มงคลสูตร
พลตรี มารวย ส่งทานินทร์
๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
พระสูตรนี้ เป็นหนึ่งพระสูตรที่พระภิกษุสงฆ์ที่ได้รับฎีกานิมนต์ให้มากระทำพิธีในการเจริญพระพุทธมนต์ในงานที่เป็นมงคล ที่ขึ้นต้นด้วย อเสวนา จ พาลานัง ... ซึ่งก่อนจะขึ้นบทสวดมนต์นี้ พระสงฆ์ที่เป็นประธานจะให้เจ้าภาพหรือตัวแทนจุดเทียนที่ขันน้ำมนต์แล้วทำการประเคนให้กับพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นประธานเพื่อกระทำพิธีทำน้ำมนต์ต่อไป
มูลเหตุของพระสูตรนี้เกิดจากเทพบุตรองค์หนึ่ง ที่ได้รับมอบหมายจากพระอินทร์ให้มาทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่องของมงคล เพราะเรื่องของมงคลนี้ได้สร้างความโกลาหลไปทั้งโลกมนุษย์และเทวโลก พระพุทธองค์จึงตรัสตอบว่ามงคลมีอยู่ด้วยกัน ๓๘ ประการ เริ่มต้นด้วยการไม่คบคนพาล จนถึงการมีจิตเกษม ดังนี้
มงคลสูตร
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๕. มงคลสูตร
ว่าด้วยมงคล
[๑] ข้าพเจ้า (ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่นๆ ในเล่มนี้หมายถึง พระอานนท์) ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป (ราตรีผ่านไป ในที่นี้หมายถึงปฐมยาม(ยามแรก) กำหนดเวลา ๔ ชั่วโมงตั้งแต่เวลา ๑๘ นาฬิกาถึง ๒๒ นาฬิกาแห่งราตรีที่ผ่านไป กำลังอยู่ในช่วงมัชฌิมยาม (ยามกลาง) คือกำลังอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่ ๒๒ นาฬิกาถึง ๒ นาฬิกาของวันใหม่) เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร (ที่สมควร ในที่นี้หมายถึงที่เหมาะสมเว้นโทษ ๖ ประการ คือ (๑) ไกลเกินไป (๒) ใกล้เกินไป (๓) อยู่เหนือลม (๔) สูงเกินไป (๕) อยู่ตรงหน้าเกินไป (๖) อยู่ข้างหลังเกินไป) ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๒] เทวดาและมนุษย์จำนวนมาก
ต่างมุ่งหวังความสวัสดี ร่วมกันคิดถึงเรื่องมงคล
ขอพระองค์ตรัสบอกมงคลอันสูงสุดด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบดังนี้)
[๓] (๑) การไม่คบคนพาล (๒) การคบแต่บัณฑิต
(๓) การบูชาคนที่ควรบูชา
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๔] (๔) การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
(๕) การได้สร้างบุญไว้ในปางก่อน (๖) การตั้งตนไว้ชอบ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๕] (๗) ความเป็นพหูสูต (๘) ความเป็นผู้มีศิลปะ
(๙) วินัยที่ศึกษามาดี (๑๐) วาจาสุภาษิต
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๖] (๑๑) การบำรุงมารดาบิดา (๑๒) การสงเคราะห์บุตร
(๑๓) การสงเคราะห์ภรรยา (๑๔) การงานที่ไม่อากูล (อากูล หมายถึงการงานที่ทำคั่งค้างไว้ ที่ทำไม่เหมาะสม และที่ทำย่อหย่อนไม่สมบูรณ์แบบ)
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๗] (๑๕) การให้ทาน (๑๖) การประพฤติธรรม
(๑๗) การสงเคราะห์ญาติ (๑๘) การงานที่ไม่มีโทษ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๘] (๑๙) การงดเว้นจากบาป (๒๐) การเว้นจากการดื่มน้ำเมา
(๒๑) ความไม่ประมาทในธรรม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๙] (๒๒) ความเคารพ (๒๓) ความถ่อมตน (๒๔) ความสันโดษ
(๒๕) ความกตัญญู (๒๖) การฟังธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๐] (๒๗) ความอดทน (ความอดทน ในที่นี้หมายถึงอธิวาสนขันติ (ขันติคือความอดกลั้น) ได้แก่ ความอดกลั้นต่อคำด่าต่างๆ อดกลั้นต่อการถูกเบียดเบียน ตลอดถึงอดกลั้นต่อทุกขเวทนา เช่น ความหนาว ความร้อน เป็นต้น ยกตนอยู่เหนือทุกข์ต่างๆ ดำรงตนอยู่ได้อย่างไม่หวั่นไหว) (๒๘) ความเป็นคนว่าง่าย
(๒๙) การพบเห็นสมณะ (๓๐) การสนทนาธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๑] (๓๑) การเผาผลาญบาป (๓๒) การประพฤติพรหมจรรย์ (พรหมจรรย์ เป็นชื่อของ (๑) เมถุนวิรัติ (๒) สมณธรรม (๓) ศาสนา (๔) มรรค)
(๓๓) การเห็นอริยสัจ (๓๔) การทำนิพพานให้แจ้ง
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๒] (๓๕) จิตของผู้ที่ถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว
(๓๖) จิตไม่เศร้าโศก (๓๗) จิตปราศจากธุลี (๓๘) จิตเกษม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๓] เทวดาและมนุษย์ทำมงคลดังกล่าวมานี้แล้ว
ไม่พ่ายแพ้ข้าศึกทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน
ทั้ง ๓๘ ประการนั้น เป็นมงคลอันสูงสุด
ของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
มงคลสูตร จบ
---------------------------------
คำอธิบายเพิ่มเติมนี้ นำมาจากบางส่วนของอรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ
มงคลสูตรในขุททกปาฐะ
๕. อรรถกถามงคลสูตร
เรื่องมูลเหตุเกิดมงคลปัญหา
ในการพรรณนามงคลสูตรนั้น จะกล่าวถึงสมุฏฐานมูลเหตุเกิดมงคลปัญหาเสียก่อน แล้วภายหลังจึงจักพรรณนาความแห่งบทคาถาเหล่านี้.
เล่ากันมาว่า ในชมพูทวีป มหาชนชุมนุมกันในที่นั้นๆ เช่น ใกล้ประตูเมือง สภาแห่งสถานราชการเป็นต้น มอบทรัพย์สินเงินทอง ให้เขาเล่าเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องนำนางสีดามาเป็นต้น. เรื่องหนึ่งๆ เล่าอยู่ถึง ๔ เดือนจึงจบ. ในสถานที่นั้น วันหนึ่ง เรื่องมงคลปัญหาก็เกิดขึ้นว่า อะไรเล่าหนอ เป็นมงคล. สิ่งที่เห็นหรือเป็นมงคล เรื่องที่ได้ยินหรือเป็นมงคล หรือเรื่องที่ทราบเป็นมงคล ใครหนอรู้จักมงคล ดังนี้.
ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่ง ชื่อ ทิฏฐมังคลิกะ [นับถือสิ่งที่เห็นเป็นมงคล] กล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้จักมงคล. สิ่งที่เห็นเป็นมงคลในโลก. รูปที่สมมติกันว่า เป็นมงคลยิ่ง ชื่อว่าทิฏฐะ. รูปอย่างไรเล่า. คนบางคนในโลกนี้ ตื่นแต่เช้าเห็นนกกระเต็นบ้าง เห็นต้นมะตูมรุ่นบ้าง เห็นหญิงมีครรภ์บ้าง เห็นเด็กรุ่นหนุ่ม ตกแต่งประดับกาย เทินหม้อเต็มน้ำบ้าง ปลาตะเพียนแดงสดบ้าง ม้าอาชาไนยบ้าง รถเทียมม้าบ้าง โคผู้บ้าง โคเมียบ้าง โคแดงบ้าง ก็หรือว่าเห็นรูปแม้อื่นใด เห็นปานนั้น ที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่ง รูปที่เห็นนี้ เรียกว่าทิฎฐมงคล คนบางพวกก็ยอมรับคำของเขา บางพวกก็ไม่ยอมรับ พวกที่ไม่ยอมรับก็ขัดแย้งกับเขา
ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่ง ชื่อ สุตมังคลิกะ ก็กล่าวว่า ท่านเอย ขึ้นชื่อว่า ตาย่อมเห็นของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง ของดีบ้างของไม่ดีบ้าง ของชอบใจบ้าง ของไม่ชอบใจบ้าง ผิว่า รูปที่ผู้นั้นเห็นพึงเป็นมงคลไซร้ ก็จะพึงเป็นมงคลทั้งหมดนะสิ เพราะฉะนั้น รูปที่เห็นไม่เป็นมงคล. ก็แต่ว่าเสียงที่ได้ยินต่างหากเป็นมงคล. เสียงที่สมมติว่าเป็นมงคลยิ่ง. ชื่อว่าสุตะ อย่างไรเล่า. คนบางคนในโลกนี้ ลุกขึ้นแต่เช้า ได้ยินเสียงเช่นนี้ว่า เจริญแล้ว เจริญอยู่ เต็ม ขาว ใจดี สิริ เจริญด้วยสิริ วันนี้ ฤกษ์ดี ยามดี วันดี มงคลดี หรือเสียงที่สมมติว่ามงคลยิ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง. เสียงที่ได้ยินนี้ เรียกว่าสุตมงคล. บางพวกก็ยอมรับคำของเขา บางพวกก็ไม่ยอมรับ พวกที่ไม่ยอมรับก็ขัดแย้งกับเขา.
ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่ง ชื่อ มุตมังคลิกะ กล่าวว่า ท่านเอย แท้จริง ขึ้นชื่อว่าหู ย่อมได้ยินเสียงดีบ้างไม่ดีบ้าง ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ผิว่า เสียงที่ผู้นั้นได้ยิน พึงเป็นมงคลไซร้ ก็จะเป็นมงคลทั้งหมดน่ะสิ. เพราะฉะนั้น เสียงที่ได้ยินจึงไม่เป็นมงคล. ก็แต่ว่าสิ่งที่ทราบแล้วต่างหากเป็นมงคล. กลิ่นรสและโผฏฐัพพะสิ่งที่พึงถูกต้อง ชื่อว่ามุตะ. อย่างไรเล่า. คนบางคนลุกแต่เช้าสูดกลิ่นดอกไม้มีกลิ่นดอกปทุมเป็นต้นบ้าง เคี้ยวไม้สีฟันขาวบ้าง จับต้องแผ่นดินบ้าง จับต้องข้าวกล้าเขียวบ้าง มูลโคสดบ้าง เต่าบ้าง งาบ้าง ดอกไม้บ้าง ผลไม้บ้าง ฉาบทาด้วยดินขาวโดยชอบบ้าง นุ่งผ้าขาวบ้าง โพกผ้าโพกขาวบ้าง ก็หรือว่าสูดกลิ่น ลิ้มรส หรือถูกต้องโผฏฐัพพะ ที่สมมติว่าเป็นมงคลยิ่งอย่างอื่นใด เห็นปานนั้น สิ่งดังกล่าวมานี้ เรียกว่ามุตมงคล. บางพวกก็ยอมรับคำแม้ของเขา บางพวกก็ไม่ยอมรับ.
ในสามพวกนั้น ทิฏฐมังคลิกบุรุษ ก็ไม่อาจทำให้สุตมังคลิกบุรุษและมุตมังคลิกบุรุษยินยอมได้ ทั้งสามฝ่ายนั้น ฝ่ายหนึ่ง ก็ทำอีกสองฝ่ายให้ยินยอมไม่ได้ บรรดามนุษย์เหล่านั้น พวกใดยอมรับคำของทิฏฐมังคลิกบุรุษ พวกนั้นก็ถือว่ารูปที่เห็นแล้วเท่านั้นเป็นมงคล. พวกใดยอมรับคำของสุตมังคลิกบุรุษและมุตมังคลิกบุรุษ พวกนั้นก็ถือว่าเสียงที่ได้ยินเท่านั้นเป็นมงคล สิ่งที่ได้ทราบเท่านั้น เป็นมงคล.
เรื่องมงคลปัญหานี้ปรากฏไปทั่วชมพูทวีป ด้วยประการฉะนี้.
ครั้งนั้น มนุษย์ทั่วชมพูทวีปถือกันเป็นพวกๆ พากันคิดมงคลทั้งหลายว่า อะไรกันหนอเป็นมงคล. อารักขเทวดาของมนุษย์พวกนั้น ฟังเรื่องนั้นแล้ว ก็พากันคิดมงคลทั้งหลายเหมือนกัน. เหล่าภุมมเทวดาเป็นมิตรของเทวดาเหล่านั้น ฟังเรื่องจากอารักขเทวดานั้นแล้วก็พากันคิดมงคลอย่างนั้นเหมือนกัน. อากาสัฏฐกเทวดาเป็นมิตรของเทวดาเหล่านั้น จตุมหาราชิกเทวดาเป็นมิตรของอากาสัฏฐกเทวดาเหล่านั้น โดยอุบายนี้ ตราบถึงอกนิฏฐเทวดาเป็นมิตรของสุทัสสีเทวดา ฟังเรื่องจากสุทัสสีเทวดานั้นแล้ว ก็ถือกันเป็นพวกๆ พากันคิดมงคลทั้งหลาย ด้วยอุบายอย่างนี้ การคิดมงคลได้เกิดไปในที่ทุกแห่งจนถึงหมื่นจักรวาล. ก็การคิดมงคลเกิดขึ้นแล้ว แม้วินิจฉัยว่านี้เป็นมงคล นี้เป็นมงคลแต่ก็ยังไม่เด็ดขาด จึงตั้งอยู่ถึง ๑๒ ปี. ทั้งมนุษย์ทั้งเทวดาทั้งพรหมหมดด้วยกันเว้นพระอริยสาวกแตกเป็น ๓ พวก คือทิฏฐมังคลิกะ สุตมังคลิกะและมุตมังคลิกะ แม้แต่พวกหนึ่ง ก็ตกลงตามเป็นจริงไม่ได้ว่า นี้เท่านั้นเป็นมงคล มงคลโกลาหล การแตกตื่นเรื่องมงคลเกิดขึ้นแล้วในโลก.
ขึ้นชื่อว่า โกลาหลมี ๕ คือ กัปปโกลาหล จักกวัตติโกลาหล พุทธโกลาหล มงคลโกลาหล โมเนยยโกลาหล.
บรรดาโกลาหลทั้ง ๕ นั้น เหล่าเทวดาชั้นกามาวจร ปล่อยศีรษะ สยายผม ร้องไห้ เอาหัตถ์เช็ดน้ำตา นุ่งผ้าสีแดง ทรงเพศแปลกๆ อย่างยิ่ง เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์ร้องบอกกล่าวว่า ล่วงไปแสนปี กัปจักปรากฏ โลกนี้จักพินาศ มหาสมุทรจักแห้ง มหาปฐพีนี้และขุนเขาสิเนรุ จักถูกไฟไหม้ จักพินาศ โลกพินาศจักมีจนถึงพรหมโลก. ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ขอท่านทั้งหลายจงพากันเจริญเมตตาไว้เถิด จงพากันเจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขาไว้เถิด ท่านผู้นิรทุกข์จงบำรุงมารดาบิดา จงยำเกรงท่านผู้เป็นผู้ใหญ่ในตระกูล ตื่นกันเถิด อย่าได้ประมาทกันเลย.
นี้ชื่อว่า กัปปโกลาหล.
เทวดาชั้นกามาวจรนั่นแล เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์บอกกล่าวว่า ล่วงไปร้อยปี พระเจ้าจักรพรรดิจักเกิดขึ้นในโลก. นี้ชื่อว่า จักกวัตติโกลาหล.
ส่วนเทวดาชั้นสุทธาวาส ประดับองค์ด้วยอาภรณ์พรหม โพกผ้าของพรหมที่พระเศียรเกิดปีติปราโมทย์ กล่าวพระพุทธคุณ เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์ บอกกล่าวว่าล่วงไปพันปี พระพุทธเจ้าจักอุบัติในโลก.
นี่ชื่อว่า พุทธโกลาหล.
เทวดาชั้นสุทธาวาสนั่นแหละ รู้จิตของพวกมนุษย์ เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์บอกกล่าวว่า ล่วงไปสิบสองปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักตรัสมงคล.
นี้ชื่อว่า มงคลโกลาหล.
เทวดาชั้นสุทธาวาสนั่นแหละ เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์ บอกกล่าวว่า ล่วงไปเจ็ดปี ภิกษุรูปหนึ่งสมาคมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า จักทูลถาม โมเนยยปฏิปทา
นี้ชื่อว่า โมเนยยโกลาหล.
บรรดาโกลาหลทั้ง ๕ นี้ มงคลโกลาหลของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วในโลก.
ครั้งนั้น เมื่อเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พากันเลือกเฟ้นก็ยังไม่ได้มงคลทั้งหลาย ล่วงไป ๑๒ ปี เทวดาชั้นดาวดึงส์คบหาสมาคมกัน ก็ช่วยกันคิดอย่างนี้ว่า เจ้าของเรือนก็เป็นหัวหน้าของคนภายในเรือน เจ้าของหมู่บ้านก็เป็นหัวหน้าของชาวหมู่บ้าน พระราชาก็เป็นหัวหน้าของมนุษย์ทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมทวยเทพพระองค์นี้ ก็เป็นผู้เลิศประเสริฐสุดของพวกเรา คือเป็นอธิบดีของเทวโลกทั้งสอง [ชั้นจาตุมหาราชและดาวดึงส์] ด้วยบุญ เดช อิสริยะ ปัญญา. ถ้ากระไร เราจะพึงพากันไปทูลถามความข้อนี้กะท้าวสักกะจอมทวยเทพเถิด. เทวดาเหล่านั้นก็พากันไปยังสำนักท้าวสักกะ ถวายบังคมจอมทวยเทพ ซึ่งมีพระสรีระมีสิริด้วยอาภรณ์ประจำพระองค์ อันเหมาะแก่ขณะนั้น มีหมู่อัปสร ๒๕๐ โกฏิห้อมล้อม ประทับนั่งเหนือบัณฑุกัมพลสิลาอาสน์อันประเสริฐ ภายใต้ต้นปาริฉัตตกะ แล้วยืน ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ทูลว่า ขอประทานพระวโรกาส พระองค์ผู้นิรทุกข์ โปรดทรงทราบเถิด. บัดนี้ มงคลปัญหาตั้งขึ้นแล้ว พวกหนึ่งกล่าวว่า รูปที่เห็นเป็นมงคล พวกหนึ่งกล่าวว่า เสียงที่ได้ยินเป็นมงคล พวกหนึ่งกล่าวว่าสิ่งที่ทราบแล้วเป็นมงคล บรรดาท่านเหล่านั้น พวกข้าพระบาทและพวกอื่นยังไม่ได้ข้อยุติ สาธุ ขอพระองค์โปรดทรงพยากรณ์ตามเป็นจริง แก่พวกข้าพระบาทด้วยเถิด.
ท้าวสักกะเทวราชแม้โดยปกติ ทรงมีปัญญา จึงตรัสว่า เรื่องมงคลนี้เกิดขึ้นที่ไหนก่อนเล่า.
ทูลว่า ข้าแต่เทวราช พวกข้าพระบาทฟังคำของพวกเทวดาชั้นจาตุมมหาราช ต่อจากนั้น พวกเทวดาจาตุมมหาราชก็ฟังคำของพวกอากาสัฏฐเทวดา พวกอากาสัฏฐเทวดาฟังคำของพวกภุมมเทวดา พวกภุมมเทวดาฟังคำของเทวดาผู้รักษามนุษย์ พวกเทวดาผู้รักษามนุษย์กล่าวว่า เรื่องมงคลเกิดขึ้นในมนุษยโลก.
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมทวยเทพตรัสถามจอมเทวดาเหล่านั้นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน. เทวดาทั้งหลายทูลว่า ประทับอยู่ในมนุษยโลก พระเจ้าข้า.
ตรัสถามว่า ใครได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแลหรือ. ทูลว่า ไม่มีใคร พระเจ้าข้า.
ตรัสว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ทำไมหนอ ท่านทั้งหลายจึงมาทิ้งดวงไฟเสียแล้วมาตามไฟต่อจากแสงหิ่งห้อย ด้วยเหตุไร ท่านทั้งหลายจึงมาล่วงเลยพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงแสดงมงคลไว้ไม่เหลือเสียเล่า ยังเข้าใจว่าควรจะไต่ถามเรา มาเถิดท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เราจะทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พวกเราคงจักได้การพยากรณ์ปัญหาอันมีสิริแน่แท้ จึงมีเทวโองการใช้เทพบุตรองค์หนึ่งว่า ท่านจงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด.
เทพบุตรองค์นั้นแต่งองค์ด้วยเครื่องอลังการ อันเหมาะแก่ขณะนั้น รุ่งโรจน์ดุจสายฟ้าแลบ มีหมู่เทพแวดล้อม ไปยังพระเชตวันมหาวิหาร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วยืน ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง
เมื่อทูลถามมงคลปัญหา จึงกล่าวเป็นคาถาว่า พหู เทวา มนุสฺสา จ เป็นต้น.
นี้เป็นมูลเหตุเกิดมงคลปัญหา
พรรณนาคาถาว่า พหู เทวา
บัดนี้ จะพรรณนาความแห่งบทคาถา. ศัพท์ว่า พหู แสดงจำนวนไม่แน่นอน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงอธิบายว่า หลายร้อย หลายพัน หลายแสน. ชื่อว่า เทวะ เพราะเล่น อธิบายว่า เล่นกับกามคุณ ๕ หรือโชติช่วงด้วยสิริของตน. อีกนัยหนึ่ง บทว่า เทวา ได้แก่ เทพทั้ง ๓ คือสมมติเทพ อุปปัตติเทพ และวิสุทธิเทพ เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า
บทว่า เทวา ได้แก่ เทพ ๓ คือ สมมติเทพ อุปปัตติเทพ วิสุทธิเทพ
บรรดาเทพทั้ง ๓ นั้น พระราชา พระราชเทวี พระราชกุมาร ชื่อว่าสมมติเทพ.
เทพตั้งแต่ชั้นจาตุมมหาราชิกาและสูงขึ้นไปกว่านั้น ชื่อว่าอุปปัตติเทพ
ท่านที่เรียกกันว่าพระอรหันต์ ชื่อว่าวิสุทธิเทพ.
ในเทพทั้ง ๓ นั้น ในสูตรนี้ ท่านประสงค์เอาอุปปัตติเทพ.
ชื่อว่ามนุษย์ เพราะเป็นเหล่ากอของพระมนู. แต่โบราณาจารย์กล่าวว่า ชื่อว่ามนุษย์ เพราะเป็นผู้มีใจสูง. มนุษย์เหล่านั้นมี ๔ คือชาวชมพูทวีป ชาวอมรโคยานทวีป ชาวอุตตรกุรุทวีป ชาวปุพพวิเทหทวีป ในสูตรนี้ท่านประสงค์เอามนุษย์ชาวชมพูทวีป.
ชื่อว่า มงคล เพราะสัตว์เจริญรุ่งเรืองด้วยคุณเหล่านี้ อธิบายว่า สัตว์ถึงความสำเร็จและความเจริญ.
ดังกล่าวมานี้ เป็นการพรรณนาตามลำดับบทแห่งคาถาทั้งหลาย.
ส่วนความรวมมีดังนี้ เทพบุตรนั้นแลเห็นเทวดาในหมื่นจักรวาลชุมนุมกันในจักรวาลนี้ เพราะอยากจะฟังมงคลปัญหา พากันเนรมิตอัตภาพอันละเอียด ๑๐ บ้าง ๒๐ บ้าง ๓๐ บ้าง ๔๐ บ้าง ๕๐ บ้าง ๖๐ บ้าง ๗๐ บ้าง ๘๐ บ้าง ขนาดโอกาสปลายขนทรายขนหนึ่ง ยืนห้อมล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์อันประเสริฐที่จัดไว้ เปล่งพระรัศมีครอบงำเทวดามารพรหมทั้งหมด ด้วยพระสิริและพระเดช และหยั่งรู้ปริวิตกแห่งใจของเหล่ามนุษย์ชาวชมพู ที่ไม่ได้มาประชุมในสมัยนั้น ด้วยใจตนเอง จึงกล่าวคาถา เพื่อถอนลูกศรคือความสงสัยของเทวดาและมนุษย์ทั้งปวงว่า
เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ปรารถนาความสวัสดี จึงพากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์โปรดตรัสบอกมงคลด้วยเถิด พระเจ้าข้า.
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เป็นผู้ซึ่งข้าพระองค์ทูลถามแล้ว โดยอนุมัติของเทวดาเหล่านั้น และโดยอนุเคราะห์มนุษย์ทั้งหลาย มงคลอันใดเป็นอุดมสูงสุด เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ข้าพระองค์หมดด้วยกัน โปรดอาศัยพระกรุณาตรัสบอกมงคลอันนั้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายแล.
พรรณนาคาถาว่า อเสวนา จ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำของเทพบุตรนั้นอย่างนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น. ในพระคาถานั้น บทว่า อเสวนา ได้แก่ การไม่คบ ไม่เข้าไปใกล้.
การพรรณนาความแห่งบทนั้น พึงทราบดังนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำของเทพบุตรนั้นอย่างนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสบอกถึงบุคคลที่ไม่ควรคบก่อน จึงตรัสว่า การไม่คบพาล การคบบัณฑิต ความจริง คนพาลทั้งหลายไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้เหมือนทางที่ควรละเว้น แต่นั้น ก็ควรคบ ควรเข้าใกล้แต่บัณฑิตเหมือนทางที่ควรยึดถือไว้.
ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสมงคล จึงตรัสการไม่คบพาลและการคบบัณฑิตก่อน ขอชี้แจงดังนี้ เพราะเหตุที่พวกเทวดาและมนุษย์ยึดความเห็นว่ามงคลในสิ่งที่เห็นแล้วเป็นต้นนี้ ด้วยการคบพาล ทั้งการคบพาลนั้นก็ไม่เป็นมงคล ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงติเตียนการสมคบกับคนที่มิใช่กัลยาณมิตร ซึ่งหักรานประโยชน์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า และทรงสรรเสริญการสมาคมกับกัลยาณมิตร ซึ่งให้สำเร็จประโยชน์ในโลกทั้งสอง จึงตรัสการไม่คบพาลและการคบบัณฑิตก่อน แก่เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น.
สัตว์ทั้งหลายทุกประเภท ผู้ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถมีปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่าพาล ในจำนวนพาลและบัณฑิตนั้น. พาลเหล่านั้นจะรู้ได้ก็ด้วยอาการทั้งสาม เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้.
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงติเตียนการคบพาลโดยอาการทั้งปวงอย่างนี้ จึงตรัสว่า การไม่คบพาลเป็นมงคล บัดนี้ เมื่อทรงสรรเสริญการคบบัณฑิต จึงตรัสว่า การคบบัณฑิตเป็นมงคล.
บัณฑิตเหล่านั้น เป็นผู้สามารถกำจัดภัย อุปัทวะ และอุปสรรคได้ทุกอย่างแก่พวกที่ทำตามคำของตน ประหนึ่งป้องกันได้ในเวลามีภัย ประหนึ่งดวงประทีปในเวลามืด ประหนึ่งได้ข้าวน้ำเป็นต้น ในเวลาถูกทุกข์มีหิวระหายเป็นต้นครอบงำ.
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงสรรเสริญการคบบัณฑิต โดยธรรมทั้งปวงอย่างนี้ จึงตรัสว่า การคบบัณฑิตเป็นมงคล.
บัดนี้ เมื่อจะทรงสรรเสริญการบูชาบุคคลผู้เข้าถึงความเป็นผู้ควรบูชาโดยลำดับ ด้วยการไม่คบพาลและการคบบัณฑิตนั้น จึงตรัสว่า
การบูชาผู้ที่ควรบูชาเป็นมงคล.
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ชื่อว่า ปูชเนยยะ เพราะทรงเว้นจากโทษทุกอย่าง และเพราะทรงประกอบด้วยคุณทุกอย่าง และภายหลังจากนั้น ก็พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวกทั้งหลาย ชื่อว่า ปูชเนยยะ.
บัดนี้ เพราะเหตุที่ข้าพเจ้าตั้งมาติกาหัวข้อไว้ว่า กล่าวสมุฏฐานเป็นที่เกิดมงคล แล้วกำหนดมงคลนั้นจะชี้แจงความของมงคลนั้น ฉะนั้น จึงขอชี้แจงดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๓ มงคล คือ การไม่คบพาล, การคบบัณฑิต และการบูชาผู้ที่ควรบูชา ด้วยประการฉะนี้.
ในมงคลทั้ง ๓ นั้น พึงทราบว่า การไม่คบพาลชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์ของโลกทั้งสอง เหตุป้องกันภัยมีภัยเกิดแต่คบพาลเป็นปัจจัยเป็นต้น
การคบบัณฑิตและการบูชาผู้ที่ควรบูชา ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งนิพพานและสุคติ โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในการพรรณนาความเพิ่มพูนแห่งผลของการคบบัณฑิตและการบูชาผู้ที่ควรบูชานั้นนั่นแล. แต่ข้าพเจ้าจักยังไม่แสดงหัวข้อต่อจากนี้ไป จักกำหนดข้อที่เป็นมงคลอย่างนี้ จึงจักชี้แจงความที่ข้อนั้นเป็นมงคล.
พรรณนาคาถาว่า ปฏิรูปเทสวาโส จ
พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ถูกเทพบุตรขอมงคลอย่างเดียวว่า พฺรูหิ มงฺคลมุตฺตมํ ขอได้โปรดตรัสบอกมงคลอันอุดม แต่ก็ตรัสถึง ๓ มงคล ด้วยคาถาเดียว เปรียบเหมือนบุรุษใจกว้าง ถูกขอแต่น้อยแต่ก็ให้มาก ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงเริ่มที่จะตรัสมงคลอีกเป็นอันมาก ด้วยคาถาทั้งหลายมีว่า ปฏิรูปเทสวาโส จ เป็นต้น ก็เพราะเทวดาทั้งหลายอยากฟัง เพราะมงคลทั้งหลายมีอยู่ และเพราะมงคลใดๆ อนุกูลแก่สัตว์ใดๆ ทรงมีพุทธประสงค์จะทรงประกอบสัตว์นั้นๆ ไว้ ในมงคลนั้นๆ
การพรรณนาความ พึงทราบดังนี้. ในประเทศใดบริษัท ๔ ยังจาริกอยู่ ยังบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้นอยู่ นวังคสัตถุศาสน์ยังรุ่งเรืองอยู่. ประเทศนั้น ชื่อว่า ปฏิรูปเทส การอยู่อาศัยในปฏิรูปเทสนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแก่การทำบุญของสัตว์ทั้งหลาย. ในข้อนี้ มีชาวประมงที่เข้าไปยังเกาะสิงหลเป็นต้นเป็นตัวอย่าง.
อีกนัยหนึ่ง ประเทศเป็นที่ตรัสรู้พระโพธิญาณ [ที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกโพธิมัณฑสถาน] ประเทศที่ทรงประกาศพระธรรมจักร. ประเทศ คือโคนต้นมะม่วงของนายคัณฑะที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ทำลายความเมาของพวกเดียรถีย์ทั้งปวง ท่ามกลางบริษัทประมาณ ๑๒ โยชน์, ประเทศที่เสด็จลงจากเทวโลก ก็หรือประเทศอื่นใดอันเป็นที่ประทับอยู่ของพระพุทธเจ้า มีกรุงสาวัตถี กรุงราชคฤห์เป็นต้น ประเทศนั้น ชื่อว่าปฏิรูปเทส การอยู่อาศัยในปฏิรูปเทสนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแก่การได้ อนุตตริยะ ๖ ของสัตว์ทั้งหลาย
อีกนัยหนึ่ง ทิศบูรพา ตั้งแต่กชังคลนิคมลงมาถึงมหาสาลา รอบนอกเป็นปัจจันติมชนบท รอบในเป็นมัชฌิมชนบท. ทิศอาคเนย์ ตั้งแต่แม่น้ำสัลลวตีลงมา รอบนอกเป็นปัจจันติมชนบท รอบในเป็นมัชฌิมชนบท. ทิศทักษิณ ตั้งแต่เสตกัณณิกนิคมลงมา รอบนอกเป็นปัจจันติมชนบท รอบในเป็นมัชฌิมชนบท. ทิศตะวันตก ตั้งแต่ถูณะตำบลบ้านพราหมณ์ลงมา รอบนอกเป็นปัจจันติมชนบท รอบในเป็นมัชฌิมชนบท. ทิศอุดร ตั้งแต่ภูเขาอุสีรธชะลงมา รอบนอกเป็นปัจจันติชนบท รอบในเป็นมัชฌิมชนบท. นี้เป็นมัชฌิมประเทศยาว ๓๐๐ โยชน์กว้าง ๒๕๐ โยชน์ โดยรอบ ๙๐๐ โยชน์. มัชฌิมประเทศนี้ ชื่อว่า ปฏิรูปเทส.
พระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลายผู้ครองอิสริยาธิปัตย์แห่งทวีปใหญ่ทั้ง ๔ ทวีป ทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ทวีป ย่อมเกิดในปฏิรูปเทสนั้น พระมหาสาวกทั้งหลายมีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นต้น บำเพ็ญบารมีมาหนึ่งอสงไขยกับแสนกัป ก็เกิดในปฏิรูปเทสนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายบำเพ็ญบารมีมาสองอสงไขยกับแสนกัป ก็เกิดในปฏิรูปเทสนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายบำเพ็ญบารมีมาสี่อสงไขยกับแสนกัปบ้าง แปดอสงไขยกับแสนกัปบ้าง สิบหกอสงไขยกับแสนกัปบ้าง ก็เสด็จอุบัติในปฏิรูปเทสนั้น.
บรรดาท่านเหล่านั้น สัตว์ทั้งหลายรับโอวาทของพระเจ้าจักรพรรดิตั้งอยู่ในศีล ๕ แล้วก็มีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า, ตั้งอยู่ในโอวาทของพระปัจเจกพุทธเจ้าก็เหมือนกัน. ส่วนสัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ในโอวาทของพระพุทธเจ้า ของสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมมีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า มีพระนิพพานเป็นเบื้องหน้า เพราะฉะนั้น การอยู่ในปฏิรูปเทสนั้น จึงตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแห่งสมบัติเหล่านี้.
ความเป็นผู้ปรารภพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระขีณาสพ สร้างสมกุศลไว้ในชาติที่ล่วงมาแล้ว ชื่อว่า ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อน. แม้ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อนนั้น ก็เป็นมงคล. เพราะเหตุไร เพราะทำอธิบายว่า ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อน ย่อมให้บรรลุพระอรหัต เมื่อจบคาถาแม้ ๔ บทที่แสดงต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือที่ฟังเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า.
ก็มนุษย์ผู้ใดสร้างบารมีไว้ มีกุศลมูลอันแน่นหนามาก่อน มนุษย์ผู้นั้นทำวิปัสสนาให้เกิดแล้ว ย่อมบรรลุธรรมที่สิ้นอาสวะ ด้วยกุศลมูลนั้นนั่นแล เหมือนพระเจ้ามหากัปปินะและอัครมเหสี
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อน เป็นมงคล.
คนบางคนในโลกนี้ ย่อมทำตนที่ทุศีลให้ตั้งอยู่ในสุศีล ตนที่ไม่มีศรัทธาให้ตั้งอยู่ในสัทธาสัมปทา ตนที่ตระหนี่ให้ตั้งอยู่ในจาคสัมปทา การตั้งตนดังกล่าว ชื่อว่า ตั้งตนไว้ชอบ. การตั้งตนไว้ชอบนี้ เรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ. อัตตสัมมาปณิธินี้แล เป็นมงคล. เพราะเหตุไร. เพราะเป็นเหตุละเวรที่เป็นไปในปัจจุบันและภายภาคหน้าและประสบอานิสงส์ต่างๆ อย่าง.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๓ มงคล คือการอยู่ในปฏิรูปเทส ๑ ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อน ๑ และการตั้งตนไว้ชอบ ๑ ด้วยประการฉะนี้.
ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้น.
พรรณนาคาถาว่า พาหุสจฺจญฺจ
บัดนี้ ความเป็นพหูสูต ชื่อว่า พาหุสัจจะ ในบทนี้ว่า พาหุสสจฺจญฺจ. ความฉลาดในงานฝีมือทุกอย่าง ชื่อว่า ศิลปะ การฝึกกายวาจาจิต ชื่อว่า วินัย.
การพรรณนาความ พึงทราบดังนี้.
ความเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสัตถุศาสน์ ที่ทรงพรรณนาไว้ โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า เป็นผู้ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ และว่า ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ มีสุตะมาก คือสุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ เป็นต้น ชื่อว่าความเป็นพหูสูต.
ความเป็นพหูสูตนั้น ตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุละอกุศลและประสบกุศล และเพราะเป็นเหตุทำให้แจ้งปรมัตถสัจจะตามลำดับ
อนึ่ง แม้พาหุสัจจะความเป็นพหูสูตของคฤหัสถ์อันใดไม่มีโทษ อันนั้นก็พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกทั้งสอง.
ศิลปะของคฤหัสถ์ และศิลปะของบรรพชิต ชื่อว่า ศิลปะ. บรรดาศิลปะทั้งสองนั้น กิจกรรมมีงานของช่างมณี ช่างทองเป็นต้น ที่เว้นจากการทำร้ายชีวิตสัตว์อื่น เว้นจากอกุศล ชื่อว่า อคาริกสิปปะ ศิลปะของคฤหัสถ์.
อคาริกสิปปะนั้น ชื่อว่า เป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์ในโลกนี้.
การจัดทำสมณบริขารมีการกะและเย็บจีวรเป็นต้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญไว้ในที่นั้นๆ โดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำไรๆ ของสพรหมจารี ไม่ว่าสูงต่ำเหล่านั้นใด ภิกษุเป็นผู้ขยันในกิจที่ควรทำไรๆ นั้น และที่ตรัสว่า เป็น นาถกรณธรรม ธรรมทำที่พึ่ง ชื่อว่า อนาคาริกสิปปะ ศิลปะของบรรพชิต.
ศิลปะของบรรพชิตนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกทั้งสองแก่ตนเองและแก่คนอื่นๆ.
วินัยของคฤหัสถ์และวินัยของบรรพชิต ชื่อว่า วินัย. บรรดาวินัยทั้งสองนั้น การงดเว้นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่าวินัยของคฤหัสถ์. วินัยของคฤหัสถ์นั้น คฤหัสถ์ศึกษาดีแล้วในวินัยนั้น ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกทั้งสอง ด้วยการไม่ต้องสังกิเลสความเศร้าหมอง และด้วยการกำหนดคุณ คืออาจาระ.
การไม่ต้องอาบัติ ๗ กอง ชื่อว่าวินัยของบรรพชิต. แม้วินัยของบรรพชิตนั้น อันบรรพชิตศึกษาดีแล้ว โดยนัยที่กล่าวมาแล้ว. หรือปาริสุทธิศีล ๔ ชื่อว่าวินัยของบรรพชิต. วินัยของบรรพชิตนั้น อันบรรพชิตศึกษาดีแล้ว ด้วยการศึกษาโดยประการที่ตั้งอยู่ในปาริสุทธิศีล ๔ นั้นแล้วจะบรรลุพระอรหัตได้ พึงทราบว่าเป็นมงคลเพราะเป็นเหตุประสบสุขทั้งโลกิยะทั้งโลกุตระ.
วาจาที่เว้นจากโทษมีมุสาวาทเป็นต้น ชื่อว่าวาจาสุภาษิต
แม้วาจาสุภาษิตนี้ ก็พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกทั้งสอง แต่เพราะเหตุที่วาจาสุภาษิตนี้นับเนื่องในวินัย ฉะนั้น ถึงไม่สงเคราะห์วาจาสุภาษิตนี้ไว้ด้วยวินัยศัพท์ ก็พึงทราบว่าเป็นวินัย.
เมื่อเป็นเช่นนั้น วาจามีการแสดงธรรมแก่คนเหล่าอื่นเป็นต้น พึงทราบว่าเป็นวาจาสุภาษิตในที่นี้ ด้วยความกระอักกระอ่วนนี้หรือ. ความจริง วาจาสุภาษิตตรัสว่าเป็นมงคล ก็เพราะเป็นเหตุประสบสุขในโลกทั้งสองและพระนิพพานของสัตว์ทั้งหลาย ก็เหมือนการอยู่ใน ปฏิรูปเทศ.
พระพุทธเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล
คือ พาหุสัจจะ ๑ สิปปะ ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ และวาจาสุภาษิต ๑ ด้วยประการฉะนี้.
ก็ความที่มงคลนั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.
พรรณนาคาถาว่า มาตาปิตุอุปฎฺฐานํ
การพรรณนาความ พึงทราบดังนี้.
สตรีผู้ยังบุตรให้เกิด เรียกชื่อว่า มารดา บิดาก็เหมือนกัน. การทำอุปการะด้วยการล้างเท้านวดฟั้นขัดสี ให้อาบน้ำ และด้วยการมอบให้ปัจจัย ๔ ชื่อว่า การบำรุง. ในการบำรุงนั้น เพราะเหตุที่มารดาบิดามีอุปการะมาก หวังประโยชน์อนุเคราะห์บุตรทั้งหลาย มารดาบิดาเหล่าใดแลเห็นบุตรทั้งหลายเล่นอยู่ข้างนอก เดินมามีเนื้อตัวเปื้อนฝุ่น ก็เช็ดฝุ่นให้ จูบจอมถนอมเกล้า เกิดความรักเอ็นดู บุตรทั้งหลายใช้ศีรษะทูนมารดาบิดาไว้ถึงร้อยปี ก็ไม่สามารถจะทำปฏิการะสนองคุณของมารดาบิดานั้นได้ และเพราะเหตุที่มารดาบิดานั้นเป็นผู้ดูแลบำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้ สมมติว่าเป็นพรหม สมมติว่าเป็นบุรพาจารย์ ฉะนั้น การบำรุงมารดาบิดานั้น ย่อมนำมาซึ่งการสรรเสริญในโลกนี้และละโลกไปแล้วก็จะนำมาซึ่งสุขในสวรรค์ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่าเป็นมงคล
อนึ่ง ผู้ใดบำรุงมารดาบิดา ด้วยให้เกิดความเลื่อมใสในวัตถุ [รัตนะ] ทั้งสาม ด้วยให้ถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยการบรรพชา ผู้นี้เป็นยอดของผู้บำรุงมารดาบิดา. การบำรุงมารดาบิดาของผู้นั้นเป็นการตอบแทนอุปการคุณที่มารดาบิดาทำมาแล้ว ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปทัฏฐานแห่งประโยชน์ทั้งหลาย ทั้งปัจจุบันทั้งภายภาคหน้า เป็นอันมาก.
ทั้งบุตรทั้งธิดา ที่เกิดจากตน ก็นับว่าบุตรทั้งนั้น.
บทว่า ทารา ได้แก่ภรรยา ๒๐ จำพวก จำพวกใดจำพวกหนึ่ง. บุตรและภรรยา ชื่อว่า ปุตตทาระ. ซึ่งบุตรและภรรยานั้น.
บทว่า สงฺคโห ได้แก่ การทำอุปการะด้วยการยกย่องเป็นต้น. การอุปการะนั้น พึงทราบว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์สุขในปัจจุบัน มีความเป็นผู้จัดการงานดีเป็นต้น.
หรือมีอีกนัยหนึ่งดังนี้ บทว่า สงฺคโห ได้แก่ การสงเคราะห์ด้วยทานการให้ ปิยวาจาพูดน่ารัก อรรถจริยาการบำเพ็ญประโยชน์อันเป็นธรรม. คืออะไร. การให้เสบียงอาหารในวันอุโบสถ การให้ดูงานนักขัตฤกษ์ กระทำมงคลในวันมงคล การโอวาทสั่งสอน ในประโยชน์ทั้งหลายที่เป็นไปในปัจจุบัน และเป็นไปภายหน้า การสงเคราะห์นั้นพึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์ในปัจจุบัน เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์ในภายหน้า และเพราะเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้ที่แม้เทวดาทั้งหลายพึงนอบน้อม.
การงานทั้งหลาย มีกสิกรรมทำไร่นา โครักขกรรมเลี้ยงโคและวณิชกรรม ค้าขายเป็นต้น เว้นจากภาวะอากูล มีการล่วงเลยเวลา การทำไม่เหมาะและการทำย่อหย่อนเป็นต้น เพราะเป็นผู้รู้จักกาล เพราะเป็นผู้ทำเหมาะ เพราะเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน และเพราะไม่ควรพินาศ เหตุถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ชื่อว่าการงานไม่อากูล.
การงานไม่อากูลเหล่านั้น อันบุคคลประกอบได้อย่างนี้ ก็เพราะตน บุตรภรรยา หรือทาสและกรรมกร เป็นผู้ฉลาด ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์ ข้าวเปลือกและความเจริญในปัจจุบัน.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือการบำรุงมารดา ๑ การบำรุงบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ และการงานไม่อากูล ๑
หรือ ๕ มงคล เพราะแยกการสงเคราะห์บุตรและภรรยาออกเป็น ๒
หรือ ๓ มงคล เพราะรวมการบำรุงมารดาและบิดาเป็นข้อเดียวกัน.
ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.
พรรณนาคาถาว่า ทานญฺจ
การพรรณนาความ พึงทราบดังนี้.
เจตนาเป็นเหตุบริจาคทานวัตถุ ๑๐ มีข้าวเป็นต้น ซึ่งมีความรู้ดีเป็นหัวหน้า เฉพาะผู้อื่น หรือความไม่โลภ ที่ประกอบด้วยจาคเจตนานั้น ชื่อว่าทาน. จริงอยู่ บุคคลย่อมมอบให้วัตถุนั้นแก่ผู้อื่น ด้วยความไม่โลภ. ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ชื่อว่าทาน เพราะเขาให้ทานด้วยวัตถุนี้
ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษที่เป็นไปในปัจจุบันและเป็นไปภายหน้า มีความเป็นผู้ที่ชนเป็นอันมากรักและพอใจเป็นต้น.
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า ทานมี ๒ คือ อามิสทานและธรรมทาน ในทานทั้งสองนั้น อามิสทานได้กล่าวมาแล้วทั้งนั้น. ส่วนการแสดงธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศแล้ว อันนำมาซึ่งความสิ้นทุกข์และสุขในโลกนี้และโลกหน้า เพราะหมายจะให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆ ชื่อว่า ธรรมทาน. อนึ่ง บรรดาทานทั้งสองนี้ ธรรมทานนี้อย่างเดียวเป็นเลิศ
ในพระสูตรและคาถานั้น ก็ตรัสความที่อามิสทานเป็นมงคลเท่านั้น ส่วนธรรมทานตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นปทัฏฐานแห่งคุณทั้งหลาย มีความเป็นผู้ซาบซึ้งอรรถเป็นต้น
การประพฤติกุศลธรรมบถ ๑๐ ชื่อว่า ธรรมจริยา เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย การประพฤติธรรม การประพฤติสม่ำเสมอ มี ๓ อย่าง ก็การประพฤติธรรมนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุเข้าถึงโลกสวรรค์.
ชนผู้เกี่ยวข้องข้างมารดาหรือข้างบิดา จนถึง ๗ ชั่วปู่ย่า ชื่อว่า ญาติ. การสงเคราะห์ญาติเหล่านั้น ผู้ถูกความเสื่อมโภคะ ถูกความเสื่อมเพราะเจ็บป่วยครอบงำแล้วมาหาตน ด้วยอาหารเครื่องนุ่งห่มและข้าวเปลือกเป็นต้น ตามกำลัง ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษ ที่เป็นปัจจุบันมีการสรรเสริญเป็นต้น และที่เป็นภายหน้ามีไปสุคติเป็นต้น.
กิจกรรมที่เป็นสุจริตทางกายวาจาใจ มีการสมาทานองค์อุโบสถ การทำความขวนขวาย การปลูกสวนและป่า และสร้างสะพานเป็นต้น ชื่อว่า การงานไม่มีโทษ. การงานไม่มีโทษเหล่านั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ประสบประโยชน์สุขนานาประการ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือ ทาน ๑ ธรรมจริยา ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ การงานไม่มีโทษ ๑ ด้วยประการฉะนี้.
ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.
พรรณนาคาถาว่า อารตี
ความไม่ยินดียิ่งทางใจอย่างเดียวของบุคคลผู้เห็นโทษในบาป ชื่อว่า อารติ. ความเว้นทางกายวาจา โดยกรรมและทวาร ชื่อว่าวิรัติ.
ก็ธรรมดาวิรัตินั่นนั้นมี ๓ คือ สัมปัตตวิรัติ ๑ สมาทานวิรัติ ๑ สมุจเฉทวิรัติ ๑.
บรรดาวิรัติทั้ง ๓ นั้น วิรัติเจตนางดเว้นจากวัตถุที่ประสบเข้าอันใดของกุลบุตร โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า ข้อที่เราจะฆ่าสัตว์นี้ จะลักทรัพย์เป็นต้น เมื่อนึกถึงชาติตระกูล หรือโคตรของตน ก็ไม่สมควรแก่เราเลย วิรัติเจตนางดเว้น อันนี้ชื่อว่า สัมปัตตวิรัติ.
กุลบุตรไม่ทำบาปมีปาณาติบาตเป็นต้น ตั้งแต่ประพฤติวิรัติอันใด วิรัติอันนั้นเป็นไปโดยสมาทานสิกขาบท ชื่อว่า สมาทานวิรัติ.
ภัยเวร ๕ ของพระอริยสาวกระงับไป ตั้งแต่ประพฤติวิรัติใด วิรัตินั้นประกอบด้วยอริยมรรค ชื่อว่า สมุจเฉทวิรัติ. บาปอกุศลนั้นใด มี ๔ อย่าง กล่าวคือกรรมกิเลส ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้พิศดารอย่างนี้ว่า ดูก่อนบุตรคฤหบดี กรรมกิเลส คือปาณาติบาต กรรมกิเลส คืออทินนาทาน ฯลฯ กาเมสุมิจฉาจาร ฯลฯ กรรมกิเลส คือมุสาวาท ดังนี้
การงดเว้นจากบาปอกุศลนั้น การงดการเว้นแม้ทั้งหมดนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษนานาประการ มีการละภัยเวรที่เป็นปัจจุบันและเป็นไปในภายหน้าเป็นต้น. ก็ในข้อนี้ พึงระลึกถึงพระสูตรทั้งหลายโดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนบุตรคฤหบดี อริยสาวกเว้นขาดจากปาณาติบาตแล.
จะกล่าวพรรณนาการสำรวมจากการดื่มของเมา.
คำนี้เป็นชื่อของเจตนางดเว้นจากที่ตั้งแห่งความประมาท คือการดื่มของเมา คือสุราและเมรัย ที่กล่าวไว้ก่อนแล้ว. ก็เพราะเหตุที่ผู้ดื่มของเมาย่อมไม่รู้อรรถ ไม่รู้ธรรม ย่อมทำอันตรายแก่มารดา ทำอันตรายแก่บิดา แม้แก่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้า และพระสาวกของพระตถาคต ย่อมประสบการติเตียนในภพปัจจุบัน ประสบทุคติในภพเบื้องหน้า และประสพความเป็นบ้าในภพต่อๆ ไป. ส่วนการสำรวมจากการดื่มของเมา ย่อมบรรลุการระงับโทษเหล่านั้น และการถึงพร้อมด้วยคุณตรงกันข้ามกับโทษนั้น.
ฉะนั้น การสำรวมจากการดื่มของเมานี้ พึงทราบว่าเป็นมงคล.
ความอยู่ไม่ปราศจากสติในกุศลธรรมทั้งหลาย โดยอรรถพึงทราบโดยเป็นปฏิปักษ์ต่อความประมาท ที่ท่านกล่าวไว้ในบาลีนี้ ความกระทำโดยไม่เคารพ ความกระทำโดยไม่ต่อเนื่อง ความกระทำไม่มั่นคง ความประพฤติย่อหย่อน ความทอดฉันทะ ความทอดธุระ การไม่เสพ การไม่เจริญ การไม่ทำให้มาก การไม่ตั้งใจ การไม่ประกอบเนืองๆ ความเลินเล่อในการอบรมกุศลธรรมทั้งหลาย ความประมาท ความเลินเล่อ ความเป็นผู้เลินเล่อ เห็นปานนี้ใด อันนี้เรียกว่า ประมาท. ชื่อว่าความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย. ความไม่ประมาทในกุศลธรรมนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบกุศลนานาประการ และเพราะเป็นเหตุบรรลุอมตธรรม.
ในข้อนั้น พึงระลึกถึงคำสั่งสอนของพระศาสดา เป็นต้นอย่างนี้ว่า ผู้ไม่ประมาท ผู้มีความเพียร และว่า ความไม่ประมาทเป็นอมตบท ดังนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๓ มงคล คือ การงดเว้นจากบาป ๑ การสำรวมจากการดื่มของเมา ๑ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑ ด้วยประการฉะนี้.
ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.
พรรณนาคาถาว่า คารโว จ
การพรรณนาความ พึงทราบดังนี้
ความเคารพ การทำความเคารพ ความเป็นผู้มีความเคารพตามสมควรในพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกของพระตถาคต อาจารย์ อุปัชฌาย์ มารดาบิดา พี่ชาย พี่สาว เป็นต้น เป็นผู้ควรประกอบความเคารพ ชื่อว่า คารวะ. คารวะนี้นั้น เพราะเหตุที่เป็นเหตุแห่งการไปสุคติเป็นต้น
ฉะนั้น จึงตรัสว่าเป็นมงคล.
ความเป็นผู้มีใจลดต่ำ ความเป็นผู้มีความประพฤติไม่ลำพอง ชื่อว่าความถ่อมตน. บุคคลประกอบด้วยความเป็นผู้ถ่อมตนอันใด กำจัดมานะได้ กำจัดความกระด้างได้ เป็นเสมือนผ้าเช็ดเท้า เสมอด้วยโคอุสุภะเขาขาด และเสมอด้วยงูที่ถูกถอนเขี้ยวแล้ว ย่อมเป็นผู้ละเอียดอ่อนละมุนละไม ผ่องแผ้วด้วยสุข ความเป็นผู้ถ่อมตน อันนี้เป็น นิวาตะ นิวาตะนี้นั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุได้คุณ มียศเป็นต้น
อนึ่ง ตรัสไว้ว่า ผู้มีความถ่อมตน ไม่กระด้าง คนเช่นนั้นย่อมได้ยศ ดังนี้ เป็นต้น.
ความพอใจด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ชื่อว่า สันตุฏฐี
สันโดษนั้นมี ๑๒ อย่าง คือในจีวร ๓ อย่าง คือยถาลาภสันโดษ สันโดษตามที่ได้, ยถาพลสันโดษ สันโดษตามกำลัง, ยถาสารุปปสันโดษ สันโดษตามสมควร. ในบิณฑบาตเป็นต้นก็อย่างนี้.
จะพรรณนาประเภทแห่งสันโดษนั้น ดังนี้.
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้จีวรดีหรือไม่ดี ภิกษุนั้นก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรนั้นเท่านั้น ไม่ประสงค์จีวรอื่น เมื่อได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.
อนึ่งเล่า ภิกษุอาพาธ เมื่อห่มจีวรหนัก ย่อมต้องค้อมตัวลง หรือลำบาก เธอจึงเปลี่ยนจีวรนั้นกับภิกษุที่ชอบกัน ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรนั้น ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่า ยถาพลสันโดษ ในจีวรของภิกษุนั้น.
ภิกษุอีกรูปหนึ่ง เป็นผู้ได้ปัจจัยอันประณีต เธอได้จีวรบรรดาจีวรชั้นดีเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีค่ามาก คิดว่า จีวรนี้เหมาะแก่พระเถระพระผู้บวชมานานและพระพหูสูต จึงถวายแก่พระภิกษุเหล่านั้น ตนเองก็เลือกเอาเศษผ้าจากกองขยะ หรือจากที่ไรๆ อื่น ทำสังฆาฏิครอง ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษ ในจีวรของภิกษุนั้น.
อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้บิณฑบาต ปอนหรือประณีตยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยบิณฑบาตนั้น ไม่ประสงค์บิณฑบาตอื่น แม้เมื่อได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษ ในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
อนึ่งเล่า ภิกษุอาพาธฉันบิณฑบาตเศร้าหมอง โรคจะกำเริบหนัก เธอจึงถวายบิณฑบาตนั้นแก่ภิกษุที่ชอบกัน ฉันเนยใส น้ำผึ้ง และนมสดเป็นต้น จากมือของภิกษุนั้น แม้ทำสมณธรรมอยู่ ก็ยังเป็นผู้สันโดษ นี้เป็น ยถาพลสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ได้บิณฑบาตอันประณีต เธอคิดว่า บิณฑบาตนี้เหมาะแก่พระเถระ พระผู้บวชมานาน และแม้แก่สพรหมจารีอื่น ผู้เว้นบิณฑบาตอันประณีตเสีย ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ จึงได้ถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น ตนเองเที่ยวบิณฑบาต แม้ฉันอาหารที่ปนกันก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษ ในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
อนึ่ง เสนาสนะมาถึงภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอก็สันโดษด้วยเสนาสนะนั้นนั่นแหละ ไม่ยอมรับเสนาสนะอื่น แม้ดีกว่าที่มาถึงอีก นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
อนึ่งเล่า ภิกษุอาพาธอยู่ในเสนาสนะที่อับลม ย่อมจะทุรนทุรายอย่างเหลือเกิน ด้วยโรคดีเป็นต้น เธอจึงถวายเสนาสนะแก่ภิกษุที่ชอบกัน แล้วอยู่เสียในเสนาสนะอันเย็น มีลม ที่ถึงแก่ภิกษุนั้น แม้กระทำสมณธรรม ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ไม่ยอมรับเสนาสนะที่ดีแม้มาถึง คิดว่าเสนาสนะดี เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เมื่อภิกษุนั่งในเสนาสนะนั้น ถีนมิทธะย่อมครอบงำ เมื่อหลับแล้วตื่นขึ้นมาอีก กามวิตกย่อมฟุ้งขึ้น เธอจึงปฏิเสธเสนาสนะนั้นเสีย อยู่แต่ในที่แจ้ง โคนไม้และกุฏิมุงบังด้วยใบไม้ แห่งใดแห่งหนึ่ง ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เภสัชไม่ว่าผลสมอหรือมะขามป้อม เธอก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเภสัชนั้น. ไม่ประสงค์เภสัชอย่างอื่น มีเนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้นที่ได้แล้ว แม้เมื่อได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.
อนึ่ง ภิกษุอาพาธ ต้องการน้ำมัน แต่ได้น้ำอ้อย เธอก็ถวายน้ำอ้อยนั้นแก่ภิกษุที่ชอบกัน แต่ทำยาด้วยน้ำมันจากมือของภิกษุนั้น แม้กระทำสมณธรรม ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.
ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ใส่สมอดองกับมูตรเน่าลงในภาชนะใบหนึ่ง ใส่ของมีรสอร่อย ๔ อย่างลงในภาชนะใบหนึ่ง เมื่อถูกเพื่อนภิกษุบอกว่า ท่านต้องการสิ่งใด ก็ถือเอาเถิดท่าน ถ้าว่า อาพาธของภิกษุนั้นระงับไปด้วยสมอดองน้ำมูตรเน่าและของรสอร่อยทั้งสองนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ เมื่อเป็นดังนั้นเธอคิดว่า ธรรมดาว่าสมอดองด้วยมูตรเน่า พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงสรรเสริญแล้ว และพระพุทธเจ้าตรัสว่า บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นเภสัช พึงทำความอุตสาหะในมูตรเน่าเป็นเภสัชนั้น จนตลอดชีวิต ปฏิเสธของมีรสอร่อยเป็นเภสัช แม้กระทำเภสัชด้วยสมอดองด้วยมูตรเน่า ก็เป็นผู้สันโดษอย่างยิ่ง นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.
สันโดษแม้ทั้งหมดนั้น มีประเภทอย่างนี้ ก็เรียกว่าสันตุฏฐี
สันตุฏฐีนั้นพึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบการละบาปธรรมทั้งหลาย มีความปรารถนาเกินส่วน ความมักมากและความปรารถนาลามกเป็นต้น เพราะเป็นเหตุแห่งสุคติ เพราะเป็นเครื่องอบรมอริยมรรค และเพราะเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้อยู่ได้สบายในทิศทั้ง ๔
ความรู้จักอุปการคุณที่ผู้ใดผู้หนึ่งทำมาแล้ว ไม่ว่ามากหรือน้อย โดยการระลึกถึงเนืองๆ ชื่อว่า กตัญญุตา. อนึ่ง บุญทั้งหลายนั่นแล มีอุปการะมากแก่สัตว์ทั้งหลาย เพราะป้องกันทุกข์มีทุกข์ในนรกเป็นต้นได้. ดังนั้น การระลึกถึงอุปการะของบุญแม้เหล่านั้น ก็พึงทราบว่าเป็นกตัญญุตา.
กตัญญุตานั้นตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษมีประการต่างๆ มีเป็นผู้อันสัตบุรุษทั้งหลายพึงสรรเสริญเป็นต้น.
การฟังธรรม เพื่อบรรเทาความวิตกในกาลที่จิตประกอบด้วยอุทธัจจะ หรือจิตถูกวิตกทั้งหลายมีกามวิตกเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งครอบงำ ชื่อว่าการฟังธรรมตามกาล.
อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า การฟังธรรมทุกๆ ๕ วัน ชื่อว่า การฟังธรรมตามกาล
อนึ่ง ในกาลใด ภิกษุเข้าไปหากัลยาณมิตรแล้วอาจฟังธรรมบรรเทาความสงสัยของตนเสียได้ การฟังธรรมแม้ในกาลนั้น ก็พึงทราบว่าการฟังธรรมตามกาล เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุเข้าไปหากัลยาณมิตรเหล่านั้น สอบถามไล่เลียงตลอดกาล ตามกาล. การฟังธรรมตามกาลนั้นนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษนานาประการ มีการละนีวรณ์ได้อานิสงส์ ๔ และบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะเป็นต้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๕ มงคล คือ ความเคารพ ๑ การถ่อมตน ๑ สันโดษ ๑ กตัญญุตา ๑ และการฟังธรรมตามกาล ๑ ด้วยประการฉะนี้.
ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.
พรรณนาคาถาว่า ขนฺตี จ
การพรรณนาความ พึงทราบดังนี้.
อธิวาสนขันติ ชื่อว่าขันติ ที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยขันตินั้นแล้ว ย่อมไม่มีอาการผิดปกติ เป็นผู้เหมือนไม่ได้ยินบุคคลที่ด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ และเหมือนไม่เห็นบุคคลผู้เบียดเบียน ด้วยการฆ่าและการจองจำเป็นต้น เหมือน ขันติวาทีดาบส ฉะนั้น.
ก็ขันตินั่นนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบคุณเหล่านั้น และคุณอื่นๆ ที่ทรงสรรเสริญในที่นี้.
เมื่อถูกเพื่อนสพรหมจารีว่ากล่าวโดยธรรม ก็ไม่ถึงความฟุ้งซ่าน ความนิ่งงัน หรือคิดถึงคุณและโทษ วางความเอื้อเฟื้อ ความเคารพ และความมีใจตกลงต่ำเป็นเบื้องหน้าอย่างยิ่ง แล้วเปล่งถ้อยคำว่า ดีละขอรับ ดังนี้ ชื่อว่า โสวจัสสตา ความว่าง่าย
โสวจัสสตานั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุได้โอวาทและอนุศาสนี จากสำนักเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย และเพราะเป็นเหตุละโทษและบรรลุคุณ.
การเข้าไปหา การบำรุง การระลึก การฟังและการเห็นนักบวชทั้งหลายผู้ระงับกิเลสแล้ว อบรมกายวาจาจิตและปัญญาแล้ว ประกอบด้วยความสงบอย่างสูง ชื่อว่า การเห็นสมณะทั้งหลาย
การเห็นสมณะแม้ทั้งหมด ท่านกล่าวว่าทัสสนะ โดยเทศนาอย่างต่ำ.
การเห็นสมณะนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล. เพราะเหตุไร. เพราะมีอุปการะมาก
จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เป็นต้นว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าการเห็นภิกษุเหล่านั้น มีอุปการะมาก เพราะบุญอันใด กุลบุตรผู้ต้องการประโยชน์ เห็นภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลมาถึงประตูเรือน ผิว่าไทยธรรมมีอยู่ ก็พึงนับถือด้วยไทยธรรมตามกำลัง ผิว่าไม่มี ก็พึงไหว้อย่างเบญจางคประดิษฐ์ เมื่อการไหว้อย่างเบญจางคประดิษฐ์ยังไม่พร้อม ก็พึงประคองอัญชลีนมัสการ เมื่อการนอบน้อม ยังไม่พร้อม ก็มีจิตผ่องใส แลดูด้วยจักษุที่น่ารัก ด้วยบุญที่มีการแลดูเป็นมูลอย่างนี้ โรคหรือโทษ ฝ้าหรือต่อมจะไม่มีในจักษุ ตลอดหลายพันชาติ จักษุทั้งสองก็จะผ่องใส มีสิริ มีวรรณะ ๕ เสมือนบานประตูแก้วมณีที่เปิดในรัตนวิมาน เขาจะได้สมบัติในเทวดาและมนุษย์ ประมาณแสนกัป
ข้อที่เขาเกิดเป็นมนุษย์เป็นคนมีปัญญา พึงเสวยวิปากสมบัติเห็นปานนี้ ก็ด้วยบุญที่สำเร็จมาแต่การเห็นสมณะ ซึ่งเขาประพฤติมาโดยชอบ ไม่น่าอัศจรรย์เลย
แม้สำหรับสัตว์เดียรัจฉาน บัณฑิตทั้งหลายก็พรรณนาวิบากสมบัติของการเห็นสมณะ ที่เพียงทำศรัทธาให้เกิดแล้วอย่างเดียวไว้อย่างนี้
ในเวลาพลบค่ำ หรือในเวลาย่ำรุ่ง ภิกษุฝ่ายพระสูตร ๒ รูป ย่อมสนทนาพระสูตรกัน ฝ่ายพระวินัยก็สนทนาพระวินัยกัน ฝ่ายพระอภิธรรมก็สนทนาพระอภิธรรมกัน ฝ่ายชาดกก็สนทนาชาดกกัน ฝ่ายอรรถกถาก็สนทนาอรรถกถากัน หรือสนทนากันในกาลนั้นๆ เพื่อชำระจิตที่ถูกความหดหู่ ความฟุ้งซ่านและความสงสัยชักนำไป การสนทนาตามกาลนี้ ชื่อว่า การสนทนาธรรมตามกาล
การสนทนาธรรมตามกาลนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งคุณทั้งหลาย มีความฉลาดในอาคม คือนิกายทั้ง ๕ เป็นต้นแล.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือ ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ และการสนทนาธรรมตามกาล ๑ ด้วยประการฉะนี้.
ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.
พรรณนาคาถาว่า ตโป จ
การพรรณนาความ พึงทราบดังนี้
อินทรียสังวรชื่อว่าตปะ เพราะเผาอภิชฌาและโทมนัสเป็นต้น หรือความเพียรชื่อว่าตปะ เพราะเผาความเกียจคร้าน บุคคลผู้ประกอบด้วยตปะเหล่านั้น ท่านเรียกว่า อาตาปี ตปะนี้นั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุละอภิชฌาเป็นต้นและได้ฌานเป็นอาทิ.
ชื่อว่าพรหมจรรย์ เป็นชื่อของเมถุนวิรัติ สมณธรรม ศาสนา และมรรค.
จริงอย่างนั้น เมถุนวิรัติ ท่านเรียกว่า พรหมจรรย์ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า เมถุนวิรัติ เป็นพรหมจารี.
สมณธรรม เรียกว่าพรหมจรรย์ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ เราอยู่ประพฤติสมณธรรม ในพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ศาสนา เรียกว่าพรหมจรรย์ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนมาร ตราบใดศาสนานี้ของเรา จักยังไม่มั่นคงเจริญแพร่หลายรู้กันมากคน เราก็จักยังไม่ปรินิพพานตราบนั้น.
มรรคเรียกว่า พรหมจรรย์ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิเป็นต้น เป็นพรหมจรรย์.
แต่ในที่นี้ พรหมจรรย์แม้ทุกอย่างไม่เหลือ ย่อมควร เพราะมรรค ท่านสงเคราะห์ด้วยอริยสัจจานทัสสนะข้างหน้าแล้ว.
ก็พรหมจรรย์นั่นนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษนานาประการชั้นสูงๆ.
การเห็นมรรค โดยตรัสรู้อริยสัจ ๔ ที่กล่าวไว้แล้วในกุมารปัญหา ชื่อว่า อริยสัจจานทัสสนะ.
อริยสัจจานทัสสนะนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุล่วงทุกข์ในสังสารวัฏ.
อรหัตผล ท่านประสงค์เอาว่า นิพพาน ในที่นี้. ชื่อว่า นิพพานสัจฉิกิริยา กระทำให้แจ้งในพระนิพพาน. จริงอยู่ อรหัตผลแม้นั้น ท่านกล่าวว่า นิพพาน เพราะออกจากตัณหา ที่เข้าใจกันว่า วานะ เพราะร้อยไว้ในคติ ๕. การถึงหรือการพิจารณาพระนิพพานนั้น เรียกว่า สัจฉิกิริยา แต่การทำให้แจ้งพระนิพพานนอกนี้สำเร็จได้ด้วยการเห็นอริยสัจ ๔ นั่นแล ด้วยเหตุนั้น การเห็นอริยสัจนั้น ท่านจึงไม่ประสงค์ในที่นี้. การทำให้แจ้งพระนิพพานนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุอยู่เป็นสุขในปัจจุบันเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือ ตปะ ๑ พรหมจรรย์ ๑ อริยสัจจานทัสสนะ ๑ และนิพพานสัจฉิกิริยา ๑ ด้วยประการฉะนี้.
ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.
พรรณนาคาถาว่า ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ
การพรรณนาความ พึงทราบดังนี้
จิตของผู้ใด อันโลกธรรม ๘ มี มีลาภไม่มีลาภเป็นต้น ถูกต้องครอบงำแล้ว ย่อมไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่กระเทือน ชื่อว่าจิตของผู้ใดอันโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว จิตนั้นของผู้นั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้สูงสุดเหนือโลกซึ่งธรรมไรๆ ให้หวั่นไหวไม่ได้.
ถามว่า ก็จิตของใคร ถูกโลกธรรมเหล่านั้นกระทบแล้วไม่หวั่นไหว.
ตอบว่า จิตของพระอรหันตขีณาสพ ไม่ใช่จิตของใครอื่น.
จิตของพระขีณาสพเท่านั้น ชื่อว่า อโสกะ ไม่เศร้าโศก
จริงอยู่ จิตของพระขีณาสพนั้น ชื่อว่าอโสกะ เพราะไม่มีความเศร้าโศก ที่ท่านกล่าวโดยนัยเป็นต้นว่า ความโศก ความเศร้า ความเป็นผู้เศร้าโศก ความแห้งใจ ความแห้งผากภายใน ความที่ใจถูกความเศร้าโศกแผดเผา. อาจารย์บางพวกกล่าวถึงพระนิพพาน คำนั้นเชื่อมความไม่ได้กับบทต้นๆ
จิตของพระขีณาสพเท่านั้น ชื่อว่าอโสกะ ฉันใด ก็ชื่อว่าวิรชะ เขมะ ฉันนั้น. จริงอยู่ จิตของพระขีณาสพนั้น ชื่อว่า วิรชะ เพราะปราศจากละอองกิเลสมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น และชื่อว่า เขมะ เพราะปลอดจากโยคะทั้ง ๔. เพราะว่าจิตทั้ง ๓ อย่างนั้น โดยที่ท่านถือเอาแล้วในขณะจิตเป็นไปในอารมณ์นั้นๆ โดยอาการนั้นๆ พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้สูงสุดเหนือโลก มีความเป็นผู้มีขันธ์อันไม่เป็นไปแล้ว [ไม่เกิดอีก] และเพราะนำมาซึ่งความเป็นอาหุไนยบุคคลเป็นต้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือ จิตที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมแปด ๑ จิตไม่เศร้าโศก ๑ จิตปราศจากละอองกิเลส ๑ จิตเกษม ๑ ด้วยประการฉะนี้.
ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.
พรรณนาคาถาว่า เอตาทิสานิ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสมหามงคล ๓๘ ประการด้วยคาถา ๑๐ คาถา มีว่า อเสวนา จ พาลานํ การไม่คบพาลเป็นอาทิ อย่างนี้แล้ว
บัดนี้ เมื่อจะทรงชมเชยมงคลที่พระองค์ตรัสเหล่านี้แล จึงได้ตรัสคาถาสุดท้ายว่า เอตาทิสานิ กตฺวาน เป็นต้น.
พรรณนาความแห่งคาถาสุดท้ายนั้นดังนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาด้วยบทแห่งคาถาว่า ตํ เตสํ มงฺคลมุตฺตมํ.
ทรงจบอย่างไร
ดูก่อนเทพบุตร เพราะเหตุที่ชนผู้กระทำมงคลเช่นที่กล่าวนี้ ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวงอย่างนี้ ฉะนั้น ท่านจึงถือว่า มงคลทั้ง ๓๘ ประการมีการไม่คบพาลเป็นต้นนั้นสูงสุด ประเสริฐสุด ดีที่สุด สำหรับชนเหล่านั้นผู้กระทำมงคลเช่นที่กล่าวมานี้.
ตอนสุดท้าย เทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบอย่างนี้ เทวดา แสนโกฏิบรรลุพระอรหัต. จำนวนผู้บรรลุโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผลนับไม่ได้.
ครั้งนั้น วันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระอานนทเถระมาตรัสว่า
ดูก่อนอานนท์ เมื่อคืนนี้ เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาถามมงคลปัญหา ครั้งนั้น เราได้กล่าวมงคล ๓๘ ประการแก่เทวดาองค์นั้น
ดูก่อนอานนท์ เธอจงเรียนมงคลปริยายนี้ ครั้นเรียนแล้วจงสอนภิกษุทั้งหลาย.
พระเถระเรียนแล้วก็สอนภิกษุทั้งหลาย. มงคลสูตรนี้นั้น อาจารย์นำสืบๆ กันมาเป็นไปอยู่จนทุกวันนี้ พึงทราบว่า ศาสนพรหมจรรย์นี้มั่นคงเจริญแพร่หลาย รู้กันมากคนหนาแน่น ตราบเท่าที่เทวดาและมนุษย์ประกาศดีแล้ว.
เพื่อความฉลาดในการสะสมความรู้ในมงคลเหล่านี้นี่เอง บัดนี้ จะประกอบความตั้งแต่ต้นดังนี้.
สัตว์ทั้งหลายผู้ปรารถนาสุขในโลกนี้โลกหน้าและโลกุตรสุขเหล่านี้ ละการคบคนพาลเสีย อาศัยแต่บัณฑิต, บูชาผู้ที่ควรบูชา, อันการอยู่ในปฏิรูปเทส, และความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อนตักเตือนในการบำเพ็ญกุศล, ตั้งตนไว้ชอบ, มีอัตภาพอันประดับด้วยพาหุสัจจะ ศิลปะ และวินัย, กล่าวสุภาษิตอันเหมาะแก่วินัย, ยังไม่ละเพศคฤหัสถ์ตราบใด, ก็ชำระมูลหนี้เก่าด้วยการบำรุงมารดาบิดา, ประกอบมูลหนี้ใหม่ด้วยการสงเคราะห์บุตรและภรรยา, ถึงความมั่งคั่งด้วยทรัพย์และข้าวเปลือกด้วยความเป็นผู้มีการงานไม่อากูล, ยึดสาระแห่งโภคะด้วยทาน และสาระแห่งชีวิตด้วยการประพฤติธรรม, กระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนของตนด้วยการสงเคราะห์ญาติ และประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนอื่นๆ ด้วยความเป็นผู้มีการงานอันไม่มีโทษ, งดเว้นการทำร้ายผู้อื่นด้วยการเว้นบาป การทำร้ายตนเองด้วยการระวังในการดื่มกินของเมา, เพิ่มพูนฝ่ายกุศลด้วยความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย, ละเพศคฤหัสถ์ด้วยความเป็นผู้เพิ่มพูนกุศล แม้ตั้งอยู่ในภาวะบรรพชิต ก็ยังวัตรสัมปทาให้สำเร็จด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้าและอุปัชฌายาจารย์เป็นต้น และด้วยความถ่อมตน, ละความละโมบในปัจจัยด้วยสันโดษ, ตั้งอยู่ในสัปปุริสภูมิด้วยความเป็นผู้กตัญญู, ละความเป็นผู้มีจิตหดหู่ด้วยการฟังธรรม, ครอบงำอันตรายทุกอย่างด้วยขันติ, ทำตนให้มีที่พึ่งด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย, ดูการประกอบข้อปฏิบัติ ด้วยการเห็นสมณะ, บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย ด้วยการสนทนาธรรม, ถึงศีลวิสุทธิ ด้วยตปะคืออินทรียสังวร ถึงจิตตวิสุทธิ ด้วยพรหมจรรย์ คือสมณธรรม และยังวิสุทธิ ๔ นอกนั้นให้ถึงพร้อม, ถึงญาณทัสสนวิสุทธิอันเป็นปริยายแห่งการเห็นอริยสัจด้วยปฏิปทานี้ กระทำให้แจ้งพระนิพพานที่นับได้ว่าอรหัตผล, ซึ่งครั้นกระทำให้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ เหมือนสิเนรุบรรพต ไม่หวั่นไหวด้วยลมและฝน ย่อมเป็นผู้ไม่เศร้าโศก ปราศจากละอองกิเลส มีความเกษมปลอดโปร่ง และความเกษมปลอดโปร่ง ย่อมเป็นผู้แม้แต่ศัตรูผู้หนึ่งให้พ่ายแพ้ไม่ได้ในที่ทั้งปวง ทั้งจะถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน.
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
สัตว์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นที่กล่าวมานี้แล้ว เป็นผู้อันมารให้พ่ายแพ้ไม่ได้ในที่ทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นั้นเป็นมงคลอุดมของสัตว์เหล่านั้น.
จบพรรณนามงคลสูตร
แห่ง
ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ
-----------------------------------------------------
ไม่มีความเห็น