เพลินพัฒนา  โรงเรียนนักใช้ KM เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง  พัฒนาสู่การใช้ KLR


 

วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๕ ผมไปร่วม งานมหกรรม KM “ชื่นใจได้เรียนรู้กับครูใหม่”  โบราณคดีของการจัดการความรู้ (Archaeology of Knowledge Management)    ซึ่งเป็นมหกรรม KM ครั้งที่ ๒๒ ของโรงเรียนเพลินพัฒนา แผนกประถม   เป็นการทบทวนหรือถอดบทเรียนการดำเนินการของครูใหม่ (วิมลศรี ศุษิลวรณ์) ผู้ล่วงลับ (๑)    ที่เป็นผู้นำเครื่องมือจัดการความรู้มาใช้ในโรงเรียนเพลินพัฒนาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา    ส่งผลให้โรงเรียนเพลินพัฒนาเป็น Learning Organization)     โดยครั้งนี้ผมไปร่วมที่โรงเรียน     

หลังการเข้าร่วม มหกรรม ครั้งที่ ๒๐ ของโรงเรียนเพลินพัฒนา เมื่อปีที่แล้ว ทางออนไลน์    ผมสะท้อนคิดไว้ที่ (๒)     จะเห็นว่า ผมยุให้ลองเอางานวิจัย R2R มาใช้เป็นเครื่องมือเสริมการเรียนรู้   มีผลให้ในคราวนี้มีกำหนดการดังนี้

 

 กำหนดการ 

งานมหกรรม KM “ชื่นใจได้เรียนรู้กับครูใหม่”

โบราณคดีของการจัดการความรู้  Archaeology of Knowledge Management   วันพุธที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๕ 
๐๘.๐๐ – ๐๘.๑๕ น.  ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน 
๐๘.๑๕ – ๐๘.๓๐ น.  สมาธิยามเช้า 
๐๘.๓๐ – ๐๙.๐๐ น. 

ชื่นใจได้เรียนรู้กับ ครูของครู 

- ชมวีดิทัศน์ ครูของครู 

- สานต่อเจตนารมณ์ 

๐๙.๐๐ – ๐๙.๔๕ น.  จุดเริ่มต้นของการก่อร่างสร้างการจัดการความรู้ของครูใหม่ โดย ครูปาด 
๐๙.๔๕ – ๑๐.๔๕ น. 

ชมนิทรรศการ ชื่นใจได้เรียนรู้กับครูใหม่ 

- จิตวิญญาณความเป็นครู 

- สุนทรียะ ความงาม ความละเอียด ประณีตในการทางาน 

- การจัดการเรียนการสอน 

- ครูผู้เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ 

- ครูที่มองหา มองเห็น และทำให้เห็น 

- การเป็นนักเรียนรู้ของครูใหม่ 

๑๐.๔๕ – ๑๑.๐๐ น.  รับประทานอาหารว่าง 
๑๑.๐๐ – ๑๑.๔๐ น.  สานเสวนาสร้างการเรียนรู้จากครูใหม่  
๑๑.๔๐ – ๑๒.๑๐ น.  แบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากครูใหม่ร่วมกัน  
๑๒.๑๐ – ๑๓.๑๐ น.  พักรับประทานอาหารกลางวัน  
๑๓.๑๐ – ๑๓.๒๐ น.  ผ่อนพักตระหนักรู้ 
๑๓.๒๐ – ๑๔.๒๐ น.  จุดเริ่มต้น KM เพลินพัฒนา โดย KO รุ่น ๑ 
๑๔.๒๐ – ๑๔.๔๐ น.  อาจารย์วิจารณ์ สะท้อน  
๑๔.๔๐ – ๑๕.๐๐ น.  พักรับประทานอาหารว่าง  
๑๕.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.  Beautiful Journey of KM to KLR 
๑๖.๐๐ – ๑๖.๓๐ น.  ตั้งปณิธานสานงาน KLR 
๑๖.๓๐ – ๑๖.๔๕ น.  สะท้อนความรู้สึก 
๑๖.๔๕ – ๑๗.๐๐ น.  ร่วมกันร้องเพลง We shall overcome 

 

จะเห็นว่า ช่วง ๑๕.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.  นำเสนอเรื่อง Beautiful Journey from KM to KLR   คำว่า KLR ย่อมาจาก KM & Learning Research   ซึ่งเป็นการทำงานวิจัยการเรียนการสอน    ซึ่งเป็น R2R (Routine to Research) หรือการทำงานวิจัยจากงานประจำของครูนั่นเอง   

โรงเรียนเพลินพัฒนาใช้งานมหกรรม KM เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูในรอบครึ่งปี    และเชิญคนนอกมาฟังและให้ข้อสะท้อนคิด   เพื่อนำข้อสะท้อนคิดเหล่านั้นไปหาทางดำเนินการยกระดับการเรียนรู้ของครูอย่างไม่หยุดยั้ง    สู่การยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง   

ผมให้ข้อสะท้อนคิด ๒ ข้อ

ข้อแรก  คำสำคัญ ๖ คำ    สืบเนื่องจากที่มีการกล่าวในตอนเช้า ถึงการทำงานด้วย ความรู้ กับ ความรัก     ผมจึงเสนอคำอีก ๔ คำ ที่มีความสำคัญมากต่อชีวิตการเป็นครู คือ แรงบันดาลใจ  การเรียนรู้ ความสุข  และ จินตนาการ

แรงบันดาลใจ เป็นพลังภายใน ที่ทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในกิจการต่างๆ รวมทั้งการเรียนรู้   มีผู้กล่าวว่าสิ่งมีค่าที่สุดที่ครูมอบแก่ศิษย์คือแรงบันดาลใจ ไม่ใช่ตัวความรู้หรือทักษะ   

การเรียนรู้  สำคัญกว่าความรู้    เพราะช่วยให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เรื่อยไป    และที่สำคัญยิ่งคือ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง(transformative learning)  

ความสุข เป็นเป้าหมายสำคัญยิ่งกว่าความสำเร็จใดๆ   ชีวิตครูต้องเป็นชีวิตแห่งความสุข   การเรียนรู้ต้องทำให้ศิษย์มีความสุข   ครูต้องมีวิธีทำให้ศิษย์เกิดความสุขจากการเรียนรู้   

จินตนาการ  เป็นสิ่งที่ครูใหม่ใช้นำทางการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนเพลินพัฒนาแผนกประถม มาตั้งแต่เปิดโรงเรียน จนเธอเสียชีวิตไป   คือเธอกล้าคิดเป้าหมายในอนาคต ที่ชัดเจนในเป้าหมาย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะบรรลุได้อย่างไร   ต้องลองทำ โดยไม่กลัวว่าจะไม่สำเร็จ   ทำไปเรียนรู้ไปปรับวิธีการไป   โดยใช้จิตวิทยาเชิงบวก   ไม่ตำหนิคนที่ทำผิดพลาด  และไม่ท้อถอยเมื่อทำไม่สำเร็จ   แต่ใช้ความล้มเหลวเป็นแหล่งเรียนรู้และปรับตัว   มีผลให้โรงเรียนเพลินพัฒนามีวัฒนธรรมของการเรียนรู้    และครูเป็นบุคคลเรียนรู้  อย่างที่เห็นในปัจจุบัน   

ข้อที่สอง  เรื่องการเรียนรู้จากการสะท้อนคิด (reflective learning)    นี่คือเครื่องมือเรียนรู้จากการทำงาน หรือการปฏิบัติ    ที่เรียกว่า experiential learning หรือการเรียนรู้จากประสบการณ์ 

คนเราเรียนรู้จากประสบการณ์ได้ต่างกัน    คนที่ไม่ได้ฝึก reflective learning หรือ experiential learning จะเรียนรู้ได้อย่างผิวเผิน    แต่หากได้ฝึก experiential learning จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างลึก (deep learning) และเชื่อมโยง (transfer learning)    คือสามารถนำความรู้ที่ได้จากประสบการณ์นั้นไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ได้   ตามที่บอกรายละเอียดในหนังสือที่ครูใหม่ทำร่วมกับผม ชื่อ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง  

เครื่องมือฝึกการเรียนรู้จากประสบการณ์ ให้เกิดการเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง (transfer learning) เรียกว่า Kolb’s Experiential Learning Cycle   ที่ผมได้อธิบายไว้อย่างพิสดารที่ (๓) 

คนที่ทำงานไป หมุนวงจรเรียนรู้ Kolb’s Experiential Learning Cycle ไป    จะเกิดนิสัยเป็นคนใฝ่รู้ ไม่ปักใจเชื่อง่ายๆ ตั้งคำถามแล้วนำไปทดลองปฏิบัติ   ในลักษณะที่ครูใหม่ชักชวนครูโรงเรียเพลินพัฒนาทำ   มีผลให้ครูโรงเรียนเพลินพัฒนามีลักษณะนิสัยของการทำงานอย่างที่เห็น    คือไม่กลัวเป้าหมายใหม่ๆ    ร่วมกันทดลองหาทางดำเนินการจนค่อยๆ บรรลุความสำเร็จได้เสมอ   โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของศิษย์   

ผมได้เรียนรู้เส้นทางการประยุกต์ใช้ KM ในโรงเรียนอย่างชาญฉลาดของครูใหม่    ที่นำเอา KM แนวมนุษย์นิยม เน้น กระตุ้นการไหลเวียนของ ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์  ที่ทีมงานของ สคส. คิดขึ้น    โดยใช้วงจร SECI ที่ Professor Nonaka เสนอไว้    ต่อมาครูใหม่นำเครื่องมือ จิตตปัญญา  และสุนทรียเสวนา เข้ามาเสริม    ตามมาด้วย Lesson Study & Open Approach   เป็นการผสานเครื่องมือ ๓ ชุดเข้ามาใช้ขับเคลื่อนคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนและครูโรงเรียนเพลินพัฒนาอย่างต่อเนื่อง   

และบัดนี้เครื่องมือที่ ๔ กำลังเข้ามาผสาน คือ R2R         

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ต.ค. ๖๕

 

1 กับภาพวาดครูใหม่

2 กับครูปาด ศีลวัต ศุษิลวรณ์

3 กับคณะผู้บริหารและครูโรงเรียนวิถีธรรม สกลนคร

4 แสดงกิจกรรมตามช่วงเวลา ๑

 

5 กิจกรรมตามช่วงเวลา ๒

6 Archeology of Knowledge Management 1

7 Archeology of Knowledge Management 2

8 บรรยากาศครูศึกษาโยราณคดีของ KM รร. เพลินพัฒนา

หมายเลขบันทึก: 710553เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2022 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2022 09:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท