เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งความล้มเหลวทางสถาบัน (Institutional) ครั้งใหญ่ ซึ่งแสดงออกในรูปแบบของการแบ่งแยกระหว่างระบบนิเวศ (Ecological Divide หมายถึง เราขาดการเชื่อมโยงกับระบบนิเวศ) สังคม (Social Divide หมายถึง เราขาดการเชื่อมโยงกับผู้อื่น) และจิตวิญญาน (Spititual Divide หมายถึง เราขาดการเชื่อมโยงกับศักยภาพสูงสุดของตนเอง) และทั้งหมดนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ (Symptoms) ที่ไม่มีใครต้องการ (No One Wants) ต่างๆ อย่างมากมาย แบ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
ทาง Spititual Divide ไม่ว่าจะเป็น ภาวะหมดไฟ หดหู่ ซึมเศร้า ทำร้ายร่างกายตัวเอง ฆ่าตัวตาย ไม่มีความสุข ฯลฯ
ทาง Social Divide ไม่ว่าจะเป็น ความยากจน ความอดอยาก ความไม่มั่นคงทางอาหาร การศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ความขัดแย้ง ความรุนแรง สงคราม กราดยิง การลาออกจากงานครั้งใหญ่ ช่องว่างระหว่างวัย ความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ โครงสร้างพื้นฐาน คอรัปชั่น ผู้ลี้ภัย การจ้างงาน ฯลฯ
ทาง Ecological Divide ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (โลกรวน) น้ำแข็งละลาย น้ำท่วม ไฟป่า มิลพิษทางอากาศ พายุ ดินเสื่อมสภาพ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำไม่สะอาด ขยะ ฯลฯ
ประกอบกับโลกในช่วงปี 2002 เป็นต้นมา ได้มีการนำเอาคำว่า VUCA World มาใช้ในการอธิบายความหมายกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น
V — Volatility: สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมมีความผันผวน เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน และไม่ทันได้ตั้งตัว
U — Uncertainty: สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมมีความไม่แน่นอน คาดการณ์ได้ยาก และยากจะอธิบาย
C — Complexity: สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมมีความซับซ้อน มีปัจจัยหรือตัวแปรมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงถึงกันอย่างเป็นระบบ และยากจะทำความเข้าใจ
A — Ambiguity: สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมมีความคลุมเครือ เต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน และไม่สามารถคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นได้
ส่งผลให้ความท้าทายที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ทวีความรุนแรงกว่าเมื่อก่อนหลายเท่า
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า โลกในอนาคตต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร คำว่า VUCA World จะยังคงนำมาใช้อธิบายความหมายต่อไปได้หรือไม่
ในปี 2020 Jamais Cascio นักมานุษยวิทยา นักเขียน และนักอนาคตศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้นำเสนอและอธิบายความหมายของโลกในอนาคตต่อจากนี้ว่า BANI World ซึ่งเป็นมากกว่าการมองแค่สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมของโลก แต่มองไปถึงผลกระทบต่ออารมณ์หรือพฤติกรรมของผู้คนด้วย
B — Brittle: มีความเปราะบาง มีความอ่อนไหวต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และไม่มีสิ่งใดคงทนถาวร ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่มีรากฐานแข็งแรงกลับต้องปิดกิจการแบบไม่ทันคาดคิด เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และดิสรัปชั่น คนที่ได้รับค่าแรง 300 บาทต่อวัน เมื่อเดือนที่แล้วได้รับประทานอาหาร 3 มื้อต่อวัน แต่เดือนนี้กลับได้รับประทานอาหาร 2 มื้อต่อวัน เนื่องจากค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น คนที่พักอาศัยอยู่ริมทะเล อาจสูญเสียที่อยู่อาศัยหรือกลายเป็นผู้ลี้ภัย เนื่องจากระดับน้ำทะเลพุ่งสูงขึ้นและความรุนแรงจากภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ฯลฯ
A — Anxious: มีความวิตกกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ลังเล เครียดง่าย ชะงักงัน กลัวความล้มเหลว ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่มั่นใจกับอนาคต ซึมเศร้า หมดไฟในการทำงาน และสิ้นหวัง ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบให้เกษตรคาดการณ์ผลผลิตได้ยากขึ้น เนื่องจากฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล ดินเสื่อมสภาพ และน้ำแล้ง ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมด้านความมั่นคงทางอาหาร การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนมุ่งเน้นไปที่ความพึงพอใจส่วนตัวมากกว่าความถูกต้อง การหลอกลวง ข่าวปลอมและข้อมูลที่บิดเบือน ภัยคุกคามทางไซเบอร์ วิทยาศาสตร์เทียม การปรับตัวกับรูปแบบการทำงานที่ไม่หยุดนิ่งและการเข้ามาของ ChatGPT การรับรู้ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะกลัวตามโลกไม่ทันหรือกลัวถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ฯลฯ
N — Nonlinear: มีความไม่เป็นเส้นตรง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศหรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวขาดการเชื่อมต่อกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล และสาเหตุเล็กๆ น้อยๆ อาจนำไปสู่ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ได้ ตัวอย่างเช่น เสียบปลิ๊กไฟค้างไว้อยู่ที่บ้าน อาจส่งผลกระทบให้น้ำแข็งที่กรีนแลนด์ละลายได้ การระบาดของโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกในช่วงไม่กี่เดือน โรงงานแห่งหนึ่งในเอเชียปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ อาจส่งผลกระทบให้หลายประเทศในยุโรปเกิดคลื่นความร้อนและอุณหภูมิสูงขึ้นได้ (บางประเทศในยุโรปเพิ่งมีน้ำแข็งขาย) ความโกลาหนจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ อย่างไม่ทันได้คาดคิด ความไม่สมเหตุสมผลในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองระหว่างประเทศ ฯลฯ
I — Incomprehensible: มีความไม่เป็นเหตุเป็นผล แม้จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย แต่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้นเหล่านั้นกลับไม่ได้ช่วยให้เราเกิดความเข้าใจได้มากขึ้น กลายเป็นว่ายิ่งเราพยายามหาข้อมูลข่าวสารมากขึ้นเท่าไหร่กลับเหมือนรู้น้อยลง และท้ายที่สุดอาจกลายเป็นการสร้างความสับสน และเป็นกรอบจำกัดความคิด ตัวอย่างเช่น เราไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการทำงานของระบบอัลกอริทึมนั้นประมวลผลอย่างไรและทำไมถึงนำไปสู่การเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ และเหยียดเพศได้ กระแสของ Metaverse ที่ดิ่งลงอย่างไร้เหตุผล ฯลฯ
ดังนั้น จากความล้มเหลวทางสถาบันครั้งใหญ่และ BANI World นี้ เราควรปรับตัว เปลี่ยนแปลงตัวเอง และยกระดับขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่มวลมนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนได้อย่างไร?
ย้อนกลับไปในวันที่ 25 กันยายน ปี 2015
องค์การสหประชาชาติได้นำเสนอวาระการพัฒนา 2030 ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นการประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยกำหนดกรอบระยะเวลาในการบรรลุไว้ภายในปี 2030 ให้ทั่วโลกได้รับทราบและได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (รวมประเทศไทย)
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนา (ทุกมิติ) ที่ตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบันและไม่ส่งผลกระทบหรือบั่นทอนต่อคนรุ่นหลังที่กำลังจะตามมา โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
โดยกระบวนการได้มาของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ผ่านการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากคนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนานาชาติไปจนถึงระดับปัจเจกชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
อย่างไรก็ตาม จากรายงานของเครือข่ายนักวิชาการทำงานเพื่อสนับสนุนการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ว่าจะผ่านมาแล้วครึ่งทาง แต่การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอด 8 ปีที่ผ่านมานั้นมีความล่าช้า โลกยังไม่บรรลุเป้าหมายใดเลยและกำลังเสี่ยงที่จะสูญเสียทศวรรษแห่งความก้าวหน้า
ไม่มีความเห็น