10 เทคนิคในการพูดแบบเล่าเรื่อง


การพูดเป็นทักษะที่พัฒนาได้

วันนี้มาแปะสคริปต์รายการวิทยุ  ที่ตนเองได้รับผิดชอบในการดำเนินรายการ  ซึ่งเนื้อหาอาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ

สวัสดีค่ะท่านผู้ฟังทุกท่าน ท่านกำลังรับฟัง KKU Radio  FM 103 Mhz      ในรายการ The KKU Library Life long learning for all กับพี่ตุ่น สิริพร ทิวะสิงห์ และสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น แหล่งเรียนรู้สำหรับคนทุกวัยค่ะ   วันนี้พี่ตุ่นเอาทักษะการเล่าเรื่อง   หรือทักษะการพูด มาฝากกันท่านผู้ฟัง  เป็นความรู้ใหม่ที่พี่ตุ่นได้รับจากการเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเทคนิคการจัดรายการวิทยุในยุคดิจิทัล จัดโดยกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่าดูจากชื่อการอบรมแล้วเหมือนไม่เกี่ยวกันกับทักษะการเล่าเรื่องเลย  แต่ทักษะการพูดเพื่อสื่อสารจากบทบาทนักจัดรายการวิทยุมีเทคนิคที่น่าสนใจมาก ผู้สนใจสามารถนำประเด็นที่เกี่ยวข้องไปประยุกต์ใช้ในการสื่อสารในสถานการณ์ต่างๆได้เป็นอย่างดี พี่ตุ่นจึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาในการพัฒนาทักษะส่วนบุคคล พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์  นักอ่านหนังสือเสียง  นักเล่านิทาน นักให้เสียง พิธีกร คนอ่านข่าว YouTuber เป็นต้น ตามพี่ตุ่นมานะคะว่าเทคนิคการเล่าเรื่องมีอะบ้าง

 ท่านผู้ฟังลืมตาตื่นขึ้นมาก็จะพบกับสถานการณ์การพูดเพื่อเล่าเรื่องอยู่รอบตัวอยู่แล้วค่ะ จริงไหมคะ  ไม่ว่าจะเป็นการเล่าข่าวทางทีวี Podcast TickTock  วิทยุ รายการสาระบันเทิง เช่น Tedtalk เดี่ยวไมโครโฟน ในทางวิชาการก็จะเป็น การ Present การบรรยาย เป็นต้น  เพียงแต่ท่านผู้ฟังจะเป็นแค่ผู้ฟัง หรือว่ามีโอกาสเป็นผู้เล่าเรื่อง ต้องลุกขึ้นมาพูดในวันใดวันหนึ่ง พี่ตุ่นจึงเห็นว่าเรื่องทักษะการสื่อสารด้วยการพูดมีความสำคัญ เป็นทักษะที่สำคัญในอนาคต “สาร สาระหรือเนื้อหา” เป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่วิธีการส่งสาร  ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง ลีลา ความชัดถ้อยชัดคำของผู้เล่าก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน วันนี้พี่ตุ่นขอนำเอา 10 เทคนิคในพูดแบบการเล่าเรื่อง  มาฝากท่านผู้ฟังค่ะ ท่านผู้ฟังสามารถนำไปประยุกต์ในการพูดในแต่สถานการณ์ได้

คุณวิฑูรย์ ไตรรัตนวงศ์ วิทยากรในการอบรมหัวข้อเทคนิคการจัดรายการวิทยุในยุคดิจิทัล คนขอนแก่นหลายคนรู้จักกันดีในชื่อ ดีเจพี่ป๋องแป้ง   มีประสบการณ์การเป็นนักจัดรายการมายาวนาน ดีเจพี่ป๋องแป้งมีความสามารถจากการทำงานหลายบทบาทและได้การันตีว่าการพูด หรือการใช้เสียงนั้นเป็นพลังที่ทุกคนสามารถพัฒนาทักษะได้ เพียงแต่สนใจเรียนรู้และฝึกฝน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการพูดสถานการณ์ต่างๆได้หลากหลาย

เทคนิคการพูดแบบเล่าเรื่องที่พี่ตุ่นตกผลึกได้จากการอบรมมีดังนี้ค่ะ

1-เน้นสาระเรื่องที่จะเล่า เพราะเป็นสาระสำคัญ  ผู้เล่าต้องมีความรู้ดีในเรื่องที่เล่า ในบาง Topic อาจจะมีการค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความรู้จริงในเรื่องที่จะเล่า ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาให้ดี ชื่อบุคคล  ชื่อหน่วยงาน ตัวเลขที่สำคัญต้องมีความถูกต้อง

2-นำเสนอด้วยองค์ประกอบ 5W 1h who  what when where why & how

3-เขียนสคริปต์เรียงลำดับความสำคัญของเนื้อหา  ชูประเด็นที่สำคัญ  ขีดเส้นใต้หรือทำตัวหนาเพื่อให้รู้จังหวะว่าเมื่อเวลาพูดจะต้องเน้นเสียงในประเด็นนี้

4-เทคนิคการอ่านตัวเลขและศัพท์เฉพาะ  ควรหลีกเลี่ยงการอ่านตัวเลขจำนวนมากๆ เพื่อป้องกันความผิดพลาด ผู้พูดผู้เล่าสามารถใช้คำว่าประมาณหรือราวๆแล้วอ่านเฉพาะตัวเลขหลักที่สำคัญ  ยกเว้นเป็นตัวเลขอ้างอิงที่สำคัญในสารนั้นจริงๆ นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษหรือศัพท์เทคนิค ยกเว้นแน่ใจว่าผู้ฟังเป็นกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ หากจำเป็นต้องใช้คำศัพท์ดังกล่าว เพราะไม่มีคำไทยใดที่เหมาะสมในการใช้แทน  ควรมีการสรุปความเป็นภาษาไทยด้วย

5-พยายามใช้ภาษาให้เกิดภาพ โดยใช้คำวิเศษณ์แทรกในบทพูด เพื่อให้เห็นภาพ รูปรส กลิ่นเสียง เกิดจินตนการ และรู้สึกคล้อยตาม คำวิเศษณ์ คือคำที่ทำหน้าที่ขยายคำนาม คำกริยา คำสรรพนาม หรือคำวิเศษณ์ด้วยกัน เพื่อบอก คุณภาพ ขนาดความรู้สึก หรือปริมาณ เช่น ชายฉกรรจ์รูปร่างกำยำ วิ่งอย่างเร็วจนฝุ่นตลบ อบอวลไปด้วยกลิ่นเหม็นอับ น้ำหอมกลิ่นสะอาดฟุ้งไปทั่วห้อง เป็นต้น

6-ตบท้ายการพูดด้วยข้อสรุป หรือข้อเสนอเพื่อย้ำสาระ ที่ตั้งใจนำมาเล่า ให้แน่ใจว่าผู้ฟังได้รับ”สาร”ที่ต้องการเล่า

7-เลือกใช้ภาษาที่เหมาะสมกับบุคคลและกลุ่มเป้าหมาย  นั่นหมายถึงผู้พูดควรรู้จักกลุ่มเป้าหมายหลักที่รับฟังการพูดในแต่ละสถานการณ์

8-ใช้น้ำเสียงและถ้อยคำที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ กาลเทศะ และกลุ่มผู้ฟัง เรื่องฟังสบายๆ ไลฟ์สไตล์ก็ควรนำเสนอด้วยภาษาง่ายๆ ฟังง่ายๆ

ในข้างต้นพี่ตุ่นเอา 8 เทคนิคสำหรับการพูดเล่าเรื่องมาฝากกัน มาต่อกันดับเทคนิคที่ 9 กันค่ะ

9-จากสคริปต์ที่เขียนเสร็จแล้ว ผู้พูดควรทำสัญลักษณ์ในการแบ่งวรรคตอน ตัดการใช้คำฟุ่มเฟือยออก ฝึกการออกเสียงคำที่ยาว คำที่อ่านยาก และอาจใช้หนังสือเรื่อง “อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นคู่มือช่วยในการอ่านคำยาก

10-ซักซ้อมการพูด  โดยการอ่านสคริปต์ ทำเหมือนมีผู้ฟังนั่งอยู่ต่อหน้า หากต้องมีการแสดงอากัปกิริยาก็แสดงออกมาให้เป็นธรรมชาติไปตามสคริปต์ที่กำหนด   กวาดสายตาอ่านสครปต์อย่างเร็ว ฝึกอ่านไปล่วงหน้าก่อนที่จะออกเสียง เพื่อให้รู้ว่าคำต่อไปบทพูดต่อไปต้องใช้นำเสียงอย่างไร ฝึกใช้น้ำเสียงหนักเบา ใช้เสียงยาวสั้น ให้เห็นภาพ ให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกในเรื่องที่พูด 

พี่ตุ่นเองก็ได้เรียนรู้จากวิทยากร  ว่าการฝึกซ้อมบ่อยๆ  การอ่านจากสคริปต์ไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย ความท้าทายจะอยู่ที่อ่านสคริปต์อย่างไรให้เหมือนการพูดสด ซึ่งในการอบรมวันนี้ผู้ที่มีประสบการณ์หลายท่าน ต่างก็ช่วยให้คำแนะนำ  ให้ผู้เข้าอบรมเก็บเกี่ยวนำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็น คุณสุมาลี สุวรรณกร นักสื่อสารมวลชน เจ้าของนามปาก … “มาลีร้อยสีพันใบ” นักจัดรายการวิทยุมข.คว้ารางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ อาจารย์ไก่ บุปผา จันทร์เจริญ ผู้ที่คว่ำหวอดในรายการทีวีและรายการวิทยุ  คุณชุตินันท์ พันธุ์จรุง  และคุณโบตั๋น ผู้จัดรายการและนักประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ทำให้พี่ตุ่นมีเรื่องราวดีๆ มาฝากท่านผู้ฟังใน ep นี้ค่ะ ต้องขอขอบคุณทุกท่านค่ะ

 

ขอบคุณ 

  • Script รายการ KKU Library Life Long Learning for all ออกอากาศทาง FM103 Mhz.
หมายเลขบันทึก: 711503เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2023 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2023 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมเคยจัดรายการวิทยุชุมชน เมื่อนานมาแล้ว ก็เคยเล่าเรื่อง..ครับ มีเขียนบทบ้าง นิดหน่อย

เล่าเรื่องจากสิ่งที่เราทำ จะทำให้คนฟังสนใจค่ะ

ขอบคุณคุณชยันต์และพี่แก้ว ที่แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ถือเป็นการให้กำลังใจผู้เขียนและผู้จัดหน้าใหม่ด้วยค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท