ชมรมรักษ์อีสาน (น้ำท่วมชาวบ้าน จะให้ฉันสุขสำราญได้อย่างไร)


ผมยืนยันว่า กิจกรรมนี้ ไม่ใช่กิจกรรมในลักษณะไปปักป้ายถ่ายรูป  ไม่ใช้กิจกรรมท่ำขึ้นตามมุมมองของนิสิต หรือแม้แต่อาจารย์ที่ปรึกษาล้วนๆ แต่มีการหารือ หรือสนธิโจทย์อันเป็นความต้องการของชุมชน  ว่าชุมชนประสบปัญหาอะไร  กำลังจะขับเคลื่อนอะไร  และนิสิตสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง

 

 

ในช่วงที่อำเภอบรบือ และอำเภวาปีปทุม  จังหวัดมหาสารคาม เจอมรสุมน้ำท่วม  ชมรมรักษ์อีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ยับออกมาอยู่เคียงข้างชาวบ้านอย่างน่ายกย่อง

 

นับตั้งแต่การระดมข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องผ่านสังคมออนไลน์   รวมถึงการบอกข่าวเล่าคราวถึงปัจจัยต่างๆ เท่าที่แต่ละคนพึงสะดวกใจช่วยเหลือ

 

 

การทำงานมิได้ทำขึ้นปุปปับ  แต่ระดมสิ่งของต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป  มีการเก็บข้อมูลเส้นทางการไหลบ่าของน้ำ ไปพร้อมพร้อมๆ กับความหนักหน่วง หรือความเสียหายของแต่ละชุมชน  เพื่อนำไปสู่การคัดกรองว่า  หากต้องลงพื้นที่ไปบรรเทาทุกข์ บำรุงสุขต่อชาวบ้าน จะเลือกไปหมู่บ้านใด และไปในสภาวะใด จะไปในช่วงน้ำท่วมขัง หรือไปในช่วงน้ำลด แล้วเข้ากระบวนการฟื้นฟูเยียวยา

 

แรกเริ่มเดิมที่ นิสิต ปักธงหลักๆ คือการมอบถุงยังชีพ เพื่อบรรเทาทุกข์ เป็นกระบวนการผ่อนหนักให้เป็นเบา แต่พอเริ่มเสวนาพาทีกับชาวบ้าน ก็ได้ “โจทย์ใหม่”  นั่นคือ ชาวบ้านกำลังจะซ่อมแซมอาคารเรียน ห้องสุขา หรือแม้แต่โรงอาหารให้กับทางโรงเรียน เพื่อรองรับการเปิดเรียนหลังน้ำลด 

 

 

นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรม“ปันน้ำใจช่วยเหลืออุทกภัยจังหวัดมหาสารคาม”  เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567  ณ โรงเรียนบ้านกระยอมหนองเดิ่น ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อบรรเทาทุกข์บำรุงสุขแก่ชุมชนที่ประสบอุทกภัย และส่งเสริมให้นิสิตเกิดกระบวนการเรียนรู้คู่บริการต่อสังคม โดยใช้ภัยพิบัติและงานด้านจิตอาสาเป็นโจทย์การเรียนรู้

 

กิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วยกิจกรรมอันสำคัญๆ เช่น  มอบถุงยังชีพ ศึกษาระบบนิเวศของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ศึกษาระบบการจัดการภัยพิบัติของชุมชน ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในโรงเรียน เป็นต้นว่า ทาสีอาคารเรียน ทาสีห้องน้ำ กิจกรรมกรรมกีฬาและนันทนาการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจต่อนักเรียน

 

 

ผมยืนยันว่า กิจกรรมนี้ ไม่ใช่กิจกรรมในลักษณะไปปักป้ายถ่ายรูป  ไม่ใช้กิจกรรมท่ำขึ้นตามมุมมองของนิสิต หรือแม้แต่อาจารย์ที่ปรึกษาล้วนๆ แต่มีการหารือ หรือสนธิโจทย์อันเป็นความต้องการของชุมชน  ว่าชุมชนประสบปัญหาอะไร  กำลังจะขับเคลื่อนอะไร  และนิสิตสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง

 

รวมถึงนิสิต สามารถเรียนรู้อะไรได้บ้าง

 

 

ผมว่านี่แหละคือการจัดกิจกรรมโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง   เป็นการจัดกิจกรรมบนฐานความต้องการ หรือปัญหาของชุมชน  เรียกได้ว่า “เกาได้ถูกที่คัน”  หรือแม้แต่การจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด การมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชาวบ้าน

 

โดยส่วนตัวผมมองว่า งานครั้งนี้มีผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์  นิสิตสามารถสัมผัสได้ถึงสภาพความจริงของชุมชนว่ามีกระบวนการจัดการภัยพิบัติกันอย่างไร ทั้งในมิติภูมิปัญญาชาวบ้านและการนำเทคโนโลยีเข้าไปเกื้อหนุน นิสิตได้มองเห็นลักษณะการทำงานในเชิงเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าไปช่วยเหลือ  ได้รับรู้ถึงความเสียหาย หรือผลกระทบที่มีต่อชาวบ้าน ทั้งทางตรงและทางอ้อม  รวมไปถึงทิศทางของการฟื้นฟูหลังน้ำรถ ทั้งในระดับชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ

 

นั่นยังไม่รวมถึงทักษะต่างๆ ที่นิสิตได้เรียนรู้และบ่มเพาะในตัวตนของตนเอง  เช่น การวางแผน การทำงานเป็นทีม การแก้ปััญหาเฉพาะหน้า การสื่อสาร ทั้งระหว่างนิสิตกับนิสิตและนิสิตกับชุมชน  การลำดับความสำคัญ เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา การบริหารคน บริหาร ฯลฯ 

 

โดยส่วนตัวผมก็ชอบนะที่นิสิต มอบหมายให้น้องๆ นักเรียน พาเดินเท้าเข้าหมู่บ้าน เพื่อไปสัมผัสกับชะตากรรมจริง รวมถึงการนำนักเรียนมาช่วยสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ร่วมกับนิสิต  เรียกได้ว่า นั่นคือหลักของการมีส่วนร่วม หลักของการสร้างความเป็นเจ้าของให้กับคนในท้องถิ่น

 

พูดแล้วก็ชื่นชมจากใจครับ  เพราะเรื่องบางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องจิตอาสา  รอระบบมากไปก็ไม่ไหว  มันต้องทำงานกันแบบนี้ล่ะ ทำงานอิงระบบ ใจนำพาศรัทธานำทาง

พูดแล้ว คิดแล้ว ก็คิดถึง วาทกรรมเมื่อในราวปี 2550-2551  ที่ว่า  น้ำท่วมชาวบ้านจะให้ฉันสุขสำราญได้อย่างไร



……

 

 

เรื่อง พนัส  ปรีวาสนา
ภาพ  ชมรมรักษ์อีสาน

หมายเลขบันทึก: 719196เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2024 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2024 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท