ภูริปัญญชาดก
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๑๔. ภูริปัญญชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๔๕๒)
ว่าด้วยผู้มีปัญญากว้างขวาง
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๕] ท่านผู้มีปัญญากว้างขวาง ได้ยินว่า คำที่ท่านอาจารย์เสนกกล่าวเป็นความจริง เพราะสิริ ความเพียร และปัญญาคุ้มครองท่าน ผู้ตกอยู่ในอำนาจของความเสื่อมไม่ได้ ท่านจึงต้องบริโภคก้อนข้าวเหนียวที่มีแกงน้อย
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๔๖] เราเมื่อเพิ่มพูนความสุขด้วยความลำบาก พิจารณาดูกาลอันควรไม่ควร จึงหลบซ่อนตามความพอใจ แต่ไม่ปิดช่องทางแห่งประโยชน์ ด้วยเหตุนั้น จึงพอใจกินข้าวเหนียว
[๑๔๗] อนึ่ง เรารู้เวลาที่จะทำความเพียร และเพิ่มพูนประโยชน์ด้วยปัญญาทั้งหลาย เยื้องย่างอย่างการเยื้องกรายแห่งราชสีห์ แม้ต่อไปท่านก็จะเห็นเราด้วยความสำเร็จอันนั้น
(พระราชาเมื่อจะทรงทดลองบัณฑิต จึงตรัสว่า)
[๑๔๘] ก็คนพวกหนึ่งแม้มีความสุขก็ไม่ทำความชั่ว คนอีกพวกหนึ่งเพราะกลัวการเกี่ยวข้องกับการถูกติเตียนจึงไม่ทำความชั่ว ส่วนท่านเป็นผู้มีความคิดกว้างขวางมาก เพราะเหตุไร จึงไม่ก่อทุกข์ให้แก่เรา
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๔๙] ธรรมดาบัณฑิตไม่ประพฤติกรรมชั่วเพราะเหตุความสุขแห่งตน แม้ถูกความทุกข์กระทบถูกต้องพลั้งพลาดไป ก็สงบอยู่ได้ ไม่ละทิ้งธรรม เพราะความรักและความชัง
(พระราชาตรัสมายากษัตริย์ว่า)
[๑๕๐] บุคคลพึงยกตนที่ต่ำช้าขึ้นด้วยเหตุเล็กน้อยหรือรุนแรง อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ภายหลังพึงประพฤติธรรม
(พระโพธิสัตว์แสดงอุปมาด้วยต้นไม้ว่า)
[๑๕๑] บุคคลนั่งก็ตาม นอนก็ตามที่ร่มเงาต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งต้นไม้นั้น เพราะว่าคนประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม
[๑๕๒] คนผู้รู้แจ้งธรรมแต่สำนักอาจารย์ใด อนึ่ง การที่สัตบุรุษทั้งหลายกำจัดความสงสัยของคนผู้นั้นได้ นั่นแหละนับว่าเป็นที่พึ่ง ที่พำนักของเขา คนผู้มีปัญญาไม่พึงทำลายไมตรีกับอาจารย์นั้นเลย
(พระโพธิสัตว์อนุศาสน์พระราชาว่า)
[๑๕๓] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเกียจคร้านไม่ดี บรรพชิตไม่สำรวมไม่ดี พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไม่ดี การที่บัณฑิตโกรธไม่ดี
[๑๕๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ กษัตริย์ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงควรทำ ไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วไม่ควรตัดสิน ยศและเกียรติย่อมเจริญแด่พระราชาผู้ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
ภูริปัญญชาดกที่ ๑๔ จบ
--------------------------------
คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา
ภูริปัญหาชาดก
ว่าด้วย คนไม่ดี ๔ จำพวก
ภูริปัญหาชาดกนี้ จักมีแจ้งใน มหาอุมมังคชาดก แล.
จบอรรถกถาภูริปัญหาชาดกที่ ๑๔
------------------------------------------------
พระราชาถูกมรณภัยคุกคาม รุ่งขึ้นให้เรียกอมาตย์ ๔ คนมาตรัสสั่งว่า ท่านทั้ง ๔ คนจงขึ้นรถ ๔ คัน ออกจากประตูเมืองทั้ง ๔ ประตู. ค้นหามโหสถบุตรเราอยู่ที่ใด จงทำสักการะแก่เธอในที่นั้น แล้วนำตัวมาโดยเร็ว. อมาตย์ทั้ง ๔ คนออกทางประตูคนละประตู อมาตย์ ๓ คนไม่พบมโหสถบัณฑิต. แต่อมาตย์คนหนึ่งออกทางประตูด้านทิศทักษิณ พบพระมหาสัตว์ที่บ้านทักขิณยวมัชฌคาม. ขนดินเหนียวมา มีร่างกายเปื้อนดินเหนียว นั่งบนตั่งใบไม้หมุนจักรในสำนักอาจารย์. ปั้นดินเหนียวเป็นปั้นๆ บริโภคข้าวเหนียวไม่มีแกง.
ถามว่า ก็เหตุไร มโหสถจึงทำการอย่างนี้ แก้ว่า ได้ยินว่า พระราชาทรงรังเกียจว่า มโหสถบัณฑิตจะชิงราชสมบัติของพระองค์โดยไม่สงสัย. มโหสถคิดว่า เมื่อพระราชาทรงทราบว่า มโหสถเลี้ยงชีพอยู่ด้วยการทำหม้อขาย ก็จะทรงหายรังเกียจ จึงได้ทำอย่างนี้.
มโหสถเห็นอมาตย์ก็รู้ว่าจะมาหาตน จึงดำริว่า วันนี้ยศของเราจักมีเป็นปกติอีก เราจักบริโภคโภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ ที่นางอมราเทวีจัดไว้รับ. คิดฉะนี้ จึงทิ้งก้อนข้าวที่ถือไว้ ลุกขึ้นบ้วนปาก. อมาตย์นั้นเข้าไปหามโหสถ ในขณะนั้น. แต่อมาตย์คนนั้นเป็นฝักฝ่ายเสนกะ. เพราะฉะนั้น เมื่อจะสืบต่อข้อความที่เสนกะกล่าวแต่หนหลัง ว่าทรัพย์ประเสริฐกว่าปัญญานั้น. จึงกล่าวว่า แน่ะท่านบัณฑิต คำของอาจารย์เสนกะเป็นจริง. ในเมื่อยศของท่านเสื่อม ท่านเป็นผู้มีปัญญามากถึงปานนี้ ก็ไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งแก่ท่าน. บัดนี้ ท่านมีร่างกายเปรอะเปื้อนด้วยดินเหนียว นั่งที่ตั่งใบไม้กินข้าวเห็นปานนี้ กล่าวฉะนี้แล้ว
ได้กล่าวคาถาที่หนึ่ง ในภูริปัญหาในทสนิบาตนี้ว่า
ได้ยินว่า คำที่อาจารย์เสนกะกล่าวเป็นของจริง. แม้ท่านจะมีปัญญาดุจแผ่นดิน มีสิริ มีความเพียร และมีความคิดเช่นนั้น ยังไม่ป้องกันความที่ท่านเข้าถึงอำนาจของความพินาศได้ ท่านจึงต้องกินอาหารไม่มีแกง.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวตอบอมาตย์นั้นว่า แน่ะอันธพาล เราประสงค์จะทำยศนั้นให้เป็นปกติด้วยปัญญาของตนอีก จึงได้ทำอย่างนี้. แล้วกล่าวสองคาถานี้ว่า
เรายังความสุขให้เจริญด้วยความทุกข์ เมื่อพิจารณากาลและมิใช่กาล ก็หลบซ่อนอยู่ เปิดช่อง คิดทำให้เป็นประโยชน์แก่ตน. ด้วยเหตุนั้น เราจึงยินดีด้วยการบริโภคข้าวเหนียว.
ก็เรารู้จักกาลเพื่อองอาจ ทำความเพียร ยังยศของตนให้เจริญอีก ด้วยความคิดของตนองอาจอยู่. ดุจความองอาจแห่งราชสีห์ที่พื้นมโนศิลา ฉะนั้น. ท่านจักเห็นเราด้วยความสำเร็จนั้นอีก.
ลำดับนั้น อมาตย์กล่าวกะมโหสถว่า แน่ะพ่อบัณฑิต เทวดาผู้สิงอยู่ ณ เศวตฉัตร ถามปัญหาพระราชา พระราชาตรัสถามบัณฑิตทั้ง ๔ ใน ๔ คนนั้น. แม้คนหนึ่งก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้. เพราะเหตุนั้น พระราชาจึงดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้ามาหาท่าน. พระมหาสัตว์จึงกล่าวสรรเสริญอานุภาพแห่งปัญญาว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจงเห็นอานุภาพแห่งปัญญาของตน เพราะว่าอิสริยยศย่อมไม่เป็นที่พึ่ง ในกาลเห็นปานดังนี้. บุคคลผู้บริบูรณ์ด้วยปัญญาเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งได้. อมาตย์ได้รับพระราชบัญชามาว่า จงให้มโหสถบัณฑิตอาบน้ำนุ่งห่มในที่ที่พบทีเดียวแล้วนำมา ก็ได้ทำตามรับสั่งแล้วให้กหาปณะพันหนึ่ง และผ้าสำรับหนึ่ง ซึ่งเป็นของพระราชทานแก่พระมหาสัตว์ ได้ยินว่า ช่างหม้อเกิดกลัวขึ้นเอง ด้วยคิดเห็นว่า เราใช้สอยมโหสถผู้เป็นราชบัณฑิต. พระมหาสัตว์เห็นกิริยาแห่งช่างหม้อ จึงพูดเอาใจว่า อย่ากลัวเลยท่านอาจารย์ ท่านเป็นผู้มีอุปการะแก่ข้าพเจ้ามาก. กล่าวฉะนี้ แล้วให้กหาปณะพันหนึ่งแก่ช่างหม้อ. แล้วนั่งไปในรถทั้งตัวเปื้อนดินเหนียวเข้าไปสู่พระนคร. อมาตย์ให้ทูลข่าวมาของมโหสถแด่พระราชา รับสั่งถามว่า ท่านพบมโหสถที่ไหน. จึงกราบทูลว่า มโหสถทำหม้อขายเลี้ยงชีพอยู่ ณ บ้านทักขิณยวมัชฌคาม. ทราบว่ามีรับสั่งให้มาเฝ้า ก็ยังหาอาบน้ำไม่ มีร่างกายเปื้อนดินเหนียวมาทีเดียว. พระเจ้าวิเทหราชทรงดำริว่า ถ้ามโหสถเป็นศัตรูของเรา จะพึงเที่ยวอยู่ด้วยทำอิสริยศักดิ์ มโหสถนี้หาได้เป็นศัตรูของเราไม่. ทรงดำริฉะนี้แล้วตรัสสั่งว่า ท่านจงบอกแก่มโหสถบุตรของเราว่า จงไปเรือนของตนอาบน้ำตกแต่งกาย แล้วมาตามทำนองเกียรติศักดิ์ที่เราให้. มโหสถได้สดับพระราชกระแส ก็ทำอย่างนั้นแล้วมาเฝ้า. ได้พระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าแล้ว ก็ตรงเข้าไปถวายบังคมพระราชาแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง. พระเจ้าวิเทหราชทรงปฏิสันถารมโหสถบัณฑิต. เมื่อจะทรงทดลองมโหสถบัณฑิต จึงตรัสคาถานี้ว่า
ก็คนพวกหนึ่งไม่ทำความชั่วด้วยคิดว่าเราสบายอยู่แล้ว คนอีกพวกหนึ่งไม่ทำเพราะเกรงเกี่ยวข้องด้วยความติเตียน ก็เจ้าเป็นผู้สามารถมีความคิดเต็มเปี่ยม เหตุไรจึงไม่ทำความทุกข์แก่เรา.
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า
บัณฑิตทั้งหลายไม่ประพฤติความชั่ว เพราะเหตุแห่งความสุขของตน. อันความทุกข์กระทบแล้ว แม้พลาดจากสมบัติก็สงบ ย่อมไม่ละธรรม เพราะรักและเพราะชัง.
พระราชา เมื่อจะตรัสขัตติยมายาเพื่อทดลองมโหสถอีก จึงตรัสคาถานี้ว่า
บุคคลพึงถอนตนที่ต่ำช้าด้วยเพศที่อ่อนหรือทารุณอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ภายหลังจึงประพฤติธรรมก็ได้มิใช่หรือ.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะแสดงอุปมาด้วยต้นไม้แด่พระราชา. จึงกล่าวคาถานี้ว่า
บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นผู้ชั่วช้า.
ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงความที่ตนมิใช่ผู้ประทุษร้ายมิตร แม้ในที่ทั้งปวงว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ถ้าว่าบุคคลหักกิ่งต้นไม้ที่ตนได้บริโภค ชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรไซร้ จะกล่าวไปทำไม บุคคลผู้นี้ก็ชื่อว่า เป็นผู้ฆ่ามนุษย์ บิดาของข้าพระองค์ พระองค์ให้ดำรงอยู่ในอิสริยยศโอฬารและข้าพระองค์. พระองค์ก็ทรงอนุเคราะห์ ด้วยการอนุเคราะห์มาก. เมื่อข้าพระองค์ทำร้ายในพระองค์ จะไม่พึงชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรได้อย่างไร และเมื่อจะทูลท้วงโทษแห่งพระราชา จึงกล่าวคาถาว่า
นรชนรู้แจ้งซึ่งธรรมแต่ผู้ใด และสัตบุรุษเหล่าใดบรรเทาเสีย ซึ่งความสงสัยอันเกิดขึ้นแก่นรชนนั้น. กิริยาของท่านผู้นั้นเป็นดังเกาะและเป็นที่พึ่งของนรชนนั้น. ผู้มีปัญญาไม่พึงยังไมตรีกับท่านผู้นั้นให้เสื่อมสิ้นไป.
คาถานั้นมีเนื้อความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บุรุษพึงรู้ธรรม คือเหตุแม้มีประมาณน้อย แต่สำนักของอาจารย์ใด. และสัตบุรุษเหล่าใดบรรเทาเสียซึ่งความสงสัยอันเกิดขึ้นแก่นรชนนั้น. การกระทำของท่านผู้นั้นเป็นดังเกาะและเป็นที่พึ่ง เพราะอรรถว่าเป็นที่พึ่งของนรชนนั้น. บัณฑิตไม่พึงละ คือไม่พึงยังมิตรภาพกับอาจารย์เช่นนั้นให้พินาศ.
บัดนี้ เมื่อจะถวายโอวาทพระราชา มโหสถบัณฑิตจึงกล่าว ๒ คาถานี้ว่า
คฤหัสถ์บริโภคกามเป็นคนเกียจคร้านไม่ดี. บรรพชิตเป็นผู้ไม่สำรวมแล้วไม่ดี. พระราชาผู้ไม่ทรงพิจารณาก่อนจึงทรงราชกิจไม่ดี. ความโกรธของบัณฑิตผู้มักโกรธไม่ดี.
กษัตริย์ควรทรงพิจารณาก่อนทรงราชกิจ พระเจ้าแห่งทิศไม่ทรงพิจารณาก่อนไม่พึงทรงราชกิจ ยศและเกียรติย่อมเจริญแก่พระราชาผู้ทรงพิจารณาก่อน จึงทรงบำเพ็ญราชกรณียกิจเป็นปกติ.
จบ ภูริปัญหา
ไม่มีความเห็น