ชีวิตที่พอพียง  4652. จดหมายถึงแม่


 

 กิจกรรมในคอร์ส Living and Dying with Dignity ที่ผมเล่าไว้ที่ ()    ตอนเย็นวันแรก หลังกินอาหารเย็นเวลา ๑๗ - ๑๘ น.    กลับมาทำกิจกรรมต่อเวลา ๑๘ น.    ผมในฐานะ ๑ ใน ๓ คน (ทั้งหมด ๑๗ คน) ที่ได้จับคู่ครบ ๒ หน้าที่ คือรับแม่กับมอบแม่   ก็ได้รับอนุญาตให้แยกตัวออกมาเขียนจดหมายถึงแม่    ท่านบอกว่า  หากไม่รีบเขียนตอนนี้ จบคอร์ส กลับไปสู่ชีวิตที่ยุ่งๆ ตามปกติ จะไม่ได้เขียน 

ที่จริง เข้าใจว่าเป้าหมายของงานนี้ ที่ครู วิกตอเรีย ตั้งใจคือ    เพื่อปลดปล่อยความยึดติด (attachment)    สู่สภาพที่จิตใจเบาโปร่งโล่งจากความทุกข์ที่แบกไว้ในใจอย่างลับๆ  ที่ตัวเองก็ไม่รู้   

แต่เป้าหมายของผมต่าง   ผมตั้งใจเขียนถึงแม่เพื่อสร้างพลังปฏิบัติของตนเอง   อาศัยพลังที่ผมได้รับจากแม่มาตลอดชีวิตมาเป็นแรงขับดัน

แม่ครับ

อ๊อต ลูกชายคนโตของแม่ ใคร่ครวญคิดถึงชีวิตที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อของตนเองแล้ว ก็คิดถึงแม่    ว่าแม่มีส่วนสนับสนุนให้ลูกสร้างความขยันหมั่นเพียร  ความซื่อสัตย์สุจริต   ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น   ไม่เอาเปรียบคนอื่น   เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม    โดยแม่ทำตัวเป็นตัวอย่าง  และให้ความรักแก่ลูกๆ ผ่านการปฏิบัติ   สิ่งที่แม่ให้นี้เป็นพลังให้ลูกเรียนรู้และพัฒนาตนเองต่อเนื่อง   และส่งต่อความคิดและวิถีปฏิบัตินี้ต่อไปยังลูกๆ และหลาน   

แม่เรียนจบเพียง ป. ๔  ไม่ได้เรียนต่อเพราะความยากจน   ไม่มีเงินเรียน   ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานหารายได้เลี้ยงตัว    แต่เมื่อลูกโตขึ้นมา แม่สอนให้ลูกยึดถือคุณงามความดี   โดยท่องสุภาษิตให้ฟังมากมายตามสถานการณ์นั้นๆ    อุดมการณ์เหล่านี้ซึมซับเข้าตัวลูกอย่างไม่รู้ตัว   

เมื่อลูกโตขึ้น อายุมากขึ้น และผ่านประสบการณ์ในหน้าที่การงาน    เมื่อกลับมาเยี่ยมแม่    ก็พบว่า ความเข้าใจผิดบางอย่างที่Tแม่เคยมีได้หายไปแล้ว    แม่มีการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต และเปลี่ยนแปลงตนเอง เปลี่ยนความเชื่อของตนเอง   ที่เรียกว่า Transformative Learning   แม่ทำสิ่งนี้เป็นโดยไม่รู้จักหลักการของมัน    มันมากับการเรียนรู้จากประสบการณ์           

แม่เรียนรู้จากประสบการณ์เป็น    นำข้อสังเกตจากประสบการณ์มาสะท้อนคิด (reflective observation) ด้วยตนเองเป็น    สะท้อนคิดสู่หลักการ (abstract conceptualization) เป็น     โดยแม่ไม่เคยรู้จัก Kolb’s Experiential Learning Cycle

เพราะเป็นความคาดหวังของพ่อแม่ ที่ต้องการให้ลูกมีฐานะมั่นคงทางรายได้   ยิ่งลูกเป็นหมอ ก็ยิ่งหวังว่าจะทำงานมีรายได้ดี   เมื่อลูกชายคนโตตัดสินใจมุ่งมั่นทำงานเป็นนักวิชาการ    ไม่หารายได้เสริมเงินเดือน    แม่เตือนว่า “ลูกเอ๋ย อุดมคติกินไม่ได้นะลูก”   เตือนซ้ำๆ เช่นนี้อยู่ ๑๐ ปี    นั่นเป็นตอนที่แม่อายุ ๕๐ เศษๆ  ลูกอายุราวๆ ๓๐   แต่เมื่อลูกอายุ ๕๐ เศษๆ แม่อายุราวๆ ๘๐  ลูกถามแม่ว่า หากรู้ว่าลูกจะเติบโตมามีชีวิตที่ดีแบบนี้  เมื่อเกื่อบ ๓๐ ปีก่อนแม่จะบ่นเรื่องลูกไม่ทำงานหาเงินไหม   

แม่ตอบว่า “ไม่บ่นๆ  อย่างนี้ดีแล้ว”   จะเห็นว่า แม่มีการเรียนรู้อยู่ตลอดชีวิต    ลูกได้รับมรดกนี้จากแม่

รักแม่

อ๊อต   

วิจารณ์ พานิช

๒ ธ.ค. ๖๖

ห้องประชุม   บ้านกานนิสา   บางบัวทอง  นนทบุรี          

 

หมายเลขบันทึก: 717257เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2024 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2024 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้ว ได้มองเห็นตัวอย่างการดำรงชีวิตของอาจารย์ผ่านการสอนแบบไม่สอนของคุณแม่ ซาบซึ้งใจมากค่ะ

อ่านแล้วมีความสุข เห็นภาพคุณแม่และแนวคิดเลยครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท