หนังสือ ธรรมะเล่มน้อย เรื่อง พฤกษาแห่งชีวิตชนิดสมบูรณ์แบบ บอกว่า ชีวิตที่ดีต้องมีครบองค์ประกอบทั้ง ๔ ระบบ คือ กาย จิต ปัญญา และเมตตา รวมเป็นระบบต้นไม้แห่งชีวิต
ระบบกาย อาจเรียกว่าศีลสิกขา เพื่อให้ร่างกายมีความถูกต้อง
ระบบจิตใจ อาจเรียกว่าจิตตสิกขา เพื่อให้เป็นจิตที่เข้าใจ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ระบบปัญญา ที่เกิดจากการพัฒนา จากการปฏิบัติ เรียกว่าปัญญาสิกขา ที่ผมตีความว่าเป็นเรื่องของความเข้าใจเชิงหลักการ หรือเชิงทฤษฎี
ทั้ง ๓ ส่วนนี้ เป็นระบบภายในบุคคล หรือปัจเจก ท่านพุทธทาสบอกว่า เพื่อความรอดส่วนบุคคล
ระบบที่ ๔ ระบบเมตตา เป็นระบบที่เชื่อมโยงกับสังคม เพื่อความรอดของสังคม ที่ผมตีความว่า เพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น แก่สังคมส่วนรวม
ระบบทั้ง ๔ มันเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน ส่งผลต่อกันและกัน ไม่ได้พัฒนาอย่างแยกส่วน โดยท่านพุทธทาสบอกว่ามันอยู่ด้วยกันเหมือนเกลียวเชือกฟั่น ต้องพัฒนาครบทั้ง ๔ องค์ประกอบจึงจะเกิดเป็นชีวิตที่งอกงาม และผมคิดว่าแนวทางพัฒนาที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ประสบการณ์ หรือการปฏิบัติ ตามด้วยโยนิโสมนสิการ หรือการใคร่ครวญสะท้อนคิด ที่เรียกว่า experiential learning
ย้ำว่า คนที่ระบบเมตตาไม่พัฒนา ไม่ถือเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
วิจารณ์ พานิช
๑๑ มี.ค. ๖๖
ควรแก่การปฏิบัติอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด หรือกระทั่งศาสนาใด เชื้อชาติใดก็ว่าได้…วิโรจน์ ครับ