื้อสับปะรดไม่ได้ขนาดที่จะใส่กระป๋องได้....รับกรรมกันไปชาวบ้านหลายคนที่บ้านเหล่า รวมทั้งครอบครัวแม่กัณหา

ไม่พอ..ยังคิดจะหาเงิน หากู้หนี้ยืมสิน วิ่งเต้นส่งลูกไปนอก ยังไม่ทันได้เงินมาใช้หนี้ ถูกส่งกลับก่อนกำหนด  หนี้ก็พูน

ดิ้นรนไปเรื่อย เพื่อหาเงิน ยิ่งดิ้น ยิ่งมัดตัว แม่กัณหากลายเป็นคนมีโรคประจำตัว คือโรคปวดหัว

ตอนที่เราเจอกัน แม่กัณหามีหนี้ไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ย ...นึกไม่ออกว่าชาวบ้านจะหาทางใช้หนี้ได้อย่างไรมากขนาดนี้ จะทุกข์ใจเพียงไร

เมื่อได้เรียนรู้ เรื่องต่าง ๆ แม่กัณหาพยายามทำด้วย พยายามหาเงินด้วย ไปพร้อม ๆ กัน

การได้เห็น ได้ฟัง ได้คุยกัน ทำให้แม่กัณหาสร้างสรรค์การเพาะปลูกของตนเองตามแบบพ่อคำเดื่อง คือขุดหนึ่งหลุมปลูกไม้หลายอย่างด้วยกัน มีไม้หลักกับพริก มะเขือ แมงลัก อีตู่ โหระพา

..เดี๋ยวนี้แม่ไม่ปวดหัวแล้ว มันภูมิใจที่ทำงานนี้ ได้เข้ามาทำงานร่วมกัน สมองก็เปิด คิดเองได้ว่าจะทำแบบนั้น แบบนี้ ทำทุกอย่างเท่าที่เราจะทำได้ เราคิดออกแบบสวนได้เอง เพราะว่าไปเบิ่งงาน หลายที่ ไปอบรมบ้าง เฮากลับมา เฮาก็คิด บา...เฮาจะทำไม่ได้หรือ เฮากลับมาเฮาก็เลยเอ็ด เฮาเอ็ดได้....
...ได้เห็นแบบ ได้ฟังเขาพูดว่า ปลูกหลายอย่างด้วยกันได้ ปลูกผสมผสาน ดูจากสำนักงานก็ได้เห็น เห็นแล้วก็อยากได้ อยากปลูก อยากฝัง ให้มันไม่อดไม่อยาก ให้มีหมดทุกอย่างในสวนเรา แปลงของเราให้มี ไม่ต้องซื้อเพิ่น ให้ได้ขาย พ่อบ้านก็ร่วมมือกันดี พ่อบ้านเป็นคนทำ ตอนนี้มีแต่เพิ่นแหละเป็นคนปลูก ปลูกข่าประมาณไร่กว่า ปลูกข่าใหญ่ เอาหน่อมันขาย...
..ความคิดของเรามันขยายไปเลย สมองเปิด คิดไปทางนี้ คิดจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันคิดออก สมองเราเปลี่ยนไป ส่วนหนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนนี้เราก็ทำและสู้ไปเรื่อย ตอนนี้สบายขึ้นเพราะว่าของอยู่ของกินมีหมดทุกอย่าง.......

แม่กัณหาได้อาศัยผักเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นเอง เก็บขาย มัดละ บาท สองบาท ขายในหมู่บ้านและส่งตลาดด้วยจนถึงปัจจุบัน

ก็พอได้ให้ลูกไปโรงเรียน และกินอยู่ค่ะหัวหน้า

หลังสุดพ่อทองแดงมาเล่าให้ฟังว่า
ผมไม่เคยคิดว่า ขายผักมัดละ บาท สองบาท จะช่วยอะไรได้ มันเป็นหนี้มากขนาดนี้ ...ตอนนี้ได้รู้แล้ว                                                       

ดิฉัน
รู้อะไร
ทองแดง
รู้ว่า เงินน้อย ขายได้ วันละ ๕๐ บาท ๘๐ บาท แต่มันได้ทุกวันเลยครับ

หนี้  ไม่ใช่ว่าครอบครัวแม่กัณหาจะใช้หมดแล้ว มันยังคงมีอยู่และต้องหาเงินใช้ไป แต่ชีวิตของแม่กัณหาได้เปิดช่องทางอีกช่องที่เป็นไทของตนเอง ก่อตัวขึ้นมาพร้อมกันด้วย  ก่อขึ้นมาพร้อมกับ...สมองเราเปลี่ยนไป มันคิดออก....

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 78772เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2007 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

บางครั้งผมคิดว่า

ทำไมเราต้องรอให้พลาดแล้วจึงแก้ไข ที่ยากกว่าการป้องกัน

แต่การป้องกันก็ยากที่จะทำให้คนเชื่อว่าต้องป้องกัน

ก็เลยเป็นกงกำกงเกวียนอยู่อย่างนี้

เรามีตัวอย่างดีๆในทางป้องกันบ้างไหม หรือ ไม่น่าฟังเท่ากับตัวอย่างการแก้ไข

 

ดิฉันคิดว่าเป็นคำถามที่สำคัญมาก และน่าจะเกี่ยวข้องกับวิธีการเรียนรู้ของคนนอกระบบมากอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งเลยค่ะ

เพราะแทบทุกเนื้อหาที่เราเรียนรู้ ดิฉันรู้สึกว่ามันสัมพันธ์กับการได้ผ่านมือตนเองมากเหลือเกิน

การพูดด้วยเหตุผล หรือยกตัวอย่าง หรือเห็นตัวอย่างก็ยังมีการไม่โดนด้วย หรือการทำด้วยวิธีแบบพวกเราที่ผ่านการเรียนรู้แบบที่เราทำ ๆ กันอยู่ แต่ก็ไม่แน่ใจนักเพราะไม่เคยทำการสำรวจอะไรแบบนี้จริงจัง

ทีนี้การจะคุย จะคุ้ยอะไรแบบจริงจังเนี่ย ก็เป็นเรื่องเป็นปัญหา ทั้งกับชาวบ้านและกับตัวเราเองที่มันน่าเบื่อเหมือนกัน มันแข็ง เบื่อที่จะเอาข้อมูลแบบนั้น ชาวบ้านก็เบื่อที่จะตอบ การคุยบางทีไปคุยเจาะก็ไม่สนุกคุย คุยหลายคนก็คุยได้ไม่ทั่วแต่ก็มัน ต้องทำสมดุลย์และสัมพันธ์ ตรงนี้มาก ๆ  เลย 

ดิฉันรู้สึกเพียงว่ามีข้อมูลอีกระบบหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่มันจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ดิฉันทำอยู่ตอนนี้คือคลุกกับมันแบบรวม ๆ  รักษาบรรยากาศแห่งชีวิตเอาไว้

สงสัยต้องเรียนรู้แนวในการตั้งคำถามของอาจารย์อยู่ค่ะ เพราะรู้สึกว่ามันค่อย ๆ แทงลงไปในความคิดเหมือนกัน แต่บางครั้งคำถามแบบอาจารย์ก็ทำให้ผู้ฟังใช้ฉากปกป้องตัวเองไว้เลย ไม่ตอบดีกว่าโว้ย ไม่รู้จะตอบอย่างไร และไม่หนุกแล้วที่จะคุย

ดิฉันคิดว่าตัวอย่างดี ๆ ในการป้องกัน เป็นปลายเหตุ

ปลายเหตุที่มีฐานของการรู้เท่าทัน รู้ข้อมูลรอบด้าน เห็นโลกภายนอก รู้จักตนเอง และมีขีดความสามารถในการพึ่งตนเอง ดิฉันอาจจะหวังสูงไปหน่อยคือคิดว่าสิ่งนี้จะมีได้ต้องผ่านการทำงานในไร่นาของเขานั่นแหละผสานกับความรู้จากฝ่ายอื่นอีกหลายฝ่ายที่เข้ามาในจังหวะที่เหมาะสมและสอดคล้องมากๆ เน้น

เหมือนกับมันเป็นเรื่องเดียวกันแต่อยู่คนละด้านหรือเปล่าคะอาจารย์

ที่ตอบทั้งหมดเป็นสิ่งที่ดิฉันเคยถามอาจารย์แล้วว่า การเรียนรู้ในระบบช่วยสร้างความรู้ได้จริงหรือ แล้ววิธีการคืออะไร เพื่อที่จะได้เทียบเคียงกับสิ่งที่ดิฉันเห็นและงานที่ประสบในพื้นที่

น่าสนใจมากค่ะ

ปลายเหตุที่มีฐานของการรู้เท่าทัน รู้ข้อมูลรอบด้าน เห็นโลกภายนอก รู้จักตนเอง และมีขีดความสามารถในการพึ่งตนเอง ดิฉันอาจจะหวังสูงไปหน่อยคือคิดว่าสิ่งนี้จะมีได้ต้องผ่านการทำงานในไร่นาของเขานั่นแหละผสานกับความรู้จากฝ่ายอื่นอีกหลายฝ่ายที่เข้ามาในจังหวะที่เหมาะสมและสอดคล้องมากๆ เน้น

ดิฉันไม่คิดว่า คนนอกระบบรู้หนังสือจะได้สิ่งนี้จากการฟัง การดู การเห็นหรือการเรียนรู้แบบของพวกเรา แล้วเขาจะเข้าใจ ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า เขามีคำว่า เข้าใจ  หรือเปล่า

มันน่าจะต้องมีการเรียนรู้อีกแบบหนึ่งที่จะสอดไปกับ ของเขาได้ค่ะ หรือเปล่าคะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท