เรื่องภิกษุผู้ไม่ยินดี


กามทั้งหลายมีสุขน้อย มีทุกข์มาก

เรื่องภิกษุผู้ไม่ยินดี

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

๑๔. พุทธวรรค

หมวดว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้า

พลตรี มารวย ส่งทานินทร์

๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖

๕. อนภิรติภิกขุวัตถุ

เรื่องภิกษุผู้ไม่ยินดี

             (พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ดังนี้)

             [๑๘๖] ความอิ่มในกามทั้งหลาย มีไม่ได้ด้วยกหาปณะที่หลั่งมาดังห่าฝน กามทั้งหลายมีสุขน้อย มีทุกข์มาก

             [๑๘๗] บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ยินดีในกามทั้งหลายแม้ที่เป็นทิพย์ สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ยินดีในความสิ้นตัณหา

--------------------

คำอธิบายนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา

ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔

               ๕. เรื่องภิกษุผู้ไม่ยินดี                
               

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้ไม่ยินดี (ในพรหมจรรย์) รูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้.


               ภิกษุหนุ่มกระสันอยากสึก               

               ได้ยินว่า ภิกษุนั้นบรรพชาแล้วในศาสนา ได้อุปสมบทแล้ว อันพระอุปัชฌาย์ส่งไป ด้วยคำว่า "เธอจงไปที่ชื่อโน้นแล้ว เรียนอุทเทส" ได้ไปในที่นั้นแล้ว.
               ครั้งนั้น โรคเกิดขึ้นแก่บิดาของท่าน เขาเป็นผู้ใคร่จะได้เห็นบุตร (แต่) ไม่ได้ใครๆ ที่สามารถจะเรียกบุตรนั้นมาได้ จึงบ่นเพ้ออยู่ เพราะความโศกถึงบุตรนั่นแล เป็นผู้มีความตายอันใกล้เข้ามาแล้ว จึงสั่งน้องชายว่า "เจ้าพึงทำทรัพย์นี้ให้เป็นค่าบาตรและจีวรแก่บุตรของเรา" แล้วให้ทรัพย์ ๑๐๐ กหาปณะไว้ในมือของน้องชาย ได้ทำกาละแล้ว.
               ในกาลที่ภิกษุหนุ่มมาแล้ว น้องชายนั้นจึงหมอบลงแทบเท้าร้องไห้ กลิ้งเกลือกไปมา พลางกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ บิดาของท่านทั้งหลายบ่นถึงอยู่เทียว ทำกาละแล้ว ก็บิดานั้นได้มอบกหาปณะไว้ ๑๐๐ ในมือของผม, ผมจักทำอะไร? ด้วยทรัพย์นั้น."
               ภิกษุหนุ่มจึงห้ามว่า "เราไม่มีความต้องการด้วยกหาปณะ" ในกาลต่อมาจึงคิดว่า "ประโยชน์อะไรของเรา ด้วยการเที่ยวไปบิณฑบาตในตระกูลอื่นเลี้ยงชีพ เราอาจเพื่อจะอาศัยกหาปณะ ๑๐๐ นั้นเลี้ยงชีพได้ เราจักสึกละ." เธอถูกความไม่ยินดีบีบคั้นแล้ว จึงสละการสาธยายและพระกัมมัฏฐาน ได้เป็นเหมือนผู้มีโรคผอมเหลือง.
               ครั้งนั้น ภิกษุหนุ่มและสามเณรถามเธอว่า "นี่อะไรกัน?" เมื่อเธอตอบว่า "ผมเป็นผู้กระสัน" จึงพากันเรียนแก่อาจารย์และอุปัชฌาย์. ทีนั้น อาจารย์และอุปัชฌาย์เหล่านั้นจึงนำเธอไปยังสำนักของพระศาสดา แสดงแด่พระศาสดาแล้ว.
               พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุ ได้ยินว่า เธอกระสันจริงหรือ?" เมื่อเธอกราบทูลรับว่า "อย่างนั้น พระเจ้าข้า" ตรัสว่า "เพราะเหตุไร? เธอจึงได้ทำอย่างนั้น, ก็อะไรๆ ที่เป็นปัจจัยแห่งการเลี้ยงชีพของเธอมีอยู่หรือ?"
               ภิกษุ. มี พระเจ้าข้า.
               พระศาสดา. อะไร? ของเธอมีอยู่.
               ภิกษุ. กหาปณะ ๑๐๐ พระเจ้าข้า.
               พระศาสดา. ถ้ากระนั้น เธอจงนำก้อนกรวดมา แม้เพียงเล็กน้อยก่อน เธอลองนับดูก็จักรู้ได้ว่า ‘เธออาจเลี้ยงชีวิตได้ด้วยกหาปณะจำนวนเท่านั้นหรือ หรือไม่อาจเลี้ยงชีวิตได้.’
               ภิกษุหนุ่มนั้นจึงนำก้อนกรวดมา.


               ความอยากให้เต็มได้ยาก               

               ทีนั้น พระศาสดาจึงตรัสกะเธอว่า "เธอจงตั้งไว้ ๕๐ เพื่อประโยชน์แก่เครื่องบริโภคก่อน, ตั้งไว้ ๒๔ เพื่อประโยชน์แก่โค ๒ ตัว, ตั้งไว้ชื่อมีประมาณเท่านี้ เพื่อประโยชน์แก่พืช เพื่อประโยชน์แก่แอกและไถ, เพื่อประโยชน์แก่จอบ, เพื่อประโยชน์แก่พร้าและขวาน."
               เมื่อเธอนับอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ กหาปณะ ๑๐๐ นั้น ย่อมไม่เพียงพอ.
               ครั้งนั้น พระศาสดาจึงตรัสกะเธอว่า "ภิกษุ กหาปณะของเธอมีน้อยนัก เธออาศัยกหาปณะเหล่านั้น จักให้ความทะยานอยากเต็มขึ้นได้อย่างไร? ได้ยินว่า ในอดีตกาล บัณฑิตทั้งหลายครองจักรพรรดิราชสมบัติ สามารถจะยังฝนคือรัตนะ ๗ ประการ ให้ตกลงมาเพียงสะเอวในที่ประมาณ ๑๒ โยชน์ด้วยอาการสักว่าปรบมือ แม้ครองราชสมบัติในเทวโลก ตลอดกาลที่ท้าวสักกะ ๓๖ พระองค์จุติไป ในเวลาตาย (ก็) ไม่ยังความอยากให้เต็มได้เลย ได้ทำกาละแล้ว"
               อันภิกษุนั้นทูลวิงวอนแล้ว ทรงนำอดีตนิทานมา ยังมันธาตุราชชาดกให้พิสดารแล้ว ในลำดับแห่งพระคาถานี้ว่า :-
               พระจันทร์และพระอาทิตย์ (ย่อมหมุนเวียนไป) ส่องทิศให้สว่างไสวอยู่กำหนดเพียงใด, สัตว์ทั้งหลายผู้อาศัยแผ่นดินทั้งหมดเทียว ย่อมเป็นทาสของพระเจ้ามันธาตุราชกำหนดเพียงนั้น.

               ได้ทรงภาษิต ๒ พระคาถานี้ว่า :-

          น กหาปณวสฺเสน                  ติตฺติ กาเมสุ วิชฺชติ

          อปฺปสฺสาทา ทุกฺขา กามา         อิติ วิญฺญาย ปณฺฑิโต

          อปิ ทิพฺเพสุ กาเมสุ                รตึ โส นาธิคจฺฉติ

          ตณฺหกฺขยรโต โหติ                 สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก.

          ความอิ่มในกามทั้งหลาย ย่อมไม่มีเพราะฝนคือกหาปณะ, กามทั้งหลาย มีรสอร่อยน้อย มีทุกข์มาก บัณฑิตรู้แจ้งดังนี้แล้ว ย่อมไม่ถึงความยินดีในกามทั้งหลายแม้ที่เป็นทิพย์, พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเป็นผู้ยินดีในความสิ้นไปแห่งตัณหา.

 

               ในกาลจบเทศนา ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
               เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บริษัทที่ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.

 

               เรื่องภิกษุผู้ไม่ยินดี จบ.               
               ----------------------------------------------------- 

 

หมายเลขบันทึก: 714622เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2023 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2023 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท