พระประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ตอนที่ ๑๒ อานันทเถราปทาน


ราชกุมารนี้จักเป็นพระญาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีนามว่าอานนท์ เป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

พระประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก

ตอนที่ ๑๒ อานันทเถราปทาน

พลตรี มารวย ส่งทานินทร์

๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑

๑๐. อานันทเถราปทาน

ประวัติในอดีตชาติของพระอานนทเถระ

 

เกริ่นนำ

            ราชกุมารนี้จักเป็นพระญาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นธงชัยแห่งศากยะตระกูล มีนามว่าอานนท์ เป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

 

            (พระอานนทเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)

            [๖๔๔] พระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จออกจากประตูอารามแล้ว ทรงบันดาลฝนคืออมตธรรมให้ตก ให้มหาชนสงบเย็นแล้ว

            [๖๔๕] พระขีณาสพ ๑๐๐,๐๐๐ รูปเหล่านั้น ผู้เป็นนักปราชญ์ สำเร็จอภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก แวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดุจเงาติดตามพระองค์

            [๖๔๖] ข้าพเจ้าได้นั่งกั้นเศวตฉัตรอันประเสริฐเลิศอยู่บนคอช้าง เพราะได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระรูปงดงาม ข้าพเจ้าจึงเกิดความปีติยินดี

            [๖๔๗] ข้าพเจ้าจึงลงจากคอช้างแล้วเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้องอาจกว่านรชน ข้าพเจ้าได้กั้นฉัตรแก้วของข้าพเจ้าถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด

            [๖๔๘] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงแสวงหาคุณยิ่งใหญ่ ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้า จึงทรงพักการแสดงธรรมกถาไว้แล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

            [๖๔๙] เราจักพยากรณ์ราชกุมาร ผู้ที่ได้กั้นฉัตรอันประดับด้วยเครื่องอลังการทองนั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

            [๖๕๐] ราชกุมารนี้จุติจากมนุษยโลกนี้แล้ว จักไปครองสวรรค์ชั้นดุสิต มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อมเสวยสมบัติ

            [๖๕๑] จักครองเทวสมบัติ ๓๔ ชาติ จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๑๐๘ ชาติ

            [๖๕๒] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๘ ชาติ จักครองความเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ในแผ่นดิน

            [๖๕๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติในโลก

            [๖๕๔] ราชกุมารนี้จักเป็นพระญาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นธงชัยแห่งศากยะตระกูล มีนามว่าอานนท์ เป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

             [๖๕๕] มีความเพียร มีปัญญารักษาตน เฉลียวฉลาดในพาหุสัจจะ ประพฤติถ่อมตน ไม่แข็งกระด้าง เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งปาฐะทั้งปวง

            [๖๕๖] พระอานนท์นั้นมีจิตเด็ดเดี่ยวบำเพ็ญเพียร เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน

             [๖๕๗] ช้างกุญชรเกิดในป่า เป็นช้างตระกูลมาตังคะ เสื่อมกำลังเมื่ออายุ ๖๐ ปี ตกมัน ๓ แห่ง มีงางอนงาม ควรเป็นราชพาหนะ ฉันใด

            [๖๕๘] แม้บัณฑิตหลายแสนรูปก็ฉันนั้น มีฤทธิ์มาก ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ประเสริฐของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ท่านเหล่านั้นไม่เป็นเช่นนั้น ในการตัดสินใจ

            [๖๕๙] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสมีใจยินดีนอบน้อม ทั้งในปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม เป็นอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด

            [๖๖๐] ข้าพเจ้ามีความเพียร มีปัญญารักษาตน มีสติสัมปชัญญะ บรรลุโสดาปัตติผล เฉลียวฉลาดในเสขภูมิ

            [๖๖๑] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป ข้าพเจ้าได้สร้างกรรมใดไว้ ข้าพเจ้าได้บรรลุถึงภูมิแห่งกรรมนั้นแล้ว ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้วมีผลมาก

            [๖๖๒] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

            [๖๖๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล

            ได้ทราบว่า ท่านพระอานนทเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้

อานนทเถราปทานที่ ๑๐ จบ

---------------------------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนี้นำมาจากบางส่วนของอรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ 

เถราปทาน ๑. พุทธวรรค

               พรรณนาอานันทเถราปทาน     

          

               แม้พระเถระนี้ก็ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่วิวัฏฏะไว้ในภพนั้น ๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดเป็นน้องชายต่างมารดากับพระศาสดา ในนครหังสวดี เขาได้มีชื่อว่า สุมนะ.
               ก็พระบิดาของสุมนะนั้นเป็นพระราชาพระนามว่านันทะ. พระเจ้านันทราชนั้น เมื่อสุมนกุมารผู้เป็นโอรสของพระองค์เจริญวัยแล้ว จึงได้ประทานโภคนครให้ในที่ประมาณ ๒๐ โยชน์ จากนครหังสวดีไป. สุมนกุมารนั้นมาเฝ้าพระศาสดาและพระบิดาในบางครั้งบางคราว.
               ครั้งนั้น พระราชาทรงบำรุงพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ประมาณหนึ่งแสนโดยเคารพด้วยพระองค์เอง ไม่ยอมให้คนอื่นบำรุง.
               สมัยนั้น ปัจจันตชนบทกำเริบขึ้น พระกุมารไม่กราบทูลพระราชาถึงความที่ปัจจันตชนบทกำเริบ เสด็จไประงับเสียเอง.
               พระราชาได้สดับดังนั้นดีพระทัยตรัสว่า นี่แน่ะพ่อ พ่อจะให้พรเจ้า เจ้าจงรับเอา.
               พระกุมารกราบทูลว่า ข้าพระองค์ปรารถนาเพื่อจะบำรุงพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ กระทำชีวิตไม่ให้เป็นหมัน. พระราชาตรัสว่า ข้อนั้นเจ้าไม่อาจได้ จงบอกอย่างอื่นเถิด.
               พระกุมารกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ธรรมดาว่ากษัตริย์ทั้งหลายไม่มีพระดำรัสเป็นสอง ขอพระองค์จงประทานการบำรุงพระศาสดานั้นแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ไม่ต้องการอย่างอื่น. ถ้าพระศาสดาทรงอนุญาต ก็เป็นอันทรงประทานเถิดพระเจ้าข้า.
               พระกุมารนั้นจึงเสด็จไปยังพระวิหารด้วยทรงหวังว่า จักหยั่งรู้น้ำพระทัยของพระศาสดา.
               ก็สมัยนั้น พระศาสดากำลังเสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี. พระกุมารเสด็จเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า ท่านผู้เจริญ โยมมาเพื่อจะเฝ้าพระศาสดา ขอท่านทั้งหลายจงแสดงพระศาสดาแก่โยมด้วยเถิด. ภิกษุทั้งหลายทูลว่า พระเถระชื่อว่าสุมนะเป็นพระอุปัฏฐากของพระศาสดา พระองค์จงเสด็จไปยังสำนักของพระเถระนั้น. พระกุมารจึงเสด็จไปยังสำนักของพระเถระแล้วตรัสว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงแสดงพระศาสดา.
               ลำดับนั้น พระเถระ เมื่อพระกุมารทรงเห็นอยู่นั่นเอง ได้ดำดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชบุตรเสด็จมาเพื่อจะขอเฝ้าพระองค์.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ถ้าอย่างนั้นเธอจงปูลาดอาสนะไว้ข้างนอก. พระเถระถือเอาพุทธอาสน์อีกที่หนึ่ง แล้วดำลงในภายในพระคันธกุฎี เมื่อพระกุมารนั้นทรงเห็นอยู่ ก็ปรากฏขึ้น ณ ที่บริเวณภายนอก แล้วปูลาดอาสนะในบริเวณพระคันธกุฎี.
               พระกุมารเห็นดังนั้น จึงทำความคิดให้เกิดขึ้นว่า ภิกษุนี้ยิ่งใหญ่หนอ.
               ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้. พระราชบุตรถวายบังคมพระศาสดา ทรงทำปฏิสันถารแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเถระนี้เห็นจะเป็นที่โปรดปรานในพระศาสนาของพระองค์.
               พระศาสดาตรัสว่า ถวายพระพร พระกุมารเธอเป็นที่โปรดปราน. พระราชบุตรทูลถามว่า พระเถระนี้เป็นที่โปรดปราน เพราะกระทำกรรมอะไร พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาตรัสว่า เพราะทำบุญมีให้ทานเป็นต้น.
               พระราชบุตรนั้นทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้กระหม่อมฉันก็ใคร่จะเป็นที่โปรดปรานในศาสนาของพระพุทธเจ้าในอนาคต เหมือนพระเถระนี้ แล้วถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ณ ที่กองค่ายพัก ตลอด ๗ วัน.
               ในวันที่ ๗ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กระหม่อมฉันได้พรสำหรับปรนนิบัติพระองค์ ๓ เดือนจากสำนักพระราชบิดา ขอพระองค์จงรับนิมนต์การอยู่จำพรรษาเพื่อหม่อมฉันตลอด ๓ เดือน ทรงทราบว่าพระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว จึงพาพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งบริวารไป แล้วให้สร้างวิหารทั้งหลายอันเหมาะสมที่จะเป็นที่อยู่ของพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ ไว้ในที่ระยะหนึ่งโยชน์ๆ แล้วนิมนต์ให้ประทับอยู่ในวิหารนั้นๆ แล้วนิมนต์ให้เสด็จเข้าไปประทับยังวิหารที่สร้างด้วยทรัพย์แสนหนึ่ง ในอุทยานชื่อว่าโสภณะ ซึ่งซื้อไว้ด้วยทรัพย์แสนหนึ่ง ณ ที่ใกล้สถานที่ประทับของพระองค์ แล้วหลั่งน้ำให้ตกลงด้วยพระดำรัสว่า
                ข้าแต่พระมหามุนี อุทยานชื่อว่าโสภณะนี้ กระหม่อมฉัน ซื้อไว้ด้วยทรัพย์แสนหนึ่ง แล้วให้สร้างด้วยทรัพย์อีกแสนหนึ่ง ขอพระองค์ได้โปรดรับไว้เถิด.
               ในวันใกล้วันเข้าพรรษา พระราชบุตรได้ยังมหาทานให้เป็นไปแด่พระศาสดา แล้วทรงชักชวนโอรส พระชายาและเหล่าอำมาตย์ ในการให้ทาน และการกระทำกิจการว่า ท่านทั้งหลายพึงให้ทานโดยวิหารนี้ ส่วนพระองค์เองประทับอยู่ที่ใกล้ๆ กับสถานที่อยู่ของพระสุมนเถระ ทรงบำรุงพระศาสดาตลอดไตรมาส ณ สถานที่ประทับอยู่ของพระองค์ ด้วยประการอย่างนี้.
               ก็เมื่อจวนจะใกล้วันปวารณา จึงเสด็จเข้าไปยังหมู่บ้านยังมหาทานให้เป็นไปตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ ทรงวางไตรจีวรไว้แทบบาทมูลของพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ ทรงนมัสการแล้วได้ทรงกระทำความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุญที่กระหม่อมฉันทำเริ่มมาตั้งแต่กองค่ายนั้น จะกระทำเพื่อประโยชน์แก่สักกสมบัติเป็นต้นก็หามิได้ โดยที่แท้ กระหม่อมฉันพึงเป็นอุปัฏฐากที่โปรดปรานของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต เหมือนพระสุมนเถระนี้.
               พระศาสดาทรงเห็นว่าความปรารถนานั้นไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์แล้วเสด็จหลีกไป.
               ในพุทธุปบาทกาลนั้น เขาทำบุญอยู่ถึงแสนปี แม้ต่อจากพุทธุปบาทกาลนั้นไป ก็ได้สั่งสมบุญกรรมไว้เหลือหลายในภพนั้นๆ ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ ครั้นในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสป จึงมาเกิดในเรือนของผู้มีสกุล ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ได้เอาผ้าอุตราสงค์มาทำการบูชาเพื่อจะรับบาตรของพระเถระรูปหนึ่งผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่.
               เขากลับไปเกิดในสวรรค์อีก จุติจากสวรรค์แล้วมาเป็นพระเจ้าพาราณสี ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ จึงนิมนต์ให้พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นให้ฉัน เสร็จแล้วให้สร้างบรรณศาลา ๘ หลังไว้ในอุทยานอันเป็นมงคลของพระองค์ แล้วมอบถวายตั่งอันสำเร็จด้วยรัตนะทั้งหมด กับเชิงรองอันเป็นแก้วมณี ๘ สำรับ เพื่อให้เป็นที่นั่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น แล้วทำการอุปัฏฐากอยู่ถึงหมื่นปี. การกระทำดังนี้ได้ปรากฏแล้ว.
               เขาก่อสร้างบุญทั้งหลายไว้ในภพนั้นๆ ถึงแสนกัป ได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต พร้อมกับพระโพธิสัตว์ของพวกเราทั้งหลาย จุติจากภพดุสิตนั้นแล้วมาบังเกิดในพระราชมณเฑียรของพระเจ้าอมิโตทนศากยะ ได้นามว่า อานนท์ เพราะเกิดมาทำพวกพระญาติให้ยินดี.
               อานนท์นั้นเจริญวัยขึ้นโดยลำดับ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำการเสด็จออกอภิเนษกรมณ์ ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงประกาศ พระธรรมจักรอันประเสริฐ แล้วเสด็จไปยังนครกบิลพัสดุ์เป็นครั้งแรก เสร็จแล้วเสด็จออกจากนครกบิลพัสดุ์นั้น จึงออกไปพร้อมกับเจ้าภัททิยะเป็นต้นผู้เสด็จออกบวชเพื่อเป็นบริวารของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แล้วบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ได้ฟังธรรมกถาในสำนักของท่านพระปุณณมันตานีบุตร จึงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
               ก็สมัยนั้น ในปฐมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่มีอุปัฏฐากประจำเป็นเวลา ๒๐ พรรษา. บางคราวท่านพระนาคสมาละถือบาตรจีวรเที่ยวไป. บางคราวพระนาคิตะ, บางคราวพระอุปวาณะ, บางคราวพระสุนักขัตตะ, บางคราวพระจุนทะสมณุทเทส, บางคราวพระสาคิตะ, บางคราวพระเมฆิยะ ท่านเหล่านั้น โดยมากพระศาสดาไม่ทรงโปรด.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าอันภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับนั่งอยู่บนบวรพุทธอาสน์อันเขาปูลาดไว้ในบริเวณพระคันธกุฎี ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราเป็นคนแก่แล้ว. ภิกษุบางพวก เมื่อเรากล่าวว่าจะไปทางนี้ กลับไปทางอื่น บางพวกวางบาตรจีวรของเราไว้ที่พื้น พวกท่านจงเลือกภิกษุสักรูปหนึ่งให้เป็นอุปัฏฐากประจำตัวเรา.
               ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้นเกิดธรรมสังเวช.
               ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรลุกขึ้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักบำรุงพระองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามท่านเสีย. โดยอุบายนี้ พระมหาสาวกทั้งปวงมีพระมหาโมคคัลลานะเป็นต้น ยกเว้นท่านพระอานนท์ ต่างลุกขึ้นกราบทูลว่า ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากๆ แม้พระมหาสาวกเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงห้ามเสีย.
               ส่วนพระอานนท์คงนั่งนิ่งอยู่.
               ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านผู้มีอายุ แม้ตัวท่านก็จงทูลขอตำแหน่งอุปัฏฐากพระศาสดาเถิด. พระอานนท์กล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าการอุปัฏฐากที่ได้มาด้วยการขอ จะเป็นเช่นไร ถ้าทรงชอบพระทัย พระศาสดาก็จักตรัสบอกเอง.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนอื่นๆ ไม่ต้องให้กำลังใจอานนท์ เธอรู้ตัวเองแล้วจักอุปัฏฐากเราเอง.
               ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงพากันกล่าวว่า ลุกขึ้นเถิด อาวุโสอานนท์ ท่านจงขอตำแหน่งอุปัฏฐากกะพระศาสดาเถิด.
               พระเถระลุกขึ้นแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่ทรงได้แก่ข้าพระองค์ ๑ จักไม่ทรงประทานบิณฑบาตอันประณีต ๑ จักไม่ประทานให้อยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกัน ๑ จักไม่ทรงพาไปยังที่นิมนต์ ๑ เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               การปฏิเสธ ๔ ข้อนี้ เพื่อจะปลดเปลื้องการติเตียนที่ว่า เมื่อได้คุณประโยชน์มีประมาณเท่านี้ การอุปัฏฐากพระศาสดาจะหนักหนาอะไร.
               (พระอานนท์กราบทูลว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จไปยังที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์ได้รับไว้ ๑ ข้าพระองค์จะได้นำบุคคลผู้มาแล้วๆ จากประเทศอื่นเข้าเฝ้าในทันทีทันใด ๑ เมื่อใด ข้าพระองค์เกิดความสงสัย ขอให้ได้เข้าเฝ้าถามพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ เมื่อนั้น ๑ ถ้าพระองค์จักทรงพยากรณ์ธรรมที่ทรงแสดงในที่ลับหลังแก่ข้าพระองค์อีก ๑ เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               การขอ ๔ ข้อนี้ เพื่อจะปลดเปลื้องคำติเตียนที่ว่า แม้เรื่องเท่านี้ พระเถระก็ไม่ได้การอนุเคราะห์ในสำนักพระศาสดา และเพื่อจะทำ ธรรมภัณฑาคาริก ขุนคลังธรรมให้บริบูรณ์
               รวมความว่า พระเถระได้ พร ๘ ประการ นี้ จึงจะเป็นอุปัฏฐากประจำ.
               พระเถระได้บรรลุผลแห่งบารมีทั้งหลายที่ได้บำเพ็ญมาแสนกัป ก็เพื่อต้องการฐานันดรนั้นเท่านั้น.
               ตั้งแต่วันที่ได้ตำแหน่งอุปัฏฐาก พระเถระได้อุปัฏฐากพระทศพลด้วยกิจมีอาทิอย่างนี้ คือถวายน้ำสรง ๒ ครั้ง ถวายไม้ชำระพระทนต์ ๓ ครั้ง บริกรรมพระหัตถ์และพระบาท บริกรรมพระปฤษฎางค์ และกวาดบริเวณพระคันธกุฎี เป็นผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสำนักตลอดภาคกลางวัน ด้วยหวังใจว่า เวลาชื่อนี้ พระศาสดาควรได้สิ่งชื่อนี้ เราควรทำกรรมชื่อนี้.
               ส่วนในภาคกลางคืน ได้ถือเอาประทีปด้ามดวงใหญ่ เดินไปรอบๆ บริเวณพระคันธกุฎี ๙ ครั้ง เพื่อจะได้ถวายคำตอบในเมื่อพระศาสดาตรัสเรียก และเพื่อบรรเทาความง่วงเหงาหาวนอน.
               ลำดับนั้น พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้าในพระเชตวัน ตรัสสรรเสริญพระอานนทเถระโดยอเนกปริยาย แล้วทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นพหูสูต มีสติ มีคติ มีธิติและเป็นอุปัฏฐาก.
               พระเถระนี้อันพระศาสดาทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะในฐานะ ๕ ฐานะด้วยประการอย่างนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอันน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการ เป็นผู้รักษาคลังธรรมของพระศาสดา ทั้งที่ยังเป็นพระเสขะอยู่ทีเดียว.
               เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว อันภิกษุทั้งหลายให้อาจหาญขึ้น และอันเทวดาให้สังเวชสลดใจโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง คิดว่า ก็บัดนี้ พรุ่งนี้แล้วหนอจะทำสังคายนาพระธรรม ก็ข้อที่เรายังเป็นพระเสขะมีกรณียะที่จะพึงทำ จะไปยังที่ประชุมเพื่อสังคายนาพระธรรมกับพระเถระผู้เป็นอเสขะ ไม่สมควรเลย จึงเกิดความอุตสาหะ เริ่มตั้งวิปัสสนา กระทำวิปัสสนากรรมอยู่ตลอดคืนยังรุ่ง ไม่ได้ความเพียรอันสม่ำเสมอในการจงกรม แต่นั้นจึงเข้าไปยังวิหารแล้วนั่งบนที่นอน มีความประสงค์จะนอนจึงเอนกายลง. ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน, และเท้าพอพ้นจากพื้น ในระหว่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายโดยไม่ถือมั่น ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖.
               พระเถระประกอบด้วยคุณมีอภิญญา ๖ เป็นต้นอย่างนี้ บรรลุตำแหน่งเอตทัคคะโดยคุณมีความเป็นอุปัฏฐากเป็นต้น ระลึกถึงบุพกรรมของตน เมื่อจะแสดงอปทานแห่งความประพฤติในกาลก่อนด้วยความโสมนัส จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อารามทฺวารา นิกฺขมฺม ดังนี้.
                                   จบพรรณนาอานันทเถราปทาน               
                                                   -----------------------------------------               



 

 

คำสำคัญ (Tags): #พระอานนท์
หมายเลขบันทึก: 712835เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2023 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2023 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท