ถูกครึ่งหนึ่ง
วิธีคิดแบบ KM ที่ไม่ตกหลุมวิธีคิดแบบแยกขั้วที่เรียกว่า dichotomy คือ ถูก-ผิด, ดำ-ขาว, ใช่-ไม่ใช่ ทำให้ผมระลึกชาติย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ที่เทพยดามาช่วยผมไว้ตอนไปขึ้นศาล ไปเป็นพยานศาลในคดีฟ้องร้องระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับบริษัทรับเหมาติดตั้งเครื่องปรับอากาศโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
ตอนทนายจำเลยซักค้าน เขาตั้งคำถามแล้วให้ผมตอบเพียงคำเดียวว่าใช่หรือไม่ ผมก็ตอบโดยอธิบายเหตุผล ทนายเขาก็บอกว่าเขาไม่ต้องการคำอธิบาย เขาต้องการให้ตอบคำเดียวว่าใช่หรือไม่ ผมมองหน้าผู้พิพากษา ท่านก็บอกว่าให้คุณหมอตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ตามที่ทนายต้องการ
ผมอึดอัดมาก เพราะเรื่องนั้นมันตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ไม่ได้ เรื่องมันซับซ้อนกว่าที่จะตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ และถ้าตอบว่าใช่ก็จะเป็นผลดีต่อฝ่ายหนึ่ง ไม่ดีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่มันยังมีข้อเท็จจริงอื่นที่จะตอบว่าไม่ใช่ก็ได้
เทวดามาช่วยดลใจพลัน ผมโพล่งตอบไปว่า "ใช่ครึ่งหนึ่ง" ทนายความไม่เคยได้ยินคำตอบแบบนี้ ก็เข้าใจว่าผมยียวนแสดงท่าทางโมโห ว่ามีหรือใช่ครึ่งเดียว ผมก็บอกว่าจะให้ผมอธิบายไหม ศาลบอกว่า "เอ้าคุณหมออธิบาย" ผมก็ได้โอกาสอธิบายว่าที่ว่าใช่ครึ่งหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร และที่ไม่ใช่อีกครึ่งหนึ่งเป็นอย่างไร ดูท่าทางศาลชอบมาก เพราะได้ประเด็นตอบข้อโต้แย้งได้ดีมาก
ทนายจำเลยตั้งคำถามใหม่ ให้ตอบว่าใช่หรือไม่อีก ถึงตอนนี้ผมเหมือนว่าวติดลมแล้ว บินเองได้แล้วไม่ต้องมีเทวดามาช่วย ผมก็ตอบว่า "ใช่หนึ่งในสาม" บ้าง "ใช่หนึ่งในสี่" บ้าง ตามด้วยคำอธิบาย ทำให้ทนายโกรธมาก
ผมย้อนกลับมาคิดถึงเรื่องนี้ คิดว่าวิธีคิดของทนายเป็นวิธีคิดแบบ reductionist คือขจัดองค์ประกอบหรือบริบทออกไปหมดให้เหลือ ใช่-ไม่ใช่ เพียง 2 ขั้ว ซึ่งชีวิตจริง เรื่องจริง มักไม่เป็นเช่นนั้น มันซับซ้อนกว่านั้นมาก
นักจัดการความรู้ต้องฝึกคิดแบบซับซ้อน คิดแบบเข้าใจบริบทที่แตกต่างหลากหลาย ต้องไม่ตกหลุมวิธีคิดแบบแยกขั้ว
วิจารณ์ พานิช
19 พ.ย.48