อีสานวันละคำ


ฮีต, ฮีตสิบสอง

     อีสานวันละคำวันนี้ขอกล่าวถึงคำว่า

     "ฮีต" (น.) ประเพณีที่คนลาวและไทยอีสานได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เป็นจรรยาของสังคม ถ้าผู้ใดไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติถือว่าเป็นคนชั่ว คนในสังคมจะพากันรังเกียจไม่คบค้าสมาคมด้วย

     "ฮีตสิบสอง" (น.) ประเพณีสิบสองเดือนของคนอีสาน ประกอบด้วย

     เดือนอ้ายหรือเดือนเจียง  บุนเข่าก่ำ (บุญเข้ากรรม) เป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิดได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตนและมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป

    เดือนยี่ บุนคูนลาน  นิมนต์พระสวดมนต์เย็นเพื่อเป็นมงคลแก่ข้าวเปลือก แล้วทำพิธีสู่ขวัญข้าว นอกจากนี้ ชาวบ้านเตรียมเก็บสะสมฟืนไว้หุงต้มที่บ้าน

    เดือนสาม  บุนเข่าจี่  (บุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา) การทำบุญข้าวจี่เริ่มในตอนเช้า ใช้ข้าวเหนียวปั้นใส่อ้อย นำไปจี่แล้วชุบด้วยไข่ เมื่อสุกแล้วนำไปถวายพระ 

    เดือนสี่  บุนพะเหวด  (บุญฟังเทศน์มหาชาติ) ให้ฟังเทศนาเรื่องพระมหาเวสสันดรชาดกให้จบสิ้นภายในวันเดียว ก็จะพบพระศรีอริยะเมตตไตย งานบุญนี้มักจะมีผู้นำของมาถวายพระ เรียกว่า "กัณฑ์หลอน" หรือถ้าเจาะจงจะถวายเฉพาะพระนักเทศน์ที่ตนนิมนต์มาเรียกว่า "กัณฑ์จอบ" เพราะต้องแอบซุ่มดูให้แน่เสียก่อน

    เดือนห้า  บุนสงน่ำ  (บุญสรงน้ำเนื่องในวันสงกรานต์) มีการรดน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ ผู้หลักผู้ใหญ่ กำหนดเอาวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 บางทีเรียกว่า บุญเดือนห้า ถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ไทย

    เดือนหก  บุนบั้งไฟ  (บุญบั้งไฟและวันวิสาขบูชา) การทำบุญบั้งไฟเพื่อขอฝน เป็นงานสำคัญก่อนลงมือทำนา ส่วนการทำบุญวันวิสาขบูชา กลางวันมีการเทศน์ กลางคืนมีการเวียนเทียน

    เดือนเจ็ด  บุนซำฮะ (บุญบูชาบรรพบุรุษ) มีการเซ่นสรวงหลักเมือง ผีปู่ตา ผีเมือง ผีตาแฮก เป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณ

    เดือนแปด  บุนเข่าวัดสา (ทำบุญเข้าพรรษา) เป็นประเพณีทางพุทธศาสนาโดยตรง มีการทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนาและถวายเทียนพรรษา

    เดือนเก้า  บุนเข่าปะดับดิน (ทำบุญข้าวประดับดิน)  เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับ โดยการจัดหาหมากพลู เหล้า บุหรี่ ไปวางไว้ใต้ต้นไม้หรือที่ใดที่หนึ่ง แล้วเชิญวิญญาณของญาติมิตรที่ล่วงลับมารับอาหารไป 

    เดือนสิบ  บุนเข่าสาก  (ทำบุญข้าวสากหรือสลากภัตต์) ผู้ถวายจะเขียนชื่อของตนลงในภาชนะ ที่ใส่ของทาน และเขียนชื่อของตนลงในบาตร ภิกษุสามเณรจับสลากได้ของใคร ผู้นั้นจะต้องเข้าไปถวายของ 

    เดือนสิบเอ็ด   บุนออกวัดสา  (ทำบุญวันออกพรรษา) พระสงฆ์จะแสดงอาบัติทำการปวารณา คือ เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ พอตกกลางคืน มีการจุดประทีปโคมไฟแขวนไว้ตามต้นไม้หรือริมรั้ว

    เดือนสิบสอง  บุนกะถิน  (บุญกฐิน) เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 จนถึงวันเพ็ญเดือน 12 สำหรับประชาชนที่อยู่ริมน้ำจะมีการแข่งเรือ (ส่วงเฮือ) ด้วย เพื่อระลึกถึงอุสุพญานาค

    

หมายเลขบันทึก: 76660เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2007 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีค่ะพี่เนย
  • คำว่า ฮิต แผลง มาจาก คำว่าจารีต ใช่มั้ย ค่ะ เมื่อวานได้อ่านจากเน็ต ไม่ทราบเว็ป ใหนค่ะ
  • กลางเดือนหน้าก็จะได้พบพี่เนยแล้วนะคะ

ฮีต   เป็นภาษาอีสาน ตรงกับภาษาไทยกลางว่า จารีต  ถือเป็นจรรยาทางสังคม ถ้าฝ่าฝืนหรือกระทำผิด เรียกว่า ผิดฮีต ก็คือ ผิดจารีต ในภาษไทยกลางนั่นเองค่ะ

ธงชัย ประกายจินดาวงศ์

เด็กเทพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท