ปัญหาของพราหมณ์ ๑๖ คน ตอนที่ ๔  ปุณณกปัญหา


ปัญหาเรื่อง ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้ อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย

ปัญหาของพราหมณ์ ๑๖ คน ตอนที่ ๔   

ปุณณกปัญหา

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

  ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

(๓) ปุณณกปัญหา

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

๓. ปุณณกมาณวกปัญหา

ว่าด้วยปัญหาของปุณณกมาณพ

 

             [๑๐๕๐] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้) ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์ ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้ อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญ (ยัญ ในที่นี้หมายถึงไทยธรรม ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป) แก่เทวดาทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์ตรัสตอบปัญหาแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

             [๑๐๕๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ) ฤๅษี มนุชะ (มนุชะ คือผู้ที่เกิดจากพระมนู) กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้ (หวังความเป็นอย่างนี้ หมายถึงปรารถนาการบังเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นต้น) อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ

             [๑๐๕๒] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้) ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์ ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วในการบูชายัญ ได้ข้ามพ้นชาติและชราบ้างไหม ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

             [๑๐๕๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ) ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ เพราะอาศัยลาภจึงมุ่งหวังกาม เรากล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้

             [๑๐๕๔] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้) ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ถ้าชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลกข้ามชาติและชราได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

             [๑๐๕๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ) เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้น (ฝั่งนี้และฝั่งโน้น ในที่นี้หมายถึงอัตภาพของตนและอัตภาพของผู้อื่น) ในโลก บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน (ควัน หมายถึงความประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ) ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ชื่อว่า ข้ามชาติและชราได้แล้ว

ปุณณกมาณวกปัญหาที่ ๓ จบ

---------------------------------------------

 

ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส

ว่าด้วยปัญหาของปุณณกมาณพ

(คำอธิบายเพิ่มเติมนี้ นำมาจากบางส่วนของนิทเทส)   

 

             [๑๒] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้) 

                          ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์

                          ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล

                          ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้

                          อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย

                          ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น

                          ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

(๑) คำว่า พระองค์ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า เหตุให้หวั่นไหว ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ

             ตัณหาเหตุให้หวั่นไหวนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มีเกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่าไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว เพราะพระองค์ทรงละตัณหาเหตุให้หวั่นไหวได้แล้ว จึงชื่อว่าผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว พระผู้มีพระภาคไม่ทรงหวั่นไหว คือ ไม่ทรงสะเทือน ไม่เคลื่อนไหว ไม่สะท้าน ไม่สั่นสะท้าน เพราะได้ลาภ เพราะเสื่อมลาภบ้าง เพราะได้ยศ เพราะเสื่อมยศบ้าง เพราะสรรเสริญ เพราะนินทาบ้าง เพราะสุข เพราะทุกข์บ้าง รวมความว่า พระองค์ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว

ว่าด้วยกุศลมูลและอกุศลมูล ๓

             คำว่า ผู้มีปกติเห็นมูล อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีปกติเห็นมูล คือ ทรงเห็นเหตุ ทรงเห็นต้นเหตุ ทรงเห็นการเกิดขึ้น ทรงเห็นแดนเกิด ทรงเห็นสมุฏฐาน ทรงเห็นอาหาร ทรงเห็นอารมณ์ ทรงเห็นปัจจัย ทรงเห็นเหตุเกิด

             อกุศลมูล ๓ ประการ คือ

                          ๑. อกุศลมูลคือโลภะ

                          ๒. อกุศลมูลคือโทสะ

                          ๓. อกุศลมูลคือโมหะ

             สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการ เหล่านี้ ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ

                          ๑. โลภะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม

                          ๒. โทสะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม

                          ๓. โมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม

             ภิกษุทั้งหลาย เพราะกรรมที่เกิดจากโลภะ เพราะกรรมที่เกิดจากโทสะ เพราะกรรมที่เกิดจากโมหะ เทวดา มนุษย์ หรือสุคติอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ปรากฏที่แท้แล เพราะกรรมที่เกิดจากโลภะ เพราะกรรมที่เกิดจากโทสะ เพราะกรรมที่เกิดจากโมหะ นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปตวิสัย หรือทุคติอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ปรากฏเพื่อความบังเกิดแห่งอัตภาพในนรก กำเนิดเดรัจฉาน เปตวิสัย อกุศลมูล ๓ ประการนี้” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง

             กุศลมูล ๓ ประการ คือ

                          ๑. กุศลมูลคืออโลภะ

                          ๒. กุศลมูลคืออโทสะ

                          ๓. กุศลมูลคืออโมหะ

             สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการนี้ ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย เพราะกรรมที่เกิดจากอโลภะ เพราะกรรมที่เกิดจากอโทสะ เพราะกรรมที่เกิดจากอโมหะ นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปตวิสัย หรือทุคติอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่ปรากฏ ที่แท้แล เพราะกรรมที่เกิดจากอโลภะ เพราะกรรมที่เกิดจากอโทสะ เพราะกรรมที่เกิดจากอโมหะ เทวดา มนุษย์ หรือสุคติอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ปรากฏเพื่อความบังเกิดแห่งอัตภาพในเทวดา มนุษย์ กุศลมูล ๓ ประการนี้” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง

             สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอกุศล เป็นส่วนอกุศล เป็นฝ่ายอกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนมีอวิชชาเป็นมูลราก มีอวิชชาเป็นแหล่งรวม ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีอวิชชาอันอรหัตตมรรคกำจัดได้ ล้วนถึงความเพิกถอน” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง

             สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นกุศล เป็นส่วนกุศล เป็นฝ่ายกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีความไม่ประมาทเป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาทบัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดแห่งธรรมเหล่านั้น” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง

             อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็นว่า “อวิชชาเป็นมูลแห่งสังขาร สังขารเป็นมูลแห่งวิญญาณ วิญญาณเป็นมูลแห่งนามรูป นามรูปเป็นมูลแห่งสฬายตนะ สฬายตนะเป็นมูลแห่งผัสสะ ผัสสะเป็นมูลแห่งเวทนา เวทนาเป็นมูลแห่งตัณหา ตัณหาเป็นมูลแห่งอุปาทาน อุปาทานเป็นมูลแห่งภพ ภพเป็นมูลแห่งชาติ ชาติเป็นมูลแห่งชราและมรณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง

             อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็นว่า “จักขุประสาทเป็นมูลแห่งโรคตา โสตประสาทเป็นมูลแห่งโรคหู ฆานประสาทเป็นมูลแห่งโรคจมูก ชิวหาประสาท เป็นมูลแห่งโรคลิ้น กายประสาทเป็นมูลแห่งโรคกาย” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็นว่า “มโนประสาทเป็นมูลแห่งทุกข์ทางใจ”

            พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ทรงเห็นเหตุ ทรงเห็นต้นเหตุ ทรงเห็นการเกิดขึ้น ทรงเห็นแดนเกิด ทรงเห็นสมุฏฐาน ทรงเห็นอาหาร ทรงเห็นอารมณ์ ทรงเห็นปัจจัย ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง รวมความว่า พระองค์ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล

             คำว่า ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้า อธิบายว่า ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้า คือ ข้าพระองค์ต้องการถามปัญหา จึงมาเฝ้า ข้าพระองค์ต้องการฟังปัญหา จึงมาเฝ้า รวมความว่า ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถามจึงมาเฝ้า

             อีกนัยหนึ่ง ข้าพระองค์ต้องการปัญหา คือ ต้องการถามปัญหา ต้องการฟังปัญหา จึงมาเฝ้า คือ เข้ามา เข้ามาเฝ้า เข้ามานั่งเฝ้า รวมความว่า ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง

             อีกนัยหนึ่ง พระองค์ทรงมีความต้องการปัญหาจึงเสด็จมา คือ แม้พระองค์ก็ทรงเป็นผู้องอาจ ทรงสามารถ ทรงสมควรเพื่อตรัส วิสัชนา ชี้แจง ทรงกล่าวถึงปัญหาที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว อธิบายว่า ขอพระองค์ ทรงภาระนี้ รวมความว่า ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง

             คำว่า อาศัยอะไร ในคำว่า ฤๅษี มนุชะ ... อาศัยอะไร อธิบายว่า อาศัยคือ หวัง เยื่อใย เข้าใกล้ พัวพัน น้อมใจเชื่ออะไร

             คำว่า ฤๅษี อธิบายว่า คนพวกใดพวกหนึ่งที่บวชเป็นฤๅษี ได้แก่ อาชีวก นิครนถ์ ชฎิล ดาบส เรียกชื่อว่าฤๅษี

             พวกมนุษย์ตรัสเรียกว่า มนุชะ (มนุชะ คือผู้ที่เกิดจากพระมนู) รวมความว่า ฤๅษี มนุชะ ... อาศัยอะไร

            คำว่า กษัตริย์ ในคำว่า กษัตริย์ พราหมณ์ ... แก่เทวดาทั้งหลาย ได้แก่คนพวกใดพวกหนึ่งที่เกิดในวรรณะกษัตริย์

             คำว่า พราหมณ์ ได้แก่ คนพวกใดพวกหนึ่ง ผู้กล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้เจริญ

ว่าด้วยเทวดา

             คำว่า แก่เทวดาทั้งหลาย อธิบายว่า พวกอาชีวก เป็นเทวดาของสาวกของอาชีวก พวกนิครนถ์ เป็นเทวดาของสาวกของนิครนถ์ พวกชฎิล เป็นเทวดาของสาวกของชฎิล พวกปริพาชก เป็นเทวดาของสาวกของปริพาชก พวกดาบส เป็นเทวดาของสาวกของดาบส ช้าง เป็นเทวดาของพวกประพฤติหัตถีพรต ม้า เป็นเทวดาของพวกประพฤติอัศวพรต โค เป็นเทวดาของพวกประพฤติโคพรต สุนัข เป็นเทวดาของพวกประพฤติกุกกุรพรต กา เป็นเทวดาของพวกประพฤติกากพรต ท้าววาสุเทพ เป็นเทวดาของพวกประพฤติวาสุเทวพรต พลเทพ เป็นเทวดาของพวกประพฤติพลเทวพรต ท้าวปุณณภัทร เป็นเทวดาของพวกประพฤติปุณณภัทรพรต ท้าวมณีภัทร เป็นเทวดาของพวกประพฤติมณีภัทรพรต ไฟ เป็นเทวดาของพวกประพฤติอัคคิพรต นาค เป็นเทวดาของพวกประพฤตินาคพรต ครุฑ เป็นเทวดาของพวกประพฤติสุปัณณพรต ยักษ์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติยักขพรต อสูร เป็นเทวดาของพวกประพฤติอสุรพรต คนธรรพ์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติคนธรรพ์พรต ท้าวมหาราช เป็นเทวดาของพวกประพฤติมหาราชพรต พระจันทร์เป็นเทวดาของพวกประพฤติจันทพรต พระอาทิตย์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติสุริยพรต พระอินทร์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติอินทพรต พรหม เป็นเทวดาของพวกประพฤติพรหมพรต ทิศทั้งหลาย เป็นเทวดาของพวกประพฤติทิศาพรต คนสัตว์และสิ่งเหล่าใด ผู้ควรแก่ทักษิณาของชนเหล่าใด คน สัตว์ และสิ่งเหล่านั้นเป็นเทวดาของชนเหล่านั้น รวมความว่า กษัตริย์ พราหมณ์ ... แก่เทวดาทั้งหลาย

             คำว่า จำนวนมากในโลกนี้ ... จึงพากันบูชายัญ อธิบายว่า ไทยธรรม ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป เรียกว่า ยัญ

             คำว่า จึงพากันบูชายัญ อธิบายว่า คนแม้เหล่าใดแสวงหา ค้นหา เสาะหายัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป คนแม้เหล่านั้นชื่อว่าบูชายัญ

             คนแม้เหล่าใด ให้ สละ บริจาคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป คนแม้เหล่านั้น ชื่อว่าบูชายัญ

             คำว่า จำนวนมาก อธิบายว่า ยัญเหล่านี้มาก ผู้บูชายัญก็มาก ผู้ควรแก่ทักษิณานั้นก็มาก

             ยัญเหล่านั้นมาก อย่างไร

             ยัญเหล่านี้ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป มีมากแก่ชนจำนวนมาก ยัญเหล่านั้น ชื่อว่ามาก อย่างนี้บ้าง

             ผู้บูชายัญนั้นมาก คือ กษัตริย์ก็มาก พราหมณ์ก็มาก แพศย์ก็มาก ศูทรก็มาก คฤหัสถ์ก็มาก บรรพชิตก็มาก เทวดาและมนุษย์ก็มาก ผู้บูชายัญมาก อย่างนี้บ้าง

             บุคคลผู้ควรทักษิณาเหล่านั้นมาก อย่างไร

            คือ บุคคลผู้ควรทักษิณาเหล่านั้น มีมากมาย คือ สมณะก็มาก พราหมณ์ก็มาก คนกำพร้าก็มาก คนเดินทางก็มาก วณิพกก็มาก และยาจกก็มาก บุคคลผู้ควรทักษิณาเหล่านั้น ชื่อว่ามาก อย่างนี้บ้าง

             คำว่า ในโลกนี้ คือ ในมนุษยโลก รวมความว่า จำนวนมากในโลกนี้ ...จึงพากันบูชายัญ

ว่าด้วยการถาม ๓

             คำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์

โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า

             คำว่า ขอทูลถาม ได้แก่ การถาม ๓ อย่าง คือ

                          ๑. การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น

                          ๒. การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว

                          ๓. การถามเพื่อตัดความสงสัย

             การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น เป็นอย่างไร

             คือ โดยปกติลักษณะใด ตนยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังมิได้เทียบเคียง ยังมิได้พิจารณา ยังมิได้ทำให้กระจ่าง ยังมิได้ทำให้แจ่มแจ้ง ก็ถามปัญหาเพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อเทียบเคียง เพื่อพิจารณา เพื่อทำให้ลักษณะนั้นแจ่มแจ้ง นี้ชื่อว่าการถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น

             การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว เป็นอย่างไร

             คือ โดยปกติลักษณะใด ตนรู้ เห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ก็ถามปัญหา เพื่อเทียบเคียงลักษณะนั้นกับบัณฑิตอื่น นี้ชื่อว่าการถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว

             การถามเพื่อตัดความสงสัย เป็นอย่างไร

             คือ โดยปกติบุคคลเป็นผู้แล่นไปสู่ความสงสัย แล่นไปสู่ความเคลือบแคลง เกิดความคิดเป็นสองแง่ว่า “เป็นอย่างนี้หรือไม่หนอ เป็นอะไรหรือ เป็นอย่างไรหนอ” เขาก็ถามปัญหา เพื่อตัดความสงสัย นี้ชื่อว่าการถามเพื่อตัดความสงสัย เหล่านี้ ชื่อว่าการถาม ๓ อย่าง

             การถามอีก ๓ อย่าง คือ

                        ๑. การถามของมนุษย์ 

                       ๒. การถามของอมนุษย์ 

                       ๓. การถามของรูปเนรมิต

             การถามของมนุษย์ เป็นอย่างไร

             คือ พวกมนุษย์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้วทูลถามปัญหา คือ พวกภิกษุก็ทูลถาม ภิกษุณีก็ทูลถาม อุบาสกก็ทูลถาม อุบาสิกาก็ทูลถาม พระราชาก็ทูลถาม กษัตริย์ก็ทูลถาม พราหมณ์ก็ทูลถาม แพศย์ก็ทูลถาม ศูทรก็ทูลถาม คฤหัสถ์ก็ทูลถาม บรรพชิตก็ทูลถาม นี้ชื่อว่าการถามของมนุษย์

             การถามของอมนุษย์ เป็นอย่างไร

             คือ พวกอมนุษย์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้วทูลถามปัญหา คือพวกนาคก็ทูลถาม ครุฑก็ทูลถาม ยักษ์ก็ทูลถาม อสูรก็ทูลถาม คนธรรพ์ก็ทูลถาม ท้าวมหาราชก็ทูลถาม พระอินทร์ก็ทูลถาม พระพรหมก็ทูลถาม เทวดาก็ทูลถาม นี้ชื่อว่าการถามของอมนุษย์

             การถามของรูปเนรมิต เป็นอย่างไร

             คือ พระผู้มีพระภาคทรงเนรมิตพระรูปใด ซึ่งสำเร็จด้วยพระทัย มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบทุกอย่าง มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง พระรูปเนรมิตนั้น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้ว ก็ทูลถามปัญหา พระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนา นี้ชื่อว่าการถามของรูปเนรมิต เหล่านี้ชื่อว่าการถามอีก ๓ อย่าง

             การถามอีก ๓ อย่าง คือ

                        ๑. การถามเพื่อประโยชน์ตน 

                       ๒. การถามเพื่อประโยชน์ผู้อื่น 

                       ๓. การถามเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น

             การถามอีก ๓ อย่าง คือ

                        ๑. การถามเพื่อประโยชน์ในภพปัจจุบัน 

                       ๒. การถามเพื่อประโยชน์ในภพหน้า 

                       ๓. การถามเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง

             การถามอีก ๓ อย่าง คือ

                          ๑. การถามเพื่อประโยชน์ที่ไม่มีโทษ

                          ๒. การถามเพื่อประโยชน์ที่ปราศจากกิเลส

                          ๓. การถามเพื่อประโยชน์ที่ผุดผ่อง

             การถามอีก ๓ อย่าง คือ

                          ๑. การถามถึงอดีต 

                         ๒. การถามถึงอนาคต

                          ๓. การถามถึงปัจจุบัน

             การถามอีก ๓ อย่าง คือ

                          ๑. การถามถึงเรื่องภายใน 

                         ๒. การถามถึงเรื่องภายนอก

                          ๓. การถามถึงเรื่องทั้งภายในและภายนอก

             การถามอีก ๓ อย่าง คือ

                          ๑. การถามถึงกุศลธรรม 

                         ๒. การถามถึงอกุศลธรรม

                          ๓. การถามถึงอัพยากตธรรม

             การถามอีก ๓ อย่าง คือ

                          ๑. การถามถึงขันธ์ 

                         ๒. การถามถึงธาตุ

                          ๓. การถามถึงอายตนะ

             การถามอีก ๓ อย่าง คือ

                          ๑. การถามถึงสติปัฏฐาน 

                         ๒. การถามถึงสัมมัปปธาน

                          ๓. การถามถึงอิทธิบาท

             การถามอีก ๓ อย่าง คือ

                          ๑. การถามถึงอินทรีย์ 

                         ๒. การถามถึงพละ

                          ๓. การถามถึงโพชฌงค์

             การถามอีก ๓ อย่าง คือ

                          ๑. การถามถึงมรรค 

                         ๒. การถามถึงผล

                          ๓. การถามถึงนิพพาน

             คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ คือ ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลขอให้ทรงประกาศว่า “ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์เถิด” รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น

             คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ

            คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า ขอโปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงทูลถามว่า (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)

                          ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์

                          ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล

                          ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้

                          อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย

                          ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น

                          ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

 

             [๑๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)

                          ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้

                          จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย

                          ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้

                          อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ

(๒) คำว่า บางพวกเหล่านี้ ในคำว่า ฤๅษี มนุชะ ... บางพวกเหล่านี้ ได้แก่ทุกสิ่งโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่าบางพวกเหล่านี้ นี้เป็นคำกล่าวรวมๆ ไว้ทั้งหมด คำว่า ฤๅษี อธิบายว่า คนพวกใดพวกหนึ่งที่บวชเป็นฤๅษี ได้แก่ อาชีวก นิครนถ์ ชฎิล ดาบส เรียกชื่อว่าฤๅษี พวกมนุษย์ ตรัสเรียกว่า มนุชะ รวมความว่า ฤๅษี มนุชะ ... บางพวกเหล่านี้

             คำว่า ปุณณกะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

             คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่าพระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าปุณณกะ

             คำว่า กษัตริย์ ในคำว่า กษัตริย์ พราหมณ์ ... แก่เทวดาทั้งหลาย ได้แก่คนพวกใดพวกหนึ่งที่เกิดในวรรณะกษัตริย์

             คำว่า พราหมณ์ ได้แก่ ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้กล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้เจริญ

             คำว่า แก่เทวดาทั้งหลาย อธิบายว่า พวกอาชีวกเป็นเทวดาของสาวกของอาชีวก ฯลฯ ทิศทั้งหลายเป็นเทวดาของพวกประพฤติทิศาพรต คน สัตว์และสิ่งเหล่าใด ผู้ควรแก่ทักษิณาของชนเหล่าใด คน สัตว์และสิ่งเหล่านั้นเป็นเทวดาของชนเหล่านั้น รวมความว่า กษัตริย์ พราหมณ์ ... แก่เทวดาทั้งหลาย

             คำว่า จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญ อธิบายว่า ไทยธรรม ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องประทีป เรียกว่า ยัญ

             คำว่า พากันบูชายัญ อธิบายว่า ชนแม้เหล่าใดแสวงหา ค้นหา เสาะหายัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป ชนแม้เหล่านั้นชื่อว่าบูชายัญ

             ชนแม้เหล่าใดปรุงแต่งยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ฯลฯ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป ชนแม้เหล่านั้นชื่อว่าบูชายัญ

             ชนแม้เหล่าใด ให้ สละ บริจาคยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ฯลฯ ที่นอน ที่พักอาศัย เครื่องประทีป ชนแม้เหล่านั้นก็ชื่อว่าบูชายัญ

            คำว่า จำนวนมาก อธิบายว่า ยัญเหล่านั้น มีมาก ผู้บูชายัญเหล่านี้มีมาก หรือบุคคลผู้ควรแก่ทักษิณามีมากอย่างนี้

             คำว่า ในโลกนี้ ได้แก่ ในมนุษยโลก รวมความว่า จำนวนมากในโลกนี้พากันบูชายัญ

             คำว่า หวัง ในคำว่า ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้ อธิบายว่า หวัง คือ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังการได้รูป การได้เสียง การได้กลิ่น การได้รส การได้โผฏฐัพพะ การได้บุตร การได้ทรัพย์ การได้ยศ การได้ความเป็นใหญ่ การได้อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาล การได้อัตภาพในตระกูลพราหมณ์มหาศาล การได้อัตภาพในตระกูลคหบดีมหาศาล การได้อัตภาพในหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชิกา ... ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ ... ในหมู่เทพชั้นยามา ...ในหมู่เทพชั้นดุสิต ... ในหมู่เทพชั้นนิมมานรดี ... ในหมู่เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี การได้อัตภาพในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกา รวมความว่า หวัง

             คำว่า ปุณณกะ... ความเป็นอย่างนี้ อธิบายว่า หวัง คือ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังการบังเกิดอัตภาพในสถานเหล่านี้ คือ การบังเกิดอัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาลนี้ การบังเกิดอัตภาพในตระกูลคหบดีมหาศาลนี้ การบังเกิดอัตภาพในหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชิกาเหล่านี้ การบังเกิดอัตภาพในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์เหล่านี้ ... ในหมู่เทพชั้นยามาเหล่านี้ ... ในหมู่เทพชั้นดุสิตเหล่านี้... ในหมู่เทพชั้นนิมมานรดีเหล่านี้ ... ในหมู่เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีเหล่านี้ ...ในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกาเหล่านี้ รวมความว่า ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้

             คำว่า อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ อธิบายว่า อาศัยชรา คือ อาศัยพยาธิ อาศัยมรณะ อาศัยโสกะ ปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส 

             ชนเหล่านั้นอาศัยชาติจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยชราจึงบูชายัญเพราะเหตุนั้น

             ชนเหล่านั้นอาศัยชราจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยพยาธิจึงบูชายัญเพราะเหตุนั้น

             ชนเหล่านั้นอาศัยพยาธิจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยมรณะจึงบูชายัญเพราะเหตุนั้น

             ชนเหล่านั้นอาศัยมรณะ จึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสจึงบูชายัญเพราะเหตุนั้น

             ชนเหล่านั้นอาศัยโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส จึงบูชายัญเพราะเหตุใดชนเหล่านั้นอาศัยคติจึงบูชายัญเพราะเหตุนั้น

             ชนเหล่านั้นอาศัยคติจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยอุปบัติจึงบูชายัญเพราะเหตุนั้น

             ชนเหล่านั้นอาศัยอุปบัติจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยปฏิสนธิจึงบูชายัญเพราะเหตุนั้น

             ชนเหล่านั้นอาศัยปฏิสนธิจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยภพจึงบูชายัญเพราะเหตุนั้น

             ชนเหล่านั้นอาศัยภพจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยสงสารจึงบูชายัญเพราะเหตุนั้น

             ชนเหล่านั้นอาศัยสงสารจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยวัฏฏะจึงบูชายัญเพราะเหตุนั้น คือ หวัง เยื่อใย เข้าใกล้ พัวพัน น้อมใจเชื่อ รวมความว่า อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)

                          ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้

                          จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย

                          ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้

                          อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ

 

             [๑๔] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)

                          ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้

                          จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย

                          ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์

                          ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ

                          ได้ข้ามชาติและชราได้บ้างไหม

                          ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น

                          ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

(๓) คำว่า บางพวกเหล่านี้ ในคำว่า ฤๅษี มนุชะ ... บางพวกเหล่านี้ อธิบายว่า ฯลฯ

             คำว่า บ้างไหม ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ... ชนเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ ... บ้างไหม เป็นคำถามด้วยความสงสัย เป็นคำถามด้วยความข้องใจ เป็นคำถาม ๒ แง่ เป็นคำถามมีแง่มุมลายหลากว่า “อย่างนี้หรือหนอ มิใช่หรือหนอ เป็นอะไรเล่าหนอ เป็นอย่างไรเล่าหนอ” รวมความว่าบ้างไหม

             คนผู้บูชายัญตรัสเรียกว่า ชนเหล่านั้น

             คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ชนเหล่านั้น ... บ้างไหม

             คำว่า ผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ อธิบายว่า ยัญนั้นแหละตรัสเรียกว่าทางแห่งยัญ เปรียบเหมือนอริยมัคคชื่อว่าทางแห่งอริยะ เทวมัคคชื่อว่าทางแห่งเทวะ พรหมมัคคชื่อว่าทางแห่งพรหม ฉันใด ยัญก็ชื่อว่าทางแห่งยัญ ฉันนั้นเหมือนกัน

            คำว่า ผู้ไม่ประมาท อธิบายว่า ผู้ไม่ประมาท คือ ผู้ทำโดยเอื้อเฟื้อ ทำติดต่อ ทำไม่หยุด ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ละความพอใจ ไม่ทอดธุระ ในทางแห่งยัญ ได้แก่เที่ยวไปเพื่อยัญนั้น มากไปด้วยยัญนั้น หนักในยัญนั้น เอนไปทางยัญนั้น โอนไปทางยัญนั้น โน้มไปทางยัญนั้น น้อมใจไปทางยัญนั้น มีทางแห่งยัญนั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ... ชนเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ

             ชนแม้เหล่าใดแสวงหา ค้นหา เสาะหายัญคือจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป เป็นผู้ทำโดยเอื้อเฟื้อ ทำติดต่อ ฯลฯ มีทางแห่งยัญนั้นเป็นใหญ่ ชนแม้เหล่านั้น ชื่อว่าไม่ประมาทในการบูชายัญ

             ชนแม้เหล่าใดปรุงแต่งยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป เป็นผู้ทำโดยเอื้อเฟื้อ ฯลฯ มีทางแห่งยัญนั้นเป็นใหญ่ ชนแม้เหล่านั้น ชื่อว่าไม่ประมาทในการบูชายัญ

             ชนแม้เหล่าใด ให้ สละ บริจาคยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป เป็นผู้ทำโดยเอื้อเฟื้อ ฯลฯ มีทางแห่งยัญนั้นเป็นใหญ่ ชนแม้เหล่านั้น ... ชื่อว่าไม่ประมาทในการบูชายัญ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ... ชนเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ ... บ้างไหม

             คำว่า ผู้นิรทุกข์... ได้ข้ามชาติและชราได้บ้างไหม อธิบายว่า ได้ข้าม คือข้ามได้แล้ว ข้ามพ้นแล้ว ก้าวล่วง ล่วงเลยชรา และมรณะได้บ้างไหม

             คำว่า ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่าผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง รวมความว่า ผู้นิรทุกข์... ได้ข้ามชาติและชราบ้างไหม

             คำว่า ข้าพระองค์ทูลถามปัญหานั้น ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น คือ ทูลขอปัญหานั้น ทูลอัญเชิญปัญหานั้น ทูลให้ประกาศปัญหานั้น ขอได้โปรดตรัสบอกปัญหานั้น

             คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่าพระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ

             คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า ขอโปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงทูลถามว่า (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)

                          ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้

                          จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย

                          ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์

                          ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ

                          ได้ข้ามชาติและชราได้บ้างไหม ข้าแต่พระผู้มีพระภาค

                          ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น

                          ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

 

             [๑๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)

                          ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ

                          เพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม

                          เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ

                          เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ 

(๔) คำว่า หวัง ในคำว่า ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวังจึงพากันบูชายัญ อธิบายว่า หวัง คือ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมายการได้รูป การได้เสียง การได้กลิ่น การได้รส การได้โผฏฐัพพะ การได้บุตร การได้ภรรยา การได้ทรัพย์ การได้ยศ การได้ความเป็นใหญ่ การได้อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาล การได้อัตภาพในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ... ในตระกูลคหบดีมหาศาล การได้อัตภาพในหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชิกา ฯลฯ ในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกา รวมความว่า หวัง

            คำว่า ชื่นชม ได้แก่ ชื่นชมยัญ ชื่นชมผล หรือชื่นชมบุคคลผู้ควรแก่ทักษิณา

             ชนทั้งหลายชื่นชมยัญ เป็นอย่างไร

             คือ ชนทั้งหลายชื่นชม คือ ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า เราให้ของน่ารัก เราให้ของน่าพอใจ เราให้ของประณีต เราให้ของตามกาลเวลา เราให้ของสมควร เราเลือกให้ เราให้ของไม่มีโทษ เราให้เป็นประจำ เราเมื่อกำลังให้จิตก็เลื่อมใส ชนทั้งหลายชื่นชมยัญ เป็นอย่างนี้

             ชนทั้งหลายชื่นชมผล เป็นอย่างไร

             คือ ชนทั้งหลายชื่นชม คือ ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า เพราะยัญนี้เป็นต้นเหตุจักได้รูป ... จักได้เสียง ... จักได้กลิ่น ... จักได้รส ... จักได้โผฏฐัพพะ... จักได้อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาล ตระกูลพราหมณมหาศาล ฯลฯ ในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกา ชนทั้งหลายชื่นชมผล เป็นอย่างนี้

             ชนทั้งหลายชื่นชมบุคคลผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นอย่างไร

             คือ ชนทั้งหลายชื่นชม ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า บุคคลผู้ควรแก่ทักษิณา คือ บุคคลผู้ควรแก่ทักษิณาถึงพร้อมด้วยชาติ ถึงพร้อมด้วยโคตร ชำนาญมนตร์ ทรงจำมนตร์ได้ เรียนจบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบท และไวยากรณ์ ชำนาญในโลกายตศาสตร์ (โลกายตศาสตร์ เป็นคัมภีร์ว่าด้วยเรื่องราวที่เหลือเชื่อ ถ้าบุคคลเชื่อคัมภีร์นี้แล้วจะไม่อยากทำบุญ) และการทำนายลักษณะมหาบุรุษ (ศาสตร์ว่าด้วยลักษณะของบุคคลสำคัญมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น อันมีอยู่ในคัมภีร์พราหมณ์ ซึ่งเรียกว่า มนตร์ เฉพาะส่วนที่ว่าด้วยผู้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่าพุทธมนตร์ มีอยู่ ๑๖,๐๐๐ คาถา) เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ชนทั้งหลายผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นอย่างนี้ รวมความว่า หวัง ชื่นชม

             คำว่า มุ่งหวัง อธิบายว่า ชนทั้งหลาย มุ่งหวังการได้รูป มุ่งหวังการได้เสียง การได้กลิ่น การได้รส การได้โผฏฐัพพะ การได้อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาล ฯลฯ มุ่งหวังการได้อัตภาพในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกา รวมความว่า หวัง ชื่นชม มุ่งหวัง

             คำว่า จึงพากันบูชายัญ อธิบายว่า จึงพากันบูชายัญ คือ จึงพากันให้ สละ บริจาคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป รวมความว่า ชนเหล่านั้น หวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ

             คำว่า ปุณณกะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

             คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ

             คำว่า เพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม อธิบายว่า เพราะอาศัยการได้รูป จึงมุ่งหวังกาม เพราะอาศัยการได้เสียงจึงมุ่งหวังกาม ฯลฯ เพราะอาศัยการได้อัตภาพในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกา จึงมุ่งหวัง คือ ปรารถนากาม รวมความว่าเพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม

             คำว่า เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ เป็นผู้กำหนัด ยินดีในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ ได้แก่ ผู้บูชายัญตรัสเรียกว่า ชนเหล่านั้น

             คำว่า ผู้ประกอบการบูชายัญ ได้แก่ ผู้ประกอบ คือ ผู้ขวนขวาย ฝักใฝ่ ใฝ่ใจในการประกอบการบูชายัญ คือ ประพฤติในการบูชานั้น มากด้วยการบูชานั้น หนักในการบูชานั้น เอนไปในการบูชานั้น โอนไปในการบูชานั้น โน้มไปในการบูชานั้น น้อมใจไปในการบูชานั้น มีการบูชานั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า ชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ

             คำว่า เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความกำหนัดในภพ ได้แก่ ความพอใจในภพ ความกำหนัดในภพ ความเพลิดเพลินในภพ ตัณหาในภพ ความเยื่อใยในภพ ความกระหายในภพ ความเร่าร้อนในภพ ความลุ่มหลงในภพ ความหมกมุ่นในภพ ในภพทั้งหลาย ชนเหล่านั้น กำหนัด ติดใจ คลั่งไคล้ หลงใหล หมกมุ่น ติด ข้อง พัวพันในภพทั้งหลาย ด้วยความกำหนัดในภพ รวมความว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ

             คำว่า เราขอกล่าวว่า ... ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ อธิบายว่า เราขอกล่าวคือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า ชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ กำหนัดยินดีในภพ ข้ามไม่ได้ คือ ข้ามไปไม่ได้ ข้ามพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้ ล่วงเลยชาติชราและมรณะไปไม่ได้ คือ ไม่ออก ไม่สลัดออก ก้าวไม่พ้น ไม่ก้าวล่วง ไม่ล่วงเลยชาติชราและมรณะ หมุนวนอยู่ภายในชาติชราและมรณะ ภายในหนทางแห่งสงสาร คือ ไปตามชาติ ชราติดตาม พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย รวมความว่า เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)

                          ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ

                          เพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม

                          เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ

                          เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้

 

             [๑๖] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)

                          ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์

                          ถ้าชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ

                          ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย

                          ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้

                          ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้

                          ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น

                          ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

(๕) คำว่า ถ้าชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ ข้าม ... ไปไม่ได้ อธิบายว่า ชนเหล่านั้นผู้บูชายัญ ผู้ประกอบการบูชายัญ เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพข้ามไม่ได้ คือ ข้ามไปไม่ได้ ข้ามพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้ ล่วงเลยชาติชราและมรณะไปไม่ได้ ได้แก่ ไม่ออก ไม่สลัดออก ก้าวไม่พ้น ไม่ก้าวล่วง ไม่ล่วงเลยจากชาติชราและมรณะ คือ หมุนวนอยู่ภายในชาติชราและมรณะ ภายในหนทางแห่งสงสาร คือ ไปตามชาติ ชราติดตาม พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย รวมความว่า ถ้าชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ ข้าม... ไปไม่ได้

             คำว่า ด้วยยัญทั้งหลาย ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... ข้ามชาติ และชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย ได้แก่ ด้วยยัญเป็นอันมาก ด้วยยัญชนิดต่างๆ ด้วยยัญมากมาย

             คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย

             คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้ อธิบายว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ข้ามได้ คือข้ามไปได้ ข้ามพ้นไปได้ ก้าวล่วงไปได้ ล่วงเลยชาติชราและมรณะไปได้

             คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง

             คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น คือ ทูลขอปัญหานั้น ทูลอัญเชิญปัญหานั้น ทูลให้ทรงประกาศปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น

             คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่าพระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ

             คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศด้วยเถิด รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงทูลถามว่า (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)

                          ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์

                          ถ้าชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ

                          ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย

                          ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้

                          ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้

                          ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น

                          ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

 

             [๑๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)

                          เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหนๆ

                          เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก

                          บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์

                          ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว 

(๖) คำว่า เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก อธิบายว่า ญาณ ตรัสเรียกว่าสังขา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรมสัมมาทิฏฐิ

ว่าด้วยฝั่งนี้และฝั่งโน้น

             คำว่า ฝั่งนี้และฝั่งโน้น อธิบายว่า

             อัตภาพของตน ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้

             อัตภาพของผู้อื่น ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น

             รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณของตน ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้

             รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณของผู้อื่น ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น

             อายตนะภายใน ๖ ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ อายตนะภายนอก ๖ ตรัสเรียกว่าฝั่งโน้น

             มนุษยโลก ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ เทวโลก ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น

             กามธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ รูปธาตุ อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น

             กามธาตุ รูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น

             คำว่า เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก อธิบายว่า เพราะทราบชัด คือเพราะรู้ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ฯลฯ เป็นโรค ฯลฯ เป็นดุจหัวฝี ฯลฯ เป็นดุจลูกศร ฯลฯ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป รวมความว่า เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก

             คำว่า ปุณณกะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

            คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ ฯลฯ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ

             คำว่า บุคคลใด ในคำว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหนๆ ได้แก่พระอรหันตขีณาสพ

             คำว่า ความหวั่นไหว ได้แก่ ความหวั่นไหวเพราะตัณหา ความหวั่นไหวเพราะทิฏฐิ ความหวั่นไหวเพราะมานะ ความหวั่นไหวเพราะกิเลส ความหวั่นไหวเพราะกาม ความหวั่นไหวเหล่านี้ ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หามิได้แก่บุคคลใด ได้แก่ ท่านละได้แล้ว ตัดขาดแล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว

             คำว่า ไหนๆ ได้แก่ ไหนๆ คือ ที่ไหนๆ ไรๆ ภายใน ภายนอก หรือทั้งภายในและภายนอก

             คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก รวมความว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหนๆ

ว่าด้วยผู้สงบ ปราศจากควัน

             คำว่า เป็นผู้สงบ ในคำว่า เรากล่าวว่า... บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว อธิบายว่า

             ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบราคะ

             ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโทสะ

             ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโมหะ

             คือ เป็นผู้สงบแล้ว เข้าไปสงบแล้ว สงบเย็นแล้ว ดับแล้ว ระงับแล้ว เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับโกธะ ... อุปนาหะ ...มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ... ถัมภะ ...สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ...ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน ...ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุศลาภิสังขารทุกประเภท รวมความว่า เป็นผู้สงบ

             คำว่า ปราศจากควัน อธิบายว่า กายทุจริต พระอรหันตขีณาสพขจัดได้แล้ว คือ กำจัด ทำให้แห้ง ทำให้เหือดแห้ง ทำให้หมดสิ้นไปได้แล้ว วจีทุจริต มโนทุจริต พระอรหันตขีณาสพขจัดได้แล้ว คือ กำจัด ทำให้แห้ง ทำให้เหือดแห้ง ทำให้หมดสิ้นไปได้แล้ว

             ราคะ ... โทสะ ... โมหะ พระอรหันตขีณาสพขจัดได้แล้ว กำจัด ทำให้แห้งทำให้เหือดแห้ง ทำให้หมดสิ้นไปได้แล้ว 

             โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ... กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท พระอรหันตขีณาสพขจัดได้แล้ว คือ กำจัด ทำให้แห้ง ทำให้เหือดแห้ง ทำให้หมดสิ้นไปได้แล้ว

             อีกนัยหนึ่ง ควัน ตรัสเรียกว่าความโกรธ

             (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)

                          พราหมณ์ ท่านมีมานะเป็นเครื่องหาบ

                          มีความโกรธเป็นควัน มีความเป็นคนพูดเท็จเป็นเถ้า

                          มีลิ้นเป็นทัพพี มีหัวใจเป็นที่บูชาไฟ

                          ตนที่ฝึกดีแล้วเป็นความรุ่งเรืองของบุรุษ

ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งความโกรธ ๑๐

             อีกนัยหนึ่ง ความโกรธย่อมเกิดเพราะเหตุ ๑๐ อย่าง คือ

              ๑. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา

             ๒. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา

              ๓. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา

               ๔. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา

               ๕. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา

               ๖. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา

               ๗. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบพอของเรา

               ๘. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบพอของเรา

               ๙. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้จักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบพอของเรา

               ๑๐. ความโกรธเกิดขึ้นในฐานะอันไม่สมควร

             ใจปองร้าย มุ่งร้าย ขัดเคือง ขุ่นเคือง เคือง เคืองมาก เคืองตลอด ชัง ชิงชัง เกลียดชัง ใจพยาบาท ใจแค้นเคือง ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดระทุษร้าย ความคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย ความโกรธ ความแค้น ความดุร้าย ความเกรี้ยวกราด ความไม่แช่มชื่นแห่งจิตเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความโกรธ

             อีกนัยหนึ่ง พึงทราบความโกรธมาก ความโกรธน้อย บางครั้งความโกรธเพียงทำให้ใจขุ่นมัว ยังไม่ถึงกับหน้าเง้าหน้างอก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้หน้าเง้าหน้างอ แต่ยังไม่ถึงกับคางสั่นก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้คางสั่นแต่ยังไม่ถึงกับพูดคำหยาบก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้พูดคำหยาบ แต่ยังไม่ถึงกับตาขวางมองทิศมองทางก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้ตาขวางมองทิศมองทาง แต่ยังไม่ถึงกับคว้าไม้คว้ามีดก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้คว้าไม้คว้ามีด แต่ยังไม่ถึงกับเงือดเงื้อไม้และมีด(ที่ถือไว้)ก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่ทำให้เงือดเงื้อไม้และมีด แต่ยังไม่ถึงกับลงมือฟาดฟันก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่ฟาดฟัน แต่ยังไม่ถึงกับทำให้เกิดบาดแผลก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่ทำให้เกิดบาดแผล แต่ยังไม่ถึงกับทำให้กระดูกหักก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่ทำให้กระดูกหัก แต่ยังไม่ถึงกับทำให้อวัยวะขาดหลุดไปก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่ทำให้อวัยวะขาดหลุดไป แต่ยังไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิตก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่ยังไม่ถึงกับทำให้ดำรงอยู่เพื่อฆ่าตนเองก็มี เมื่อใดความโกรธทำให้ฆ่าบุคคลอื่นแล้วฆ่าตนเองเสียด้วย เมื่อนั้น ความโกรธเป็นไปรุนแรงมากถึงความเป็นสิ่งร้ายแรงอย่างยิ่ง ความโกรธนั้น ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ปราศจากควัน

             ชื่อว่าปราศจากควัน เพราะเป็นผู้ละความโกรธได้แล้ว ชื่อว่าปราศจากควัน เพราะเป็นผู้กำหนดรู้ที่ตั้งแห่งความโกรธได้แล้ว ชื่อว่าปราศจากควัน เพราะเป็นผู้เข้าไปตัดเหตุแห่งความโกรธได้แล้ว

             คำว่า ไม่มีทุกข์ อธิบายว่า ราคะเป็นทุกข์ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภทเป็นทุกข์ ความทุกข์เหล่านี้ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ไม่มีทุกข์

             คำว่า ไม่มีความหวัง อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความหวัง ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ ความหวัง คือตัณหาเหล่านี้ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ไม่มีความหวัง

             คำว่า ชาติ ได้แก่ การเกิด คือ การเกิดขึ้น การก้าวลง (สู่ครรภ์) การบังเกิด การบังเกิดขึ้น ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะในหมู่สัตว์นั้นๆ ของสัตว์เหล่านั้นๆ

             คำว่า ชรา ได้แก่ ความแก่ คือ ความทรุดโทรม ความเป็นผู้มีฟันหัก ความเป็นผู้มีผมหงอก ความเป็นผู้มีหนังเหี่ยว ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ (อินทรีย์ ในที่นี้หมายถึงอินทรีย์ ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ทั้งหลายในหมู่สัตวนั้นๆ ของสัตว์เหล่านั้นๆ

             คำว่า เรากล่าวว่า ... บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว อธิบายว่า เรากล่าว คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า เป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ข้ามได้ คือ ข้ามไปได้ ข้ามพ้นไปได้ ก้าวล่วงไปได้ ล่วงเลยชาติชรามรณะไปได้ รวมความว่า เรากล่าวว่า ... บุคคลนั้นเป็นผู้สงบปราศจากควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)

                          เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหนๆ

                          เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก

                          บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์

                          ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว

             พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ ปุณณกมาณพประคองอัญชลี นั่งลงนมัสการพระผู้มีพระภาคโดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”

ปุณณกมาณวปัญหานิทเทสที่ ๓ จบ

-----------------------------------

 

หมายเลขบันทึก: 711877เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2023 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2023 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

The root (mula - 10 of them) of anger is explained so clearly. But each case is not easy to recognize and deal with - without anger.

Sadhu.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท