อยากเป็นใหญ่ ต้องกล้าใช้คน


“ถ้าเป็นทีม Mac หรือแม้แต่ที่ NeXT ถ้าสตีฟโวยวายลั่น ทุกคนก็แตกกระเจิง หลบเข้ามุมกันหมด แต่ผู้บริหาร Apple ชุดนี้จะเถียงและร่วมมือกันเป็นทีม ถ้าสตีฟลากใครคนใดคนหนึ่งออกไปด่าว่า ‘งานคุณมันห่วย คุณงี่เง่ามาก’ ทั้งทีมก็จะตัดสินใจว่า เอาล่ะ เราจะปล่อยคนนั้นไป หรือเราชอบคนนั้นจริง ๆ หลังจากนั้นก็จะกลับไปบอกสตีฟว่า ‘เอาเถอะ มีคนเก่งอย่างนายคนนี้ไม่มากหรอกนะที่เราจะจ้างได้ กลับไปขอโทษเขาหน่อย’ สตีฟก็จะกลับไปขอโทษ แม้ว่าจะยังเดือดดาลอยู่ก็ตาม”

 

---- Quote จากหนังสือแปลเรื่อง “กว่าจะเป็น สตีฟ จอบส์”

 

              หากคุณต้องการสร้างบริษัทที่ยิ่งใหญ่ ทั้งด้านนวัตกรรมและการทำเงิน คุณควรจะศึกษาจากใคร ?

              ผมคิดว่า Steve Jobs คงเป็นชื่อลำดับต้น ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะบริษัท Apple ในช่วงเวลาที่เขาบริหารอยู่นั้น ได้สร้างผลิตภัณฑ์พลิกโลกออกมามากมาย จนกระทั่งกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก

              อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงบทเรียนที่เราจะประยุกต์ใช้จากความสำเร็จของ Steve Jobs คนส่วนใหญ่ก็มักจะเน้นไปที่การพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้มีหัวคิดสร้างสรรค์ รู้จักเชื่อมโยงความรู้ในหลากหลายสาขาให้กลายเป็นนวัตกรรม โดยลืมพิจารณาหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายว่า Steve Jobs ก็อ่านใจความต้องการของตลาดและลูกค้าผิดพลาดไปไม่น้อย เพียงแต่ว่า เขาไม่ดึงดันที่จะเชื่อเพียงความสามารถเชิงนวัตกรรมของตนเองเท่านั้น หากยังรับฟังความคิดดี ๆ ของลูกน้องที่อยู่แวดล้อมตัวเขา จึงทำให้สามารถเปลี่ยนความผิดพลาดให้กลายเป็นความสำเร็จได้

              “ภาพลักษณ์” ที่ยิ่งใหญ่ของ Steve Jobs ทำให้คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า เขาเป็นอัจฉริยะผู้สามารถมองเห็นผลิตภัณฑ์พลิกโลกอย่าง iPod, iPhone และ iPad ได้ตั้งแต่แรก คนเก่ง ๆ ที่แวดล้อมตัวเขา เป็นเพียงคนที่มาคอยทำตามวิสัยทัศน์ล้ำลึกของเขาเท่านั้น แต่หากเรามอง Steve Jobs เป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยความผิดพลาดและบกพร่อง เราก็จะหยั่งเห็นอัจฉริยะของเขาในอีกแง่มุม นั่นคือ ความกล้าที่จะเลือกใช้คนเก่ง ๆ และไอเดียดี ๆ ที่อยู่แวดล้อมตัวเขาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

              ครั้นเมื่อ Steve Jobs ได้กลับมาบริหารบริษัท Apple เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เขาได้ออกจากบริษัทนี้ไปเมื่อหลายสิบปีก่อน แทนที่จะกลับเข้ามาบริษัทแบบตัวเปล่า เขากลับนำลูกน้องจากบริษัท NeXT ของตัวเอง เข้ามาเป็นทีมงานใกล้ชิดอีกด้วย โดยไม่แคร์ว่าคนเก่ง ๆ ที่อยู่ในบริษัท Apple จะรู้สึกอย่างไร

              หากเป็นผู้บริหารทั่วไป ก็คงต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะเกิดผลกระทบเพียงใด แต่ด้วยความมั่นใจในการใช้คนของ Steve Jobs ก็ทำให้เขากล้าที่จะทำในสิ่งที่คนทั่วไปอาจจะลังเลหรือเลือกกลยุทธ์ที่ปลอดภัยไว้ก่อน

              อย่างไรก็ตาม ครั้นเมื่อ Steve Jobs ได้ค้นพบพนักงานฝ่ายออกแบบที่ชื่อ Jonathan Ive ซึ่งเป็นเพชรเม็ดงามที่ซ่อนอยู่ในบริษัท Apple เขาก็ไม่ลังเลที่จะเลือกใช้และสนับสนุนบุคคลนี้ให้มีบทบาทสำคัญ แม้ว่าวิธีคิดแบบเก่า ๆ ของ Apple ในช่วงเวลานั้น จะให้ความสำคัญกับฝ่ายวิศวกรรมมากกว่าฝ่ายออกแบบก็ตาม

              จุดเด่นอีกอย่างของ Steve Jobs ก็คือ เขาจะถกเถียง “ไอเดียดี ๆ” กับคนเก่ง ๆ ของเขาอย่างถึงที่สุด เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีแบบบ้าเลือด (Insanely Great) โดยไม่สนใจว่าไอเดียนั้นจะมาจากใคร ในขณะเดียวกัน เขาก็พร้อมจะเปลี่ยนไปเห็นด้วยกับความคิดของคนอื่นได้เสมอ แม้ว่าจะพึ่งตะโกนด่าว่า “ห่วย” ไปเมื่อวานนี้เอง

              เมื่อกล้าทำเช่นนี้แล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจเลยว่า สินค้าของบริษัท Apple ในสมัยของ Steve Jobs จึงมีความโดดเด่นและแตกต่างอย่างแท้จริง เพราะไอเดียแย่ ๆ หรือไอเดียที่ดีแบบงั้น ๆ คงไม่มีวันได้แจ้งเกิดอย่างแน่นอน

 

              การมีวิสัยทัศน์และไอเดียพลิกโลกแบบ Steve Jobs เป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากที่สุด

              หากทว่า การยินยอมให้ “คนเก่ง ๆ” ที่อยู่แวดล้อมตัวคุณได้แสดงฝีมือแบบเต็มที่ เป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อคนเก่ง ๆ เหล่านั้นอาจจะมีความเห็นที่ขัดแย้งกับตัวคุณ หรือแม้กระทั่งมิตรสหายเก่า ๆ ของคุณ ที่ได้เคยร่วมสร้างความสำเร็จกันมา

 

              บทเรียนในการใช้คนอย่างกล้าหาญของ Steve Jobs เช่นนี้ ทำให้ผมหวนนึกไปถึง “หลิวปัง” ยอดคนผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์จีน ที่กล้ายกตำแหน่ง “แม่ทัพใหญ่” ให้กับนายทหารเล็ก ๆ คนหนึ่ง โดยข้ามหน้าข้ามตาลูกน้องเก่าที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาหลายปี แต่ในที่สุดวิสัยทัศน์ที่บ้าบิ่นนี้ ก็ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ ทำให้กองทัพของหลิวปังที่ด้อยกว่าคู่แข่งในทุกทางนั้นสามารถพลิกลับมาชนะได้

              นี่คือ ตำนานการใช้คนเก่ง ที่หนุนส่งให้ชาวบ้านตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่นซึ่งเป็นที่เคารพยกย่องของคนจีนไม่เสื่อมคลาย

              หากพูดถึงความสามารถทางการทหารแล้ว หลิวปังย่อมไม่อาจเทียบกับเซี่ยงอวี่ได้เลย แต่หลิวปังกลับรู้จักคุณค่าของลูกน้องตัวเล็ก ๆ อย่างหานซิ่น จนกระทั่งสามารถนำความสามารถทางการทหารของหานซิ่นมาพิชิตเซี่ยงอวี่ได้ ทั้งที่หานซิ่นนั้นเคยเป็นลูกน้องเก่าของเซี่ยงอวี่แท้ ๆ แต่เซี่ยงอวี่ก็กลับมองข้าม เพราะเชื่อมั่นในความเก่งกาจด้านการทหารของตัวเองมากเกินไปนั่นเอง

 

              ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หากคุณมีความฝันยิ่งใหญ่และพร้อมจะเสี่ยงเพื่อมัน อย่าลืมนำบทเรียนของ Steve Jobs และหลิวปังไปปรับใช้ให้ดี

              หากคุณเป็นลูกน้องในองค์กรเล็ก ๆ ก็อย่าจมปลักในองค์กรที่ไม่เห็นค่าในตัวคุณ เพราะหากคุณเสาะหาเจอ “เจ้านายที่กล้าใช้คน” คุณก็จะได้เติบโตและเป็นส่วนหนึ่งของความฝันที่ยิ่งใหญ่

              หากคุณเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรและต้องการสร้างผลงานให้โลกได้จดจำ ก็จงอย่าลืมวลีสั้น ๆ และเรียบง่ายนี้ “อยากเป็นใหญ่ ต้องกล้าใช้คน”

หมายเลขบันทึก: 712156เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2023 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2023 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท