วิเคราะห์ความหมายของจริยศาสตร์และจริยธรรม


วิเคราะห์ความหมายของจริยศาสตร์และจริยธรรม

 

          จากการศึกษาความหมายของคำว่า “จริยศาสตร์” และ “จริยธรรม” ของนักวิชาการแต่ท่าน สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้

          1. ทุกท่านมีทรรศนะตรงกันว่า “จริยศาสตร์” และ “จริยธรรม” เป็นเรื่องของความประพฤติ ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า conduct ไม่ได้เป็นเพียงพฤติกรรม (behavior) ที่ไร้มโนธรรมชี้นำ เช่น พฤติกรรมการหายใจ เป็นต้น “ความประพฤติ” เป็นพฤติกรรมที่มีมโนธรรม (conscience) เป็นส่วนประกอบ กำหนดเป้าหมาย (มีเสรีภาพที่จะปฏิเสธ) เช่น นายแดงมองเห็นมะม่วงสุกคาต้น เขารู้สึกอยากกิน แต่มีมโนธรรมสำนึกว่ามะม่วงนั้นมีเจ้าของ เขาจึงปฏิเสธที่จะไม่กิน (คือทำตามที่มโนธรรมชี้แนะ) ต่างจาก “พฤติกรรม” ซึ่งเป็นการกระทำโดยมีสัญชาตญาณกำหนดเป้าหมาย (ไม่มีเสรีภาพที่จะปฏิเสธ) เช่น นก กระรอก กระแต เมื่อเห็นมะม่วงสุกคาต้น ถ้ามันอยากกินมันก็จะกินไปตามสัญชาตญาณของมัน เป็นต้น

          2. สาเหตุที่นักวิชาการแต่ละท่านให้คำนิยามแตกต่างกัน อาจเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

             1) เกิดจากการตีความในบริบทที่แตกต่างกัน เช่น บางท่านตีความในบริบทของตะวันตกหรือตามหลักวิชาการสากล เช่น กีรติ  บุญเจือ และ ชัยวัฒน์  อัตพัฒน์ เป็นต้น 

             แต่บางท่านตีความในบริบทของศาสนา จึงอธิบายในเชิงศีลธรรม (morals) เช่น วศิน  อินทสระ เป็นต้น

             2) เกิดจากการตีความในภาษาที่ต่างกัน กล่าวคือ บางท่านตีความหมายจากรากศัพท์ของคำในภาษาอังกฤษว่า “ethics” และ “ethic” เช่น ราชบัณฑิตยสถาน และ M. Rosenthal and  P. Yudin เป็นต้น แต่บางท่านตีความหมายจากคำในภาษาไทยว่า “จริยศาสตร์ และ จริยธรรม” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต เช่น พระมหามฆวินทร์ ปุริสุตฺตโม  วิทย์ วิศเวทย์ และเสฐียร  วรรณปก เป็นต้น

          3. นักวิชาการบางท่านเห็นว่า จริยธรรมกับศีลธรรมน่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น วศิน  อินทสระ เป็นต้น แต่บางท่านพยายามอธิบายให้เห็นว่า จริยธรรมกับศีลธรรม มีความแตกต่างกันอยู่ เช่น กีรติ บุญเจือ เป็นต้น กล่าวคือ จริยธรรม เป็นคุณธรรมชุดหนึ่ง ๆ ที่ทำให้คนคนหนึ่งหรือคนประเภทหนึ่งเป็นคนดี ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่ศีลธรรม แม้จะมีความหมายไปในทิศทางเดียวกันกับจริยธรรม แต่ใช้ในเรื่องของศาสนาโดยเฉพาะ

          จากการวิเคราะห์ข้างต้น ทำให้เราทราบถึง “เบื้องหลังของความเข้าใจ” ในนิยามศัพท์ทางจริยศาสตร์ว่า การที่นักวิชาการแต่ละท่านให้ความหมายของคำว่าจริยศาสตร์และจริยธรรมแตกต่างกัน ก็เพราะมีการตีความเนื้อคำ (text) ในบริบทที่ต่างกัน กล่าวคือ บางท่านตีความคำว่า จริยศาสตร์และจริยธรรมในบริบทของปรัชญาตะวันตก โดยตีความจากคำในภาษาอังกฤษว่า “ethics” และ “ethic” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละติน และเลียนแบบเสียงมาจากภาษากรีก แต่มีบางท่านตีความในบริบทของปรัชญาศาสนา โดยตีความจากคำในภาษาไทยว่า “จริยศาสตร์” และ “จริยธรรม” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี และสันสกฤต

          สำหรับเอกสารเล่มนี้ ผู้เขียนยึดเอาความหมายในบริบทของปรัชญาตะวันตกเป็นหลัก เพื่อศึกษาวิชาจริยศาสตร์ตามหลักวิชาการสากล ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า จริยศาสตร์ หรือ ethics หมายถึง วิชาว่าด้วยความประพฤติของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับความดีชั่ว ซึ่งมีมโนธรรมคือ ความสำนึกดีชั่วเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมกลายเป็นความประพฤติ รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อันเป็นเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ตัดสินใจด้วยเจตจำนงเสรี (free will) เฉพาะตัวว่า จะทำดีหรือทำชั่ว

          ส่วน จริยธรรม หรือ ethic หมายถึง คุณธรรมชุดหนึ่ง ๆ ที่ทำให้คนคนหนึ่ง หรือคนประเภทหนึ่งเป็นคนดี ซึ่งเป็นความประพฤติกลาง ๆ ที่ไม่ขึ้นกับศาสนา เช่น จริยธรรมสากลหรือมนุษยธรรม (humanness) เป็นต้น แต่ถ้าเป็นจริยธรรมของศาสนา เรียกว่า ศีลธรรม (morals) ซึ่งเป็นประมวลกฎเกณฑ์ความประพฤติของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป. (2565). ผศ. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาปรัชญาและจริยศาสตร์สมัยใหม่ (PHE 8107). สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า 25 - 26.

หมายเลขบันทึก: 710636เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 12:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท