รูปแบบการดูแลสุขภาพตาแบบผสมผสานโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา


ปัทมา วาจามั่น
โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

วัตถุประสงค์
1) เพิ่มศักยภาพการดูแลสุขภาพตาของทีมสุขภาพ อ.ด่านขุนทด 2) ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม 3) ลดปัญหาตาบอดของ อ.ด่านขุนทด 4) สร้างรูปแบบการดูแลสุขภาพตาที่สามารถปฏิบัติได้อย่างยั่งยืนต่อเนื่อง

วิธีการศึกษา
- เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ดำเนินการระหว่าง 1 ตุลาคม 2548 - 31 มีนาคม 2549 แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1) ระยะเตรียมการ เป็นการพัฒนารูปแบบบริการดูแลสุขภาพตา มี 4 ขั้นตอนคือ ขั้นแรก ประเมินสภาพปัญหา ความต้องการในการดูแลสุขภาพตาของกลุ่มเสี่ยงในชุมชน แหล่งทรัพยากร พบผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพตาส่วนใหญ่ไมได้รับการตรวจคัดกรองและผู้ที่มารับ บริการตรวจรักษาต้องรอคิวผ่าตัดนาน ไม่มีระบบคัดกรองต่อเนื่อง บุคลากรทีมสุขภาพยังไม่สามารถดูแลสุขภาพตาได้เหมาะสม ขั้นที่สอง กำหนดเป้าหมายและแผนดำเนินการเพิ่มศักยภาพการดูแลสุขภาพตาแก่ทีมสุขภาพ และเพิ่มบริการตรวจรักษา ขั้นที่สาม พยาบาลเวชปฏิบัติทางตา สอนเรื่องการดูแลสุขภาพตาเบื้องต้นและฝึกทักษะการตรวจคัดกรอง การช่วยผ่าตัดและการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังผ่าตัดแก่ทีมสุขภาพและอาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพิ่มการบริการดูแลสุขภาพตา ด้านการตรวจรักษาและผ่าตัดที่โรงพยาบาลด่านขุนทด เดือนละครั้ง โดยทีมงานจักษุร่วมกับทีมด่านขุนทด และมีการสอนขณะปฏิบัติงาน ขั้นที่สี่ ประเมินผลการคัดกรองผู้ป่วย การมองเห็นของผู้ป่วยหลังผ่าตัด ความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องและความเป็นไปได้ในการดำเนินการต่อเนื่อง 2) ระยะดำเนินการ ปฏิบัติการตาม 4 ขั้นตอนข้างต้น และ 3) ระยะประเมินผล

ผลการศึกษา
- พบผู้สูงอายุทั้งหมดได้รับการคัดกรองถูกต้อง ร้อยละ 70-90 มีผู้ป่วย 188 คน ทีมสุขภาพสามารถดูแลผู้ป่วยได้เหมาะสม ผู้ป่วยหลังผ่าตัดสามารถมองเห็นชัดเจนขึ้นร้อยละ 98 และพึงพอใจที่พึ่งพาตนเองชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ร้อยละ 95 ผู้เกี่ยวข้องมีความพึงพอใจและเห็นว่า มีความเป็นไปได้ในการจัดบริการต่อเนื่อง

สรุป
- การดูแลสุขภาพตารูปแบบผสมผสาน ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องร่วมกับการเลือกปัญหา โดยมีการหาแหล่งทรัพยากร กำหนดเป้าหมายและดำเนินการ การสอนเรื่องการดูแลสุขภาพตาเบื้องต้นและการคัดกรองผู้ป่วย จัดระบบการคัดกรอง การตรวจรักษา ผ่าตัดและติดตามผล การให้คำปรึกษา เครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วย การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนด้านบุคลากร อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ปัจจัยส่งเสริมความสำเร็จ ได้แก่ ผู้บริหารให้การสนับสนุน ผู้เกี่ยวข้องเสียสละทำงานร่วมกันแบบหุ้นส่วน ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จาก บทคัดย่อผลงานวิชาการนำเสนอ
ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๔๙
วันที่ ๔-๖ กันยายน ๒๕๔๙ ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร

หมายเลขบันทึก: 76442เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2007 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 00:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท