เมื่อเป็นเบาหวาน ควรสร้างภูมิต้านทาน รักษาอย่างไร


การรักษาโรคเบาหวาน หรือการที่จะสร้างภูมิต้านทาน กับโรคนี้ได้ มีทั้งใช้ยากิน ยาฉีด (ไม่มียาทา) รวมทั้ง การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร โดยเฉพาะกินหวานให้ ถูกส่วน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น     การรักษาโรคเบาหวาน หรือการที่จะสร้างภูมิต้านทาน กับโรคนี้ได้ ร่างกายเราต้องมี “อินซูลิน”และอินซุลินสามารถ ทำหน้าที่ หรือสามารถนำน้ำตาลไปเลี้ยงเซลส่วนต่าง ๆ ใน ร่างกายได้เป็นปกติดี เมื่อร่างกายขาดอินซุลิน หมอจะแนะนำ ให้ฉีดอินซุลิน เพื่อทำการรักษาหรือสร้างภูมิคุ้มกันหรือ สร้างภูมิต้านทานเพื่อให้ร่างกายเราสามารถดำเนินชีวิตได้ ตามปกติ

 

เมื่อเป็นเบาหวาน ควรสร้างภูมิต้านทาน รักษาอย่างไร

ดร. ถวิล  อรัญเวศ

        ชีวิตของคนเราทุกคน เมื่อเกิดมาแล้ว ทุกคนจะประสบพบเห็นเหมือนกันไม่ว่าจะยากดี มีจน ยาจก วณิพก นั้นคือ “แก่ เจ็บ และตาย” ทั้งนี้เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้เป็น อนิจจัง  ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขัง ย่อมจะประสบพบความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ นานา ทั้งร่างกายและจิตใจ และเป็นอนัตตา  ไม่สามารถบังคับหรือสั่งให้ร่างกายเป็นไปตามที่เราต่องการได้ เช่น สั่งไม่ให้แก่สั่งไม่ให้เจ็บป่วย สั่งให้มีอายุยืนนาน เป็นต้น เราไม่สามารถสั่งการได้

        โรคเบาหวาน เป็นโรคอีกโรคหนึ่งที่คนเราป่วยกันมากหรือเป็นกันมาก ไม่ว่าอดีตและปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าคนเราจะป่วยเป็นโรคนี้มากขึ้น

 

ระดับน้ำตาลในเลือดคนเรา

       ระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าอยู่ระหว่าง 70-100 คุณอยู่ในภาวะปกติ

       ระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับ 100 – 125 คุณมีภาวะความเสี่ยง หรือเรียกว่า เบาหวานแฝง

       ระดับน้ำตาลในเลือด มากกว่า 126 คุณมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

      ระดับน้ำตาลในเลือดเท่าไร เรียกว่า “ปกติ” และ

“ไม่ปกติ”

      การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Blood Sugar) เป็นการตรวจดูระดับน้ำตาลที่มีในเลือด โดยต้องงดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง ก่อนการตรวจเลือด

     ค่าน้ำตาลปกติ ในผู้ใหญ่ คือ ระหว่าง 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือเป็นระดับน้ำตาลในเลือดของคนปกติ

 

เมื่อเป็นเบาหวาน ควรสร้างภูมิต้านทานอย่างไร

    การรักษาโรคเบาหวาน หรือการที่จะสร้างภูมิต้านทาน

กับโรคนี้ได้ มีทั้งใช้ยากิน ยาฉีด (ไม่มียาทา) รวมทั้ง

การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร โดยเฉพาะกินหวานให้

ถูกส่วน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

     การรักษาโรคเบาหวาน หรือการที่จะสร้างภูมิต้านทาน

กับโรคนี้ได้ ร่างกายเราต้องมี “อินซูลิน”และอินซุลินสามารถ

ทำหน้าที่ หรือสามารถนำน้ำตาลไปเลี้ยงเซลส่วนต่าง ๆ ใน

ร่างกายได้เป็นปกติดี เมื่อร่างกายขาดอินซุลิน หมอจะแนะนำ

ให้ฉีดอินซุลิน เพื่อทำการรักษาหรือสร้างภูมิคุ้มกันหรือ

สร้างภูมิต้านทานเพื่อให้ร่างกายเราสามารถดำเนินชีวิตได้

ตามปกติ

อินซูลิน” (Insulin) คืออะไร

     “อินซูลิน” (Insulin) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน ออกฤทธิ์โดยการนำน้ำตาลจากเลือดเข้าไปในเซลล์ของร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงาน ในผู้ป่วยที่ขาดอินซูลินหรืออินซูลินไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ตามปกติ ทำให้เซลล์ไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนเกิดเป็นเบาหวาน

การรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากการใช้ยารับประทานแล้ว อีกหนึ่งวิธีที่แพทย์มักใช้ในการรักษาผู้ป่วย คือ การใช้ยาฉีดอินซูลิน ซึ่งเป็นอินซูลินที่ใช้ทดแทนในกรณีที่มีน้ำตาลในเลือดสูงมากหรือใช้ยาแบบรับประทานแล้วไม่ได้ผล

  

เมื่อไรจึงใช้วิธีฉีดอินซูลินเพื่อรักษาเบาหวาน

       ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่า คนเป็นเบาหวานนั้น นอกจากจะกินยารักษา จำต้องใช้วิธีฉีดอินซูลินรักษาด้วย จึงไปศึกษาค้นคว้าจากท่านผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ แล้วนำมาบอกต่อ

https://youtu.be/hZkxRz5FwKM?si=TyFYROqxYfSuxy7F

 

        การฉีดอินซูลินเพื่อรักษาเบาหวาน แน่นอน ย่อมส่งผลดีต่อร่างกาย กล่าวกันว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ตับอ่อนสร้างอินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนทางตับ ไต และรักษาโดยยาชนิดรับประทานไม่ได้ผลดี จำต้องใช้การฉีดอินซูลินเพื่อการรักษาหรื่อสร้างภูมิต้านทาน สร้างภูมิคุ้มกันกับโรคนี้

      นอกจากนี้ หมอแนะนำว่า คนที่ร่างกายไม่มีอินซูลินหรือมี แต่มีไม่เพียงพอ ก็ต้องฉีดอินซุลิน โดยเฉพาะผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 300 ควรทำการฉีดอย่างเร่งด่วน

 https://youtu.be/d1x2W9ZprMg?si=6U2mQ-rM1DwWMYTQ

เมื่อไรถึงต้องใช้อินซูลิน

            • ผู้ป่วยเบาหวานที่ตับอ่อนสร้างอินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

            • ผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนทางตับ ไต และรักษาโดยยาชนิดรับประทานไม่ได้ผล

            *ผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 300 ควรทำการฉีดอินซูลินอย่างเร่งด่วน

 ชนิดของอินซูลิน

            1. อินซูลินวัว มาจากตับอ่อนของวัว

            2. อินซูลินหมู มาจากตับอ่อนของหมู

            3. อินซูลินหมูและวัว เป็นอินซูลินที่ได้จากส่วนผสมของตับอ่อนหมูและวัว

            4. อินซูลินคน ได้จากกระบวนการชีวเคมีสังเคราะห์ หรือวิธีพันธุวิศวกรรมทางชีวสังเคราะห์ จึงสามารถทำให้เหมือนอินซูลินในร่างกายคนได้ (อินซูลินคน มีความบริสุทธิ์มากที่สุด และเกิดอาการแพ้เนื่องจากภูมิต้านทานทางฤทธิ์ของยาน้อยกว่าอินซูลินชนิดอื่น

       นอกจากนี้แล้ว ยาฉีดอินซูลิน แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้

1. ยาฉีดอินซูลินชนิดน้ำใส

      ได้แก่ ยาฉีดที่ออกฤทธิ์เร็วและสั้น ออกฤทธิ์ภายใน15-30 นาที มีฤทธิ์นาน 5-7 ชั่วโมง ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำใส ใช้สำหรับควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นหลังรับประทานอาหาร โดยก่อนใช้ไม่ต้องคลึงขวดยา

2. ยาฉีดอินซูลินชนิดน้ำขุ่น

    ได้แก่ ยาฉีดชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง ซึ่งเป็นชนิดที่ผสมระหว่างออกฤทธิ์สั้นและปานกลาง  และชนิดออกฤทธิ์นาน โดยออกฤทธิ์ภายใน 2-4 ชั่วโมง มีฤทธิ์นาน 20-36 ชั่วโมง มีลักษณะเป็นน้ำขาวขุ่น อินซูลินชนิดนี้จะออกฤทธิ์เป็นอินซูลินพื้นฐาน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลระหว่างมื้ออาหาร ซึ่งก่อนจะใช้ต้องคลึงขวดยาเพื่อให้น้ำยาผสมกันดีก่อนฉีดยา โดยนำขวดอินซูลินวางบนฝ่ามือแล้วคลึงไปมาเบาๆ ห้ามเขย่าขวด เพราะจะทำให้เกิดฟองอากาศ

 

การเลือกตำแหน่งฉีดอินซูลิน

         การฉีดอินซูลินสามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนังตามบริเวณตำแหน่งต่าง ๆ คือ  หน้าท้อง ต้นแขน หน้าขา และสะโพก โดยตำแหน่งที่ดีที่สุด คือ หน้าท้อง เนื่องจากการดูดซึมของยาคงที่ แต่ควรฉีดห่างจากรอบสะดือ 1-2 นิ้ว และควรหมุนเวียนเปลี่ยนจุดที่ฉีด ไม่ควรฉีดซ้ำตำแหน่งเดิมทุกวัน และตำแหน่งที่ฉีดใหม่ควรมีระยะห่างจากครั้งหลังสุดประมาณ 1 นิ้ว รวมทั้งไม่ควรนวดหรือประคบน้ำร้อนบริเวณที่ฉีดยา เพราะทำให้ยาถูกดูดซึมเร็วขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ง่าย และที่สำคัญ ไม่ควรใช้เข็มฉีดยาร่วมกันเพราะอาจทำให้ติดเชื้อโรคจากผู้อื่นได้

https://youtu.be/IzSr95iA8yY?si=shp8-J0N9qkqTq1R

 https://youtu.be/sDwZGkYHoes?si=Ggj-JZZvXQ24qYWF

 

เก็บรักษาอย่างไร

    1.    อินซูลินที่เก็บไว้ใช้นานๆ ควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ4-8 องศาเซลเซียส โดยวางในตู้เย็น ยกเว้นช่องแข็ง

    2.  อินซูลินที่เป็นปากกาฉีด เมื่อเปิดใช้แล้ว หากเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง (ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส) จะอยู่ได้นาน 1 เดือน

    3. เมื่อเดินทางไกล อาจไม่ต้องแช่ขวดอินซูลินในกระติกน้ำแข็ง แต่ต้องระวังไม่ให้ถูกแสงแดด หรือความร้อนอบอ้าว หรือทิ้งไว้ในรถที่มีอุณหภูมิสูง

 

 การฉีดอินซูลินควรฉีดเวลาไหน

        การฉีดยาอินซูลินมีความสัมพันธ์กับมื้ออาหารและชนิดของยา โดยควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 15 นาที (ถ้าฉีดอินซูลินออกฤทธิ์สั้นมาก) และฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 30 นาที (ถ้าฉีดอินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น) ส่วนอินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลางหรือออกฤทธิ์ยาว อาจฉีดก่อนอาหารหรือก่อนนอน รวมทั้งการฉีดยาควรฉีดเวลาใกล้เคียงกันในแต่ละวันเพื่อให้ระดับน้ำตาลมีความสม่ำเสมอ

      ปริมาณการฉีดอินซุลินจะเท่าไรนั้น หมอที่รักษาเราจะเป็นคนบอกหรือแนะนำให้ เช่น ก่อนรับประทานอาหารเช้า 20 ยูนิต ก่อนรับประทานอาหารเย็น 10 ยูนิต เป็นต้นโดยหลอดอินซุลิน จะบรรจุอินซุลินไว้ 300 ยูนิต

 การฉีดอินซูลินมีผลข้างเคียงอย่างไร

        ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการแพ้และมีผดผื่นคัน และผิวหนังบริเวณที่ฉีดอินซูลินอาจเกิดรอยบุ๋มหรือรอยนูนขึ้นได้ รวมทั้งอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ซึ่งอาจมีอาการใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก หน้าซีด และหมดสติ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการน้ำตาลต่ำ แต่ยังรู้สึกตัวดี ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหวาน อมลูกอม รับประทานผลไม้ เช่น ส้มหรือกล้วยน้ำว้า แล้วตามด้วยการรับประทานขนมปังหรือข้าวในมื้อถัดไปเลย แต่หากมีอาการมาก ไม่รู้สึกตัว ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

       อินซูลิน คือ : ฮอร์โมนชนิดหนึ่ง หากฉีดอินซูลินมากจนเกินไปจะมีผลข้างเคียง การฉีดอินซูลินอย่างไร ฉีดอินซูลินเกินขนาดอันตรายหรือไม่ โดยหลัก ๆ แล้วพบว่าผู้ที่ได้รับปริมาณอินซูลินหรือฉีดอินซูลินมากเกินไปนั้นจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น

 

1. หัวใจเต้นเร็ว

      หากฉีดอินซูลินมากจนเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วได้ ซึ่งภาวะหัวใจเต้นเร็วทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดเพื่อไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้เนื้อเยื่อหรืออวัยวะในร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้

 

2. วิงเวียนศีรษะ

      อาการวิงเวียนศีรษะก็เป็นอีกหนึ่งผลข้างเคียงจากการฉีดอินซูลินมากเกินไปซึ่งมาจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้สมองตื้อไม่แจ่มใส มีอาการมึนงง และการทรงตัวไม่ดี บางรายมีอาการบ้านหมุน รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีการเคลื่อนไหวนั้นเกิดขึ้นจริงๆ

 

3. อาการสับสน มึนงง

      อาการสับสนมึนงง อาจเกิดขึ้นได้จากการได้รับอินซูลินมากจนเกินไปหรือการฉีดอินซูลินมากเกินไป ทำให้มีอาการสับสนกระวนกระวาย รู้สึกมึนงงทางความคิด ความจำสั้น สมาธิสั้นแล้วอาจทำให้เกิดพฤติกรรมอื่นๆ ตามมาได้ เช่น นอนไม่หลับ เฉื่อยชา เป็นต้น

 

4. เหงื่อออก

        แม้จะไม่ได้ออกกำลังกาย อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนหรือทำงานหนัก แต่เมื่อฉีดอินซูลินมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดภาวะเหงื่อออกมากกว่าปกติได้ ซึ่งเหงื่อที่ออกมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคผิวหนังติดเชื้อ ผิวหนังมีกลิ่นอับ เป็นต้น

 

5. เกิดภาวะซึมเศร้า

        ถ้าเกิดภาวะซึมเศร้า หลายคนจะรู้สึกหดหู่หรือมีพลังงานเชิงลบ ดังนั้น ต้องหาวิธีต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากความคิดในแง่ลบ เพื่อให้มีความสุขมากขึ้น

 

ข้อควรระวังของการใช้อินซูลิน

      ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจเป็นผลมาจากการให้อินซูลินมากเกินไป ออกกำลังกายหรือทำงานมากกว่าปกติ รับประทานอาหารน้อยเกินไป ผิดเวลา หรือช่วงระหว่างมื้อนานเกินไป ดังนั้นก่อนที่จะฉีดอินซูลินควรเตรียมอาหารไว้ให้พร้อมก่อน ควรรับประทานอาหารหลังจากฉีดยาไปแล้วไม่เกิน 30 นาทีอาการที่เกิดมีได้หลายอย่าง เช่น ปวดหัว เหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่น กระสับกระส่าย หงุดหงิด หากมีอาการเหล่านี้ให้อมลูกอม ดื่มน้ำผลไม้ หรือทานของที่มีน้ำตาลผสม (ห้ามใช้น้ำตาลเทียม)

ควรฉีดอินซูลินบริเวณเดิมทุกวัน เพียงแต่ย้ายจุดฉีด โดยฉีดห่างจากจุดเดิมประมาณ 1 นิ้ว เพื่อป้องกันการเกิดก้อนเนื้อแข็งใต้ผิวหนัง บริเวณที่สามารถฉีดอินซูลินได้คือ บริเวณหน้าท้อง ต้นแขน หน้าขา และสะโพก ซึ่งตำแหน่งที่อินซูลินดูดซึมได้ดีที่สุดคือ บริเวณหน้าท้อง รองลงมาคือหน้าขา และต้นแขน ตามลำดับ

        หากมีเลือดออกบริเวณที่ฉีดไม่ควรถูหรือคลึง ให้ใช้นิ้วหรือสำลีชุบแอลกอฮอล์ 70 % กดลงบนจุดที่ฉีดก็พอ เพราะจะทำให้การดูดซึมของยาเร็วขึ้น

 

สารพัดความเชื่อที่เกี่ยวกับโรคเบาหวาน

      สารพัดความเชื่อที่เราเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคเบาหวานกันอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะการกินอาหารรสหวานมากๆ ทำให้เป็นเบาหวาน หรือถ้าเป็นเบาหวานต้องงดของหวานโดยเด็ดขาด    

     ความเชื่อเหล่านี้จะใช่ความจริงหรือไม่ หรือเราแค่เข้าใจผิดกันไปเอง นี่คือคำอธิบายจากคุณหมอผู้เชี่ยวชายด้านดรคเบาหวานที่เรานำมาฝากต่อ ๆ กัน เป็นวิทยาทาน คือ

 

ความเชื่อที่ 1 รับประทานอาหารที่มีรสหวานมากจะทำให้เป็นเบาหวาน จริงหรือไม่?

      ด้วยชื่อของโรคเบาหวาน ทำให้หลายคนมีความเข้าใจผิดว่าโรคเบาหวาน ก็คือโรคของคนที่กินอาหารหวานมาก ดังนั้นคนที่ไม่กินหวานก็จะไม่เป็นโรคเบาหวาน!

      ซึ่งความจริงแล้วสาเหตุหลัก ๆ ของโรคเบาหวาน ก็คือการที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอ อินซูลินมีหน้าที่สำคัญในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าร่างกายของเราผลิตฮอร์โมนตัวนี้ได้เป็นปกติ ไม่ว่าจะรับประทานอาหารหวานสักแค่ไหน ก็ไม่ได้ทำให้เกิดโรคเบาหวาน  เพียงแต่จะส่งผลต่อน้ำหนักตัว เพราะน้ำหนักที่มาก ปริมาณไขมันจะเป็นตัวทำให้เซลล์ต่างๆ เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และเกิดโรคเบาหวานในที่สุด

      สรุปก็คือการรับประทานอาหารรสหวานจัดหรือมีน้ำตาลมากไม่ได้แปลว่าจะเป็นโรคเบาหวานเสมอไป หากมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม

โรคเบาหวานอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือการทำงานที่ผิดปกติของตับอ่อนทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินออกมาเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

        การรับประทานอาหารที่มีไขมันมากก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ เพราะไขมันอิ่มตัวมีผลต่อการออกฤทธิ์ของอินซูลิน ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร

 

ความเชื่อที่ 2 เป็นเบาหวาน ห้ามอาหารที่มีรสหวานเด็ดขาด จริงหรือไม่?

       เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง   ซึ่งเรื่องนี้ทำให้หลายคนเข้าใจว่าการงดอาหารทุกประเภทที่มีรสหวาน หรือน้ำตาลเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยเฉพาะขนมหวาน น้ำหวานทั้งหลาย จะทำให้ปลอดภัยจากโรคเบาหวานได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเข้าใจดังกล่าวไม่ถูกต้องทั้งหมด เนื่องจากนอกจากแป้งและน้ำตาลจะเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานแล้ว เนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดงที่มีไขมันมาก และอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ เนื่องจากไขมันอิ่มตัวจะไปยับยั้งอินซูลินให้ออกฤทธิ์ได้น้อยลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ลด ตับอ่อนจึงต้องผลิตอินซูลินออกมาเพิ่มมากกว่าปกติ ส่งผลให้ตับอ่อนทำงานหนักเกินไปและเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ดีเท่าตอนที่ยังทำงานปกติ จึงทำให้เกิดโรคเบาหวาน

 

ความเชื่อที่ 3 เบาหวาน เป็นโรคพันธุกรรม ถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกหลานได้

       บางคนเข้าใจว่าถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคเบาหวาน ลูกก็ต้องป่วยด้วยโรคนี้เช่นกัน แม้ว่าโรคเบาหวานจะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ลูกไม่ได้มีโอกาสเป็นเบาหวาน 100% เสมอไป พันธุกรรมไม่ได้มีส่วนก่อโรคเบาหวานมากเท่าไร เพราะคนเป็นเบาหวานส่วนใหญ่มักเกิดจากปัจจัยอื่นๆ มากกว่า เบาหวานสามารถป้องกันได้หากดูแลสุขภาพให้ดี ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ มีการตรวจเลือด ตรวจสุขภาพประจำปี เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้

 

ความเชื่อที่ 4 หากคนในครอบครัวไม่เป็นโรคเบาหวาน เราก็จะไม่เป็นเบาหวาน

           พันธุกรรมเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถทำให้เกิดโรคเบาหวาน หากเรามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูงเป็นประจำ ปล่อยให้น้ำหนักตัวมาก พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย มีความเครียดสะสมมากนานเข้าก็ก่อให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน

 

 ความเชื่อที่ 5 ผู้สูงอายุเท่านั้นที่จะเป็นเบาหวาน

        แม้พบว่าเมื่อเราอายุมากขึ้น  อวัยวะต่างๆ เริ่มเสื่อมการทำงานลง พบภาวะเบาหวานมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม

        โรคเบาหวานสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงอายุ ไม่ได้เป็นเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น

เบาหวานประเภทที่ 1 ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กหรือคนอายุน้อย

เบาหวานประเภทที่ 2 ส่วนใหญ่มักเกิดในคนอายุ 45 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันเริ่มพบว่าคนอายุน้อยก็เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ด้วย

https://www.gotoknow.org/posts/713490

 

ความเชื่อที่ 6 คนที่เป็นเบาหวานต้องอ้วน

        เบาหวานเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง การไม่ออกกำลังกาย มีภาวะเครียดบ่อยๆ นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น  เพราะฉะนั้นไม่ว่าคนจะมีรูปร่างอ้วนหรือผอมก็มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานได้ทั้งนั้น  ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก จะมีการเสียน้ำตาลไปทางปัสสาวะมาก จะมีปัญหาน้ำหนักลดและผอมแบบทรุดโทรม

  

ความเชื่อที่ 7 น้ำตาลจากผลไม้คือน้ำตาลที่ปลอดภัย

        ผู้ป่วยเบาหวานหลายคนต้องงดขนมหวาน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้เพิ่มขึ้นด้วยเหตุนี้ ผลไม้จึงกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะใครๆ ต่างก็คิดว่าผลไม้นั้นมีประโยชน์ต่อร่างกาย และเป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติ

        แต่ในความเป็นจริงพฤติกรรมการกินผลไม้ของผู้ป่วยเบาหวานกลับกลายเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูงกว่าเดิม เนื่องจากในผลไม้มีน้ำตาลฟรุกโทส (Fructose) ซึ่งเมื่อกินเข้าไปจะแปรเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคส และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถกินผลไม้ได้  เพียงแค่เรารู้จักปรับวิธีกินให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมเท่านั้น

 

ความเชื่อที่ 8 เป็นเบาหวานห้ามบริจาคเลือด

          ผู้เป็นโรคเบาหวานสามารถบริจาคเลือดได้ หากมีการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ

  

ความเชื่อที่ 9 ถ้าเป็นเบาหวานต้องฉีดอินซูลิน แสดงว่าเข้าขั้นสุดท้ายหรือใกล้ตายแล้ว

           การรักษาเบาหวานประเภทที่ 2 การรักษาโรคเบาหวาน มีเป้าหมายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน กรณีที่ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ใช้ยารับประทานแล้วยังไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลได้ จึงจำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลินร่วมด้วย ส่วนเบาหวานประเภทที่ 1 เนื่องจากสาเหตุของพันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกัน มีผลให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ จึงต้องรักษาโดยการให้อินซูลินเป็นหลัก การฉีดอินซุลินไม่ใช่มาดวัดว่าเป็นระยะสุดท้าย หรือ

ใกล้ตายเหมือนโรคมะเร็งระยะสุดท้ายจะมีชีวิตได้ไม่นานยกเว้นมีปาฏิหาริย์

       กล่าวคือ ปาฏิหาริย์ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย รอดตายเพราะเหตุใด ?

      มีเรื่องบอกเล่ากันมาว่า เรื่องราวของผู้ป่วยรายหนึ่งที่รอดชีวิตจากมะเร็งระยะสุดท้ายราวปาฏิหาริย์ อาการของเขาเริ่มต้นจากการยกแขนไม่ขึ้น และคิดว่าเป็นการปวดเมื่อยธรรมดา แต่เมื่อพบแพทย์กับตรวจเจอเนื้อร้ายที่แขนภายในกระดูก กระทั่งพบว่าเป็นมะเร็งจากที่ไตลามมาที่แขน โดยในทางการแพทย์พบว่าการเป็นมะเร็งในระยะแพร่กระจายมาถึงกระดูกมีความอันตราย และโอกาสในการรักษาเป็นไปได้ยาก ในสมัยก่อนภาษาชาวบ้านเรียกระยะนี้ว่าระยะทำใจ

      ในผู้ป่วยคนดังกล่าวหลังจากทำการผ่าตัดนำไตออก ก็มารักษาที่บริเวณแขนโดยการดามเหล็ก เนื่องจากกระดูกพรุนไปหมดแล้ว และหลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตตามปกติ มีอารมณ์ปกติเหมือนคนทั่วไป และเพราะยังไม่รู้จักว่ามะเร็งคืออะไร ต้องรักษาอย่างไร และน่ากลัวแค่ไหน จึงเผลอเครียดไปกับอาการป่วย โดยหารู้ไม่ว่าความเครียดนี่แหละ เป็นบ่อเกิดขั้นสุดยอดที่ทำให้มะเร็งลุกลามจากไตไปที่สมอง ส่งผลให้ภายหลังพบเนื้อร้ายในสมองอีก 5 เม็ด โดยเม็ดใหญ่ที่สุดมีขนาด 2.75 เซนติเมตร ทั้งยังมีเลือดออกในสมองทำให้เป็นโรคสมองบวมอีกด้วย ขณะนั้นผู้ป่วยเป็นมะเร็งทั้งที่ไต ที่กระดูก และยังลามมาที่สมองอีก ทำให้โอกาสรอดนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะอวัยวะทั้งหมดล้วนเป็นอวัยวะที่สำคัญ

         แต่ไม่น่าเชื่อเมื่อในภายหลังผู้ป่วยกลับมีอาการดีขึ้น อันเนื่องมาจากยาจำเพาะต่อตัวมะเร็งไตที่เป็นชนิดรับประทาน โดยยากลุ่มนี้เป็นยาลดการสร้างเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตัวมะเร็ง และตัวยายังสามารถเข้าไปในเนื้อสมองได้ดี ในระหว่างที่รอการฉายแสง ก็เริ่มทานยาเม็ด ซึ่งทานวันละ 2 ครั้ง

        ผลการตอบสนองเป็นไปด้วยดี เพราะหลังจากทานยาไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็พบว่าอาการปวดหัวลดลงและแทบจะไม่ปวดเลย หลังจากรักษาไปประมาณ 2-3 เดือนและมีการเอ็กซเรย์ซ้ำก็พบว่าบริเวณที่พบก้อนเนื้อแทบจะไม่หลงเหลือเลย แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีขึ้น

        นอกจากการทานยาแล้ว ตัวผู้ป่วยเองยังมีการปฏิบัติตัวที่ดีควบคู่กันโดยการปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทานยาตามที่แพทย์สั่ง และไม่ทานยานอกเหนือจากคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา ที่สำคัญคือทางด้านจิตใจ ผู้ป่วยยังพยายามทำอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล ทำใจให้เย็น ไม่หงุดหงิด ไม่อารมณ์เสียแม้ในภาวะที่ถูกบรรดาลโทสะ พยายามเป็นคนคิดบวก พร้อมกับทำจิตใจให้สงบสุข

        ขณะที่ผู้ป่วยรายนี้ป่วยเป็นมะเร็งในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายแล้ว และอยู่ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น เขาลองทบทวนดูถึงสิ่งที่อยากทำและลงมือทำเสียก่อนที่จะไม่ได้ทำ อย่างเช่นการบวชทดแทนบุญคุณบิดา มารดา โดยระหว่างการบวชนั้นยังมีกิจกรรมในเรื่องของการนั่งสมาธิและกำหนดลมหายใจเข้าออก ซึ่งเป็นผลที่ดีกับโรคที่เป็นด้วย หลังจากนั้นเมื่อสึกออกมา และไปพบแพทย์ก็พบว่าก้อนมะเร็งนั้นเล็กลง

       ไม่เพียงเท่านั้นผู้ป่วยยังทานยาตามแพทย์สั่งไม่ให้ขาด ซึ่งยาที่ทานนั้นเป็นยาที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และไม่ต้องทำคีโม เป็นยาที่รักษาเนื้อร้ายโดยตรง แต่มีผลข้างเคียงคือท้องเสีย ถ่ายท้องบ่อย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่จัดว่าไม่รุนแรง หากเปรียบเทียบกับการทำคีโมอื่นๆ แต่จะต้องปรับในเรื่องของอาหารการกินร่วมด้วย และนอกจากเรื่องของอาการท้องเสียแล้ว ยังมีผลข้างเคียงอื่นๆ นั่นคือ ผมหงอกเป็นสีขาว และสีผิวจะขาวขึ้นด้วย

        ยาที่กล่าวมาข้างต้นคือยา Target therapy หมายถึง มะเร็งชนิดไหน ใช้ Target อะไร วิธีการพัฒนาตัวเองอย่างไรให้มันไม่สามารถลุกลามได้ เช่น มะเร็งปอดอาจเป็น Target ตัวหนึ่ง มะเร็งไตก็เป็น Target อีกตัวหนึ่งในการรักษา ซึ่งมะเร็งแต่ละชนิดก็จะมีการใช้ยา Target therapy ต่างกัน โดยยาชนิดนี้เป็นวิวัฒนาการใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดมา เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมานี้เอง และสำหรับยา Target therapy นั้น บางตัวอาจจะเป็นแบบฉีดและบางตัวอาจจะเป็นแบบรับประทาน

          ในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงว่ามะเร็งเกือบทุกชนิด จะสามารถรักษาได้ด้วยยา Target therapy เพราะในปัจจุบันมะเร็งชนิดที่รักษาได้ยากก็สามารถรักษาได้ด้วยยา Target therapy มาหลายชนิดแล้ว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในวงการแพทย์ที่สำคัญ และทำให้มนุษย์มีอายุยืนมากขึ้น

        สุดท้ายแล้วการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ประกอบไปด้วยปัจจัยต่างๆนั่นคือปัจจัยแรกเกี่ยวกับการรักษาที่จำเพาะ และผู้ป่วยปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัดปัจจัยที่สองคือในด้านจิตใจ กำลังใจ ผู้ป่วยต้องสร้างกำลังใจที่ดีให้กับตนเองและพยายามทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสอยู่เสมอ นี้คือ “ปาฏิหาริย์ที่เรามักจะเคยได้ยินได้ฟังมา” นั้นเอง

 

 ความเชื่อที่ 10 แป้งและน้ำตาลเท่านั้นที่ทำให้เป็นเบาหวาน

      เนื่องจากโรคนี้มีชื่อว่า “เบาหวาน” ทำให้หลายคนเข้าใจว่า ปัจจัยก่อโรคเกิดจากการกินแป้งหรือน้ำตาลเป็นหลัก แต่จากการศึกษาพบว่านอกจากแป้งและน้ำตาลแล้ว ไขมันอิ่มตัวก็เป็นอีกตัวการหนึ่งที่ก่อโรคเบาหวาน เพราะไขมันอิ่มตัวจะไปยับยั้งให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้น้อยลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ช้า และเมื่อน้ำตาลไม่ลด ตับอ่อนจึงต้องผลิตอินซูลินออกมาเพิ่มเกินกว่าปกติ เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเป็นสาเหตุที่ทำให้ตับอ่อนต้องทำงานหนักเกินไปและเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เหมือนปกติ ซึ่งจะนำไปสู่โรคเบาหวานในที่สุด

        ดังนั้น การที่เราจะเชื่อต่อสิ่งใด นั้นอยากแนะนำ ต้องยึดหลักธรรม “กาลามสูตร”
หรือ หลักความเชื่อ 10 ประก่าร คือ

https://youtu.be/NNWAkdjEXY8?si=UskrW-r-VfuIHZ8o

 

อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตาม ๆ กันมา

อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา

อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ

อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์

อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะตรรก

อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน

อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล

อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว

อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้

อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา

 

https://youtu.be/RtfKSEB6qtE?si=8ld60LyGE9ARXT1r

       แต่เราควรใช้เหตุใช้ผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือหลักความเป็นอิทัพปัจจยตา นั้นก็คือ อิทัปปัจจยตา คือ กฏเกณฑ์ของสรรพสิ่ง ที่มีเหตุก็ต้องมีผล และเมื่อมีผล ก็ย่อมต้องมีเหตุ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกเป็นกฎใหญ่ที่ควบคุมทุกเรื่องราวและผลักดันให้เกิดเรื่องราวเป็นกระแสของเหตุและปัจจัยที่ผลักดันกันต่อ ๆ ไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

      ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานและคนดูแลควรมีการศึกษาข้อมูลให้ดีพอก่อน เช่น สืบค้นข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ พร้อมทั้งเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการรักษาสุขภาพของเรา ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

      เมื่อเป็นเบาหวาน ควรสร้างภูมิต้านทานด้วยการรักษาอย่างถูกวิธี ทั้งใช้ยากิน ยาฉีด รวมทั้งปรับพฤติกรรมการกินของเราให้มีสุขลักษณะ ไม่กินหวานมากจนเกินไป ออกกำลังกาย และพักผ่อนหลับนอนให้เป็นปกติ ไม่นอนดึกจนเกินไปนั้นเอง

 

 วิธีป้องกันการ สร้างภูมิคุ้มกัน ภูมิต้านทาโรคเบาหวาน

    การที่จะป้องกัน หรือสร้างภูมิคุ้มกันรักษาเบาหวานได้นั้น ตัวเรานั้นแหละสำคัญ จากคำบอกเล่า จากหมอและผู้เชี่ยวชาญ พอสรุปได้ว่า

 1. ลดปริมาณอาหารหรือการลดน้ำหนัก

   หลักสำคัญในการลดน้ำหนักคือ ต้องลดปริมาณอาหารลง เพื่อให้จำนวนแคลอรีที่ได้รับต่อวันน้อยกว่าที่ร่างกายใช้ คือต้องรับประทานแคลอรีน้อยลงวันละ 500-1,000
กิโลแคลอรี ซึ่งจะทำให้น้ำหนักลดลงได้ประมาณ 0.45-0.9 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ปริมาณอาหารที่ควรลดในเบื้องต้นคือ อาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ไขมัน และควรออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมทางกาย ที่เหมาะสม เพียงพอ และสม่ำเสมอ นอกจากนี้อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารตามหลักโภชนาการ หรืออาหารสุขภาพ และไม่กินตามอยากหรือ
ตามใจปกากจนเกินไป
 

2. การออกกำลังกาย (physical activity or exercise)

     การออกกำลังกายไม่ว่าในรูปแบบใด ให้เหมาะกับอายุหรือวัยของเรา อาจจะเป็นกิจกรรมออกแรงในการทำงาน หรือทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดิน การขึ้นลงบันได
การเช็ดขัดถู การขุดดินทำสวน ที่ทำอย่างต่อเนื่องและใช้เวลานานพอเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยควบคุมหรือลดน้ำหนัก เพราะทำให้ร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ใช้พลังงานเพิ่มขึ้น และยังทำให้น้ำหนักตัวที่ลดลงแล้วไม่กลับเพิ่มขึ้นอีก การออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมออกแรงที่มากเพียงพอทำให้ภาวะดื้ออินซูลินลดลง ระดับน้ำตาลจะดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีด้วย

 3. ไปหาหมอหรรือไปพบแพทย์เป็นระยะตามนัด

     ควรไปพบแพทย์ตามนัด ยารักษาโรคเบาหวานวิธีการควบคุมรักษาโรคเบาหวานนอกจากการรับประทานอาหารอย่างถูกต้องเหมาะสม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดังที่กล่าวมาแล้ว จำเป็นต้องพบแพทย์เป็นระยะๆ ตามนัด และตรวจสุขภาพตามกำหนด เพื่อค้นหาหรือติดตามโรคแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งรับประทานยาหรือฉีดยาตามที่แพทย์แนะนำเป็นประจำ

 4. ธรรมะบำบัด หรือจิตบำบัด

    คือรู้จักรักษาสุขภาพจิตให้มีอารมณ์สดชื่น สบาย ไม่เครียด ไม่มีความวิตกกังวลจนเกินไป ทำใจให้สบาย ถือว่า โรคภัย เป็นสิ่งที่มีประจำสังขาร หนีไม่พ้น ไม่เครียด เพราะพุทธองค์ทรงสอนให้เราได้รู้แล้วว่า ทุกข์อยู่ที่ถือ สุขอยู่ที่
การรู้จักปล่อยวาง

         อนึ่ง จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยไปหาหมอ

หมอจะชักประวัติ ถามว่า ดื่มเหล้า เบียร์ สูบบุหรี่ไหม

นอนดึกไหม  การดื่มเบียร์ ดื่มวาย การนอนดึก

ก็มีโอกาสเป็นเบาหวานได้เช่นกัน แม้

การดื่มกาแฟสำเร็จรูป   รับประทานข้าวเหนียว

รวมทั้งอาหารหวานจัด เช่น ฝอยทอง น้ำอัดลม

กาแฟที่ไม่ได้ปรุงเอง ข้าวหลาม รวมทั้งขนม

นมข้นหวาน และผลไม้รสหวานจัด และรับประทานเกิน
อัตราที่กำหนดไว้ในแต่ละวัน ก็เป็นสาเหตุที่จะเป็นเบาหวานได้ เช่นกัน

เบาหวาน 5-6  ต.

    จากการบอกเล่าของผู้ป่วย ที่พูดตลกหรรษา และคอยเตือนเราไม่ให้ประมาทต่อเบาหวาน
เพราะคนป่วยเบาหวาน จะมีอาการ 5 ต. คือเมื่อเป็นเบาหวานจะมีอาการ 5 ต. คือ

ต.ที่ 1 ระดับน้ำตาล คือระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกำหนดตามที่ได้กล่าวมาแล้ว 
จะทำให้กระหายน้ำ อยากดื่มบ่อยผิดปกติ ปัสสาวะบ่อย ไม่ว่ากลางวัน และกลางคืน
ต. ที่ 2 ตา เป็นมาก ๆ ตาจะพร่ามัว น้ำตาไหลออกมา
ต. ที่ 3 ตีน เป็นมาก ๆ ตีนจะเป็นแผล หรือตามตัวจะเป็นแผลและรักษาหายยาก
ต.ที่ 4 ตับ เป็นมาก ๆ ตับจะมีอาการทำงานผิดปกติ
ต.ที่ 5 ไต  เป็นมาก ๆ ไตจะวาย จะต้องล้างไตบ่อย ๆ ผิดปกติ และท้ายที่สุดก็คือ

ต.ที่ 6 คือ ต อาย  ตาย เมื่อมีอาการจนสุดที่จะรักษาเยียวยาจากหมอแล้ว ก็จะตาย
 เพราะร่างกายไม่สามารถที่จะทนกับเบาหวานได้อีกแล้ว

    จากนั้น เราก็สิ้นสุดกัน เพราะร่างกายทนรับเบาหวานไม่ได้อีกแล้ว เราก็ต้องตาย.... ญาติพี่น้องก็จะนำร่างกายเราซึ่งเป็นประดุจเศษไม้ ใบไม้ไปเผาหรือฝังในป่าช้า

 

แหล่งข้อมูล

http://bitly.ws/KPka

http://bitly.ws/KPkG

https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-802

https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=331

http://bitly.ws/KPmD

http://bitly.ws/KPmW

http://bitly.ws/KPnD

https://oncemedicaldevice.com/diabetic-need-choose-different/

https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-802

https://www.siamhealth.net/public_html/Disease/endocrine/DM/insulin_inj.html

https://www.lib.ru.ac.th/miscell2/?p=1170
https://thawin09.blogspot.com/2020/10/5.html
 


หมายเลขบันทึก: 714459เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2023 01:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2023 03:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท