๒๑๘. ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชีวิต


  ภายในห้องประชุมอำเภอ ที่ผมเคยมาอบรม แต่งานนี้ผมมายืนอยู่แถวหน้า มือถือไมค์ในใจรู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย พยายามรวบรวมความกล้า เพื่อจะได้ทำงานให้สำเร็จตามที่เขาได้มอบหมาย

            ขอแค่มีประสบการณ์กับเขาบ้างก็เพียงพอแล้ว เพราะปกติไม่ชอบงานแบบนี้ งานที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง แต่ก่อนจำใจต้องไปยุ่งเกี่ยวเพราะเป็นผู้บริหารสถานศึกษา

            ครั้งนี้ก็ยังเป็นอยู่ แต่บอกเขาว่าจะเกษียณแล้ว ขอไม่เป็นไรทั้งนั้น

            โดยมากจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานประจำหน่วยเลือกตั้ง ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการฯที่มีชื่อเรียกย่อๆว่า กปน. วันเลือกตั้งสส.ก็จะอยู่ประจำหน่วยที่โรงเรียน

            เมื่อไม่ได้เป็นกปน. ทางอำเภอจึงแต่งตั้งให้เป็นวิทยากรประจำเขตเลือกตั้ง โดยอ้างว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ จริงๆแล้วไม่ได้มีความรู้แต่อย่างใดเลย

            แต่เต็มใจที่จะไปทำงานให้ เพราะเขาส่งไปอบรมและเรียนรู้วิธีการเลือกตั้ง ทั้งแบบแบ่งเขต(เลือกคน) และแบบบัญชีรายชื่อ(เลือกพรรค)

            หลังการอบรมผมได้ทบทวนความรู้อีกเล็กน้อย ทำให้เข้าใจดียิ่งขึ้นทั้งระบบ ตั้งแต่การรับวัสดุ การจัดคูหา และวิธีการลงคะแนน ไปจนถึงการนับคะแนนและการรายงานผลการเลือกตั้ง

            ถึงเวลาถ่ายทอดวิทยายุทธ ให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจ เป็นเวลา ๒ วัน จากทั้งหมด ๗ ตำบล แต่ละคนที่มานั่งฟังล้วนเป็น กปน.ที่ต้องทำงานการเลือกตั้งสส.ในหน่วยต่างๆ

            ทั้งหมด ๘๕ หน่วย แต่ละหน่วยจะมี ๑๑ คน ประกอบด้วยประธาน ๑ คน กปน.อีก ๘ คนและรปภ. ๒ คน ทุกคนต้องอบรมก่อนวันรับวัสดุอุปกรณ์

            ผมได้รับหัวข้อบรรยายเกี่ยวกับ”การนับคะแนน” ที่มีความสำคัญไม่น้อย กปน.จะต้องแม่นยำและมีสมาธิในการทำงานในจุดนี้ มิฉะนั้นปัญหาจะตามมาอีกมากมาย

            ภายในห้องประชุมอำเภอ ที่ผมเคยมาอบรม แต่งานนี้ผมมายืนอยู่แถวหน้า มือถือไมค์ในใจรู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย พยายามรวบรวมความกล้า เพื่อจะได้ทำงานให้สำเร็จตามที่เขาได้มอบหมาย

            หลังจากนำเสนอด้วยคลิ๊ปวีดีโอแล้ว ผมจึงบรรยายขยายความให้ผู้อบรมเห็นภาพการนับคะแนนได้ชัดเจน จากนั้นก็ให้ตัวอย่างกระบวนการทำงานที่เรียกว่าบทบาทสมมุติ

            เท่านั้นยังไม่พอ ผมเชิญชวนให้ กปน.ส่งตัวแทนออกมาร่วมจัดสถานการณ์จำลอง โดยแบ่งคนนับคะแนนเป็น ๒ กลุ่ม(แบบเขตและบัญชีรายชื่อ) จำนวนกลุ่มละ ๔ คน

            ผมแนะนำวิธีการขานคะแนน การวินิจฉัยบัตรดีบัตรเสีย บัตรไม่เลือกผู้สมัครคนใด หรือไม่เลือกรายชื่อพรรคการเมืองใด ตลอดจนการรายงานผลในช่วงสุดท้ายของการเลือกตั้ง ด้วยแบบพิมพ์ต่างๆมากมาย ก่อนนำหีบและวัสดุต่างๆส่งคืน ณ ที่ว่าการอำเภอ

            การถ่ายทอดความรู้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย คงเหลือไว้ซึ่งประสบการณ์และความทรงจำดีๆ ว่านี่คือครั้งแรกของชีวิต และเชื่อว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

            เพราะเลือกตั้งใหม่อีก ๔ ปีข้างหน้า วันนั้นผมก็คงได้เป็น สว.เต็มตัว ทำงานสส.ไม่ไหวแล้ว

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๒  พฤษภาคม  ๒๕๖๖

หมายเลขบันทึก: 712755เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2023 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2023 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สั่นสู้ใช่ไหมครับ ท่าน ผอ. ;)…

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท