ออกแบบกิจกรรมบำบัด จากข้อมูลภาวะเปราะบาง


สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกท่าน … ผู้เขียนเป็นนักศึกษากิจกรรมบำบัด ได้มีโอกาสไปที่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ทำให้ในวันนี้ผู้เขียนก็จะมาออกแบบกิจกรรมบำบัดรายบุคคลให้กับผู้รับบริการ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายการมีงานทำได้โดยพึ่งพิงคนอื่นน้อยที่สุดกันค่ะ

ข้อมูลภาวะเปราะบาง

ผู้รับบริการ ชื่อนามสมมติ คุณ K เป็นโรค Schizophrenia อายุ 44 ปี จากการทำแบบประเมิน PFFS-T ได้ผลการประเมินว่า เป็นผู้ที่มีระดับความเปราะบางในระดับน้อย โดย High 2+ Scores คือ เรื่องของการทำงาน, ความจำและความคิด, น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ 

จากผลการประเมินนี้ทำให้ผู้บำบัดตัดสินใจเลือกการออกแบบกิจกรรมบำบัดรายบุคคล เป็นกิจกรรมทำอาหาร เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ผู้รับบริการสนใจ แต่ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งได้มีแม่ครัวทำอาหารให้อยู่แล้ว ทำให้ไม่มีโอกาสได้ทำอาหารเอง โดยเมื่อก่อนเคยทำอาหารเองแต่ไม่ได้ทำขาย ซึ่งผู้บำบัดเคยจัดกิจกรรมทำอาหารนี้ให้ผู้รับบริการได้ลองทำแล้วพบว่าผู้รับบริการชอบและมีความสุขที่ได้ทำ อีกทั้งกิจกรรมนี้ยังสามารถนำไปต่อยอดประกอบอาชีพได้ในอนาคต ซึ่งตอนนี้ผู้รับบริการยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอยากทำอะไรต่อไป แต่ก็มีความสนใจที่จะเรียนรู้ในอาชีพใหม่ๆ 

การออกแบบกิจกรรมบำบัด

กิจกรรมทำยำวุ้นเส้น 

กิจกรรมทำยำวุ้นเส้น เป็นกิจกรรมที่ช่วยฝึกเรื่องของการจดจำขั้นตอนและความรู้คิด ฝึกทักษะการทำงาน ที่ผู้บำบัดเลือกเมนูยำวุ้นเส้น เพราะว่าเป็นเมนูยอดฮิตที่คนส่วนใหญ่ชอบรับประทาน สามารถนำไปทำขายได้ โดยใช้ต้นทุนในการทำไม่สูงมาก

วัตถุดิบในการทำ

  • วุ้นเส้น 1 ห่อ
  • หมูสับ 100 กรัม (หรือเนื้อสัตว์อื่นๆตามความชอบ)
  • หมูยอ ไส้กรอก ตามชอบ
  • พริก 1 กำมือ
  • น้ำปลา 5 ช้อนโต๊ะ
  • มะนาว 4-5 ลูก 
  • น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ
  • ผงปรุงรส 2 ช้อนชา 
  • หอมแดง 1 หัว
  • ขึ้นฉ่าย 2 ต้น
  • มะเขือเทศ 2 ลูก

ขั้นตอนการฝึกกิจกรรม

1. ผู้บำบัดแนะนำวัตถุดิบ และให้ผู้รับบริการลองพูดทวนชื่อวัตถุดิบให้ได้มากที่สุด

2. ผู้บำบัดอธิบายสาธิตวิธีการทำไปพร้อมกันทีละขั้นตอน

3. ขั้นตอนแรก ให้ลวกเนื้อสัตว์ในน้ำร้อนให้จนสุก

4. ต่อมาแช่วุ้นเส้นในน้ำให้นุ่มตามต้องการ เมื่อเส้นนุ่มแล้วให้ใช้กรรไกรตัดเส้นวุ้นเส้นให้ไม่ยาวจนเกินไป

5. เตรียมชาม ใส่น้ำปลา น้ำมะนาว พริก น้ำตาล และผงปรุงรส ผสมน้ำยำคนให้เข้ากัน ชิมรสตามความชอบ

6. ใส่หมูยอ ไส้กรอก เนื้อสัตว์ที่เตรียมไว้ ตามด้วยหอมแดง ขึ้นฉ่าย และมะเขือเทศ คนให้เข้ากันกับน้ำยำ

7. ลวกวุ้นเส้นที่ได้เตรียมไว้ และใส่ลงไปในชามน้ำยำ คลุกเคล้าให้เข้ากัน

8. ให้ผู้รับบริการชิมและลองคิดปรับปรุงสูตรเป็นของตนเอง ว่าอยากจะปรุงรสหรือใส่วัสดุดิบไหนเพิ่มเติม

9. ให้ผู้รับบริการลองพูดทวนขั้นตอนการทำอีกครั้ง

10. เก็บทำความสะอาดอุปกรณ์

(ขอบคุณรูปจาก : https://www.eatandsleep.blog/cooking/ยำวุ้นเส้น/ )

นอกจากกิจกรรมทำอาหารแล้ว ผู้บำบัดอยากออกแบบกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะการค้าขายอาหาร เพื่อให้ผู้รับบริการได้พัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ ได้เรียนรู้ทักษะการสื่อสารกับลูกค้า การฝึกคิดเงินและบริหารจัดการรายได้ โดยฝึกผ่านการจัดกิจกรรมจำลองบทบาทให้ผู้รับบริการเป็นแม่ค้าขายยำวุ้นเส้น ให้กับผู้บำบัด เมื่อผู้รับบริการมีทักษะการค้าขายที่ดีขึ้นแล้ว จึงปรับกิจกรรมให้ท้าทายขึ้นเป็นการจัดกิจกรรมกลุ่ม โดยให้สมาชิกกลุ่มคนอื่นๆเป็นลูกค้า

กิจกรรมออกกำลังกาย 

กิจกรรมออกกำลังกาย เป็นอีกกิจกรรมนึงที่ผู้บำบัดออกแบบให้กับผู้รับบริการ เนื่องจากผู้รับบริการมีปัญหาน้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่คาดว่าเป็นผลข้างเคียงของยาทางจิตเวชที่ผู้รับบริการทานเป็นประจำ ซึ่งการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยให้ผู้รับบริการมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต่างๆ ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค และช่วยให้ผ่อนคลายมากขึ้น

โดยผู้บำบัดแนะนำให้ทำท่าออกกำลังกายตามนี้ เป็นประจำทุกวันในตอนเช้า เพื่อช่วยให้ร่างกายสดชื่น มีความตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า ไม่ง่วงซึมจากการรับประทานยา

ท่าบริหาร “กระฉับกระเฉง” และท่าบริหาร “กล้ามเนื้อ” ให้ทำท่าละ 10-15 ครั้ง ทำซ้ำ 2-3 รอบ 

ท่าบริหาร “หัวใจ” ให้ทำท่าละ 60 วินาที โดย 30 วินาทีแรกให้ทำความเร็วปกติ และอีก 30 วินาทีหลัง ให้พยายามทำให้เร็วที่สุด

(ขอบคุณรูปจาก : https://resourcecenter.thaihealth.or.th/index.php/media/Ej84 )

นอกจากท่าบริหารทางกายแล้ว การบริหารสมองก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการกระตุ้นการทำงานประสานสัมพันธ์กันของสมอง เพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ เนื่องจากผู้รับบริการมีผลการประเมิน MoCA อยู่ที่ 22 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ 

(ขอบคุณรูปจาก : https://www.phrachomklao.go.th/?p=7776 )

โดยผู้บำบัดแนะนำให้ผู้รับบริการทำ 3 ท่านี้เป็นประจำทุกวัน ซึ่งสามารถทำได้ทุกช่วงเวลา โดยอาจจะทำท่าเหล่านี้ก่อนที่จะเริ่มทำกิจกรรมที่จำเป็นต้องใช้ทักษะการรู้คิด ก็ได้เช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 710535เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2022 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2022 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท