ความหมายของจริยศาสตร์


ความหมายของจริยศาสตร์

 

          “จริยศาสตร์” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Ethics (ราชบัณฑิตยสถาน, 2540, หน้า 34) ในภาษากรีกใช้คำว่า Peri ethikes ซึ่งมาจากรากศัพท์ Ethos แปลว่า ขนบธรรมเนียม ภาษาละตินใช้คำว่า Ethica (Leo F. Stelten, 1997) ซึ่งเลียนแบบเสียงมาจากภาษากรีกนั่นเอง 

          ส่วน “จริยธรรม” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า ethic (กีรติ  บุญเจือ, 2522) ในภาษากรีกใช้คำว่า ethike (ออกเสียงว่า techne) (Liddell and Scott, 1949) 

          คำว่า ethic มาจากภาษาละตินโบราณ 2 คำ คือ ethos กับ mores 

          ethos หมายถึง อุปนิสัย หลักของการประพฤติ (ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์, 2534) ซึ่งก็คือเรื่องของขนบธรรมเนียมนั่นเอง

          ส่วน mores หมายถึง จารีต หรือวิถีปฏิบัติของชาวบ้านที่ถือกันว่าจะนำไปสู่ความผาสุก ของสังคมด้วยการสังเกตโดยทั่วไป (เจษฎา ทองรุ่งโรจน์, 2547) 

          จากการศึกษาแนวคิดของนักวิชาการ พบว่า ได้มีผู้ให้ความหมายของคำว่า จริยศาสตร์  ไว้ดังนี้

          ราชบัณฑิตยสถาน (2540) มีมติร่วมกันว่า จริยศาสตร์ หมายถึง ปรัชญาสาขาหนึ่งที่ว่าด้วยการแสวงหาความดีสูงสุดของชีวิตมนุษย์ แสวงหาเกณฑ์ในการตัดสินความประพฤติของมนุษย์ว่าอย่างไหนถูกไม่ถูก ดีไม่ดี ควรไม่ควร และพิจารณาปัญหาเรื่องสถานภาพของค่าทางศีลธรรม 

          กีรติ  บุญเจือ (2551) ราชบัณฑิตสาขาปรัชญา ให้คำนิยามไว้ว่า จริยศาสตร์ หมายถึง วิชาว่าด้วยจริยธรรม 

          และอธิบายเพิ่มเติมว่า ในส่วนศีลธรรม (morals) คือ ประมวลกฎเกณฑ์ความประพฤติของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง (กีรติ  บุญเจือ, 2551)

          ชัยวัฒน์  อัตพัฒน์ (2534) อธิบายว่า จริยศาสตร์เป็นภาษาสันสกฤต (จริย + ศาสตร์) แปลตามตัวอักษรว่าศาสตร์ที่ว่าด้วยความประพฤติหรือศาสตร์แห่งความประพฤติ ดังนั้น จริยศาสตร์จึงศึกษาว่า อะไรควรเว้น อะไรควรทำ อะไรผิด อะไรถูก อะไรดี อะไรชั่ว

          บุญมี  แท่นแก้ว (2539) ชี้แจงว่า จริยศาสตร์หรือบางทีเรียกว่า “จริยปรัชญา” เป็นวิชาที่กล่าวถึง “แนวทางความประพฤติที่เหมาะสม กริยาที่ควรประพฤติ”

          เจษฎา ทองรุ่งโรจน์ (2547) นิยามว่า จริยศาสตร์ หมายถึง ปรัชญาว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานในการตัดสินหรือการวินิจฉัยความประพฤติหรือค่าทางศีลธรรม

          วีระ  สมใจ (2535) กล่าวว่า จริยศาสตร์ มาจากรากศัพท์ 2 คำ ที่สนธิกัน คือ จริย + ศาสตร์ คำว่า จริยะ แปลว่า ความประพฤติ กิริยาที่ควรปฏิบัติ คำว่า ศาสตร์ แปลว่า วิชา ดังนั้น จริยศาสตร์จึงแปลตามศัพท์ว่า วิชาที่ว่าด้วยความประพฤติ กริยาที่ควรประพฤติ

          M. Rosenthal and P. Yudin (1967) ให้ความหมายไว้ว่า จริยปรัชญาเป็นสาขาหนึ่ง ของปรัชญาที่กล่าวถึงความประพฤติของมนุษย์ว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด ตลอดทั้งมาตรการหรือเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อตัดสินมาตรฐานทางจริยธรรม

          จากการให้ความหมายของนักวิชาการ สรุปได้ว่า จริยศาสตร์เป็นวิชาหรือศาสตร์ที่ศึกษาถึงความประพฤติของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับความดีความชั่ว ตลอดถึงเกณฑ์ตัดสินพฤติกรรมดีชั่วเหล่านั้น

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป. ผศ. (2565). เอกสารประกอบการสอนรายวิชาปรัชญาและจริยศาสตร์สมัยใหม่ (PHE 8107). สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า 21 - 22.

หมายเลขบันทึก: 710634เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 12:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท