๒๕๓. เกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง


  เนื่องจากเป็นภาพเชิงประจักษ์ ที่แสดงให้เห็นถึงความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ทำตามบริบทมิได้ทำแบบไฟไหม้ฟาง ใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้ บูรณาการได้ทุกสาระวิชา

เกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง

          เรื่องราวของความพอเพียง ยังคงต้องเรียนรู้กันต่อไปไม่มีวันจบสิ้น ถึงแม้ว่าสพฐ.ศธ.จะพูดถึงเรื่องนี้น้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ผมก็ยังเชื่อเสมอว่าความพอเพียง ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่มีความเป็นอมตะที่สุด และมีความสำคัญต่อกิจกรรมในสถานศึกษา

          พอเพียงในที่นี้..ประกอบด้วยวิธีคิดและวิธีทำ อาทิ การปลูกผักสวนครัว ในแปลงผักปลอดสารพิษของนักเรียนชั้น ป.๓ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันไม่กี่คน จึงไม่ต้องสร้างงานให้เลิศหรูอลังการ

          ทำอย่างพอประมาณแบบง่ายๆ โดยปลูกผักที่พบเห็นได้โดยทั่วไป นักเรียนรู้จักและเข้าใจถึงการบำรุงรักษา ตลอดจนประโยชน์ที่จะได้รับในชีวิตประจำวัน

          น้ำ..เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะว่ามีแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก จึงต้องรีบฉกฉวยให้วิกฤตกลายเป็นโอกาส ส่วนดิน..ที่เคยไม่ดีมาก่อน เราสามารถแกล้งดินหรือปรับปรุงดินให้ดีขึ้นได้

          พอได้ลงมือทำทุกวัน นำนักเรียนลงสู่ภาคปฏิบัติ ผลจึงบังเกิดเป็นภาพชินตา เหมือนเมื่อครั้งที่ยังไม่เกษียณ จึงต้องขอบคุณครูผู้ทรงคุณค่าและนักเรียนป.๓ ที่ร่วมด้วยช่วยกันพลิกฟื้นผืนดินอีกครั้ง

          นักเรียนเก็บผักขายมาหลายครั้งแล้ว วันนี้เป็นวันจ่าย จึงรีบเก็บผักกวางตุ้งเพื่อขาย และขายหมดอย่างรวดเร็วภายใน ๕ นาที ผู้ปกครองทราบดีว่านี่คือผลผลิตของนักเรียน ที่ไม่มีสารเคมีเจือปน

          กระบวนการปลูกตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่เตรียมดิน เพาะเมล็ด ปลูกและใส่ปุ๋ยคอก ทักษะซ้ำๆทำให้นักเรียนเข้าใจได้ไม่ยาก และน่าจะซึมซับไปปรับใข้ได้เมื่อเขาเติบโตขึ้น

          ครูไม่ลืมที่จะฝึกให้มีความกล้าหาญในด้านค้าขาย ให้เรียนรู้อาชีพอิสระและสุจริต คิดถึงคุณค่าของเงินที่หามาได้โดยยาก ผู้ปกครองลำบากแค่ไหนกว่าจะหาเงินให้เรามาโรงเรียน...ลองคิดดู

          ผลที่ได้จากกิจกรรมนี้ ก็คือ นักเรียนไม่อายทำกิน ไม่หมิ่นเงินน้อย เงินที่ขายผักได้ พวกเขาจะแบ่งปันกัน ได้คนละ ๑๐ บาท ก็แสดงออกซึ่งความรู้สึกดีใจอย่างเหลือล้น

          นี่คือเกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง ในโรงเรียนขนาดเล็ก ถึงแม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของมิติทั้งหลายในวงการศึกษา แต่ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลโดดเด่นด้านคุณค่าอย่างอเนกอนันต์

          เนื่องจากเป็นภาพเชิงประจักษ์ ที่แสดงให้เห็นถึงความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ทำตามบริบทมิได้ทำแบบไฟไหม้ฟาง ใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้ บูรณาการได้ทุกสาระวิชา

          การศึกษาของแต่ละโรงเรียน ย่อมต้องก้าวไปอย่างช้าๆและมั่นคง แต่ก็ต้องปักธงให้ชัดเจนทั้งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ตลอดจนเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด

          การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตามวิถีทางของความพอเพียง จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการบริหาร...

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๗

          

          

          

          

          

หมายเลขบันทึก: 717287เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2024 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2024 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กวางตุ้งงามดี คิดถึงสมัยไปช่วยโรงเรียนครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท