"กบฏบวรเดช เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยนะ" นี่คือบทสรุปตอนสุดท้ายของบทความนี้
ผมเชื่อว่าหลายคนเข้าใจว่า...กบฎบวรเดชต้องการยึดอำนาจจากคณะราษฎรคืนให้ในหลวง ร. 7 จนเข้าใจไปว่า กบฎบวรเดชปฏิเสธประชาธิปไตย อยากให้หวนคืนสู่สมบูรณญาสิทธิราชย์ ซึ่งผมว่าน่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อนกันไปพอสมควรตามกาลเวลา
พระองค์เจ้าบวรเดช นั้นแท้จริงทรงเป็นเจ้าชายหัวก้าวหน้าผู้กล้าวิพากษ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างเปิดเผย พระองค์เจ้าบวรเดช ผู้ทรงเคยเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงปารีส ฝรั่งเศส จบการศึกษาจากอังกฤษ เป็นนายทหารรุ่นแรกที่จบจากต่างประเทศ
พระองค์เจ้าบวรเดช จึงเป็นคนหัวก้าวหน้าอย่างฝรั่ง แลกล้าวิพากษ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชว่าถึงคราให้เปลี่ยนแปล
ง
พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช (2 เมษายน พ.ศ. 2420 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496) อดีตเสนาบดีกลาโหม เป็นผู้นำกบฏบวรเดช
พระองค์เจ้าบวรเดช นั้นสนิทสนมกับคณะราษฎร เคยแลกเปลี่ยนความเห็นกับพระยาพหลฯ ถึงวิธีเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ทรงชวนให้เขียนบทความเสนอความเห็น แต่พระยาพหลฯ เห็นว่ามีแต่หนทางยึดอำนาจรัฐประหารเท่านั้น พระองค์เจ้าบวรเดช ตรัสว่าท่านเกิดในราชวงศ์จักรี อย่างไรก็ทรยศไม่ได้
ในวันยึดอำนาจ 24 มิถุนา 2475 แม้พระองค์ทรงเป็นเจ้านายชั้นสูง แต่ไม่ถูกคณะราษฎรจับกุม และพระองค์เจ้าบวรเดช เสด็จไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคมสถานที่กักกันเจ้านายชั้นสูง โดยตรัสกับพระยาพหลฯ ว่า ทำไมจะทำอะไรไม่บอกกันก่อน พระยาพหลฯ ตอบว่า ถ้าบอกพระองค์ท่านก่อนก็คงก่อการไม่สำเร็จ พระองค์เจ้าบวรดช จึงตอบกลับว่า เมื่อทำแล้ว ก็ขอให้ทำให้ถึงที่สุด เสร็จแล้วก็เสด็จกลับ
หลังคณะราษฎรยึดอำนาจในปี 2475 คณะราษฎรมองหาผู้ที่เป็นคนกลางมีความเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแคนดิเดตของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็คือพระองค์เจ้าบวรเดชนั่นเอง
ด้วยคณะราษฎรเห็นว่า พระองค์เจ้าบวรเดชทรงจบการศึกษาจากยุโรป และมีแนวคิดก้าวหน้าเรื่องประชาธิปไตย และน่าจะเป็นกันชนรับมือฝ่ายต่อต้านได้ดี
ภายหลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรมบันทึกว่า คณะราษฎรคิดผิดที่เลือกพระยามโนปกรณ์ฯ เป็นนายก ถ้าเลือกพระองค์เจ้าบวรเดชคงดีกว่านี้ เพราะพระยามโนปกรณ์ฯ ขัดขวางเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม จนออก พรบ. คอมมิวนิสต์ ในที่สุดหลวงประดิษฐ์มนูธรรมต้องออกนอกประเทศไป
ซึ่งเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือปรีดี พนมยงค์ (หาดาวน์โหลดมาศึกษาได้ทั่วไป) ก็แลดูเหมือนหลักการคอมมิวนิสต์จริงๆ คือการ Commune เอาทรัพยากรมารวมไว้ที่รัฐบาล และแจกจ่ายประชาชนอย่างเท่าเทียม เช่น การยึดที่ดินมาไว้ที่รัฐทั้งหมด ตลอดจนสวัสดิการ เบี้ยบำนาญให้ประชาชน
ปี 2476 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ถึงปี เกิดการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ โดยพระยาพหลฯ หัวหน้านายทหารคณะราษฎร เป็นการรัฐประหารครั้งแรกนับแต่เรียกว่ามีการปกครองแบบเป็นประชาธิปไตย และพระยาพหลฯ ได้เชิญให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับประเทศได้
ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชซึ่งก็เห็นว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นรูปแบบคอมมิวนิสต์ ก็จะถูกกลับนำมาใช้อีกน่ะสิ แล้วจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร อีกทั้งยังทำการหมิ่นพระบรมเดชนุภาพในหลวงรัชกาลที่ 7 อันขัดรัฐธรรมนูญเยี่ยงนี้ คณะราษฎรไม่ชอบธรรมแล้ว
ผมอาจจะคิดผิดว่า คนรุ่นใหม่เข้าใจเพียงเชิงสัญลักษณ์ของคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเรียกว่าประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ 25 ปี ของการวนเวียนแย่งชิงอำนาจกันเอง ประเทศเราได้นายกรัฐมนตรีมีแต่มาจากคณะราษฎร แทบไม่เคยมีการเลือกตั้งโดยประชาชนอย่างแท้จริงหรือถ้าจำไม่ผิด มีการเลือกตั้งโดยประชาชนทุกคนไม่เกิน 3 ครั้ง ตั้งแต่ 2475-2500 เมื่อสิ้นสุดยุค จอมพล ป.
พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาสิทธิสงครามพร้อมด้วยทหารจากหัวเมืองต่างๆ ได้ออกประกาศว่า “คณะรัฐมนตรีปล่อยให้คนหมิ่นพระบรมเดชนุภาพในหลวงอันขัดรัฐธรรมนูญและยังนำหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาดำเนินการแบบคอมมิวนิสต์ต่อ ขอให้ลาออกภายใน 1 ชั่วโมง มิเช่นนั้นจะใช้กำลังบังคับ”
พระองค์เจ้าบวรเดชได้ประกาศเงื่อนไขให้รัฐบาลจัดให้มีการปกครอง โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
โตมาผมถึงได้รู้ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่เคยคิด เคยได้ยินตั้งแต่เด็กว่า “กบฏบวรเดช” เป็นเจ้าที่นิยมกษัตริย์ รวบรวมทหารหัวเมืองเข้าสู้กับคณะราษฎรเพื่อยึดอำนาจคืนให้ ร.7 แต่พอมาอ่านเจอพระราชดำริของในหลวง ร.7 ทรงเห็นว่าเป็น “ความบ้าดีๆ นี้เอง” (sheer madness) กลับทรงตรัสว่า “ไม่มีทางหันหลังกลับ จะต้องระดมความพยายามทั้งปวงเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญทำงานให้ได้” กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำเมื่อทรงพระราชทานอำนาจการปกครองให้ประชาชนแล้ว ย่อมไม่รับคืน ตรรกะข้อนี้ "กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ" ทำให้ผมเข้าใจประวัติศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น
ในหลวง ร.7 ทรงมีความจริงจังมุ่งมั่นที่จะคัดค้านความพยายามใดๆ ที่จะสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้นใหม่ ทรงร่วมสนับสนุนประชาธิปไตยให้เกิดด้วยซ้ำ แม้แต่คณะราษฎรให้มี สส. เลือกตั้งทางอ้อม กับ สส. แต่งตั้ง ในหลวง ร.7 ยังทรงมีบันทึกไม่เห็นด้วยกับการมี สส. แต่งตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งทางอ้อมนั้น ว่ากันว่าคณะราษฎรเองก็เป็นผู้เลือกตัวแทนตำบลมาเลือก ส.ส. แต่หลังรัฐประหาร 2476 คล้ายกับการยึดอำนาจมาอยู่ในกลุ่มพวกพ้องตน ส.ส. แต่งตั้งนั้นก็ตามใจชอบอยู่แล้ว คณะรัฐมนตรีก็แต่งตั้งกันเอง ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน
ในหลวง ร.7 ทรงเกรงอยู่ตลอดเวลาว่า จะมีเจ้านายลุกขึ้นทำการสู้กับฝ่ายรัฐบาล และทรงได้ทราบข่าวลือมากมาย ได้ทรงเตือนพระองค์เจ้าบวรเดชไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ไม่ให้ทรงมีส่วนในการกระทำการ เพราะจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
นอกจากนั้นพระองค์ตัดสินพระราชหฤทัยไม่เสด็จฯ ไปต่างจังหวัดหรือหัวเมืองเกรงจะถูกฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจับกุมแล้วอ้างเป็นองค์ประกันหรือแอบอ้างว่าพระองค์สนับสนุนมาต่อสู้กับรัฐบาล
พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม นามเดิม ดิ่น ท่าราบ เป็นนายทหารบก มีบทบาทสำคัญในฐานะแม่ทัพหน่วยล่วงหน้าและหน่วยระวังหลังของฝ่ายกบฏในเหตุการณ์กบฏบวรเดช
พระยาสิทธิสงคราม ทหารเอกในกบฏบวรเดชนั้น เดิมนามว่านายดิ่น ท่าราบ จบนายร้อยได้ที่ 1 และไปเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบกเยอรมันรุ่นเดียวกับ พระยาพหลฯ และพระยาทรงสุรเดช โดยทั้ง 3 สนิทสนมกันมาก และแน่นอนพระยาศรีสิทธิสงครามได้ถูกชักชวนให้เข้าร่วมคณะราษฎรด้วย
แต่ท่านปฏิเสธเนื่องจากยึดมั่นในคำถวายสัตย์ แต่ก็ไม่ต่อต้าน ซึ่งหนังสือบางเล่มอ้างว่า ในวันก่อการ 24 มิถุนา 2475 พระยาศรีสิทธิสงครามซ่อนตัวอยู่ในบ้านของพระยาพหลพลฯ ทั้งวัน
การกลับคำหักหลังสหายของพระยาพหลฯ และยึดอำนาจสถาปนาตนเป็นนายกรัฐมนตรี ตลอดจนการกระทำต่างๆ ที่ขัดกับเจตนารมณ์เป็นประชาธิปไตย ทำให้พระยาสิทธิสงครามเองก็คงไม่พอใจ และเข้าร่วมกับพระองค์เจ้าบวรเดชในฐานะแม่ทัพเรียกว่ากองทัพฝ่ายกู้บ้านกู้เมือง
พระยาสิทธิสงคราม คือ คุณตาของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี
11 ตุลาคม 2476 กองทัพฝ่ายกู้บ้านกู้เมือง รวบรวมทหารจากหัวเมืองต่างๆ ทั้งรถไฟ เครื่องบิน เคลื่อนเข้าสู่พระนคร รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้แต่งตั้ง พันโท หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บังคับการกองกำลังผสมเข้าประจัญทั้งใช้ปืนต่อสู้อากาศยานยิงเครื่องบินทหารฝ่ายหัวเมือง ใช้ปืนใหญ่ยิงที่ทุ่งบางเขน จนทหารฝ่ายหัวเมืองต้องถอยล่าไปหลักสี่
ช่วงนั้นฤดูฝนการเดินทางไกลของทหารจากหัวเมืองต่างๆ มาด้วยความยากลำบาก และมาทางรถไฟ มาถึงไม่พร้อมกัน ทหารมาจากนครสวรรค์ทางรถไฟก็ถูกปราบที่สถานีบางซื่อ ทหารจากปราจีนเมื่อมาถึง สถานีมักกะสัน แล้วเปลี่ยนใจไปร่วมกับรัฐบาล
15 ตุลาคม 2476 ทหารฝ่ายหัวเมืองถอยขึ้นรถไฟไปโคราช การรบสูญเสียไปมากที่ทุ่งบางเขน พระยาศรีสิทธิสงคราม รบถ่วงเวลา และอยู่แนวหลังป้องกันทหารฝ่ายหัวเมืองล่าถอยไปโคราช โดยสั่งการให้ปล่อยหัวรถจักรเปล่าๆ วิ่งเข้าใส่รถไฟทหารฝ่ายรัฐบาลจนตกรางและทหารเสียชีวิตนับสิบนาย
การสู้รบต่อเนื่องหลายวันจนล่าถึง ปากช่อง โคราช ในเวลาพลบค่ำ 23 ตุลาคม 2476 พระยาศรีสิทธิสงครามแม่ทัพคอยระวังหลังอย่างห้าวหาญเพื่อให้ทุกคนหนีไปก่อนได้เป็นผู้เดินไปเจรจากับทหารฝ่ายรัฐบาล เพื่อขอให้หยุดยิง
แต่ปรากฏว่า ร้อยโท ประภาส จารุเสถียร กลับยกปืนขึ้นมายิงพระยาศรีสิทธิสงครามเสียชีวิต ที่สถานีรถไฟหินลับ จังหวัดสระบุรี ต่อมาร้อยโท ประภาส จารุเสถียร ได้ดิบได้ดีรับราชการรุ่งเรืองจนเป็นถึงจอมพล
ร้อยเอก ประภาส จารุเสถียร
สุดท้ายมองกลับมาเหลียวมองดูบริบทในสังคมปัจจุบัน ทำไมคนส่วนใหญ่เข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องพระองค์เจ้าบวรเดชไปไกล ทั้งที่ควรจะยกย่องว่าพระองค์คือผู้กล้าที่ลุกขึ้นสู้ต่อต้านเผด็จการที่ยึดอำนาจรัฐประหาร หรือนี่คือรูปแบบหนึ่งของการทำสงครามข้อมูลข่าวสารกันแน่นะ
เรียบเรียงโดย ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ
ไม่มีความเห็น