โครงการคลำคลำคลึงคลึงเดือนละครั้งเพื่อหยุดยั้งมะเร็งเต้านม


เป้าหมาย: ดึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงได้มีส่วนร่วมดูแลรักษาสุขภาพในการป้องกันโรคมะเร็งเต้านม โดยการรณรงค์เพื่อสร้างกระแส และให้ความรู้รวมทั้งฝึกทักษะในกลุ่มเป้าหมายให้มีความสามารถตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยตนเอง ตลอดจนเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกซึ่งถือเป็นโรคที่รณรงค์ควบคู่กับโรคมะเร็งเต้านมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

โครงการคลำคลำคลึงคลึงเดือนละครั้งเพื่อหยุดยั้งมะเร็งเต้านม

1.คำสำคัญ: การรณรงค์ การมีส่วนร่วม  จัดกระบวนการให้ความรู้

2.จังหวัด: น่าน

3.กลุ่มเป้าหมาย: กลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-60 ปี ในตำบลสวด และตำบลป่าคาหลวง

4.เป้าหมาย: ดึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงได้มีส่วนร่วมดูแลรักษาสุขภาพในการป้องกันโรคมะเร็งเต้านม โดยการรณรงค์เพื่อสร้างกระแส และให้ความรู้รวมทั้งฝึกทักษะในกลุ่มเป้าหมายให้มีความสามารถตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยตนเอง ตลอดจนเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกซึ่งถือเป็นโรคที่รณรงค์ควบคู่กับโรคมะเร็งเต้านมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

5.สาระสำคัญของโครงการ: ประมาณ ปี พ.ศ.2545 รัฐบาลประกาศนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินงานทางด้านสาธารณสุขในการคัดกรองตรวจหามะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านมให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยให้บรรจุอยู่ในแผนงานประจำปีของหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขที่จะต้องดูแลประชาชนในพื้นที่เขตรับผิดชอบ

            เมื่อโรงพยาบาลบ้านหลวงดำเนินแผนงานตามนโยบายไปได้ในระยะแรกพบว่า ทุกครั้งที่ร.พ.บ้านหลวง กำหนดวันเพื่อให้บริการตรวจแก่ประชาชนในเขตพื้นที่มีประชาชนให้ความสนใจเข้ามารับบริการน้อยมาก สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากความอาย ขณะเดียวกันก็พบสถิติที่น่าสนใจของร.พ.บ้านหลวง จากการตรวจแปบเสมียร์ และการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ช่วงปี พ.ศ.2545-2546 ในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์คู่ จำนวน 1,180 คน ที่อาศัยอยู่ใน 2 ตำบล คือ ตำบลสวด และตำบลป่าคาหลวง พบว่า มีหญิงวัยเจริญพันธุ์คู่มารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเพียง 270 คน คิดเป็นร้อยละ 23 ของประชากรหญิงวัยเจริญพันธุ์ และในจำนวนนี้พบด้วยว่า เป็นโรคมะเร็งเต้านม 5 คน ผ่าตัดมดลูก 1 คน และพบปัญหาอักเสบเป็นจำนวนถึง 62 คน

6.เครื่องมือที่ใช้: จัดกิจกรรม 2 ส่วนหลักๆ คือ (1.1) จัดกระบวนการให้ความรู้โดยการจัดอบรมให้กับแกนนำแม่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุข และหญิงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายได้มีทักษะในการคัดกรองเต้านม (และมะเร็งปากมดลูก) และเพื่อเป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการส่งเสริมป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม (และมะเร็งปากมดลูก) (1.2) การรณรงค์สร้างกระแสโดยการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนแรกของการดำเนินโครงการ ผ่านหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน วิทยุชุมชน การจัดงานของดีบ้านหลวง และการติดป้ายผ้าประชาสัมพันธ์ตามสถานที่สำคัญๆ เช่น ศูนย์สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และตามสถานที่ราชการต่างๆ            แต่ละกิจกรรมสามารถกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วมในการเพิ่มเติมทักษะในการคัดกรองเต้านมได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้รับการฝึกฝนเพื่อเป็นตัวแทนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการให้ความรู้ในการคัดกรองเต้านมในกลุ่มเป้าหมายด้วยกัน อีกทั้งเพื่อสร้างเครือข่ายกลุ่มแกนนำเดิม และเกิดเครือข่ายใหม่เพิ่มขึ้นอีก

7.การจัดระบบ โครงสร้าง กระบวนการทำงาน: เป็นโครงการฯ ที่คิดและนำเสนอต่อสสส.โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กลุ่มงานเวชปฏิบัติและชุมชน ร.พ.บ้านหลวง รวมทั้งให้คำแนะนำแก่กลุ่มแม่บ้านตำบลสวด และตำบลป่าคาหลวงตั้งแต่การเขียนโครงการฯ การจัดทำเอกสาร การสรุปโครงการฯ  และการให้ความรู้ ขณะที่กลุ่มแม่บ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครหมู่บ้านจะลงมือปฏิบัติเพื่อให้โครงการไปสู่เป้าหมาย ตั้งแต่การลงพื้นที่เพื่อเผยแพร่โครงการฯ และเชิญชวนกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม และการบริหารจัดการด้านงบประมาณที่ได้รับจากสสส.       

8.ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ: ดำเนินการกับกลุ่มแม่บ้านซึ่งเป็นหญิงวัยเจริญพันธุ์ ครอบคลุม 13 หมู่บ้าน ใน 2 ตำบล คือ กลุ่มแม่บ้านตำบลสวด และกลุ่มแม่บ้านตำบลป่าคาหลวง ระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนมกราคม มิถุนายน 2548

9.การประเมินผลและผลกระทบ: ไม่มีการประเมินผลตามหลังเสร็จสิ้นโครงการฯ แต่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างกัน คือ มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับชาวบ้านมากขึ้น โดยทุกครั้งที่ร.พ.หรือสถานีอนามัยจัดกิจกรรมรณรงค์ตรวจเต้านม มักได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี โดยมีแกนนำหมู่บ้านคอยเป็นลูกมือช่วยเหลืองาน ไม่ว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะไหว้วานให้ช่วยเหลืออะไรก็มักจะได้รับการเอื้อเฟื้อจากชาวบ้าน และแกนนำชาวบ้านเป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังพบกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของตัวแทนชาวบ้านซึ่งทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้คำแนะนำในการตรวจมะเร็งเต้านม ตัวแทนเหล่านี้มีความกล้าที่จะทำหน้าที่ให้คำแนะนำกับชาวบ้านแทนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้มากขึ้น ส่วนชาวบ้านจากเดิมที่ขาดความไว้วางใจในตัวแทนของตน กลับให้ความไว้วางใจมากขึ้น

10.ความยั่งยืน: ความยั่งยืนของโครงการจะบรรลุผลสำเร็จมากขึ้น จำเป็นต้องขยายพื้นที่ไปสู่ตำบลอื่นๆ เนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมองเห็นข้อเปรียบเทียบระหว่างชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ กับชาวบ้านที่ไม่เข้าร่วมโครงการในวันที่ร.พ.เปิดบริการตรวจหามะเร็งเต้านมจะพบว่า ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการใน 2 ตำบล มีความคล่องตัวในการตรวจมะเร็งเต้านมมากกว่า ประกอบกับการจะให้ชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ ได้รับความรู้และทักษะต่างๆ จำเป็นต้องจัดทำกระบวนการเหมือนกับที่ทำกับ 2 ตำบลแรก

11.จุดแข็งและอุปสรรค: ชาวบ้านมองเห็นความสำคัญของการป้องกันโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งวัดได้จากตัวเลขของชาวบ้านที่เข้าร่วมกิจกรรม ในเวทีให้ความรู้มะเร็งเต้านมซึ่งจัดขึ้นตามหมู่บ้านต่างๆ รวม 13 หมู่บ้าน จำนวนประชากรกลุ่มเป้าหมาย (หญิงเจริญพันธุ์)มีทั้งหมด 1,144 คน มีชาวบ้านมาร่วมรับฟังทั้งสิ้น 985  คน รวมทั้งในวันนัดตรวจของหมู่บ้านต่างๆ มีผู้มารับการตรวจมะเร็งเต้านมทั้งหมด 650 คน โดยมีเจ้าหน้าที่เวชปฏิบัติฯ ของร.พ.บ้านหลวง เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมดำเนินโครงการฯ กันเอง รวมทั้งการเลือกวันและเวลาตรวจที่สอดคล้องกับความสะดวกของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีเวลามาตรวจรับบริการ คือช่วงค่ำหลังเสร็จจากงานในไร่นา

            ขณะเดียวแกนนำชาวบ้านซึ่งทำหน้าที่ในการลงพื้นที่เผยแพร่โครงการฯ และเชิญชวนชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครหมู่บ้าน ยังถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่ต้องใช้ความพยายามและความอดทนเป็นอย่างมากในการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และเชิญชวนชาวบ้านเข้าร่วมโครงการฯ 

            สำหรับอุปสรรคที่พบคือ แกนนำชาวบ้านซึ่งทำหน้าที่เป็นวิทยากรแทนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับความรู้จากการอบรมในด้านทักษะน้อยเกินไปทำให้ชาวบ้านขาดความศรัทธาในตัววิทยากร เนื่องจากหลักสูตรในการอบรมใช้ระยะเวลาเพียง 3 วัน ขณะที่อุปกรณ์ช่วยสอนมีเพียงวีดีโอ ซึ่งกรณีดังกล่าวจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อสื่อการสอน ขณะที่งบสสส.ไม่อนุมัติสำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์ นอกจากนี้ประชาชนยังขาดความตระหนักในการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นจากกลุ่มแกนนำอยู่ตลอดเวลา 

12.ที่ติดต่อ: กลุ่มแม่บ้านตำบลป่าคาหลวง/กลุ่มแม่บ้านตำบลสวด อ.บ้านหลวง จ.น่าน

 

หมายเลขบันทึก: 71606เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากทราบว่าการถอดเสื้อชั้นในนอนเวลากลางคืนนั้นจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมหรือไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท