GotoKnow

ปิ๊งว๊าบ!....Knowledge Portal

Thawat
เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2548 11:48 น. ()
แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2555 16:00 น. ()
ตรงเรื่องนี้ในทางปฏบัติ ที่ผมสนใจคือ การปรับใช้กับเรื่อง "การแกะรหัส แก่นความรู้" (competency) จาก ความรู้ที่อยู่ในคน (Tacit KNowledge) หรือ ความรู้ประเภท know-how

ต้องขอใช้ "ว๊าบ"  แทน "แว๊บ" นะครับ   เพราะเกิดความรู้ว่าครั้งนี้หลังจากฟัง  รศ.ดร. อัศนีย์  ก่อตระกูล   จาก ม. เกษตรศาสตร์    ที่มาเล่าเรื่อง   ใน Weekly Meeting ของ  สคส.  ให้แก่ทีมงานฟัง      ฟังแล้วมันรู้สึกสว่างขึ้นมาในจิตใจ  ในหัวสมองได้นานกว่าปกติ   เลยต้องเป็น  "ว๊าบ"  ครับ

จากที่อาจารย์เล่าสิ่งที่อาจารย์กำลังทำอยู่ตอนนี้นั้น   น่าสนใจจริงๆ  ยิ่งในยุค wireless อย่างทุกวันนี้    แต่สิ่งที่ผม  get  มากที่สุด   เหมือน ตีโพล๊ะ!   เข้าไปในหัวใจ  คือ.....

 

ผมขออนุญาตเล่า....จั่วหัวนำนิดหนึ่งก่อนนะครับ   ว่าอาจารย์อัศนีย์ ทำโครงการวิจัยที่กำลังออกแบบ ทำสิ่งซึ่งเรียกประมาณว่า เครื่องค้นหาความรู้  และสร้างความรู้   แต่เริ่มจากฐานความรู้ที่ได้บันทึกเอาไว้บนโลก cyber นี้เรียบร้อยแล้ว    ยกตัวอย่าง  เช่น  เรื่องข้าว   ก็มีฐานความรู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องข้าวถูกค้นหาและรวบรวมเอาไว้เป็นหมวดหมู่    ใครสนใจเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับข้าว  ก็สามารถไปค้นหาเอามาใช้ได้ง่าย   เช่น  อยากรู้แมลงกินต้นข้าวที่เราเจอ  มันมีพฤติกรรมอย่างไร  มีวงจรชีวิตอย่างไร  มันชอบอะไร  ไม่ชอบอะไร   มีวิธีการกำจัดหรือควบคุมอย่างไรบ้าง  เป็นต้น

กระโดดมาเข้าเรื่อง  สิ่งที่เข้าไปในหัวใจน้อยๆของผมนะครับ

ผมฟังไป  คิดตามไป  เลยตีความตามไปด้วย   แล้ว ได้ความว่า (หรืออาจจะไม่ได้ความก็ได้)  keyword ของความรู้   คือ  "รู้" (know)     แล้วต้องรู้อะไรหล่ะ   อาจารย์อัศนีย์ก็พาทัวร์ไปเรื่อย   เห็นว่าสิ่งที่ต้องรู้   ได้แก่....

ประเด็นที่เกี่ยวกับชีวิตเรา (what)

ใครทำ หรือ เป็นเจ้าของไอ้เจ้า what ที่ว่านั่น  (whom)

เขาคนนั้น อยู่ที่ไหน (where)

แล้วเขาทำได้อย่างไร (how)

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อไร  นานหรือยัง   ใช้เวลากว่าจะโผล่ออกมาให้ชมได้เนี่ย..นานแค่ไหน (when)

 

การที่จะเข้าถึง "know"  หรือรู้นั่นเอง    ก็ต้อง  "ค้นหา" (search)     ไอ้ตรงนี้  ดูเหมือนจะธรรมดาอยู่     จะไม่ธรรมดาก็ตอนที่   อาจารย์เริ่มเล่าให้ฟังถึง "เครื่องจักรค้นหา" (search engine)    เดิมพอพูดถึงเรื่องนี้       Non-IT man อย่างเราก็มักจะนึกถึงแต่  google    พอฟังจาก  ดร. อัศนีย์   มันน่าสนใจตรงที่เป็น  search + understand = intelligent search   เอาเป็นว่าสรุปแบบบ้านๆ เข้าใจไม่ยากมันก็คือ  สร้างระบบค้นหา  แต่ไม่ได้ค้นหาเฉยๆ นะครับ  มันยังมีความชาญฉลาด (โดยที่คนนั่นแหละออกแบบให้มัน)  ในการวิเคราะห์ประมวลผล  ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงความรู้ (ที่บันทึกเอาไว้ใน ICTแล้วเท่านั้น)  ได้เร็วมาก    เหมือนเส้นทางลัดสู่ความรู้อะไรทำนองนั้น 

อาจารย์อัศนีย์เล่าถึงวิธีการออกแบบ  "เครื่องจักร" หรือเครื่องมือตัวนี้    เล่าถึงศาสตร์ที่ต้องนำมาใช้  รวมทั้งส่วนประกอบที่ต้องคิด  ต้อง create กันอีกเยอะ   เช่น  Ontology  (ศาสตร์ที่ว่าด้วยการแสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่/ สายความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ)  คล้ายๆหลักการ  "อนุกรมวิธาน"  ที่แสดงให้เรารู้สิ่งมีชีวิตแต่ละอย่างมี  "สกุล"  มี  "วงศ์"  มาอย่างไร    เห็นความสัมพันธ์    หรือ  Semantic  ศาสตร์ที่ว่าด้วยความหมายทางภาษาศาตร์   หรือ ตรรกวิทยา      ทั้งหมดค่อนข้างเป็นความรู้ของซีกที่ว่าด้วย  "เหตุและผล"        สรุปแบบลมหัวด้วน (คือแบบดื้อๆ  ห้วนๆ  นั่นเอง) เป็น   การกำหนดลักษณะความสัมพันธ์ในมิติที่หลากหลาย   เช่น  คำว่า  "พืชไร่"  หากถามว่าพืชไร่มีอะไรบ้าง   ก็จะได้ชื่อของพืชมากลุ่มหนึ่ง     แต่หากถามว่าพืชไร่ใช้แปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง   ก็จะมีคำตอบอีกกลุ่มหนึ่ง  ที่มีความสัมพันธ์  อีกแบบหนึ่ง    อะไรประมาณนี้แหละครับ 

วิชาเหล่านี้  สำคัญมากครับ  สำหรับ  cyber brain  เพราะเจ้าสมองกลที่ว่านี้   มันทำหน้าที่ด้วยความซื่อตรง  เหมือนเสาธงบ้านผมเลย    ตรงจริงๆ    ถ้ามันตรวจสอบแล้ว  พบว่าไม่เป็นเหตุ  เป็นผลกันละก้อ   มันรับไม่ได้   และทำไม่ได้       ดังนั้น   การตั้ง  "เงื่อนไข"   หรือ "กฎเกณฑ์" ให้เจ้าสมองกลจึงจำเป็น  ต้องใช้ศาสตร์อย่างที่เล่ามาข้างต้น  มาเป็น  ลูกจ้างทำงานให้กับมัน

ผมคิดต่อว่าถ้าเราจะทำแบบ Non-IT บ้างจะได้มั๊ย?    เลยนึกถึง    เครื่องคิดเลขแบบลูกคิด  กับ แบบดิจิตอล    ทั้งสองวิธีมีจุดเด่นที่ต่างกัน   แต่ที่สำคัญ User ต้องไม่เซ่อ  หรือต้องรู้หลักการพื้นฐานมาบ้าง   ถ้าไม่รู้เสียเลย  วันใดเครื่องคิดเลขหาย  รับรองว่าออกอาการเซ่อแน่นอน

ตรงเรื่องนี้ในทางปฏบัติ  ที่ผมสนใจคือ  การปรับใช้กับเรื่อง  "การแกะรหัส แก่นความรู้" (competency)  จาก ความรู้ที่อยู่ในคน (Tacit KNowledge)  หรือ  ความรู้ประเภท know-how

ผมเองก็ยังไม่รู้ว่า  มันถูกหรือผิด  หากคิดแบบนี้    เพียงแค่เห็นความท้าทายบางอย่าง  จึงคิดว่า  ไม่น่าจะเกินความสามารถของมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา

 

คำสำคัญ (Tags): #storytelling #เกร็ดน่ารู้ 

ความเห็น

ยังไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย