การไปร่วมประชุม 11th HTASiaLink Conference 2023 ที่นครปุตราจายา มาเลเซีย ระหว่างวันที่ ๔ – ๗ กันยายน ๒๕๖๖ และได้คุยกันในกลุ่มคนไทย นำสู่ข้อเขียนนี้ เพื่อเสนอให้ใช้ท่าทีเชิงบวก ต่อกระบวนการเปลี่ยนขาด (transform) ระบบการศึกษา
ทำโดยกำหนดว่าต้องการเปลี่ยนตรงจุดใดเป็นหลัก (เช่น เปลี่ยนที่ครู เปลี่ยนที่โรงเรียน เปลี่ยนที่เขตพื้นที่การศึกษา เปลี่ยนที่ทีม ศน. ฯลฯ) ในท่ามกลางการเปลี่ยนเชิงระบบ ที่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อน เน้นว่าหลักฐานของผลการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ผลการเรียนรู้ของนักเรียน ที่เป็นผลการเรียนรู้องค์รวม (holistic learning) หรือเรียนรู้อย่างบูรณาการ (integrated learning) กล่าวง่ายๆ คือนักเรียนพัฒนาขึ้นทุกด้านของ VASK
ผมเสนอให้เริ่มที่โรงเรียน ทำวิจัยการเปลี่ยนระบบการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (school-based education systems transformation) ประกาศรับสมัครโรงเรียนที่ได้ดำเนินการพัฒนาโรงเรียนและบรรลุผลทุกด้านของ VASK ให้โรงเรียนเสนอตัวเข้าร่วมให้ข้อมูล โดยให้เขียนมาคร่าวๆ ว่า บรรลุผลอะไร มีหลักฐานสนับสนุนอย่างไรบ้าง ดำเนินการอย่างไรบ้างจึงเกิดผลเช่นนั้น ผลพลอยได้อื่นๆ มีอะไรบ้าง คิดว่าผลพลอยได้เหล่านั้นเกิดเพราะอะไร ข้อเสนอไม่เกิน ๒ หน้ากระดาษ A4 โดยจะมีการคัดเลือกเข้าร่วมไม่เกิน x (เช่น ๑๐) โรงเรียน ดำเนินการต่อเนื่อง ๓ ปี เพื่อยกระดับ VASK ของนักเรียน และระดับการเรียนรู้ของครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ขึ้นไปอีก ด้วยความสัมพันธ์เชิงบวก เชิงความร่วมมือกัน มีการประเมินแบบ DE เพื่อหมุนวงจรการเรียนรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโรงเรียนเป็นระยะๆ และมีวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบ online PLC และมี PLC แบบพบหน้ากันปีละครั้ง โดยอาจผสมกับ DE ด้วย
ผลการวิจัยจะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนขาดการพัฒนา (transform) ระบบการศึกษาไทย ด้วยหลากหลายกลไก เช่น การนำเสนอในมหกรรมคุณภาพการศึกษาไทย การนำเรื่องราวของโรงเรียนที่ผลการพัฒนา (effect size) เพิ่มขึ้นมากออกสื่อสารสาธารณะด้วยช่องทางต่างๆ เพื่อชี้ให้สังคมไทยเห็นว่า การยกระดับคุณภาพการศึกษาไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นเกินความสามารถของครูไทย โรงเรียนไทย
วิจารณ์ พานิช
๖ ก.ย. ๖๖
ห้อง ๒๓๐๑ โรงแรม Putrajaya Living มาเลเซีย
ไม่มีความเห็น