แนวคิดเกี่ยวกับการแบ่งปัน


แนวคิดเกี่ยวกับการแบ่งปัน

“การแบ่งปัน” เป็นหนึ่งในข้อคุณธรรมพื้นฐานสากล (cardinal virtue) ที่ตรงกับคำว่า Dikiosune ส่วนในพุทธศาสนา ตรงกับคำว่า “จาคะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อคุณธรรมที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม 

คำว่า Dikiosune หรือการแบ่งปันในที่นี้ตามความหมายเดิม หมายถึง “การให้ตามความเหมาะสม” (give to his due) หากตีความเพิ่มเติมก็คือ “การดูแล” นั่นเอง ทรรศนะนี้อยู่บนหลักปรัชญาหลังนวยุคสายกลางที่จะต้องห่วงใยดูแลผู้อื่น (care the other) ดังนั้น ขอบเขตของความหมายจึงครอบคลุมทั้งในส่วนรูปธรรมและนามธรรม ส่วนรูปธรรม ได้แก่ การให้ หรือ sharing ส่วนนามธรรม ได้แก่ การดูแล ใส่ใจ หรือ caring 

การแบ่งปันเป็นส่วนหนึ่งของความเที่ยงธรรมหรือการกระทำที่ถูกต้องทั้งในส่วนตนและส่วนรวม เมื่อนำคำสองคำนี้แยกออกจากกัน คือคำว่า “แบ่ง” กับคำว่า “ปัน” ก็จะได้ความหมายที่ต่างกันตามบริบท เพราะบริบทของคำว่า “แบ่ง” นั้น อยู่บนพื้นฐานของเงื่อนไขหรือข้อตกลงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีผู้ชายอยู่ ๓ คน ออกไปหาปลาร่วมกัน โดยตกลงกันว่าจะแบ่งปลาที่ได้มาในสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งปรากฏว่าหาปลาได้ทั้งหมด ๖ ตัว ตัวเท่ากัน มีน้ำหนักพอ ๆ กัน ก็เลย “แบ่ง” ปลาที่หามาได้ให้คนละ ๒ ตัว ตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ 

ส่วนคำว่า “ปัน” นั้น มีความหมายต่างออกไป เพราะเป็นเรื่องของ “น้ำใจ” ที่อยู่นอกเหนือเงื่อนไข หน้าที่ หรือกฎเกณฑ์ใด ๆ ในเชิงบังคับ จึงเป็นเรื่องของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วยจิตที่เมตตาหรือมีความใส่ใจ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนหาปลาทั้ง ๓ คนได้แบ่งปลาที่หามาได้ให้คนละ ๒ ตัวเท่า ๆ กันตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว มีคน ๆ หนึ่งรู้ว่า ตนเองเองกินปลาเพียงตัวเดียวก็อิ่มแล้ว เพราะไม่มีลูกเมียเหมือนกับชายอีกคน เขาจึง “ปัน” ส่วนแบ่งของเขาให้กับชายที่มีลูกเมีย เพื่อให้ครอบครัวนั้นมีอาหารเพียงพอต่อความต้องการที่จำเป็น ดังนั้น การปันจึงเป็นเรื่องของการเสียสละทั้งจากภายในและภายนอก ซึ่งตรงกับคำว่า “จาคะ” ในทางพุทธศาสนานั่นเอง

ส่วนการให้ที่มีเงื่อนไขเพื่อหวังผลอะไรบางอย่าง เช่น ให้เพื่อสร้างแรงจูงใจในทางธุรกิจ หรือเพื่อเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนในด้านการเมือง ให้เพื่อต้องการมีอำนาจเหนือกว่า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ไม่อาจเรียกว่าการแบ่งปันได้ แต่เป็นเรื่องของการลงทุน หรือการสร้างหนี้บุญคุณ เพื่อให้ผู้รับต้องใช้หนี้บุญคุณนั้น จึงเป็นการให้ที่หวังผลตอบแทน ไม่ใช่การแบ่งปัน

การแบ่งปันเกิดจากความตระหนักและการดูแลใส่ใจ ดังนั้น การแบ่งปันจึงเป็นเรื่องของภูมิปัญญาและภูมิธรรม ดังที่ อริสโตเติล (Aristotle) กล่าวว่า man is a logos animal (zoon logon echon) หมายถึง มนุษย์เป็นสัตว์มีปัญญา ปัญญาของมนุษย์ทำให้มนุษย์เกิดความตระหนัก ในคุณค่าของการให้ว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่มนุษย์ ครอบครัว และสังคม ดังนั้น จึงเกิดความเอาใจใส่ในการเติมเต็มจากภายในจนล้นออกมาสู่ภายนอก เป็นความงาม ความรักที่มนุษย์มีให้ต่อมนุษย์ ตลอดถึงสัตว์ และธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่ต้องมีการเกื้อกูลกันอยู่ตลอดเวลา

นอกจากมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีปัญญาแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอีกด้วย (man is by nature a social animal) การที่มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมสิ่งจำเป็นที่ทำให้สังคมอยู่อย่างสงบสุขสิ่งหนึ่งคือการแบ่งปัน ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าตรัสถึงผลของการแบ่งปัน (จาคะ) ไว้ในอาฬวกสูตรว่า “ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้” (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕) หมายถึง การที่คนในสังคมรู้สึกเป็นมิตรต่อกันเป็นเพื่อนมนุษย์กันไม่ใช่มองผู้อื่นอย่างเครื่องมือหาผลประโยชน์ สังคมถึงจะเกิดความชอบธรรมและสงบสุขได้ ในตะวันตกก็มองแบบเดียวกันนี้ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เพียงแต่สมัยโบราณยอมรับในระดับพลเมืองของรัฐหรือเมืองที่เป็นเพื่อนมนุษย์ในระดับเท่ากัน ต่างจากศาสนาในตะวันออกที่มองในระดับ                ความเป็นมนุษย์ แต่การแบ่งปันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำกับมนุษย์เท่านั้น สามารถแบ่งปันกับสัตว์ พืช สสาร ได้เช่นกัน ดังนั้น แรงผลักดันที่มาจากการแบ่งปันจึงให้ผลลัพธ์ที่ต่างจากแรงผลักดันที่เกิดจากความโลภหรือความอยากที่เกินพอดี ความโลภยิ่งมีมากก็ยิ่งเบียดเบียนมาก ทั้งกับมนุษย์ด้วยกันเอง รวมไปถึงชีวิตสัตว์ พืช และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมรอบตัว

ในบริบทสังคมไทยคำที่เกี่ยวข้องกับคำว่าแบ่งปันมีอยู่หลายคำ แต่ละคำมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป บางคำสื่อถึงการแบ่งปันภายนอกที่เป็นเชิงรูปธรรม บางคำสื่อถึงการแบ่งปันภายในที่เป็นเชิงนามธรรม และบางคำสื่อได้ทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม อาทิ การให้ การช่วยเหลือ การเกื้อกูล เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จาคะ สนับสนุน เกื้อหนุน ส่งเสริม ความมีน้ำใจ ความเอาใจใส่ ความใส่ใจ การดูแล การสงเคราะห์ การแบ่งเบา ทาน กัลปนา จุนเจือ เสียสละ การอุทิศ แบ่งสันปันส่วน เป็นต้น 

ดังนั้น จึงควรศึกษา วิเคราะห์และตีความเพื่อให้เข้าใจถึงเส้นแบ่งของคำต่าง ๆ ที่ใช้กันในสังคมแบบ “ยึดเหนี่ยว แต่ไม่ยึดติด” เพราะภาษาไทยเป็นภาษาแห่งความรู้สึก มีความงามที่สามารถตีความได้อย่างหลากหลายในแต่ละสถานการณ์ ดังนั้น การทำความเข้าใจบริบทของแต่ละคำ ในเบื้องต้นจึงเป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารและสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคมได้ชัดเจนมากขึ้น

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, รวิช ตาแก้ว และคณะ. (๒๕๖๔). "สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน". รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : ศปป. ๕ กอ.รมน. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า ๗๗ - ๗๙.

หมายเลขบันทึก: 710682เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท