Group Genius - อัจฉริยะกลุ่ม – Collaborative Organization 


 

หนังสือ Group Genius : The Creative Power of Collaboration  เขียนโดย Keith Sawyer    บอกผมว่า การศึกษาไทยต้องเน้นส่งเสริมเกื้อหนุนให้นักเรียนมี Collaborative Mindset   มากกว่า Competitive Mindset   ครูและพ่อแม่ต้องมีวิธีให้เด็กตระหนักด้วยตนเอง ว่าการร่วมมือกัน นำไปสู่การสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ดีกว่ามุ่งทำคนเดียวแบบแข่งขันกัน   

ระบบนิเวศทางวัฒนธรรมในโรงเรียนจะต้องเป็นอย่างไร จึงจะลดทอนการแข่งขัน และเพิ่มความร่วมมือในหมู่นักเรียน (และในหมู่ครู)   เป็นประเด็นที่ครูและผู้บริหารของแต่ละโรงเรียนต้องนำมาเสวนากัน

ผมตีความว่า การเรียนเป็นทีม   และการใช้เครื่องมือ Think – Pair – Share อย่างเป็นกิจวัตร   จะเป็นประสบการณ์ตรงของนักเรียน ให้เห็นว่า “สองหัวดีกว่าหัวเดียว”   และการ “ให้” แก่กันและกัน ส่งผลให้ทุกคน “ได้” เพิ่มขึ้น    และทั้งกลุ่ม “ได้” มากกว่าความรู้หรือความฉลาดที่เป็น “ปัญญาภายนอก”   แต่ช่วยให้ได้ “ปัญญาภายใน” หรือ A – Attitude  ในเป้าหมายพัฒนา VASK     คือได้ท่าทีหรือเจตคติด้านความร่วมมือ ในลักษณะ “ให้และรับ” (Give and Take) 

หลังจากใช้  Think – Pair – Share ไประยะหนึ่ง   ครูควรชวนนักเรียนตั้งวงสานเสวนา   ร่วมกันตอบคำถามว่า  Think – Pair – Share ให้ประโยชน์อะไรแก่นักเรียน    โดยครูต้องตั้งคำถามต่อเมื่อนักเรียนตอบ    เพื่อให้นักเรียนฉุกคิด สู่การทำความเข้าใจคุณค่าของความร่วมมือ   

มองจากมุมของ Transformative Learning   ครูต้องตั้งเป้าการเรียนรู้ส่วนของ V และ A  ใน VASK ว่าหากพบว่ามีนักเรียนที่สมาทาน Competitive Mindset   ต้องหาวิธีช่วยให้ศิษย์เหล่านั้นเปลี่ยนกระบวนทัศน์สู่ Collaborative Mindset ให้จงได้    เพราะเป็นการวางรากฐานชีวิตที่ดีในอนาคต   

กลับมาที่ความร่วมมือในสถานที่ทำงานหรือสถานประกอบการ    หนังสือบอกว่า ต้องใช้กลไกของสองขั้วตรงกันข้าม    คือการ จัดโครงสร้างการทำงานที่หนุนให้เกิดความร่วมมือ หรือการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ   กับการหนุนให้เกิดการ “ด้นกลอนสด” (improvisation) ของความร่วมมือ และการแสวงหาแนวทางใหม่ๆ     

บทที่ ๘ Organizing for Improvization    สื่อว่าการจัดโครงสร้างการทำงานไม่ใช่ว่าจะนำสู่ความแข็งตัวเสมอไป    แต่มีหลักการจัดให้เกิดการ “ด้นสด” ได้ง่าย   

อีกปัจจัยหนึ่งคือ ใช้คนให้ตรงตามความถนัด   ไม่ใช่มองว่าต้องใช้คนอย่างเสมอภาคกันด้านความรับผิดชอบ   

โดยมีเครื่องมือสำคัญคือ เครือข่ายโซเชี่ยล    และ collaborative web เพื่อแชร์ไอเดีย  ที่จะช่วยกระตุ้นความสร้างสรรค์ของสมาชิก     

เมื่อเข้าไปอ่านบทที่ ๘ จึงพบว่ารายละเอียดมาจากการวิจัยในภาคธุรกิจ   ที่ประเด็นหนึ่งที่เขาสื่อคือ มีงานวิจัยที่บอกว่า ระดับการลงทุนด้าน R&D ของบริษัท ไม่มีสหสัมพันธ์กับผลประกอบการ   อธิบายว่า เพราะบริษัทเหล่านั้นดำเนินการ R&D แบบแยกส่วน    คือใช้หลักการ linear creativity   ไม่ใช่ group creativity   แบบกระจาย และส่งต่อจากล่างขึ้นบน    หรือกล่าวใหม่ได้ว่า เพราะใช้หลัก individual genius   ไม่ใช่ group genius       

ในบทที่ ๘ มีการเสนอเคล็ดลับ ๑๐ ประการของ Collaborative Organization    โดยประการที่ ๗ คือ การจัดการความรู้ (KM – Knowledge Management) สู่นวัตกรรม   ที่ความรู้สำคัญมาจากผู้ปฏิบัติงานที่หน้างาน   ซึ่งร้านที่มีสาขาเป็นเชนมีข้อได้เปรียบร้านที่โดดเดี่ยว   เขายกตัวอย่างการค้นพบวิธีทำพิซซ่าแบบหนึ่ง    ที่เมื่อสาขาหนึ่งค้นพบเคล็ดลับ    ก็สามารถแพร่ไปยังสาขาอื่นๆ อีก ๓๕ สาขาได้ทันที 

อีกรูปแบบหนึ่งของการใช้พลัง KM   คือการหมุนเวียนงาน   ที่จะช่วยให้มือใหม่ค้นพบวิธีทำงานแบบใหม่ที่ได้ผลดีกว่าเดิม    แล้วนำเสนอต่อองค์กร เพื่อนำไปใช้เป็นมาตรฐานวิธีทำงานแบบใหม่                                 

ผมชอบเคล็ดลับข้อที่ ๖  Improvise at the Edge of Chaos    ที่บอกว่าการทำงานสร้างสรรค์อย่างยืดหยุ่นที่เรียกว่า “ด้นสด” (improvise) นั้น    จะได้ผลดีต่อเมื่อใช้ ณ ชายขอบของความยุ่งเหยิงหรือไร้ระเบียบ (chaos)    กับความมีเระเบียบ (order)    ไม่ใช่ใช้ในสภาพไร้ระเบียบสุดๆ    หรือในสภาพเป็นระเบียบสุดๆ    ความสนุกอยู่ที่ตัวอย่างที่เขายกมา   

ผมฝันอยากเห็นการนำหลักการเหล่านี้มาใช้ในระบบการศึกษาไทย   ที่เวลานี้เรามุ่งใช้วิธีบริหารงานในสภาพใช้กฎระเบียบสุดๆ   ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของผู้เกี่ยวข้องได้

วิจารณ์ พานิช

๑๐ มี.ค. ๖๗

                                                                              

หมายเลขบันทึก: 717845เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2024 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2024 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I have seen ‘Linux TLE’ [collaborative] group dissolved due to lack of participation. My calls for participation in “เรียน กข” to develop ‘free and open source’ online educational tools received only few ‘courtesy’ responses and encouragement. Many past calls (eg. free Royal Institute Thai-Thai Dictionary, ‘Stop Killing Mother Fish’, ‘Stop Rubbish our Roads’, …) all went ‘flat’. I can only conclude that we have a general lack of ‘collaborative mindset’ in Thai society and simple altruistic urge to contribute to public well-being is not enough. Perhaps, more exploitative schemes are needed.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท