การศึกษาและการรับปริญญาในพุทธศาสนา


 

หนังสือชุด ธรรมะใกล้มือ เรื่อง การศึกษาและการรับปริญญาในพุทธศาสนา ที่ท่านพุทธทาสแสดงปาฐกถาแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๗    และถอดเทปนำมาเผยแพร่โดยหอจดหมายเหตุพุทธทาสเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔  ให้หลักการด้านการศึกษาที่ทันสมัยในยุคปัจจุบัน    ผมขอนำมาสะท้อนคิดทำความเข้าใจและเผยแพร่ต่อ   

ในตอนหนึ่งท่านอธิบายเรื่องการศึกษา    ที่ภาษาบาลีว่า “สิกขา” มีความหมายว่า “เห็นซึ่งตนเอง”  “เห็นโดยตนเอง”  “เห็นเพื่อตนเอง”    เป็นการตีความความหมายของการศึกษาที่สอดคล้องกับความเชื่อเรื่องการเรียนรู้ในปัจจุบัน ในทฤษฎีที่เรียกว่า constructivism ที่หมายความว่า ผู้เรียนเรียนรู้โดยสร้างความรู้ (สมรรถนะ) ใส่ตัว   ตรงกับความหมาย “เห็นโดยตนเอง”     

“เห็นซึ่งตนเอง” เป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ ที่ต้องครบทั้ง รู้เรื่องราวภายนอกตัว และรู้เรื่องราวภายในตัว   คนที่ไม่รู้จักตนเองไม่ถือว่าเป็นคนมีปัญญา    เราจึงมีคำว่า ปัญญาภายนอก กับ ปัญญาภายใน    ส่วนสำคัญของปัญญาภายในคือ บังคับใจตนเองได้    ทั้งๆ ที่ปัญญาภายในส่วนนี้ เป็นเรื่องจิตใต้สำนึก  เราฝึกบังคับใจได้ ในภาษาวิชาการเรียกว่า EF – Executive Functions    โดยที่ต้องฝึกตั้งแต่ยังเป็นเด็ก   และร่างกายมีกลไกให้เกิดการพัฒนาปัญญานี้    หากแม่มีภาวะเครียดเรื้อรังระหว่างตั้งครรภ์   ลูกในท้องจะเกิดมาพร้อมกับความบกพร่องในกลไกนี้    ทำให้ EF ไม่พัฒนาไปถึงขีดสุด    เป็นเรื่องกรรมของแม่ถ่ายทอดผลมาที่ลูก    เรื่อง “กรรมที่ตนไม่ได้ก่อ” นี้ มีอีกมากมายนะครับ   

การฝึกสติ สมาธิ เป็นกิจกรรมเพื่อพัฒนา หรือสร้างความเข้มแข็งของ EF   หรือฝึกปัญญาภายในส่วนใต้จิตสำนึก 

อีกตอนหนึ่ง ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “คำว่าสิกขา หรือศึกษาในทางธรรมะนั้นหมายถึงการปฏิบัติ” (หน้า ๒)    ผมตีความต่อว่า สอดคล้องกับหลักการ “เรียนรู้จากประสบการณ์” (experiential learning) ในปัจจุบัน    คนเราจะมีปัญญาได้ ต้องเน้นเรียนรู้จากการปฏิบัติ   แล้วอาศัยสิ่งที่สังเกตจากประสบการณ์มาสะท้อนคิด (reflective observation)   สู่ข้อเรียนรู้เข้าใจหลักการหรือทฤษฎี    ที่เรียกว่า abstract conceptualization    

การปฏิบัติอย่างน้อยสองชั้น    คือชั้นฝึกปฏิบัติ (Concrete Experience)  กับชั้น ทดสอบทฤษฎี (Active Experimentation) ใน Kolb’s Experiential Learning Cycle ตรงกับคำว่าสิกขาตามการตีความของท่านพุทธทาส   

เพราะพูดให้นักศึกษาฟัง ท่านจึงเอ่ยเรื่อง การรับปริญญาทางพุทธศาสนา   ว่ามีปริญญา หรือผลของการปฏิบัติ สามอย่าง  คือสิ้นราคะ สิ้นโทสะ  สิ้นโมหะ   

ปริญญาของมหาวิทยาลัยมีหลายระดับ  ตรี โท เอก    ผลของการปฏิบัติทางพุทธศาสนาก็มีหลายระดับเช่นเดียวกัน    คือระดับหลุดพ้นชั่วครั้งชั่วคราว    ระดับหลุดพ้นจากกิเลสอย่างหยาบ    และระดับหลุดพ้นจากกิเลสละเอียด    ไปจนถึงหลุดพ้นจากกิเลสอย่างถาวร ที่เรียกว่า นิพพาน       

สิ่งที่สังคมไทยต้องเอาชนะให้ได้ คือความเชื่อที่ยึดถือต่อๆ กันมาว่า เฉพาะบุคคลพิเศษเท่านั้น ที่บรรลุธรรมได้   กับความเชื่อว่าการศึกษาหรือการเรียนรู้เน้นที่การเรียนทฤษฎี 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๖๖ 

   

 

หมายเลขบันทึก: 717278เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2024 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2024 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วได้ข้อคิดมากเลยค่ะอาจารย์ ทำให้สรุปบทเรียนได้หลายอย่าง ขอบพระคุณอาจารย์ที่เขียนเรื่องดีดีให้ได้อ่านตลอดมานะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท