บ่ายวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ผมไปร่วมงาน “อบรมเชิงปฏิบัติการ พื้นที่เรียนรู้ SDG รุ่นที่ ๒” ที่กาลนาน ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท ใกล้บ้าน ที่มีเป้าหมายเป้าเพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ในทุกระดับและสื่อสารความรู้ไปสู่นโยบายอย่างมีส่วนร่วมในการ ขับเคลื่อน SDGs หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระดับพื้นที่ของประเทศไทย
ทีมงานโครงการวิจัย “โครงการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ นโยบายและสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” นำโดย ดร. สพญ. อังคณา เลขะกุล สังกัด IHPP ได้รับทุนวิจัยจาก สวช.
การประชุมนี้มีระหว่างบ่ายวันที่ ๙ จบเที่ยงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ผมไปร่วม ๒ วัน คือวันที่ ๙ กับ ๑๑ ได้เห็นวิธีการนำ SDG และ IDG สู่ชุมชน โดยรับสมัครชุมชนที่มีกระบวนการรวมตัวกันเพื่อพัฒนาตนเอง จากทั่วประเทศ เลือกมา ๙ ชุมชน หรือโครงการ จาก กทม. ๑, อุดร ๒, สระแก้ว นครสวรรค์ น่าน สุโขทัย สงขลา ยะลา จังหวัดละ ๑ มาทำความเข้าใจว่ากิจกรรมของตนมีส่วนส่งเสริม SDG ตัวไหนบ้าง ทำอย่างไรจึงจะทำได้ดียิ่งขึ้น
วันที่ ๙ ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้เรื่อง SDG และ IDG วันที่ ๑๐ ประชุมถอดบทเรียนของแต่ละกลุ่ม ใช้กรอบ INSIGHT ช่วยการคิดอย่างเป็นระบบ วันที่ ๑๑ ช่วงเช้าแต่ละกลุ่มนำเสนอผลการถอดบทเรียน บ่ายเรียนรู้แนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับพื้นที่จากวิทยากร
I = Institutional & Policy coherence
N = Network & partnership
S = Science, technology & innovation
I = Information system & statistics
G = Governance & leadership
H = Human resources & capacity building
T = Treasury (Finance for Development)
หลังวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ทีม ดร. อังคณา เลือกบางพื้นที่ ไปลงเก็บข้อมูล สำหรับนำมาสื่อสารสังคม และลงในรายงาน Thailand SDG 2024 รวมทั้งนำมาเข้าประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๗ ในวันที่ ๒๗ - ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ โดยที่แต่ละกลุ่มจะมีโอกาสก่อนสมัชชาแห่งชาติไปดำเนินการพัฒนากิจการของตน เพื่อนำผลกระทบด้าน SDG มาเล่าในสมัชชา
คนตกข่าวอย่างผม ได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวหลากหลายเรื่องที่ดำเนินอยู่ในสังคมคนเล็กคนน้อย บางโครงการชาวบ้านรวมตัวกันเอง บางโครงการหน่วยงานระดับประเทศเอาทุนไปให้ และเอาโมเดลจากต่างประเทศไปให้ดำเนินการ ผมอยากรู้ว่าโครงการแบบไหนที่ชาวบ้านได้ประโยชน์จริงจังและยั่งยืนกว่า ทั้งยั่งยืนในฐานะที่มีการดำเนินการต่อเนื่อง เกิดการพัฒนาวิธีการและผลลัพธ์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านร่วมกัน รวมทั้งยั่งยืนในมุมของ SDG, IDG
ผมมีความเห็นว่า หากทีมชาวบ้านได้ฝึกทักษะสะท้อนคิดจากประสบการณ์ตรงของตน ตามแนวทางในหนังสือ การเรียนรู้ ‘ขั้นสูง’ จากประสบการณ์ การเรียนรู้ตลอดชีวิตในหมู่ชาวบ้านจะเกิดขึ้น นำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้
หวังว่าหลังทีม ดร. อังคณา ไปลงพื้นที่ ผมจะได้เรียนรู้เชิงลึกจากทีมงาน
วิจารณ์ พานิช
๑๒ ก.ค. ๖๗
ไม่มีความเห็น