สักกปัญหสูตร


เป็นเรื่องที่พระอินทร์ได้มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ เพื่อทูลถามปัญหา ๑๔ ข้อ เพราะพระชนมายุของท้าวเธอหมดแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีคือกิเลสปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพและแก่เทวดาอื่นอีก ๘๐,๐๐๐ องค์ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” ทำให้ท้าวสักกะได้บรรลุเป็นอริยบุคคลชั้นโสดาบัน และได้มีอายุเพิ่มขึ้นไปอีก

สักกปัญหสูตร

พลตรี มารวย ส่งทานินทร์

๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

            เรื่อง สักกปัญหสูตร เป็นเรื่องที่พระอินทร์ได้มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ที่ภูเขาเวทิยกะ ทางทิศเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อทูลถามปัญหา ๑๔ ข้อ เพราะพระชนมายุของท้าวเธอหมดแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีคือกิเลสปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพและแก่เทวดาอื่นอีก ๘๐,๐๐๐ องค์ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” ทำให้ท้าวสักกะได้บรรลุเป็นอริยบุคคลชั้นโสดาบัน และได้มีอายุเพิ่มขึ้นไปอีก 

 

สักกปัญหสูตร

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ทีฆนิกาย มหาวรรค

 

๘. สักกปัญหสูตร

ว่าด้วยปัญหาของท้าวสักกะ

            [๓๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

            สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ที่ภูเขาเวทิยกะ ทางทิศเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

            เวลานั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงเกิดความขวนขวายเพื่อจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทรงมีความดำริดังนี้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ” ทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ที่ภูเขาเวทิยกะ ทางทิศเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ จึงรับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละที่ภูเขาเวทิยกะ ทางทิศเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ทางที่ดี ชาวเราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”

            พวกเทพชั้นดาวดึงส์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว

            [๓๔๕] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งเรียกปัญจสิขะ คันธรรพบุตร (ปัญจสิขะ คันธรรพบุตร เป็นเทพบุตรองค์หนึ่งในพวกคนธรรพ์ ซึ่งเป็นบริวารของท้าวธตรฐมหาราช และเป็นผู้รับใช้พระทศพล สามารถเข้าเฝ้าทูลถามปัญหา ขอสดับพระธรรมเทศนาได้ทุกขณะที่ต้องการ ท้าวสักกะจอมเทพจึงชวนท่านไปพร้อมกันเพื่อจะได้ทูลขอพระวโรกาสกะพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามปัญหาต่อไป) มาตรัสว่า “พ่อปัญจสิขะ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละที่ภูเขาเวทิยกะทางทิศเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ทางที่ดี ชาวเราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”

             ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้วถือพิณสีเหลืองดังผลมะตูมตามเสด็จท้าวสักกะจอมเทพมา

            [๓๔๖] ต่อมา ท้าวสักกะจอมเทพ ผู้มีเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์แวดล้อม มีปัญจสิขะ คันธรรพบุตรนำเสด็จ ได้ทรงหายตัวจาก(ภพ)ชั้นดาวดึงส์ไปปรากฏอยู่ที่ภูเขาเวทิยกะ ทางทิศเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น

            เวลานั้น ภูเขาเวทิยกะและหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์สว่างไสวยิ่งนัก ด้วยเทวานุภาพของเหล่าเทพ ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงรอบๆ กล่าวกันอย่างนี้ว่า “วันนี้ภูเขาเวทิยกะถูกไฟเผาไหม้ลุกโชติช่วง ทำไมหนอ วันนี้ ภูเขาเวทิยกะและหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์จึงสว่างไสวยิ่งนักเล่า” พากันตกใจขนพองสยองเกล้า

            [๓๔๗] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งเรียกปัญจสิขะ คันธรรพบุตรมาตรัสว่า “ปัญจสิขะ ตถาคตทรงเข้าฌาน (เข้าฌาน หมายถึงการเพ่งพินิจด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่ ในที่นี้มุ่งถึงฌาน ๒ คือ (๑) อารัมมณูปนิชฌาน (การเพ่งอารมณ์ ได้แก่ สมาบัติ ๘ คือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔) (๒) ลักขณูปนิชฌาน (การเพ่งลักษณะได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล)) ทรงพอพระทัยในฌาน ระหว่างที่พระองค์ประทับหลีกเร้นอยู่ คนเช่นเรายากที่จะเข้าไปเฝ้าได้ ทางที่ดี พ่อควรทำให้พระองค์ทรงพอพระทัยก่อน หลังจากนั้น พวกเราจึงควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”

            ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจึงถือพิณสีเหลืองดังผลมะตูมเข้าไปจนถึงถ้ำอินทสาละแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร คะเนดูว่า “ระยะเท่านี้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นักจากเรา และทรงได้ยินเสียงของเรา”

เพลงขับกล่อมของปัญจสิขะ คันธรรพบุตร

            [๓๔๘] ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้บรรเลงพิณสีเหลืองดังผลมะตูมและกล่าวคาถาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธ เกี่ยวเนื่องด้วยพระธรรม เกี่ยวเนื่องด้วยพระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องด้วยพระอรหันต์ และเกี่ยวเนื่องด้วยกามเหล่านี้ว่า

             “แม่ภัททาสุริยวัจฉสา (สุริยวัจฉสา เป็นชื่อของเทพธิดา ผู้มีสิริโฉมงดงามทั่วสรรพางค์ มีรัศมีอ่อนๆ เปล่งออกจากร่างกายดุจแสงอ่อนของดวงอาทิตย์ยามทอแสง) ฉันขอกราบท่านติมพรุบิดาของเธอ โดยเหตุที่เธอเกิดมางดงาม ทำให้ฉันปลื้มใจ เหมือนสายลมย่อมเป็นที่ปรารถนาของผู้มีเหงื่อ หรือเหมือนน้ำเป็นที่ปรารถนาของผู้กระหาย เธอผู้ไฉไลเป็นที่รักของฉัน ดุจธรรมเป็นที่รักของพระอรหันต์

            เธอจงช่วยดับความเร่าร้อน (ความเร่าร้อน ในที่นี้หมายถึงความเร่าร้อนเพราะไฟคือราคะ) เหมือนช่วยวางยาคนไข้ผู้กระสับกระส่าย เหมือนให้อาหารแก่ผู้หิว หรือเหมือนใช้น้ำดับไฟที่กำลังลุกอยู่ ขอให้ฉันได้ซบลงจดถันและอุทรของเธอ เหมือนช้างที่ร้อนจัดในคราวร้อน หยั่งลงสู่สระโบกขรณีมีน้ำเย็น ระคนด้วยละอองเกสรดอกปทุม

            ฉันมึนงงเพราะ(เห็น)ช่วงขาที่งามสมส่วน ไม่รับรู้เหตุการณ์ (อะไรๆ) เหมือนช้างเหลือขอเพราะถือว่าเราชนะได้แล้ว (เราชนะได้แล้ว หมายถึงไม่อยู่ในอำนาจของแหลนและหอกซัด) ฉันมีใจจดจ่อที่เธอ ไม่อาจกลับใจที่แปรผันไป เหมือนปลาที่กลืนเบ็ดเข้าไป

            นางผู้เจริญ เธอจงเอาขาซ้ายกระหวัดฉันไว้ เธอผู้มีดวงตาหยาดเยิ้มจงกระหวัดฉันไว้เถิด เธอผู้งดงามจงสวมกอดฉันไว้ สิ่งนี้คือสิ่งที่ฉันปรารถนายิ่งนัก ความใคร่ของฉันต่อเธอผู้มีผมงามสลวย ถึงมีน้อยก็เกิดผลมาก เหมือนทักษิณาที่ถวายแด่พระอรหันต์

            นางผู้งดงามทั่วสรรพางค์ บุญที่ฉันได้ทำไว้ในพระอรหันต์ผู้คงที่นั้น จงอำนวยผลแก่ฉันพร้อมกับเธอ นางผู้งดงามทั่วสรรพางค์ บุญที่ฉันได้ทำไว้ในปฐพีมณฑลนี้ จงอำนวยผลแก่ฉันพร้อมกับเธอ

            แม่(ภัททา)สุริยวัจฉสา ฉันใฝ่ฝันหาเธอ เหมือนพระสมณศากยบุตรผู้ทรงเข้าฌานอยู่ผู้เดียว ผู้มีปัญญาครองตน มีสติ เป็นมุนี แสวงหาอมตธรรม แม่คุณคนงาม ถ้าฉันได้อยู่ร่วมกับเธอ ก็จะพึงชื่นชม เหมือนพระมุนีบรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุดพึงชื่นชมฉะนั้น

            หากท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งดาวดึงส์ จะประทานพรแก่ฉัน ฉันก็จะต้องเลือกเอาเธอเป็นแน่ ความปรารถนาของฉันมั่นคงอยู่อย่างนี้  แม่คุณผู้เฉลียวฉลาด ฉันขอน้อมไหว้บิดาของเธอผู้มีธิดางามเช่นนี้ ดุจต้นสาละที่ผลิดอกใหม่ๆ ฉะนั้น”

            [๓๔๙] เมื่อปัญจสิขะ คันธรรพบุตรกราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับปัญจสิขะ คันธรรพบุตรดังนี้ว่า “ปัญจสิขะ เสียงสายพิณของท่านเทียบได้กับเสียงขับร้อง และเสียงขับร้องเทียบได้กับเสียงสายพิณ เสียงสายพิณของท่านไม่เกินเสียงขับร้อง และเสียงขับร้องก็ไม่เกินเสียงสายพิณ คาถาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธเกี่ยวเนื่องด้วยพระธรรม เกี่ยวเนื่องด้วยพระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องด้วยพระอรหันต์ และเกี่ยวเนื่องด้วยกามเหล่านี้ ท่านประพันธ์ไว้เมื่อไร”

            ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ประพันธ์คาถาเหล่านี้ไว้ เมื่อสมัยที่พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ใต้ต้นอชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น ข้าพระองค์หลงรักภัททาสุริยวัจฉสา ธิดาของท้าวติมพรุคันธรรพราช แต่นางรักผู้อื่นคือหลงรักสิขัณฑี บุตรของมาตลีสังคาหกเทพบุตร เมื่อข้าพระองค์ไม่ได้นางด้วยวิธีหนึ่งจึงถือเอาพิณสีเหลืองดังผลมะตูมเข้าไปยังนิเวศน์ของท้าวติมพรุคันธรรพราช แล้วบรรเลงพิณขึ้น กล่าวคาถาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธ เกี่ยวเนื่องด้วยพระธรรม เกี่ยวเนื่องด้วยพระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องด้วยพระอรหันต์ และเกี่ยวเนื่องด้วยกามเหล่านี้ว่า

             ‘แม่ภัททาสุริยวัจฉสา ฉันขอกราบท่านติมพรุบิดาของเธอ โดยเหตุที่เธอเกิดมางดงาม ทำให้ฉันปลื้มใจ ฯลฯ แม่คุณผู้เฉลียวฉลาด ฉันขอน้อมไหว้บิดาของเธอผู้มีธิดางามเช่นนี้ ดุจต้นสาละที่ผลิตดอกใหม่ๆ ฉะนั้น’

            ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้ นางภัททาสุริยวัจฉสา กล่าวตอบว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ฉันไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์ เป็นแต่เคยได้ยินเมื่อเข้าไปฟ้อนในสุธัมมาเทวสภาของเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์เท่านั้น เนื่องจากท่านได้กล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นได้ ก็จงมาสมาคมกับพวกเรา ณ บัดนี้’ ข้าพระองค์จึงได้ร่วมสมาคมกับนางและไม่ใช่ครั้งนี้เท่านั้น หลังจากนั้นมา ข้าพระองค์ก็ได้สมาคมกันอีก”

ท้าวสักกะจอมเทพเข้าเฝ้า

            [๓๕๐] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงมีความดำริดังนี้ว่า “ปัญจสิขะ คันธรรพบุตร ได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคก็ทรงปราศรัยกับปัญจสิขะ” จึงรับสั่งเรียกปัญจสิขะ คันธรรพบุตรมาตรัสว่า “ปัญจสิขะ พ่อจงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์ พร้อมด้วยบริษัท ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร”

            ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคตามรับสั่งว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะ จอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์ พร้อมด้วยบริษัท ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร’

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ปัญจสิขะ ขอให้ท้าวสักกะ จอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์ พร้อมด้วยบริษัทจงมีความสุขเถิด เพราะว่ามีพวกเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ และสัตว์เหล่าอื่นอีกจำนวนมากต่างก็ปรารถนาความสุข”

            [๓๕๑] พระตถาคตทั้งหลายย่อมประทานพรแก่เทพผู้มีศักดิ์ใหญ่เช่นนี้อย่างนี้แล ท้าวสักกะ จอมเทพผู้อันพระผู้มีพระภาคได้ประทานพรแล้ว เสด็จเข้าไปยังถ้ำอินทสาละของพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร แม้พวกเทพชั้นดาวดึงส์ก็เข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร แม้ปัญจสิขะ คันธรรพบุตร ก็เข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร

            เวลานั้น ถ้ำอินทสาละซึ่งมีพื้นไม่สม่ำเสมอก็สม่ำเสมอ ที่คับแคบก็กลับกว้างขวาง ความมืดในถ้ำหายไป เกิดความสว่างขึ้นเพราะเทวานุภาพของเหล่าเทพ

            [๓๕๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท้าวสักกะ จอมเทพดังนี้ว่า “นี้เป็นเหตุน่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏที่ท้าวโกสีย์ มีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก เสด็จมาถึงที่นี้ได้”

            ท้าวสักกะ จอมเทพกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคตั้งนานแล้ว แต่มัวสาละวนด้วยกิจหน้าที่ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ จึงไม่สามารถมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้ ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่สลฬาคาร เขตกรุงสาวัตถี ข้าพระองค์ได้ไปยังกรุงสาวัตถีเพื่อจะเฝ้าพระองค์ แต่ขณะนั้นพระองค์ประทับเข้าสมาธิอยู่ มีนางปริจาริกาของท้าวเวสวัณมหาราชชื่อว่าภุชคีคอยอุปัฏฐาก นางยืนประนมมือถวายนมัสการอยู่ ขณะนั้นข้าพระองค์กล่าวกับนางว่า ‘น้องหญิง เธอจงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ‘ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์พร้อมด้วยบริษัท ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้ นางตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์ท่านทรงหลีกเร้นเพียงลำพัง’ ข้าพระองค์จึงสั่งว่า ‘น้องหญิง ถ้าอย่างนั้น คราวที่พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธิ เธอจงถวายอภิวาทพระองค์ตามคำของเราว่า ‘ท้าวสักกะ จอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์พร้อมด้วยบริษัท ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร’ นางได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคหรือไม่ พระองค์ทรงระลึกถึงคำของนางได้อยู่หรือ”

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอไหว้เราแล้ว เราระลึกถึงคำของเธอได้ และเราออกจากสมาธิเพราะเสียงล้อรถของพระองค์”

            ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพวกเทพผู้เกิดในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ก่อนกว่าพวกข้าพระองค์ว่า ‘คราวที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก หมู่เทพเจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง’ ข้อนี้ข้าพระองค์ได้เห็นประจักษ์แล้วว่า เมื่อพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก หมู่เทพเจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง’

เรื่องโคปกเทพบุตร

            [๓๕๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกรุงกบิลพัสดุ์นี้ ได้มีศากยธิดานามว่าโคปิกา ผู้เลื่อมใสในพระพุทธ เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์ ผู้รักษาศีล (ศีล ในที่นี้หมายถึงศีล ๕) ให้บริบูรณ์ หน่ายความรู้สึกเป็นหญิง อบรมความรู้สึกเป็นชาย (หน่ายความรู้สึกเป็นหญิง อบรมความรู้สึกเป็นชาย หมายถึงอาการที่ไม่ได้เกิดจากภาวะผิดปกติด้านความรู้สึก แต่เกิดจากความปรารถนาจะบำเพ็ญบารมีให้สูงขึ้น เนื่องจากเพศหญิงไม่อาจบรรลุปัจเจกโพธิญาณและสัมมาสัมโพธิญาณได้) หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ได้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ได้เป็นบุตรของข้าพระองค์ ในที่นั้นพวกเทพรู้จักเธออย่างนี้ว่า ‘โคปกเทพบุตร’ ภิกษุอื่นอีก ๓ รูปประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ไปเกิดในหมู่คนธรรพ์ซึ่งเป็นชั้นต่ำ พวกคนธรรพ์นั้นเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ มาสู่ที่บำรุงบำเรอของข้าพระองค์ โคปกเทพบุตรกล่าวเตือนพวกคนธรรพ์ผู้มายังที่บำรุงบำเรอของข้าพระองค์ว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พวกท่านหันหน้าไปทางไหน (หันหน้าไปทางไหน หมายถึงใจลอยหรือนอนหลับในขณะที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเฉพาะหน้า) ทั้งที่ได้ฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล้ว เราเป็นหญิงเลื่อมใสในพระพุทธ เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์ รักษาศีลให้บริบูรณ์ หน่ายความรู้สึกเป็นหญิง อบรมความรู้สึกเป็นชาย หลังจากตายแล้วมาเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ได้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์ เป็นบุตรของท้าวสักกะจอมเทพ ในที่นี้พวกเทพรู้จักเราอย่างนี้ว่า ‘โคปกเทพบุตร’ ส่วนพวกท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค มาเกิดในหมู่คนธรรพ์ซึ่งเป็นชั้นต่ำ พวกเราได้เห็นผู้ร่วมประพฤติธรรมที่มาเกิดในหมู่คนธรรพ์ซึ่งเป็นชั้นต่ำ นับว่าได้เห็นรูปที่ไม่น่าดูเลย’ เมื่อพวกคนธรรพ์ ๓ ตน ถูกโคปกเทพบุตรตักเตือน มีเทพ (เทพ ในที่นี้หมายถึงคนธรรพ์) ๒ องค์ กลับได้สติในปัจจุบันทันทีแล้วไปเกิดในพรหมโลกชั้นพรหมปุโรหิตา ส่วนเทพอีกองค์หนึ่งยังคงอยู่ในกามภพ

             [๓๕๔] โคปกเทพบุตรกล่าวว่า

               ‘เรามีนามว่า ‘โคปิกา’ เป็นอุบาสิกาของพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ เราเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระพุทธ พระธรรม และมีจิตเลื่อมใสบำรุงพระสงฆ์ เพราะความดีของพระธรรมของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทีเดียว เราได้เป็นบุตรของท้าวสักกะ มีอานุภาพมาก มีความรุ่งเรืองมาก มาเกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ แม้ในที่นี้พวกเทพรู้จักเราว่า ‘โคปกเทพบุตร’ เราได้มาเห็นพวกภิกษุผู้เป็นสาวกของพระโคดม ผู้เกิดอยู่ในหมู่คนธรรพ์ ซึ่งเราเคยเห็นมาแล้ว เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ยังได้เคยปรนนิบัติเท้า (ปรนนิบัติเท้า หมายถึงการอุปัฏฐาก เช่น การล้างเท้า การนวดเท้า และการทาเท้า) ในเรือนของตน แล้วอุปัฏฐากด้วยข้าวและน้ำ 

            ท่านเหล่านี้หันหน้าไปทางไหน จึงไม่ได้รับพระธรรมของพระพุทธเจ้า พระธรรมที่วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงไว้ดีแล้ว แม้เราก็เข้าไปหาพวกท่านได้ฟังสุภาษิตของพระอริยเจ้า ได้เป็นบุตรของท้าวสักกะ มีอานุภาพมาก มีความรุ่งเรืองมาก มาเกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ ส่วนพวกท่านเข้าไปนั่งใกล้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม แต่กลับมาเกิดในหมู่เทพชั้นต่ำ การเกิดของพวกท่านไม่สมควร เราได้มาเห็นผู้ร่วมประพฤติธรรม มาเกิดในหมู่เทพชั้นต่ำนับว่าได้เห็นรูปที่ไม่น่าดูเลย พวกท่านมาเกิดในหมู่คนธรรพ์ ยังต้องมาสู่ที่บำรุงบำเรอของพวกเทพ ขอให้ท่านจงดูความวิเศษอันนี้ของเราผู้อยู่ครองเรือนเถิด เราเป็นหญิง แต่วันนี้เป็นเทพบุตร ผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์’

            คนธรรพ์พวกนั้นพร้อมกันมาพบโคปกเทพบุตร ถูกเทพบุตรผู้เป็นสาวกของพระโคดมตักเตือนแล้ว จึงเกิดความสังเวชว่า ‘เอาเถิด พวกเราจะเพียรพยายาม อย่าได้เป็นคนรับใช้ของผู้อื่นอีกเลย’

             บรรดาคนธรรพ์เหล่านั้น คนธรรพ์ ๒ ตนระลึกถึงคำสอนของพระโคดมได้ จึงได้เริ่มตั้งความเพียร หน่ายความคิดในภพนี้ เห็นโทษในกาม ตัดกามสังโยชน์ (กามสังโยชน์ หมายถึงกามราคะ ซึ่งมีชื่อต่างๆ เช่น ฉันทะ ราคะ ฉันทราคะ) และกามพันธน์ (กามพันธน์ หมายถึงกามราคะ ซึ่งมีชื่อต่างๆ เช่น โยคะ คันถะ) อันเป็นโยคะที่ละได้ยากของมารผู้มีบาป ก้าวล่วงเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์ เพราะตัดกามคุณอันมีอยู่เสียได้  ประดุจช้างตัดบ่วงบาศได้

             เทพทั้งหมดพร้อมทั้งพระอินทร์และพระปชาบดี เข้าไปนั่งประชุมกันในสุธัมมาเทวสภา ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้กล้า ปราศจากราคะ กำลังบำเพ็ญธรรมที่ปราศจากความกำหนัด (ธรรมที่ปราศจากความกำหนัด ในที่นี้หมายถึงอนาคามิมรรค) ได้ก้าวล่วงเทพพวกนั้นที่นั่งอยู่ ท้าววาสวะผู้เป็นใหญ่กว่าเทพ ทอดพระเนตรเทพเหล่านั้น ท่ามกลางหมู่เทพแล้วทรงสังเวชว่า ‘เทพเหล่านั้นมาเกิดในหมู่เทพชั้นต่ำกว่า เวลานี้กลับก้าวล่วงพวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้’ โคปกเทพบุตรนั้นพิจารณาถ้อยคำของท้าวสักกะ ผู้ทรงเกิดความสังเวชแล้วกราบทูลท้าววาสวะว่า ‘มีพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นจอมคนอยู่ในมนุษยโลก ทรงครอบงำกามเสียได้ พระนามว่าพระศากยมุนี เทพพวกนั้นเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้เสื่อมจากสติ (สติ ในที่นี้ได้แก่ฌาน) ถูกข้าพระองค์ตักเตือนแล้วจึงกลับได้สติ’ บรรดาท่านทั้ง ๓ เหล่านั้น ผู้หนึ่งคงเกิดในหมู่คนธรรพ์อยู่ในภพนี้ อีก ๒ ท่านดำเนินตามทางสัมโพธิ (ทางสัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงอนาคามิมรรค) เพราะเป็นผู้มีจิตมั่นคง ย่อมเย้ยเทวโลก (เย้ยเทวโลก หมายถึงคนธรรพ์ ๒ ตนพอได้อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิแล้วก็ทำให้เป็นบาท เพื่อให้บรรลุสัมโพธิ แล้วจักไม่เวียนกลับมาในภพภูมิที่ต่ำอีกต่อไป) ได้

             การประกาศธรรมในศาสนานี้เป็นเช่นนี้ ไม่มีพระสาวกรูปไหนจะสงสัยอะไรในการประกาศธรรมนั้นเลย พวกข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระชินพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นจอมคน ทรงข้ามโอฆะได้ทรงตัดความสงสัยได้แล้ว

            บรรดาคนธรรพ์ ๓ ตนนั้น ๒ ตนรู้ธรรมอันใดของพระองค์แล้วถึงความเป็นผู้วิเศษไปเกิดในหมู่พรหมชั้นพรหมปุโรหิตาบรรลุคุณวิเศษแล้ว

            ท่านผู้นิรทุกข์ ขอประทานวโรกาส ถึงพวกข้าพระองค์ก็มาเพื่อบรรลุธรรมนั้น หากพระผู้มีพระภาคทรงประทานวโรกาส ก็จะขอทูลถามปัญหา”

            [๓๕๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า “ท้าวสักกะทรงเป็นผู้บริสุทธิ์มาช้านาน จะตรัสถามปัญหากับเรา ก็จะตรัสถามทุกอย่างที่ประกอบด้วยประโยชน์ จะไม่ตรัสถามปัญหาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และท้าวเธอจะทรงเข้าใจที่เราตอบได้ฉับพลันเทียว”

            [๓๕๖] จากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท้าวสักกะจอมเทพเป็นพระคาถาว่า

            “วาสวะ พระองค์ทรงปรารถนาสิ่งใดไว้ในพระทัย ก็โปรดถามปัญหานั้นกับอาตมภาพเถิด อาตมภาพจะแก้ปัญหานั้นให้ถึงที่สุดแด่พระองค์”

ภาณวารที่ ๑ จบ

-------------------------------

            [๓๕๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานพระวโรกาสแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพได้ทูลถามปัญหาข้อที่ ๑ นี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกเทพ มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ และสัตว์เหล่าอื่นอีกจำนวนมากต่างก็มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ขอพวกเราจงเป็นผู้ไม่มีเวร จงเป็นผู้ไม่ถูกลงโทษ จงเป็นผู้ไม่มีศัตรู จงเป็นผู้ไม่ถูกเบียดเบียน จงเป็นผู้ไม่จองเวรกันอยู่เถิด’ แต่เพราะมีอะไรเป็นเครื่องผูกมัดเล่า พวกเขาจึงยังคงมีเวร ถูกลงโทษ มีศัตรู ถูกเบียดเบียน ยังจองเวรกันอยู่” ท้าวเธอได้ทูลถามปัญหาอย่างนี้

            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ พวกเทพ มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ และสัตว์เหล่าอื่นอีกจำนวนมาก ต่างมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ขอพวกเราจงเป็นผู้ไม่มีเวร จงเป็นผู้ไม่ถูกลงโทษ จงเป็นผู้ไม่มีศัตรู จงเป็นผู้ไม่ถูกเบียดเบียน จงเป็นผู้ไม่จองเวรกันอยู่เถิด’ แต่เพราะมีอิสสา(ความริษยา) และมัจฉริยะ(ความตระหนี่) เป็นเครื่องผูกมัด พวกเขาจึงยังคงมีเวร ถูกลงโทษ มีศัตรู ถูกเบียดเบียน จองเวรกันอยู่”

            เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้วเพราะได้ฟังการตรัสตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”

            [๓๕๘] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อิสสาและมัจฉริยะมีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไร จึงมีอิสสาและมัจฉริยะ เมื่อไม่มีอะไร จึงไม่มีอิสสาและมัจฉริยะ”

            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ อิสสาและมัจฉริยะ มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักเป็นต้นเหตุ มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักเป็นเหตุเกิด มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักเป็นกำเนิด มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักเป็นแดนเกิด เมื่อมีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก จึงมีอิสสาและมัจฉริยะ เมื่อไม่มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก จึงไม่มีอิสสาและมัจฉริยะ”

            ท้าวเธอทูลถามว่า “อารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไรจึงมีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก เมื่อไม่มีอะไรจึงไม่มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก”

            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักมีฉันทะ (ฉันทะ แปลว่าความพอใจ แต่ในที่นี้หมายถึงความไม่รู้จักอิ่มคือตัณหา มี ๕ อย่างคือ (๑) ปริเยสนฉันทะ (ความไม่อิ่มในการแสวงหา) (๒) ปฏิลาภฉันทะ (ความไม่อิ่มในการได้มา) (๓) ปริโภคฉันทะ (ความไม่อิ่มในการใช้สอย) (๔) สันนิธิฉันทะ (ความไม่อิ่มในการกักตุน) (๕) วิสัชชนฉันทะ (ความไม่อิ่มในการจ่ายทรัพย์)) เป็นต้นเหตุ มีฉันทะเป็นเหตุเกิด มีฉันทะเป็นกำเนิด มีฉันทะเป็นแดนเกิด เมื่อมีฉันทะจึงมีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก เมื่อไม่มีฉันทะจึงไม่มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก”

            ท้าวเธอทูลถามว่า “ฉันทะมีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไรจึงมีฉันทะ เมื่อไม่มีอะไรจึงไม่มีฉันทะ”

            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ฉันทะมีวิตก (วิตก แปลว่าการตรึก การไตร่ตรอง ในที่นี้หมายถึงการตรึกเพื่อการตัดสิน ๒ อย่าง คือ (๑) ตัณหาวินิจฉัย (การตัดสินด้วยอำนาจตัณหา) (๒) ทิฏฐิวินิจฉัย (การตัดสินด้วยอำนาจทิฏฐิ)) เป็นต้นเหตุ มีวิตกเป็นเหตุเกิด มีวิตกเป็นกำเนิด มีวิตกเป็นแดนเกิด เมื่อมีวิตกจึงมีฉันทะ เมื่อไม่มีวิตกจึงไม่มีฉันทะ”

            ท้าวเธอทูลถามว่า “วิตกมีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไรจึงมีวิตก เมื่อไม่มีอะไรจึงไม่มีวิตก”

            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “วิตกมีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา (แง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา แยกอธิบายตามศัพท์ได้ดังนี้ แง่ต่าง แปลจากคำว่า สงฺขา คือส่วนต่างๆ หมายถึงส่วนต่างๆ แห่งปปัญจสัญญา ปปัญจะ หมายถึงปปัญจธรรม ซึ่งแปลว่า ธรรมเครื่องเนิ่นช้า ได้แก่ ตัณหาวิจริต ๑๐๘ มานะ ๙ และทิฏฐิ ๖๒ ซึ่งเป็นเหตุให้มีความประมาทมัวเมา มีความประมาทมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว ในความไม่มีโรค และในชีวิต ปปัญจสัญญา หมายถึงสัญญา(ความกำหนดหมาย) ที่ประกอบด้วยปปัญจธรรม คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ แต่ในที่นี้หมายเอาเพียงตัณหาเท่านั้น ดังนั้น คำว่า “แง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา” จึงหมายถึงการคิดปรุงแต่งอารมณ์ต่างๆ ด้วยอำนาจตัณหา มานะ และทิฏฐิของตนๆ จึงเกิดแง่ต่างๆ หรือมุมมองที่แตกต่างกันทั้งๆ ที่คิดเรื่องเดียวกัน) เป็นต้นเหตุ มีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาเป็นเหตุเกิด มีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาเป็นกำเนิด มีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาเป็นแดนเกิด เมื่อมีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาจึงมีวิตก เมื่อไม่มีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาจึงไม่มีวิตก”

            ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติตามข้อปฏิบัติอันสมควรและดำเนินไปสู่ความดับแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา”

เรื่องเวทนากัมมัฏฐาน

            [๓๕๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ เรากล่าวโสมนัสไว้ ๒ อย่างคือ โสมนัสที่ควรเสพและโสมนัสที่ไม่ควรเสพ กล่าวโทมนัสไว้ ๒ อย่าง คือ โทมนัสที่ควรเสพและโทมนัสที่ไม่ควรเสพ และกล่าวอุเบกขาไว้ ๒ อย่าง คือ อุเบกขาที่ควรเสพและอุเบกขาที่ไม่ควรเสพ

            [๓๖๐] เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวโสมนัสไว้ ๒ อย่าง คือ โสมนัสที่ควรเสพและโสมนัสที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

            บรรดาโสมนัส ๒ อย่างนั้น โสมนัสใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพโสมนัสนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ โสมนัสเช่นนี้เป็นโสมนัสที่ไม่ควรเสพ (โสมนัสที่ไม่ควรเสพ หมายถึงโสมนัสที่อาศัยกามคุณ เป็นไปทางทวาร ๖)

            บรรดาโสมนัส ๒ อย่างนั้น โสมนัสใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพโสมนัสนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ โสมนัสเช่นนี้เป็นโสมนัสที่ควรเสพ (โสมนัสที่ควรเสพ หมายถึงโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจเนกขัมมะ วิปัสสนา อนุสสติ และปฐมฌานเป็นต้น)

            ในโสมนัส (โสมนัส ในที่นี้หมายถึงโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ) นั้น โสมนัสใดมีวิตก มีวิจาร (โสมนัสมีวิตกมีวิจาร ในที่นี้หมายถึงโสมนัสที่เกิดขึ้นอำนาจปฐมฌาน) และโสมนัสใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร (โสมนัสไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ในที่นี้หมายถึงโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจทุติยฌานและตติยฌาน) บรรดาโสมนัส ๒ อย่างนั้น โสมนัสที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า’

             ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวโสมนัสไว้ ๒ อย่าง คือ โสมนัสที่ควรเสพและโสมนัสที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้

            [๓๖๑] เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวโทมนัสไว้ ๒ อย่าง คือ โทมนัสที่ควรเสพและโทมนัสที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

            บรรดาโทมนัส ๒ อย่างนั้น โทมนัสใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพโทมนัสนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ โทมนัสเช่นนี้เป็นโทมนัสที่ไม่ควรเสพ

            บรรดาโทมนัส ๒ อย่างนั้น โทมนัสใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพโทมนัสนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ โทมนัสเช่นนี้เป็นโทมนัสที่ควรเสพ

            ในโทมนัสนั้น โทมนัสใดมีวิตก มีวิจาร (โทมนัสมีวิตกมีวิจาร ในที่นี้หมายถึงโทมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจปฐมฌานและทุติยฌาน) และโทมนัสใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร (โทมนัสไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ในที่นี้หมายถึงโทมนัสที่เกิดขึ้นโดยตรง) บรรดาโทมนัส ๒ อย่างนั้น โทมนัสที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวโทมนัสไว้ ๒ อย่าง คือ โทมนัสที่ควรเสพและโทมนัสที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้

            [๓๖๒] เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวอุเบกขาไว้ ๒ อย่าง คือ อุเบกขาที่ควรเสพและอุเบกขาที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

            บรรดาอุเบกขา ๒ อย่างนั้น อุเบกขาใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพอุเบกขานี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ อุเบกขาเช่นนี้เป็นอุเบกขาที่ไม่ควรเสพ

             บรรดาอุเบกขา ๒ อย่างนั้น อุเบกขาใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพอุเบกขานี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ อุเบกขาเช่นนี้เป็นอุเบกขาที่ควรเสพ

            ในอุเบกขานั้น อุเบกขาใดมีวิตก มีวิจาร (อุเบกขามีวิตกมีวิจาร ในที่นี้หมายถึงอุเบกขาที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจปฐมฌาน) และอุเบกขาใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร (อุเบกขาไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ในที่นี้หมายถึงอุเบกขาที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจทุติยฌานและตติยฌานเป็นต้น) บรรดาอุเบกขา ๒ อย่างนั้น อุเบกขาที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า’

            ข้อที่เรากล่าวไว้ว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวอุเบกขาไว้ ๒ อย่าง คือ อุเบกขาที่ควรเสพและอุเบกขาที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้

            [๓๖๓] จอมเทพ ภิกษุปฏิบัติอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่าปฏิบัติตามข้อปฏิบัติอันสมควร และดำเนินไปสู่ความดับแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา”

            เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า

            “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัสตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”

 

ปาติโมกขสังวร (สำรวมในปาติโมกข์)

            [๓๖๔] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมในปาติโมกข์”

            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ เรากล่าวกายสมาจาร(ความประพฤติทางกาย) ไว้ ๒ อย่าง คือ กายสมาจารที่ควรเสพและกายสมาจารที่ไม่ควรเสพ กล่าววจีสมาจาร(ความประพฤติทางวาจา)ไว้ ๒ อย่างคือ วจีสมาจารที่ควรเสพและวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ และกล่าวปริเยสนา(การแสวงหา)ไว้ ๒ อย่างคือ ปริเยสนาที่ควรเสพและปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ

            เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวกายสมาจารไว้ ๒ อย่างคือ กายสมาจารที่ควรเสพ และกายสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

            บรรดากายสมาจาร ๒ อย่างนั้น กายสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพกายสมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ กายสมาจารเช่นนี้เป็นกายสมาจารที่ไม่ควรเสพ

            บรรดากายสมาจาร ๒ อย่างนั้น กายสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพกายสมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ กายสมาจารเช่นนี้เป็นกายสมาจารที่ควรเสพ

            ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวกายสมาจารไว้ ๒ อย่าง คือ กายสมาจารที่ควรเสพและกายสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้

            เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าววจีสมาจารไว้ ๒ อย่าง คือ วจีสมาจารที่ควรเสพและวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

            บรรดาวจีสมาจาร ๒ อย่างนั้น วจีสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพวจีสมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ วจีสมาจารเช่นนี้เป็นวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ

            บรรดาวจีสมาจาร ๒ อย่างนั้น วจีสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพวจีสมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ วจีสมาจารเช่นนี้เป็นวจีสมาจารที่ควรเสพ

             ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าววจีสมาจารไว้ ๒ อย่าง คือ วจีสมาจารที่ควรเสพและวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้

            เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวปริเยสนาไว้ ๒ อย่าง คือ ปริเยสนาที่ควรเสพและปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

            บรรดาปริเยสนา ๒ อย่างนั้น ปริเยสนาใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพปริเยสนานี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ ปริเยสนานี้เป็นปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ

            บรรดาปริเยสนา ๒ อย่างนั้น ปริเยสนาใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพปริเยสนานี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ ปริเยสนาเช่นนี้เป็นปริเยสนาที่ควรเสพ

            ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวปริเยสนาไว้ ๒ อย่าง คือ ปริเยสนาที่ควรเสพและปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้

            จอมเทพ ภิกษุปฏิบัติอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมในปาติโมกข์”

            เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น’ ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัสตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”

 

อินทริยสังวร (สำรวมอินทรีย์)

            [๓๖๕] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์”

            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ เรากล่าวรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาไว้ ๒ อย่าง คือ รูปที่ควรเสพ (คำว่า เสพ มีความหมายตามบริบท เช่น เสพรูป หมายถึงเห็นรูป เสพเสียง หมายถึงฟังเสียง เสพกลิ่นหมายถึงดมกลิ่น เสพรส หมายถึงลิ้มรส เสพโผฏฐัพพะ หมายถึงถูกต้องโผฏฐัพพะ เสพธรรมารมณ์หมายถึงนึกถึงธรรมารมณ์) และรูปที่ไม่ควรเสพ กล่าวเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูไว้ ๒ อย่าง คือ เสียงที่ควรเสพและเสียงที่ไม่ควรเสพ กล่าวกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูกไว้ ๒ อย่างคือ กลิ่นที่ควรเสพและกลิ่นที่ไม่ควรเสพ กล่าวรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้นไว้ ๒ อย่างคือ รสที่ควรเสพและรสที่ไม่ควรเสพ กล่าวโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกายไว้ ๒ อย่างคือ โผฏฐัพพะที่ควรเสพและโผฏฐัพพะที่ไม่ควรเสพ กล่าวธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจไว้ ๒ อย่างคือ ธรรมารมณ์ที่ควรเสพและธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพ”

            เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท้าวสักกะจอมเทพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ชัดเนื้อความแห่งพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า ‘เมื่อบุคคลเสพรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาเช่นนี้เป็นรูปที่ไม่ควรเสพ เมื่อบุคคลเสพรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาเช่นนี้เป็นรูปที่ควรเสพ เมื่อบุคคลเสพเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูเช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูกเช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้นเช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกายเช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นใด’ อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นนี้ เป็นธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพ เมื่อบุคคลเสพธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นนี้ เป็นธรรมารมณ์ที่ควรเสพ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ชัดเนื้อความแห่งพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้แล จึงไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัสตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”

            [๓๖๖] ท้าวสักกะจอมเทพชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีวาทะ(หลักการ)อย่างเดียวกัน มีศีล(ข้อปฏิบัติ)อย่างเดียวกัน มีฉันทะ(ลัทธิ) อย่างเดียวกัน มีอัชโฌสานะ (อัชโฌสานะ ในที่นี้หมายถึงมีที่สุดอย่างเดียวกัน(เอกปริโยสานา) มีข้อตกลงร่วมกัน(สมานนิฏฐานา)) (จุดหมาย)อย่างเดียวกัน หรือหนอ”

             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ สมณพราหมณ์ทั้งหมด ไม่มีวาทะอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน ไม่มีอัชโฌสานะอย่างเดียวกัน”

            ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน ไม่มีอัชโฌสานะอย่างเดียวกัน”

            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ โลกมีธาตุหลากหลาย (ธาตุหลากหลาย ได้แก่ มีอัชฌาสัย คือนิสัยใจคอความนิยมต่างกัน เช่น เมื่อคนหนึ่งอยากเดิน อีกคนหนึ่งอยากยืน เมื่อคนหนึ่งอยากยืน อีกคนหนึ่งอยากนอน) มีธาตุต่างกัน ในโลกที่มีธาตุหลากหลายมีธาตุต่างกันนั้น เหล่าสัตว์ยึดมั่นธาตุใดๆ อยู่ ก็ย่อมยึดมั่นธาตุนั้นๆ ด้วยเรี่ยวแรงและความยึดมั่นอยู่ว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน ไม่มีอัชโฌสานะอย่างเดียวกัน”

            ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีความสำเร็จสูงสุด (ความสำเร็จสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพ้นความพินาศคือกิเลส) มีความเกษมจากโยคะสูงสุด (ความเกษมจากโยคะสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน) ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด (ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด ในที่นี้หมายถึงอริยมรรค) มีที่สุดอันสูงสุด (ที่สุดอันสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน) หรือหนอ”

            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ สมณพราหมณ์ทั้งหมด ไม่มีความสำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด ไม่มีที่สุดอันสูงสุด”

            ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีความสำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด ไม่มีที่สุดอันสูงสุด”

             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ ภิกษุทั้งหลายผู้หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหาเท่านั้นจึงจะมีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมดจึงไม่มีความสำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด ไม่มีที่สุดอันสูงสุด”

            เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า

            “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัสตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”

            [๓๖๗] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคดังนี้แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ความหวั่นไหวเป็นโรค ความหวั่นไหวเป็นหัวฝี ความหวั่นไหวเป็นลูกศร ความหวั่นไหวฉุดคร่าบุรุษนี้ไปเพื่อบังเกิดในภพนั้นๆ ฉะนั้น บุรุษนี้จึงถึงฐานะสูงบ้างต่ำบ้าง (ฐานะสูงบ้างต่ำบ้าง ในที่นี้หมายถึงภพภูมิต่างๆ เช่น พรหมโลกสูงกว่าเทวโลก เทวโลกสูงกว่ามนุษยโลก และมนุษยโลกสูงกว่าอบายภูมิ)

            ปัญหาที่ข้าพระองค์ไม่ได้แม้โอกาสจะถามในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอกพระธรรมวินัยนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบแก่ข้าพระองค์แล้ว และได้ทรงถอนลูกศรคือความสงสัยและความเคลือบแคลงที่นอนเนื่องมานานของข้าพระองค์ด้วย”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ทรงจำได้หรือไม่ว่าปัญหาข้อนี้ได้ตรัสถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นมาบ้างแล้ว”

            ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ยังจำได้ พระพุทธเจ้าข้า”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ท่านเหล่านั้นตอบว่าอย่างไร หากไม่หนักพระทัย เชิญพระองค์ตรัสเถิด”

            ท้าวเธอทูลตอบว่า “ณ สถานที่ที่มีพระผู้มีพระภาค หรือผู้เปรียบดังพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ หม่อมฉันไม่หนักใจเลย พระพุทธเจ้าข้า”

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เชิญพระองค์ตรัสเถิด จอมเทพ” ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์เข้าไปหาสมณพราหมณ์ ที่เข้าใจว่า ‘เป็นผู้อยู่ป่า อยู่ในเสนาสนะอันสงัด’ แล้วถามปัญหาเหล่านี้ ท่านเหล่านั้น เมื่อถูกถามก็ตอบไม่ได้กลับย้อนถามข้าพระองค์ว่า ‘ท่านชื่ออะไร’ เมื่อถูกย้อนถาม ข้าพระองค์จึงตอบว่า ‘เราชื่อท้าวสักกะจอมเทพ’ ท่านเหล่านั้นก็ยังถามต่อไปอีกว่า ‘ท่านทำกรรมอะไรจึงถึงฐานะอันนี้เล่า’ ข้าพระองค์จึงแสดงธรรม (ธรรม ในที่นี้หมายถึงวัตตบท ได้แก่ ข้อที่ถือปฏิบัติประจำที่ทำให้มฆมาณพได้เป็นท้าวสักกะจอมเทพมี ๗ อย่าง คือ (๑) มาตาเปติภโร (เลี้ยงมารดาบิดา) (๒) กุเลเชฏฺฐาปจายี (เคารพผู้ใหญ่ในตระกูล) (๓) สณฺหวาโจ (พูดคำสุภาพอ่อนหวาน) (๔) อปิสุณวาโจ หรือ เปสุเณยฺยปฺปหายี (ไม่พูดส่อเสียดพูดสมานสามัคคี) (๕) ทานสํวิภาครโต หรือ มจฺเฉรวินโย (ยินดีในการแจกทาน ปราศจากความตระหนี่) (๖) สจฺจวาโจ (มีวาจาสัตย์) (๗) อโกธโน หรือ โกธาภิภู (ไม่โกรธ ระงับความโกรธได้)) ตามที่ได้ฟังที่ได้เรียนมา ท่านเหล่านั้นมีใจยินดีด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า ‘พวกเราได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพและท้าวเธอได้ตรัสตอบปัญหาที่พวกเราถาม’ ท่านเหล่านั้นยอมเป็นสาวกของข้าพระองค์ ส่วนข้าพระองค์ไม่ยอมเป็นสาวกของท่านเหล่านั้น แต่(บัดนี้)ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า

 

เรื่องการได้โสมนัส

            [๓๖๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ยังทรงจำการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้ก่อนแต่นี้ได้หรือไม่”

            ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ยังจำการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้ก่อนแต่นี้ได้ พระพุทธเจ้าข้า”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พระองค์ยังทรงจำการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้ก่อนแต่นี้ได้ว่าอย่างไร”

             ท้าวเธอกราบทูลว่า“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อครั้งเกิดสงครามระหว่างเทพกับอสูรถึงขั้นรบประชิด ในสงครามนั้นพวกเทพชนะ พวกอสูรพ่ายแพ้ เมื่อข้าพระองค์ชนะสงครามจึงมีความคิดว่า ‘บัดนี้พวกเทพในเทวโลกจะบริโภคโอชา (รส) ๒ ประการ คือ ทิพยโอชาและอสูรโอชา’ การได้ความยินดี การได้โสมนัสของข้าพระองค์นั้นเป็นทางมาแห่งทัณฑาวุธ เป็นทางมาแห่งศัสตราวุธ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

            ส่วนการได้ความยินดี การได้โสมนัสของข้าพระองค์ เพราะได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น ไม่เป็นทางมาแห่งทัณฑาวุธ ไม่เป็นทางมาแห่งศัสตราวุธ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่งเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน”

            [๓๖๙] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ (อำนาจประโยชน์ หมายถึงเหตุ) อะไร จึงทรงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้”

            ท้าวเธอกราบทูลว่า “ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ ๖ ประการ จึงได้ประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้

            ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๑ นี้แลว่า  ‘เมื่อข้าพระองค์เกิดเป็นเทพดำรงอยู่ในที่นี้ (ในที่นี้ หมายถึงในถ้ำอินทสาละ) ข้าพระองค์กลับได้อายุเพิ่มขึ้นอีก ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด’ จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้

            ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๒ นี้แลว่า ‘เมื่อข้าพระองค์จุติจากกายทิพย์ ละอายุของอมนุษย์ เป็นผู้ไม่หลง จะเข้าสู่ครรภ์ในตระกูลที่ข้าพระองค์มีใจยินดี’  จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้

             ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๓ นี้แลว่า ‘เมื่อข้าพระองค์นั้นยินดีในศาสนา ของพระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาไม่ลุ่มหลง ข้าพระองค์มีสัมปชัญญะ มีสติอยู่โดยชอบธรรม (โดยชอบธรรม หมายถึงโดยสมควรแก่ความเป็นพระอริยสาวก)’ จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้

            ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๔ นี้แลว่า ‘เมื่อข้าพระองค์ประพฤติโดยชอบธรรมก็จักมีสัมโพธิ (สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงสกทาคามิมรรค) ข้าพระองค์จะรู้ทั่วถึง (จะรู้ทั่วถึง หมายถึงปรารถนาจะบรรลุคุณวิเศษที่ยังไม่บรรลุ) อยู่ นั่นแหละจะเป็นที่สุดของข้าพระองค์ (นั่นแหละจะเป็นที่สุดของข้าพระองค์ หมายถึงไม่มีการเกิดในมนุษยโลกอีกต่อไป)’ จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้

            ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๕ นี้แลว่า ‘เมื่อข้าพระองค์จุติจากกายมนุษย์ ละอายุของมนุษย์แล้ว จักเกิดเป็นเทพอีก ข้าพระองค์จะเป็นผู้สูงสุดในเทวโลก’ จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้

            ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๖ นี้แลว่า ‘เทพเหล่านั้นชั้นอกนิฏฐภพ เป็นผู้ประณีตกว่า เป็นผู้มียศ ในภพสุดท้ายที่ดำเนินไปอยู่ อกนิฏฐภพนั้นจะเป็นที่อยู่ของข้าพระองค์’ จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้

            ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ ๖ ประการนี้แล จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้

            [๓๗๐] ข้าพระองค์มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด มีความสงสัยเคลือบแคลง เที่ยวแสวงหาพระตถาคตอยู่สิ้นกาลนาน ข้าพระองค์เข้าไปหาสมณะ ที่เข้าใจว่าเป็นผู้อยู่เงียบสงบ สำคัญว่า ‘เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า’

            ท่านเหล่านั้นเมื่อถูกถามว่า ความสำเร็จเป็นอย่างไร ความไม่สำเร็จเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถตอบในเรื่องมรรคและปฏิปทาได้

            เมื่อท่านเหล่านั้นรู้ว่า ข้าพระองค์เป็นท้าวสักกะมาจากเทวโลก ก็พากันถามข้าพระองค์ว่า ‘ท่านทำกรรมอะไรจึงถึงฐานะนี้เล่า’

            ข้าพระองค์จึงแสดงธรรมแก่ท่านเหล่านั้น ตามที่ได้ฟังมาในหมู่ชน ท่านเหล่านั้นมีใจยินดีด้วยเหตุเพียงเท่านั้นว่า พวกเราได้เห็นท้าววาสวะแล้ว

            เมื่อข้าพระองค์นั้นได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ข้ามความสงสัยแล้ว ข้าพระองค์นั้นหมดความหวาดกลัว ในวันนี้ ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

            ข้าพระองค์ขอถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า ผู้ทรงกำจัดลูกศรคือตัณหาได้ ไม่มีบุคคลเปรียบเทียบได้ ทรงเป็นพระมหาวีระ ทรงเป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์

            ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์กับพวกเทพ กระทำความนอบน้อมอันใดแก่พระพรหม ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพระองค์จักถวายความนอบน้อมอันนั้นแด่พระองค์ ขอพระวโรกาสทำการนอบน้อมแด่พระองค์ พระองค์ผู้เดียวเท่านั้นที่ตรัสรู้ ทรงเป็นพระศาสดาที่ยอดเยี่ยม ไม่มีบุคคลใดทั้งในโลกและเทวโลก มาเปรียบเทียบกับพระองค์ได้”

            [๓๗๑] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งเรียกปัญจสิขะ คันธรรพบุตรมาตรัสว่า “พ่อปัญจสิขะ เธอมีคุณมากแก่เรา ที่ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงพอพระทัยก่อน เธอทำให้พระองค์ทรงพอพระทัยก่อนแล้ว ภายหลัง พวกเราจึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะตั้งเธอไว้ในตำแหน่งของบิดา เธอจะเป็นเจ้าแห่งคนธรรพ์ เราจะยกนางภัททาสุริยวัจฉสาให้เธอ เพราะว่านางเป็นผู้ที่เธอปรารถนาอย่างยิ่ง”

ท้าวสักกะจอมเทพได้ธรรมจักษุ

            ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงใช้พระหัตถ์ตบปฐพี ทรงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า

                          “ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

                           ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

                           ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”

            อนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีคือกิเลสปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพและแก่เทวดาอื่นอีก ๘๐,๐๐๐ องค์ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพอัญเชิญมาทูลถามแล้ว ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น เวยยากรณภาษิตนี้จึงมีชื่อว่า “สักกปัญหา”

สักกปัญหสูตรที่ ๘ จบ

-------------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนี้ นำมาจากบางส่วนของอรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค

สักกปัญหสูตร

               อรรถกถาสักกปัญหสูตร               


               สักกปัญหสูตรขึ้นต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้.
               ต่อไปนี้ เป็นการขยายความเฉพาะบทที่ไม่แจ่มแจ้งในสักกปัญหสูตรนั้น.
               เล่ากันมาว่า หมู่บ้านนั้นอยู่ไม่ไกลดงมะม่วง ฉะนั้น จึงเรียกว่าอัมพสณฑ์.
               นัยว่า เขานั้นมีดงป่าสีเขียวเหมือนเวทีแก้วมณี ซึ่งเกิดที่เชิงเขาล้อมรอบ ฉะนั้น จึงเรียกว่าเขาเวทิยกะ.
               แต่ก่อนมา ถ้ำนั้นอยู่ระหว่างเขาสองลูก และที่ประตูถ้ำนั้นมีต้นช้างน้าว ฉะนั้น จึงเรียกว่าถ้ำช้างน้าว ต่อมา พวกคนก็กั้นฝาถ้ำนั้น ติดประตูหน้าต่างทำที่เร้นที่วิจิตรด้วยลายดอกลายเถาโบกปูนขาว จนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. แต่คนทั้งหลายก็ยังรู้จักถ้ำนั้นว่า ถ้ำช้างน้าว ตามชื่อเดิมนั้นเอง. ท่านพระอานนท์หมายเอาถ้ำนั้น จึงกล่าวว่า ที่ถ้ำช้างน้าว.
               ก็แล ท้าวสักกะนั้นก็ทรงเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ามาบ่อยแล้วมิใช่หรือ มีประชุมเทวดากันที่ไหนนั้น ก็ไม่ใช่ว่าท้าวสักกะนี้ไม่เคยเสด็จมา ขึ้นชื่อว่าเทวบุตรขนาดท้าวสักกะอยู่อย่างประมาทก็ไม่มี เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไม ท้าวสักกะนั้นจึงทรงเกิดความอุตสาหะเหมือนผู้ไม่เคยมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเล่า
               ตอบว่า เพราะถูกความกลัวตายคุกคามเอา.
               นัยว่า สมัยนั้น พระชนมายุของท้าวเธอหมดแล้ว. ท้าวเธอได้ทรงเห็นบุรพนิมิตห้าประการ ทรงทราบว่า บัดนี้ เราหมดอายุแล้ว.
               ก็เครื่องหมายความตายปรากฏแก่เทวบุตรเหล่าใด ในเทวบุตรเหล่านั้น พวกใดเกิดในเทวโลกด้วยบุญกรรมเล็กน้อย พวกนั้นก็ย่อมถึงความหวาดสะดุ้ง เพราะความกลัวว่า คราวนี้ เราจักเกิดที่ไหนหนอ พวกใดได้เตรียมป้องกันภัยที่น่าสะพึงกลัวไว้ ทำบุญไว้มากเกิดแล้ว พวกนั้นคิดว่า เราอาศัยทานที่ตนได้ให้ ศีลที่รักษาไว้และภาวนาที่ได้อบรมไว้แล้ว จักเสวยสมบัติในเทวโลกชั้นสูง ย่อมไม่กลัว.
               ส่วนท้าวสักกเทวราช เมื่อได้ทรงเห็นบุรพนิมิต ก็ทรงมองดูสมบัติทั้งหมดอย่างนี้ว่า เทพนครหมื่นโยชน์ ประสาทไพชยันต์สูงพันโยชน์ สุธรรมาเทวสภาสามร้อยโยชน์ ต้นมหาปาริฉัตรสูงร้อยโยชน์ หินบัณฑุกัมพลหกสิบโยชน์ นางฟ้อนยี่สิบห้าโกฏิ เทพบริษัทในสองเทวโลก สวนนันทน์ สวนจิตรลดา สวนมิสสกะ สวนปารุสก์ แล้วก็ทรงถูกความกลัวครอบงำว่า ท่านเอ๋ย สมบัติของเรานี้จักฉิบหายหนอ ต่อไปก็ทรงมองดูว่ามีใครบ้างไหมหนอ ไม่ว่าเป็นสมณะ เป็นพราหมณ์ หรือมหาพรหมผู้เป็นพระบิดาของโลก ที่พึงถอนลูกศร คือความโศกที่อาศัยหัวใจเราแล้วทำให้สมบัตินี้มั่นคงได้ เมื่อทรงมองใครๆ ก็ไม่เห็น ก็ทรงเห็นอีกว่า มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงสามารถถอนความโศกศัลย์ที่เกิดแก่เทพทั้งหลายเช่นเราแม้ตั้งแสนได้.
               ต่อมาโดยสมัยนั้นแล ความขวนขวายเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้เกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมทวยเทพผู้ทรงพระดำริอยู่อย่างนี้.
               คำว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไหนหนอ คือ ท้าวสักกะทรงคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่จังหวัดอะไร ทรงเข้าไปอาศัยเมืองอะไรอยู่ กำลังเสวยปัจจัยของใครอยู่ กำลังทรงแสดงอมฤตธรรมแก่ใครอยู่. คำว่า ได้ทรงเห็นแล้วแล ความว่า ทรงได้เห็น คือทรงแทงตลอดแล้ว. คำว่า ผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย นี้เป็นคำที่น่ารัก เป็นสำนวนของพวกเทพโดยเฉพาะ มีอธิบายว่า ผู้ไม่มีทุกข์ ก็ได้. ก็ทำไมท้าวสักกะนี้จึงทรงเรียกพวกเทพ เพื่อต้องการเป็นเพื่อน.
               ครั้งก่อน ก็เล่ากันมาว่า ท้าวสักกะนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังประทับอยู่ที่กุฏิใกล้ต้นสน ก็เสด็จไปได้เฝ้าโดยลำพังมาแล้ว. พระศาสดาทรงพระดำริว่า ญาณของท้าวเธอยังไม่แก่กล้าพอ แต่ถ้ารอไปอีกสักหน่อย ขณะที่เราอยู่ถ้ำช้างน้าว ท้าวเธอจักเห็นบุรพนิมิตห้าอย่าง ทรงกลัวมรณภัยเข้ามาหาพร้อมกับพวกเทวดาในสองเทวโลก ทรงถามปัญหาสิบสี่ข้อ เมื่อแก้จบปัญหาเกี่ยวกับอุเบกขาแล้ว ทรงตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมกับเทวดาแปดหมื่นองค์ดังนี้ จึงไม่ประทานพระโอกาส.
               ท้าวสักกะนั้นทรงพระดำริว่า พระศาสดาไม่ประทานพระโอกาส เพราะเมื่อก่อนเราไปโดยลำพังผู้เดียว เรายังไม่มีอุปนิสัยแห่งมรรคผลเป็นแน่ ก็เมื่อเราผู้เดียวมีอุปนิสัย พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงธรรมแก่บริษัทแม้จนสุดจักรวาลแน่ ก็แน่ล่ะในเทวโลกสองชั้น ใครผู้ใดผู้หนึ่งคงจะมีอุปนิสัยแท้เทียว พระศาสดาคงจะทรงหมายเอาผู้นั้นแล้วทรงแสดงธรรม ถึงเราเองเมื่อได้ฟังธรรมนั้นแล้ว ก็คงจะดับความโทมนัสของตนได้ ดังนี้แล้ว จึงตรัสเรียกเพื่อต้องการเป็นเพื่อน.
               คำว่า พวกเทพชั้นดาวดึงส์รับสนองพระดำรัสว่า ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์อย่างนั้น ความว่า ขอจงเป็นอย่างนั้นเถิดมหาราช พวกเราจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นสภาพที่หาได้ยาก ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์ผู้ไม่ตรัสว่า ขอให้เราทั้งหลายจงไปเล่นตามภูเขา ไปเล่นตามแม่น้ำ แล้วทรงประกอบพวกข้าพระองค์ไว้ในฐานะเห็นปานนี้.
               คำว่า ได้ฟังตอบแล้ว คือ รับพระดำรัสของท้าวเธอไว้ด้วยเศียรเกล้า.
               คำว่า ตรัสเรียกปัญจสิขะ บุตรคนธรรพ์ คือ (ถามว่า) ก็เมื่อตรัสเรียกพวกเทวดาเหล่านั้นแล้ว ทำไมจึงตรัสเรียกปัญจสิขบุตรคนธรรพ์นี้ต่างหากเล่า ตอบว่า เพื่อให้ขอประทานพระโอกาส.
               เล่ากันมาว่า ท้าวสักกะนั้นได้ทรงมีความคิดอย่างนี้ว่า การจะพาเอาพวกเทวดาในสองเทวโลก เข้าไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมกันไม่เหมาะ ก็ปัญจสิขะนี้เป็นอุปัฏฐากผู้รับใช้ที่พระทศพลโปรดปราน ไปทูลถามปัญหาแล้วฟังธรรมได้ทุกขณะที่ต้องการ พวกเราส่งปัญจสิขะนี้ล่วงหน้าไปก่อน ให้ขอประทานพระโอกาส แล้วจึงเข้าเฝ้าทูลถามปัญหา ในเวลาที่ปัญจสิขะนี้ขอประทานพระโอกาสเสร็จแล้ว จึงตรัสเรียกเพื่อให้ขอประทานพระโอกาส.
               คำว่า ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์อย่างนั้น ความว่า แม้ปัญจสิขะนั้นก็สนับสนุนอย่างแข็งขันว่า ขอจงเป็นอย่างนั้นเถิด มหาราช ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์ผู้ไม่ตรัสกะข้าพระองค์ว่า ผู้นิรทุกข์มาเถิด พวกเราจะไปเที่ยวชมกีฬาที่อุทยานเป็นต้น หรือไปชมมหรสพของนักฟ้อนเป็นต้น (แต่) ตรัสว่า พวกเราจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จะฟังธรรม แล้วก็รับสนองพระดำรัสของจอมทวยเทพ แล้วก็เข้าร่วมขบวนเสด็จตามติดไปด้วยกัน.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า พิณสีเหลืองดุจผลมะตูม คือพิณสีเหลืองเหมือนลูกมะตูมสุก. เล่ากันว่า ช่องพิณนั้นทำด้วยทอง คันทำด้วยแก้วอินทนิล สายทำด้วยเงิน กะโหลกทำด้วยแก้วประพาฬ ใบพิณหนึ่งคาวุต ชะเนาะหนึ่งคาวุต คันท่อนบนหนึ่งคาวุต ดังนี้ พิณจึงมีขนาดสามคาวุต.
               ปัญจสิขะนั้นถือพิณนั้นดังที่ว่ามานี้แล้ว ก็ปล่อยการประโคมอย่างสุดฝีมือเท่าที่มีความรู้ ใช้ปลายเล็บดีดคลอเสียงขับที่ไพเราะ แจ้งให้พวกเทพที่เหลือทราบเวลาเสด็จไปของท้าวสักกะ แล้วยืนอยู่ในที่ควรส่วนหนึ่ง. เมื่อคณะเทพประชุมกันตามสัญญาณแห่งเสียงขับบรรเลงของปัญจสิขะนั้นดังนี้แล้ว ทีนั้นแล ท้าวสักกะจอมทวยเทพ ฯลฯ ก็เสด็จไปปรากฏที่เขาเวทิยกะ.
               คำว่า เกิดแสงสว่างไสวเหลือเกิน คือ ในวันอื่นๆ ก็เกิดแสงสว่างด้วยแสงของเทพมารหรือพรหมเพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่วันนั้น เกิดมีแสงสว่างไสวเหมือนกัน โชติช่วงไปเป็นอันเดียวกัน เหมือนเวลาพระจันทร์และพระอาทิตย์ขึ้นไปเป็นพันดวง เพราะแสงของทวยเทพในเทวโลกทั้งสองชั้น.
               คำว่า พวกคนในหมู่บ้านโดยรอบ คือ พวกคนในหมู่บ้านใกล้เคียง.
               เล่ากันมาว่า ในเวลาอาหารมื้อเย็นเป็นปกตินั้นเอง เมื่อพวกเด็กกำลังเล่นกันในท่ามกลางหมู่บ้าน ท้าวสักกะก็ได้เสด็จไปที่เขาเวทิยกะนั้น เพราะฉะนั้น พวกคน เมื่อได้เห็นจึงกล่าวกันอย่างนั้น. เออก็พวกเทวดาเข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตอนยามกลางวันมิใช่หรือ ทำไมท้าวสักกะนี้จึงได้เสด็จมาในภาคแรกแห่งยามต้นเล่า. เพราะทรงถูกมรณภัยนั่นแหละคุกคามเอา.
               คำว่า อะไรกัน ความว่า พวกคนพูดกันว่า อะไรนั่นท่าน วันนี้เทวดาหรือพรหมผู้ศักดิ์ใหญ่องค์ไรกันหนอ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อจะทูลถามปัญหาเพื่อจะฟังธรรม แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแก้ปัญหา จะทรงแสดงธรรมอย่างไร ลาภของพวกเรา พวกเราที่มีพระศาสดาผู้ทรงบรรเทาความสงสัยของพวกเทวดา เสด็จประทับอยู่ในวัดใกล้ๆ ซึ่งพวกเราได้ถวายภิกษาถาดหนึ่งบ้าง ภิกษาทัพพีหนึ่งบ้าง แล้วก็ตกใจ โลมชาติชูชัน ขนลุกซู่ซ่า ยกกระพุ่มมือที่รุ่งเรืองที่รวมเอาสิบเล็บวางไว้เหนือเศียร ยืนนมัสการอยู่.
               คำว่า เข้าเฝ้ายาก คือ พึงเข้าไปนั่งใกล้ยาก. เรายังมีราคะ โทสะ โมหะ (แต่) พระศาสดาไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น พระตถาคตเจ้าทั้งหลายอันผู้เช่นเราพึงเข้าไปนั่งใกล้ยาก.
               บทว่า ทรงมีฌาน คือ การทรงมีฌานด้วยลักขณูปนิชฌานและอารัมมณูปนิชฌาน. ชื่อว่าทรงยินดีในฌาน เพราะทรงยินดีในฌานนั้นนั่นเอง.
               คำว่า ถัดจากที่ทรงเร้น คือ ในลำดับที่ทรงเร้นนั้น หรือทันทีที่ทรงเร้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เข้าเฝ้ายาก เพราะทรงมีฌาน ทรงยินดีในฌานเท่านั้น แต่เข้าเฝ้ายาก แม้เพราะเพิ่งเสด็จทรงเร้นเมื่อกี้นี้เองด้วย.
               คำว่า พึงให้โปรด คือ พึงให้ทรงพอพระทัย. ท้าวสักกะตรัสว่า เธอพึงทำให้ประทานพระโอกาสแก่เราแล้วให้.
               ถามว่า ถือพิณที่มีสีเหลืองเหมือนผลมะตูม แล้วก็เป็นอันว่าพิณนั้นถือไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือ?
               ตอบว่า เออ ถือไว้แล้วก็พิณนั้นห้อยไว้ที่จะงอยบ่าด้วยสามารถไปตามทาง เดี๋ยวนี้ เอามันมาวางไว้ที่มือซ้าย ทำการเตรียมบรรเลง จึงถือไว้ ฉะนั้นจึงกล่าวว่าถือไว้แล้ว.
               คำว่า ให้ทรงได้ยิน คือ ให้ทรงฟัง.
               คำว่า เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า คือ ปรารภพระพุทธเจ้า. อธิบายว่า ทำพระพุทธเจ้าเป็นหลักอิงเป็นไป. แม้ในบทที่เหลือ ก็นัยนี้แหละ.
               พึงทราบในวินิจฉัยในคำว่า น้องสุริยวัจฉสา พี่ขอไหว้ท้าวติมพรุผู้เป็นบิดาของน้อง นี้ต่อไป.
               คำว่า สุริยวัจฉสา คือ มีร่างเท่ากับพระสุริยะ. เล่ากันว่า รัศมีตั้งขึ้นที่ปลายเท้าของเทพธิดานั้นแล้วพุ่งขึ้นไปจนจรดปลายผม ฉะนั้นจึงปรากฏเหมือนดวงอาทิตย์อ่อนๆ ด้วยประการฉะนี้ เทพทั้งหลายจึงรู้จักนางว่า สุริยวัจฉสา. ปัญจสิขะประสงค์เอาความข้อนั้น จึงกล่าวว่า น้องสุริยวัจฉสา ดังนี้. ปัญจสิขะกล่าวว่า พี่ขอไหว้ท้าวติมพรุ คนธรรพเทวราชผู้เป็นบิดาของน้อง.
               คำว่า เพราะเหตุที่น้องผู้เป็นกัลยาณีได้เกิดมาแล้ว คือ เพราะอาศัยติมพรุเทวราชใด น้องผู้งดงาม คือสวยหมดทุกส่วน จึงได้เกิดมา.
               คำว่า ยังความยินดีให้เกิดแก่พี่ คือ ทำให้ความอิ่มเอิบและความดีใจเจริญแก่พี่.
               คำว่า ดุจลมเป็นที่ใคร่ของผู้มีเหงื่อ อธิบายว่า ลมเป็นที่รักใคร่พอใจของเหล่าผู้ที่เกิดเหงื่อ เพื่อให้เหงื่อระเหยออกฉันใด ก็ฉันนั้น.
               คำว่า ดุจน้ำเป็นที่ปรารถนาของผู้กระหาย คือ (น้ำเป็นที่ปรารถนา) ของผู้ที่ถูกความกระหายครอบงำแล้ว อยากจะดื่ม.
               คำว่า ผู้มีรัศมีจากกาย คือ รัศมีจากกายของเธอมีอยู่ เหตุนั้น เธอจึงชื่อว่าผู้มีรัศมีจากกาย. ปัญจสิขะกล่าวพร่ำปรารภถึงนางสุริยวัจฉสานั้นแหละ.
               คำว่า ดุจธรรมเป็นที่รักของพระอรหันต์ทั้งหลาย คือ เหมือนโลกุตตรธรรมเก้าอย่างของพระอรหันต์ทั้งหลาย.
               คำว่า ของคนหิว คือ ของผู้ที่ถูกความหิวครอบงำใคร่จะบริโภค.
               คำว่า ดุจเอาน้ำดับไฟที่กำลังโพลง คือ ปัญจสิขะกล่าวว่า ใครๆ พึงเอาน้ำดับไฟที่กำลังลุกโพลงฉันใด น้องจงดับความกลัดกลุ้ม เพราะความกำหนัดของพี่ที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะน้องเป็นเหตุฉันนั้น.
               คำว่า ประกอบด้วยเกสรและละออง คือประกอบด้วยเกสรและละอองดอกบัว.
               คำว่า ดุจช้างที่ถูกแดดหน้าแล้งแผดเผา คือเหมือนช้างที่ถูกแดดแผดเผาในฤดูร้อน.
               คำว่า หยั่งลงสู่ถันและอุทรของน้อง คือ ปัญจสิขะกล่าวว่า เมื่อไรหนอ พี่จะได้ลงสู่ถันและอุทร อันได้แก่สู่กลางถันและอุทรของน้องแล้ว ได้รับความสุขและความชื่นใจ เหมือนช้างนั้นหยั่งลงสู่สระบัวดื่ม แล้วแช่ตัวโผล่แต่ปลายวงเท่านั้นให้ปรากฏ ได้รับความสุขและความชื่นใจ ฉะนั้น.
               พี่หลงใหลในน้องผู้มีขางาม จึงไม่รู้จักเหตุการณ์ ประดุจช้างสารเหลือขอ เข้าใจว่าตนชนะขอและหอกฉะนั้น.
               ที่เรียกว่า หอก ได้แก่หอกอาชญาใช้แทงเท้า เป็นต้น. ที่เรียกว่า ขอ ได้แก่ เหล็กแหลมงอใช้สับหัว (ช้าง). ก็ช้างที่ตกมันเต็มที่ เป็นช้างที่เหลือขอ ดื้อขอต่อให้เอาขอสับอยู่ก็เอาไว้ไม่อยู่ และมันเข้าใจว่า ข้าเอาชนะขอและหอกได้แล้ว เพราะแม้แต่ขอก็ยังเอาข้าไว้ไม่อยู่ มันไม่ยอมรับรู้เหตุการณ์อะไรๆ เพราะแรงเมามัน.
               ปัญจสิขะกล่าวว่า แม้ตัวพี่ก็หลงใหล เมา เมามันเหมือนเป็นบ้าในน้องผู้มีขางาม เพราะมีขาถึงพร้อมด้วยลักษณะ จึงไม่รู้จักเหตุการณ์อะไรๆ เหมือนช้างที่เหลือขอนั้น มันเข้าใจว่า ข้าเอาชนะขอและหอกได้แล้ว ก็ไม่รู้จักเหตุการณ์อะไรๆ ฉะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ตัวพี่เองเหมือนช้างที่เหลือขอ หลงใหลน้องผู้มีขางาม ฉะนั้นจึงไม่รู้จักเหตุแห่งการสำรอกความกำหนัดสักน้อยหนึ่งได้.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะต่อให้ใครๆ มากล่าว พี่ก็ไม่ถือเอาถ้อยคำ เหมือนช้างที่คิดว่า ข้าเอาชนะขอและหอกได้แล้วนั้น.
               คำว่า พี่มีจิตที่ติดรักน้อง ความว่า น้องรัก พี่นี้เป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์ในน้องผู้มีขางาม.
               หรือคำว่า มีจิตติดรัก ได้แก่มีจิตเพ่งจ้องปองรัก.
               คำว่า จิตแปรปรวนแล้ว คือจิตละปกติตั้งอยู่. คำว่า ไม่สามารถกลับได้ คือ พี่กลับไม่ได้. คำว่า ดุจปลาที่กลืนเบ็ด คือ เหมือนปลาที่กลืนเบ็ดแล้วติดอยู่
               คำว่า มีลำขาอันงาม คือ มีลำขาที่ตั้งมั่นด้วยท่าทางที่งาม หรืออธิบายว่า มีลำขาเหมือนต้นกล้วย. คำว่า โอบ คือ โปรดจงกอดพี่เข้าไว้.
               คำว่า มีนัยน์ตาอันชมดชม้อย คือ พวกผู้หญิงย่อมไม่จ้องเขม็ง แต่ย่อมชะแง้แลมอง ฉะนั้น จึงเรียกว่าผู้มีนัยน์ตาชมดชม้อย. คำว่า โอบกอด คือ จงสวมกอดพี่ไว้ทุกส่วน. คำว่า พี่ปรารถนาดังนี้ยิ่งนัก คือ พี่ต้องการดังนี้เสมอ.
               คำว่า มี (ความรัก) ต่อพี่น้อยนัก คือ มีอยู่น้อยโดยปกติทีเดียว. คำว่า มีผมเป็นคลื่น คือ ชื่อว่ามีผมเป็นคลื่น เพราะผมของหญิงนั้นในเวลาที่สยาย แล้วปล่อยไว้ข้างหลังเลื้อยไปเหมือนงู. ผู้มีผมเหมือนคลื่นนั้น. คำว่า เกิดมีขึ้นไม่ใช่น้อย คือ เกิดขึ้นไม่ใช่อย่างเดียว. 
               คำว่า เหมือนทักษิณาในพระอรหันต์ คือ แตกขยายออกไปโดยประการต่างๆ เหมือนทานที่ถวายในพระอรหันต์ (ให้ผลมากมายฉะนั้น).
               คำว่า มีบุญใดที่พี่ได้ทำไว้แล้ว คือ บุญใดที่พี่ได้ทำไว้มีอยู่.
               คำว่า ในพระอรหันต์ทั้งหลายผู้คงที่ คือ ในพวกพระอรหันต์ผู้ถึงลักษณะแห่งผู้คงที่. คำว่า จงอำนวยผลให้พี่กับน้อง คือ บุญทั้งหมดจงให้ผลให้พี่กับน้องนั่นเอง.
               บทว่า โดดเดี่ยว คือถึงความเป็นผู้เดียว.
               บทว่า มีปัญญาเครื่องคุ้มตัว มีสติ ได้แก่ ชื่อว่ามีปัญญาเครื่องครองตัว เพราะประกอบด้วยปัญญาที่เรียกว่าเครื่องคุ้มตัวนั้น เพราะประกอบด้วยสติ จึงชื่อว่ามีสติ.
               บทว่า พระมุนีแสวงหาอมฤตธรรม คือ องค์พระพุทธมุนีนั้นทรงแสวงหา คือเสาะหาอมฤต ได้แก่พระนิพพาน ฉันใด พี่เองก็ฉันนั้นนะน้องสุริยวัจฉสา ย่อมแสวงหา คือเสาะหาน้อง.
               อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า พระพุทธมุนีองค์นั้นทรงเที่ยวเสาะแสวงหาอมฤตธรรมฉันใด พี่ก็เที่ยวแสวงหาน้องฉันนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า พระมุนีทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุดแล้ว พึงทรงเพลิดเพลินแม้ฉันใด ความว่า พระพุทธมุนีผู้ประทับนั่งที่โพธิบัลลังก์ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว พึงทรงเพลิดเพลิน คือพึงทรงยินดีฉันใด.
               บทว่า พึงเพลิดเพลินฉันนั้น ความว่า ปัญจสิขะกล่าวว่า แม้พี่เองถึงความคลอเคลียกับน้องแล้ว ก็พึงเพลิดเพลิน คือพึงเป็นผู้เกิดความอิ่มเอิบและความดีใจ ฉันนั้นเหมือนกัน.
               นี่แน่ะสุริยวัจฉสายอดรัก ถ้าท้าวสักกะผู้จอมทวยเทพประทานพรอย่างนี้ว่า เธอจะเอาเทวราชย์ในเทวโลกทั้งสองชั้น หรือสุริยวัจฉสา พี่จะกราบทูลว่า ข้าพระองค์ขอสละเทวราชย์แล้วเอาสุริยวัจฉสา พี่ต้องเลือก คือต้องการ ได้แก่ต้องเอาน้องไว้ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า เหมือนสาละที่บานยังไม่นาน ความว่า ใกล้ประตูเมืองของบิดาน้อง มีต้นสาละซึ่งบานยังไม่นาน ต้นสาละนั้นน่าชื่นใจเกินเปรียบ เหมือนสาละที่บานยังไม่นานนั้น. คำว่า แน่ะน้องผู้มีปรีชาดี บิดาของน้อง ความว่า พี่ผู้เมื่อจะไหว้ก็ขอนอบน้อม คือขอทำความนอบน้อมบิดาของน้อง ผู้ทรงสิริอย่างหาที่เปรียบมิได้. คำว่า ผู้เป็นเช่นนี้ เป็นประชาของผู้ใด ความว่า น้องผู้เป็นเช่นนี้เป็นลูกสาวของท่านผู้ใด.
               ถามว่า ทำไม พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสชมเสียงขับและเสียงพิณว่า ย่อมกลมกลืนกัน ความกำหนัดจัดในเสียงนั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้ายังมีอยู่หรือ.
               ตอบว่า ไม่มี. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้วางเฉยด้วยความวางเฉยมีองค์หกประการ ในฐานะเช่นนี้ ก็ยังทรงทราบอารมณ์ที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจทุกอย่างอยู่ ก็ไม่ทรงติดในอารมณ์นั้น.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
               ผู้มีอายุ พระเนตรของพระผู้มีพระภาคเจ้ายังมีอยู่แล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นรูปด้วยพระเนตร ความกำหนัดเพราะความพอใจของพระผู้มีพระภาคเจ้าหามีอยู่ไม่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระหฤทัยหลุดพ้นแล้วเป็นอย่างดี ผู้มีอายุ พระกรรณของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังมีอยู่แล ดังนี้เป็นต้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสชมเพราะทรงทราบว่า ก็หากเราไม่กล่าวชม ปัญจสิขะก็ทราบไม่ได้ว่า เราได้ให้โอกาสแล้ว ทีนั้น ท้าวสักกะก็จะทรงพาพวกเทวดากลับไปจากที่นั้น เพราะทรงเข้าพระทัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ประทานพระโอกาสแก่ปัญจสิขะ แต่นั้น ก็จะพึงฉิบหายใหญ่ เมื่อตรัสชม แต่นั้น ท้าวสักกะก็จะทรงเข้าพระทัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานพระโอกาสแก่ปัญจสิขะแล้ว ก็จะทรงเข้ามาเฝ้าพร้อมกับพวกเทวดา ทรงถามปัญหา เมื่อแก้เสร็จ พร้อมกับพวกเทพแปดหมื่นก็จักทรงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ร้อยกรองไว้แต่เมื่อไร ความว่า (คาถาเหล่านี้เธอ) แต่ง คือรวบรวมไว้แต่ครั้งไร.
               คำว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็โดยสมัยนั้นแล ข้าพระองค์ ความว่า โดยสมัยนั้น คือในสัปดาห์ที่แปดแต่พระองค์บรรลุสัมโพธิญาณนั้น.
               คำว่า ชื่อ ภัทราสุริยวัจฉสา คือ โดยชื่อ ชื่อภัทรา เพราะถึงพร้อมด้วยรูปร่างที่สวยงาม จึงชื่อ สุริยวัจฉสา. คำว่า น้อง นี้เป็นคำสำนวนเรียก. หมายความว่า เทพธิดา. คำว่า รักผู้อื่นอยู่ คือ รัก ได้แก่หวังผู้อื่นอยู่.
               คำว่า กำลังเข้าไปฟ้อนอยู่ ได้แก่ กำลังรำอยู่.
               เล่ากันมาว่า สมัยหนึ่ง นางไปเพื่อต้องการชมงานฟ้อนของท้าวสักกเทวราชกับพวกเทพชั้นจาตุมหาราชิกา. ก็ในขณะนั้น ท้าวสักกะได้ทรงกล่าวสรรเสริญพระคุณตามที่เป็นจริงแปดประการของพระตถาคตเจ้า. ด้วยประการฉะนี้ ก็เป็นอันว่า ในวันนั้น นางก็ได้ไปชมการฟ้อน.
               คำว่า ย่อมเพลิดเพลินต่อกัน ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำเป็นต้นว่า ย่อมกลมกลืนแท้ ของเธอ ก็ชื่อว่าทรงเพลิดเพลิน ปัญจสิขะก็ชื่อว่าเพลิดเพลินตอบ เมื่อปัญจสิขะกำลังกล่าวคาถาอยู่ ก็ชื่อว่าเพลิดเพลิน พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ชื่อว่าทรงเพลิดเพลินตอบ.
               คำว่า ตรัสเรียก คือ ทรงแจ้งให้ทราบ.
               ได้ทราบมาว่า ท้าวสักกะนั้นได้ทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า เราส่งปัญจสิขะนี้ไปด้วยงานของเรา เขาก็ไปทำงานของตัวเองเสีย เขายืนอยู่ในสำนักพระศาสดาผู้เห็นปานนั้นแล้ว ไปกล่าวถ้อยคำที่ประกอบด้วยกามคุณ ซึ่งเป็นคำที่หาสมควรไม่ ก็ขึ้นชื่อว่าพวกนักฟ้อนเป็นพวกไร้ยางอาย ปัญจสิขะ เมื่อกำลังกล่าวอยู่พึงแสดงอาการที่ปลาดก็ได้ เอาล่ะ เราจะเตือนให้เขารู้งานของเรา เมื่อทรงคิดดังนี้แล้วก็ตรัสเรียกมา.
               บทว่า ก็แล เมื่อเป็นอย่างนี้ พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ดังนี้ อันพวกพระเถระผู้รวบรวมธรรม ตั้งไว้แล้ว. คำว่า กล่าวเพิ่ม คือ กล่าวด้วยการรับ การไหว้ ได้แก่ด้วยคำที่เพิ่มขึ้น. คำว่า อันกล่าวยิ่งแล้ว คือ อันกล่าวด้วยคำที่เพิ่มขึ้น. คำว่า ได้ถึงความกว้างขวาง คือ กลายเป็นเปิดกว้างใหญ่. คำว่า ความมืด ในถ้ำได้หายไป ความสว่างไสวเกิดขึ้นแทน คือ ความมืด โดยปกติของถ้ำนั้นได้หายไป เกิดความสว่างไสวแทน. ทั้งหมดนี้ เป็นคำของพวกท่านผู้รวบรวมธรรม.
               คำว่า ข้าพระองค์หลีกไปเสียนาน พระพุทธเจ้าข้า ความว่า ข้าพระองค์ใคร่จะเฝ้าตั้งนานแล้ว. อธิบายว่า ข้าพระองค์ใคร่จะเฝ้าจำเดิมแต่นานมาแล้ว.
               คำว่า ด้วยกิจและกรณียะบางอย่าง ความว่า พวกลูกหญิงและลูกชายย่อมเกิดบนตักของพวกเทพ พวกสตรีที่เป็นบาทปริจาริกา ย่อมเกิดบนที่นอน พวกเทวดาที่เป็นพนักงานตกแต่งประดับประดาของเทวดาเหล่านั้น ย่อมเกิดรอบๆ ที่นอน พวกช่วยกิจการงาน (ไวยาวัจกร) ย่อมเกิดภายในวิมาน การก่อคดีเพื่อประโยชน์แก่เทพพวกนี้ไม่มี แต่พวกที่เกิดระหว่างเขตแดนนั้น เมื่อไม่อาจตัดสินว่า ของท่าน ของข้าพเจ้า ดังนี้ ก็เป็นความกัน ย่อมทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นพระราชาของเทพ พระองค์ก็จะตรัสว่า ใกล้วิมานผู้ใดกว่า เป็นของผู้นั้น ถ้าวิมานทั้งสองเกิดมีระยะที่เท่าๆ กัน พระองค์ก็จะตรัสว่า ยืนมองวิมานผู้ใด เป็นของผู้นั้น ถ้าไม่มองดูแม้แต่วิมานเดียว เพื่อตัดการทะเลาะของทั้งสองฝ่าย ก็ทรงเอาเสียเอง ยังกิจมีการกีฬาเป็นต้น ก็จำเป็นต้องทรงจัดการทั้งนั้น.
               ท้าวเธอทรงหมายเอาพระกรณียะเหล่านั้น เห็นปานนี้แล้ว จึงตรัสว่า ด้วยกิจและกรณียะบางอย่าง ดังนี้.
               คำว่า ที่อาคารไม้สน ได้แก่พระคันธกุฎีที่สร้างด้วยไม้สน.
               คำว่า ด้วยสมาธิอันใดอันหนึ่ง คือ มีเรื่องเล่าว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พระญาณของท้าวสักกะนั่นเองยังไม่แก่กล้า จึงไม่ทรงประทานพระโอกาส เลยประทับนั่งด้วยธรรมเครื่องพัก คือผลสมาบัติเสีย ท้าวเธอไม่ทรงทราบถึงข้อนั้น จึงตรัสว่า ด้วยสมาธิอันใดอันหนึ่ง ดังนี้.
               คำว่า ชื่อ ภุชคี คือ เทพธิดานั้น ชื่อว่า ภุชคี. คำว่า บริจาริกา คือ เทพธิดาผู้เป็นบาทบริจาริกา.
               มีเรื่องเล่ามาว่า นางบรรลุผลสองอย่าง เหตุนั้น นางจึงไม่มีความยินดีในเทวโลกเลย นางมาสู่ที่บำรุงพระผู้มีพระภาคเจ้าเสมอ ยืนยกกระพุ่มมือวางไว้บนเศียรไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่.
               ในคำว่า ออกจากสมาธินั้นเพราะเสียงล้อและดุมรถ นี้ ไม่ต้องพูดว่า ทรงเข้าสมาบัติแล้วทรงได้ยินเสียง.
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังตรัสกับท้าวสักกะผู้จอมทวยเทพว่า อีกประการหนึ่ง อาตมภาพออกจากสมาธินั้น ก็เพราะเสียงล้อและดุมรถของมหาบพิตร มิใช่หรือ.
               ตอบว่า เสียงดุมรถยกไว้เถิด ธรรมดาผู้เข้าสมาบัติ ในภายในสมาบัติ ต่อให้ใครเอาคู่สังข์มาเป่าใส่ใกล้ๆ กกหูก็ดีฟ้าผ่าเปรี้ยงก็ดี ก็ย่อมไม่ได้ยินเสียง.
               ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดว่า ตลอดเวลาเท่านี้ เราจะยังไม่ให้โอกาสแก่ท้าวสักกะ จึงทรงเข้าผลสมาบัติด้วยอำนาจเวลา. ท้าวสักกะทรงคิดว่า บัดนี้ พระศาสดายังไม่ประทานโอกาสแก่เรา จึงทรงทำประทักษิณพระคันธกุฎี แล้วให้กลับรถบ่ายพระพักตร์สู่เทวโลก. บริเวณพระคันธกุฎีก็มีสนั่นเพราะเสียงรถ เหมือนดนตรีมีองค์ห้า. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสมาบัติตามอำนาจเวลาที่ได้ทรงกำหนดไว้แล้ว จิตที่ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ดวงแรกก็เกิดขึ้น ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสอย่างนั้น.


               โคปกวตฺถุวณฺณนา               

               คำว่า ทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลายเป็นปกติ คือ เป็นผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ๕ ข้อ.
               คำว่า คลายจิตในความเป็นสตรี คือ มาคิดว่า พอกันทีสำหรับความเป็นสตรี เพราะว่าดำรงอยู่ในความเป็นสตรีแล้ว จะเสวยสิริของพระเจ้าจักรพรรดิก็ไม่ได้ เสวยสิริของพระอินทร์ มาร และพรหมก็ไม่ได้ จะบรรลุปัจเจกโพธิญาณก็ไม่ได้ จะบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณก็ไม่ได้ อย่างนี้แล้ว ชื่อว่าย่อมสำรอกความใคร่ในความเป็นสตรี
               ส่วนผู้ที่คิดว่า ธรรมดาความเป็นบุรุษนี้ยิ่งใหญ่ประเสริฐสูงสุด เพราะผู้ดำรงอยู่ในความเป็นบุรุษนี้ สามารถถึงพร้อมซึ่งสมบัติเหล่านี้ อย่างนี้แล้ว ชื่อว่าย่อมทำความเป็นบุรุษให้มี
               แม้นางก็ได้ทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า สำรอกความใคร่จิตในความเป็นสตรีแล้ว ทำจิตบุรุษให้มีดั่งนี้.
               คำว่า กายคนธรรพ์เลว คือ พวกคนธรรพ์เลว คือ ลามก.
               ถามว่า ก็พวกเธอเหล่านั้นล้วนแต่มีศีลบริสุทธิ์ ทำไมจึงเกิดขึ้นในเทวโลกนั้นเล่า.
               ตอบว่า เพราะความพอใจมาก่อน.
               เล่ามาว่า แต่ก่อนมาที่นั่นแหละเป็นที่ที่เคยอยู่มาแล้วของพวกนั้น เพราะฉะนั้น จึงเกิดขึ้นในที่นั้น ด้วยสามารถแห่งความพอใจ.
               คำว่า ที่บำรุง ได้แก่ โรงสำหรับบำรุง. คำว่า บำเรอ ได้แก่ การปรนเปรอ.
               คนธรรพ์เหล่านั้นย่อมมาด้วยคิดว่า พวกเราจะบำเรอด้วยการขับและการบรรเลง.
               คำว่า ตักเตือน คือ ให้สติ.
               เล่ากันมาว่า เมื่อโคปกเทพบุตรเห็นคนธรรพ์เหล่านั้น จึงใคร่ครวญว่า เทวบุตรเหล่านี้มีรัศมีเหลือเกิน ทำกรรมอะไรไว้หนอจึงได้มา ได้เห็นว่าเป็นพวกภิกษุ จากนั้นก็ใคร่ครวญอีกว่า พวกภิกษุมีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลายหรือไม่ ได้เห็นว่ามีปกติทำให้บริบูรณ์ ใคร่ครวญต่อไปว่า มีปกติทำให้บริบูรณ์ก็เถอะ คุณพิเศษอย่างอื่นมีหรือไม่มี ได้เห็นว่าเป็นพวกมีปกติได้ฌาน ใคร่ครวญต่อไปอีกว่า ถึงมีปกติได้ฌานก็ช่างเถอะ เป็นชาวไหนกัน ได้เห็นว่าเป็นผู้มารับบาตรประจำตระกูลของเรานั่นเอง
               จึงคิดว่า ธรรมดาผู้มีศีลบริสุทธิ์ย่อมเกิดในเทวโลกหกชั้น ในชั้นที่ต้องการ แต่พวกนี้ไม่เกิดในเทวโลกชั้นสูง ธรรมดาผู้ได้ฌานย่อมเกิดในพรหมโลก แต่พวกนี้ไม่เกิดในพรหมโลก ส่วนตัวเราตั้งอยู่ในโอวาทของพวกนี้ เกิดเป็นบุตรที่บัลลังก์ของท้าวสักกะจอมทวยเทพผู้เป็นเจ้าแห่งเทวโลก พวกนี้เกิดในหมู่คนธรรพ์ที่เลว ขึ้นชื่อว่าพวกคนธรรพ์นั่น ใครๆ เขาก็เจอแต่เป็นพวกบุคคลที่เอากระดูกมาเจาะ (คล้องคอ) เต้นกันไปเต้นกันมาเท่านั้นเอง จึงเตือนด้วยคำ เป็นต้นว่า ชื่อว่าเอาหน้าไปไว้ไหน.
               ในบทเหล่านั้น คำว่า เอาหน้าไปไว้ไหน ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหันพระพักตร์มาแสดงธรรมอยู่ พวกท่านมัวเอาหน้าไปไว้ไหน หรือมัวแต่ส่งใจไปที่อื่น มองนั่น มองนี่ หรือมัวแต่หลับอยู่.
               คำว่า รูปที่ไม่น่าดูเสียเลย คือ ไม่เหมาะที่จะเห็นสภาพที่ไม่น่าดู.
               คำว่า พวกสหธัมมิก คือ ผู้ประพฤติธรรม ได้แก่ทำบุญในศาสนาของพระศาสดาองค์เดียวกัน.
               คำว่า แห่งเทพบุตรเหล่านั้น พระเจ้าข้า ความว่า แห่งเทพบุตรเหล่านั้น ผู้ที่ถูกโคปกเทพบุตรกล่าวอย่างนั้นแล้ว ตักเตือนอีกด้วยคำเป็นต้นว่า โอ้! พวกท่าน ช่างไร้ยางอาย ช่างไม่มีความขายหน้า เทพสองท่านกลับได้สติในทันทีทันใดทีเดียว.
               คำว่า หมู่พรหมปุโรหิต คือ
               ได้ยินว่า เทพบุตรเหล่านั้นพากันคิดว่า ขึ้นชื่อว่าพวกนักฟ้อน ที่ฟ้อนรำ ขับร้อง ดีดสีตีเป่ามาแล้ว ก็ต้องได้ค่าจ้างรางวัล ส่วนโคปกเทพบุตรนี้ ตั้งแต่เวลาที่เราเห็น เอาแต่ปะทุเปรี๊ยะๆ เหมือนเอาเกลือโรยใส่เตาไฟ นี้มันอะไรกันหนอ
               เมื่อใคร่ครวญต่อไป ก็เห็นว่าตนเป็นสมณะ มีศีลบริสุทธิ์ ได้ฌานและก็เป็นผู้รับบาตรประจำตระกูลของโคปกเทพบุตรนั้นเสียด้วย แล้วมาทราบว่า ธรรมดาผู้มีศีลบริสุทธิ์ ย่อมเลือกเกิดในเทวโลกทั้ง ๖ ชั้นได้ ผู้ได้ฌานก็ย่อมเกิดในพรหมโลก (แต่) พวกเราทั้งในเทวโลกชั้นสูงทั้งในพรหม หาได้เกิดได้ไม่ โคปกเทพบุตรนี้เคยเป็นสตรีตั้งอยู่ในโอวาทของพวกเรา ยังได้เกิดสูง พวกเราเป็นภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดในพวกคนธรรพ์ที่เลว เหตุนั้น โคปกเทพบุตรนี้จึงข่มพวกเราอย่างนี้ได้ จึงต่างก็ยอมฟังถ้อยคำของโคปกเทพบุตรนั้น.
               ในเทพทั้งสามท่านนั้น สองท่านกลับได้ความระลึกถึงฌานที่ ๑ เอาฌานเป็นบาทแล้วก็พิจารณาสังขาร ตั้งอยู่ในอนาคามิผลนั่นแล.
               ทีนั้น อัตภาพชนิดท่องเที่ยวในกามซึ่งเป็นสภาพที่เล็กน้อยของพวกท่านเหล่านั้น ทรงอยู่ไม่ไหว ฉะนั้นทันใดนั่นเอง ท่านก็เคลื่อนไปเกิดในชั้นพรหมปุโรหิต และกายของพวกเขาที่อยู่ในชั้นพรหมปุโรหิตนั้น ก็เกิดแล้ว
               เพราะเหตุนั้น ท้าวสักกะจึงตรัสว่า พระเจ้าข้า แห่งเทพบุตรเหล่านั้นผู้ที่โคปกเทพบุตรตักเตือนแล้ว เทพสองท่านกลับได้สติในทันทีทันใดทีเดียว เข้าถึงหมู่พรหมปุโรหิตแล้ว ดังนี้.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า ในทันทีทันใด ทีเดียว คือ กลับได้สติ ในอัตภาพนั้นเอง. พึงเห็นอธิบายในคำนั่นอย่างนี้ว่า ก็ยังอยู่ในที่นั้นนั่นเอง. เคลื่อนแล้วกลับได้กายเป็นพรหมปุโรหิต คือสรีระเป็นพรหมปุโรหิต.
               คำว่า แต่เทวบุตรท่านหนึ่ง คือ เทพบุตรท่านหนึ่งทำลายความติดใจยังไม่ได้ ก็อยู่ครองกาม คือยังอยู่ประจำ คือยังอาศัยอยู่ในกามาวจรภพนั่นเอง.
               คำว่า และบำรุงสงฆ์ คือ บำรุงสงฆ์ด้วย. คำว่า เป็นธรรมดี คือ ด้วยความที่พระธรรมเป็นธรรมดี. คำว่า เข้าถึงไตรทิพ คือ เกิดในไตรทิพ ได้แก่ไตรทศบุรี.
               คำว่า เข้าอาศัยอยู่ในหมู่นักดนตรี คือ เป็นผู้เข้าอยู่อาศัยในหมู่คนธรรพ์.
               คำว่า ก็พวกเราผู้ที่เมื่อก่อนเป็นมนุษย์ คือ เมื่อก่อนนี้ พวกเราผู้ที่เป็นมนุษย์. พึงประกอบกับคำนี้ว่า ข้าพเจ้าบำรุงด้วยข้าวน้ำ แล้วทราบใจความ.
               คำว่า ยังได้ชำระเท้า คือ เข้าไปใกล้เท้าแล้วทั้งบูชาด้วยการเพิ่มการล้างเท้าและการทาเท้า ทั้งไหว้ที่เท้า. คำว่า ในนิเวศน์ของตน คือ ในเรือนของตน. สำหรับบทนี้ ก็ต้องเอาไปเชื่อมกับบทว่า บำรุงแล้ว นี้เหมือนกัน.
               คำว่า พึงรู้ในเฉพาะตัว คือ พึงรู้ได้ด้วยตัวเอง. คำว่า สุภาษิตทั้งหลายของพวกพระอริยะ คือ สุภาษิตทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ที่พวกท่านกล่าวอยู่. คำว่า แต่ส่วนพวกท่านนั่งใกล้ผู้ประเสริฐ คือ นั่งอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าผู้สูงสุด. บทว่า อันยอดเยี่ยม คือ หรือ ในพระพุทธศาสนา. บทว่า พรหมจรรย์ ได้แก่ ความประพฤติที่ประเสริฐสุด. บทว่า ความอุบัติของพวกท่าน ได้แก่ ความเข้าถึงของพวกท่าน. คำว่า เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในอาคาร ได้แก่ เมื่อข้าพเจ้ายังอยู่กลางเรือน.
              ท่านเรียกโคปกะว่า สาวกพระโคดม ในที่นี้ว่า อันสาวกพระโคดม.
               คำว่า มาพร้อมแล้ว คือ ประชุมกันแล้ว. คำว่า เอาเถิด มาเร่งพยายามกันเถิด คือ เอาเถิด มาขะมักเขม้น พยายามกันเถิด. คำว่า โน ในบทว่า พวกเราอย่ามาเป็นผู้รับใช้เขาเลย นี้เป็นเพียงคำที่แทรกเข้ามาเท่านั้น. ความหมายก็คือ พวกเราอย่ามาเป็นผู้รับใช้ของผู้อื่นเลย.
               ในคำว่า คำสั่งสอนของพระโคดม นี้ โดยปกติท่านเรียกปฐมฌานที่ได้นั่นเองว่า คำสั่งสอนของพระโคดม หมายความว่า อนุสรณ์ คือตามระลึกถึงปฐมฌานนั้น.
               คำว่า พรากจิตทั้งหลาย คือ พรากพวกจิตที่ประกอบด้วยกามคุณห้าอย่าง. คำว่า โทษในเหล่ากาม คือ ได้เห็นโทษในกามทั้งหลายด้วยปฐมฌานเพราะอำนาจการข่ม เพราะอำนาจการตัดได้ขาด ท่านเหล่านั้นได้เห็นทั้งเครื่องประกอบคือกาม และเครื่องผูกคือกาม ที่ชื่อว่ากามสัญโญชน์ ด้วยมรรคที่สาม.
               คำว่า เป็นเครื่องประกอบของผู้มีบาป หมายความว่า เป็นเครื่องประกอบเป็นเครื่องผูกของผู้มีบาป คือของมาร. คำว่า พ้นไปได้ยาก คือ ยากที่จะก้าวข้ามไปได้. คำว่า หมู่เทพรวมทั้งพระอินทร์ รวมทั้งประชาธิบดี ความว่า ผู้ที่ทำพระอินทร์ให้เป็นหัวหน้าแล้วเข้าไป ชื่อว่ารวมทั้งพระอินทร์ ผู้ที่ทำประชาบดีเทวราชให้เป็นหัวหน้าแล้วเข้าไป ชื่อว่ารวมทั้งประชาธิบดี. คำว่า เข้าไปในสภา ความว่า เข้าไปนั่งในที่ประชุม. คำว่า ผู้กล้า คือ ผู้กล้าหาญ. คำว่า คลายกำหนัด คือ ปราศจากกำหนัด. คำว่า กระทำธรรมที่ปราศจากมลทิน คือ กระทำได้แก่ทำอนาคามิมรรคที่ไม่มีมลทินให้เกิดขึ้น. คำว่า ตัดกามคุณที่ละเอียด เหมือนช้าง คือ ตัดเครื่องประกอบ คือกาม และเครื่องผูกพันได้แล้ว ก็ก้าวล่วงพวกเทพชั้นดาวดึงส์ไป.
               คำว่า ทรงเกิดความสลด คือ แก่ท้าวสักกะผู้ทรงเกิดความสลด. คำว่า ผู้ครอบงำกาม คือ ผู้ทรงครอบงำกามแม้ทั้งสองอย่าง. คำว่า ผู้เสื่อมจากสติ คือ ผู้เว้นจากความระลึกถึงฌาน. คำว่า แห่งสามท่านนั้น คือ ในสามท่านนั้น. คำว่า ท่านหนึ่งยังอยู่ในภพนั้น คือ ที่เป็นผู้ยังอยู่ในพวกชั้นเลวนั้น มีเพียงผู้เดียวเท่านั้น. คำว่า มีปกติตามระลึกถึงทางแห่งความตรัสรู้ คือ มีปกติตามระลึกถึงอนาคามิมรรค.
               คำว่า ย่อมดูถูกแม้แต่พวกเทพ คือ ดูหมิ่น ได้แก่กดเทวโลกแม้ทั้งสองชั้นให้ต่ำลง เพราะความที่ตนตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ จึงเอาฝุ่นที่ติดเท้าตนมาโปรยใส่ศีรษะพวกเทวดา เหาะไปในอากาศได้.
               คำว่า ผู้ประกาศธรรมเป็นเช่นนี้ในศาสนานี้ คือ หมู่สาวกเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ที่ประกาศธรรมเห็นปานนี้ในพระศาสนานี้.
               คำว่า ใครๆ ที่เป็นสาวกย่อมไม่สงสัยอะไรในข้อนั้น คือ ในสาวกเหล่านั้น ใครๆ แม้แต่เป็นสาวกรูปเดียว ก็ไม่สงสัยในพระพุทธเจ้าเป็นต้น หรือในความเป็นทิศทั้งสี่ เป็นผู้ไม่ติดขัดไม่ยึดมั่นในทิศทั้งหมดอยู่.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงสรรเสริญพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ขอนมัสการพระพุทธเจ้าผู้ทรงข้ามห้วงน้ำได้แล้ว ตัดความลังเลได้แล้ว ผู้ทรงชำนะ ผู้เป็นจอมชน ดังนี้.
               ในบทเหล่านั่น คำว่า ผู้ตัดความลังเลได้แล้ว คือ ตัดความสงสัยได้แล้ว. คำว่า ผู้เป็นจอมชน คือ ผู้สูงสุดในโลกทั้งหมด. คำว่า ธรรมใดของพระองค์ คือ ธรรมของพระองค์ใด. คำว่า ท่านเหล่านั้นได้ถึงแล้ว คือ เทพบุตรเหล่านั้นได้บรรลุแล้ว. คำว่า กายพรหมปุโรหิต คือ เมื่อพวกข้าพระพุทธเจ้ากำลังดูอยู่นั้น ก็กลายสรีระเป็นพรหมปุโรหิต.
               มีคำที่ท้าวสักกะทรงขยายไว้ดังนี้ว่า เทพเหล่านั้นทราบธรรมของพระองค์ใดแล้ว ในสามท่านนั้น ท่านทั้งสองนั้นได้ถึงคุณพิเศษ ขณะที่พวกข้าพระองค์เห็นกันอยู่นั้น ก็บรรลุกายเป็นพรหมปุโรหิต แล้วได้บรรลุคุณพิเศษ คือมรรคผล ท่านผู้นิรทุกข์ ถึงพวกข้าพระองค์ก็มาเพื่อบรรลุธรรมนั้น.
               คำว่า มาแล้ว คือ ถึงพร้อมแล้ว.
               คำว่า พวกข้าพระองค์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานพระโอกาสแล้วจะพึงทูลถามปัญหา ท่านผู้นิรทุกข์ หมายความว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะประทานพระโอกาส ทีนั้น ท่านผู้นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์ผู้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานพระโอกาสแล้ว ก็จะพึงทูลถามปัญหา.


               สกฺกปวตฺติวณฺณนา               

               คำว่า ยักษ์ (พระอินทร์) นี้ เป็นผู้บริสุทธิ์มานานแล้วแล คือ เป็นผู้บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ดีจำเดิมแต่กาลนานแล้ว. กาลนานเท่าไร. นาน จำเดิมแต่ครั้งเป็นมาฆมาณพในหมู่บ้านมจละ แคว้นมคธ ครั้งพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงเกิดขึ้นมาแล้ว.
               ดังมีเรื่องเล่ามาว่า ครั้งนั้น วันหนึ่ง มาฆมาณพนั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ แล้วไปสู่ที่ทำงานประจำหมู่บ้านของพวกคนกลางหมู่บ้าน เอาปลายเท้านั่นแหละเขี่ยกองดินและขยะมูลฝอยออกไป ทำที่ซึ่งตนยืนให้น่ารื่นรมย์. คนอื่นก็มายืนในที่นั้น.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านั้นเอง เขาก็กลับได้ความระลึก จึงถางที่เท่าวงสนามกลางหมู่บ้านแล้ว ก็ขนทรายมาเกลี่ยลง ขนเอาฟืนมาก่อไฟในเวลาหนาว. ทั้งหนุ่มสาวและผู้เฒ่าผู้แก่ก็พากันมานั่งในที่นั้น.
               ต่อมาวันหนึ่ง เขาเกิดความคิดว่า เมื่อเราไปเมืองก็เห็นพระราชาและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นต้น คนทั้งหลายต่างก็กล่าวกันว่า ในพระจันทร์และพระอาทิตย์เหล่านั้น ต่างก็มีเทพบุตรชื่อจันทร์ เทพบุตรชื่อสูรย์ พวกเหล่านั้นทำอะไรหนอจึงได้สมบัติเหล่านี้.
               ต่อมาจึงคิดได้ว่า สิ่งอื่นไรๆ ไม่มี ต้องทำบุญเท่านั้น แล้วคิดว่า ถึงเราเองก็ต้องทำบุญที่ให้สมบัติอย่างนี้เหมือนกัน. เขาจึงลุกขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ ดื่มข้าวต้มแล้วก็ถือเอาพร้าขวานเสียมและสากไปที่ทางใหญ่สี่แยก เอาสากงัดก้อนหินให้ไหวแล้วกลิ้งไป เอาไม้มาสอดใส่เพลายาน ปราบที่ขรุขระให้เรียบราบแล้ว ก็สร้างศาลาตรงทางใหญ่สี่แพร่ง ขุดสระบัว ผูกสะพานทำงานอย่างนี้ตลอดวัน ตะวันตกจึงกลับบ้าน.
               มีคนอื่นถามเขาว่า เพื่อนมาฆะ คุณออกไปตั้งแต่เช้า ตกเย็นจึงมาจากป่า คุณทำงานอะไร. ผมทำบุญ ถางทางไปสวรรค์. ชื่อว่าบุญนี้ คืออะไรกันเพื่อน. คุณไม่รู้จักหรือ. เออ ผมไม่รู้จัก. เวลาไปเมืองท่านเคยเห็น พวกราชาและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นต้นหรือ. เคยเห็นครับ. พวกนั้นทำบุญแล้วจึงได้ตำแหน่งนั้น ผมเองก็จะทำงานที่ให้สมบัติอย่างนั้นบ้าง คุณเคยฟังไหมว่า เทพบุตรชื่อจันทร์ เทพบุตรชื่อสูรย์. เออ เคยฟัง. ผมก็จะถางทางไปสวรรค์นั้น. เออก็บุญกรรมนี้ เหมาะสำหรับคุณเท่านั้น หรือสำหรับคนอื่นก็เหมาะด้วย. บุญนั้นไม่กีดกันใครๆ หรอก. ถ้าอย่างนั้น พรุ่งนี้ เวลาไปป่า คุณเรียกผมด้วยนะ.
               วันรุ่งขึ้น เขาก็พาคนนั้นไป. ด้วยประการฉะนี้ ในหมู่บ้านนั้นจึงมีคนอยู่ในวัยฉกรรจ์รวมสามสิบสามคน ทุกคนล้วนแต่เป็นไปตามนายมาฆะทั้งนั้น. พวกเขาเที่ยวทำบุญเป็นเอกฉันท์ วันใดไป เมื่อจะปราบทางให้ราบปราบวันเดียวเท่านั้น เมื่อจะขุดสระบัว สร้างศาลา สร้างสะพานก็ให้เสร็จในวันเดียวเท่านั้น.
               ต่อมา ผู้ใหญ่บ้านของพวกเขาก็คิดว่า แต่ก่อน เมื่อพวกนี้ยังดื่มเหล้าและยังฆ่าสัตว์เป็นต้น เราย่อมได้ทรัพย์ด้วยอำนาจกหาปณะเล็กน้อยเป็นต้นบ้าง ด้วยอำนาจภาษีอาชญาบัตรบ้าง เดี๋ยวนี้ ตั้งแต่พวกนี้ทำบุญ รายได้จำนวนนั้นก็ขาดไป เอาล่ะ เราจะทำลายพวกนั้นในราชตระกูล จึงเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า มหาราช ข้าพระพุทธเจ้าพบกองโจร.
               ราชา. ที่ไหนกัน พ่อ.
               ผู้ใหญ่บ้าน. ในหมู่บ้านข้าพระพุทธเจ้า.
               ราชา. โจรชนิดไหนกัน พ่อ.
               ผู้ใหญ่บ้าน. ชนิดทำผิดต่อพระราชา พระองค์.
               ราชา. ชาติอะไร.
               ผู้ใหญ่บ้าน. ชาติชาวบ้าน พระองค์.
               ราชา. ชาวบ้านจะทำอะไรได้ เมื่อเธอรู้เช่นนั้น ทำไมจึงไม่บอกเรา.
               ผู้ใหญ่บ้าน. มหาราช ที่ไม่กราบทูลเพราะกลัวพระอาชญา บัดนี้ ขอพระองค์อย่าพึงลงพระอาชญาแก่ข้าพระพุทธเจ้า.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงคิดว่า ผู้ใหญ่บ้านนี้ร้องเสียงดัง จึงทรงเชื่อ จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เธอนั่นแหละจงไป นำพวกโจรเหล่านั้นมา แล้วก็ประทานกำลังส่งไป. ผู้ใหญ่บ้านนั้นก็ไปล้อมพวกนั้นขณะที่ทำงานประจำวันในป่าเสร็จแล้ว นั่งรับประทานอาหารเย็นกลางหมู่บ้าน แล้วกำลังปรึกษากันว่า พรุ่งนี้ พวกเราจะทำงานอะไร จะปราบทางให้เสมอกัน จะขุดสระ หรือจะผูกสะพาน แล้วสำทับไปว่า อย่าขยับเขยื้อนนะ นี่คำสั่งในหลวง มัดแล้วก็จูงไป.
               ลำดับนั้น พวกผู้หญิงของคนเหล่านั้น ได้ฟังว่า นัยว่า พวกสามีของพวกเราเป็นโจรขบถต่อพระราชา เจ้าหน้าที่เขาหาว่าเป็นโจร จึงมัดนำออกไป จึงพูดว่า พวกนี้เป็นคนโกงมานานแล้ว แต่ละวันๆ มีแต่พูดว่า ทำบุญ แล้วก็ไปป่าท่าเดียว งานการทุกอย่างเสื่อมทรามหมด ในเรือนจะหาอะไรก้าวหน้าสักนิดก็ไม่มี มัดให้ดี นำไปให้ดี.
               แม้ผู้ใหญ่บ้านก็นำพวกเขาไปแสดงแด่พระราชา. พระราชายังไม่ทันได้ทรงสอบสวนเลย ตรัสว่า จงให้ช้างเหยียบ.
               เมื่อพวกเขาถูกนำไป มาฆะพูดกับคนนอกนี้ว่า เพื่อน พวกคุณจะทำตามคำของผมได้ไหม.
               เมื่อทำตามคำของคุณนั่นแหละ พวกเราจึงถึงภัย ถึงเช่นนั้นก็เถอะ เราก็ยังทำตามคำของคุณ ว่าแต่คุณเถอะ จะให้พวกเราทำอะไร พรรคพวกว่า.
               เพื่อน มาเถอะ นี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ที่ท่องเที่ยวในวัฏฏะ ก็พวกท่านเป็นโจรหรือ มาฆะชี้แจง และถามพรรคพวก.
               พวกเราไม่ใช่โจร พรรคพวกตอบอย่างแข็งขัน.
               ชื่อว่าการกระทำสัจจะเป็นที่พึ่งของโลกนี้ ฉะนั้น ถ้าพวกเราแม้ทั้งหมดเป็นโจร ขอให้ช้างจงเหยียบ ถ้าไม่เป็นโจร อย่าเหยียบ ขอให้พวกคุณจงกระทำสัจจะดังที่ว่ามานี้ มาฆะแนะนำ.
               พวกเขาก็ได้ทำอย่างนั้น.
               ช้างแม้แต่จะเข้าใกล้ก็ไม่ได้ ร้องพลาง หนีไปพลาง แม้จะเอาเหล็กแหลม หอก และขอสับสักเท่าไรก็รั้งไว้ไม่อยู่. พวกควาญช้างจึงไปกราบทูลพระราชาว่า พวกข้าพระพุทธเจ้าขับช้างเข้าไปใกล้ไม่ได้.
               ถ้าอย่างนั้น ก็เอาเสื่อลำแพนคลุมปิดข้างบนพวกมันแล้วให้เหยียบซิ พระราชาตรัสสั่ง.
               เมื่อครอบเสื่อลำแพนไว้ข้างบนแล้ว เจ้าช้างก็ยิ่งร้องเป็นสองเท่าพลางก็หนีไป.
               พระราชาทรงฟังแล้ว ก็ทรงมีรับสั่งให้เรียกตัวการยุแหย่มาแล้วตรัสว่า พ่อ ช้างมันไม่อยากเหยียบ.
               ทราบด้วยเกล้า ขอเดชะ มาณพผู้เป็นหัวหน้ารู้มนต์ นั่นเป็นอานุภาพของมนต์แท้เทียว ผู้ใหญ่บ้านสนองพระดำรัสและกราบทูลใส่ความต่อ.
               พระราชาทรงมีรับสั่งให้หัวหน้านั้นเข้าเฝ้าแล้วตรัสถามว่า เขาว่า แกมีมนต์หรือ.
               ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีมนต์ แต่พวกข้าพระพุทธเจ้าได้กระทำสัจจกิริยาไว้ว่า ถ้าพวกเราเป็นโจรของพระราชา ขอให้เหยียบเถิด ถ้าไม่เป็นโจร ขออย่าเหยียบ นั่นเป็นอำนาจของสัจจกิริยาของพวกข้าพระพุทธเจ้า.
               ราชา. แล้วก็ พวกพ่อกระทำงานอะไร.
               หัวหน้า. พวกข้าพระพุทธเจ้า ปราบทางที่ขรุขระให้เรียบ สร้างศาลาในทางใหญ่สี่แยก ขุดสระบัว ผูกสะพาน ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้าเที่ยวสร้างบุญกรรมเห็นปานนี้.
               ราชา. ผู้ใหญ่บ้านยุยงพวกพ่อ เพื่ออะไร?
               หัวหน้า. เวลาที่พวกข้าพระพุทธเจ้าประมาท เขาย่อมได้สิ่งนี้และสิ่งนี้ เวลาไม่ประมาท สิ่งนั้นก็ไม่มี ด้วยเหตุนี้จึงยุยง.
               ราชา. พ่อ ช้างเชือกนี้ เป็นดิรัจฉาน แม้มันก็ยังรู้คุณของพวกพ่อ ข้าเองแม้เป็นมนุษย์ ก็ไม่รู้ ข้าขอยกหมู่บ้านที่อยู่ของพวกพ่อเป็นหมู่บ้านปลอดภาษีที่ใครๆ มาเก็บไม่ได้ แล้วให้แก่พวกพ่อนี้แหละอีก ถึงช้างนี้ก็จงเป็นของพวกพ่อเหมือนกัน ส่วนตัวการยุแหย่ขอมอบให้เป็นทาสของพวกพ่อนี่แหละ ตั้งแต่นี้ไป ขอให้พวกพ่อจงทำบุญเพื่อข้าบ้างนะ
               ตรัสแล้วก็พระราชทานพระราชทรัพย์ให้ แล้วก็ทรงปล่อยไป.
               พวกเขารับพระราชทรัพย์แล้ว ก็เปลี่ยนเวรขึ้นช้างกันไป พลางปรึกษากันว่า เพื่อนเอ๋ย ธรรมดาว่า บุญกรรมเป็นของที่ต้องทำเพื่อประโยชน์แห่งภพในอนาคต เพราะบุญนั้นของพวกเราให้ผลในอัตภาพนี้แหละ เหมือนอุบลเขียวที่ผลิดอกออกผลภายในน้ำ บัดนี้ พวกเราจะทำบุญให้ยิ่งขึ้นไป.
               พวกเราจะทำอะไร?
               เราทำสิ่งถาวรในทางใหญ่สี่แยกแล้ว สร้างศาลาสำหรับพักของมหาชน. แต่กับพวกผู้หญิงจะไม่ยอมให้มีส่วนร่วม เพราะเมื่อพวกเราถูกเจ้าหน้าที่หาว่าเป็นโจรจับพาไป ในพวกผู้หญิงแม้คนเดียว ก็ไม่ทำแม้แต่เพียงเอาใจช่วย มีแต่ส่งเสริมว่ามัดดีๆ จับดีๆ เพราะฉะนั้น พวกเราจะไม่ยอมให้ผู้หญิงเหล่านั้นมีส่วนร่วม.
               พวกเขาก็พากันไปเรือนตนให้ข้าวสามสิบสามก้อน นำหญ้าสามสิบสามกำแก่ช้าง. ทั้งหมดนั้นก็เต็มท้องช้าง. พวกเขาเข้าป่าตัดไม้. ช้างก็ลากเอาไม้ที่ตัดแล้วๆ มาวางไว้ที่ทางเกวียน. พวกเขาช่วยกันถากไม้ เริ่มสร้างศาลา.
               มาฆะ มีภรรยาอยู่ในเรือนสี่คน คือ นางสุชาดา นางสุธรรมา นางสุจิตรา นางสุนันทา.
               นางสุธรรมาถามช่างไม้ว่า พ่อ! พวกเพื่อนเหล่านี้ เช้าก็ไป ตกเย็นจึงมา พวกเขาทำงานอะไร. ทำศาลา แม่. พ่อ! ขอให้ท่านช่วยทำให้ดิฉันมีส่วนร่วมในศาลาด้วยคนซิ. พวกเพื่อนเหล่านี้กล่าวว่า พวกเราจะไม่ยอมให้พวกผู้หญิงมีส่วนร่วม.
               นางได้ให้เงินช่างไม้แปดกหาปณะด้วยพูดว่า เอาเถอะ พ่อ ขอให้ท่านช่วยหาอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้ดิฉันมีส่วนร่วมด้วย. เขากล่าวว่า ตกลง แม่ แล้วก็ถือเอามีดและเอาขวานอย่างเร็วไปยืนกลางหมู่บ้าน ตะโกนเสียงดังๆ ว่า คุณ! วันนี้เวลาป่านนี้แล้ว ยังไม่ออกกันอีกหรือ? รู้ว่า ขึ้นสู่ทางกันหมดแล้ว จึงว่า พวกคุณจงล่วงหน้าไปก่อน ผมมีความจำเป็นต้องล่าช้า แล้วก็ให้พวกนั้นล่วงหน้าไปก่อน แล้วเดินไปทางอื่นตัดไม้สำหรับใช้เป็นช่อฟ้า ถากไสแล้วขนมาไว้ที่เรือนนางสุธรรมาแล้ว สั่งนางว่า ท่านพึงให้ขนออกไปได้ ในวันที่ผมแจ้งไปว่าจงให้เถิด.
               ต่อมาเมื่อเสร็จงานเกี่ยวกับเครื่องเครา และเมื่อทำเครื่องผูกที่ยึด การยกเสา การประกอบขื่อและที่ติดช่อฟ้า ตั้งแต่ปราบพื้นที่เสร็จแล้ว ช่างไม้นั้นก็นั่ง ณ ที่สำหรับติดช่อฟ้า ยกไม้จันทันทั้งสี่ทิศ พูดว่า โอ้! มีลืมไปอย่างหนึ่งเสียแล้ว. คุณมีอะไรที่ไม่ลืมเล่า? ลืมทั้งหมดนั่นแหละ. แล้วจะเอาไม้จันทันเหล่านี้ไปตั้งไว้ตรงไหน? ควรจะได้ช่อฟ้ามา. พ่อคุณเอ๋ย บัดนี้ เราอาจได้ที่ไหนเล่า. อาจได้ในเรือนแห่งสกุลทั้งหลาย ลองเที่ยวถามดูซิ.
               พวกเขาก็เข้าไปถามในหมู่บ้าน แล้วมายืนที่ประตูเรือนนางสุธรรมาถามว่า ในเรือนนี้มีช่อฟ้าไหม. นางบอกว่า มี. เชิญรับค่าไป. ไม่รับค่าหรอก ถ้าพวกคุณยอมให้ดิฉันมีส่วนร่วมด้วย ดิฉันจะให้. มาเถอะ พวกเราจะไม่ยอมทำให้ผู้หญิงมีส่วนร่วม พวกเราจะไปป่าแล้วตัดไม้ ว่าแล้วก็พากันออกไป. แต่นั้น พวกเขาเมื่อถูกช่างไม้ถามว่าเป็นอย่างไร พ่อได้ช่อฟ้าไหม? ก็แจ้งความข้อนั้น. ช่างไม้นั่งอยู่ที่ติดช่อฟ้าอย่างเดิมเงยมองดูอากาศแล้วพูดว่า ท่านผู้เจริญ วันนี้ ฤกษ์ดี เลยฤกษ์นี้แล้ว ปีอื่นจึงจะสามารถได้ และพวกคุณก็จะนำเอาเครื่องเครามาลำบาก ด้วยเครื่องเคราเหล่านั้นเอามากองไว้ตลอดปี ก็จะเน่าผุในที่นี้นี่เอง เวลาเกิดในเทวโลก ก็จงยอมให้ศาลามุมหนึ่งแก่นางเถิด ไปเอาช่อฟ้านั้นมาเถิด.
               แม้นางสุธรรมานั้นตลอดเวลาที่พวกนั้นยังไม่มาอีก ได้สั่งให้ฉลุตัวหนังสือว่า ศาลาหลังนี้ชื่อสุธรรมา ไว้ที่พื้นล่างช่อฟ้า แล้วเอาผ้าใหม่มาพันตั้งไว้.
               เมื่อพวกคนงานมาแล้วกล่าวว่า ช่วยนำเอาช่อฟ้ามา เท่าที่จะเป็นได้ พวกเราจะทำให้คุณนายมีส่วนร่วมด้วย. นางก็นำออกมา สั่งว่า พ่อทั้งหลาย! อย่าเพิ่งเอาผ้านี้ออกนะคะ จนกว่ายังไม่ขึ้นไม้จันทันได้แปดหรือสิบหกท่อนก่อน แล้วก็ให้ไป. พวกนั้นก็รับว่า ตกลง ครั้นยกไม้จันทันขึ้นเสร็จแล้วก็เอาผ้าออก.
               เพื่อนบ้านสำคัญคนหนึ่งเงยหน้าขึ้นข้างบนเห็นตัวหนังสือจึงพูดว่า นี่อะไร? แล้วให้ไปตามคนที่อ่านหนังสือออกมาแสดง. คนนั้นก็อ่านว่า ศาลาหลังนี้ชื่อสุธรรมา. พวกเขาก็ร้องเอะอะว่า เอาออกไปท่าน ตั้งแต่ต้นมา เมื่อสร้างศาลา พวกเราไม่ได้แม้แต่ชื่อ นางนี้เอาไม้ช่อฟ้าแค่ศอกแล้วให้ทำศาลาด้วยชื่อตัว.
               เมื่อพวกเขากำลังร้องเอะอะอยู่นั่นเอง ช่างไม้ก็สอดไม้จันทันแล้วตอกสลักเป็นอันเสร็จงานสร้างศาลา. เขาแบ่งศาลาเป็นสามส่วน คือ ส่วนหนึ่งทำเป็นที่พักพวกคนใหญ่คนโต ส่วนหนึ่งสำหรับพวกคนยากคนจน อีกส่วนหนึ่งสำหรับผู้เจ็บป่วย.
               สามสิบสามคนปูกระดานสามสิบสามแผ่นแล้วให้สัญญาณช้างว่า อาคันตุกะมานั่งบนแผ่นกระดานที่ผู้ใดปูไว้ เจ้าจงพาเขาไปตั้งไว้ที่เรือนของเจ้าของแผ่นกระดานนั่นแหละ ให้การนวดเท้า ให้การนวดหลัง ของขบเคี้ยวของกินและที่นอน ทั้งหมดแก่อาคันตุกะนั้น จะเป็นภาระของเจ้าของแผ่นกระดานนั่นแหละ. ช้างก็พาแขกที่มาแล้ว นำไปสู่เรือนของเจ้าของแผ่นกระดานนั่นเอง. วันนั้น เจ้าของแผ่นกระดานนั้นก็จัดการที่พึงทำแก่แขกนั้น.
               ในที่ไม่ไกลศาลา มาฆมาณพปลูกต้นทองหลางไว้ และที่โคนไม้นั้นลาดแผ่นหินไว้. แม้ภริยาของเขาที่ชื่อสุนันทาก็ให้ขุดสระบัวไว้ใกล้ๆ. นางสุจิตราปลูกพุ่มไม้ดอก. ส่วนเมียหลวงเอาแต่เที่ยวส่องกระจกตกแต่งร่างกายเท่านั้น. มาฆะพูดกับนางว่า น้อง แม่สุธรรมานี้ เขามีส่วนแห่งศาลา แม่สุนันทา เขาให้ขุดสระบัว และก็แม่สุจิตราเขาก็ปลูกพุ่มไม้ดอก ส่วนน้องยังไม่มีบุญกรรม น้องจงทำบุญสักอย่างเถอะที่รัก. นางตอบว่า พี่ทำเพราะเหตุใคร ที่พี่ทำก็เพื่อน้องเหมือนกันมิใช่หรือ? แล้วก็เอาแต่หมกมุ่นกับการแต่งตัวท่าเดียว.
               เมื่อมาฆะดำรงอยู่จนตลอดอายุแล้ว ก็เคลื่อนจากมนุษย์โลกนั้นไปเกิดเป็นท้าวสักกะในชั้นดาวดึงส์. คนเพื่อนบ้านทั้งสามสิบสามคนตายแล้ว ก็เป็นเทพบุตรสามสิบสามองค์เกิดในสำนักของท้าวสักกะนั้นเอง. ปราสาทชื่อไพชยนต์ของท้าวสักกะ ผุดขึ้นสูงตั้งเจ็ดร้อยโยชน์. ธงผุดขึ้นสูงตั้งสามร้อยโยชน์. ด้วยผลของไม้ทองหลาง เกิดต้นปาริฉัตร มีปริมณฑลโดยรอบสามร้อยโยชน์ ลำต้นกว้างสิบห้าโยชน์. ด้วยผลแห่งแผ่นหิน เกิดหินเหมือนผ้าขนสัตว์สีเหลืองหกสิบโยชน์ที่โคนปาริฉัตร. ด้วยผลแห่งไม้ช่อฟ้าของนางสุธรรมา เกิดเทวสภาชื่อสุธรรมาสามร้อยโยชน์. ด้วยผลแห่งสระบัวของนางสุนันทา เกิดสระบัวชื่อนันทาห้าสิบโยชน์. ด้วยผลแห่งสวนพุ่มไม้ดอกของนางสุจิตรา เกิดอุทยานชื่อจิตรลดาวันหกสิบโยชน์.
               ท้าวสักกะผู้เป็นราชาแห่งเทพ ประทับนั่งบนบัลลังก์ทองโยชน์หนึ่งในสุธรรมาเทวสภา มีเศวตฉัตรสามโยชน์กางกั้น แวดล้อมไปด้วยเทพบุตรเหล่านั้น ด้วยเทพธิดาเหล่านั้น ด้วยนางฟ้อน ๒๕ โกฏิและด้วยหมู่เทวดาในเทวโลกสองชั้น เมื่อตรวจดูมหาสมบัติ ก็ทรงเห็นสตรีสามคนเหล่านั้น ทรงดูว่า สามคนนี้ปรากฏก่อน สุชาดาอยู่ไหน ทรงเห็นว่า นางนี้ไปเกิดเป็นนางนกยางตัวหนึ่งในซอกเขา เพราะไม่ยอมทำตามคำเรา แล้วทรงลงจากเทวโลก เสด็จไปสู่สำนักนาง.
               พอนางเห็นเท่านั้นแหละก็จำได้เลยก้มหน้า. ท้าวสักกะจึงตรัสว่า เจ้าผู้เขลา บัดนี้ ไฉนจึงไม่ยอมยกหัวขึ้นล่ะ เจ้าไม่ทำตามคำเรา เอาแต่แต่งเนื้อแต่งตัว ทำให้เสียเวลา สมบัติอันยิ่งใหญ่เกิดแล้วแก่นางสุธรรมา นางสุนันทา และนางวิจิตรา จงมาดูสมบัติพวกเราสิ แล้วก็ทรงพาไปเทวโลก ทรงปล่อยที่สระบัวชื่อนันทาแล้ว เสด็จประทับนั่งบนบัลลังก์. พวกนางนักฟ้อนกราบทูลถามว่า มหาราช ทูลกระหม่อมเสด็จไปไหน. พระองค์แม้ไม่ทรงอยากจะบอก เมื่อถูกพวกนางเหล่านั้นบีบคั้นหนักเข้า ก็ตรัสว่า ไปสู่สำนักสุชาดา.
               นาฏกา. มหาราช นางเกิดที่ไหน.
               ส. ที่เชิงซอกเขา.
               นาฏกา. เดี๋ยวนี้อยู่ไหน.
               ส. ฉันปล่อยไว้ที่สระบัวชื่อนันทา.
               นาฏกา. มาเถิด ท่านผู้เจริญ พวกเราไปดูเจ้าแม่ของพวกเรา แล้วทั้งหมดก็พากันไปที่นั้น.
               นางสุชาดานั้น แต่ก่อนมา ถือตัวว่าเป็นใหญ่กว่าเขาหมด. บัดนี้ ชั้นแต่พวกหญิงนักฟ้อน เมื่อเห็นนางเข้าก็พากันพูดจาเยาะเย้ยเอาเป็นต้นว่า ดูเถิดท่าน ปากเจ้าแม่พวกเราอย่างกะหลาวแทงปู.
               นางเกิดอึดอัดเหลือเกิน จึงทูลท้าวสักกะผู้เป็นราชาของเทพว่า มหาราช วิมานทอง วิมานเงินหรือนันทาโปกขรณีเหล่านี้ จักทำอะไรแก่หม่อมฉัน มหาราช ชาติภูมิเท่านั้นแหละที่เป็นสุขของหมู่สัตว์ โปรดปล่อยหม่อมฉันไว้ที่เชิงซอกเขานั้นตามเดิมเถิด.
               ท้าวสักกะทรงปล่อยนางไว้ที่นั้นแล้วตรัสว่า เจ้าจะทำตามคำของฉันไหม.
               นางทูลถามว่า จะทำตามมหาราช. ท้าวสักกะจึงตรัสว่า เจ้าจงรับศีลห้ารักษาอย่าให้ขาด ไม่กี่วัน ฉันจะทำเจ้าให้ใหญ่กว่านางเหล่านั้น. นางก็ได้ทำอย่างนั้น.
               ล่วงไปได้สองสามวัน ท้าวสักกะทรงคิดว่า นางรักษาศีลได้ไหมหนอ จึงเสด็จไปจำแลงเป็นปลาหงายท้อง ลอยบนหลังน้ำข้างหน้านาง. นางคิดว่า คงเป็นปลาตาย จึงไปจิกเอาที่หัว. ปลากระดิกหาง. นางคิดว่า ชะรอยปลายังเป็นแล้วก็ปล่อยน้ำไป. ท้าวสักกะประทับยืนที่อากาศ ตรัสว่า สาธุ สาธุ เจ้ารักษาสิกขาบทได้ ฉันจะทำเจ้าผู้รักษาได้อย่างนี้ให้เป็นหัวหน้าของพวกนางละครเทวดาโดยไม่นานทีเดียว. นางมีอายุ ๕๐๐ ปี. แม้แต่วันเดียวก็ไม่ได้อาหารเต็มท้อง แม้จะเหี่ยวแห้ง แห้งผากร่วงโรยอยู่ ก็ไม่ทำให้ศีลขาด เมื่อตายแล้ว ก็เกิดในเรือนช่างหม้อในกรุงพาราณสี.
               เมื่อท้าวสักกะทรงตรวจดูว่าเกิดที่ไหน ก็ทรงเห็น ทรงคิดว่า เรายังนำนางมาที่นี้จากที่นั้นไม่ได้ เราจะให้ความเป็นไปแห่งชีวิตแก่นาง จึงทรงเอาฟักทองทองคำบรรทุกยานน้อยไปจนเต็ม จำแลงเพศเป็นคนแก่ นั่งในท่ามกลางหมู่บ้าน ร้องว่า พวกท่านจงมาเอาฟักทอง. พวกชาวบ้านโดยรอบมากล่าวว่า จงให้มาพ่อ. คนแก่พูดว่า ฉันจะให้แก่คนผู้รักษาศีล พวกท่านรักษาศีลกันไหม. พวกคนก็ว่า พ่อเอ๋ย พวกเราไม่รู้ว่าศีลเป็นอย่างไร ตาจงขายเถอะ. ตาเฒ่าพูดว่า ฉันจะให้แก่ผู้รักษาศีลเท่านั้น. พวกคนพูดว่า มาซิท่าน เฒ่าขายฟักทองนี้เป็นใครกัน แล้วก็กลับกันหมด. เด็กหญิงคนนั้นก็ถามว่า แม่ ท่านไปเพื่อต้องการฟักทอง ทำไมจึงกลับมามือเปล่าล่ะ. พวกหญิงเหล่านั้นตอบว่า หนูเอ๋ย เฒ่าขายฟักทองเป็นใคร แกพูดว่าฉันจะให้แก่ผู้รักษาศีล แม้เด็กหญิงรักษาศีลแล้วย่อมควรได้ฟักทองนี้เป็นแน่ พวกเราไม่รู้จักศีลเลย. นางคิดว่า คงจะนำมาเพื่อเราเป็นแน่ จึงไปแล้วพูด พ่อจ๋า โปรดให้ฟักทอง.
               อินทร์. เจ้ารักษาศีลหรือแม่หนู.
               ด.ญ. ค่ะ พ่อ หนูรักษาศีลค่ะ.
               อินทร์. ข้าก็นำเอาฟักทองนี้มาเพื่อหนูเท่านั้น แล้วก็ตั้งไว้พร้อมกับยานน้อยที่ประตูเรือนแล้วเสด็จหลีกไป.
               แม้นางก็รักษาศีลตลอดชีวิต จุติแล้วก็เกิดเป็นธิดาของเวปจิตติอสูร. เพราะผลของศีล นางจึงเป็นผู้ที่น่าเลื่อมใส. ท้าวเวปจิตติคิดว่า เราจะทำวิวาหมงคลแก่ลูกสาว จึงให้พวกอสูรประชุมกัน.
               ท้าวสักกะทรงตรวจดูว่า เกิดที่ไหน ทรงเห็นว่า เกิดในภพอสูร วันนี้จะทำวิวาหมงคลแก่นาง ทรงคิดว่า บัดนี้ เราควรทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วนำนางมา จึงไปทรงนิรมิตรเพศเป็นอสูรแล้ว ประทับยืนในระหว่างพวกอสูร.
               พระบิดาตรัสว่า พ่ออนุญาตให้ลูกเลือกสามี แล้วก็ประทานพวงดอกไม้ที่มือของนาง ตรัสว่า ลูกต้องการผู้ใด ก็จงซัดดอกไม้บนผู้นั้น. เมื่อนางตรวจดูก็เห็นท้าวสักกะ เกิดความรักเพราะเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ปางก่อน กำหนดว่า นี้เป็นสามีของเรา แล้วก็ซัดพวงไปบนเขา.
               ท้าวสักกะนั้นก็ทรงจับแขนนางเหาะไปบนอากาศ. ขณะนั้นพวกอสูรก็จำได้. พวกอสูรเหล่านั้นร้องไปว่า จับ จับเฒ่าสักกะไว้ เป็นศัตรูพวกเรา พวกเราจะไม่ยอมให้เจ้าสาวแก่เฒ่าสักกะนั้น แล้วต่างก็ติดตามไป.
               ท้าวเวปจิตติตรัสถามว่า ใครนำไป. เฒ่าสักกะ มหาราช พวกอสูรตอบ. ในบรรดาผู้ที่เหลือ ท้าวสักกะนี้เท่านั้น ประเสริฐสุด ออกไป ท้าวเวปจิตติตรัส.
               เมื่อท้าวสักกะพานางไปแล้ว ก็ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งหัวหน้านางฟ้อน ๒๕ โกฏิ.
               นางทูลขอพรต่อท้าวสักกะว่า มหาราช ในเทวโลกนี้ หม่อมฉันไม่มีมารดา บิดา หรือพี่น้องชายหญิง พระองค์เสด็จไปที่ใดๆ โปรดพาหม่อมฉันไปในที่นั้นๆ ด้วยมหาราช.
               ท้าวสักกะประทานพระปฏิญาณว่า ตกลง.

               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงเห็นความที่ท้าวสักกะนั้นเป็นผู้หมดจด ตั้งแต่ครั้งเป็นมาฆมาณพในหมู่บ้านมจล ดังที่ว่ามานี้ จึงตรัสว่า ยักษ์นี้เป็นผู้หมดจดตลอดกาลนานแล้วแล.
               คำว่า ประกอบด้วยประโยชน์ คือ อาศัยผล อาศัยเหตุ.


               จบภาณวารที่ ๑ 

----------------------------------              

ปญฺหเวยฺยากรณวณฺณนา               

               บทว่า มีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้ คือ มีอะไรเป็นเครื่องผูก ได้แก่เป็นผู้ถูกเครื่องผูกอะไรผูกเอาไว้.
               บทว่า กายมาก คือ ชนมาก.
               บทว่า ไม่มีเวร คือ ไม่มีความกระทบกระทั่ง.
               บทว่า ไม่มีอาชญา คือ พ้นจากอาชญาคืออาวุธ และอาชญาคือธนู.
               บทว่า ไม่มีข้าศึก คือ ไม่มีศัตรู.
               บทว่า ไม่มีความพยาบาท ได้แก่ ปราศจากโทมนัส.
               บทว่า พึงเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่ คือ ย่อมให้ทาน ย่อมทำการบูชาแล้วปรารถนาว่า โอ้หนอ ขอให้พวกเราพึงเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่กับใครๆ เถิด ขอให้พวกเราพึงไม่ก่อความกำเริบให้เกิดในใครๆ แล้วใช้สอยของที่ถือเอาด้วยนิ้วมือพร้อมกับคนหนึ่งพันเถิด.
               บทว่า และย่อมมีแก่พวกเขาด้วยประการฉะนี้ คือ และก็ความปรารถนานี้ย่อมมีแก่พวกเขาด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า และก็เมื่อเป็นเช่นนั้น คือ เมื่อความปรารถนาอย่างนั้นแม้มีอยู่.
               บทว่า มีริษยาและความตระหนี่เป็นเครื่องประกอบเข้าไว้ คือ ความริษยามีความสิ้นไปแห่งสมบัติของอื่นเป็นลักษณะ และความตระหนี่อันมีความทนไม่ได้ต่อความที่สมบัติของตน เป็นของทั่วไปกับพวกคนเหล่าอื่นเป็นลักษณะ.
               ชื่อว่า ผู้มีความริษยาและความตระหนี่เป็นเครื่องประกอบเข้าไว้ เพราะความริษยาและความตระหนี่เป็นเครื่องประกอบเข้าไว้ของพวกเขา.
               นี้เป็นความย่อในที่นี้. ส่วนความริษยาและความตระหนี่อย่างพิสดาร ได้กล่าวไว้เสร็จแล้วในอภิธรรม.
               สำหรับในเรื่องความตระหนี่นี้
               เพราะความตระหนี่ที่อยู่ สัตว์ไม่ว่าเป็นยักษ์หรือเป็นเปรตต่างก็เที่ยวใช้ศีรษะทูนขยะของที่อยู่นั้นเอง. เพราะความตระหนี่ตระกูล เมื่อบุคคลเห็นผู้ที่กำลังทำทานเป็นต้นแก่ผู้อื่นในตระกูลนั้น ก็คิดว่า ตระกูลของเรานี้แตกแล้วหนอ ถึงกับกระอักเลือดบ้าง ถ่ายท้องบ้าง ไส้ขาดเป็นท่อนน้อยใหญ่ทะลักออกมาบ้าง. เพราะความตระหนี่ลาภ ผู้เกิดตระหนี่ในลาภของสงฆ์หรือของหมู่ บริโภคเหมือนบริโภคของส่วนบุคคล เกิดเป็นยักษ์บ้าง เปรตบ้าง งูเหลือมขนาดใหญ่บ้าง. ก็เพราะความตระหนี่วรรณแห่งสรีระและวรรณแห่งคุณ และเพราะความตระหนี่การศึกษาเล่าเรียน บุคคลจะกล่าวชมแต่คุณของตัวเองเท่านั้น หากล่าวชมคุณของคนเหล่าอื่นไม่ กล่าวอยู่แต่โทษนั้นๆ ว่า คนนี้มีดีอะไร และจะไม่ให้การศึกษาเล่าเรียนอะไรๆ แก่ใครๆ พูดแต่โทษว่า คนนี้ขี้เหร่ และบ้าบอ.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยความตระหนี่ที่อยู่ เขาย่อมไหม้ในเรือนโลหะ. ด้วยความตระหนี่ตระกูล เขาย่อมเป็นผู้มีลาภน้อย. ด้วยความตระหนี่ลาภ เขาย่อมเกิดในคูถนรก. ด้วยความตระหนี่วรรณ เมื่อเกิดในภพ จะไม่มีวรรณ. ด้วยความตระหนี่ธรรม เขาย่อมเกิดในนรกขี้เถ้า.
               ก็แล ความริษยาและความตระหนี่ที่เป็นเครื่องประกอบ (สัตว์ไว้ในภพ) นี้ จะละได้ก็ด้วยโสดาปัตติมรรค. ตลอดเวลาที่ยังละมันไม่ได้ เทวดาและมนุษย์ แม้ปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีเวรเป็นต้นอยู่ก็ตาม ก็หาได้รอดพ้นไปจากเวรเป็นต้นไม่เลย.
               บทว่า ข้าพระองค์ข้ามความสงสัยในปัญหานี้ได้แล้ว ความว่า ท้าวสักกะตรัสว่า ในปัญหานี้ เพราะฟังพระดำรัสของพระองค์ ข้าพระองค์จึงข้ามความสงสัยได้แล้ว. ท้าวสักกะไม่ได้ทรงแสดงความที่ทรงข้ามความสงสัยได้ด้วยอำนาจมรรค.
               คำว่า ความสงสัยที่ต้องถามว่า อย่างไรๆ ปราศไปแล้ว คือ ความสงสัย แม้นี้ว่า อย่างไรนี้ นี้อย่างไร ปราศไปแล้ว.
               คำมี เค้ามูลเป็นต้น มีใจความอันได้กล่าวไว้เสร็จแล้ว.
               บทว่า มีที่ชอบและที่ชังเป็นเค้ามูล คือ ความตระหนี่มีสัตว์และสังขารอันเป็นที่รักเป็นเค้ามูล ริษยามีสัตว์และสังขารอันไม่เป็นที่รักเป็นเค้ามูล หรือทั้งสอง ก็มีทั้งสองเป็นเค้ามูล.
               ก็สำหรับนักบวช ลูกศิษย์ลูกหาเป็นต้น สำหรับชาวบ้าน ลูกเป็นต้น หรือสัตว์ก็มีช้างม้าเป็นต้น ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่หยอกล้อ เป็นที่ยึดถือว่าของเรา. เมื่อไม่เห็นพวกเหล่านั้น แม้ครู่เดียวก็ทนไม่ได้. เมื่อเขาได้เห็นคนอื่นผู้ได้สัตว์ที่น่ารักอย่างนั้นก็เกิดริษยา ถูกคนอื่นขอสัตว์นั้นเองว่า พวกเรามีงานบางอย่างด้วยสัตว์นี้ โปรดให้ยืมสักครู่เถิด ก็ให้ไม่ได้ กล่าวว่า เขาจะเหนื่อยหรือเขาจะกลุ้ม แล้วก็เกิดความตระหนี่.
               ด้วยประการฉะนี้ ก็เป็นอันว่า ความริษยาและความตระหนี่แม้ทั้งสอง มีสัตว์อันเป็นที่รักเป็นเค้ามูล.
               ก็แหละ สำหรับภิกษุบริขารมีบาตรและจีวรเป็นต้น หรือสำหรับชาวบ้าน อุปกรณ์มีเครื่องประดับเป็นต้น ย่อมเป็นที่รักที่ชื่นใจ. เมื่อเขาเห็นสิ่งชนิดนั้นกำลังเกิดแก่คนอื่น ก็เกิดความริษยาว่า โอ้หนอ ขอสิ่งเห็นปานนี้ ไม่พึงมีแก่คนนั้น และแม้ถูกขอก็เกิดความตระหนี่ว่า แม้พวกเรากำลังรัก ยังใช้สอยสิ่งนี้อยู่ ยังให้ไม่ได้หรอก.
               ด้วยประการฉะนี้ ก็เป็นอันว่า แม้ความริษยาและความตระหนี่ทั้งสอง ย่อมมีสังขารอันเป็นที่รักเป็นเค้ามูล.
               แต่เมื่อได้สัตว์และสังขารประการที่กล่าวมาแล้วนั้น แต่เป็นชนิดที่ไม่น่ารักเลย ถึงแม้ว่าสัตว์และสังขารเหล่านั้นไม่เป็นที่ชื่นใจเขา แม้อย่างนั้นก็ตาม เพื่อให้พวกกิเลสที่ตรงกันข้ามเป็นไปได้ ก็กระทำความริษยาว่า เว้นข้าเสียแล้ว ใครอื่นเป็นผู้ได้สัตว์และสังขารเห็นปานนี้ หรือถูกขอยืมก็ไม่ให้ ย่อมกระทำความหวง. ด้วยประการฉะนี้ ก็เป็นอันว่า ความริษยาและความตระหนี่แม้ทั้งสองย่อมมีสัตว์และสังขารอันไม่เป็นที่รักเป็นเค้ามูล.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า มีความพอใจเป็นเค้ามูล นี้.
               ความพอใจมี ๕ อย่างคือ ความพอใจในการแสวงหา ความพอใจในการได้เฉพาะ ความพอใจในการใช้สอย ความพอใจในการสะสม ความพอใจในการสละ.
               ความพอใจในการแสวงหาเป็นไฉน คือ คนบางคนในโลกนี้ เกิดความพอใจไม่อิ่ม ย่อมแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส ย่อมแสวงหาสิ่งที่พึงถูกต้อง ย่อมแสวงหาทรัพย์ นี้ความพอใจในการแสวงหา.
               ความพอใจในการได้เฉพาะเป็นไฉน คือ คนบางคนในโลกนี้ เกิดความพอใจไม่อิ่ม ย่อมได้เฉพาะรูป เสียง กลิ่น รส ย่อมได้เฉพาะสิ่งที่พึงถูกต้อง ย่อมได้เฉพาะทรัพย์ นี้ความพอใจในการได้เฉพาะ.
               ความพอใจในการใช้สอยเป็นไฉน คือ คนบางคนในโลกนี้ เกิดความพอใจไม่อิ่ม ย่อมใช้สอยรูป เสียง กลิ่น รส ย่อมใช้สอยสิ่งที่พึงถูกต้อง ย่อมใช้สอยทรัพย์ นี้ความพอใจในการใช้สอย.
               ความพอใจในการสะสมเป็นไฉน คือ คนบางคนในโลกนี้ เกิดความพอใจไม่อิ่ม ย่อมทำการสะสมทรัพย์ ด้วยคิดว่า จะมีในคราววิบัติ นี้ความพอใจในการสะสม.
               ความพอใจในการสละเป็นไฉน คือ คนบางคนในโลกนี้ เกิดความพอใจไม่อิ่ม ย่อมจ่ายทรัพย์แก่พลช้าง พลม้า พลรถ ขมังธนู ด้วยคิดว่า คนเหล่านี้จักรักษา จักคุ้มครอง จักรัก จักแวดล้อมเรา นี้ความพอใจในการสละ.
               ความพอใจแม้ทั้ง ๕ อย่างนี้ ในที่นี้เป็นเพียงตัณหาเท่านั้นเอง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาความพอใจนั้น จึงได้ตรัสคำนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า มีความตรึกเป็นเค้ามูล นี้.
               ความตรึกที่เกิดจากความรู้สึกตระหนักแน่ที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า อาศัยลาภ เกิดความรู้สึกตระหนักแน่ ชื่อว่า ความตรึก.

               คำว่า ความรู้สึกตระหนักแน่ คือ ความรู้สึกตระหนักแน่ มีสองอย่างคือ ความรู้สึกตระหนักแน่คือตัณหา และความรู้สึกตระหนักแน่คือทิฏฐิ. ตัณหาวิปริต ๑๐๘ ชนิด ชื่อว่าความรู้สึกตระหนักแน่คือตัณหา. ความเห็น ๖๒ อย่าง ชื่อว่าความตระหนักแน่คือทิฏฐิ. ก็ด้วยประการฉะนี้ จึงไม่มีการชี้ขาดลงไปว่าน่าใคร่ไม่น่าใคร่ และน่ารักไม่น่ารักด้วยอำนาจความตระหนักแน่คือตัณหา ที่กล่าวมาแล้วอย่างนั้น. เพราะสิ่งนั้นเองเป็นของน่าใคร่สำหรับบางคน ไม่น่าใคร่สำหรับบางคน เหมือนการชี้ขาดในไส้เดือนมฤคและเนื้อเป็นต้นของพระราชาในส่วนภูมิภาค และพระราชาในประเทศส่วนกลาง ก็เมื่อวัตถุที่ได้รับมานั้นถูกชี้ขาดด้วยความตระหนักแน่คือตัณหาแล้ว จึงจะมีการชี้ชัดลงไปด้วยความรู้สึกตระหนักแน่ คือความตรึกว่า เป็นของรูปเท่านี้ เท่านี้เป็นของเสียง เป็นของกลิ่นเท่านี้ เท่านี้เป็นของรส เป็นของสิ่งที่พึงถูกต้องเท่านี้ เท่านี้เป็นของเรา เป็นของเขาเท่านี้ เท่านี้จะเก็บไว้ จะให้เท่านี้.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า จอมทวยเทพ ความพอใจนี้เอง มีความตรึกเป็นเค้ามูล ดังนี้.
               คำว่า มีส่วนความสำคัญที่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้าเป็นเค้ามูล คือ ธรรมเครื่องเนิ่นช้ามี ๓ อย่างคือ
                         ธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือตัณหา
                         ธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือมานะ
                         ธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือทิฏฐิ.
               ใน ๓ อย่างนั้น ตัณหาวิปริต ๑๐๘ อย่าง ชื่อว่าธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือตัณหา มานะ ๙ อย่าง ชื่อว่าธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือมานะ ทิฏฐิ ๖๒ ชนิด ชื่อว่าธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือทิฏฐิ.
               ในธรรมเครื่องเนิ่นช้าเหล่านั้น ในที่นี้ ท่านหมายเอาธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือตัณหา.
               ที่เรียกว่าธรรมเครื่องเนิ่นช้า เพราะอรรถว่ากระไร.
               ที่เรียกว่าธรรมเครื่องเนิ่นช้า เพราะอรรถว่าให้ถึงอาการของคนมัวเมาประมาท.
               ความสำคัญที่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้านั้น ชื่อว่า ปปัญจสัญญา (ความสำคัญที่คลุกเคล้าไปด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า). ส่วนเรียกว่า สังขา เหมือนในคำเป็นต้นว่า ก็ส่วนแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้า มีความสำคัญเป็นเค้ามูล.
               ด้วยประการฉะนี้ คำว่า มีส่วนความสำคัญที่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้าเป็นเค้ามูล จึงหมายความว่า ความตรึกมีส่วนแห่งความสำคัญที่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้าเป็นเค้ามูล.

               คำว่า ข้อปฏิบัติให้เข้าถึงความสมควรแก่การดับโดยไม่เหลือแห่งส่วนความสำคัญที่ประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า ความว่า ความดับโดยไม่เหลือ ได้แก่ความสงบระงับอันใดแห่งส่วนความสำคัญที่ประกอบไปด้วยเครื่องเนิ่นช้านี้.
               ท้าวสักกะย่อมทูลถามทางพร้อมทั้งวิปัสสนา คือ ความเหมาะสมแห่งความดับโดยไม่เหลือนั้น และข้อปฏิบัติให้ถึงในความดับโดยไม่เหลือนั้น.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มเวทนา ๓ อย่างแก่ท้าวสักกะนั้นว่า และอาตมภาพกล่าวโสมนัส.
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแต่ข้อที่ทูลถาม ข้อที่ไม่ทูลถาม ข้อที่มีความต่อเนื่อง ข้อที่ไม่มีความต่อเนื่องหรือ.
               ตอบว่า ตรัสแต่ข้อที่ทูลถามเท่านั้น ไม่ใช่ข้อที่ไม่ทูลถาม ตรัสข้อที่มีความต่อเนื่องเท่านั้น ไม่ใช่ข้อที่ไม่มีความต่อเนื่อง. จริงอยู่ สำหรับเทวดาทั้งหลาย อรูปปรากฏกว่า โดยความเป็นรูป ถึงแม้ในอรูป เวทนาก็ปรากฏกว่า. เพราะเหตุไร. เพราะกายที่เกิดจากธุลีในน้ำ (กรัชกาย) ของพวกเทวดา เป็นของละเอียด รูปที่เกิดจากกรรมเป็นของมีกำลัง เพราะความที่กายอันเกิดแต่ธุลีในน้ำเป็นของละเอียด (และ) เพราะรูปที่เกิดจากกรรมเป็นของมีกำลัง ถ้าก้าวล่วงอาหารแม้มื้อเดียว พวกเทวดาก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ย่อมแหลกไปเหมือนก้อนเนยใสบนแผ่นหินที่ร้อน.
               พึงทราบถ้อยคำทั้งหมดตามนัยที่กล่าวแล้วในพรหมชาลสูตรนั้นแล.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มเวทนาทั้ง ๓ อย่างแก่ท้าวสักกะ.
               ก็แหละกัมมัฏฐานมี ๒ อย่างคือ รูปกัมมัฏฐานและอรูปกัมมัฏฐาน. จะเรียกกัมมัฏฐานนั้นเองว่า การกำหนดรูป และการกำหนดอรูปก็ได้. ในกัมมัฏฐาน ๒ อย่างนั้น รูปปรากฏแก่ผู้ใด พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงทำการกำหนดธาตุ ๔ ให้พิสดารแก่ผู้นั้นด้วยอำนาจเอาใจใส่โดยย่อ หรือด้วยอำนาจเอาใจใส่โดยพิสดาร ก็ตรัสรูปกัมมัฏฐาน อรูปปรากฏแก่ผู้ใด ก็ตรัสอรูปกัมมัฏฐานแก่ผู้นั้น และเมื่อจะตรัสอรูป ก็ทรงแสดงรูปกัมมัฏฐานอันเป็นที่ตั้งของอรูปนั้นจึงตรัส.
               แต่สำหรับพวกเทวดา ทรงทราบว่าอรูปปรากฏ จึงทรงเริ่มเวทนาด้วยอำนาจอรูปกัมมัฏฐาน.
               ก็ความตั้งมั่นในอรูปกัมมัฏฐานมี ๓ อย่างคือ ด้วยอำนาจผัสสะ ด้วยอำนาจเวทนา ด้วยอำนาจจิต. อย่างไร คือ สำหรับบางคน เมื่อรับเอารูปกัมมัฏฐานไปจะโดยสังเขปหรือโดยพิสดารก็ตาม ย่อมมีความตกไปเป็นอย่างยิ่งในชั้นแรกของจิตและเจตสิกทั้งหลายในอารมณ์นั้น ผัสสะเกิดถูกต้องอารมณ์นั้นอยู่ย่อมเป็นของปรากฏ. สำหรับบางคน เวทนาเกิดตามเสวยอารมณ์นั้นอยู่ย่อมเป็นของปรากฏ. สำหรับบางคน วิญญาณที่เกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์นั้นอยู่ย่อมเป็นของปรากฏ.
               ในความตั้งมั่นทั้ง ๓ อย่างนั้น ผู้ใดมีผัสสะแจ่มแจ้ง แม้ผู้นั้นไม่ใช่จะเกิดขึ้นแต่ผัสสะอย่างเดียวเท่านั้น พร้อมกับผัสสะนั้น แม้เวทนาที่ตามเสวยอารมณ์นั้นเองอยู่ก็ย่อมเกิดขึ้นด้วย ถึงสัญญาที่จำอารมณ์นั้นอยู่ ถึงเจตนาที่คิดอารมณ์นั้นอยู่ ถึงวิญญาณที่รู้แจ้งอารมณ์นั้นอยู่ ก็ย่อมเกิดขึ้นด้วย จึงชื่อว่าย่อมรวบถือเอาหมวดเจตสิกธรรมที่มีผัสสะเป็นที่ห้าเหมือนกัน ด้วยประการฉะนี้.
               ผู้ใดมีเวทนาแจ่มแจ้ง แม้ผู้นั้นก็ย่อมชื่อว่ารวบถือเอาหมวดเจตสิกธรรม ที่มีผัสสะเป็นที่ห้าอีกเหมือนกัน เพราะมิใช่แต่เวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับเวทนานั้น ยังมีผัสสะเกิดขึ้นกระทบอารมณ์นั้นเองอยู่ ยังมีสัญญาที่จำอารมณ์ ยังมีเจตนาที่คิดอารมณ์ ยังมีวิญญาณที่รู้แจ้งอารมณ์นั้นอยู่เกิดขึ้นด้วย.
               สำหรับผู้ที่มีวิญญาณแจ่มแจ้งแม้นั้น ก็ย่อมชื่อว่ารวบถือเอาหมวดเจตสิกธรรมที่มีผัสสะเป็นที่ห้าอีกเหมือนกันนั่นแหละ เพราะมิใช่เกิดขึ้นแต่วิญญาณอย่างเดียวเท่านั้น พร้อมกับวิญญาณนั้น ก็ยังมีผัสสะที่เกิดขึ้นกระทบอารมณ์นั้นเองอยู่ ยังมีเวทนาที่ตามเสวยอารมณ์ ยังมีสัญญาที่จำอารมณ์ ยังมีเจตนาที่คิดอารมณ์เกิดขึ้นด้วย.
               เมื่อเขาใคร่ครวญอยู่ว่า ธรรมหมวดที่มีผัสสะเป็นที่ห้าเหล่านี้อาศัยอะไร ก็ย่อมรู้ชัดว่าอาศัยที่ตั้ง. ชื่อว่า ที่ตั้ง ก็คือร่างกาย (ที่เกิดจากละอองในน้ำ) ที่ท่านหมายเอากล่าวว่า ก็แลวิญญาณของเรานี้อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ เกี่ยวข้องในร่างกายนี้.
               โดยใจความก็คือ เขาย่อมรู้ชัดทั้งภูตรูปและอุปาทารูป. เมื่อรู้ชัดว่า ที่ตั้งในร่างกายนี้เป็นรูป หมวดที่มีผัสสะเป็นที่ห้า เป็นนามอย่างนี้ ก็ชื่อว่าย่อมเห็นสักว่าเป็นนามรูปเท่านั้น. และนามรูปก็เป็นเพียงขันธ์ห้า คือรูปในที่นี้เป็นรูปขันธ์ และนามก็เป็นขันธ์ที่ไม่มีรูปทั้ง ๔. ก็ขันธ์ห้าที่พ้นไปจากนามรูป หรือนามรูปที่พ้นไปจากขันธ์ห้าหามีอยู่ไม่.
               เมื่อเขาไตร่ตรองว่า ขันธ์ห้าเหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุ ก็ย่อมเห็นว่ามีอวิชชาเป็นต้นเป็นเหตุ แต่นั้นเมื่อไตร่ตรองถึงปัจจัย และสิ่งที่เกิดเพราะปัจจัยจนรู้ว่านอกเหนือไปจากปัจจัยและสิ่งที่เกิดจากปัจจัยนั้นแล้ว ไม่มีสัตว์หรือบุคคลอื่น มีแต่กลุ่มสังขารล้วนๆ เท่านั้นเอง แล้วก็ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ด้วยอำนาจนามรูปพร้อมกับปัจจัย เที่ยวพิจารณาว่า ไม่เที่ยง ทนไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็นตัวตน ตามลำดับแห่งวิปัสสนา.
               เขาหวังการแทงตลอดอยู่ว่า วันนี้ วันนี้ ในวันเห็นปานนั้น เมื่อได้ฤดูเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย อาหารเป็นที่สบาย หรือการฟังธรรมเป็นที่สบายแล้ว ก็นั่งโดยบัลลังก์เดียวเท่านั้น ครั้นให้วิปัสสนาถึงยอดแล้ว ก็ย่อมตั้งอยู่ในอรหัตตผล.
               โคปกเทพเทพบุตรบอกกัมมัฏฐานจนถึงอรหัตแก่ท่านทั้งสามเหล่านี้อย่างนี้แล.
               แต่ในที่นี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงบอกอรูปกัมมัฏฐาน ก็ทรงแสดงด้วยเวทนาเป็นหัวข้อ. เมื่อพระองค์จะแสดงด้วยอำนาจผัสสะหรือด้วยอำนาจวิญญาณ จะไม่มีความแจ่มแจ้งแก่ท้าวสักกะนี้ แต่จะปรากฏเหมือนความมืด. แต่ด้วยอำนาจเวทนา จึงจะแจ่มแจ้ง.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะการเกิดเวทนาขึ้น เป็นของแจ่มแจ้งแล้ว.
               จริงอยู่ การเกิดสุขและทุกขเวทนาขึ้นเป็นสิ่งแจ่มแจ้งแล้ว. เมื่อความสุขเกิดขึ้น ทั่วทั้งร่างก็เกิดกระเพื่อม ข่มอยู่ ซาบซ่า ซึมซาบ เหมือนให้กินเนยใสที่ชำระร้อยครั้ง เหมือนกำลังทาน้ำมันที่เจียวร้อยครั้ง เหมือนกำลังเอาน้ำพันหม้อมาดับความเร่าร้อน เปล่งวาจาว่า สุขหนอ สุขหนอ อยู่นั่นแหละ. เมื่อเกิดความทุกข์ขึ้น ทั่วทั้งร่างก็เกิดกระเพื่อม ข่มอยู่ ซู่ซ่า ซึมซาบเหมือนเข้าสู่กระเบื้องร้อน เหมือนเอาน้ำทองแดงเหลวมารด เหมือนโดนมัดคบเพลิงไม้ในป่าที่มีหญ้าและไม้ใหญ่ๆ ที่แห้ง คร่ำครวญว่า ทุกข์หนอ ทุกข์หนอ อยู่นั่นแล.
               สุขและทุกขเวทนาเกิดขึ้นปรากฏดังว่ามานี้.
               ส่วนอทุกขมสุขเวทนาชี้แจงยากเหมือนกะถูกความมืดครอบงำ. อทุกขมสุขเวทนานั้น เพราะหลีกสุขและทุกข์ไป จึงมีอาการเป็นกลางด้วยอำนาจเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขและทุกข์ ดังนี้
               เมื่อถือเอาโดยนัย จึงจะแจ่มแจ้ง.
               เหมือนอะไร พรานเนื้อเดินไปตามรอยเท้าเนื้อที่ขึ้นหลังแผ่นหินในระหว่าง แล้วหนึไปได้ เห็นรอยเท้าที่ส่วนนี้บ้าง ส่วนอื่นบ้างของหลังแผ่นหิน แม้ตรงกลางไม่เห็นก็ย่อมรู้ได้โดยนัยว่า มันคงจะขึ้นทางนี้แล้วลงทางนี้ไปโดยประเทศนี้ ตรงกลางบนหลังแผ่นหินฉันใด ก็การเกิดสุขเวทนาขึ้นย่อมเป็นสิ่งแจ่มแจ้ง เหมือนรอยเท้าตรงที่เนื้อมันขึ้น การเกิดขึ้นแห่งทุกขเวทนาก็เป็นสิ่งแจ่มแจ้ง เหมือนรอยเท้าตรงที่เนื้อมันลง เมื่อถือเอาโดยนัยว่า เพราะหลีกสุขและทุกข์ไป อทุกขมสุขเวทนานั้นจึงมีอาการเป็นกลางด้วยอำนาจเป็นปฏิปักษ์ต่อทั้งสุขและทุกข์ ก็ย่อมเป็นของแจ่มแจ้ง เหมือนการถือเอาโดยนัยว่า มันขึ้นตรงนี้ ลงตรงนี้ แล้วไปอย่างนี้ ฉันนั้น.
               ครั้นตรัสรูปกัมมัฏฐานไว้ก่อนอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงพลิกแพลงแสดงอรูปกัมมัฏฐานด้วยอำนาจเวทนาในภายหลัง. และก็ไม่ใช่ทรงแสดงอย่างนี้อย่างเดียวในที่นี้เท่านั้น หากแต่ทรงแสดงรูปกัมมัฏฐานก่อนในพระสูตรไม่ใช่น้อยอย่างนี้คือ ในมหาสติปัฏฐานสูตร จูฬตัณหาสังขยสูตร มหาตัณหาสังขยสูตร จุลลเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร รัฏฐปาลสูตร มาคันทิยสูตร ธาตุวิภังคสูตร อเนญชสัปปายสูตร (และ) ในเวทนาสังยุตทั้งหมด แล้วจึงทรงพลิกแพลงแสดงอรูปกัมมัฏฐานด้วยอำนาจเวทนาในภายหลัง.
               และก็ในพระสูตรเหล่านั้นฉันใด แม้ในสักกปัญหสูตรนี้ก็ฉันนั้น ครั้งแรกทรงแสดงรูปกัมมัฏฐาน แล้วภายหลังจึงทรงพลิกแพลงแสดงอรูปกัมมัฏฐานด้วยอำนาจเวทนา. สำหรับในสักกปัญหสูตรนี้ รูปกัมมัฏฐานพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่อเพียงเป็นอารมณ์ของเวทนาเท่านั้น ฉะนั้น ในบาลีจึงไม่มียกขึ้นมา. เพื่อจะทรงแสดงข้อที่เป็นหลักสำหรับตั้งมั่นด้วยอำนาจของเวทนาที่แจ่มแจ้งแก่ท้าวสักกะนั้นนั่นเอง ในอรูปกัมมัฏฐาน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำเป็นต้นว่า จอมทวยเทพ อาตมภาพกล่าวโสมนัส ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สองอย่าง คือ สองชนิด หมายความว่า โดยส่วนสอง.
               คำว่า ไม่พึงเสพโสมนัสเห็นปานนี้ คือ ไม่พึงเสพโสมนัสที่อาศัยเรือนเห็นปานนี้. ชื่อว่าโสมนัสที่อาศัยเรือน ได้แก่โสมนัสที่อาศัยกามคุณ เป็นไปในทวาร ๖ อย่างนี้ คือในเวทนาเหล่านั้น โสมนัสที่อาศัยเรือน ๖ อย่างเป็นไฉน เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นการได้เฉพาะซึ่งรูปที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยตาที่น่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจ น่าชื่นใจ ที่เกี่ยวกับเหยื่อของโลก โดยความได้เฉพาะ หรือเมื่อตามระลึกถึงรูปที่เคยได้เฉพาะเมื่อก่อน ซึ่งล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว จึงเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเห็นปานนี้ใด นี้เรียกว่าโสมนัสที่อาศัยเรือน ดังนี้เป็นต้น.

               คำว่า พึงเสพโสมนัสเห็นปานนี้ คือ พึงเสพโสมนัสที่อาศัยการออกจากเรือนเห็นปานนี้. ชื่อว่าโสมนัสที่อาศัยการออกจากเรือน ได้แก่โสมนัสที่เกิดขึ้นแก่ผู้เกิดโสมนัสว่า เราได้ขวนขวายวิปัสสนาแล้ว ผู้สามารถเร่งเร้าใจให้ขวนขวายเริ่มตั้งวิปัสสนาด้วยอำนาจไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยงเป็นต้นในอารมณ์ที่น่ารักซึ่งมาสู่คลองในทวารทั้ง ๖ อย่างนี้เป็นต้นว่า ในเวทนาเหล่านั้น โสมนัสที่อาศัยการออกจากเรือน ๖ อย่างเป็นไฉน ก็แลเมื่อบุคคลมารู้ความที่รูปทั้งหลายไม่เที่ยง แปรปรวนไป คลายไป ดับไป แล้วเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาที่ถูกต้องตามที่เป็นจริงอยู่อย่างนี้ว่า รูปทั้งหลายทั้งเมื่อก่อนและบัดนี้ รูปเหล่านั้นทั้งหมดไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จึงเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเห็นปานนี้ใด นี้เรียกว่าโสมนัสที่อาศัยการออกจากเรือน.
               คำว่า พึงเสพ คือ โสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการออกจากเรือน ด้วยอำนาจวิปัสสนา ด้วยอำนาจการตามระลึกถึง ด้วยอำนาจฌานที่หนึ่งเป็นต้นนี้ ชื่อว่าพึงเสพ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า หากโสมนัสใดมีความตรึก มีความตรอง คือ ในโสมนัสที่อาศัยการออกจากเรือนแม้นั้น ก็ต้องรู้ว่าโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการออกจากเรือน ด้วยอำนาจวิปัสสนา ด้วยอำนาจการตามระลึกถึง และด้วยอำนาจแห่งฌานที่หนึ่งนั้นเป็นโสมนัสที่ยังมีความตรึก ยังมีความตรอง.
               บทว่า หากโสมนัสใดไม่มีความตรึก ไม่มีความตรอง คือ ส่วนโสมนัสที่เกิดด้วยอำนาจฌานที่สองและที่สามนั้น ก็ต้องรู้ว่าเป็นโสมนัสที่ไม่มีความตรึก ไม่มีความตรอง.
               คำว่า เหล่าใด ไม่มีความตรึก ไม่มีความตรอง ประณีตกว่า ความว่า แม้ในโสมนัสทั้งสองนี้ โสมนัสที่ไม่มีความตรึก ไม่มีความตรองนั้น ประณีตกว่า.
               ด้วยคำนี้ เป็นอันท่านกล่าวถึงอะไร. กล่าวถึงอรหัตตผลของสองท่าน.
               อย่างไร?
               จริงอยู่ ภิกษุรูปหนึ่งเมื่อเริ่มตั้งวิปัสสนาในโสมนัสที่ยังมีความตรึก ยังมีความตรอง แล้วก็มาใคร่ครวญว่าโสมนัสนี้อาศัยอะไร ก็ทราบชัดว่าอาศัยที่ตั้ง แล้วก็ตั้งอยู่ในอรหัตตผลโดยลำดับ ตามนัยที่กล่าวแล้วในหมวดอันมีผัสสะเป็นที่ห้านั่นแหละ. รูปหนึ่งเริ่มตั้งวิปัสสนาในโสมนัสที่ไม่มีความตรึก ไม่มีความตรองแล้วก็ตั้งอยู่ในอรหัตตผล ตามนัยที่กล่าวแล้วเหมือนกัน.
               แม้ในโสมนัสที่ตั้งมั่นเหล่านั้น โสมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง ประณีตกว่าที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรอง โสมนัสวิปัสสนาที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง ประณีตกว่า แม้โสมนัสวิปัสสนาที่มีความตรึกและมีความตรอง โสมนัสผลสมาบัติที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองเท่านั้นที่ประณีตกว่า โสมนัสผลสมาบัติที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรอง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เหล่าใดไม่มีความตรึกไม่มีความตรอง ประณีตกว่า ดังนี้.
               คำว่า ไม่พึงเสพโทมนัสเห็นปานนี้ ความว่า ไม่พึงเสพโทมนัสที่อาศัยเรือนเห็นปานนี้. ที่ชื่อว่าโทมนัสอันอาศัยเรือน ได้แก่ โทมนัสที่อาศัยกามคุณซึ่งเกิดแก่ผู้ตรึกอยู่ว่า เราไม่ตามเสวยแล้ว จักไม่ตามเสวย ย่อมไม่ตามเสวย ซึ่งอิฏฐารมณ์ในทวารทั้ง ๖ อย่างนี้ว่า ในเวทนาเหล่านั้น โทมนัสที่อาศัยเรือน ๖ อย่างเป็นไฉน เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นการไม่ได้เฉพาะซึ่งรูปที่น่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจ น่าชื่นใจ ซึ่งเกี่ยวกับเหยื่อของโลก ที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยตา โดยความไม่ได้เฉพาะ หรือเมื่อตามระลึกถึงรูปที่ไม่เคยได้เฉพาะ เมื่อซึ่งล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว จึงเกิดโทมนัสขึ้น โทมนัสเห็นปานนี้ใด นี้เรียกโทมนัสที่อาศัยเรือน ดังนี้เป็นต้น.

               คำว่า พึงเสพโทมนัสเห็นปานนี้ คือ พึงเสพโทมนัสที่อาศัยการออกจากเรือนเห็นปานนี้. ที่ชื่อว่าโทมนัสที่อาศัยการออกจากเรือน ได้แก่ โทมนัสที่เกิดแก่ผู้ที่ไม่สามารถเพื่อจะเร่งเร้าใจให้ขวนขวายเข้าไปตั้งความอยากได้ในธรรมคืออริยผล กล่าวคือความหลุดพ้นชั้นเยี่ยม แล้วเริ่มตั้งวิปัสสนาด้วยอำนาจไตรลักษณ์มีความไม่เที่ยงเป็นต้นเพื่อบรรลุอริยผลนั้น ผู้ตามเศร้าใจว่า เราไม่สามารถเพื่อจะเร่งเร้าใจให้ขวนขวายวิปัสสนามาตลอดปักษ์แม้นี้ ตลอดเดือนแม้นี้ ตลอดปีแม้นี้ แล้วบรรลุอริยภูมิได้ ในอารมณ์ที่น่ารักอันมาสู่คลองในทวารทั้ง ๖ อย่างนี้ว่า ในเวทนาเหล่านั้น โทมนัสที่อาศัยการออกจากเรือนเป็นไฉน ก็แล เมื่อบุคคลมารู้ความที่รูปทั้งหลายไม่เที่ยง แปรปรวนไป คลายไป ดับไปแล้ว เห็นรูปนั้นด้วยปัญญาที่ถูกต้องตามที่เป็นจริงอยู่อย่างนี้ว่า รูปทั้งหลาย ทั้งเมื่อก่อนและบัดนี้เหล่าใด รูปเหล่านั้นทั้งหมด ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แล้วจึงเข้าไปตั้งความอยากได้ในความหลุดพ้นชั้นเยี่ยมว่า ชื่อว่าเมื่อไรหนอ เราจึงจะเข้าถึงอายตนะนั้นแล้วแลอยู่ คืออายตนะที่พวกพระอริยเจ้า ในบัดนี้ ย่อมเข้าถึงแล้วแลอยู่. เมื่อเข้าไปตั้งความอยากได้ในความหลุดพ้นชั้นเยี่ยม ดังที่ว่ามานี้ โทมนัสก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะความอยากได้เป็นปัจจัย. โทมนัสเห็นปานนี้ใด นี้เรียกว่าโทมนัสที่อาศัยการออกจากเรือน ดังนี้เป็นต้น.
               คำว่า พึงเสพ คือ โทมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการออกจากเรือน ด้วยอำนาจวิปัสสนา ด้วยอำนาจการตามระลึกถึง ด้วยอำนาจฌานที่หนึ่งเป็นต้นนี้ ชื่อว่าเป็นโทมนัสที่พึงเสพ.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า หากโทมนัสใด ยังมีความตรึก ยังมีความตรอง คือ ในโสมนัสทั้งสองอย่างแม้นั้น โทมนัสที่อาศัยเรือนเท่านั้น ที่ชื่อว่าโทมนัสยังมีความตรึก ยังมีความตรองอยู่. ส่วนโทมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการออกจากเรือน ด้วยอำนาจวิปัสสนา ด้วยอำนาจการตามระลึกถึง ด้วยอำนาจฌานที่หนึ่งและฌานที่สอง พึงทราบว่าเป็นโทมนัสที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรองอยู่. ส่วนโดยทำนองอย่างตรงขึ้นชื่อว่าโทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองไม่มี. สำหรับอินทรีย์คือโทมนัส เป็นอกุศลโดยส่วนเดียวเท่านั้น และยังมีความตรึกและยังมีความตรองด้วย. แต่ด้วยอำนาจความเข้าใจของภิกษุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อินทรีย์คือโทมนัส ยังมีความตรึกและยังมีความตรอง และว่าที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง ดังนี้.
               ต่อไปนี้ เป็นนัยในเรื่องโทมนัสนั้น คือ
               ในกรณีนี้ ภิกษุถือเอาธรรมที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรอง และธรรมที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง อันเป็นธรรมที่มีโทมนัสเป็นปัจจัย และธรรมคือมรรคและผลที่เกิดขึ้นมีโทมนัสเป็นปัจจัยนั่นเอง ว่าเป็นโทมนัสเพราะอำนาจเห็นการปฏิบัติของภิกษุเหล่าอื่นแล้วก็มาคิดว่า เมื่อไรหนอแล เราจึงจักเริ่มตั้งวิปัสสนาในโทมนัสที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรองได้เสียที เมื่อไร เราจึงเริ่มตั้งวิปัสสนาในโทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองได้เสียที และคิดอีกว่า เมื่อไรหนอแล เราจึงจักให้ผลสมาบัติในโทมนัสที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรองเกิดได้เสียที เมื่อไรเราจึงจักให้ผลสมาบัติในโทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองเกิดได้เสียที
               แล้วก็ถือข้อปฏิบัติตลอดสามเดือน หกเดือน หรือเก้าเดือน เมื่อถือข้อปฏิบัติตลอดสามเดือน ในเดือนแรกเดินเสียหนึ่งยาม สองยามทำโอกาสแก่การหลับ ในเดือนกลางเดินเสียสองยาม ทำโอกาสแก่การหลับหนึ่งยาม ในเดือนสุดท้ายให้ร่างกายเป็นไปด้วยการเดินจงกรมและการนั่งเท่านั้นเอง ถ้าแบบนี้ บรรลุพระอรหัตนั้นก็ดีไป.
               ถ้าไม่บรรลุ เธอก็ถือข้อปฏิบัติประเภท ๖ เดือน ให้วิเศษ (ขึ้นไปอีก) แม้ในข้อปฏิบัติประเภท ๖ เดือนนั้น ทุกสองเดือนๆ ก็ปฏิบัติตามนัยที่กล่าวแล้ว เมื่อไม่สามารถสำเร็จพระอรหัตได้ ก็ยึดหลักปฏิบัติชนิดเก้าเดือนให้วิเศษ (ยิ่งขึ้นไปอีก) แม้ในหลักปฏิบัติชนิดเก้าเดือนนั้น ทุกสามเดือนๆ ก็ปฏิบัติอย่างนั้นแหละ เมื่อไม่สามารถบรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้ (และ) เมื่อพิจารณาว่า โอ้หนอ! เราไม่ได้ปวารณาแบบวิสุทธิปวารณา พร้อมกับพวกเพื่อนพรหมจรรย์เสียแล้ว ความโทมนัสก็ย่อมเกิดขึ้น. สายน้ำตาก็ไหลพรู เหมือนสายน้ำตาของพระมหาสิวเถระผู้อยู่ที่เงื้อมเขาท้ายหมู่บ้าน.
               เล่ากันว่า พระเถระสอนหมู่ใหญ่ ๑๘ หมู่ พวกภิกษุสามหมื่นรูปตั้งอยู่ในโอวาทของท่านบรรลุอรหัตแล้ว. ต่อมา มีภิกษุรูปหนึ่งมารำพึงว่า ภายในตัวเราก่อน มีคุณประมาณไม่ได้ คุณของอาจารย์เราเป็นอย่างไรหนอแล กำลังรำพึงอยู่ก็เห็นความเป็นปุถุชน จึงคิดว่า อาจารย์พวกเราเป็นที่พึ่งของคนเหล่าอื่น (แต่) ไม่สามารถเพื่อจะเป็นที่พึ่งของตนได้ เราจะให้โอวาทแก่ท่าน แล้วก็เหาะมาลงใกล้วัด เข้าไปหาอาจารย์ผู้นั่งในที่พักกลางวัน แสดงวัตรแล้ว ก็นั่งในที่ควรส่วนหนึ่ง.
               พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนผู้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร คุณมาเพราะเหตุไร.

ภิกษุ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมเป็นผู้มาแล้ว ด้วยคิดว่า จักเอาอนุโมทนาสักบทหนึ่ง.

เถระ. คงจะไม่มีโอกาสหรอกคุณ

ภิกษุ. ท่านขอรับ กระผมจะเรียนถามในเวลายืนที่โรงตรึก

เถระ. ในที่นั้น พวกคนอื่นก็จะถาม.

ภิกษุ. ในทางเที่ยวบิณฑบาตล่ะ ขอรับ.

เถระ. แม้ในทางนั้น พวกคนอื่นก็จะถาม.

ภิกษุ. ในที่นุ่งผ้าสองชั้น ในที่ห่มสังฆาฏิ ในที่นำเอาบาตรออกในเวลาเที่ยวไปในหมู่บ้าน แล้วดื่มข้าวต้มในโรงฉันล่ะขอรับ.

เถระ. ในที่นั้นๆ ก็จะมีพวกเถระทางอรรถกถาบรรเทาความสงสัยของตน.

ภิกษุ. กระผมจะเรียนถามในเวลาออกจากภายในหมู่บ้าน ขอรับ.

เถระ. แม้ในที่นั้น ก็จะมีคนพวกอื่นถาม คุณ.

ภิกษุ. ท่านขอรับ ในระหว่างทาง ท่านขอรับ ในเวลาเสร็จการฉันในโรงอาหาร ท่านขอรับ ในเวลาล้างเท้า ในเวลาล้างหน้า ในที่พักกลางวัน.

เถระ. ตั้งแต่นั้นไปจนถึงสว่าง ก็จะมีพวกอื่นอีกถาม คุณ.

ภิกษุ. ในเวลาเอาไม้สีฟันแล้วไปสู่ที่ล้างหน้า ขอรับ.

เถระ. ตอนนั้น พวกอื่นก็จะถาม.

ภิกษุ. ในเวลาล้างหน้าแล้วมาล่ะ ขอรับ.

เถระ. แม้ในตอนนั้น พวกอื่นก็จะถาม.

ภิกษุ. ในเวลาเข้าเสนาสนะแล้วนั่งล่ะ ขอรับ.

เถระ. แม้ในตอนนั้น พวกอื่นก็จะถาม.

ภิกษุ. ท่านขอรับ มันน่าจะเป็นโอกาสและเวลาของพวกผู้ที่ล้างหน้า เสร็จแล้วเข้าสู่เสนาสนะ ให้สามสี่บัลลังก์ได้รับความอบอุ่นแล้ว ทำงานด้วยความเอาใจใส่อย่างมีเหตุผลมิใช่หรือ ท่านขอรับ ท่านจะไม่ได้แม้แต่ขณะแห่งความตาย ท่านจงเป็นเหมือนแผ่นกระดานเถิด ขอรับ ท่านจงเป็นที่พึ่งของคนอื่นเถิด ขอรับ ท่านไม่อาจเพื่อจะเป็นที่พึ่งของตน กระผมไม่มีความต้องการ ด้วยการอนุโมทนาของท่าน ว่าแล้วก็ได้เหาะไปในอากาศ.

               พระเถระทราบว่า งานเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนของภิกษุรูปนี้ไม่มี แต่เธอมาด้วยคิดว่า จะเป็นผู้สั่งสอนเรา แล้วคิดว่า บัดนี้จะไม่มีโอกาส เวลาใกล้รุ่งเราจะไป แล้วก็เก็บบาตรจีวรไว้ใกล้ๆ สอนธรรมตลอดยามต้น และยามกลางคืนยังรุ่ง ขณะที่พระเถระรูปหนึ่งเรียนอุทเทศแล้วจะออกไปในยามสุดท้าย ก็ถือบาตรจีวรออกไปด้วยกันกับพระเถระนั้นนั่นเอง พวกศิษย์ (อันเตวาสิก) ที่นั่งเข้าใจว่า อาจารย์ออกไปด้วยธุระบางอย่างนานแล้ว. พระเถระที่ออกไปก็ทำความเข้าใจว่า เป็นภิกษุที่ร่วมอาจารย์กันบางรูปนั่นเอง.
               ได้ยินว่า พระเถระคิดว่า ชื่อว่าความเป็นพระอรหันต์สำหรับคนชั้นเรา จะอะไรหนักหนาเล่า แค่สองสามวันเท่านั้นแหละ ก็จะสำเร็จแล้วจึงจะกลับมา ดังนี้ จึงไม่บอกพวกลูกศิษย์เลย ในวันขึ้นสิบสามค่ำเดือนแปดไปสู่เงื้อมเขาท้ายหมู่บ้าน เมื่อขึ้นสู่ที่จงกรมแล้ว เอาใจใส่กัมมัฏฐาน ในวันนั้นยังถือเอาพระอรหัตตผลไม่ได้.
               เมื่อถึงวันอุโบสถ ก็คิดว่า เรามาแล้วด้วยคิดว่า โดยสองสามวัน เราจะเอาพระอรหัตตผลให้ได้ ก็ยังเอาไม่ได้ สามเดือนก็เหมือนสามวันนั่นแหละ คอยถึงวันมหาปวารณาก่อนจะรู้ ถึงเข้าพรรษาแล้วก็ยังเอาไม่ได้.
               ในวันปวารณา ท่านคิดว่า เรามาแล้วด้วยคิดว่า โดยสองสามวัน เราจะเอาพระอรหัตตผลให้ได้ นี่ก็ตั้งสามแล้ว ก็ยังไม่สามารถจะเอาได้ ส่วนพวกเพื่อนพรหมจรรย์จะปวารณาชนิดวิสุทธิปวารณากัน เมื่อท่านคิดอย่างนั้น สายน้ำตาก็หลั่งไหล. จากนั้น ท่านคิดว่า มรรคผลจะไม่เกิดขึ้นเพราะอิริยาบถ ๔ ของเราบนเตียง ถ้าเดี๋ยวนี้ยังไม่บรรลุพระอรหัตตผล เราจะไม่ยอมเหยียดหลังบนเตียงอย่างเด็ดขาด จะไม่ยอมล้างเท้า แล้วก็ให้ยกเอาเตียงไปเก็บไว้ภายใน พรรษาก็ถึงอีก. ท่านก็ยังเอาพระอรหัตตผลไม่ได้ตามเคย สายน้ำตาก็หลั่งไหล ในวันปวารณายี่สิบเก้าครั้ง.
               พวกเด็กในหมู่บ้านพากันเอาหนามมากลัดที่ที่แตกในเท้าทั้งสองข้างของพระเถระ.
               แม้เมื่อจะพากันเล่น ก็เล่นเอาว่า ขอให้เท้าทั้งสองข้างจงเป็นเหมือนเท้าของพระคุณเจ้ามหาสิวเถระเถิด.
               ในวันมหาปวารณาปี (ที่) สามสิบ พระเถระยืนยึดแผ่นกระดานสำหรับพิง คิดว่า เมื่อเราทำสมณธรรมมาตั้งสามสิบปีเข้านี้แล้ว เราก็ไม่สามารถสำเร็จพระอรหัตตผลได้ ในอัตภาพของเรานี้ มรรคหรือผลย่อมไม่มีเป็นแน่ เราไม่ได้ปวารณาชนิดวิสุทธิปวารณากับเพื่อนพรหมจรรย์แล้ว. และก็เมื่อท่านคิดอยู่อย่างนั้น ก็เกิดโทมนัสขึ้นมา สายน้ำตาก็หลั่งไหล.
               ขณะนั้น ในที่ใกล้ๆ มีเทพธิดาองค์หนึ่ง กำลังยืนร้องไห้อยู่.

เถระ. ใครร้องไห้ที่นี้.

เทพธิดา. ดิฉัน นางเทพธิดา เจ้าค่ะ.

เถระ. ร้องไห้ทำไม.

เทพธิดา. เมื่อมรรคผลกำลังเกิด เพราะการร้องไห้ ดิฉันคิดว่า แม้เราก็จะให้เกิดมรรคผลหนึ่ง (หรือ) สอง จึงร้องไห้เจ้าค่ะ.

               จากนั้น พระเถระก็คิดว่า นี่แน่ะ มหาสิวะ แม้แต่เทพธิดาก็ยังมาเยาะเย้ยเธอได้ นี่มันควรแก่เธอหรือหนอ แล้วก็เจริญวิปัสสนา ได้ถือเอาความเป็นพระอรหันต์พร้อมกับปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว.
               ท่านคิดว่า บัดนี้ เราจะนอน แล้วก็จัดแจงเสนาสนะ ปูลาดเตียง ตั้งน้ำในที่น้ำ คิดว่า เราจะล้างเท้าทั้งสองข้าง แล้วก็นั่งลงที่ขั้นบันได.
               แม้พวกศิษย์ของท่าน ก็พากันคิดอยู่ว่า เมื่ออาจารย์ของเราไปทำสมณธรรมตั้งสามสิบปี ท่านอาจทำคุณวิเศษให้เกิดได้หรือไม่อาจ เห็นว่าท่านสำเร็จพระอรหัตแล้ว นั่งลงเพื่อล้างเท้า จึงต่างก็คิดว่า อาจารย์พวกเรา เมื่อพวกศิษย์เช่นพวกเรายังอยู่ คิดว่า จะล้างเท้าด้วยตนเองนี้ไม่ใช่ฐานะ เราจะล้าง เราจะล้าง แล้วทั้ง ๓๐,๐๐๐ รูปต่างก็เหาะมาไหว้ แล้วกราบเรียนว่า กระผมจะล้างเท้าถวาย ขอรับ.
               ท่านห้ามว่า คุณ ฉันไม่ได้ล้างเท้ามาตั้งสามสิบปีเข้านี่แล้ว พวกคุณไม่ต้องฉันจะล้างเอง.
               แม้ท้าวสักกะก็ทรงพิจารณาว่า พระคุณเจ้ามหาสิวะเถระของเรา สำเร็จพระอรหัตแล้ว เมื่อพวกศิษย์สามหมื่นรูปมาแล้วด้วยคิดว่า พวกเราจะล้างเท้าทั้งหลายถวาย ก็ไม่ให้ล้างเท้าให้ ก็เมื่ออุปัฏฐากเช่นเรายังมีอยู่ พระคุณเจ้าคิดว่าจะล้างเท้าเองนี่เป็นไปไม่ได้ แล้วทรงตัดสินพระทัยว่า เราจะล้างถวายจึงพร้อมด้วยสุชาดาเทวีได้ทรงปรากฏในสำนักของหมู่ภิกษุ.
               ท้าวเธอทรงส่งนางสุชาดาผู้เป็นอสุรกัญญาล่วงหน้าไปก่อน ให้เปิดโอกาสว่า ท่านเจ้าขา พวกท่านจงหลีกไป โปรดให้โอกาสผู้หญิง แล้วทรงเข้าไปหาพระเถระ ไหว้แล้วนั่งกระหย่งต่อหน้าตรัสว่า ท่านขอรับ กระผมจะล้างเท้าถวาย.
               พระเถระตอบว่า โกสีย์ อาตมภาพไม่เคยล้างเท้ามาตั้งสามสิบปีเข้านี่แล้ว และแม้โดยปกติชื่อว่ากลิ่นตัวคนเป็นของน่าเกลียดสำหรับพวกเทพ แม้อยู่ไกลตั้งร้อยโยชน์ เหมือนเอาซากศพมาแขวนคอ อาตมภาพจะล้างเอง.
               ตรัสตอบว่า ท่านขอรับ ชื่อว่ากลิ่นอย่างนี้ไม่ปรากฏ เพราะว่ากลิ่นศีลของท่านเลยเทวโลกหกชั้นไปตั้งอยู่สูงถึงชั้นภวัคคพรหมในเบื้องบน ไม่มีกลิ่นอื่นที่ยิ่งไปกว่ากลิ่นศีล ท่านขอรับ กระผมมาเพราะกลิ่นศีลของท่าน แล้วก็ทรงเอาพระหัตถ์ซ้ายจับข้อต่อตาตุ่ม แล้วเอาพระหัตถ์ขวาลูบฝ่าเท้า. เท้าของท่านก็เป็นเหมือนกับเท้าของเด็กหนุ่มขึ้นมาทันที. ครั้นท้าวสักกะทรงล้างเท้าถวายเสร็จแล้วก็ทรงไหว้ แล้วเสด็จไปสู่เทวโลกตามเดิม.
               พึงทราบว่า ท่านเรียกอารมณ์ของวิปัสสนาก็ดี วิปัสสนาก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ว่า โทมนัสที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรอง และว่าโทมนัสที่ไม่มีความตรึก และไม่มีความตรอง ด้วยอำนาจความเข้าใจของภิกษุผู้อาศัยโทมนัสที่เกิดขึ้นแล้วพิจารณาอยู่ว่า เราไม่ได้ปวารณาชนิดวิสุทธิปวารณาด้วยกันกับพวกเพื่อนพรหมจรรย์ ดังที่ว่ามานี้.
               ในเรื่องของโทมนัสนั้น มีภิกษุรูปหนึ่งเริ่มตั้งวิปัสสนาในโทมนัสที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรองมาใคร่ครวญว่า โทมนัสนี้อาศัยอะไร ก็รู้ชัดว่าอาศัยวัตถุ จึงตั้งอยู่ในพระอรหัตตผลโดยลำดับ โดยนัยที่กล่าวแล้วในหมวดธรรมที่มีผัสสะเป็นที่ห้านั่นแหละ. รูปหนึ่งเริ่มตั้งวิปัสสนาในโทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง ก็ตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล ตามนัยที่กล่าวมาแล้วเหมือนกัน.
               แม้ในโทมนัสที่ตั้งมั่นแล้วเหล่านั้น โทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง ประณีตกว่าที่มีความตรึกและความตรอง วิปัสสนาในโทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง ก็ประณีตกว่าวิปัสสนาในโทมนัสที่มีความตรึกและมีความตรองด้วย ผลสมาบัติในโทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองก็ประณีตกว่า แม้ผลสมาบัติในโทมนัสที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรองนั่นเทียว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เหล่าใดที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองประณีตกว่า ดังนี้.
               คำว่า ไม่พึงเสพอุเบกขาเห็นปานนั้น ความว่า ไม่พึงเสพอุเบกขาที่อาศัยเรือนเห็นปานนั้น. ที่ชื่อว่าอุเบกขาที่อาศัยเรือน ได้แก่อุเบกขาที่อาศัยกามคุณ ซึ่งติดข้อง เกิดขึ้นในกามคุณนั้นเอง เป็นไปล่วงรูปเป็นต้นไม่ได้ เหมือนแมลงวันตอมงบน้ำอ้อย ในอารมณ์ที่น่ารักที่มาสู่คลองในทวารทั้ง ๖ อย่างนี้ คือ ในเวทนาเหล่านั้น อุเบกขาที่อาศัยเรือน ๖ อย่างเป็นไฉน เพราะเห็นรูปด้วยตา อุเบกขาย่อมเกิดขึ้นแก่คนโง่ คนหลง คนมีกิเลสหนา คนเอาแต่ชนะไม่มีขอบเขตไป เอาแต่ชนะไม่เป็นผล มีปกติไม่เห็นโทษ ไม่ได้รับการศึกษา คือเป็นปุถุชน อุเบกขาเห็นปานนี้ใด อุเบกขานั้นก้าวล่วงรูปไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกอุเบกขานั้นว่าอาศัยเรือน ดังนี้เป็นต้น.

               คำว่า อุเบกขาเห็นปานนี้ อันบุคคลพึงเสพ คือ พึงเสพอุเบกขาที่อาศัยการออกจากเรือนเห็นปานนี้. ที่ชื่อว่า อุเบกขาที่อาศัยการออกจากเรือนได้แก่ อุเบกขาที่ประกอบพร้อมด้วยวิปัสสนาญาณ ซึ่งเกิดแก่บุคคลผู้ไม่ยินดีในอารมณ์ที่น่ารัก ไม่ยินร้ายในอารมณ์ที่ไม่น่ารัก ไม่ลุ่มหลงเพราะขาดการเพ่งพิจารณาในอารมณ์ มีอารมณ์ที่น่ารักเป็นต้น ที่มาสู่คลองในทวารทั้งหกอย่างนี้ คือ ในเวทนาเหล่านั้น อุเบกขาที่อาศัยการออกจากเรือนหกอย่างเป็นไฉน คือ อุเบกขาย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้รู้แจ้ง ความไม่เที่ยงนั้นเอง ความแปรปรวน ความคลาย ความดับของรูป แล้วเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปทั้งหลายทั้งในเมื่อก่อน ทั้งในบัดนี้ รูปเหล่านั้นล้วนแต่ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา อุเบกขาเห็นปานนี้ใด อุเบกขานั้นก้าวล่วงรูปได้ เพราะฉะนั้น อุเบกขานั้นจึงเรียกว่าอาศัยการออกจากเรือน ดังนี้เป็นต้น.

               อีกอย่างหนึ่ง แม้อุเบกขาที่เป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ มีส่วนเสมอกันกับเวทนา ก็จัดเป็นอุเบกขาในที่นี้ได้เหมือนกัน.
               คำว่า เพราะฉะนั้นพึงเสพ ความว่า พึงเสพอุเบกขาที่เกิดด้วยอำนาจการออกจากเรือนด้วยอำนาจวิปัสสนา ด้วยอำนาจการตามระลึกถึง ด้วยอำนาจฌานที่หนึ่ง ที่สอง ที่สามและที่สี่นี้ไว้.
               ในคำเหล่านั้นคำว่า ถ้าอุเบกขาใดยังมีความตรึกยังมีความตรอง คือ แม้ในอุเบกขาที่อาศัยการออกจากเรือนนั้น ก็พึงทราบว่า อุเบกขายังมีความตรึก ยังมีความตรองซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจการออกจากเรือน ด้วยอำนาจวิปัสสนา ด้วยอำนาจการตามระลึกถึงและด้วยอำนาจฌานที่หนึ่งใด.
               คำว่า ใด ถ้าไม่มีความตรึก ไม่มีความตรอง คือ ก็พึงทราบว่าอุเบกขาที่ไม่มีความตรึก ไม่มีความตรอง ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจฌานที่สองและที่สามเป็นต้นใด.
               คำว่า เหล่าใดไม่มีความตรึกไม่มีความตรอง ความว่า ในอุเบกขาทั้งสองเหล่านี้ อุเบกขาที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองนั้นประณีตกว่า.
               ด้วยคำนี้ เป็นอันท่านกล่าวถึงอะไร กล่าวถึงอรหัตตผลของสองท่าน.
               จริงอยู่ ภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อเริ่มตั้งวิปัสสนาในอุเบกขาที่ยังมีความตรึก และยังมีความตรองแล้วก็มาใคร่ครวญว่า อุเบกขานี้อาศัยอะไร ก็ทราบชัดว่าอาศัยที่วัตถุ แล้วก็ตั้งอยู่ในอรหัตตผลโดยลำดับ ตามนัยที่กล่าวแล้วในหมวดอันมีผัสสะเป็นที่ห้านั่นแหละ. รูปหนึ่งเริ่มตั้งวิปัสสนาในอุเบกขาที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง แล้วก็ตั้งอยู่ในอรหัตตผล ตามนัยที่กล่าวแล้วเหมือนกัน.
               แม้ในอุเบกขาที่ตั้งมั่นเหล่านั้น อุเบกขาที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองประณีตกว่าที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรอง อุเบกขาวิปัสสนาที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองประณีตกว่า แม้อุเบกขาวิปัสสนาที่มีความตรึกและมีความตรอง อุเบกขาผลสมาบัติที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองเท่านั้นที่ประณีตกว่าอุเบกขาผลสมาบัติที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรอง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เหล่าใดไม่มีความตรึกไม่มีความตรองประณีตกว่า ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า จอมทวยเทพ! ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าย่อมปฏิบัติข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความสมควรเพื่อความดับโดยไม่เหลือแห่งส่วนที่มีความจำได้หมายรู้อันประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า แล้วก็ทรงจบเทศนาลงด้วยยอด คือพระอรหัตตผล.
               ส่วนท้าวสักกะทรงบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว.
               ธรรมดาพระอัธยาศัยของพระพุทธเจ้าไม่มีเลว มีแต่ชั้นยอดทั้งนั้น. เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่คนเดียวก็ดี แก่หลายคนก็ดี ล้วนแต่ทรงถือยอดด้วยพระอรหัตตผลทั้งนั้น. แต่พวกสัตว์ตั้งอยู่ในอุปนิสัยที่สมควรแก่ตน. บางพวกก็เป็นโสดาบัน บางพวกก็เป็นสกทาคามี บางพวกก็เป็นอนาคามี บางพวกก็เป็นอรหันต์.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเหมือนพระราชา พวกเวไนยสัตว์เหมือนพวกพระราชกุมาร. เหมือนอย่างว่า ในเวลาเสวยพระกระยาหาร พระราชาทรงตักก้อนข้าวตามขนาดพระองค์ แล้วทรงป้อนพวกพระราชกุมาร. พวกพระราชกุมารเหล่านั้นก็ทรงทำคำข้าวตามขนาดพระโอษฐ์ของพระองค์จากก้อนข้าวนั้นฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ทรงถือเอายอดด้วยพระอรหัตตผลด้วยเทศนาที่สมควรแก่พระอัธยาศัยของพระองค์เท่านั้น เวไนยสัตว์ทั้งหลายต่างก็ย่อมรับเอาโสดาปัตตผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผลนั่นแหละจากพระธรรมเทศนานั้น ตามประมาณแห่งอุปนิสัยของตน.
               ส่วนท้าวสักกะ ครั้นทรงเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ทรงจุติต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเอง แล้วก็ทรงเกิดกลายเป็นท้าวสักกะหนุ่ม. ธรรมดาที่ไปและที่มาของอัตภาพของเหล่าเทพที่จุติอยู่ ย่อมไม่ปรากฏ. ย่อมเป็นเหมือนการปราศไปของเปลวประทีป ฉะนั้น พวกเทพที่เหลือจึงไม่ทราบกัน. ส่วนท่านที่ทรงทราบมีสองท่านเท่านั้น คือ ท้าวสักกะ เพราะทรงจุติเอง ๑ พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะทรงมีพระญาณที่หาอะไรมาขัดข้องไม่ได้ ๑.
               ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงคิดว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงผลของผู้เกิดในสามสถานเท่านั้นแก่เรา ส่วนมรรคหรือผลนี้ ไม่มีใครเหาะไปเอาได้เหมือนนางนก อันการถือเอามรรคหรือผลนั้น พึงเป็นได้ด้วยข้อปฏิบัติอันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งมรรคหรือผลอันจะต้องมา เอาเถิด เราจะทูลถามข้อปฏิบัติอันเป็นส่วนเบื้องต้นของพระขีณาสพในเบื้องบนให้ได้.
               ต่อจากนั้น เมื่อจะทูลถามข้อปฏิบัตินั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สิ้นทุกข์ ก็ผู้ปฏิบัติแล้วอย่างไร.


               ปาติโมกฺขสํวรวณฺณนา               

               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ด้วยความสำรวมในปาฏิโมกข์ คือ ด้วยความสำรวมในศีลที่สูงสุดและเจริญที่สุด. คำเป็นต้นว่า แม้ถึงมารยาททางกาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อทรงแสดงถึงความสำรวมในปาฏิโมกข์ ด้วยอำนาจมารยาททางกายที่พึงเสพ. ก็แล ชื่อว่าถ้อยคำที่เกี่ยวกับศีลนี้ ย่อมเป็นอันพึงกล่าวด้วยอำนาจกรรมบถ หรือด้วยอำนาจบัญญัติก็ได้. ในกรรมบถและบัญญัตินั้น อันผู้จะกล่าวด้วยอำนาจกรรมบถ ต้องกล่าวถึงมารยาททางกายที่ไม่พึงเสพด้วยการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์และความพระพฤติผิดในกามทั้งหลายก่อน เมื่อจะกล่าวด้วยอำนาจบัญญัติ ต้องกล่าวด้วยอำนาจบัญญัติสิกขาบทและการละเมิดในกายทวาร. ต้องกล่าวถึงมารยาททางกายที่พึงเสพด้วยเจตนาเครื่องเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นต้น และด้วยบัญญัติสิกขาบทและการไม่ละเมิดในกายทวาร. ต้องกล่าวถึงมารยาททางวาจาที่ไม่พึงเสพด้วยความประพฤติชั่วทางวาจามีการกล่าวเท็จเป็นต้น และด้วยบัญญัติสิกขาบท และการละเมิดในวจีทวาร ต้องกล่าวถึงมารยาททางวาจาที่พึงเสพด้วยเจตนาเครื่องเว้นจากการกล่าวเท็จเป็นต้น และด้วยบัญญัติสิกขาบท และการไม่ละเมิดในวจีทวาร.
               สำหรับการแสวงหา ก็ได้แก่การแสวงหาด้วยกายและวาจานั่นเอง. การแสวงหานั้นก็เป็นอันถือเอาแล้วด้วยศัพท์ คือมารยาททางกายและวาจา เพราะเหตุที่ธรรมดาศีลอันมีอาชีพเป็นที่แปด ย่อมเกิดขึ้นแต่ในสองทวารนี้เท่านั้น ไม่ใช่ในอากาศ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการแสวงหานั้นไว้แผนกหนึ่งต่างหาก เพื่อทรงแสดงถึงศีลซึ่งมีอาชีพเป็นที่แปด. ในการแสวงหานั้น ไม่พึงกล่าวถึงการแสวงหาที่พึงเสพด้วยการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ พึงกล่าวถึงการแสวงหาที่พึงเสพด้วยการแสวงหาที่ประเสริฐ.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหาสองอย่างเหล่านี้ คือ การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐหนึ่ง การแสวงหาที่ประเสริฐหนึ่ง
               ภิกษุทั้งหลาย ก็การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐเป็นไฉน
               ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ตัวเองเป็นผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดานั่นแล
               ตัวเองมีความแก่เป็นธรรมดา...
               มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ...
               มีความตายเป็นธรรมดา ...
               มีความโศกเป็นธรรมดา ...
               มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดานั่นแล
               ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอย่อมกล่าวอะไรว่า มีความเกิดเป็นธรรมดา
               ภิกษุทั้งหลาย ลูกเมียมีความเกิดเป็นธรรมดา คนใช้หญิงชายมีความเกิดเป็นธรรมดา แพะแกะมีความเกิดเป็นธรรมดา ไก่ หมู มีความเกิดเป็นธรรมดา ช้าง วัว ม้า ลา มีความเกิดเป็นธรรมดา เงินทองมีความเกิดเป็นธรรมดา
               ภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาเหล่านี้ เป็นตัวอุปธิทั้งหลาย (สภาพเครื่องเข้าไปทรงสัตว์ไว้ในทุกข์) บุคคลนี้เป็นผู้อันอุปธิผูกไว้ ทำให้สยบ ให้ต้องโทษในสิ่งเหล่านี้ ตัวเองเป็นผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาแล้ว ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดานั่นแล
               ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอย่อมกล่าวถึงอะไรว่า มีความแก่เป็นธรรมดา ภิกษุทั้งหลาย ลูกเมียมีความแก่เป็นธรรมดา ฯลฯ ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดานั่นแล
               ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอย่อมกล่าวถึงอะไรว่า มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ภิกษุทั้งหลาย ลูกเมีย มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ฯลฯ ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดานั่นแล
               ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอย่อมกล่าวถึงอะไรว่า มีความตายเป็นธรรมดา ภิกษุทั้งหลาย ลูกเมียมีความตายเป็นธรรมดา ฯลฯ ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดานั่นแล
               ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอย่อมกล่าวถึงสิ่งอะไรว่า มีความโศกเป็นธรรมดา ภิกษุทั้งหลาย ลูกเมียมีความโศกเป็นธรรมดา ฯลฯ ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความโศกเป็นธรรมดานั่นแล
               ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอย่อมกล่าวถึงอะไรว่า มีเศร้าหมองเป็นธรรมดา ภิกษุทั้งหลาย ลูกเมีย มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ฯลฯ ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดานั่นแล
               ภิกษุทั้งหลาย นี้การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ.

               อีกอย่างหนึ่งพึงทราบว่า การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ มี ๕ อย่างด้วยอำนาจการโกงเป็นต้น มี ๖ อย่างด้วยอำนาจอโคจร มี ๒๑ อย่างด้วยอำนาจงานของหมอเป็นต้น. การแสวงหาที่ไม่สมควร แม้ทั้งหมดที่เป็นไปอย่างนี้ พึงทราบว่า เป็นการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐโดยแท้.
               ภิกษุทั้งหลาย ส่วนการแสวงหาที่ประเสริฐเป็นไฉน
               ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ตัวเองเป็นผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เห็นโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่เกิด เป็นที่เกษมจากโยคะ (กิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในทุกข์) อันยอดเยี่ยม
               ตัวเองมีความแก่เป็นธรรมดา...
               มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ...
               มีความตายโศกและเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เห็นโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่เศร้าหมอง เป็นที่เกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม.
               ภิกษุทั้งหลาย นี้การแสวงหาที่ประเสริฐ.

               อีกอย่างหนึ่ง แม้การเว้นการกระทำ ๕ อย่างมีการโกงเป็นต้น อโคจร ๖ แห่ง และการแสวงหาที่ไม่สมควร ๒๑ อย่างแล้ว แสวงหาด้วยการเที่ยวภิกษา ด้วยธรรม ด้วยสม่ำเสมอ ก็พึงทราบว่า เป็นการแสวงหาที่ประเสริฐทั้งนั้น.
               สำหรับในเรื่องมารยาทของกายนี้ มารยาทใดๆ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ไม่พึงเสพมารยาทนั้นๆ ต้องอย่าเสพตั้งแต่เวลาแห่งเครื่องมือการแสวงหา การทำความพยายาม และการไปในส่วนเบื้องต้นแห่งการฆ่าสัตว์เป็นต้นทีเดียว. นอกนี้พึงเสพตั้งแต่ต้น. ผู้ที่ไม่สามารถก็พึงทำแม้เพียงจิตให้เกิดขึ้น (คิดเอาก็ได้).
               อีกอย่างหนึ่ง ต้องไม่เสพมารยาททางกายที่เหมือนของพระเทวทัตเป็นต้น ที่บากบั่นเพื่อต้องการทำลายสงฆ์เป็นอาทิ. ต้องเสพมารยาททางกายที่เหมือนของพระธรรมเสนาบดีและพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นต้น ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจการไปสู่ที่รับใช้พระรัตนตรัยวันละสองสามครั้ง. มารยาททางวาจาที่ไม่พึงเสพก็เหมือนของพระเทวทัตเป็นต้นที่ลั่นวาจาด้วยอำนาจการส่งนายขมังธนูเป็นต้น. พึงเสพมารยาททางวาจาที่เหมือนของพระธรรมเสนาบดีและพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นต้น ที่เป็นไปด้วยอำนาจการประกาศพระคุณพระไตรรัตน์. ต้องไม่เสพการแสวงหาที่เหมือนของพระเทวทัตเป็นต้นที่แสวงหาการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ. ต้องเสพการแสวงหาที่เหมือนของพระธรรมเสนาบดีและพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นต้น ที่แสวงหาแต่การแสวงหาที่ประเสริฐเท่านั้น.
               คำว่า ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ความว่า ท่านจอมทวยเทพ ภิกษุผู้ละมารยาททางกายและวาจาและการแสวงหาที่ไม่พึงเสพ ปฏิบัติเพื่อความเต็มที่แห่งมารยาททางกายและวาจาและการแสวงหาที่พึงเสพอย่างที่ว่ามานี้แล้ว ก็ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อต้องการสำรวมศีลที่สูงสุดและเจริญที่สุด
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสข้อปฏิบัติอันเป็นภาคแรกที่จะต้องมาของผู้สิ้นอาสวะแล้ว ด้วยประการฉะนี้.


               อินฺทฺริยสํวรวณฺณนา               

               ในคำถามที่ ๒. คำว่า เพื่อสำรวมอินทรีย์ ได้แก่ เพื่อปิดอินทรีย์ทั้งหลาย คือเพื่อคุ้มครองทวารได้ หมายความว่า เพื่อความระแวดระวังทวารไว้. สำหรับในการทรงแก้แก่ท้าวสักกะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำเป็นต้นว่า รูปที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยตา เพื่อทรงแสดงความสำรวมอินทรีย์ด้วยอำนาจรูปที่พึงเสพเป็นต้น.
               คำว่า ครั้นตรัสอย่างนี้ในอินทรีย์นั้นแล้ว ความว่า ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสอย่างนี้ ท้าวสักกะผู้จอมทวยเทพก็ทรงเกิดความไหวทันว่า แม้นี้ก็ต้องเป็นด้วยลักษณะการแบบเดียวกันนั่นแหละ เพราะความที่การทรงแก้ปัญหาในเรื่องโสมนัสเป็นต้น เป็นเรื่องที่ทรงได้ฟังมาแล้วในหนหลัง จึงได้ทรงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ คือได้ตรัสคำเป็นต้นนี้ว่า นี้แล ข้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าข้า. ถึงแม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ประทานพระโอกาสแก่ท้าวเธอ จึงทรงนิ่ง.
               ความจริงมีอยู่ว่า ผู้ที่ไม่สามารถทำให้สำเร็จประโยชน์ได้นั้น เป็นคนชอบพูด หรือผู้ที่สามารถทำให้สำเร็จประโยชน์ได้นั้น ไม่เป็นคนชอบพูด คนแบบนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ประทานโอกาสให้. ส่วนท้าวสักกะนี้ เพราะทรงเป็นผู้ชอบตรัส และทั้งยังทรงสามารถทำประโยชน์ให้สำเร็จได้ด้วย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงประทานพระโอกาสให้ท้าวเธอ.
               ในเรื่องการสำรวมอินทรีย์นั้น นี้เป็นความย่อในคำเป็นต้นว่า
               ไม่พึงเสพเห็นปานนั้น. เมื่อดูรูปใด ความรักเป็นต้นย่อมเกิดขึ้น ไม่พึงเสพ ไม่พึงแลดูรูปนั้น แต่เมื่อดูรูปใด ความสำคัญว่าไม่งาม ย่อมตั้งมั่น ความเลื่อมใสย่อมเกิดขึ้น หรือการกลับได้ซึ่งความสำคัญว่าไม่เที่ยงย่อมมี พึงเสพรูปนั้น.
               เมื่อฟังเสียงที่มีอักษรพิจิตรก็ดี มีพยัญชนะพิจิตรก็ดี ย่อมเกิดความรักเป็นต้นขึ้น เสียงเห็นปานนั้น ไม่พึงเสพ. แต่เมื่อฟังเสียงใดแม้แต่เพลงขับของนางคนใช้ตักน้ำ (กุมภทาสี) ที่อาศัยอรรถ (ผล) อาศัยธรรม (เหตุ) ย่อมเกิดความเลื่อมใสขึ้น หรือความเบื่อหน่ายย่อมตั้งมั่น เสียงเห็นปานนั้นพึงเสพ.
               เมื่อดมกลิ่นใด ย่อมเกิดความกำหนัดเป็นต้นขึ้นมา กลิ่นอย่างนั้นไม่พึงเสพ. แต่เมื่อดมกลิ่นใด ย่อมมีการกลับได้ความเข้าใจว่าไม่งามเป็นต้น กลิ่นอย่างนั้นพึงเสพ.
               เมื่อลิ้มรสใด ย่อมเกิดความกำหนัดเป็นต้นขึ้นมา รสอย่างนั้นไม่พึงเสพ. แต่เมื่อลิ้มรสใด ย่อมเกิดความเข้าใจว่าเป็นของปฏิกูลในอาหาร และย่อมอาศัยแรงกาย เพราะรสที่ได้ลิ้มเป็นปัจจัยแล้วสามารถก้าวลงสู่อริยภูมิได้ เหมือนของสามเณรสิวะ หลานพระมหาสิวเถระ หรือเมื่อบริโภค ก็ย่อมมีการสิ้นกิเลสไป รสเห็นปานนั้นพึงเสพ.
               เมื่อถูกต้องโผฏฐัพพะใด ย่อมเกิดราคะเป็นต้น ไม่พึงเสพโผฏฐัพพะเห็นปานนั้น. แต่เมื่อถูกต้องสิ่งใด ย่อมมีการสิ้นกิเลสเครื่องหมักดองได้เหมือนของพระสารีบุตรเถระเป็นต้น ทั้งความเพียร ก็ได้รับการประคับประคองไว้เป็นอย่างดี และทั้งประชุมชนในภายหลัง ก็ย่อมได้รับการอนุเคราะห์ด้วยการดำเนินตามเยี่ยงอย่างที่ได้เห็น โผฏฐัพพะเห็นปานนั้น พึงเสพไว้เถิด.
               เล่ากันมาว่า พระสารีบุตรเถระไม่เคยเหยียดหลังบนเตียงตลอด ๓๐ ปี พระมหาโมคคัลลานเถระก็เหมือนกัน. พระมหากัสสปเถระไม่เคยเหยียดหลังบนเตียง ๑๒๐ ปี. พระอนุรุทธเถระ ๕๕ ปี พระภัททิยเถระ ๓๐ ปี พระโสณเถระ ๑๘ ปี พระรัฏฐปาลเถระ ๑๒ ปี พระอานนทเถระ ๑๕ ปี พระราหุลเถระ ๑๒ ปี พระพากุลเถระ ๘๐ ปี พระนาฬกเถระไม่เคยเหยียดหลังบนเตียงจนปรินิพพาน.
               เมื่อพิจารณาธรรมที่จะพึงรู้แจ้งได้ด้วยใจเหล่าใด ย่อมเกิดราคะเป็นต้นขึ้นมา หรือความเพ่งเล็งอยากได้เป็นต้น โดยนัยเป็นต้นว่า โอ้หนอ ขอให้เครื่องอุปกรณ์ คือสมบัติที่คนอื่นปลื้มใจของคนเหล่าอื่นนั้นจงเป็นของเราเถิด ย่อมมาสู่คลอง พึงเสพไม่ได้. แต่ธรรมทั้งหลายของพระเถระ ๓ รูปเหล่าใดด้วยอำนาจเมตตาเป็นต้นอย่างนี้ว่า ขอให้พวกสัตว์ทั้งหมด จงเป็นผู้ไม่มีเวรกันเถิด ธรรมเห็นปานนี้เหล่านั้นพึงเสพได้.
               ได้ยินว่า พระเถระ ๓ รูป ในวันเข้าพรรษาได้วางกฏไว้ว่า ความตรึกที่เป็นอกุศลมีความตรึกถึงความใคร่เป็นต้น พวกเราไม่พึงตรึก. ครั้นในวันปวารณา พระเถระในสงฆ์ถามผู้ใหญ่ในสงฆ์ว่า คุณ ใน ๓ เดือนนี้ คุณให้จิตวิ่งวนไปกี่แห่ง. พระเถระรูปที่ ๑ เรียนว่า ท่านขอรับ กระผมไม่ได้ให้วิ่งออกนอกเขตบริเวณ. พระเถระในสงฆ์จึงถามรูปที่ ๒ ว่า ของคุณกี่แห่ง คุณ. รูปที่ ๒ นั้นตอบว่า ท่านขอรับ กระผมไม่ได้ให้วิ่งไปนอกที่อยู่. ครั้นแล้วพระเถระทั้ง ๒ รูปก็พากันถามพระเถระบ้างว่า ของท่านเล่าขอรับ. พระเถระตอบว่า ผมไม่ได้ให้วิ่งออกนอกขันธ์ ๕ หมวดที่แนบแน่นในภายใน. ท่านทั้ง ๒ รูปจึงเรียนว่า ท่านขอรับ ท่านได้ทำสิ่งที่ทำได้ยากแล้ว. พึงเสพธรรมที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยใจเห็นปานนี้ไว้เถิด.
               คำว่า ผู้มีถ้อยคำมีที่สุดอย่างเดียว คือ ที่ชื่อว่าผู้มีถ้อยคำมีที่สุดอย่างเดียว เพราะที่สุดถ้อยคำของคนเหล่านี้อย่างเดียวเท่านั้นไม่ใช่ ๒ ถ้อยคำ. ท้าวสักกะทรงถามว่า ย่อมกล่าวอย่างเดียวเท่านั้น.
               คำว่า มีศีล มีที่สุดอันเดียว คือ มีมารยาทอย่างเดียว. คำว่า มีความพอใจ มีที่สุดอย่างเดียว คือ มีลัทธิอย่างเดียว. คำว่า มีการสิ้นสุด มีที่สุดอย่างเดียว คือ มีการจบถ้วน มีที่สุดอย่างเดียว.
               คำว่า ท่านจอมทวยเทพ โลกมีธาตุไม่ใช่อย่างเดียว มีธาตุต่างกัน ความว่า ท่านจอมทวยเทพ โลกนี้มีอัธยาศัยไม่ใช่อย่างเดียว มีอัธยาศัยแตกต่างกัน เมื่อคนหนึ่งอยากเดิน (แต่อีก) คนหนึ่งอยากยืน เมื่ออีกคนหนึ่งอยากยืน (แต่อีก) คนหนึ่งอยากนอน สัตว์ทั้ง ๒ ชื่อว่ามีอัธยาศัยอย่างเดียวกันหาได้ยาก.
               ในโลกที่มีธาตุมากมาย และมีธาตุแตกต่างกันนั้น หมู่สัตว์ย่อมยึดมั่น ย่อมถือเอาธาตุใดๆ อัธยาศัยใดๆ คือ ก็ย่อมยึดมั่น ย่อมถือเอาธาตุนั้นๆ แหละด้วยเรี่ยวแรง ด้วยการลูบคลำ เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดง คือระบุว่าย่อมยึดมากกว่า ย่อมถือเอามากล่าวอย่างดี ด้วยเรี่ยวแรงและด้วยการลูบคลำ. คำว่า นี่เท่านั้นจริง อย่างอื่นโมฆะ คือ คำของพวกเราเท่านั้นแหละจริง คำของคนเหล่าอื่นโมฆะ คือเปล่า ได้แก่ไม่มีประโยชน์.
               ความฉิบหายอันเรียกว่า อันตะ (ที่สุด) ในบทว่า มีความดับเป็นที่สุด (ยิ่งล่วงส่วน). ชื่อว่าผู้มีความดับล่วงส่วน เพราะความดับของเขาเหล่านั้นล่วงที่สุดแล้ว. ความดับของพวกเขาใด ความหวังอย่างยิ่ง คือพระนิพพานใด นั้น ท่านเรียกว่าสิ่งมีที่สุดล่วงส่วนก้าวล่วงความฉิบหายของพวกเขาทั้งหมด.
               คำว่า ความโปร่งจากกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ในทุกข์ เป็นชื่อของพระนิพพานนั่นเอง. ชื่อว่าผู้มีความโปร่งจากกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในทุกข์อันล่วงส่วน เพราะความโปร่งจากกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในทุกข์ของเขาเหล่านี้มีอยู่. ชื่อว่าผู้มีความประพฤติอันประเสริฐ เพราะเขาย่อมประพฤติทางที่ไกลจากข้าศึก ที่ชื่อว่าประเสริฐ เพราะอรรถว่าประเสริฐสุด. ผู้ประพฤติประเสริฐ เพราะเป็นความประพฤติที่ล่วงส่วน ชื่อว่าผู้ประพฤติประเสริฐล่วงส่วน.
               คำว่า ที่จบถ้วน เป็นชื่อของพระนิพพานนั่นเอง. ชื่อว่าผู้มีความจบถ้วน เพราะเขามีความจบถ้วนที่ล่วงส่วน.
               คำว่า ความสิ้นไปพร้อมแห่งความทะยานอยาก ในคำว่า ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะความสิ้นไปพร้อมแห่งความทะยานอยาก นี้เป็นมรรคก็ได้ เป็นพระนิพพานก็ได้ มรรคชื่อว่าเป็นเครื่องสิ้นไปพร้อมแห่งความทะยานอยาก เพราะทำตัณหาให้สิ้นไปพร้อม คือให้หายไป พระนิพพานชื่อว่าเป็นที่สิ้นไปพร้อมแห่งความทะยานอยาก เพราะความทะยานอยาก เมื่อมาถึงพระนิพพานนั้นแล้ว ก็ย่อมสิ้นไปพร้อม คือย่อมฉิบหายไป ชื่อว่าผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความสิ้นไปพร้อมแห่งความทะยานอยาก เพราะหลุดพ้นแล้วด้วยมรรคอันเป็นเครื่องสิ้นไปแห่งความทะยานอยาก หรือหลุดพ้น คือพ้นอย่างยิ่งในเพราะพระนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปพร้อมแห่งความทะยานอยาก.
               ด้วยพระดำรัสมีประมาณเพียงเท่านี้ ก็เป็นอันว่า ผู้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ปัญหาครบทั้ง ๑๔ ข้อแล้ว.
               ชื่อปัญหา ๑๔ ข้อคือ
               ๑. ความหึงและความหวง (อิสสามัจฉริยะ)
               ๒. ความชอบและความชัง (ปิยาปิยะ)
               ๓. ความพอใจ (ฉันทะ)
               ๔. ความตรึก (วิตก)
               ๕. ธรรมเครื่องเนิ่นช้า (ปปัญจ)
               ๖. ความสุขใจ (โสมนัส)
               ๗. ความทุกข์ใจ (โทมนัส)
               ๘. ความรู้สึกเฉยๆ (อุเบกขา)
               ๙. มารยาททางกาย (กายสมาจาร)
               ๑๐. มารยาททางวาจา (วจีสมาจาร)
               ๑๑. การแสวงหา (ปริเยสนา)
               ๑๒. ความสำรวมอินทรีย์ (อินทริยสังวร)
               ๑๓. ธาตุจำนวนมาก (อเนกธาตุ)
               ๑๔. ความดับล่วงส่วน (อัจจันตนิฏฐา).
               ความทะยานอยาก ท่านเรียกว่าเอชา คือความหวั่นไหว เพราะอรรถว่าไหวหวั่น. ความหวั่นไหวนั้น เรียกว่าโรค เพราะอรรถว่าเบียดเบียน เรียกว่าฝี เพราะอรรถว่าประทุษร้ายภายใน เรียกว่าลูกศร เพราะอรรถตามแทง.
               คำว่า เพราะฉะนั้น บุรุษนี้ คือ ความหวั่นไหวย่อมคร่าคน เพื่อประโยชน์แก่อันเกิดยิ่งขึ้นในภพนั้นๆ ตามสมควรแก่กรรมที่ตนได้ทำไว้ เพราะเหตุใด เพราะเหตุนั้น บุรุษนี้จึงย่อมถึงความสูงต่ำด้วยอำนาจภพนั้นๆ. สูงในพรหมโลก ในเทวโลกต่ำ สูงในเทวโลก ในมนุษยโลกต่ำ สูงในมนุษยโลก ในอบายต่ำ.
               คำว่า ตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เรียนมา คือ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมาและได้เรียนมาอย่างไร. คำว่า ย่อมแสดงธรรมอย่างนี้ คือ ย่อมแสดงธรรมคือวัตตบทเจ็ดประการ.
               ท้าวสักกะทรงแจ้งให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความที่พระองค์ทรงเป็นพระโสดาบันด้วยพระดำรัสเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ ข้าพระพุทธเจ้า แล.


               โสมนสฺสปฏิลาภกถาวณฺณนา               

               คำว่า การได้เฉพาะซึ่งความดีใจ คือ การได้เฉพาะซึ่งความยินดี.
               คำว่า สงครามระหว่างเทวดากับอสูร ได้แก่ สงครามของพวกเทวดาและพวกอสูร.
               คำว่า ประชิดกัน ได้แก่ เผชิญหน้ากันแบบถึงลักษณะที่เอาหน้าผากเข้ากระแทกกัน.
               เล่ากันว่า บางที พวกเหล่านั้นถึงกับรบกันบนหลังทะเลหลวงก็มี. แต่ในที่นั้นไม่มีการฆ่ากันและกันด้วยการฟันการแทงเป็นต้น. เอากันแค่ชนะและแพ้เหมือนการรบกันระหว่างไม้กับแกะเท่านั้นเอง. บางครั้งเหล่าเทพก็ชนะ บางครั้งก็เหล่าอสูร. ในการรบกันนั้น พวกเทพชนะ พวกอสูรด้วยการไม่กลับมาอีกในสงครามใด ท้าวสักกะทรงหมายเอาสงครามนั้นจึงตรัสคำเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ นั้น แล.
               คำว่า ทั้งสองนี้ ได้แก่ พวกเทวดาเท่านั้น ย่อมบริโภคโอชะทั้งสอง คือสองอย่างนี้ในเทวโลกนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อท้าวสักกะนั้นทรงใคร่ครวญอยู่ความปลาบปลื้มและความดีพระทัยที่มีกำลังจึงเกิดขึ้น.
               คำว่า เที่ยวไปพร้อมกับอาชญา ได้แก่ ผู้เที่ยวเป็นประจำพร้อมกับอาชญา. ท่านแสดงว่าได้เป็นผู้เที่ยวไปพร้อมกับการถือกระบอง พร้อมกับการถือศัสตรา ไม่ใช่วางอาชญาและอาวุธ.
               คำว่า เพื่อความเบื่อหน่ายที่มีที่สุดอย่างเดียว ได้แก่ เพื่อความเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิดโดยที่สุดอย่างเดียวเท่านั้น.
               ทุกอย่างได้กล่าวไว้ในมหาโควินทสูตรเสร็จแล้ว.
               คำว่า แจ้ง ได้แก่ กล่าว คือแสดง.
               บทว่า ใน นี้นั่นเทียว คือ ในโอกาสนี้แหละ.
               บทว่า ของข้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นเทวดาเป็นอยู่ คือ ของข้าพระพุทธเจ้าผู้เทพเป็นอยู่.
               คำว่า และข้าพระพุทธเจ้าก็ได้อายุอีกทีเดียว ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ชีวิตด้วยผลกรรมอย่างอื่นอีก. ด้วยคำนี้ ท้าวสักกะทรงเปิดเผยถึงความจุติและความเกิดของพระองค์.
               คำว่า กายทิพย์ คือ อัตภาพเป็นทิพย์. คำว่า ละอายุที่ไม่ใช่เป็นของมนุษย์ คือ ทิ้งอายุทิพย์. คำว่า จะไม่หลงเข้าครรภ์ คือ เป็นผู้ไม่หลง เพราะมีคติเที่ยงแท้ จะเข้าถึงครรภ์ในตระกูลกษัตริย์เป็นต้น ที่ใจของข้าพระพุทธเจ้าจะรื่นรมย์นั้นเท่านั้น. ท้าวสักกะทรงแสดงความข้อนี้ว่า ในเทวดาและในมนุษย์เจ็ดครั้ง.
               คำว่า จะอยู่อย่างถูกต้อง ความว่า แม้ข้าพระพุทธเจ้าเกิดในหมู่มนุษย์จะอยู่อย่างถูกต้อง คือตามเหตุผล โดยสม่ำเสมอ เพราะความเป็นผู้ไม่ควรแก่การปลงแม่จากชีวิตเป็นต้น (ฆ่าแม่).
               ท้าวสักกะตรัสหมายเอาสกทาคามิมรรคนี้ว่า หากความตรัสรู้จะมี. ทรงแสดงว่า หากข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นสกทาคามี. คำว่า เป็นผู้รู้ทั่วถึงจะอยู่ คือ ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้รู้ทั่วถึง คือจะเป็นผู้ใครรู้ทั่วถึงอยู่. คำว่า ที่สุดนั้นแลจะมี คือ ที่สุดในมนุษยโลกนั้นแลจะมี.
               ท้าวสักกะตรัสว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นสักกะผู้จอมทวยเทพที่สูงสุดในเทวโลกอีก ด้วยคำนี้ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นเทพผู้สูงสุดในเทวโลกอีก.
               คำว่า อันมีในที่สุด ที่กำลังเป็นไปอยู่ คือ ในภพอันมีในที่สุดที่กำลังเป็นไปอยู่.
               คำว่า นั้นจะเป็นที่อยู่ คือ พวกเทวดาเหล่านั้นใดที่ไม่น้อยกว่าใคร ทั้งด้วยอายุ ทั้งด้วยปัญญา เป็นผู้เจริญที่สุด ประณีตกว่าพวกเทพทั้งหมด ในที่สุดภพนั้นจะเป็นที่อยู่อาศัยของข้าพระพุทธเจ้า.
               เล่ากันมาว่า ท้าวสักกะนี้จุติจากอัตภาพแห่งท้าวสักกะนั้นแล้ว จะเป็นผู้มีกระแสสูงไปจนถึงชั้นอกนิฏฐ์ เพราะความที่ทรงได้อนาคามิมรรคในอัตภาพนั้น เมื่อทรงเกิดในชั้นอวิหาเป็นต้นอยู่ สุดท้ายจะเป็นอกนิฏฐคามีพรหม. ท้าวเธอทรงหมายถึงข้อนั้นจึงตรัสอย่างนั้น.
               ได้ยินว่า ท้าวสักกะนี้จะทรงอยู่ในชั้นอวิหาพันกัป แม้ในชั้นอตัปปาสองพันกัป ในชั้นสุทัสสาสี่พันกัป ในชั้นสุทัสสีแปดพันกัป ในชั้นอกนิฏฐ์หนึ่งหมื่นหกพันกัป ดังว่ามานี้ ท้าวเธอจึงจะเสวยอายุพรหมสามหมื่นหนึ่งพันกัป.
               จริงอยู่ ชื่อว่าสัตว์ยินดีเป็นอย่างยิ่งในการเวียนว่ายตายเกิดมีประมาณอายุอย่างเดียวกันแท้ เหล่านี้สามท่าน ได้แก่ท้าวสักกะผู้เป็นราชาของเทพ อนาถปิณฑิกคฤหบดี นางวิสาขามหาอุบาสิกา. ธรรมดาผู้มีส่วนความสุขเท่ากับท่านเหล่านี้ไม่มี.
               คำว่า ผู้มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด คือ มีมโนรถที่ยังไม่จบลง. คำว่า ข้าพระพุทธเจ้าสำคัญสมณะเหล่าใดสิ คือ ข้าพระพุทธเจ้าย่อมสำคัญว่า สมณะเหล่าใดเป็นผู้มีปกติเงียบสงบอยู่.

               คำว่า เป็นญาติของพระอาทิตย์ คือ พระอาทิตย์ก็เป็นโคตมโคตรด้วย. พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเป็นโคตมโคตรด้วย ฉะนั้น ท้าวสักกะจึงตรัสอย่างนั้น.
               คำว่า ย่อมกระทำสิ่งใดกันล่ะ คือ แต่ก่อนมา พวกเราย่อมกระทำความนอบน้อมใดแก่พรหม.
               คำว่า เสมอกับพวกเทพ คือ พร้อมกับพวกเทพ. ท้าวสักกะทรงแสดงว่า บัดนี้ ตั้งแต่นี้ไป พวกเราไม่มีการกระทำความนอบน้อมแก่พรหม พวกเราเลิกไหว้พรหม.
               คำว่า ย่อมกระทำความสมควร คือ พวกเราย่อมกระทำความนอบน้อม.
               คำว่า ทรงลูบคลำ ความว่า ท้าวสักกะมีพระทัยปลาบปลื้ม ทรงตบแผ่นดิน หรือทรงตบเพื่อพระประสงค์ให้เป็นพยาน เหมือนคนเอามือลูบมือเพื่อนตรัสว่า เราก็เหมือนท่านที่ไม่หวั่นไหว.
               คำว่า ปัญหาที่ทรงเชื้อเชิญแล้ว คือ ปัญหาที่ได้รับอาราธนา หมายความว่าปัญหาที่ถูกทูลถาม.

 


               จบอรรถกถาสักกปัญหสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

 

หมายเลขบันทึก: 712214เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2023 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2023 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท