Developmental Evaluation : 52. ข้อเรียนรู้ในการใช้ DE พัฒนาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


 

วันจันทร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๕ ผมบินไปหาดใหญ่ และนั่งรถต่อไปปัตตานี เพื่อร่วมกิจกรรมการประชุมคณะกรรมการประเมินคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   เพื่อรับฟังผลการรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลของคณะทำงาน    ที่มีผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย (ผศ. ดร. อิศรัฏฐ์ รินไธสงค์)  เป็นประธานคณะทำงาน   

เป็นการลงทุนยอมเหน็ดเหนื่อยร่างกายคนแก่วัย ๘๐   ( เพราะวันที่ ๙ ตุลาคมผมนั่งรถจากชุมพรกลับบ้านที่ปากเกร็ดตลอดวัน)    แต่ได้รับความชุ่มชื่นใจคุ้มค่า   

การประชุมจัดที่คณะพยาบาลศาสตร์  โดยมีคณบดี และผู้บริหารระดับรองคณบดี และผู้ช่วยคณบดี ๔ ท่านเข้าร่วม     เป็นการประชุมในลักษณะการสานเสวนา (dialogue)   

ก่อนการประชุม ผมได้รับเอกสารผลการรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลของคณะทำงาน    อ่านแล้วเห็นพลัง ๕ ประการของ DE   คือ  (๑) พลังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  (๒) พลังข้อมูล  (๓) พลังของการสานเสวนา   (๔) พลังของการมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน (shared purpose) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  และ (๕) พลังของการลงมือทำ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย          

 ผมได้รู้จักคณะวิชาขนาดจิ๋ว ที่มีอาจารย์เพียง ๒๔ คน    เจ้าหน้าที่สายสนับสนุน ๑๕ คน   นักศึกษา ๒๗๕ คน    ผลิตพยาบาลที่มีคุณลักษณะพิเศษ คือมีสมรรถนะจัดการสุขภาวะในพื้นที่พหุวัฒนธรรม    ในสถานการณ์สาธารณภัย    ที่ทำงานวิชาการร่วมกับภาคีที่หลากหลาย ทั้งภายในประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ   ด้วยความสามารถพิเศษ และประสบการณ์การทำงานที่แปลกไปจากนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ของท่านคณบดี ผศ. ดร. รอฮานิ เจะอาแซ   ที่ผมตีความว่า เป็นผู้บริหารที่มีวิญญาณจัดการสถาบันอุดมศึกษาในยุคใหม่     ทำให้คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็น “คณะพยาบาลศาสตร์แหวกแนว” (unconventional faculty of nursing) หรือ “คณะพยาบาลศาสตร์แห่งความสร้างสรรค์” (creative faculty of nursing)    ช่วยให้คณาจารย์ที่รับมาจากพยาบาลปฏิบัติการวิชาชีพ ได้พัฒนาความสร้างสรรค์ และทักษะวิชาการของตน   เหมาะแก่สภาพของการเป็น คณะวิชาแห่งความสร้างสรรค์   

เราได้ฟังวิธีบริหารงานด้วย positive mindset   และด้วย creative approach    หนุนให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่กล้าคิดกล้าลอง    ไม่กลัวความผิดพลาด    ที่ภาคธุรกิจเอกชนเขาใช้    ที่ผมไม่นึกว่าจะมาพบในมหาวิทยาลัย   

Positive mindset ที่เป็นรูปธรรมคือ   การเผชิญความท้าทายที่มีอาจารย์น้อย แต่ก็ต้องการเพิ่มวุฒิอาจารย์ให้มีปริญญาเอก   ภายใต้แรงกดดันของเกณฑ์สัดส่วนจำนวนนักศึกษาต่ออาจารย์   จึงส่งเสริมสนับสนุนให้อาจารย์เรียนต่อปริญญาเอกโดยไม่ต้องลา    สร้าง positive synergy ขึ้นจากปัจจัยลบ          

ต้องฟังวิธีสร้างคณะใหม่แห่งนี้จากท่านคณบดีโดยตรง     จึงจะสัมผัสความแหวกแนวและสร้างสรรค์ของท่าน     ที่มหาวิทยาลัยในยุคนี้ต้องการเป็นอย่างยิ่ง   

ผมตีความว่ากระบวนการ DE ได้ช่วยเผยสมรรถนะพิเศษของท่าน ดร. รอฮานิ ออกมา     หากใช้การประเมินโดยทั่วไป  จะไม่มีทางได้รับรู้และเรียนรู้จากความสร้างสรรค์ของท่าน    และผมเชื่อว่า การประชุมแบบ สานเสวนา (dialogue) ในวันนี้   ยิ่งช่วยให้ท่านเผยเคล็ดลับในการบริหารงานเชิงสร้างสรรค์ของท่านออกมาในมิติที่ลึก 

จะเห็นว่า กระบวนการ DE ได้ช่วยสร้างผลกระทบไม่เฉพาะต่อคณะพยาบาลศาสตร์ วข. ปน. เท่านั้น    ยังมีโอกาสสร้างผลกระทบต่อ มอ. ในภาพใหญ่ด้วย    ว่าจะบริหารการ transform มหาวิทยาลัยอย่างไร   เมื่อได้เห็นโมเดลการก่อตั้งคณะเล็กๆ ด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ว่าด้วยส่วนงานในมหาวิทยาลัย 

ขั้นตอนต่อไปของกระบวนการ DE คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ วข. ปน. คือ เสนอรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายติดตามและประเมินผล    แล้วนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย     ผมมีความเห็นว่า   หลังจากนั้น ทีมคณะทำงานควรจัดวงสานเสวนาในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ปัตตานี    โดยเน้นจัด onsite เพื่อหมุนวงจรเรียนรู้และพัฒนาจากการปฏิบัติรอบต่อไป    ผมจะพยายามจัดเวลาไปร่วมด้วย         

เป็นข้อพิสูจน์ว่า DE เป็นเครื่องมือที่ช่วยเผยสิ่งดีๆ ที่ไม่คาดฝันออกมา 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ต.ค. ๖๕

  

หมายเลขบันทึก: 710533เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2022 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2022 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท