เรียนรู้จากการทำงาน


 

หนังสือ Driving Performance Through Learning : Using L&D to Improve Performance, Productivity and Profits (2019)  บอกว่าพนักงานเรียนจากการทำงานได้มากกว่าการไปเข้ารับการฝึกอบรม    โดยที่การเรียนรู้จะเกิดอย่างมีพลัง ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน 

เป็นหนังสือที่เน้นให้คำแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติงานในหน่วย L&D (Learning and Development) ขององค์กร    โปรดสังเกตนะครับ ว่าองค์กรสมัยใหม่เขามีหน่วย L&D   เพื่อเน้นหนุนให้การปฏิบัติงานเป็นการเรียนรู้ไปในตัว    และหนังสือเล่มนี้แนะนำว่า ให้ใช้หลักการ 70:20:10 ในเรื่องการพัฒนาบุคลากร

ผมตีความว่า เขาเรียกหน่วย L&D ในชื่อที่โก้หรูว่า Academy  เช่น SCB Academy   

ร้อยละ ๗๐ ของการเรียนรู้ มาจากการปฏิบัติงานของตนเอง   ร้อยละ ๒๐ มาจากการได้รับโค้ชชิ่ง   เพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้นที่ได้จากการไปเข้ารับการอบรมในหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ     เขาบอกว่าธุรกิจจะก้าวหน้าได้ในยุคปัจจุบันต้องมุ่งพัฒนาบุคลากรโดยใช้หลักการนี้    หรือกล่าวใหม่ว่า องค์กรต้องมี ยุทธศาสตร์การเรียนรู้ (learning strategy)   

 หน่วย L&D จึงต้องมีสมรรถนะในการหนุนให้การทำงานประจำเกิดการเรียนรู้    โดยจัดให้มี ทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ (learning resource) ให้บริการแก่ผู้ปฏิบัติงาน     เน้นให้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน    เป็นการเรียนรู้ที่ก่อผลดีต่อทั้งตัวบุคคล และต่อหน่วยงานหรือต่อการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของผลงาน   

เขาแนะนำว่า หน่วย L&D ต้องทำตัวหรือมีวิธีทำงานคล้าย Start-up   คือกล้าทำต่างจากแนวทางเดิมๆ  กล้าเสี่ยงต่อความล้มเหลว    หรือกล่าวใหม่ว่า พร้อมที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลว    และทำหน้าที่สร้างวัฒนธรรมนี้ขึ้นในองค์กร    เพื่อให้องค์กรเป็นที่รวมของพนักงานที่เป็น “ผู้เรียนรู้เร็วที่สุด” (the fastest learner)    เพราะนี่คือปัจจัยแห่งความสำเร็จในยุคปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของกิจกรรม L&D คือหาประเด็น หรือปัญหาที่ต้องแก้ให้พบ โดยทำ learning need analysis    แล้วกำหนดกลยุทธ    เพื่อจัดตั้ง agile team ใช้ design thinking, lean process และอื่นๆ ในการแก้ปัญหาในระดับปรับ working platform ใหม่    ในรูปแบบของการปรับไปเรียนรู้ไป    ทำไปวัดผลไปปรับไป เป็นวงจร    และต้องมีการวัดผลกระทบจากระบบ L&D ว่าก่อประโยชน์ต่อองค์กรอย่างคุ้มค่าหรือไม่    การวัดผลกระทบนี้ทำไม่ง่าย แต่ต้องทำ   

เขาแนะนำเครื่องมือ Learning canvas สำหรับใช้กำหนดแผนอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนที่มองเห็นด้วยสายตา   

เป้าหมายของระบบ L&D คือ    จัดการเรียนรู้ให้ ถูกคน  ถูกเรื่อง ถูกเวลา    คือไม่ทำอย่างเปะปะ   แต่ทำอย่างมีเป้าหมาย    และรู้จักใช้ของฟรี ที่เรียกว่า open learning resource ที่อยู่บนพื้นที่ไซเบอร์    โดยทีม L&D ขององค์กรคอยค้นหา และคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน   เอามาจัดไว้ในระบบ organization learning resource ให้พนักงานค้นหาได้สะดวก   

ทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้สำคัญอีกอย่างหนึ่งขององค์กร คือ พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (sharing resource)    ทำโดยสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ขึ้นในองค์กร   ที่เขาไม่เอ่ยคำว่า KM แต่จริงๆ แล้วก็คือการประยุกต์ใช้ KM นั่นเอง 

เครื่องมือสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ โค้ชชิ่ง    ที่เขาแนะนำว่า ต้องบูรณาการอยู่ในการปฏิบัติงานนั้นเอง   และทำกันจนเป็นนิสัย หรือเป็นวัฒนธรรมองค์กร    ทำกันในทุกระดับ เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุด เป็นโค้ชของผู้บริหารระดับต่อๆ ลงมา    และต้องไม่ลืมใช้ประโยชน์จากความผิดพลาด เพื่อการเรียนรู้           

เขาเตือนว่า ต้องสะท้อนคิดเรื่องบริบทหรือระบบนิเวศที่กำลังเผชิญ   และนำมาประยุกต์ใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางระบบ L&D ขององค์กร 

ผมสะท้อนคิดว่า    เขาลืมเรื่องสำคัญ สำหรับใช้ในการเรียนรู้ส่วนร้อยละ ๗๐ หรือการเรียนรู้จากการทำงาน    คือเรื่อง Kolb’s Experiential Learning Cycle และ Double-Loop Learning    ซึ่งเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้กลับทาง   คือใช้การปฏิบัติงานเป็นตัวช่วยให้ได้เรียนรู้หลักการ (concept)   ที่เป็นเส้นทางแห่งปัญญา 

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ธ.ค. ๖๕

 

หมายเลขบันทึก: 711464เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2023 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2023 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I reflected on this “..เขาแนะนำว่า หน่วย L&D ต้องทำตัวหรือมีวิธีทำงานคล้าย Start-up คือกล้าทำต่างจากแนวทางเดิมๆ กล้าเสี่ยงต่อความล้มเหลว หรือกล่าวใหม่ว่า พร้อมที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลว และทำหน้าที่สร้างวัฒนธรรมนี้ขึ้นในองค์กร เพื่อให้องค์กรเป็นที่รวมของพนักงานที่เป็น “ผู้เรียนรู้เร็วที่สุด” (the fastest learner) เพราะนี่คือปัจจัยแห่งความสำเร็จในยุคปัจจุบัน..” and came to see the hidden monitor and review part of the approach. If start-ups don’t critically monitor and review (evaluation/appraisal/checkpoint/…), they would fail (as 90+% of them do) and lose money, resources and future chances. They get hurt when they fail.

This also answers why a lot of public service projects/programs fail (as many as 95+%) because there are not under critical monitor and review, because they do not hurt much if they fail.

In short ‘reward and punishment’ must be extreme to drive for excellence.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท