SMEs จะแสวงหา “คนเก่ง” และ สุดยอดกลยุทธ์ ได้อย่างไร ?


"การบรรยายให้ SMEs ในวันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2565"

 

ผมจะเตรียมเนื้อหา อย่างไร

พวกเขาจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

              

คำตอบสั้น ๆ

 

#คน

 

ผมเบื่อคำนี้ เพราะเป็นคำพูดที่ดู “ธรรมดา” ไปแล้ว หนังสือ How To จำนวนมาก ได้พูดถึงเรื่องนี้

 

หลายเดือนก่อน ผมได้ร่างเนื้อหาคร่าว ๆ มีการยกตัวอย่าง บุคคลที่มีชื่อเสียง แต่เน้นที่กลยุทธ์ ไม่ใช่คน

ต้นเดือนเมษายน ผมเริ่มเตรียมสไลด์ โดยเป็นการเขียนขึ้นใหม่ ไม่ได้อิงกับร่างเดิมมากนัก ยังคงเน้นที่กลยุทธ์ เพียงปรับเปลี่ยนมายกกรณีศึกษาที่ใกล้ตัวมากขึ้น

 

ขณะที่เขียน คำว่า "คน" ก็ผุดขึ้นมา

อีกครั้ง

 

Steve Jobs และ Steve Wozniak

Bill Gates และ Paul Allen

คุณปัญญา และ คุณประภาส

 

ผมคิดว่า 3 คู่นี้ ไม่ได้ร่วมมือกัน เพราะความสามารถ เท่านั้น แต่น่าจะมีความสนิทสนม ใกล้ชิด และมิตรภาพ ที่ช่วยให้การฝ่าฟันอุปสรรค ในช่วงเริ่มต้น คืบหน้าไปได้

 

Jeff Bezos และ MacKenzie Scott

คู่นี้เป็นสามี และภรรยา

McKenzie อาจดูเหมือนไม่ได้มีบทบาทมากนักในการทำให้ Amazon กลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ แต่ในช่วงเริ่มต้นกิจการ เธอเป็นคนผลักดัน หรือ สนับสนุนให้ Jeff Bezos กล้าที่จะลาออกจากงาน เพื่อมาบุกเบิกบริษัท Amazon อย่างเต็มที่

น่าเสียดายที่ หย่าร้าง กันไปแล้ว

 

ผมคิดว่า นักธุรกิจในยุคโบราณ หรือ เจ้าสัว เชื้อสายจีน ในประเทศไทย

ต่างก็มี "ครอบครัว" หนุนหลัง ในการร่วมทุกร่วมสุข ร่วมคิดค้นกลยุทธ์ และปรับตัวดิ้นรน

 

วันนี้ 27 เมษายน 2565 ผมนั่งเชื่อมโยง "จุดแข็ง" ของผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมอบรม และ คิดว่า สามารถประสานเสริมกัน เป็นทีมที่ทรงพลังได้

ครั้นเมื่อ เปิดไปดู Facebook ก็เจอโพสที่เกี่ยวกับ “เหมาเจ๋อตุง” ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งสามารถทำสงครามชนะพรรคก๊กมินตั๋ง และยึดครองประเทศจีนได้สำเร็จในปี 2492

ผมจึงเปรียบเทียบระหว่าง พรรคก๊กมินตั๋ง VS พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในยุคนั้น

ประเมินดูแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ มีคนเก่งมากกว่า จึงน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนชัยชนะ ในครั้งนั้น

บางที ผมอาจมีอคติเกินไป เพราะผู้ชนะ ย่อมมีคนพูดถึงมากกว่า ผมจึงรู้จักทีมงานของเขามากกว่าคู่แข่ง

ยังไม่นับว่า ผู้ชนะ พูดอะไร ก็ถูกต้อง

ทีมงานของเขา จึงดูเหมือนเก่ง เป็นพิเศษ ซึ่งอาจไม่ใช่ความจริงก็ได้

 

สิ่งที่ปฏิเสธ ไม่ได้ก็คือ ทั้งคู่มีคนเก่ง ในระดับแกนนำ อยู่มากมาย จึงสามารถสร้างผลงานยิ่งใหญ่ได้ อย่างน้อย ก็ในช่วงเวลาหนึ่ง

 

  1. คนเก่งมาจากที่ใด หาได้จากที่ใด

 

กรณีศึกษาที่ผมคิดว่า "พิสดาร" ก็คือ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ และ กลายเป็นคำเรียกชื่อชาวจีนว่า ชาวฮั่น

 

ทีมงานระดับแกนนำในช่วงเริ่มต้นของหลิวปัง ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น ส่วนใหญ่เป็น เครือข่ายของเขา ในอำเภอเล็ก ๆ ซึ่งไม่น่าจะมีคนเก่งมากมายนัก

ครั้นเมื่อเกิดกบฏล้มล้างราชวงศ์ฉิน ที่ปกครองอย่างโหดร้าย หลิวปัง และพรรคพวกในอำเภอของเขาก็ได้ร่วมกันสร้างกองทัพขึ้นมา เพื่อเป็น 1 ในขุมกำลังที่เข้ามาร่วมเปลี่ยนแปลงแผ่นดิน

กลายเป็นว่า เมื่อได้รับโอกาส หลายคนก็สร้างชื่อยิ่งใหญ่ได้

 

พวกเขาเก่งอยู่แล้ว หรือได้รับการพัฒนาให้เก่ง

ผมขบปัญหานี้ ไม่แตก จนกระทั่ง พลันคิดได้

 

“เปิดกว้าง จึงยิ่งใหญ่”

 

หลิวปัง เป็นคนเปิดกว้าง คบมิตรสหายมากมาย

กองทัพของเขา ก็น่าจะเปิดกว้างทางความคิด เช่นเดียวกับผู้นำ

 

ใครมีอะไรก็เสนอขึ้นมา

ตอนเริ่มต้น ตัวเลือกยังไม่มาก การทำงานและหน้าที่สำคัญทั้งหลาย ก็ใช้คนที่มีอยู่นั่นแหละ ไม่ต้องคิดเยอะ

คนเหล่านี้ อาจไม่ได้เก่งที่สุด แต่ว่าตำแหน่งที่ได้น่าจะเหมาะสมกับความถนัดของทุกคน เพราะเป็นองค์กรที่เปิดกว้าง

 

สิ่งที่กองทัพนี้ น่าจะมีเหนือกว่ากองทัพอื่น ก็คือ การประสานงาน และ ไอเดียต่าง ๆ ที่พรั่งพรู

อาจมีไม่ลงรอยกันบ้าง แต่เมื่อวัฒนธรรมองค์กรเป็นแบบเปิดกว้าง ความคิดที่ถูกต้องในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ก็น่าจะได้รับการยอมรับไปใช้งาน

 

ความเก่งจึงค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาจากจุดนี้

 

ใครที่เป็นพนักงานออฟฟิศ อาจจะเข้าใจได้ดี

ไอเดียที่น่าสนใจ ถูกปัดทิ้งไปมากมาย บางครั้งโดยไม่มีเหตุผล

เมื่อทำงานร่วมกัน ก็ขัดแข้งขัดขากัน

 

คนเก่งจึงกลายเป็นไม่เก่ง

คนเก่งและคนเก่ง มาเจอกัน ก็กลายเป็นหายนะ

 

ผู้นำที่เปิดกว้าง คนที่เปิดกว้าง และองค์กรที่เปิดกว้าง

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคนธรรมดาให้เก่งขึ้น

พัฒนาคนที่เก่งอยู่แล้วให้อัจฉริยะ

และดึงดูดคนเก่ง เข้ามาเติมเต็มตำแหน่งที่ขาดไป

 

หานซิ่น เป็นอัจฉริยะทางการทหาร ที่มาจากคนไม่รู้หัวนอนปลายเท้า

เซี่ยงหวี่ ซึ่งเป็นคู่แข่งของงหลิวปัง ได้ตัวหานซิ่นไว้ใช้งาน แต่กลับไม่ยอมรับฟังความคิด

ในที่สุด หานซิ่น ก็ย้ายมาอยู่กับหลิวปัง และได้รับโอกาสสร้างตำนานที่ลือลั่นไปทั่วปฐพี

 

      2. ทำผิดแล้ว รู้จักแก้ไข ให้เร็ว

 

ตอนแรก หลิวปัง ก็มองหานซิ่นไม่ขึ้น จนกระทั่ง หานซิ่น แอบหนีทัพไปในยามราตรี

โชคดีได้ลูกน้องมือขวาอย่าง เซียวเหอ รีบขี่ม้าไปตามหานซิ่นกลับมา ท่ามกลางแสงจันทร์

 

เมื่อมาถึง ก็ต้องปะทะคารมกับเจ้านาย

หลิวปังยอมให้ โดยการแต่งตั้ง "หานซิ่น" เป็นแม่ทัพ

ถือว่าเลื่อนตำแหน่งสูงมากแล้ว

 

เซียวเหอยังไม่พอใจ และ อ่านเกม อ่านคน อย่างกระจ่างว่า หากไม่แต่งตั้งหานซิ่นให้เป็นแม่ทัพใหญ่ เขาอาจจะหนีไปอีกครั้ง หรือ เลวร้ายกว่านั้น กองทัพอาจใช้งานหานซิ่นได้ไม่เต็มศักยภาพ

หลิวปังเป็นคนใจใหญ่ ไม่ลังเลคิดมากเหมือนกับอ้วนเสี้ยว เขาจึงแต่งตั้งหานซิ่นให้เป็นแม่ทัพใหญ่ โดยไม่มีการต่อรองใด ๆ

 

หลายครั้ง การหยิบไอเดียของลูกน้องมาปฏิบัติ ก็กลายเป็นผิดพลาด แต่โชคดีว่า หลิวปัง ยังมีลูกน้องคนอื่น ๆ มาตักเตือนให้เปลี่ยนแนวทางได้ทัน

เมื่อเกิดวิกฤต หรือหายนะ

ลูกน้องก็ช่วยเหลือหลิวปัง ในการกอบกู้ และพัฒนากองทัพขึ้นมาใหม่

ยิ่งกว่านั้น ลูกน้องของฝ่ายตรงข้าม ยังแอบปันใจช่วยเหลืออย่างลับ ๆ อีกด้วย

 

ทำไมหลิวปังจึงมีลูกน้องเก่ง ๆ มากมาย มาช่วยเสนอไอเดีย และแก้ไขความผิดพลาด

นั่นก็เพราะหลิวปังเปิดกว้างและให้โอกาสคน

คนเก่ง ๆ จึงตีจากองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญกับตนเองมาเข้าหาหลิวปัง

 

จากประสบการณ์ของผม คนธรรมดาหลาย ๆ คน เมื่อได้ถกเถียงกันอย่างเปิดกว้าง โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวมากนัก ส่วนใหญ่จะได้ไอเดียที่ถูกต้อง หรืออย่างน้อย ก็ได้ไอเดียที่พอใช้ได้ อาจจะเรียกว่า ระดับ B หรือ 70 จากคะแนนเต็ม 100

 

การได้ไอเดียดี ๆ จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนเก่งเสมอไป

ไอเดียที่ดี ระดับ B ยังไม่ถึง A ก็สามารถช่วยให้เราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เมื่อมีทรัพยากรมากขึ้น จึงค่อยไปหาไอเดียที่ดีกว่า เพื่อต่อยอดความสำเร็จก็ย่อมได้

 

นี่จึงเป็นบทเรียนได้ดีว่า "เปิดกว้าง" ไว้ก่อน อย่ากลัวผิดพลาด เมื่อผิดพลาด ก็รับฟัง และแก้ไขให้รวดเร็ว

 

ทำอย่างนี้ได้ คุณจะมองเห็นไอเดียดี ๆ และ คนเก่ง ๆ มากมาย

อย่าลืมเลือกมาใช้ทั้งคน และไอเดีย

 

      3. ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา

 

ในยุคปัจจุบัน เรามีโอกาสได้เจอคนมากมายกว่าในอดีต ทั้งในโลกจริง และโลกออนไลน์

คำถาม คือ จะเลือกใครมาร่วมงาน และจะเอาไอเดียใดมาใช้ดี

 

ผมไม่มีคำตอบแบบ 100%

 

หากให้ตอบแบบเรียบง่าย

“รู้สึกถูกชะตาใคร หรือ ไอเดียใด" ก็หยิบยืมมาใช้

 

ทดลองไปเรื่อย เดี๋ยวก็เจอสิ่งที่ใช่

แน่นอนว่า ไอเดียใด ที่มีความเสี่ยงมาก ก็อย่าเพิ่งรีบใช้ เลือกเฉพาะไอเดียที่ไม่ต้องลงทุนมากนัก

 

หากสำเร็จ และมีทุนรอนมากขึ้น จึงค่อยหยิบไอเดียที่มีความเสี่ยงหรือต้นทุนสูงมาทดลองใช้

 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่โลกโซเชี่ยลทดแทนไม่ได้ ก็คือ การได้พบปะคนแบบตัวเป็น ๆ

ดังนั้น การเลือกคนมาร่วมงาน ควรเริ่มจากการได้พบกันในสถานที่ต่าง ๆ

 

อย่าจำกัดว่า จะต้องเป็นสถานที่แบบใด

ไปเดินตลาดสด พบเจอคนขายของเก่ง ๆ ก็อาจเชิญชวนมาร่วมงานได้

 

ในภาพยนตร์เรื่อง Moneyball พระเอกเดินทางไปซื้อตัวผู้เล่นเบสบอลจากทีมหนึ่ง การซื้อขายไม่สำเร็จ แต่กลับไปได้ตัวนักวิเคราะห์การซื้อขายผู้เล่นที่เก่งมากมาแทน เขากลายเป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่ทำให้พระเอกเปลี่ยนมุมมองในการเลือกซื้อผู้เล่น ทีมเบสบอลของเขาจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาไปสู่ความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ เท่าที่งบประมาณจำกัดจะเอื้ออำนวย

 

การประสบความสำเร็จในสิ่งใดนั้น ต้องใช้เวลา

ดังนั้น อย่าเพิ่งท้อแท้

 

เมื่อคุณสะสมไอเดีย คนเก่ง การลงมือทำ และ การแก้ไขความผิดพลาดให้รวดเร็ว ได้มากพอแล้ว

ความสำเร็จย่อมมาเยือนได้ในอนาคตข้างหน้า

ขอเพียงคุณยืนหยัด ให้ถึงเวลาที่สุกงอม

 

May the force be with you

หมายเลขบันทึก: 712154เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2023 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2023 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท