BAR & AAR : ว่าด้วยความคาดหวังและการเรียนรู้จากโครงการเยาวชนพิทักษ์ไพร


ประสบการณ์ตรงที่ผมรับรู้มา บ่อยครั้งที่การประเมินผลในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างแท้จริง  เพราะหลายต่อหลายครั้ง ข้อมูลที่ประมวลออกมามักถูก “ปรุงแต่ง-อุปโลกน์” ขึ้นมาจากแกนนำ แต่นั้นก็มิได้หมายความว่า แกนนำบกพร่องนะครับ  เป็นเพราะคนไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการส่งแบบประเมิน หรือไม่ค่อยให้ความสำคัญที่จะสะท้อนผลการเรียนรู้สักเท่าไหร่

ทุกครั้งที่นิสิตจัด “กิจกรรมนอกหลักสูตร” (extracurricular activity) ผมจะให้ความสำคัญกับเรื่องการ “ประเมินการเรียนรู้” (Assessment of Learning) มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการประเมินสดๆ ร้อนๆ เมื่อกิจกรรมสิ้นสุดตรง

 

หรือที่เราเรียกในแบบฉบับวิถีไทยว่า “ตีเหล็กขณะกำลังร้อนๆ”

 

 

โครงการ “ค่ายเยาวชนพิทักษ์ไพร ครั้งที่ 21” ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มนิสิตพลังสังคม (พรรคพลังสังคม) สังกัดองค์การนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เมื่อวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2565 ณ อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ตำบลนาจะหลวย อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมให้ความสำคัญกับการประเมินผลการเรียนรู้เป็นอย่างมาก

 

โครงการดังกล่าว ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ เช่น 

  • การเดินป่าศึกษาระบบนิเวศของอุทยาน 
  • การปรับปรุงฝายชะลอน้ำ 
  • การปลูกต้นไม้ 
  • การเสวนาเรื่องกิจกรรม การเรียนและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย 
  • ผ้าพิมพ์จากธรรมชาติ
  • ฯลฯ

 



ในส่วนประเด็นเรื่องการประเมินผลการเรียนรู้  ผมพูดเปิดใจกับแกนนำ 2-3 คนอย่างชัดเจนว่า “นิสิตสามารถประเมินผลการเรียนรู้เชิงปริมาณผ่านแบบสอบถามตามแบบฟอร์มอันเป็นตัวอย่างของมหาวิทยาลัยได้เลย  โดยเน้นการประเมินว่าบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งทำได้ทั้งการแจกแบบสอบถาม หรือผ่านระบบออนไลน์ (Google Forms)”

 

เอาจริงๆ เลยนะ – ประสบการณ์ตรงที่ผมรับรู้มา บ่อยครั้งที่การประเมินผลในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างแท้จริง  เพราะหลายต่อหลายครั้ง  ข้อมูลที่ประมวลออกมามักถูก “ปรุงแต่ง-อุปโลกน์” ขึ้นมาจากแกนนำ  แต่นั้นก็มิได้หมายความว่า แกนนำบกพร่องนะครับ  เป็นเพราะคนไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการส่งแบบประเมิน หรือไม่ค่อยให้ความสำคัญที่จะสะท้อนผลการเรียนรู้สักเท่าไหร่ เสียมากกว่า

 

 

ด้วยเหตุเช่นนี้ ผมจึงพูดเชิงลึกเพิ่มเติมในทำนองว่า “ผมสนใจผลการเรียนรู้ของเหล่าบรรดาผู้นำเสียมากกว่า” – 

ผู้นำในที่นี้ ผมเจาะจงว่า คือ แกนนำองค์กรและแกนนำโครงการ อันหมายถึง คณะกรรมการบริหารองค์กรและคณะกรรมการบริหารโครงการ หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า “แกนนำค่าย” นั่นแหล่ะ


กรณีดังกล่าว ผมเสนอแนะให้ประเมินแกนนำเพิ่มเติมด้วย “บัตรคำ” โดยใช้กระบวนการประเมินความคาดหวังก่อนการเข้าร่วมกิจกรรม (Before Action Review : BAR)  ผ่านคำถามง่ายๆ กว้างๆ ว่า “คาดหวังอะไรจากการเข้าร่วมกิจกรรม

 

และเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมก็ประเมิน (After Action Review : AAR)  ผ่านคำถามง่ายๆ กว้างๆ อีกครั้งว่า “ได้เรียนรู้อะไรบ้าง” 

 

 

และไม่ลืมที่จะย้ำว่า “การประเมินผ่านบัตรคำ ไม่ได้เจาะจงแต่เฉพาะผู้นำ แต่หากสามารถนำไปประเมินสมาชิกค่ายทุกๆ คนได้ จะเป็นเรื่องที่ดีและวิเศษสุดๆ โดยให้ออกแบบเองว่าระยะเวลาใด-จังหวะใดเหมาะสมที่จะประเมินการเรียนรู้”

 

ถัดจากนี้ไป  คือข้อมูลอันเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ผมพยายามประมวลผ่านบัตรคำที่นิสิตส่งกลับมายังผม  ซึ่งแม้จำนวนบัตรคำที่ได้มาอาจจะไม่มากมายนัก  แต่ก็พอเห็นร่องรอยการเรียนรู้ของ “ผู้นำ” (แกนนำ) “ผู้ตาม” (สมาชิกค่าย) ในระดับหนึ่ง 

และเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ดี  เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สามารถนำไปต่อยอด หรือวิเคราะห์เชิงลึกได้อีก

 

 

 

Before Action Reviewคาดหวังอะไรจากการเข้าร่วมกิจกรรม

 

  • อยากได้เพื่อนใหม่
  • อยากได้ประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ
  • อยากเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • อยากได้แฟนจากค่าย
  • อยากพบเจอการเดินทางและที่พักสะดวกสบาย
  • ชั่วโมงจิตอาสา กยศ.
  • อยากทานอาหารอร่อยๆ ท่ามกลางธรรมชาติ
  • ฯลฯ

 

ข้อมูลข้างต้น ผมจัดเรียงลำดับเชิงสถิตจากที่พบมากไปยังที่พบความถี่น้อยที่สุด  กล่าวคือ คนที่ไปร่วมค่ายครั้งนี้คาดหวังที่จะได้เพื่อนใหม่มากที่สุด  รองลงมาคือการได้สัมผัสกับประสบการณใหม่ๆ  และการได้มีส่วนต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติเฉกเช่นชื่อโครงการที่ว่า “เยาวชนพิทักษ์ไพร”

 

 

แน่นอนครับ ฟังดูเป็นนามธรรม แต่ปฏิเสธความคิดฝันของพวกเขาไม่ได้  เพราะพวกเขามีสิทธิ์ที่จะขีดเขียนการเรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง  โดยเรียนรู้ผ่านกิจกรรมหลักๆ อันเป็น “โจทย์” ที่ปรากฏอยู่ในโครงการ ส่วนจะบรรลุวัตถุประสงค์ส่วนตัว หรือเชื่อมโยงถึงวัตถุประสงค์โครงการหรือไม่  ย่อมอยู่ที่ตัวเขาว่าจะ “จริงจัง-จริงใจ” หรือมี “ทักษะ” ต่อการเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน

รวมถึงแกนนำกิจกรรม จะมีกลวิธี-กระบวนการในการสร้างการเรียนรู้ให้น่าสนใจ หรือไม่ 

 

 

After Action Review : ได้เรียนรู้อะไรบ้าง 

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลของการเรียนรู้ที่ประมวลจากบัตรคำเป็นไปในทิศทางเดียวกับการประเมินความคาดหวังก่อนการเข้าร่วมกิจกรรม โดยสามอันดับแรกที่พบ เรียงลำดับความถี่จากมากไปน้อย ดังนี้

 

  • ได้รู้จักเพื่อนต่างคณะเพิ่มมากขึ้น
  • ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ 
  • ได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด

กระนั้นก็ไม่ได้ระบุชัดว่า “ประสบการณ์ที่แปลกใหม่” ที่ว่านั้น คืออะไรบ้าง  ซึ่งผมมองว่า ในเวทีถอดบทเรียนครั้งหน้าที่ผมออกแบบไว้เงียบๆ ผมจะพยายาม “เสาะหา” และ “คลี่” ให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น 

 

 

นอกจากนั้นที่พบประปรายก็เป็นประเด็นเกี่ยวกับความรู้และทักษะของการสร้างฝายชะลอน้ำ (ฝายแม้ว)  การปลูกต้นไม้  หรือแม้แต่ประเด็นทั่วๆ ไป เช่น จิตอาสา และการได้ออกกำลังกาย  ซึ่งทั้งสองประเด็นก็อยู่ในประเด็นเชิงรุกอันเป็นนโยบายการพัฒนานิสิต ประจำปีการศึกษา 2565 ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  นั่นคือ

  • การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม การเป็นพลเมืองที่ดีและจิตสาธารณะ
  • การส่งเสริมสุขภาวะนิสิต

 



หรือแม้แต่ประเด็นที่สื่อให้เห็นถึงการได้เรียนรู้และก่อเกิดทักษะทางสังคม (Soft skills) ที่ยึดโยงอยู่กับเรื่องภาวะผู้นำนิสิต/นักศึกษา หรือทักษะในศตวรรษที่ 21 เป็นต้นว่า

  • การทำงานร่วมกับคนอื่น / ความเป็นทีม
  • การอยู่ร่วม/ใช้ชีวิตกับคนอื่น
  • การสื่อสารสร้างสรรค์ทั้งโดยนิสิตกับนิสิต และนิสิตกับเจ้าหน้าที่ของอุทยาน
  • การอดทนอดกลั้น

 



ผมไม่รู้หรอกว่า  ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในบัตรคำมาจากความจริงกี่มากน้อย  แต่ผมเคารพข้อมูลดังกล่าว ในเมื่อเขาเขียนมาแบบนั้น ผมก็เชื่อแบบนั้น –
 

เอาจริงๆ เลยนะ แค่แกนนำเปิดใจรับเอาบัตรคำไปเป็นเครื่องมือประเมินการเรียนรู้ ผมก็ดีใจ สุขใจ และชื่นชมเป็นที่สุดแล้วครับ 
 

ถัดจากนี้ เมื่อพวกเขาพร้อม ผมจะลองชวนมาล้อมวงถอดบทเรียนอย่างจริงจังร่วมกับพวกเขาดูสักยก  โดยใช้ข้อมูลจากบัตรคำเหล่านี้เป็นประเด็น เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้เชิงลึกร่วมกัน  
 

ส่วนข้อเสนอแนะ เป็นต้นว่า  เส้นทางการเดินทางควรสะดวกสบาย  ควรมีเวลาในการนอนพักให้นานๆ  ที่พักและอาหารควรต้องปรับปรุง 

เอาจริงๆ นะ  ประเด็นเหล่านั้น  ผมไม่ได้ซีเรียสเท่าใดนัก  เพราะนี่คือ “ค่าย”  วิถีของค่ายย่อมต้องฝึกให้ชาวค่ายได้เรียนรู้จากความลำบากบ้าง  มิใช่ยึดเอาความสะดวกสบาย และเน้นวิวสวยๆ เป็นหัวใจหลักของการเรียนรู้

ถ้ารักความสะดวกสบาย  ก็ไม่จำเป็นต้องไปค่าย !  





เขียน :  พุธที่  14  ธันวาคม 2565
ภาพ : กลุ่มนิสิตพลังสังคม
 

หมายเลขบันทึก: 710892เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2022 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2022 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท