KM กับกลยุทธ์การพัฒนาคุณภาพของราชภัฏสวนดุสิตตามแนวทาง TQA


รูปแบบของ Workshop ในวันรุ่งขึ้น น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้ Plan ไว้เดิม คือท่านจะให้ผู้บริหารทุกท่านที่เข้าร่วม Workshop เล่นบทบาท "คุณกิจ" และจะนำกระบวนการ KM มาใช้เพื่อให้เกิดการ "Sharing" เพื่อให้ได้มาซึ่ง "หัวปลา" ที่จะนำพามหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นเลิศต่อไป
        ผมได้ไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การทบทวนกลยุทธ์และการจัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การจัดการคุณค่า" ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 พ.ย. 2548  การประชุมวันแรกเป็นการทำความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐตามแนวทางของ ก.พ.ร.  และวันที่สองเป็น Workshop เพื่อให้ผู้บริหารได้ทบทวนเป้าหมาย กลยุทธ์  และตัวชี้วัดของปีงบประมาณ พ.ศ. 2549  เพื่อให้เข้ากับหลักการของ ก.พ.ร.

       ในตอนแรกที่ได้รับการติดต่อให้บรรยายเรื่อง KM ในการประชุมช่วงบ่ายวันแรก (14 พ.ย.) นั้น ผมได้ปฏิเสธไป เพราะนโยบายของ สคส. นั้น ไม่เน้นการบรรยาย แต่เน้น Learning by Doing  คือทำจริงเลย เป็นการทำไปเรียนไป ไม่ต้องมาบรรยายให้เสียเวลา  หลังจากปฏิเสธไปได้ไม่กี่วันก็ได้รับโทรศัพท์จากท่านอาจารย์สุวมาลย์ อธิบายรายละเอียดและความสำคัญของการประชุมในวันแรกนี้ว่าเป็นเวทีที่สำคัญมากสำหรับสวนดุสิต  เพราะผู้บริหารจะต้องนำสิ่งที่ได้รับฟังไปใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อทบทวนกลยุทธ์ จัดกระบวนการ และวางแผนการบริหาร ให้เป็นไปตามแนวทาง TQA ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องทำนองเดียวกันกับ TQM และ Malcolm Baldrige ที่ผมเคยพูดไว้ที่สวนดุสิตเมื่อเกือบ 10 ปีมาแล้ว เมื่อครั้งที่ไปช่วยสวนดุสิตทำ ISO 9000

       หลังจากที่ผมได้ทราบรายละเอียดของงานวันแรกว่า ทางสวนดุสิตได้เรียนเชิญท่านศาสตรจารย์เกียรติคุณ  นายแพทย์อาวุธ  ศรีศุกรี  และคุณพรทิทย์   กาญจนนิยต  มาบรรยายในช่วงเช้า เรื่อง "หลักเกณฑ์การบริหารจัดการภาครัฐ ตามแนวทางของ Malcolm Baldrige Nation Quality Award" และท่านอธิการบดี ผศ. ศิโรจน์  ผลพันธิน  จะมาเปิดงานและบรรยายพิเศษเรื่อง "การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ"  ก็ยิ่งทำให้การตัดสินใจของผมง่ายขึ้น เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่นิยมชมชื่นในวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำของท่านอธิการศิโรจน์อยู่แล้ว ..ถือเป็นโอกาสดีที่ผมจะได้ฟังการบรรยายของท่าน นอกจากนั้นผมก็อยากจะฟังท่านอาจารย์หมออาวุธ เพราะเคยได้ยินชื่อเสียงท่านมานานแล้ว อีกทั้งคุณพรทิพย์ ก็เป็นกัลยาณมิตรที่ผมนิยมชมชื่นอีกคนหนึ่ง ท่านมักจะมีอะไรดีๆส่งมาทาง e-mail ให้ผมได้เรียนรู้อยู่เสมอ อีกทั้งยังมีผู้กล่าวขานอีกด้วยว่าท่านเป็นผู้บรรยายเรื่องคุณภาพได้ดีที่สุดผู้หนึ่งในเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านสนใจและทุ่มเทมาโดยตลอด งานนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผมจะได้รับฟังท่านทั้งสามก่อนที่จะถึง Session การบรรยายของผม

        ท่านอธิการศิโรจน์ ได้เริ่มด้วยเรื่องวิสัยทัศน์ว่า ".... การมองอนาคตนั้น ไม่ใช่ยืนอยู่ตรงปัจจุบันแล้วมองไปที่อนาคต... จะต้องยืนไปไกลกว่าอนาคต (Beyond Future) แล้วมองย้อนกลับมาจึงจะถูก..... " ในเรื่องกระบวนการ ท่านได้พูดย้ำกับผู้บริหารว่า "สวนดุสิตต้องคิดกระบวนการที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น  มหาวิทยาลัยบางแห่งอาจได้เปรียบสวนดุสิต  ตรงที่ตัว Input หรือ นักศึกษาที่ได้มานั้นมีความพร้อมมากกว่านักศึกษาของสวนดุสิต สำหรับมหาวิทยาลัยเหล่านั้น กระบวนการธรรมดาๆ ก็อาจจะ O.K.  แต่สวนดุสิตต้องคิดเรื่องการจัดกระบวนการมากยิ่งกว่า  ต้องคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรบัณฑิตของเราจึงจะแตกต่าง ต้องคิดแม้กระทั่งเรื่องบุคคลิกภาพ กระบวนการที่เราทำต้องแตกต่าง  จะต้องไม่ผูกติดกับกระบวนการเดิมๆ ต้องถามตัวเองเสมอว่าที่ทำอยู่นี้ จำเป็นหรือไม่ ทำไมเอกสารบางฉบับต้องลงนามตั้งหลายที่ มีความจะเป็นหรือไม่  เปลี่ยนแปลงได้ไหม  จะต้องไม่พึงพอใจในสิ่งเดิมๆ เช่น การทำ Video  Conference   ถึงคนอื่นจะมองว่าสวนดุสิตทำได้ดี  แต่เราก็น่าจะคิดอะไรๆ ที่ดียิ่งขึ้น เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้มากขึ้น  เช่น ทำเป็นระบบ Video on Demand ...."   นอกจากนั้นท่านยังได้กล่าวถึงเรื่องพลังความคิดสร้างสรรค์ พลังจินตนาการ ซึ่งมาจากการพัฒนาสมองฝั่งขวา และกล่าวว่าระบบการศึกษาส่วนใหญ่มักไม่ได้เน้น นักศึกษาใช้สมองเพียงฝั่งเดียว ทำอย่างไรนักศึกษา และอาจารย์ จึงจะสามารถใช้สมองได้ทั้งสองฝั่ง  นอกจากนั้นท่านยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ การทำ Brand การสร้างระบบคุณธรรม จริยธรรม .... นับได้ว่าเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเต็มที่อัดแน่นด้วยคุณค่าจริงๆครับ

        ใน Session ถัดมา ท่านอาจารย์หมออาวุธได้อธิบายเกณฑ์ของ Malcolm  Baldrige โดยเริ่มต้นด้วยการอธิบายหลักการทำ Benchmarking ท่านได้พูดถึง Core Values and Concepts ที่จะนำไปสู่ Performance Excellence ได้พูดถึงเกณฑ์การให้คะแนนในหมวดต่างๆทั้ง 7 หมวด รวมไปถึงแนวทางการทำ Self  Analysis หลังจากนั้นคุณพรทิพย์  ก็ได้นำเสนอมุมมองเชิงระบบ เพื่อให้เห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงค่านิยมหลัก กับ เกณฑ์ทั้ง 7 หมวด โดยได้ชี้ให้เห็นส่วนประกอบพื้นฐาที่สำคัญ อาทิเช่น โครงร่างองค์กร ระบบปฏิบัติการ และระบบสนับสนุน  โดยได้ยกตัวอย่างเพื่อสร้างความเข้าใจในเกณฑ์ทั้ง 7 หมวด  คุณพรทิพย์ ได้เกริ่นนำถึงการจัดการความรู้ว่าเชื่อมโยงกับเกณฑ์ในหมวดอื่นๆ อย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ฟังพัฒนากระบวนทัศน์ใหม่ในเรื่อง "ความเชื่อมโยง" ได้อย่างดียิ่ง โดยที่คุณพรทิทย์  ได้พยายามเน้นให้เห็นถึงเรื่อง Alignment และยกตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน

        ในช่วงบ่ายหลังจากที่ได้อภิปราย - ซักถามเรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆ จนเป็นที่พอใจแล้ว ผมก็ได้เริ่มบรรยายเรื่องการจัดการความรู้  โดยเริ่มท้าวความจากประเด็นเรื่อง "ความเป็นเลิศ" ว่าเท่าที่ฟังกันมา ทุกคนคงจะเห็นชัดแล้วว่าเรากำลังพูดกันถึงเรื่อง Performance Excellence และ Organizational  Excellence ซึ่งในการบรรยายวันนี้  ผมได้ลำดับเรื่องที่พูดไว้เป็น 3 หัวข้อ หรือ 3 M's ดังนี้: M ตัวแรก คือ Measurement  จะได้ไม่พูดคำว่า Excellence แบบลอยๆ  แต่จะมีการวัด เพื่อให้รู้ชัดว่าที่เรียกว่า Excellence นั้นเป็นอย่างไร  ซึ่งเมื่อพูดถึงการวัด ก็จะต้องโยงไป M ตัวที่ 2 คือ Model ที่ใช้ ซึ่งก็คือ Model TQA ของ ก.พ.ร. นั่นเอง สำหรับ M ตัวที่สาม ที่ผมจะขอลงรายละเอียดมากหน่อยก็คือ คำว่า Management โดยที่ผมได้อธิบายให้เห็นว่า KM จะทำให้สิ่งที่มุ่งหวังไว้ ซึ่งในที่นี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นเลิศ นี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผมได้ชี้ให้เห็นถึงขั้นตอนการจัดการความรู้ทั้งส่วนที่เป็น Explicit และ Tacit ตลอดจนยกตัวอย่าง Technology แบบง่ายๆ เช่น การใช้ Blog ว่ามีส่วนช่วยเกื้อหนุน และหมุนความรู้ที่อยู่ในตัวคนได้อย่างไรบ้าง พร้อมทั้งเชิญชวนให้ผู้บริหารทุกท่านเปิด Blog และลองสร้างชุมชน หรือ CoPs ในเรื่องต่างๆขึ้นมา

        หลังจากที่ผมบรรยายจบ ก็ได้มีการซักถามและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เป็นประเด็นที่ทำให้เห็นว่าคนสวนดุสิตเป็นนักปฏิบัติ และ KM ก็เป็นเรื่องที่เน้นการปฏิบัติ ...ผมคิดเองว่าน่าจะถูกจริตกับคนสวนดุสิต (แต่ผมอาจจะคิดผิดก็ได้) สิ่งที่ทำให้ผมดีใจเป็นอย่างยิ่ง ก็คือตอนสุดท้ายตอนที่ท่านอาจารย์สุวมาลย์ (ซึ่งผมเข้าใจว่าท่านเป็นเจ้าภาพจัดงานในสองวันนี้) กล่าวปิดท้ายว่า การเรียนรู้ที่ได้ในวันนี้ ทำให้ท่าน "ปิ๊งไอเดีย" ว่ารูปแบบของ Workshop ในวันรุ่งขึ้น น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้ Plan ไว้เดิม  คือท่านจะให้ผู้บริหารทุกท่านที่เข้าร่วม Workshop เล่นบทบาท "คุณกิจ" และจะนำกระบวนการ KM มาใช้เพื่อให้เกิดการ "Sharing" เพื่อให้ได้มาซึ่ง "หัวปลา" ที่จะนำพามหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นเลิศต่อไป.... ฟังแล้วน่าชื่นใจมากครับ .....ทำแล้วได้ผลเป็นอย่างไร อย่าลืม Share ผ่าน Blog ให้ผมฟังบ้างก็แล้วกัน.... ข้อสำคัญต้องอย่าย่อท้อนะครับ เพราะการทำ KM นั้น "ไม่มีสูตรสำเร็จ"  ผมแนะนำได้ ก็แค่แนวทาง และการใช้เครื่องมือบางตัว .... ต้องทำไปเรื่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ครับ จึงจะแตกฉาน  และได้ "KM แบบธรรมชาติ"  ตามที่ทางสวนดุสิตต้องการ.... ผมขอเอาใจช่วยครับ

คำสำคัญ (Tags): #knowledge#management#performance#km
หมายเลขบันทึก: 7154เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2005 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
   ขอบพระคุณครับ  บันทึกนี้มีคุณค่า  หลายท่านไม่ได้ไปร่วมฟังแต่แวะมาอ่านแล้ว สามารถใช้สิ่งที่อาจารย์กลั่นมาให้ไปต่อยอดของเดิมที่มีอยู่ให้เกิดการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงได้ การแลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้ที่เกิดจากเจตนาดี-ความจริงใจต่อผู้อื่นและสังคมโดยรวม มองเห็นไม่ยากครับ และย่อมเป็นที่มาของความอิ่มใจทั้งผู้รับและผู้ให้เสมอ

ถือเป็นการรายงานผลงานของ "คุณกิจ" ซึ่งมีทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่อาจารย์ช่วยกรุณามาบรรยายนะคะ

บรรยากาศวันรุ่งขึ้นอบอวลไปด้วยพลังแห่งความสามัคคีและมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อองค์กรอย่างแท้จริง และมีลักษณะการทำงานแบบ We are Suan Dusit ไม่ใช่แบบ We are part of Suan Dusit ผลจากการประชุมทำให้เราได้หัวปลาที่ชัดเจน โดยมีกลยุทธ์มุ่งเน้นที่สำคัญที่ถือเป็น "ตาปลา" (ที่หัวปลานะคะ) ทั้งสองข้างซึ่งก็คือกลยุทธ์การจัดการความรู้ซึ่งเราจะต้องหา Knowledge Map ต่อไป

ตอนท้ายของการประชุมท่านอธิการบดียังได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการจัดการความรู้โดยกล่าวว่าบทสรุปสำคัญของมหาวิทยาลัยได้แก่การที่ต้องมี KM เพราะ KM คือการบริหารจัดการคนเพื่อให้ได้รับความรู้ที่ต้องการใช้ในเวลาที่ต้องการ Right knowledge  Right people  Right time เป็นการจัดการคนไม่ใช่การจัดการ IT คนจึงต้องสร้างความรู้และใช้ให้เกิดประโยชน์แก่องค์กร และต้องมีการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ซึ่งจะช่วยทำให้คนยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะรับความรู้ ซึ่งผลแห่งการเกิดการเรียนรู้ของบุคลากรจะส่งไปถึงคุณภาพบัณฑิต เราจึงต้องสร้างความเข้มแข็งขององค์กรให้เกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุด 

สิ่งที่อธิบายระหว่างทาบทามอาจารย์นั้นเป็นเรื่องของความตั้งใจของมหาวิทยาลัย ผลของการประชุมตามที่ได้เรียนให้ทราบนี้คงเป็นการพิสูจน์บทแรกว่าเราได้เริ่มทำตามความตั้งใจและเห็นคุณค่าของเจตนาดี ความตั้งใจ และการแบ่งปันความรู้ที่ได้รับจากทั้งท่านอาจารย์หมออาวุธ ท่านอาจารย์พรทิพย์ และของท่านอาจารย์เอง กรุณาติดตามสวนดุสิตเพื่อให้เราได้มีโอกาสพิสูจน์บทต่อไปด้วยค่ะ

สุวมาลย์

งานคุณภาพเป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยใจรัก และมีพรรคพวก 'คอเดียวกัน' ที่จะทำให้งานยากเป็นงานสนุกที่อยากทำตลอด และกอดคอกันกลุ้มใจบ้าง ร่วมกันภูมิใจกันบ้างค่ะ

ขอเรียนว่าดิฉันเอง กลับบ้านไปด้วยความอิ่มใจที่ได้เรียนรู้เรื่อง KM มากขึ้น ชอบเรื่องนี้มาก ๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพิ่งเคยได้ยินอาจารย์บรรยาย มีเทคนิคที่น่าติดตาม คงต้องตาม 'capture' ค่ะ

อยากเขียนเรื่อง 'หลุด' ด้วยว่า อ่านหมดเล่มแล้ว แต่ไม่มีทางจบเล่ม มีเรื่องให้คิดต่อมาก โดยเฉพาะพวกเราชาวรักคุณภาพ คงต้องสำรวจว่า เรามักจะสร้างเงื่อนไขมากจนขยับไม่ออกกันหรือเปล่า ถ้าใช่ คงต้องกลับไปดูค่านิยมบัลดริจ เรื่อง Agility ทันทีเลยค่ะ

พรทิพย์

ดิฉันมีเรื่องอยากจะรบกวนเรียนถามอาจารย์ค่ะเกี่ยวกับเรื่องของการจัดการความรู้ในองค์กร ซึ่งดิฉันเคยเรียนถามอาจารย์ไปครั้งหนึ่งแล้วในคราวที่มีการสัมมนา BizIt ที่ ม.เกษตรศาสตร์ โดยดิฉันได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับองค์กรเกิดใหม่กับการทำ KM ซึ่งท่านอาจารย์ได้ตอบว่าการทำ KM ในองค์กรเกิดใหม่จะง่ายกว่าองค์กรเก่าๆ 

ความจริงแล้วองค์กรเกิดใหม่นี้แม้จะเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นใหม่ก็จริง แต่ก็เป็นการรับโอนข้าราชการมาจากหลายๆที่ มีบางส่วนที่บรรจุใหม่ และเนื่องจากต่างคนต่างมาจากคนละที่ ทำให้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในองค์กรมีน้อย มีการแบ่งฝักฝ่ายเป็นกลุ่มๆ และแต่ละกลุ่มก็ไม่ค่อยสนใจที่จะผูกสัมพันธ์กันสักเท่าไหร่ ทำให้มองเห็นภาพความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างชัดเจน ความร่วมมือในองค์กรก็มีน้อยมาก คนไม่ค่อยให้ความร่วมมือและไม่ค่อยใส่ใจกัน ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความลำบากเพราะขาดการประสานงาน

นอกจากนี้ผู้บริหารก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำ KM เท่าที่ควร จึงไม่มีการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยมากจะให้ความสำคัญกับกลุ่มภารกิจหลัก (ตุลาการ) มากกว่ากลุ่มอื่นๆ และเน้นการพัฒนาโดยการดูงานต่างประเทศกับการอบรมในห้องเรียน

ดิฉันในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจึงไม่รู้ว่าควรจะเริ่มอย่างไรที่จะทำให้การจัดการความรู้เกิดขึ้นได้ในองค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบนี้ อยากจะขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์ค่ะว่าจะมีวิธีการอย่างไรบ้างที่จะผลักดันให้เกิดการจัดการความรู้ขึ้นในองค์กรนี้ได้

ขอบพระคุณค่ะ

...ต้องเริ่มที่ Shared Vision ครับ ...ต้องสร้างวิสัยทัศน์ร่วมให้กับคนในองค์กร ...เห็นไหมครับว่า Leadership และ Alignment สำคัญเพียงใด และนี่คือเหตุผลที่เรื่องเหล่านี้เข้าไปอยู่ในองค์ปะกบแรกของ TQA

...กระบวนการหลัก เช่น งานตุลาการ ...สำคัญแน่นอนครับ ...แต่ที่จะลืมไม่ได้ ก็คืองานส่วน Back Office หรืองานสนับสนุน ครับ ...ถ้างาน Support ไม่ดี ก็จะมีผลทำให้งานหลักสะดุดได้

...สำหรับปัญหาเรื่องการพัฒนาบุคลากรแบบเดิมๆ เช่น การอบรม ดูงาน (..ผลาญงบประมาณ!!) คงต้องช่วยกัน "แทรกซึม" กระบวนการแบบ KM เข้าไปครับ ...เพราะนอกจาก KM จะเป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้ปฏิบัติงานแล้ว ยังช่วยสร้างความภูมิใจ สร้างความสัมพันธ์ และบรรยากาศแห่งการแบ่งปันให้เกิดขึ้นได้

...คำถามที่ว่า "จะเริ่มอย่างไรดี?" ...ขอให้เริ่มจากสิ่งที่ทำได้ก่อนครับ ...สิ่งที่ทำนั้น จะเล็กหรือใหญ่ ไม่เป็นไร ...ขอเพียงแต่ให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ ยิ่งใหญ่ก็พอ ...แต่ที่สำคัญต้องทำทันที อย่ารีรอนะครับ ...เพราะถ้ารีรอ จะไม่ได้ทำ ...ไฟจะหมอดไปก่อน ...และไม่ต้องรอ "สมบูรณ์แบบ (Perfect)" เรื่อง KM ทำทันทีดีที่สุดครับ เพราะเป็นการเรียนรู้จาการกระทำ Learning by Doing ...

...ขอให้คุณ Wasu โชคดีครับ

ขอบคุณอาจารย์สำหรับคำแนะนำนะคะ ดิฉันก็จะลองพยายามดู โดยจะเริ่มต้นจากในหน่วยงานของตัวเองก่อน

วันพฤหัสนี้จะจัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องของ KM โดยเชิญชวนทุกคนในหน่วยงานให้เข้าร่วมกิจกรรม ก็ยังลุ้นอยู่เหมือนกันค่ะว่าจะสำเร็จหรือเปล่า ถ้ามีความคืบหน้าอย่างไรดิฉันจะเขียนมาบอกอาจารย์อีกทีนะคะ

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

เรียน อาจารย์ประพนธ์

เพิ่งได้มีโอกาสอ่านบทความของอาจารย์โดยบังเอิญ  เนื่องจากเข้ามาหาข้อมูลเกี่ยวกับวิทยากรที่จะเชิญไปร่วมพูดคุย แสดงความคิดเห็น และประสบการณ์ต่าง ๆ ในการประชุมประจำปีของบริษัท เนื่องจากทางบริษัทกำลังศึกษาและดำเนินการเรื่องของ TQA อยู่เหมือนกัน พอเห็นบทความของอาจารย์จึงเข้ามาอ่านดู  รู้สึกมีความสนใจในเรื่องของ KM ซึ่งน่าจะนำมาพูดคุยกันในที่ประชุมของบริษัทได้  เพราะน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการจัดทำ TQA ของบริษัทด้วยนะคะ  ซึ่งในส่วนตัวเคยได้ยินเรื่องนี้มาหลายครั้ง ถ้าสามารถสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้  พนักงานทุกคนจะได้พัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองได้ดียิ่งขึ้น แต่โดยส่วนตัวเองยังมีความรู้ในเรื่องนี้ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไรนัก แต่จากที่อ่านบทความของอาจารย์รู้สึกมองเห็นภาพในเรื่องนี้มากขึ้น  ถ้าเป็นไปได้ไม่ทราบว่าจะเชิญอาจารย์มาร่วมพูดคุยกับพนักงานและผู้บริหารของบริษัทในการประชุมของบริษัท  ซึ่งจัดทุก ๆ ไตรมาส  ได้ไหมคะ  ใช้เวลาประมาณ  2-3 ชม. คงจะรบกวนอาจารย์เท่านี้  และต้องขอบคุณค่ะที่ได้มีโอกาสรู้จักกับอาจารย์

Humanities

เรียน คุณ Humanities ...คงต้องคุยรายละเอียดกันทางเมล์นะครับ [email protected] ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท