ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

ผักตบชวากับการเพาะเห็ดฟาง


เป็นพืชที่ให้ทั้งความสวยงาม ความเกื้อกูลในระบบนิเวศ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมีปริมาณมากก็จะทำให้เป็นวัชพืชทางน้ำ ดังนั้นหากมีปริมาณมากเราจึงควรนำมาใช้เป็นวัสดุในการเพาะเห็ดฟาง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และรายได้ให้กับครอบครัว

ฟ้าอมม่วง คือสีสันอันสวยงามของดอกผักตบชวา อันเป็นเหตุอันจูงใจในการนำเข้ามาจากแดนชวาเพื่อมาปลูกในเมืองไทย และด้วยพฤติกรรมที่ชอบเจริญเติบโตในเขตร้อนชื้น จึงได้มีการแพร่พันธุ์ไปทั่วทุกพื้นที่ของของเมืองไทยที่มีน้ำอย่างรวดเร็ว ช่วยเป็นที่หลบภัย และวางไข่ของปลาเล็กปลาเล็กปลาน้อย นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มปริมาณของออกซิเจนให้กับน้ำอีกด้วย นับเป็นการเกื้อกูลในระบบนิเวศ

ด้วยคุณสมบัติพิเศษของการขยายพันธุ์ (ง่าย เร็ว) จึงทำให้ผักตบชวาเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วตามลำห้วย หนอง คลองบึง จึงได้เปลี่ยนจากความสวยงาม เกื้อกูลในระบบนิเวศ กลายมาเป็นวัชพืชทางน้ำ ทำลายระบบนิเวศ และทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน จึงทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณในการกำจัดผักตบชวาเป็นอันมาก จนกระทั่งเกิดโครงการต่างๆ ในการใช้ผักตบชวาตามมา เช่น หัตถกรรมพื้นบ้าน การทำปุ๋ยหมัก และการนำไปเพาะเห็ด เป็นต้น

การนำผักตบชวามาใช้ในการเพาะเห็ด จึงเป็นมูลเหตุแห่งเรื่องเล่านี้ ประกอบกับเมื่อเช้ามีพันธมิตรทางวิชาการเรื่องเห็ด จากอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้โทรศัพท์มาเล่าถึงความสำเร็จให้ฟัง ด้วยความดีใจว่า ตนเองได้นำผักตบชวาจากบริเวณลำน้ำกุดปลาขาวที่มีเยอะมากมาใช้ในการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย ผลปรากฏว่าได้ผลดีมาก ดอกใหญ่ สมบูรณ์ดีมาก จึงได้โทรมาเล่าให้ฟังเพราะหลังจากที่ได้ผ่านการอบรมไปแล้วพึ่งได้มีโอกาสทดลองทำ 2-3 ครั้ง

เพาะอย่างไร ? เป็นคำถามของผมเพื่อต้องการทราบว่าทำอย่างไรจึงได้ดอกใหญ่ และดก คุณประครอง จึงได้เล่าให้ฟังว่า

1. ขั้นแรกนำผักตบชวาขึ้นมาจากน้ำ สดๆ เลยนะครับ แล้วขนมาบริเวณที่เราจะเพาะ ปล่อยทิ้งเอาไว้ประมาณชั่วโมงเศษๆ เพื่อไม่ให้แฉะมาก

2. ใช้มีดสับเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 5-10 ซม. ทั้งส่วน ราก ลำต้น และใบ แล้วจึงนำไปเพาะเห็ดฟางได้เหมือนกับการเพาะโดยใช้ฟางข้าวทุกประการ

วิธีการเพาะ

1.พรวนดินปรับระดับให้เรียบ (ทำเช่นเดียวกับการเตรียมแปลงผัก) รดน้ำให้ชุ่มวางไม้

2.ใส่ผักตบชวาลงในไม้แบบรดน้ำให้ชุ่มและเหยียบให้แน่นหนาประมาณ 10 ซม. โรยอาหารเสริมทับ (ขี้วัวผสมรำข้าว 1:1) ชิดขอบไม้ทั้งสี่ด้าน

3.โรยหัวเชื้อเห็ดทับอาหารเสริม (เชื้อเห็ดที่ใช้ควรขยี้ให้แตกร่วนเสียก่อนจึงโรย ชั้นละ 1/3 ของถุง) เสร็จชั้นที่ 1

4. ใส่ผักตบชวาสับหนา 10 ซม.เท่าเดิมรดน้ำเหยียบให้แน่น พร้อมโรยหัวเชื้อเห็ดฟางทับเป็นชั้นที่ 2 ทำช้ำจนครบ 3 ชั้น ชั้นสุดท้ายจะโรยอาหารเสริมให้เต็มพื้นที่ผิวของกองผักตับชวา แล้วโรยหัวเชื้อเห็ดฟางให้เต็มผิวหน้าเช่นกัน กลบทับด้วยผักตบชวาบางๆหนาประมาณ 1-2 ซม.

5. ยกไม้แบบออกไปเริ่มกองถัดไปทางด้านข้าง ห่างกันประมาณ 1 คืบ ทำเช่นเดียวกันกับข้อ 2-4 ให้ได้แปลงละ 5-10 กอง

6. หลังจากทำกองเสร็จรดน้ำให้ชุ่มตลอดแปลง แล้วใช้ไม้ไผ่ทำโครงคลุมกองเห็ดเพื่อใช้ค้ำผ้าพลาสติกสัมผัสกับหลังกองเห็ดโดยตรงเดี๋ยวดอกจะเน่า

7. คลุมด้วยผ้าพลาสติก โดยใช้ 2 ผืนเกยทับกันตามความยาวตรงหลังกองปิดให้มิดชิดแล้วคลุมพลาสติกด้วยทางมะพร้าว หรือฟางข้าวเพื่อพรางแสง ไม่ให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรักษาความชื้นภายในแปลงเพาะ

การดูแลรักษา

1. วันที่ 1-3 ของการเพาะไม่ต้องทำอะไร หากแต่ว่าช่วงนี้ลมแรงต้องระวังผ้าพลาสติกเปิด ต้องรักษาอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 35 – 38oซ

2. วันที่ 4 – 5 ของการเพาะ ระยะนี้เส้นใยเริ่มเดิน และต้องกระตุ้นโดยการรดน้ำ (ตัดเส้นใย) อีกทั้งเพิ่มความชื้นในกองเพาะรักษาอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 30–35 oซ ในระยะนี้ต้องระบายอากาศทุกวัน ๆ ละครั้งๆ ละประมาณ 5-10 นาที

3. การเก็บดอกเห็ด เนื่องจากช่วงนี้ที่อุบลฯ อากาศหนาวเย็นจึงทำให้เห็ดเกิดดอกช้าซึ่งต้องใช้เวลาเพาะถึง 13 วัน จึงได้เก็บดอกเห็ด ปกติหากเป็นฤดูร้อน เช่น เดือนมีนาคม เมษายน จะได้เก็บดอกเห็ดภายดอกใน 9 วัน เท่านั้นเอง

 

จากแนวทางดังกล่าวจึงนับว่าเป็นการจัดการความรู้ในเรื่องของการใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผักตบชวาที่เป็นวัชพืชทางน้ำ ให้กลับมาเป็นแหล่งอาหารโปรตีนอันโอชะ สำหรับคนในครอบครับ ชุมชน และนอกจากนั้นยังได้ปุ๋ยหมักจากผักตับชวาชั้นยอด ผมจึงเห็นว่าน่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะเสริมในกิจกรรมเกษตรกรรมแบบประณีตได้เป็นอย่างดี เพราะทำง่าย ใช้พื้นที่น้อย อีกทั้งยังช่วยเกื้อกูลและจัดการในระบบนิเวศให้กับชุมชนอีกด้วย

หากท่านอ่านแล้วมีข้อเสนอดีๆ ผมยินดีน้อมรับ และรอ ความเห็ดเห็นจากท่านตลอดเวลา และขอบขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

สวัสดีครับ

อุทัย อันพิมพ์

12 มกราคม 2550

หมายเลขบันทึก: 72380เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2007 22:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ทางฟาร์มของเราก็ใช้ผักตบชวาเป็นอาหารเสริมในการเพาะเห็ดฟาง ได้ผลดีมาก แถมประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยครับ แนะนำให้ใช้ทุกฟาร์มครับ

http://www.twoplus11.com/banchafarm.htm

ขอบคุณครับ คุณบัญชา ที่กรุณาส่งข่าว และเข้ามาเยี่ยมชม

ซึ่งจากแนวทางดังกล่าวอยากจะขอเรียนเพิ่มเติมครับว่า หลังจากที่ใช้ในการเพาะเห็ดและเก็บผลผลิตหมดแล้ว นำวัสดุเพาะดังกล่าวไปรองพื้นและคลุมหลุมปลูกต้นกล้วย จะเป็นอาหารและรักษาความชื้น ให้กับต้นกล้วย ทำให้เจริญเติบโตดีอีกต่างหากครับ

ขอบคุณครับ

อุทัย 

ขอบคุณที่แนะนำ ตอนนี้เราก็แจกให้ชาวบ้านนำไปใส่เป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ที่เขาปลูกอยู่ เช่น ต้นกล้วย มะม่วง มะกรูด ฯลฯ และบางคนเขาก็มาเอาไปผสมกับปุ๋ยคอก + น้ำ อีเอ็ม แล้วหมักเป็นปุ๋ยหมัก เห็นบอกว่าได้ผลดีมากกว่าปุ๋ยเคมีอีกครับ

http://www.twoplus11.com/banchafarm.htm

ขอบคุณครับ คุณบัญชา

ถ้าหากมีอะไรที่จะให้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยก็ยินดีนะครับ

อุทัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท