หนังสือ ธรรมะเล่มน้อย เรื่อง พฤกษาแห่งชีวิต ชนิดสมบูรณ์แบบ ถอดเทปคำบรรยายของท่านพุทธทาส เมื่อวันที่ ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ น่าอ่านเป็นอย่างยิ่ง บอกผมว่า การศึกษาหรือการเรียนรู้ต้องทำอย่างเป็นระบบ และให้ครบถ้วนทั้งระบบ (และผมได้เขียนสรุปไว้แล้วในบันทึกที่ 4428 ลงใน เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๖)
โดยเริ่มต้นที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเองนี่แหละ เท่ากับปัญญาเริ่มต้นที่ผัสสะของเราเอง ไม่ใช่เพราะมีคนมาบอกหรือมาสอน
กล่าวอย่างนี้ก็สุดโต่งเกินไป ท่านพุทธทาสบอกว่า การฟังเขามาก็เกิดปัญญาได้ แต่ผมเถียงว่า การฟังเขามาจะเกิดปัญญาได้ต้องเอามาใคร่ครวญต่อ จนตกผลึกเป็นหลักการของตัวเราเอง และอาจต้องเอาหลักการนั้นไปทดลองใช้หลายๆ ครั้ง ในต่างสถานการณ์ เมื่อเห็นว่าใช้การได้ดี เราจึงจะเชื่อหลักการที่เราคิดขึ้นเองนั้น
การพัฒนาปัญญาจึงอยู่ที่การปฏิบัติ ท่านพุทธทาสเองมีความรู้ความเข้าใจพุทธธรรมอย่างลึกล้ำก็เพราะท่านดำเนินตามแนวทางเรียนรู้จากการปฏิบัติ เอามาตรวจสอบกับตำราหรือทฤษฎีที่มีคนเผยแพร่ไว้แล้ว จนในที่สุดได้หลักการของท่านเอง เอาพุทธธรรมที่ลึกซึ้งมาสอนด้วย “ภาษาคน” หรือภาษาชาวบ้าน
กล่าวด้วยภาษาทางวิชาการด้านการศึกษาได้ว่า ปัญญาเกิดจากการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด (experiential learning) และต้องสะท้อนคิดสู่หลักการ (why) ด้วย ไม่ใช่แค่สะท้อนคิดสู่วิธีการ (how) เท่านั้น
การสอนมีความสำคัญ แต่ต้องไม่สอนแบบบอกตรงๆ เพราะจะไม่เกิดปัญญา ต้องสอนแบบออกแบบกิจกรรมให้ปฏิบัติ แล้วชวนศิษย์ใคร่ครวญสะท้อนคิด ครูเน้นทำหน้าที่ถาม (ไม่ใช่บอก) และต้องตั้งคำถามให้ศิษย์ร่วมกันสะท้อนคิดสู่หลักการ (หรือทฤษฎี) ด้วย
ระบบปัญญาคือระบบปฏิบัติ ตามด้วยการสะท้อนคิด ที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา
วิจารณ์ พานิช
๑๑ มี.ค. ๖๖
ไม่มีความเห็น