คุณธรรมแม่บทในทางจริยศาสตร์


คุณธรรมแม่บทในทางจริยศาสตร์

          แอร์เริสทาทเทิล (ก.ค.ศ. 384 - 322) รับทฤษฎีคุณธรรมแม่บท 4 ของเพลโทว์ แต่เปลี่ยนชื่อข้อแรกเป็นความรอบรู้หรือรอบคอบ (prudence) ซึ่งก็คือ ปรีชาญาณ ที่สามารถประยุกต์ลงสู่การปฏิบัตินั่นเอง และอธิบายเพิ่มเติมว่า คุณธรรมได้แก่ การเดินสายกลางระหว่างกิเลสที่ตรงข้ามกัน เปรียบได้กับมัชฌิมาปฏิปทาในพระไตรปิฎก เช่น ความกล้าหาญเป็นทางสายกลางระหว่างกิเลส ที่ตรงข้ามกันระหว่างความขี้ขลาดกับความบ้าบิ่น การรู้จักประมาณเป็นทางสายกลางระหว่างความตระหนี่กับความฟุ่มเฟือย ความยุติธรรมได้แก่ การให้ทุกคนตามอัตราส่วนที่เหมาะสม ให้สังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า ทางสายกลางมิได้หมายความว่าบวกกันหารสอง หรือตัวกลางทางเลขคณิต แต่หมายถึง การเก็บแง่ดี 2 ข้างที่เลยเถิด เพื่อดำเนินชีวิตให้สูงขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ไป ดังนั้น ทางสายกลางจึงอยู่ระหว่างกิเลสที่ตรงข้ามกัน แต่อยู่คนละระดับกับกิเลสเท่านั้น

         คุณธรรม ตรงกับภาษาอังกฤษว่า virtue หมายถึง ความประพฤติดีจนเคยชินเป็นนิสัยแต่ละด้าน ส่วนในบทนี้ ต้องการอธิบายขยายความเรื่องคุณธรรมแม่บททั้ง 4 ในทางจริยศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้เกิดการยอมรับอย่างเป็นสากลแล้วว่า คุณธรรมทั้ง 4 ประการของแอร์เริสทาทเทิลนี้ ที่จริงไม่ใช่ตัวคุณธรรม แต่เป็นองค์ประกอบหรือเงื่อนไขจำเป็นของคุณธรรมทุกข้อ จึงอยู่ในฐานะคุณธรรมแม่บท หรือ cardinals virtues ซึ่งมีอยู่ 4 ด้าน คือ ความรอบคอบ ความกล้าหาญ ความรู้จักประมาณหรือความพอเพียง และความยุติธรรม 

 

1. ความรอบรู้ (Prudence)

          1.1 ความรอบรู้คืออะไร

               ความรอบรู้หรือความรอบคอบ มิได้หมายถึง การมีความรู้มาก เพราะ “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” มีถมไป

               ความรอบรู้จึงหมายถึง การเล็งเห็นหรือหยั่งรู้ได้ง่ายและชัดเจนว่าอะไรควรประพฤติและอะไรไม่ควรประพฤติ 

               การแสวงหาความรู้มีส่วนช่วยให้เกิดความรอบคอบ แต่ทว่าความรอบคอบอันลึกซึ้งส่วนมากเกิดจากการคิดคำนึงและประสบการณ์ ดังนั้น Prudence จึงเป็นปัญญาปฏิบัติ (Phronesis)

          1.2 ความรู้คือคุณธรรมจริงหรือไม่

               ซาคเครอทิส (Socrates) เป็นคนแรกที่แถลงสูตรว่า “ความรู้คือคุณธรรม” (Virtue is Knowledge) โดยอธิบายว่าผู้มีความรู้ย่อมจะไม่ทำผิดต่อความรู้ของตน ไม่มีใครอยากจะทำความชั่วโดยรู้ว่าเป็นความชั่ว ที่ทำความชั่วนั้นก็เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์เท่านั้น ถ้ารู้ว่าเป็นความชั่วแล้วจะไม่ทำแน่ ๆ ดังนั้น วิธีที่จะช่วยให้คนเราทำดีหนีชั่วก็คือ สอนให้รู้จริงว่าอะไรดีอะไรชั่วเท่านั้นก็หมดเรื่อง

          เพลโทว์ (Plato) รับเอาสูตรนี้มาเป็นของตน อธิบายเพิ่มเติมว่า ความรู้ที่แท้ (real) ที่ซาคเครอทิสกล่าวไว้อย่างคลุมเครือนั้น ได้แก่ ความรู้โลกแห่งมโนคติ ซึ่งมีมโนคติดีเป็นอุดมคติสูงสุด ใครเข้าถึงมโนคติดีแล้วจะไม่ทำบาปทำชั่วอีกเป็นอันขาด ความรู้คือคุณธรรมจึงหมายรวมถึงการแสวงหาความรู้ทุกอย่างและทุกครั้งว่าเป็นความประพฤติดีในตัวแล้ว

          แอร์เริสทาทเทิล (Aristotle) เชื่อตามสูตรนี้เหมือนกัน แต่สอนเพิ่มเติมว่าต้องได้ฝึกปฏิบัติจนเคยชิน จึงจะเรียกว่า “รู้จริง”

          ความรู้คือคุณธรรมจริงหรือไม่ ศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ ราชบัณฑิตปรัชญา ตอบไว้ว่า 

ถ้าความรู้หมายถึง ความรู้ที่ได้มีการฝึกปฏิบัติจนเคยชิน และปฏิบัติได้สม่ำเสมอเป็นอาจิณแล้ว ผู้ที่มีความรู้เช่นนี้ย่อมจะมีคุณธรรมอย่างแน่นอน แต่ถ้าความรู้หมายถึงความรู้ตามทฤษฎีเท่านั้น ยังไม่ได้ทดลองปฏิบัติอย่างจริงจัง ย่อมจะรับรองไม่ได้ว่าผู้มีความรู้เช่นนี้จะมีคุณธรรมแล้ว เพราะยังไม่รู้ว่าเมื่อต้องปฏิบัติจริง ๆ จะสามารถเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ในบรรยากาศหนึ่งเป็นคนเรียบร้อย แต่อีกบรรยากาศหนึ่งประพฤติตัวตรงกันข้าม ทั้งนี้แล้วแต่ความเคยชิน ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดมีถมไป (กีรติ บุญเจือ, 2551)

          พระพุทธศาสนาสอนว่า ใครปฏิบัติจนบรรลุภาวะโสดาบันแล้วจะไม่ทำบาปอีก ศาสนาคริสต์สอนว่า ใครปฏิบัติความจงรักภักดีจนจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าแล้ว จะไม่มีวันถอยห่างออกมาอีก

          “ความรู้คู่คุณธรรม” มิได้อยู่ในข่ายนี้ เพราะเป็นคติพจน์ชักชวน จึงอยู่ในจำพวกข้อความชักชวน ไม่ใช่ข้อความบ่งข้อเท็จจริงอย่างของซาคเครอทิสข้างต้น ส่วน “คุณธรรมนำความรู้” นั้น ตามหลักวิชาการเป็นไปไม่ได้ นอกจากจะกล่าวว่า “คุณธรรมนำความรู้วิชาชีพ” ซึ่งเป็นความหมายของข้อความชักชวน ไม่ใช่ข้อความบ่งข้อเท็จจริง เพราะความเป็นจริงแล้ว คุณธรรมคือการปฏิบัติจนเป็นนิสัย และการปฏิบัติคุณธรรมใดต้องรู้เรื่องคุณธรรมนั้นเสียก่อน

 

2. ความกล้าหาญ (Fortitude, Courage)

         2.1 ความกล้าหาญคืออะไร

         กล้าหาญทางกายภาพ ได้แก่ กล้าเสี่ยงความยากลำบาก อันตรายและความตายเพื่ออุดมการณ์

          กล้าหาญทางจิตใจ ได้แก่ กล้าเสี่ยงการถูกเข้าใจผิด กล้าเผชิญการใส่ร้ายและเยาะเย้ย เมื่อมั่นใจว่าตนเองกระทำความดี

          2.2 กล้ากลับตัวจากกิเลสหนาสู่คุณธรรม

              การกลับใจอยากทำดีหนีชั่วอาจจะเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน แต่การกลับตัวจากกิเลสสู่คุณธรรมนั้นต้องการเวลา กิเลสยิ่งหนาก็ยิ่งต้องการเวลาขัดเกลากิเลสมากขึ้นจนกว่าจะเบาบางพอที่คุณธรรมจะเริ่มฟักตัว จุดเริ่มต้นของการกลับตัวก็คือการกลับใจ ต้องมีความอยากละกิเลสสู่คุณธรรมเป็นเบื้องต้น รื้อฟื้นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตด้วยศรัทธาเป็นขั้นสอง ขั้นสามก็คือต้องตั้งใจทำให้กิเลสนั้นล้มเหลว คือ มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ กล้าหาญที่จะเชิญต่อปัญหาหรือหรือสถานการณ์ที่เอื้อต่อกิเลส พยายามระงับตน ข่มใจ ไม่ปล่อยตัวไปตามกิเลส อย่างเช่น นาย ก. เป็นคนโมโหร้าย เขาจะต้องตั้งใจไว้ให้แน่วแน่ กล้าเผชิญหน้ากับความโมโหโดยคิดว่า หากโอกาสที่จะโมโหมาถึง เขาจะพยายามคุมสติกั้นโมโหให้ได้ (พูดตามสำนวนชาวบ้านว่าทำให้กิเลสเก้อ) ความตั้งใจเช่นนี้มิใช่ว่าจะสมหวังได้ง่าย ๆ ทั้งนี้แล้วแต่ว่ากิเลสหนามากน้อยเพียงไร ถ้ากิเลสหนามากก็จะต้องล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ให้มีความกล้าเผชิญกับความล้มเหลวและตั้งใจใหม่ให้แน่วแน่ทุกครั้ง โดยถือคติว่า “ล้มเหลวเป็นพันครั้ง ดีกว่าไม่กล้าลงมือทำเลยแม้สักครั้ง” การตั้งใจใหม่ทุกครั้งจะทำให้กิเลสเบาบางลงโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว จนในที่สุดจะมีสักครั้งหนึ่งที่เริ่มคุมสติได้สำเร็จ (คือทำกิเลสเก้อได้สำเร็จ) เมื่อทำให้กิเลสล้มเหลวได้ครั้งหนึ่ง กิเลสจะอ่อนกำลังลงทันที ให้ตั้งใจใหม่และคุมสติให้มั่นต่อไป ทำให้กิเลสล้มเหลวได้แต่ละครั้งจะทำให้กิเลสอ่อนพลังลงทุกครั้ง ครั้นกิเลสอ่อนกำลังลงพอสมควรแล้ว ก็ให้ตั้งใจประพฤติดีตรงข้ามกับกิเลสแทนการตั้งใจต่อต้านกิเลสอย่างในกรณี นาย ก. เจ้าโทสะที่ยกตัวอย่างมานี้ก็คือ ให้ตั้งใจยกย่องให้เกียรติทุกคนและให้หาโอกาสบริการทุกคนด้วยใจเอื้อเฟื้อ ความตั้งใจประพฤติดีไม่ว่าจะในเรื่องใด อาจจะต้องตั้งใจหลายครั้งกว่าจะสำเร็จได้เป็นครั้งแรก สำเร็จได้เมื่อใดก็เรียกได้ว่า ประพฤติดีแล้ว 1 ครั้ง แต่ก็ยังเป็นเพียงความประพฤติเท่านั้นยังไม่ถึงขั้นเคยชินเป็นคุณธรรม จะต้องตั้งใจทำดีต่อไปให้ได้ความประพฤติครั้งที่ 2, 3, 4, 5 ฯลฯ จนกว่าจะเคยชินประพฤติดีโดยอัตโนมัติ เป็นอันว่ากลับตัวจากกิเลสหนาสู่คุณธรรมได้สำเร็จ เรียกว่าดีถึงขั้นในด้านหนึ่ง ให้ฝึกฝนคุณธรรมด้านอื่น ๆ ต่อไปจนกว่าจะเป็นคนสมบูรณ์แบบ (perfect man) นั่นคือ มีคุณธรรมแม่บทครบถ้วนทั้ง 4 ประการ เป็นคนเปี่ยมคุณธรรม (integrity)

 

3. ความรู้จักประมาณหรือความพอเพียง (Temperance, Sufficiency) 

          สัตว์มีสัญชาตญาณกระตุ้นให้กระทำกิจการบางอย่างเพื่อการอยู่รอดของมันเองและเผ่าพันธุ์ เมื่อหมดความจำเป็นสัญชาตญาณนั้นก็หยุดทำงานโดยอัตโนมัติ มนุษย์มีสัญชาตญาณเช่นกัน แต่มนุษย์ยังมีความสำนึก สามารถสำนึกและปลุกสัญชาตญาณได้ตามใจ มนุษย์จึงมีสัญชาตญาณเลยเถิดจนเกินจำเป็นตามธรรมชาติ จนบางครั้งปลุกสัญชาตญาณเพื่อความพึงพอใจเท่านั้น การไม่รู้จักควบคุมพลังในตัวให้อยู่ในขอบเขตของจุดมุ่งหมายในชีวิต มักจะก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากมากมายแก่ตนเองและสังคม เพื่อเมื่อคนหนึ่งใช้พลังเลยขอบเขตอย่างไม่ถูกต้องก็มักจะก้าวก่ายสิทธิอันชอบธรรมของผู้อื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อยากจะสร้างความมั่นคงให้แก่อนาคตของตนเองและของทายาท ก็จะหาวิธีสะสมสมบัติไว้มาก ๆ โดยวิธีไม่สุจริต เป็นต้น คุณธรรมการรู้จักประมาณช่วยให้รู้ว่าอะไรควรอยู่ในขอบเขตแค่ไหน การไม่ใช้สัญชาตญาณเลยจะทำให้คนไร้พลังและไร้ประโยชน์ การใช้สัญชาตญาณเกินขอบเขตก็มักจะก่อความเดือดร้อน จึงต้องฝึกให้รู้จักอยู่ในขอบเขตอันควรในแต่ละสภาพและฐานะของบุคคล

 

4. ความยุติธรรม (Justice)

          4.1 ความยุติธรรมคืออะไร

          ความยุติธรรม ได้แก่ การให้แก่ทุกคนและแต่ละคนตามความเหมาะสม (giving each his due) ดังที่แอร์เริสทาทเทิลได้นิยามว่า นั่นคือ เราต้องรู้ว่าเรามีกำลังให้เท่าไร ควรให้แก่ใครเท่าไรและอย่างไร เช่น แก่ตัวเราเอง แก่บุคคลในครอบครัว แก่บุคคลในวงศ์ญาติ และแก่เพื่อนฝูงมิตรสหาย แก่บุคคลร่วมงาน แก่ผู้บังคับบัญชา แก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ฯลฯ ความยุติธรรมเป็นพื้นฐานของคุณธรรมทุกอย่าง ดังที่เพลโทว์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ อาจจะกล่าวได้ว่า คุณธรรมอื่น ๆ เป็นเพียงแง่ต่าง ๆ ของความยุติธรรมนั่นเอง ความยุติธรรมจึงเป็นแก่น หรือสาระของคุณธรรมทุกชนิด ผู้ใดมีความยุติธรรมสูงย่อมเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมทุกอย่าง คุณธรรมบางอย่างอาจจะไม่ปรากฏออกมาให้เห็นเพราะไม่มีโอกาสจะแสดงออกมา แต่เมื่อมีโอกาสเมื่อใดก็พร้อมที่จะแสดงออกได้ทันทีอย่างถูกต้องและเพียบพร้อม ผู้มีความยุติธรรมสูงจึงเป็นผู้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยในตัว สังคมที่มีความยุติธรรมย่อมเป็นสังคมที่สงบสุขเพราะทุกคนมั่นใจได้ว่าตนเองจะได้รับสิทธิอันชอบธรรม หากมีผู้ละเมิดก็จะได้รับการลงโทษอันควรแก่โทษานุโทษ จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีใครอยากจะละเมิดโดยง่าย

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากได้มีความพยายามที่จะนิยามความยุติธรรมเพื่อตอบสนองความเห็นแก่ตัวอยู่เนือง ๆ จึงมีปัญหาต้องขบคิดกันเรื่อยมาว่า อะไรคือความยุติธรรมที่เราจะต้องปฏิบัติในสังคม สมาชิกประเภทใดในสังคมสมควรได้รับสิทธิแค่ไหน ใครจะเป็นผู้กำหนด และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นใครจะเป็นผู้ชี้ขาด จึงนับว่าเป็นปัญหาหนึ่งที่นักจริยศาสตร์ด้านต่าง ๆ จะต้องช่วยกันขบคิดเรื่อยไปในทุกยุคทุกสมัยทุกเวลาและสถานที่ เช่น ในปัจจุบันกำลังมีปัญหาที่ขบคิดกันว่า ควรให้บุคคลมีทรัพย์สินเท่าไรจึงจะยุติธรรม การทำแท้งอย่างเสรีจะยุติธรรมหรือไม่ ใครควรเสียภาษีให้รัฐเท่าไรจึงจะยุติธรรม รัฐจะต้องช่วยคนจนอย่างไรจึงจะยุติธรรมและไม่เป็นการส่งเสริมให้พลเมืองเกียจคร้าน เมื่อถูกกระบวนการก่อการร้ายจู่โจมอย่างกรณีศูนย์การค้าโลกแห่งนิวยอร์กพึงดำเนินการอย่างไรจึงจะยุติธรรม เป็นต้น

          4.2 วิวัฒนาการของมาตรการความยุติธรรม

               1) ความยุติธรรมคือการแก้แค้น ในสมัยแรก ๆ ของมนุษยชาติจะพบหลักฐานโดยทั่วไปว่า ความยุติธรรมคือการแก้แค้น เช่น ถ้าญาติคนหนึ่งถูกรังแก ทุกคนในวงศ์ตระกูลจะช่วยกันแก้แค้น มิฉะนั้น จะไม่ยุติธรรมแก่ผู้ที่ถูกรังแก วิธีแก้แค้นทำได้ตามใจ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียหายให้มากที่สุดเป็นใช้ได้ หรือถ้าคนในเผ่าถูกฆ่าตาย ทุกคนในเผ่าจะถือเป็นหน้าที่ที่ต้องแก้แค้นเพื่อความยุติธรรมแก่ผู้ตาย ความรู้สึกที่ว่าต้องรักษาความยุติธรรมในทำนองนี้ยังมีอยู่ในสมัยปัจจุบัน ผู้รักษากฎหมายบ้านเมือหย่อนสมรรถภาพ ณ ที่ใด ประชาชนจะจัดการกันเองตามความยุติธรรมแห่งการแก้แค้น ภาพยนตร์จีนที่ถือว่าการแก้แค้นเป็นคุณธรรม (แค้นนี้ต้องชำระ) เป็นเรื่องของวรรณกรรมจีนที่เกิดขึ้นในระยะเวลาดังกล่าว ผู้ชมพึงตระหนักถึงเรื่องนี้และไม่ควรถือเอาเป็นแบบอย่างของคุณธรรมสำหรับคนในสมัยปัจจุบัน กฎหมายที่กำหนดให้ลงโทษ 7 ชั่วโคตรก็จัดอยู่ในประเภทเดียวกันนี้

             2) ความยุติธรรมคือการตอบโต้ ณ ที่ใดอารยธรรมก้าวหน้าพอควรแล้ว ผู้มีอำนาจจะออกกฎหมายควบคุมการแก้แค้น เพราะเห็นว่า การปล่อยให้แก้แค้นกันเองตามใจชอบโดยไม่มีมาตรการควบคุมนั้นมักจะกระทำกันเลยเถิด ฝ่ายที่ถูกแก้แค้นก็จะรู้สึกว่าฝ่ายตนได้รับความ อยุติธรรม เพราะฉะนั้น ต้องควบคุมพรรคพวกมาแก้แค้นบ้าง แก้แค้นกันไปแก้แค้นกันมา ความเสียหายจะหนักเข้าทุกทีจนล่มจมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อยับยั้งการทำลายล้างเช่นนี้ ผู้มีอำนาจมักจะออกกฎหมายควบคุมโดยห้ามการแก้แค้นกันอย่างเสรีเสีย แต่อนุญาตให้ตอบโต้กันได้อย่างยุติธรรมเป็นทางการ เช่น ใครเป็นฆาตกรก็ควรให้เขาผู้นั้นถูกฆ่าตายตามกันไป ใครทำให้แขนเขาขาด ก็ควรถูกตัดแขนให้ขาดตามกันไป กฎหมายฉบับแรกของโลกซึ่งประกาศออกใช้โดยกษัตริย์แฮมเมอแรบบิเดินตามมาตรการยุติธรรมดังกล่าวดังปรากฏในตัวบทกฎหมายว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เป็นต้น กฎหมายของโมเสสที่ประกาศใช้คัมภีร์พันธสัญญาเดิม ก็เดินตามมาตรการความยุติธรรมดังกล่าวด้วย 

          มาตรการความยุติธรรมของชนชาติโบราณทั่ว ๆ ไป และของเผ่าที่ล้าหลังในปัจจุบันก็คงเป็นไปในทำนองนี้เป็นส่วนมาก แต่ก็พึงสังเกตว่ามาตรการนี้มีความก้าวหน้าด้านมนุษยธรรมมากกว่ามาตรการแรกอย่างเห็นได้ชัดทีเดียว ทั้งแฮมเมอแรบบิและโมเสสจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปกครองยอดเยี่ยม

             3) ความยุติธรรมคือการชดใช้ ต่อมามนุษย์เราเริ่มเล็งเห็นว่า การตอบโต้โดยทำความเสียหายให้แก่ฝ่ายทำผิดนั้นมิได้ทำให้ฝ่ายตอบโต้ได้ดีอะไรขึ้นมาเลย เพราะของที่เสียไปก็เสียไปแล้ว ควรจะให้สิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์ชดใช้สิ่งที่เสียไปจะดีกว่า เช่นนี้จะเป็นความยุติธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกทำร้ายมากกว่า ผู้มีอำนาจจึงวางมาตรการปรับเป็นสิ่งของหรือเป็นจำนวนเงินขึ้น และเพื่อให้เข็ดหลาบก็มีการทรมานให้เจ็บปวดด้วย กฎหมายไทยตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เดินตามมาตรานี้ ซึ่งก็นับว่าก้าวหน้ากว่ามาตรการเดิมอย่างมาก

             4) ความยุติธรรมคือการให้โอกาสป้องกันตัว แต่เดิมฝ่ายที่ฟ้องเป็นฝ่ายได้เปรียบ ฝ่ายที่ถูกฟ้องแม้ไม่ได้ทำผิดก็มักจะแก้ตัวไม่ได้ ต่อมา เมื่อมีการปรักปรำใส่ร้ายกันมากขึ้นจึงเห็นได้ว่าการลงโทษโดยไม่ให้โอกาสจำเลยแก้ตัวนั้นไม่ยุติธรรม จึงได้มีการออกกฎหมายเปิดโอกาสให้จำเลยได้ป้องกันตัวเอง และถ้าโจทย์ไม่มีหลักฐานหนักแน่นพอก็ต้องยกผลประโยชน์ให้แก่จำเลย ดังนั้น มาตรการของศาลสถิตยุติธรรมในปัจจุบันย่อมถือว่า จำเลยไม่ผิดเว้นแต่จะมีหลักฐานผูกมัดเพียงพอ การปรับปรุงการศาลของพระปิยมหาราชเดินตามมาตรการนี้ และกฎหมายไทยยังยึดถือเป็นหลักจนตราบเท่าทุกวันนี้ ผลก็คือ ผู้ร้ายได้ใจไปตาม ๆ กัน นักเขียนการ์ตูน ประยูร จรรยาวงษ์ล้อเลียนอยู่บ่อย ๆ ว่ากฎหมายชราภาพ อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ต้องนับว่าดีที่สุดเท่าที่จะกำหนดได้ในระบบการศาล ช่องโหว่ที่มีอยู่ก็ต้องคิดหาวิธีอุดกันต่อไปอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

             5) ความยุติธรรมคือการเสวนา ในสภาพปัจจุบันนักแก้ปัญหาต้องไมมองปัญหาอะไรเพียงด้านเดียว แต่จะต้องพยายามมองให้รอบด้านเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับสถานการณ์ตลอดจนตัวปัญหา และความต้องการของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งนี้จะได้ทางสายกลางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละสถานการณ์ ในเรื่องของความยุติธรรมก็เช่นกัน จะระบุลงไปเป็นสูตรสำเร็จรูปไม่ได้ว่าอย่างไรจึงจะยุติธรรม เราควรใช้วิธีการวิเคราะห์ปัญหาและพิจารณาส่วนได้ส่วนเสียจาก ทุกทาง เพื่อประมวลหาความเหมาะสมแต่ละครั้ง นี่คือความยุติธรรมแบบเสวนา (dialogue) เป็นการเจรจาเพื่อเข้าใจปัญหา ความคิดเห็น ความต้องการ และสถานการณ์เกี่ยวข้องทุกอย่าง โดยมีความจริงใจและบริสุทธิ์ใจต่อกัน ผิดกับการเจรจาเพื่อต่อรองซึ่งต่างฝ่ายต่างมุ่งเรียกร้องและรักษาผลประโยชน์ของตนอย่างเต็มที่ วิธีหลังนี้เกิดความยุติธรรมได้ยาก จึงควรฝึกการเจรจาแบบเสวนากันในทุกรูปแบบ ความยุติธรรมและความสงบสุขร่มเย็นจึงมีความหวังจะเกิดขึ้นได้ในสังคมปัจจุบันของเรา ด้วยนิยามยุติธรรมจากการเสวนาเพื่อให้แก่แต่ละคนตามสิทธิ จึงเรียกได้ว่ามีความเป็นธรรม (righteousness, fairness) พระพุทธเจ้าทรงแก้ปัญหาโดยให้ฝึกฝนจาคะยิ่งกว่าจะเรียกร้องความยุติธรรมตามกฎหมาย พระเยซูทรงเน้นให้อภัยถึง 70 x 70 ครั้ง

          กล่าวโดยสรุป คุณธรรมเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพ ผู้ที่สนใจพัฒนาบุคลิกภาพจึงต้องสนใจฝึกฝนคุณธรรมตามความต้องการของสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง คุณธรรมจะมีได้ก็ต้องอาศัยทั้งความรู้และการฝึกฝน ต้องกล้าเผชิญหน้ากับสถานการณ์ คุณธรรมจึงจะพัฒนาได้เต็มที่ จะผิดเพลี่ยงพล้ำไปบ้างก็ให้ผิดเป็นครูก็แล้วกัน ผู้ไม่ผิดเพราะไม่ยอมเผชิญหน้ากับความรับผิดชอบยังไม่ใช่คนดีแท้ ถ้ามนุษย์เรากล้าเผชิญหน้ากับความรับผิดชอบเพื่อพัฒนาคุณธรรมให้แข็งแกร่งกันอย่างจริงจัง โลกของเราคงจะน่าอยู่มากกว่านี้มาก ทั้งนี้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นตรงกันหรือปกครองด้วยระบอบเดียวกัน

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป. (2565). ผศ. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาปรัชญาและจริยศาสตร์สมัยใหม่ (PHE 8107). สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า 35 - 42.

หมายเลขบันทึก: 710638เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท